สิทธิชนเผ่าในประเทศไทยจะได้รับการคุ้มครองทางกฏหมายหรือไม่

Share Post :
อ่านรายละเอียดของร่าง : https://drive.google.com/drive/folders/1h6uowvB6j2eFeNN3scEizOb99L8YVqHM

ขอเชิญประชาชนที่สนใจคุ้มครองวิถีนิเวศวัฒนธรรมร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
(ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. …

(รายละเอียดร่างกฎหมายตาม QR CODE)


โดยมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
“กลุ่มชาติพันธุ์” ไว้ในมาตรา ๔ ว่า “กลุ่มคนที่อาศัยอยู่เป็นกลุ่มเดียวกันหรือหลายกลุ่มหรือเป็นชนเผ่าพื้นเมือง ที่ตั้งถิ่นฐานร่วมกันโดยมีวิถีปฏิบัติตามจารีตประเพณีสืบทอดจากบรรพชน ตลอดจนมีภาษาและแบบแผนทางวัฒนธรรมของตนมาจนถึงปัจจุบัน
เป็นกลุ่มคนที่มีความสืบเนื่องในทางประวัติศาสตร์ อาศัยอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งหรือหลายพื้นที่ และพึ่งพาผูกพันกับนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่นั้น ๆ
พวกเขาและเธอมิใช่กลุ่มครอบงำทางสังคม และมีความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ พัฒนา และสืบทอดวิถีชีวิต อัตลักษณ์ ภูมิปัญญา อันเป็นไปตามวัฒนธรรม สถาบันสังคม และระบบนิติธรรมชุมชน
รวมทั้งเป็นกลุ่มที่รักษาสันติวัฒนธรรม อันเป็นแนวทางปฏิบัติตามจารีตประเพณี”
และให้นิยามคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” หมายความว่า กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมาก่อนที่จะถูกยึดครองหรือถูกบังคับให้อพยพโยกย้าย โดยกลุ่มคนที่มีอำนาจในสังคม หรือโดยนโยบายกฎหมายของรัฐ
(๒) มีวัฒนธรรมที่เด่นชัดและแตกต่างจากสังคมส่วนใหญ่ โดยรวมถึงภาษา ศาสนา ความเชื่อ วิถีการผลิต รูปแบบโครงสร้างทางสังคม และสถาบันต่างๆ
(๓) เคยประสบกับความไม่เป็นธรรม ถูกกีดกัน แบ่งแยก ทำให้เป็นชายขอบ หรือถูกเลือกปฏิบัติ โดยเงื่อนไขเหล่านี้อาจยังคงอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ก็ได้
(๔) นิยามตัวเองและได้รับการยอมรับจากกลุ่มอื่น ๆ หรือหน่วยงานรัฐว่าเป็นกลุ่มคนเฉพาะ”

นอกจากนี้ยังให้คำนิยาม “การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ” “ชุมชน” “สิทธิชุมชน” และอื่นๆ ไว้ในมาตรา ๔ เช่นกัน
สาระสำคัญแบ่งเป็น ๕ หมวด
หมวดที่หนึ่ง ขอบเขตสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง โดยแบ่งเป็น ๖ ส่วน
๑. สิทธิทางวัฒนธรรมและการศึกษา มาตรา ๖ ถึงมาตรา ๘
๒. สิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ มาตรา ๙ ถึงมาตรา ๑๒
๓. สิทธิกำหนดตนเอง มาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๔
๔. สิทธิในความเสมอภาคและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ มาตรา ๑๕
๕. สิทธิการมีส่วนร่วม มาตรา ๑๖
๖. สิทธิในการบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ มาตรา ๑๗

หมวดที่สอง คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
ประกอบด้วยกลไกนโยบาย บัญญัติไว้ใน มาตรา ๑๘ ให้มี “คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง”
มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน มีประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือกรรมการสิทธิฯ ที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธาน และผู้แทนหน่วยงานรัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองเป็นกรรมการ
โดยมีหน้าที่กำหนดนโยบายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง

กลไกเชิงปฏิบัติการบัญญัติไว้ใน มาตรา ๒๔ ให้คณะกรรมการแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัด” มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ยุติธรรมจังหวัด เป็นรองประธาน และผู้แทนหน่วยงานรัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง และองค์กรพัฒนาเอกชนในจังหวัดเป็นอนุกรรมการ มีหน้าที่คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในระดับจังหวัด และมาตรา ๒๖ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่อง มีหน้าที่ดำเนินการศึกษาประเด็นเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อให้ข้อเสนอแนะแก่คณะกรรมการระดับชาติ

หมวดสาม สภาชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งชาติ เป็นกลไกการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง บัญญัติไว้ใน มาตรา ๒๙ เพื่อประโยชน์คุ้มครอง ส่งเสริม และมีส่วนร่วมกำหนดวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ให้จัดตั้งสภาชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งชาติ ประกอบด้วย ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งเลือกกันเอง ให้มีหน้าที่ประสานงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างความเข้าใจระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง และกับสังคม ส่งเสริมการอนุรักษ์ ฟื้นฟูมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม หรืออัตลักษณ์วัฒนธรรม ภาษา และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้สิทธิชุมชน และเสนอนโยบาย เป้าหมาย และมาตราการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองต่อคณะกรรมการ และหน้าที่อื่นๆ ตามมาตรา ๓๕ และให้จัดตั้งคณะผู้อาวุโสให้เป็นที่ปรึกษา ตามมาตรา ๔๐

หมวดสี่ ข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง โดยบัญญัติมาตรา ๔๓ ให้มี “คณะกรรมการจัดทำข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง” มีบทบาทจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงวิชาการในการคุ้มครองและส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์

หมวดห้า พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง โดยบัญญัติไว้ใน มาตรา ๔๖ ความว่า เพื่อคุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรม อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีบนฐานเศรษฐกิจวัฒนธรรม และส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชนตามภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง

คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง และ กำหนดให้ประชาชนในชุมชนที่อยู่ภายในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง มีสิทธิใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ตามธรรมนูญของพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ตามมาตรา ๔๘

หมวดหก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง โดยบัญญัติใน มาตรา ๕๑ ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการฯ สภาชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งชาติ และคณะกรรมการจัดทำข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จัดทำร่างนโยบาย ยุทธศาสตร์ แนวทาง และแผนงานคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อให้ความเห็นชอบ
ประสานงานหน่วยงานนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง และดำเนินการเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันในระดับนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนงานตามที่คณะกรรมการกำหนด และอื่นๆ ตามมาตรา ๕๒

บทเฉพาะกาล ให้เขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษตามมติคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง และพื้นที่ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ “ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์” ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เครือข่ายกะเหรี่ยง และเครือข่ายชาวเล ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งได้จัดตั้งอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองตามมาตรา ๔๖ ไปพลางก่อน ตามมาตรา ๖๖

โดยขอให้ส่งเอกสารที่ลงนามสนับสนุนแล้วมาที่
นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด
มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.)
สถานที่ติดต่อ บ้านเลขที่ 77/1 หมู่ 5 ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200 โทร.053-810780 มือถือ 084-3784571 อีเมล์ suriyannt@hotmail.com

จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งครับ

รายชื่อองค์กรร่วมรณรงค์ร่างพระราชบัญญัติฯ ประกอบด้วย

  • สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)
  • เครือข่ายชาวเลอันดามัน
  • เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
  • เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปการสังคมและการเมือง (คปสม.)
  • เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมภาคตะวันตก
  • เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
  • ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
  • กลุ่มเพื่อนประชาชนบนพื้นที่สูง
  • สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
  • ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
  • มูลนิธิพัฒนาชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์
  • สถาบันธรรมชาติพัฒนา
  • สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
  • เครือข่ายป่าชุมชนรอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก
  • เครือข่ายชายฝั่งทะเลบูรพา 5 จังหวัด
  • ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ภาคี#saveบางกลอย
  • สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
  • มูลนิธิชุมชนไท (มชท.)
  • มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.)
  • คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
Share Post :
Scroll to Top