รายงานการดำเนินงานของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ปี 2564 และทิศทางปี 2565

Share Post :

รายงานการดำเนินงานของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ปี 2564 และทิศทางปี 2565

ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (สทพ.) อยู่ในช่วงการฟื้นฟูองค์กรขึ้นมาใหม่ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลง โดย สทพ.กลับไปหาเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ที่เป็นจุดตั้งของสถาบันฯ พร้อมกับพัฒนานวัตกรรมขับเคลื่อนใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางสังคม คือ

1) พัฒนาความเป็นสถาบันวิชาการที่สร้างและขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ชุมชนท้องถิ่นในด้านต่างๆ เช่น การวิจัยเพื่อชุมชนท้องถิ่นในมิติการพัฒนาที่ยั่งยืน การประเมินผลกระทบการพัฒนาโดยชุมชน นวัตกรรมทางสังคมและเทคโนโลยีสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น

2) เป็นกลไกเชื่อมประสานและหนุนเสริมชุมชนและภาคประชาสังคมทางด้านแนวคิด ความรู้ และนโยบายที่เกี่ยวกับการปกป้องสิทธิชุมชน การเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนและการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรม

3) เป็นพื้นที่และกลไกการสื่อสารของเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น และเชื่อมเครือข่ายชุมชนกับสาธารณะในเนื้อหาชุมชนท้องถิ่น และการพัฒนาที่ยั่งยืนจากฐานราก

 โดยมีประเด็นทางยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ สิทธิชุมชนกับนิเวศ ฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงอาหารและเกษตรกรรมยั่งยืน และเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง

ในปี 2564 สทพ.ได้เริ่มต้นพัฒนางาน และร่วมขับเคลื่อนกับภาคีองค์กรพัฒนาเอกชน ประชาสังคมในด้านต่างๆ ดังนี้

1. โครงการพลเมืองตื่นรู้กอบกู้วิกฤติโลกร้อน ในปี 2564 สทพ.โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ (สำนัก 2) ได้พัฒนาโครงการพลเมืองตื่นรู้กอบกู้วิกฤติโลกร้อน เพื่อขับเคลื่อนทางวิชาการและการสื่อสารสาธารณะ ในประเด็นที่สำคัญยิ่งยวดของมนุษยชาติ ภายใต้โครงการฯ ดังกล่าว มีการขับเคลื่อนที่สำคัญดังนี้

  • การก่อตั้งกลุ่มขับเคลื่อนที่ชื่อว่า Thai Climate Justice for All (TCJA) อันเป็นการรวมตัวของกลุ่มประชาสังคมและนักวิชาการอิสระที่ทำงานด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ยั่งยืนจากฐานราก เพื่อมาพัฒนาองค์ความรู้ การสื่อสาร และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากฐานราก ผ่านประเด็นรูปธรรมต่างๆ เช่น ป่าไม้ที่ดิน เกษตร พลังงาน อุตสาหกรรม เพศสภาวะ ทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง และนโยบายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโดยตรงทั้งในระดับท้องถิ่น ชาติ และระหว่างประเทศ https://www.thaiclimatejusticeforall.com/
  • การสื่อสารสาธารณะ ในรูปของบทความเผยแพร่ การจัดเวทีเสวนาออนไลน์ ฯลฯ อย่างต่อเนื่อง
  • การมีส่วนร่วมกับภาคีทางวิชาการ และนโยบาย เช่น สกสว.ในการพัฒนายุทธศาสตร์วิชาการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมมือกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ จัดเวทีพัฒนายุทธศาสตร์ความมั่นคงในมิติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นต้น
  • ร่วมมือกับภาคีสื่อ Thaipublica เปิดคอลัมน์ “Thai Climate Justice for All” เผยแพร่บทความอย่างต่อเนื่อง https://thaipublica.org/columnists/thai-climate-justice-for-all/
  • การส่งเสริมสนับสนุนเยาวชน คนรุ่นใหม่ให้แสดงออกมุมมอง ความห่วงใย บทบาทของพวกเขาต่อการกอบกู้วิกฤติโลกร้อน
  • การพัฒนาองค์ความรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิตินิเวศวัฒนธรรม และนิเวศวิทยาการเมือง ผ่านบทความเผยแพร่ และการเสวนาในรูปแบบต่างๆ จนทำให้ TCJA กลายเป็นสถาบันหลักขององค์ความรู้และการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติทางสังคมและการเมืองที่โดดเด่นที่สุด

2. การฟื้นฟู เสริมพลังชุมชนในสถานการณ์โควิด สทพ.ได้บุกเบิกงานความรู้และเครือข่ายทางสังคมต่อเนื่องมาจากปี 2563

  • ตั้งแต่ปี 2563 การสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลกระทบวิกฤติโควิดต่อชุมชนในออนไลน์ การก่อตั้งเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้เปิดประเด็นผลกระทบของชุมชนสู่สาธารณะได้หลายครั้ง (ผ่านบทความที่ลงใน Thaipublica คอลัมน์ “SDG จากผืนดิน” https://thaipublica.org/columnists/kritsada-boonchai/
    • ในกลางปี 2563 การทำงานวิจัยระยะสั้นเรื่องผลกระทบและการปรับตัวของชุมชนสถานการณ์โควิด โดยการสนับสนุนของสถาบันพระปกเกล้าฯ https://www.ldi.or.th/2020/11/12/research-covid/
    • ในกลางปี 2563 ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ในการผลักดันให้รัฐบาลเปิดช่องทางให้ภาคชุมชนและประชาสังคมได้เข้าถึงงบประมาณโดยตรงเพื่อมาฟื้นฟูชุมชนในภาวะวิกฤติโควิด จากงานกู้เงิน 4 แสนล้านบาทมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม จนรัฐบาลโดยสภาพัฒน์ ได้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐกับประชาสังคมเพื่อพิจารณาโครงการจากชุมชนและประชาสังคม แต่ด้วยโครงสร้างระบบราชการที่ยังไม่กระจายอำนาจ ทำให้การผลักดันดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร มีน้อยโครงการที่ได้รับการสนับสนุน
    • กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการได้เป็นวิทยากร สังเคราะห์บทเรียนของประชาสังคในภาวะโควิด “วงแชร์สร้างสุข” อันเป็นที่รวมของกลุ่มประชาสังคมที่ขับเคลื่อนคนด้อยโอกาส ชุมชน ประชาชนในภาวะวิกฤติโควิด ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จนเกิดแนวคิด ความร่วมมือการขับเคลื่อนก้าวต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง  https://www.youtube.com/watch?v=phRAXVMMNmg
    • นายกฤษฎา บุญชัย ได้มีบทบาทในฐานะกรรมการบริหารแผน สสส.สำนักกลุ่มประชากรเฉพาะ (สำนัก 9) ในการพัฒนากรอบคิด ยุทธศาสตร์ด้านการคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) เพื่อคุ้มครองส่งเสริมกลุ่มเปราะบางในวิกฤติโควิด

3. การสร้างกระบวนการเรียนรู้และความเข้มแข็งชุมชน

  • สทพ.ได้รับการประสานจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในปี 2563 ให้พัฒนาโครงการการจัดทำฐานข้อมูลอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อประเมินความก้าวหน้าการดำเนินงานในประเด็นการลดบริโภคแอลกอฮอล์และความรุนแรงในครอบครัว โดย สทพ.ได้จัดทำกระบวนการแบบมีส่วนร่วมให้ชุมชนทั้งในพื้นที่ชนบทและเมือง (สหภาพแรงงาน) ได้จัดทำตัวชี้วัด เก็บข้อมูลของตนเอง จนเกิดเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่บ่งบอกความก้าวหน้าหรือความสำเร็จของชุมชนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งข้อมูลดังกล่าวยังได้นำไปใช้ออกแบบการทำงานของชุมชนในอนาคต และยังช่วยขยายมิติการทำงานลดเหล้าของ สสส.ให้มีมิติชุมชนและสังคม
  • สทพ.ได้ร่วมกับเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ในปี 2564 ได้พัฒนาโครงการฟื้นฟูนิเวศ ความมั่นคงอาหารของชุมชนลุ่มน้ำโขงขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. โครงการดังกล่าวเป็นโครงการสืบเนื่องที่เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนฯ ได้ทำงานมาเดิมในสถานการณ์ที่แม่น้ำโขงเผชิญวิกฤติการพัฒนาจากการสร้างเขื่อนมากมายในลุ่มน้ำ โครงการฯ นี้จึงมุ่งสร้างกระบวนเรียนรู้ สร้างต้นแบบของความมั่นคงอาหารชุมชน และพัฒนาไปสู่ธรรมนูญชุมชนที่เป็นกติการ่วมในการจัดการทรัพยากร นอกจากนี้ยังเป็นฐานที่ใช้ขับเคลื่อนนโยบายและสื่อสารสาธารณะในขับเคลื่อน โครงการฯ จะสิ้นสุดในกลางปี 2565 ซึ่งจะได้นำเสนอผลดำเนินการอย่างเจาะลึกและสังเคราะห์ในเร็วๆ นี้

4. การพัฒนาองค์ความรู้นโยบายสาธารณะ

  • สทพ.ได้รับการประสานงานสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ให้ดำเนินการถอดบทเรียนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะผ่านกรณีศึกษาสำคัญ ได้แก่ ธรรมนูญพระสงฆ์เพื่อสุขภาวะ ระบบอาหารในโรงเรียน และโรคเชื้อดื้อยา ซึ่งเป็นกรณีหลักที่มาจากมติสมัชชาสุขภาพ การถอดความรู้ดังกล่าวได้ทำให้เกิดความเข้าใจบริบท ตำแหน่งแห่งที่ กระบวนการ และยุทธศาสตร์สำคัญในนโยบายสาธารณะที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นบทเรียนการขับเคลื่อนของ สช.และภาคีก้าวต่อๆ ไปให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น https://www.ldi.or.th/2021/09/09/develop_health_policy/

5. การสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในด้านนิเวศและฐานทรัพยากร

  • สทพ.ได้ประสานให้เกิดกลุ่มติดตามปัญหา และสนับสนุนการปกป้องสิทธิชุมชนกลุ่มกะเหรี่ยงบางกลอย ที่เผชิญปัญหาความรุนแรงเชิงนโยบายการจัดการป่าของรัฐ โดยชุมชนเคยถูกบังคับ ขับไล่ โยกย้าย ฟ้องร้องจากการทำกินในถิ่นฐานบรรพชนเดิม และถูกอพยพออกมา ไม่สามารถทำกิน ดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี นอกจากประสานการจัดตั้งกลุ่มติดตามปัญหาแล้ว ยังมีบทบาทสื่อสารสาธารณะทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีไร่หมุนเวียนของคนกะเหรี่ยงในฐานะนิเวศเกษตรที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงอาหาร และการรักษาระบบนิเวศวัฒนธรรม
  • สทพ.ได้ร่วมกับคณะกรรมาธิการศาล อัยการ องค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน กองทุน สภาผู้แทนราษฎร ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และภาคีประชาสังคม จัดเสวนา “ทิศทางสิทธิชุมชนต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนและเป็นธรรมในเขตป่าอนุรักษ์” เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 เพื่อติดตามตรวจสอบนโยบาย กฎหมายป่าอนุรักษ์ และมีข้อเสนอต่อรัฐบาล โดยผลการศึกษาได้ให้ทางคณะกรรมาธิการฯ ไปดำเนินการขับเคลื่อนต่อ https://www.ldi.or.th/2021/10/18/8150/
  • สทพ.ได้ร่วมกับภาคีภาคเอกชน จัดเวที Good Society Summit 2021 ระดมความร่วมมือแผนปฏิบัติการธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเด็น”ธรรมาภิบาลป่าไม้: การจัดการร่วมของชุมชน สู่ป่าแห่งอนาคต” เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564  https://bit.ly/3HOnKRX
  • สทพ.ได้ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE) ในการจัดเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจนโยบายรัฐในเรื่อง ป่าไม้ที่ดิน เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564  https://www.ldi.or.th/2022/01/15/ebook_distrust/ และเวทีไม่ไว้วางใจนโยบายการเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP ของรัฐบาล https://www.ldi.or.th/2021/12/10/cptpp/
  • สทพ.ได้ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และเครือข่ายชนพื้นเมือง และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมในการพัฒนาและผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ https://www.ldi.or.th/2021/10/08/8130/ จนปัจจุบันสามารถรวบรวมรายชื่อครบ 10,000 ชื่อเสนอต่อรัฐสภาแล้ว
  • สทพ.ได้ร่วมกับภาคีองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม จัดเสวนาประเมินสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงอาหาร ในปี 2564 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 โดยจะประมวลออกมาเป็นเนื้อหาฉบับสมบูรณ์เพื่อเผยแพร่ต่อไป https://fb.watch/bcbWwZEZZi/

ก้าวต่อไปในปี 2565

  1. สทพ.จะบุกเบิกงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ลงลึกไปถึงระดับชุมชนและสร้างจุดเน้นทางนโยบายอย่างเจาะจงยิ่งขึ้น โดยจะสร้างงานวิชาการทางนิเวศวัฒนธรรมและนิเวศวิทยาการเมืองให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น พร้อมกับการติดตามตรวจสอบ เสนอแนะ และขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้รองรับความหลากหลายของสังคม และการมีส่วนร่วมของชุมชน ประชาชน โดยเฉพาะการหนุนเสริมพลังของคนรุ่นใหม่ เพื่อให้ทิศทางการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนำมาสู่ความยั่งยืนทางนิเวศ ความเป็นธรรรมทางนิเวศและสังคม
  2. สทพ.กำลังพัฒนาโครงการส่งเสริมความเข้มแข็งกลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายแรงงานนอกระบบกลุ่มต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง สร้างพื้นที่สาธารณะ ขับเคลื่อนนโยบายอย่างมีส่วนร่วม เนื่องจากแรงงานนอกระบบคือกลุ่มใหญ่ที่สุดของสังคมในเวลานี้ และเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม โดยจะได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักกลุ่มประชากรเฉพาะ (สำนัก 9) ให้ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง
  3. สทพ.จะร่วมมือกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เช่น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ ในการติดตามตรวจสอบ เสนอแนะ และขับเคลื่อนนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนฐานสิทธิชุมชนและประชาชนให้เกิดความยั่งยืนและเป็นธรรม เช่น ปฏิรูปกฎหมายป่าอนุรักษ์ กฎหมายสิ่งแวดล้อม และสร้างการเคลื่อนไหวขบวนการสิ่งแวดล้อมให้กลับมาเข้มแข็งทั้งทางวิชาการ นโยบาย การสร้างความเข้มแข็งประชาชน และอื่นๆ และผลักดันร่าง พรบ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาฯ และขบวนการประชาชนฯ ให้สำเร็จ

——————————————

Share Post :
Scroll to Top