แถลงข่าว – COP 28 ภาคประชาชน : กู้วิกฤติโลกเดือดด้วยมือประชาชน

Share Post :

แถลงข่าว
COP 28 ภาคประชาชน : กู้วิกฤติโลกเดือดด้วยมือประชาชน
11 พฤศจิกายน 2566

ปัญหาโลกเดือด (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) เป็นปัญหาต่อความอยู่รอดของโลก แต่เวทีระดมความคิดหาทางออกส่วนใหญ่ แม้แต่เวที COP ระดับโลกโดยสหประชาชาติ มาจนถึงเวที Thai Climate Action Conference (TCAC) ที่รัฐกับเอกชนจัด หรือเวทีสัมมนาสาธารณะ “ปรับประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) มักวนเวียนอยู่กับหน่วยราชการ ผู้เชี่ยวชาญ เอกชน ที่มุ่งตอบโจทย์การเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการจัดการคาร์บอนต่ำ มากกว่าปกป้องนิเวศ ประชาชน และเปลี่ยนผ่านสังคมให้เกื้อกูลนิเวศอย่างยั่งยืน และเป็นธรรม


นั่นจึงทำให้นโยบาย แผนของรัฐ ข้อเสนอจากเวทีของรัฐและเทคโนแครตต่าง ๆ ไปไม่ถึงความเข้าใจเชิงลึกต่อวิถีของประชาชน ชุมชน ปัญหาโลกเดือดที่ประชาชนเผชิญอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแตกต่างหลากหลาย ไม่เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมทางนิเวศ เศรษฐกิจ สังคมที่ทำให้ภาวะโลกเดือดรุนแรงขึ้น และไม่เห็นบทบาทของชุมชน ประชาชนในการปรับตัว จัดการนิเวศ เศรษฐกิจ สังคมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อภาวะโลกเดือด

เป็นเพราะภาครัฐ เอกชน และวิชาการกระแสหลักไม่มีข้อวิพากษ์ต่อกรอบคิด และนโยบายที่สร้างปัญหา เช่น การเร่งปรับสู่พลังงานหมุนเวียน แต่ไม่ชัดเจนต่อแนวทางลด และเลิกพลังงานฟอสซิลโดยด่วน และการปฏิรูปโครงสร้างพลังงานให้มีธรรมาภิบาล การฟอกเขียวจากนโยบายชดเชย คาร์บอน ตลาดคาร์บอน คาร์บอนเครดิต การละเมิดสิทธิชุมชนจากนโยบายปลูกป่าคาร์บอนเครดิต โครงการพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ระเบียงเศรษฐกิจใน
ทุกภาค โครงการแลนบริดจ์ การสร้างเขื่อน โรงไฟฟ้าขยะ ไปจนถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่เห็นความจำเป็น ต่อการเปลี่ยนผ่านเกษตรเคมีเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่สู่เกษตรนิเวศโดยประชาชน

ทั้งหมดนี้เพราะรัฐและเอกชนไม่มีคำถามต่อรากฐานของปัญหาการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรมและไม่ยั่งยืน คือระบบทุนนิยมเสรี และระบบราชการผูกขาด จึงมุ่งเน้นหาคำตอบจากเทคโนโลยี กลไกตลาด ใช้ทุนนิยมที่เป็นเหตุปัญหามาปรับเป็นทุนนิยมสีเขียวให้มุ่งเติบโตต่อไป มากกว่าการปรับ โครงสร้างอำนาจเศรษฐกิจ สังคม ผ่านรูปธรรมนโยบายสำคัญ เช่น พลังงงาน การจัดการทรัพยากร ระบบการเกษตร ซึ่งสร้างผลกระทบสำคัญต่อภาวะโลกเดือด ให้เปลี่ยนผ่านสู่การจัดการของประชาชน อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม หรือสร้างประชาธิปไตยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากฐานรากให้เกิดขึ้น

เมื่อไม่มีพื้นที่ทางนโยบายและสังคมให้ประชาชนได้ร่วมถกแถลงทางนโยบายทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ภาคประชาสังคมที่ทำงานกับคนรากหญ้าด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วประเทศกว่า 23 องค์กร จึงรวมตัวกันจัดเวที “COP 28 ภาคประชาชน” กู้วิกฤติโลกเดือดด้วยมือประชาชน ท่านจะได้พบ ได้ยินเสียงของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่ถูกมองข้ามมาตลอด ทั้งคนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ เกษตรกร คนรุ่นใหม่ ต่อปัญหา ผลกระทบ บทบาทของประชาชน และข้อเสนอนโยบายจากปัญหา และวิถีชีวิตจริงของประชาชน โดยไม่ได้จำกัดอยู่ในกระบวนทัศน์คาร์บอนนิยม และเศรษฐศาสตร์คาร์บอนที่เป็นวิธีเข้าใจ และแก้ปัญหาโลกร้อนกระแสหลัก แต่เราจะได้เห็นกระบวนทัศน์ที่สร้างจากบริบทเฉพาะถิ่นทางนิเวศวัฒนธรรม และการต่อสู้ต่อรองของประชาชนอย่างหลากหลาย และไม่แยกส่วน

มีหัวข้อเสวนาที่เป็นข้อถกเถียงระดับโลก ที่ไม่ปรากฏในเวทีภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ เช่น หยุดฟอกเขียวด้วยคาร์บอนเครดิตจากการปลูกป่า ฟาร์มคาร์บอน “พลังงานสะอาด” หยุดพลังงานฟอสซิล เปลี่ยนสู่พลังงานหมุนเวียนที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง กระจายอำนาจการจัดการทรัพยากร พลังงาน และอื่น ๆ สู่ประชาชน การคุ้มครองส่งเสริมสิทธิชนพื้นเมือง ผู้หญิง ชุมชนท้องถิ่น ในการจัดการทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ การทำเกษตรนิเวศ การจัดการพลังงาน และะอื่น ๆ นโยบายการคุ้มครองประชาชน ไม่ให้เผชิญภาวะสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage) นโยบายคุ้มครองส่งเสริมการปรับตัวของเกษตรกรจากข้อเสนอของเกษตรกรในแต่ละนิเวศ บทบาทและข้อเสนอของคนรุ่นใหม่ที่ก้าวข้ามวิธีคิดกรอบของรัฐและทุน

เพราะเราไม่ได้ต้องการแค่สังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ มุ่งตัวเลข Net Zero ที่ยังวนอยู่กับการเติบโตเศรษฐกิจของทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ทำลายนิเวศและสังคม แต่เราต้องการเปลี่ยนผ่านการพัฒนาทั้งระบบให้ก้าวพ้นทุนนิยมที่เรารู้จัก สู่สังคมเศรษฐกิจที่เป็นส่วนหนึ่ง เกื้อกูล สมดุลกับนิเวศ ต้องการการเมืองสีเขียวที่มีความเป็นธรรม เกิดประชาธิปไตยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากฐานราก

ผลสรุปจากเวทีนี้จะนำเสนอต่อสาธารณะ รัฐบาล และส่งไปถึงที่ประชุม COP 28 ของสหประชาชาติ ที่จะจัดขึ้นในปลายเดือนพฤศจิกายน และต้นเดือนธันวาคมนี้ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์อย่าให้เรื่องโลกเดือดผูกขาดโดยรัฐ และเทคโนแครต อย่าให้เรื่องโลกเดือดเป็นเพียงแค่ความชอบธรรมใหม่ ในภาษาสีเขียวของผู้ก่อมลภาวะในในการทำลายนิเวศโดยไม่ได้ปกป้องธรรมชาติ และคุ้มครองสุขภาวะของชุมชน ประชาชนอย่างจริงจัง ประชาชนต้องร่วมขับเคลื่อน เปลี่ยนโครงสร้าง การพัฒนาไทยให้รับผิดชอบต่อโลก มีภูมิคุ้มกันต่อโลกเดือดอย่างยั่งยืน และเป็นธรรม เวที COP 28 ภาคประชาชน กู้วิกฤติโลกเดือด จะเป็นจุดเปลี่ยนทางนโยบายสำคัญของประเทศและโลก มาร่วมกัน ขับเคลื่อนครับ.

Share Post :
Scroll to Top