ทบทวนนโยบาย BCG หยุดยกป่าชายเลนให้กลุ่มทุนเพื่อคาร์บอนเครดิต

Share Post :

โดย สมบูรณ์ คำแหง
ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในเวทีเสวนาย่อย ในงานเวทีนโยบายและวิชาการสาธารณะ กู้วิกฤติโลกเดือด ด้วยมือประชาชน (COP ภาคประชาชน)

นโยบาย BCG ที่แฝงไปด้วยธุรกิจจากคาร์บอนเครดิต

รัฐบาลประยุทธ์ได้ประกาศโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เรียกว่า “BCG Economy” พร้อมกับบอกว่าโมเดลนี้จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับฐานราก โดยมีฐานคิดว่า  โมเดล BCG ประกอบด้วย เศรษฐกิจหลัก 3 ด้านที่จะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ B = เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เป็นการนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดจากฐานความเข้มแข็งเดิม C = เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด และ G = เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งยังมองว่า โมเดล BCG สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยมีการตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี จะช่วยเพิ่ม GDP ของไทย เป็น 4.3 ล้านล้านบาท ที่สำคัญจะต้องสร้างสิ่งแวดล้อมของไทยให้สมบูรณ์ รวมถึงจะทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDG) ขององค์การสหประชาชาติ   

ขณะเดียวกันได้มีการนำโมเดล BCG ไปเชื่อมโยงกับคาร์บอน เครดิต (Carbon Credit) ซึ่งก็คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ   ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อ-ขายได้ หากสรุปให้เข้าใจง่ายๆ คาร์บอนเครดิต ก็เปรียบเสมือนใบอนุญาตหรือโควต้าในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ผ่านสูตรการคำนวนสามารถปล่อยคาร์บอนได้ 1 ตัน ด้วยการจ่ายเครดิตที่ถูกสร้างขึ้นจากกิจการลดก๊าซเรือนกระจกได้จำนวน 1 ตัน ผ่านประเทศที่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ผู้ที่ต้องการจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินปริมาณที่กำหนด จะต้องซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้ที่ขายคาร์บอนเครดิต     โดยมีฐานคิดว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้นั้น ต้องเกิดจากการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ CDM (Clean Development Mechanism) ถือเป็นระบบ/กลไกที่สร้างขึ้นเพื่อหาทางออกให้กับประเทศพัฒนาทั้งหลายที่ประสบปัญหาในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การถกเถียงในภาคประชาสังคมการใช้กลไกการตลาดในการลดก๊าซเรือนกระจกผ่าน BCG, คาร์บอนเครดิต เป็นการจัดการโลกร้อนที่ไม่เป็นธรรม แต่แนวทางการจัดการโลกร้อนที่เป็นธรรมต้องหยุดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นต้นเหตุก็คือภาคอุตสาหกรรม

          ประเทศไทย ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้จัดตั้ง“องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization :TGO)” เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์หลักในการวิเคราะห์ กลั่นกรองและทำความเห็นเกี่ยวกับการให้คำรับรองโครงการที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด รวมทั้งติดตามประเมินผลโครงการที่ได้รับคำรับรอง ส่งเสริมการพัฒนาโครงการและการตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก(คาร์บอนเครดิต)

          ในขณะที่นักพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยกลับไม่เห็นด้วยกับวิธีการจัดการและการแก้ไขปัญหาโลกร้อนด้วยทฤษฏีดังกล่าว ด้วยมองว่ากระบวนการดังกล่าวนั้นคือ การฟอกเขียวของกลุ่มทุนที่ไม่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจริง ทั้งยังเป็นการบิดเบือนเป้าหมายและเจตนารมณ์ในการดูแลรักษาโลกใบนี้ให้รอดพ้นจากการถูกทำลายจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างแท้จริง

          วาทกรรมโมเดล BCG ของรัฐบาลประยุทธ์ กำลังสร้างความสับสนคลุมเครือในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย และอาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งอื่นๆตามมาอย่างไม่อาจหลีกเหลี่ยง โดยเฉพาะการแย่งยึดที่ดินของชุมชนเพื่อนำไปปลูกสร้างพื้นที่สีเขียว เพื่อเข้าระบบการซื้อขายคาร์บอนฯ ในขณะที่ชุดความคิดที่กำลังถกเถียงกันภายใต้วาทกรรม “การลดโลกร้อน” ที่ทุกคนไม่ปฏิเสธว่าจะต้องช่วยกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นในทุกวันนี้ ได้กลายเป็นความคลางแคลงสงสัยว่า การยอมรับระบบคาร์บอนเครดิต คือการสมรู้ร่วมคิดในการทำลายโลกใบนี้

อาจจะกล่าวได้ว่า แนวคิด BCG เป็นหลักการทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ที่จะเป็นการลดช่องว่างระหว่างภาคธุรกิจกับภาคประชาชนหรือชุมชนที่ต้องการสร้างทางออกร่วมกันในการดำเนิน “ธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” แต่รัฐบาลกลับใช้แนวนโยบายนี้เคลือบแฝงไปในทางไม่บริสุทธิ์ ด้วยการใช้วาทกรรมนี้รองรับเครื่องมือของกลุ่มทุนที่ไร้ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม คือระบบ “คาร์บอนเครดิต” (carbon credit) หรือ สิทธิที่อ้างจากมาตรการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สภาพแวดล้อมหรือโลกใบนี้ได้อย่างชอบธรรมมากขึ้น  นั่นหมายถึงกระบวนการภายใต้วาทกรรม BCG กำลังนำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อมได้อย่างชอบธรรม โดยการใช้ระบบการตลาดมาเป็นแรงจูงใจมาใช้อย่างแนบเนียน ซึ่งเราเรียกกลวิธีเหล่านี้ว่า “การฟอกเขียว”

เบื้องหลังผลประโยชน์โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิต

ก่อนการประชุมเอเปค 2022 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทย ช่วงปลายปี พ.ศ. 2565 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้มีการออกประกาศเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 เรื่องการจัดสรรพื้นที่ปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์ทางคาร์บอนเครดิตฉบับแรก รวมเนื้อที่ทั้งหมด 48,166.75 ไร่ ให้กับ 17 บริษัทเอกชน ที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ และมาทราบในภายหลังว่าได้มีการดำเนินการจัดสรรพื้นที่เพิ่มเติมไปอีกกว่า 15,000 ไร่ การดำเนินการดังกล่าวเพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเดินหน้าการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ภายใต้นโยบาย BCG ที่รัฐบาลได้ประกาศไว้กับเวทีประชุมกลุ่มประเทศเอเปค เมื่อปลายปี พ.ศ. 2565

          อย่างไรก็ตาม มีการนำเสนอข่าวโดยสำนักข่าวอินโฟเควสท์ เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2566 ว่าบริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยโดยมี DITTO ถือหุ้น 100% เป็นผู้ได้รับสิทธิปลูกและดูแลรักษาป่าชายเลนเพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิต ระยะเวลา 30ปี ได้รับสิทธิดูแลพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มอีกจำนวน 62,781.72 ไร่ จาก 39 ชุมชนในพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัด นครศรีธรรมราช สตูล ตรัง กระบี่ พังงา ระนอง สุราษฏร์ธานีและชุมพร จากเดิม DITTO มีพื้นที่ปลูกป่าชายแลนทั้งในส่วนของทางบริษัทได้รับสิทธิโดยตรงและร่วมกับชุมชน รวมทั้งสิ้น โดยในส่วนที่ได้รับสิทธิ์ในนามสยามทีซีเทคโนโลยี นั้นเป็นป่าชายเลนที่ต้องปลูกใหม่จำนวน 21,658.19 ไร่ และได้รับสิทธิ์ดูแลป่าชายเลนซึ่งมีสภาพป่าอยู่แล้วร่วมกับชุมชน อีก14 ชุมชนในจังหวัดกระบี่และจังหวัดพังงา จำนวน 26,508 ไร่ ดังนั้น เมื่อรวมกับพื้นที่ป่าชุมชนที่เข้าร่วมโครงการใหม่ อีกจำนวน 62,781.72 ไร่ ทำให้ DITTO ได้รับสิทธิ์ดูแลพื้นที่ป่าชายแลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต รวมทั้งสิ้น 110,948.47 ไร่

จึงมีคำถามไปยังรัฐบาล ผ่านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ขณะนี้ได้มีการจัดสรรโควต้าพื้นที่ป่าชายเลนให้กับกลุ่มทุนเพื่อประโยชน์ด้านคาร์บอนเครดิตไปแล้วทั้งหมดจำนวนกี่ไร่ และเป็นพื้นที่จังหวัดอะไรบ้าง อย่างไร ?

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากไปกว่านั้นคือ มีข้อมูลว่ากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลป่าชายเลนทั้งประเทศ และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่จัดสรรพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อประโยชน์ทางคาร์บอนเครดิตให้กับภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ได้มีการออกระเบียบว่าด้วยเรื่องดังกล่าวเพื่อรองรับการนำพื้นที่ป่าชายเลนเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิต และทราบว่ามีส่วนรู้เห็นในการจัดทำสัญญาระหว่างชุมชนในฐานะผู้บริหารจัดการป่าชุมชนจำนวน 99 ชุมชน บริษัทเอกชนที่ประสงค์เข้าสู่โครงการ ซึ่งได้มีการทำบันทึกข้อตกลงการดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์ทางคาร์บอนเครดิตกับชุมชนไปแล้วทั้ง 99 ชุมชน (ข้อมูลที่เปิดเผยในปัจจุบัน) และเมื่อเข้าไปดูรายละเอียดในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มีข้อสังเกตที่น่าเป็นห่วงหลายประการที่เห็นได้ว่า การทำบันทึกข้อตกลงในลักษณะเช่นนั้นมีความไม่เป็นธรรมและเข้าข่ายทำให้รัฐและชุมชนเสียประโยชน์ ดังนี้

  1. สิทธิในความเป็นเจ้าของทรัพยากรของชุมชนหายไป โดยมีการยกคำว่า “บริษัทเป็นผู้ทรงสิทธิ์” ที่จะเข้าไปมีกรรมสิทธิ์ร่วมในหลายกรณี ที่จะเกิดประโยชน์หรือเกิดความเสียหายอื่นใดขึ้นในการดำเนินโครงการ ชุมชนไม่สามารถตัดสินใจได้แต่ต้องแจ้ง รายงานหรือบอกกล่าวให้บริษัทรับทราบและร่วมตัดสินใจหรือร่วมรับผลประโยชน์นั้นๆด้วย และในทางปฏิบัติชุมชนจะมีความเสี่ยงในการใช้ประโยชน์ตามความหมายของกฏหมายป่าชุมชน เช่นประโยชน์จากการสันทนาการ การท่องเที่ยว การเก็บหาของป่าหรือสัตว์น้ำในป่าชายเลน
  2. การจัดสรรงบเพื่อดำเนินงานตลอดอายุโครงการ 30 ปี มีความคลุมเครือ โดยกำหนดว่าชุมชนจะได้รับค่าสนับสนุนการดำเนินการปีแรก ไร่ละ 450 บาท และจากปีที่ 2 จนถึงปีที่ 30 จะได้รับไร่ละ 200 บาท เป็นการรับในคราวเดียวหรือรับรายปี ?  
  3. การจัดสรรรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตที่ไม่เป็นธรรม กล่าวคือมีการแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ บริษัท ได้ 70% ชุมชน ได้ 20% รัฐหรือ กรม ทช. ได้ 10% จึงมีคำถามว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวใครเป็นคนกำหนด ทั้งที่ป่าชุมชนส่วนใหญ่ชุมชนในพื้นที่เป็นผู้ปลูก ดูแลรักษามาแล้วอย่างยาวนาน ซึ่งไม่ต้องปลูกใหม่ตามชื่อของโครงการนี้ จึงเห็นได้ถึงการเอารัดเอาเปรียบชุมชนอย่างชัดเจนในเรื่องนี้
  4. เข้าข่ายผิดกฏหมายป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ด้วยเงื่อนไขเรื่องสิทธิบัตร หรือลิขสิทธิ์ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวนั้น เป็นข้อกำหนดที่ทำให้ชาวบ้านสูญเสียความเป็นเจ้าของฐานทรัพยากร อันถือเป็นการสูญเสียความหมายของคำว่าป่าชุมชนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติป่าชุมน พ.ศ. 2562 อย่างชัดเจนในมาตรา 3 ว่าบทบัญญัติแห่งกฏหมายนี้มุ่งหมายเพื่อสิทธิของบุคคลและชุมชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษา ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน” ดังนั้นการดำเนินการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอาจเข้าข่ายเป็นการทำผิดกฏหมาย

จึงสรุปได้ว่า การดำเนินการภายใต้โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์ทางคาร์บอนเครดิต คือความชั่วร้ายที่สุดของรัฐและทุนที่กำลังจับมือกันเพื่อกลืนกินฐานทรัพยากรของชุมชน แล้วสร้างภาพและภาษาที่สวยงามว่าเป็นการ “ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าชายเลน และเป็นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนฐานล่าง ได้มีส่วนร่วมสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อมและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนที่กำลังรุนแรงในขณะนี้” ซึ่งเรื่องนี้กำลังกลายเป็นผลประโยชน์ในทางธุรกิจมากว่าที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อนใด้จริงตามที่กล่าวอ้าง

เมื่อย้อนไปดูหลักการสำคัญส่วนใหญ่ของการดำเนินนโยบาย BCG ถือว่าเป็นประโยชน์และหากดำเนินการได้ตามความหมายที่ต้องการสร้างสรรค์ระบบเศรษฐกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้จริง ถือว่าเป็นคุณูปการต่อสังคมโดยรวม แต่หากการดำเนินนโยบายนี้ถูกซ่อนเร้นวาระว่าด้วยเรื่อง “การซื้อขายคาร์บอนเครดิต” แล้ว ถือเป็นความเลวร้ายที่ไม่อาจยอมรับได้ ด้วยเพราะมีทั้งข้อมูลและมีทั้งข้อเรียกร้องของภาคประชาชนและภาคประชาสังคมในหลายประเทศแล้วว่า วิธีการทางคาร์บอนเครดิต คือการ “ฟอกเขียว” ที่ไม่ได้นำไปสู่ “การลดโลกร้อน” ได้จริง และกำลังกลายเป็นการนำปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อนหรือโลกเดือดกลายเป็นผลประโยชน์ในทางธุรกิจของคนบางกลุ่ม และที่ร้ายไปกว่านั้นคือการสร้างกระบวนการรองรับให้กลุ่มทุนบางกลุ่มสามารถดำเนินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อทำลายโลกใบนี้ได้ต่อไป

ข้อเสนอ

  1. รัฐบาลต้องมีความคิดก้าวหน้าและเท่าทันกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ควรยอมรับนโยบาย BCG ที่รัฐบาลประยุทธ์สร้างไว้ และควรทบทวนเพื่อยกเลิกเรื่องนี้โดยด่วน ก่อนที่หน่วยงานรัฐและภาคเอกชนทั่วไปกำลังนำไปขับเคลื่อนเป็นนโยบายขององค์กรอย่างผิดเพี้ยน
  2. รัฐบาลจะต้องสร้างหรือค้นหาวาทกรรมใหม่ ที่ว่าด้วยการสร้างระบบเศรษฐกิจที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และต้องไม่นำไปผูงโยงกับแนวคิดของการซื้อขายคาร์บอนฯ ผ่านกลไกการตลาด อันเป็นแนวทางที่นักสิ่งแวดล้อมระดับโลกไม่ยอมรับ เพราะชัดเจนว่าเป็นเพียงการ “ฟอกเขียว” ของกลุ่มทุนที่ไม่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจริง เท่านั้น
  3. รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการสร้างมาตรการคุ้มครองและลดสภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง โดยการสร้างเครื่องมือแบบใหม่ที่จะนำไปสู่เป้าหมายเพื่อดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้เป็นไปตามปฏิญญาสากลที่รัฐบาลไทยไปร่วมลงนามกันไว้กับประชาคมโลก ที่ว่าด้วยเรื่องมาตรการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อรักษาสมดุลของโลกใบนี้ร่วมกัน
  4. กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่เปลี่ยนเป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม  ต้องไม่นำองค์กรของรัฐเพื่อไปรับใช้แนวคิดคาร์บอนเครดิต แต่ต้องออกแบบการดำเนินงานเพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย และสอดรับกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของสภาพภูมิอากาศระดับโลก โดยเฉพาะการเอาจริงเอาจังกับพันธสัญญาต่างๆที่รัฐบาลไทยได้ไปตกลงกับประชาคมโลกไว้อย่างครบถ้วน และต้องสร้างรูปธรรมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปสู่ความยั่งยืนแบบมีส่วนร่วมในทุกมิติ และต้องทำงานเชิงรุกที่จะนำไปสู่การลด ละ เลิก กิจกรรมหรือกิจการที่มีการปล่อยมลพิษ เพื่อแก้ปัญหาต้นเหตุของการสร้างมลภาวะหรือก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยอย่างมีเป้าหมาย
  5. ทบทวนร่างกฏหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานกฤษฏีกา ในประเด็นที่ว่าด้วยระบบการซื้อขายคาร์บอนเครติด และจะต้องเร่งสังคยานากฏหมายสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 เพื่อให้มีการปรับเนื้อหาของกฏหมายให้เท่าทันกับยุคสมัย และตอบสนองการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมและเป็นธรรมในทุกมิติ ทั้งนี้ต้องเริ่มต้นจากการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการปรับร่างกฏหมายตั้งแต่เริ่มต้น
  6. รัฐบาลต้องยกเลิกโครงการชดเชยคาร์บอนฯแบบสมัครใจ ที่กำลังดำเนินการผ่านโครงการปลูกป่าเพื่อประโยชน์ทางคาร์บอนเครดิต ด้วยเพราะไม่สามารถยืนยันได้ตามหลักวิชาการว่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาโลกร้อนได้จริง ซึ่งรวมไปถึงการยกเลิกบันทึกข้อตกลงทั้งหมดที่ภาครัฐมีส่วนรู้เห็นและสนับสนุนให้ภาคเอกชนไปทำสัญญากับชุมชน เพื่อใช้พื้นที่ป่าชายเลนชุมชนและป่าชุมชนอื่น ๆ ตามโครงการดังกล่าวทั้งหมด
Share Post :
Scroll to Top