ประวัติความเป็นมา

มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

สิทธิและปัญญาของชุมชน คือ รากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรม


ความเป็นมามูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

 

ก่อนที่จะมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

เมื่อเริ่มทศวรรษ 2530 รัฐบาลชูนโยบายเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก พัฒนาเกษตรพาณิชย์ ขยายการลงทุนภาคอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ สร้างการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างมาก แม้เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด อีกด้านหนึ่งเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง ชาวนาชาวไร่ไร้ที่ดินทำกิน ระบบนิเวศและฐานทรัพยากรธรรมชาติที่ชุมชนพึ่งพิงดำรงชีพถูกทำลาย สิทธิชุมชนในการเข้าถึงจัดการทรัพยากรถูกปิดกั้น วิถีประเพณี ความรู้ท้องถิ่นถูกมองว่าล้าหลัง การพัฒนาเพื่อความทันสมัยทำให้เกิดความยากจนอย่างมาก

ท่ามกลางปัญหาการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนซึ่งมาจากนโยบายรัฐในทิศทางทุนนิยม ภาคสังคมจึงต้องแสวงหาทางเลือกหรือทางรอดการพัฒนา ทำให้เกิดองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการพัฒนาชนบท โดยมาจากปัญญาชนที่สนใจเรียนรู้เพื่อหาทางออกให้กับการพัฒนาที่ชุมชนเข้มแข็ง เกิดกระบวนการเรียนรู้คำตอบอยู่ที่หมู่บ้านด้วยแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนเพื่อทำเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้าง ผลกระทบ การปรับตัว และนวัตกรรมของชุมชนในการพึ่งตนเองและแสวงหาทางเลือกในการพัฒนาใหม่

ในห้วงเวลานั้นองค์กรพัฒนาเอกชนชนบทได้เริ่มเติบโตขึ้น จนเกิดการรวมตัวเป็นเครือข่ายที่เรียกว่าคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนชนบท” (กป.อพช.) ในปี 2528 เพื่อให้เป็นกลไกประสานงานของภาคสังคมด้านการพัฒนาชุมชน

ทางหน่วยงานการพัฒนาระหว่างประเทศของแคนาดา (CIDA) ซึ่งมีบทบาทส่งเสริมการพัฒนาในประเทศโลกที่สาม และได้ส่งเสริมหน่วยงานด้านการพัฒนาในประเทศไทยต่างๆ เช่น ส่งเสริมงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ส่งเสริมให้เกิดสถาบันวิชาการด้านนโยบาย คือ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) CIDA เห็นความสำคัญที่จะส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชนท้อถิ่นผ่านองค์กรพัฒนาเอกชน จึงได้ร่วมกับกลุ่มประชาสังคมในไทย นำโดย .นพ.ประเวศ วะสี .เสน่ห์ จามริก และมีคุณอเนก นาคะบุตร เป็นหัวหอกในการขับเคลื่อน โดยมีภาคีคือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ก่อตั้งแผนงานช่วยการพัฒนาท้องถิ่น (Local Development Assistant Program: LDAP) ระหว่างปี 2527-2532 โดยจัดตั้งเป็นกองทุนส่งเสริมการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นผ่านการขับเคลื่อนองค์กรพัฒนาเอกชนชนบทขนาดเล็ก ซึ่งในเวลานั้นนับเป็นกองทุนหลักกองทุนเดียวที่มุ่งส่งเสริมองค์กรพัฒนาเอกชนโดยตรง

ในกลุ่มนักวิชาการด้านการพัฒนา นำโดย .เสน่ห์ จามริก เล็งเห็นว่า ลำพังกองทุน LDAP ไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่นได้อย่างเพียงพอ จำเป็นที่จะต้องพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการเพื่อชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นความรู้ที่จะนำไปส่งเสริมให้ชุมชนมีความสามารถพึ่งตนเองและเป็นความรู้ที่จะผลักดันนโยบายด้านการพัฒนาชนบท ดังนั้นอาจารย์เสน่ห์ และคณะ จึงได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ทางวิชาการขึ้นในรูปของการจัดเวทีที่ชื่อว่าทิศทางไทเวทีดังกล่าวจะมีการเชิญนักวิชาการในสายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชนบทมานำเสนอความรู้ และมาแลกเปลี่ยน ประเมินสถานภาพความรู้ว่ามีความก้าวหน้าหรือไม่อย่างไร การจัดเวทีทิศทางไทไม่เพียงแต่จะเป็นการพัฒนาความรู้ แต่ยังเป็นการสื่อสารทางสังคมไปพร้อมกันในรูปของจดหมายข่าวทิศทางไท ที่มีกลุ่มเป้าหมายที่นักพัฒนาเอกชน และหน่วยงานรัฐด้านการพัฒนาชนบท

ดังนั้น LDAP จึงทำงานควบคู่หรือเป็นส่วนสำคัญของ กป.อพช.ที่มีโครงข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนชนบทกว้างขวาง โดย LDAP เป็นองค์กรสนับสนุนการเงิน และเป็นองค์กรส่งเสริมวิชาการควบคู่กันไป


กำเนิดเป็นสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

จนช่วงที่กองทุน LDAP ใกล้หมดวาระ คณะกรรมการกองทุนเห็นว่า ควรที่จะยกระดับกลไกส่งเสริมงานพัฒนาชุมชนให้เป็นสถาบันที่ชัดเจน จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งเป็นสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา” (สทพ.) หรือ (Local Development Institute: LDI) หรือที่เรียกติดปากกันว่าแอลดีไอในปี 2533 เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชนและองค์กรพัฒนาเอกชน ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ เพื่อผลักดันนโยบายจากประชาชนฐานล่างในการสร้างความเข้มเข็งของชุมชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้การพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการเพื่อเสริมพลังชุมชน การสร้างพลังความร่วมมือสาธารณะ และการขับเคลื่อนนโยบาย จนเป็นที่มาของจุดมุ่งหมายว่า

มุ่งพัฒนาให้เกิดผลกระทบทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่น และระดับนโยบาย ด้านการเสริมสร้าง ฟื้นฟูศักยภาพ ความริเริ่มของชุมชนท้องถิ่นพัฒนาต่าง ๆให้สามารถพึ่งตนเองได้ ควบคู่กับการเชื่อมโยงบทเรียนและผลกระทบระดับชุมชนท้องถิ่น เหล่านี้ให้ก่อตัวขยายผลทั้งในแนวราบและในแนวดิ่ง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย (macro-micro-linkage)

ในบรรดาจุดมุ่งหมายต่างๆ แกนกลางเชิงคุณค่า (Core Value) ที่แท้จริงของ สทพ.คือ การเป็นสถาบันวิชาการด้านสังคมที่ส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่น หรือที่มีการเปรียบเปรยว่าต้องการให้ สทพ.เป็น TDRI ภาคการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ในเวลานั้น ความสัมพันธ์ระหว่าง สทพ.กับเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นไปอย่างใกล้ชิด อาจารย์เสน่ห์ จามริก ประธานสทพ.คนแรก ก็ได้รับการเลือกให้เป็นประธาน กป.อพช.เป็นคนที่สอง ในปี 2533-2534 และ สทพ.ก็ยังมีบทบาทสนับสนุนทุนด้านการพัฒนาชนบทจากงบประมาณของ CIDA โดยจัดโครงสร้างให้มีคณะกรรมการพิจารณาโครงการขนาดเล็กระดับภาค (Project Recruitment Committee: PRC) ซึ่งประกอบด้วยนักพัฒนา ผู้นำชุมชน และนักวิชาการ กลไก PRC อยู่ภายใต้การกับของ กป.อพช.ระดับภาค

หลังจากก่อตั้ง สทพ.มาได้หนึ่งปี คณะกรรมการ สทพ.เห็นความจำเป็นที่จะยกระดับ สทพ.ให้เป็นมูลนิธิเพื่อให้ได้รับการรับรองทางกฎหมาย จึงได้ก่อตั้งเป็นมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (มทพ.)” ในปี ..2534 โดยใช้ สทพ. เป็นกลไกขับเคลื่อนเช่นเดิม


สทพ.ยุคที่หนึ่ง (2534-2537)   

จากจุดเริ่มต้น สทพ.นำโดยอาจารย์เสน่ห์ จามริก ที่เน้นบทบาททางวิชาการควบคู่ไปกับสนับสนุนทุนการพัฒนาให้แก่องค์กรพัฒนาเอกชนขนาดเล็ก โดยแบ่งโครงสร้างคือ อาจารย์เสน่ห์ จามริก เป็นประธาน อาจารย์มงคล ด่านธานินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนา อาจารย์ยศ สันตสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ และคุณทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร โดยมีคุณนฤมล นพรัตน์ เป็นเลขานุการ

ในองค์กรออกเป็นฝ่ายส่งเสริมการพัฒนา โดยมีคุณทรงพล เจตนาวณิชย์ (อดีตนักวิชาการ TDRI) เป็นผู้อำนวยการ และฝ่ายวิจัย โดยมีอาจารย์ยศ สันตสมบัติเป็นผู้อำนวยการ

สถานการณ์สังคมเวลานั้น ประเด็นปัญหาการพัฒนาที่ส่งผลกระทบชุมชนอย่างมากมี 2 เรื่องหลักๆ คือ นโยบายเกษตรแผนใหม่เชิงพาณิชย์ กับนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ จนทำให้ สทพ.วางนโยบายส่งเสริมหลักในเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน และสิทธิการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชน

ด้านการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ในด้านเกษตรพาณิชย์ที่เน้นพันธุ์พืชผสม ใช้สารเคมีอย่างรุนแรง ส่งผลให้กระทบให้ป่าถูกทำลาย เกิดมลพิษในดิน น้ำ อากาศ และทำให้เกษตรกรต้องล้มละลาย ในเวลานั้นมีกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนที่เริ่มพัฒนาแนวคิด ความรู้ที่เป็นทางเลือกของระบบเกษตรกรรมในขนาดเล็ก สทพ.จึงได้มีบทบาทเข้าไปสนับสนุน เจ้าหน้าที่คนสำคัญของ สทพ.คือ คุณวิฑูรย์ ปัญญากุล (ต่อมาได้ออกมาก่อตั้งมูลนิธิสายใยแผ่นดิน หรือ Green net ที่บทบาทส่งเสริมตลาดเกษตรอินทรีย์ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ) ได้มีบทบาทเชิญนักพัฒนาเอกชนจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ลงไปพูดคุยกับพระนักพัฒนา คือ พระครูพิพิธประชานาถ หรือหลวงพ่อนาน ที่จังหวัดสุรินทร์ จนเกิดเป็นแนวคิดเรื่องเกษตรกรรมอินทรีย์ขึ้นมา จากจุดเริ่มต้นดังกล่าวก็ได้ขยายเป็นเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกในอีสานหลายจังหวัด ในขณะที่อีกด้านหนึ่งในภาคกลางก็มี คุณเดชา ศิริภัทร และคุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ที่เคยร่วมทำงานกันที่สมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม ต่อมาแยกออกมาตั้งศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม จังหวัดสุพรรณบุรี ที่บุกเบิกงานด้านเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะในเรื่องพันธุกรรมข้าว (ต่อมาคุณเดชาได้เปลี่ยนจากศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคมมาก่อตั้งเป็นมูลนิธิข้าวขวัญ ในปี 2541 ส่วนคุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มาก่อตั้งสำนักพิมพ์โลกดุลยภาพ คณะทำงานสิทธิภูมิปัญญาไทย และพัฒนามาเป็นมูลนิธิชีววิถีในเวลาต่อมา) ทาง สทพ.ก็เป็นภาคีสนับสนุนกับกลุ่มองค์กรเกษตรทางเลือกเหล่านั้น ซึ่งบรรดากลุ่มองค์กรด้านเกษตรทางเลือกเหล่านี้ ก็ได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกโดยมีคุณสุภา ใยเมือง และคณะจากชมรมศิษย์เก่าบูรณะชนบทและเพื่อน (RRAFA) เป็นกลไกประสานงาน จนภายหลังต่อมาจัดตั้งเป็นมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ในปี 2541 ด้วยบทบาทการเชื่อมโยงในระยะเริ่มต้น และการสนับสนุนทางวิชาการ สทพ.จึงมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก

ในด้านสิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สถานการณ์ในเวลานั้น รัฐบาลมุ่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ในรูปสวนป่ายูคาลิปตัส โดยเอาที่ดินในพื้นที่ป่าซึ่งมีชุมชนอยู่อาศัยมาปลูกป่า ในช่วงปี 2534 รัฐบาลได้ผลักดันโครงการจัดสรรที่ทำกินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) ที่มีเป้าหมายอพยพชาวบ้านในเขตป่าออกเพื่อให้เอกชนปลูกสวนป่า พื้นที่เป้าหมายแรกคือ อีสาน คจก.ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน จนชาวบ้านอีสานที่ได้รับผลกระทบต้องเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก คจก.ได้สำเร็จ

แก่นของปัญหาอยู่ที่นโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่มุ่งเสริมป่าเศรษฐกิจของเอกชน และป่าอนุรักษ์ของรัฐ ซึ่งนโยบายทั้งสองด้านกระทบต่อระบบนิเวศและฐานทรัพยากรธรรมชาติที่ชุมชนพึ่งพา จึงได้เห็นว่า สทพ.ควรจะต้องพัฒนาความรู้ทางวิชาการเพื่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าว โดยในเวลานั้นก็ได้มีงานวิจัยทางสังคมชิ้นสำคัญเรื่องวิวัฒนาการการบุกเบิกที่ดินกินในเขตป่าโดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นแกนนำร่วมกับนักวิชาการในแต่ละภาค โดยการสนับสนุนของธนาคารโลก แม้งานวิจัยดังกล่าวจะชี้ให้เห็นว่า ปัญหาป่าถูกทำลายมาจากนโยบายการพัฒนาของรัฐไม่ใช่ชาวบ้าน แต่งานวิจัยชิ้นดังกล่าวยังไปไม่ถึงโจทย์ว่า ทางออกนโยบายการจัดการป่าที่ชุมชนมีส่วนร่วมจะเป็นอย่างไร

ในห้วงเวลานั้นในช่วงหลังการยกเลิกสัมปทานไม้ เครือข่ายชุมชนและองค์กรพัฒนาเอกชนในภาคเหนือ นำโดยคุณชัชวาล ทองดีเลิศ เริ่มพัฒนาแนวคิดเรื่องป่าชุมชนขึ้นมา ทาง สทพ.ได้เห็นความสำคัญว่ามีนัยทางนโยบาย แต่ต้องการสร้างฐานความรู้ให้เข้มแข็งก่อน จึงได้เกิดการประสานกับมูลนิธิฟอร์ด ซึ่งมีบทบาทให้ทุนสนับสนุนแก่หน่วยงานรัฐ คือ กรมป่าไม้ด้านการจัดการป่าที่ยั่งยืน มาสนับสนุนทุนวิจัยให้ สทพ.ร่วมกับ กป.อพช.ทำวิจัยป่าชุมชนขึ้นในภาคเหนือและอีสาน ในชื่อว่าโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการป่าชุมชน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2534-2536 โดยมีการทำวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิชาการ นักพัฒนา และผู้นำชุมชนในแต่ละภาค ภาคเหนือนำโดย อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ และอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ภาคอีสานนำโดย อาจารย์มงคล ด่านธานินทร์ และอาจารย์บัญชร แก้วส่อง

อาจารย์เสน่ห์ จามริก ยังได้ประสานกับกลุ่มนักกฎหมาย นำโดย .บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ มาร่วมศึกษาทางกฎหมาย โดยมีนัววิจัยของ สทพ.คือ คุณเจริญ คัมภีรภาพ และนักกฎหมายจากโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ คือ คุณศยามล ไกยูรวงศ์ จากโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ (องค์กรที่ทำงานเชิงนโยบายด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม) มาพัฒนาความรู้จากงานวิจัยให้เป็นร่างกฎหมายป่าชุมชนฉบับประชาชนขึ้นมาในปี 2536

สทพ.ร่วมกับ กป.อพช.ได้เปิดเวทีสาธารณะเพื่อวิพากษ์นโยบายป่าไม้แห่งชาติอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับนำเสนอร่างกฎหมายป่าชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติเป็นกลไกประสานหลักของเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกภาค ภายใต้ร่ม กป.อพช.เป็นภาคีขับเคลื่อนร่วมกัน

ในช่วงระหว่างขับเคลื่อนป่าชุมชน อาจารย์เสน่ห์และอาจารย์ยศ ได้บุกเบิกองค์ความรู้ด้านทรัพยากรในขั้นต่อไปคือเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพโดยได้ประสานนักวิชาการชีววิทยา เช่น ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ และอื่นๆ เพื่อพัฒนาความรู้เพื่อต่อยอดจากงานป่าชุมชน ซึ่งในสถานการณ์ทางนโยบายขณะนั้น ประเด็นเรื่อง การแย่งชิงทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นประเด็นที่สาธารณะสนใจ จากจุดเริ่มต้นของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพได้ทำให้งานเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน และป่าชุมชนมีมิติทางนโยบายและการจัดการใหม่ๆ และเชื่อมโยงสู่ระดับสากล

จากกระแสดังกล่าว คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ได้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งคณะทำงานสิทธิภูมิปัญญาไทยเพื่อขับเคลื่อนเรื่องสิทธิเกษตรกรบนฐานทรัพยากรชีวภาพ และข้อถกเถียงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นเครื่องมือการแย่งชิงทรัพยากรในรูปแบบโจรสลัดชีวภาพซึ่งไม่เพียงปรากฏใน CBD แต่ยังมาปรากฏชัดเจนในข้อตกลงองค์กรการค้าโลก (WTO)

มองโดยภาพรวมแล้ว สทพ.ในยุคนี้เป็นยุคที่ขับเคลื่อนโดยนักวิชาการทางสังคมศาสตร์ และเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมแนววิพากษ์ ได้พัฒนาแนวคิดใหม่ในเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาชุมชน นั่นก็คือ แนวคิดสิทธิชุมชนซึ่งปัจจุบันได้ถูกบัญญัติเป็นหลักการในรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ ทิศทางงาน ของ สทพ.ยุคนี้มุ่งเน้นบุกเบิกองค์ความรู้และสนับสนุนงบประมาณแก่องค์กรพัฒนาเอกชนขนาดเล็กเกี่ยวกับการพัฒนาที่สร้างความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่นและการตรวจสอบนโยบายรัฐในประเด็นสำคัญคือ สิทธิชุมชนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและเกษตรกรรมยั่งยืน การขับเคลื่อนงาน สทพ.สัมพันธ์ไปกับขบวนการขององค์กรพัฒนาเอกชนในด้านชนบท โดยมีคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เป็นกลไกสำคัญ

ในกระบวนการขับเคลื่อนของ สทพ.ยุคนี้ ได้สร้างนักคิดนักเคลื่อนไหวทางสังคมมากมาย ที่กลายเป็นผู้นำทางสังคมและทางวิชาการในปัจจุบัน นับเฉพาะคนที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ สทพ.ได้กลายเป็นนักวิชาการสังคมศาสตร์ที่มีบทบาททางสังคม ได้แก่ ดร.ยศ สันตสมบัติ ดร.มงคล ด่านธานินทร์ ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี ดร.เดชา ตั้งสีฟ้า คุณวิฑูรย์ ปัญญากุล คุณวิวัฒน์ คติธรรมนิตย์ ดร.พิกุล อิทธิหิรัญวงศ์ ดร.เจริญ คัมภีรภาพ คุณกรรณิการ์ พรมเสาร์ คุณพุทธินันท์ สุขพรวรกุล คุณพุทธณี กางกั้น ดร.กฤษฎา บุญชัย และอีกหลายท่าน

ยุคที่หนึ่งของ สทพ.สิ้นสุดเมื่อ .เสน่ห์หมดวาระ และไปบุกเบิกงานสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาอีสาน (สทพ.อีสาน) และอ.ยศ ย้ายไปเป็นอาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การสิ้นสุดของ สทพ.ยุคนี้หมดไปพร้อมกับงานหลักด้านสิทธิชุมชนและเกษตรกรรมยั่งยืน


สทพ.ยุคที่สอง (2538-2540)

เมื่ออาจารย์เสน่ห์หมดวาระประธานสถาบันฯ คุณหมอประเวศ วะสี ประธานมูลนิธิฯ จึงได้เชิญคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (บชท.) เป็นประธานสถาบัน พร้อมกับเชิญ ดร.อนุชาติ พวงสำลี อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย และคุณทรงพล เจตนาวณิชย์ เป็นผู้อำนวยการบริหาร

ในช่วงนี้ สทพ.ยังได้รับงบฯ จาก CIDA บทบาทในแง่การสนับสนุนงบประมาณแก่องค์กรพัฒนาเอกชนขนาดเล็ก แต่มีการปรับโครงสร้างให้ กป.อพช.แต่ละภาคบริหารงบประมาณอย่างมีอิสระมากขึ้น ในส่วนของแนวทางการทำงาน สทพ.เปลี่ยนยุทธศาสตร์จากการเคลื่อนไหวเชิงนโยบายแนววิพากษ์โดยมีประเด็นเชิงโครงสร้างที่ชัดเจน และทำงานแนบแน่นกับ กป.อพช. มาเป็นการทำงานที่เน้นความร่วมมือหลากหลายภาคี ไม่ได้มีประเด็นเฉพาะเจาะจง รูปธรรมงานสำคัญ เช่น การพัฒนาโครงการปลูกป่าพัฒนาชุมชน จังหวัดน่าน ร่วมกับกลุ่มฮักเมืองน่านที่นำโดยคุณสำรวย ผัดผล โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน

จนเมื่อย่างก้าวเข้าสู่ปี 2539 เป็นช่วงที่รัฐบาลกำลังพัฒนาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เปลี่ยนเป้าหมายจากเศรษฐกิจเป็นศูนย์กลาง มาเป็นคนเป็นศูนย์กลาง และเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาแผนฯ สทพ.นำโดยคุณไพบูลย์ และคุณอเนก นาคะบุตร ซึ่งเข้ามาเป็นเลขาธิการ สทพ. มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการยกร่างแผนฯ 8 จากภาคสังคม โดย สทพ.ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดตั้งคณะทำงานประชาคม แผนฯ 8” เพื่อเป็นเวทีหารือในการขับเคลื่อนภาคสังคมตามแนวทาง แผนฯ 8

แนวคิดใหม่ที่ถูกหยิบมาตีความและกำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์หลัก ก็คือประชาสังคม” (civil society) เพื่ออธิบายการทำงานที่ประสานภาคีหลากหลายทั้งภาคสังคม เอกชน และภาครัฐ ไม่เน้นชนชั้น ไม่จำกัดเฉพาะชุมชนท้องถิ่น แนวคิดดังกล่าวได้ใช้กระบวนการแผนฯ 8 เกิดการรูปธรรมประชาคมจังหวัด” “ประชาคมตำบลเป็นต้น

ขณะที่ขบวนการองค์กรพัฒนาเอกชนที่ขับเคลื่อนนโยบายกำลังขับเคลื่อนไปอีกทาง โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของสมัชชาคนจนที่เน้นยุทธศาสตร์การวิพากษ์นโยบายรัฐ และใช้ยุทธวิธีการเมืองบนท้องถนนด้วยการชุมนุมเรียกร้องการแก้ปัญหาจากรัฐบาล นั่นจึงทำให้บทบาทของ สทพ.เริ่มห่างจากขบวนการองค์กรพัฒนาเอกชน ห่างจากกลไก กป.อพช.มากขึ้นเรื่อยๆ

ในห้วงเวลาที่กระแสประชาสังคมกำลังเฟื่องฟู มีนักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคมที่สนใจเรื่องวิถีเมืองได้เข้ามาเป็นภาคีสำคัญของ สทพ.ได้แก่ .ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ .ขวัญสรวง อติโพธิ โดยร่วมกับ .อนุชาติ พวงสำลี และคุณอเนก นาคะบุตร ได้ร่วมขับเคลื่อนงานสำคัญ เช่น เวทีสิ่งแวดล้อม 2539 ที่จัดในเดือนมกราคม 2540 โดยมีบริษัทแปลน เป็นแม่งานจัดการ ด้วยวิธีคิดแนวประชาสังคมบวกกับเมืองน่าอยู่ ทำให้เวทีสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้เปลี่ยนจากแนวทางวิพากษ์เหมือนที่เคยจัดมา เป็นเน้นความร่วมมือทางสังคม และนวัตกรรมทางสังคมของผู้คนต่างๆ ในการจัดการสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นของตน

ต่อมากลุ่ม .ชัยวัฒน์ .ขวัญสรวง ก็ได้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสถาบันเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม (Civicnet) ในปี 2541 ที่เน้นกระบวนการสร้างประชาสังคมท้องถิ่นในภาคเมืองเป็นหลัก


สทพ.ยุคที่สาม (2541-2562)

ในช่วงปี 2540 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อภาคสังคมและชุมชนอย่างรุนแรง ธนาคารโลกซึ่งเป็นสถาบันโลกบาลได้เข้ามาสนับสนุนการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชุมชน จึงได้ร่วมกับรัฐบาลจัดตั้ง  กองทุนการเพื่อการลงทุนเพื่อสังคม” (Social Investment Fund: SIF) ในปี 2541 โดยเป็นกองทุนอิสระภายใต้ธนาคารออมสิน มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนโดยตรงแก่ชุมชนท้องถิ่น

การเกิดขึ้นของ SIF ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของ สทพ. เนื่องจาก คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้ออกจาก สทพ.ไปเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เพื่อดูแลกองทุน SIF เช่นเดียวกับคุณอเนก นาคะบุตร เลขาธิการ สทพ.ได้ไปเป็นผู้อำนวยการ SIF

สทพ.จึงได้ให้ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งเป็นกรรมการมูลนิธิฯ อยู่เดิมมาเป็นประธาน สทพ.และเชิญนพ.พลเดช ปิ่นประทีป ที่ทำงานประชาสังคมอยู่ที่สถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน จังหวัดพิษณุโลก มาเป็นเลขาธิการ สทพ.ในปี 2541

จนเมื่อสิ้นสุดวาระของคุณหมอสงวน ในปี 2544 หลังจากนั้นก็ไม่มีตำแหน่งประธาน สทพ. อีก มีแต่เลขาธิการ สทพ. คือ คุณหมอพลเดช และหลังจากนั้น สทพ.ในยุคนี้มีการแบ่งโครงสร้าง นพ.พลเดช นอกจากเป็นเลขาธิการ สทพ.แล้วยังเป็นผู้อำนวยการสำนักพัฒนาประชาสังคม คุณเบ็ญจมาศ ศิริภัทร เป็นผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมศักยภาพชุมชน และคุณทรงพล เจตนาวณิชย์ เป็นผู้อำนวยการสำนักวิจัยชุมชนท้องถิ่น

สทพ.ในยุคนี้ต้องแสวงหาทุนจากในประเทศ เพราะการสนับสนุนจาก CIDA สิ้นสุดลงแล้ว สทพ.จึงพัฒนางานในหลายทิศทางที่จะมาเกี่ยวกับชุมชนและประชาสังคม เช่น กองทุนสื่อประชาสังคมต้านคอร์รัปชั่น โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้ (ปี 56-60) โดยทุนธนาคารโลก โครงการภัยพิบัติชุมชน (สสส.) (ปี 57-59) เป็นต้น

แม้ในช่วงปี 2550 นพ.พลเดช ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ แต่ก็ยังทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ สทพ.เรื่อยมา และได้ขึ้นมาเป็นประธานมูลนิธิฯ ในปี 2558 แทนที่คุณอเนก นาคะบุตร ที่หมดวาระแล้ว

แนวคิดใหม่ที่ปรากฏชัดขึ้นมาแทนแนวคิดประชาสังคมก็คือประชารัฐที่เป็นการเชื่อมภาคประชาสังคมกับรัฐ (จนต่อมากลายได้เป็นนโยบายที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีใช้จนถึงปัจจุบัน)

งานของ สทพ.ในช่วงนี้เน้นการสร้างเครือข่ายประชาสังคมในวงกว้าง เน้นสร้างความร่วมมือกับรัฐ โดยไม่ได้มีประเด็นขับเคลื่อนเฉพาะเจาะจง

จนในปี 2559 คุณหมอพลเดช ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงหมดบทบาทจากเลขาธิการมูลนิธิฯ แต่ยังคงตำแหน่งประธานมูลนิธิฯ


สทพ.ยุคที่สี่ (2562-ปัจจุบัน)

จนเมื่อคุณหมอพลเดช ได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกในปี 2562 ประจวบกับช่วงคณะกรรมการมูลนิธิฯ ชุดเดิมหมดวาระ มทพ.จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิฯ และคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ทั้งหมด โดยมีคุณศิริชัย สาครรัตนกุล เป็นประธานมูลนิธิฯ และมีคุณกฤษฎา บุญชัย เป็นผู้จัดการมูลนิธิฯ

สทพ.ในช่วงนี้เป็นช่วงผลัดใบ เพราะเปลี่ยนทั้งคณะกรรมการและทีมงาน จึงได้บุกเบิกงานขึ้นใหม่ มีเป้าหมายคือ

เป็นองค์กรที่มีบทบาทนำในการพัฒนาและขับเคลื่อนความรู้และนโยบายด้านชุมชนท้องถิ่นและการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรมจากฐานราก

Scroll to Top