สัมภาษณ์ พะตีจอนิ โอ่โดเชา

Share Post :

สัมภาษณ์ พะตีจอนิ โอ่โดเชา
อดีต ผู้นำชนเผ่า/เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ(คกน.)
ปัจจุบัน ปราชญ์ชาวบ้าน /ที่ปรึกษาเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
วันที่ 7 กันยายน 2562
บ้านหนองเต่า
โดย สาวิตรี พูลสุขโข

ถาม  อยากให้พะตีเล่าเรื่องในอดีตเกิดปัญหาอะไร ทำไมชาวบ้านถึงลุกขึ้นมาเรียกร้องป่าชุมชน

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

            เมื่อลูกหลานไปเรียนหนังสือ ทำให้เด็กบางคนพูดภาษากระเหรี่ยงไม่ได้ และในหนังสือเรียนก็ใส่หลักสูตรว่าชาวเขาทำ “ไร่เลื่อนลอย” เราถูกตราหน้าเพราะปากเกอะญอปลูกข้าวไร่ไม่เสียภาษีให้เจ้าเมือง ส่วนพวกปลูกฝิ่นถ้าปลูกได้ 3 กิโลกรัมจะเอาให้รัฐ 1 กิโลกรัม และเมื่อปี 2512 แม่ฟ้าหลวงได้มอบเหรียญชาวเขาให้กับชาวปกาเกอะญอที่อยู่บนดอย เป็นการรับรองครั้งแรกจากภาครัฐ แต่พะตีมองว่าเท่านี้ไม่พอ เพราะสิ่งแวดล้อมไม่สมดุล

“หน่อ วา เซ อา หย่า วา บอ  นางเอ๋ยเนื้อผิวขาวเหมือนไม้สัก ทำไมนกขวานมาเจาะไม้ “

เป็นเรื่องของคนแม่ฮ่องสอน  ต้นสะดือของแฟนเขาถูกตัด ฝรั่งมาตัดของเขา ทำให้แฟนของเขาเสียขวัญ เขาเลยแต่งเพลงนี้ขึ้นมา 

ทำไมอันนี้ปกาเกอะญอทำไม่ได้ อันนี้ต้องเลี้ยงผีไฟ อันนี้ต้องเลี้ยงผีน้ำ  ต้องเลี้ยงผีฝาย ผีนา

พะตีได้ไปเรียนรู้กับพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร เรียกว่า เทวศาสตร์แห่งการปลดปล่อย ย้อนลงมาที่บ้านของเรา ทำไมปกา-เกอะญอทำไร่ เพราะไร่มัน 7 ปีก็ฟื้นตัวขึ้นมาเอง ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำ การอยู่ที่ดอนต้องปลูกแบบนี้ ทำไมต้องเลี้ยงผีไฟเพราะเราอยู่ที่สูง ทำไมเราต้องเลี้ยงผีน้ำเพราะทำนา ทำไมเราตายต้องฝังหลุมเพราะวิญญาณไปทำนา ถ้าถูกเผาวิญญาณไปทำไร่

เมื่อปี 2520 พะตีไปภาคอีสาน ในเดือนตุลาคมน้ำท่วม แต่เมื่อเดือนมีนาคมเมษายนได้ไปอีกครั้งหนึ่ง เห็นคนเข้าคิวไปตักน้ำ เพราะพวกเขาลืมภูมิปัญญาที่ว่า “กินน้ำต้องรักษาน้ำ กินสรรพสิ่งต้องรักษาสรรพสิ่ง”

ถาม ช่วงพ.ศ. 25122520 พะตีออกไปเรียนรู้สังคมภายนอก กลับมาตั้งคำถามว่าไม้ในหมู่บ้านของเราถึงถูกสัมปทาน

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

            ผมจะต้องเดินขบวนเรียกร้อง ก่อนที่จะเดินขบวนเรียกร้อง มีนักศึกษาหนีเข้าป่า ได้ชวนให้พะตีจับปืนสู้กับรัฐ เขาบอกว่าถ้าต้องการปลดอำนาจจะต้องใช้ปืน พะตีคิดว่าพม่ารบกับกระเหรี่ยง 30 ปี ต่างคนต่างไม่ชนะ ที่ไม่ชนะเพราะผมไปเห็นว่า อาวุธสงครามก็เป็นของคนจีน ปืนเอชเคก็เป็นของอเมริกา เราใช้เยอะเท่าไหร่คนขายอาวุธก็รวยเท่านั้น พอเป็นอย่างนี้พะตีจึงยึดหลักว่า “แหล่หน่า ทอจึ เอ๊ะเหน่แค่ะ  จุ๊เหน่บอ  เคลอเหน่เหล่อ  พคีเหน่โฆพอ คลี่เหน่ที  โกเหน่แหม่ แมโหล่ลอ” (9 คุณลักษณะผู้นำปกาเกอะญอ) ต้องใช้นิทานมาสำรวจว่า ถ้าอย่างนี้พะตีจะไปเดี่ยวๆ ไม่ได้ จะต้องไปหาคนที่หูกว้าง มือยาว แหลมกว่าเข็มคือใคร หนักกว่าหินคือใคร เบากว่านุ่นคือใคร ร้อนกว่าไฟคือใคร เย็นกว่าน้ำคือใคร หมายความว่า ความปั่นป่วนความร้อนไม่ได้มีที่เดียว  ผมเข้าใจว่าวิญญาณของปกาเกอะญอมี 32 ขวัญ ฟ้า 7 ซ้อน ดิน 7 ชั้น มันอยู่ทุกที่ทุกแห่ง

            ตอนนั้นมีความตั้งใจจะเดินขบวน ก่อนที่จะเดินขบวนผมอยู่กับพ่อนิพจน์ ขอพ่อมาเดินขบวน เขาบอกว่าเขาเป็นพระเดินไม่ได้ ผมก็เลยไปขอความช่วยเหลือจากนักพัฒนา(มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ)

ถาม-ตอนนั้นถึงจุดที่ต้องเดินขบวนแล้วเหรอ

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

เพราะผมวางแผนกับพ่อนิพจน์มา 20 กว่าปีแล้ว

ถาม ที่หมู่บ้านเจอกับปัญหาอะไร

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

ผมเจอตั้งแต่พ.ศ.2512 สู้กับเหมืองแร่แม่วาง และมีการประกาศอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ในปี 2512 มีญาติพี่น้องของผม(พะตีมณฑล) ถูกจับติดคุก 3 ปี ตอนนั้นคิดว่าจะเดินขบวน เพราะดูจากภูมิปัญญาดั้งเดิมแล้วเรื่องนี้มันใหญ่และยาวมาก 

เมื่อปี 2528 จะต้องจ่ายภาษีช้างให้กับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ตัวละ 500 บาท มันไม่มีความยุติธรรม เงินที่เก็บได้ไม่ได้เข้ารัฐ กลับอยู่กับเจ้าหน้าที่ป่าไม้เท่านั่น

ถาม เหตุการณ์ป่าห้วยแก้วช่วงปี 2528 พะตีได้ไปร่วมไหม

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

ผมไปร่วมทางอ้อม เพราะไปทางตรงไม่ได้ มีการจับกุมและการลอบฆ่า แต่ได้มีรุ่นปู่และลุงของผมเข้าร่วม แต่ผมไปเล่น(ทำงาน)อีกทางหนึ่ง ไปยื่นจดหมายกับจอมพลถนอม กิตติขจร เรื่องเหมืองแร่ในปี พ.ศ.2516 และเรียกร้องปฏิรูปที่ดิน

ถาม ชวนเอ็นจีโอให้มาช่วยแล้วทำอะไรต่อ

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

มีหลายส่วนที่มาช่วย ทั้งเอ็นจีโอ นักศึกษา ตอนที่เราเดินขบวนในปี 2537  เครือข่ายแม่วางเกิดปี 2535 มีการบวชป่าครั้งแรกที่บ้านแม่สะป๊อกในปีนั้นด้วย

ถาม แสดงว่ามีการทำเรื่องป่าชุมชนตั้งแต่ปี 2535  ทำไมถึงทำเรื่องป่าชุมชนตอนนั้น

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

เพราะที่นั่น(กรณีบ้านหนองเต่า)เคยเป็นป่าหญ้าคา ที่ชาวบ้านใช้เลี้ยงสัตว์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะเข้าไปยึดที่ตรงนั้น โดยจะขอเช่าที่ชาวบ้านเพาะกล้าต้นสน โดยหลอกว่าจะให้เงินค่าเช่าปีละ 5,000 บาท เพื่อนำต้นสนไปขายให้กับโรงงานกระดาษ พะตีไม่ให้ เขาเลยย้ายไปทำที่หมู่บ้านม้งขุนวางแทนบ้าหนองเต่า (บริเวณนั้นจึงนำมาบวชป่าและเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของชุมชนจนถึงปัจจุบัน)

ถาม ตอนนั้นชาวบ้านมีความเข้าใจเรื่องป่าชุมชนไหม

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

ชาวบ้านไม่เข้าใจ เขาเข้าใจอีกแบบหนึ่ง แบบของเขาซึ่งจะไม่เหมือนกับของวิทยาศาสตร์หรือกรมป่าไม้ว่า เขาเข้าใจแบบดั้งเดิมๆ เขาเข้าว่าตรงนี้พื้นที่เลี้ยงผีป่า ตรงนี้พื้นที่ต้นสะดือ ตรงนี้พื้นที่ผี เป็นคนละรูปแบบกับกรมป่าไม้ คนเมืองจะเอาผ้าไปผูกกับต้นไม้เป็นความเชื่อของเขา

ผมได้คุยกับพระที่ จ.พะเยา หลายๆ คน เพราะที่พะเยาก็ถูกสัมปทานป่าเช่นกัน ได้ชวนให้ชาวบ้านเอาผ้าเหลืองไปผูกกับต้นไม้ ผมเห็นแบบอย่างนี้ว่าดี จึงนำไปทำที่บ้านของตนเอง นำมาใช้โดยปรับให้เข้ากับศาสนาต่างๆที่ชาวบ้านนับถือ โดยใช้ช่วงที่ ร.9 ฉลองครองราชย์ 50 ปี จึงได้จัดงานบวชป่าถวายเพื่อเฉลิมฉลองการครองราชย์ ผมได้ไปคุยกับเอ็นจีโอบางส่วน เช่น ชัชวาลย์

พัฒนาการการต่อสู้เป็นแบบนี้ ผมว่าการจะทำอะไรนั้นลืมศาสนาไม่ได้ ลืมความเชื่อในแง่ต่างๆไม่ได้ ลืมการมีส่วนร่วมทั้งหมดไม่ได้ ลืมกลุ่มองค์กรต่างๆไม่ได้ เพราะมันมีอยู่ 9 ขั้นตอน กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะมีอำนาจเหนือกว่าไม่ใช่ มันหลอกกันไปหลอกกันมา

ถาม ตอนนั้นไปเดินประท้วงมาแล้ว ทำไมจะต้องกลับมาทำป่าชุมชนที่บ้าน

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

ทำอย่างเดียวไม่ได้ เพราะผมเข้าใจว่านั่นเป็นมือยักษ์อีกมือหนึ่ง มือยักษ์นั้นมี 8 มือ เรามีปัญญาดั้งเดิมของ ปกาเกอะญอ พิธีส่งวิญญาณให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว(พิธีถ่อเส่ส่า) จะมีอยู่ 9 ทาง ที่จะไป แต่เราจะไปได้แค่ 2 ทางเท่านั้น  ผมจะไปแค่ 2 ทาง เพราะสังคมจะเป็นแบบนี้ทุกยุคทุกสมัย ผมเห็นปรัชญาที่บรรพบุรุษผมสอนมา จะทำได้แค่นี้ ไม่ได้มากไปกว่านั้นแล้ว จะต้องใช้เวลา ระยะยาวใช้เวลา 2,000 ปี ระยะกลางๆ 210 ปี

ถาม อย่างเราไปประท้วงนั้นเพื่อให้นโยบายยอมรับเรา

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

เพื่อให้เข้าใจเท่านั้น

ถาม กลับมาทำป่าชุมชนเพื่อให้คนข้างนอกเข้าใจหรือคนข้างในเข้าใจ

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

คนในเมืองจะต้องเข้าใจคนในป่า คนในป่าก็ต้องเรียนรู้และเข้าใจเขา ผมได้เพียงบางส่วนเท่านั้น  ลูกหลาน 20-30% ก็อาจจะไม่ยอมเราง่ายๆ มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น ผมว่า บรรพบุรุษบอกว่า การปกครองในโลกนี้มี 7 รูปแบบ 1.ปกครองแบบเสือ 2.ปกครองแบบยุง 3.ปกครองแบบนกเหยี่ยว 4.นกพญาไฟ 5.ปกครองแบบนกเค้าแมว หลบๆซ่อนๆ ไม่กล้า 6.ปกครองแบบนกเขา ก็จะต้องหลอกกันตลอด 7.ปกครองแบบนกแซงแซว

เมื่อปี 2537 อาจารย์ประเทือง นรินทรางกูล ณ อยุธยา บอกผมว่า เราจะต้องทำงานให้สังคมเข้าใจอีกยาวนาน คนที่สู้ตลอด คือ อ.ชยันต์ วรรธนภูติ

ถาม ตอนนั้นก็มีกลุ่มนักพัฒนา กลุ่มอาจารย์ในมหาวิทยาลัย มาช่วยเครือข่ายเรา

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

มีนักศึกษา และผู้สื่อข่าวด้วย

ถาม การชุมนุมในปี 37 เป็นการชุมนุมครั้งแรกของพี่น้องชนเผ่าหรือไม่

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

ชุมนุมกันประมาณ 35,000 กว่าคน เรียกร้องคัดค้านนโยบายการถูกอพยพ เพราะที่อีสานถูกทำแบบนั้น เราก็ถูกทำเหมือนกับภาคอีสาน เมื่อปี 2528 ที่คลองลานถูกอพยพ เราได้ไปดูด้วย

ถาม หลังจากการชุมนุมก็กลับไปทำป่าชุมชนเลยใช่ไหม

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

เราทำมาก่อนแล้ว แต่เราทำอีกรูปแบบหนึ่ง (แบบดั้งเดิม) 

ถาม ทุกวันนี้เรายังจัดการป่าชุมชนแบบดั้งเดิมไหมหรือว่าผสมผสาน

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

เป็นแบบการแบ่งโซนนิ่ง แต่ก็มีการทะเลาะกันเป็นระยะๆ เพราะคนรุ่นใหม่อยากขายที่ดินของตัวเอง เป็นการขายที่ดินที่จับจองไม่ใช่ที่ดินโฉนด เมื่อก่อนได้ไปยื่นขอจากจอมพลถนอม แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนปฏิเสธ ไม่ยอม เพราะกลัวเสียภาษี ทำให้ตอนนี้ชุมชนมีโฉนดที่ดินได้บางส่วนเท่านั้น

ถาม ที่อ.ประเทืองว่าจะต้องทำงานกับคนข้างนอกยาวๆ เป็นเรื่องอะไร

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

ต้องทำให้คนในเมืองเข้าใจปกาเกอะญอ มีวัฒนธรรมแบบนี้ เขาอนุรักษ์แบบนี้ เขามีวิถีชีวิตแบบนี้

ถาม ป่าชุมชนแบบของปกาเกอะญอมีป่าอะไรบ้าง

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

มีป่า ต่าวีโดะ  เดปอถู่(ป่าสะดือ)  ตาซัวโข่(ป่าช้า)  เลคอทิ(น้ำตกน้ำกระจาย)  ต่าเดโดะ เดหมื่อเบอ(น้ำล้อมรอบ)  มอคี(โป่ง)  ซึ่งพื้นที่เหล่านี้จะใช้ทำกินไม่ได้ เป็นสิ่งที่ผูกติดปกาเกอะญอมาจากบรรพบุรุษ

ปัญหาที่เกิดขึ้นผมมองว่าเกิดจากการศึกษา ระบบการศึกษาเมื่อก่อนเป็นอีกแบบหนึ่ง ปกาเกอะญอมี เบลาะ ส่วนศาสนาพุทธก็มีวัด ตอนนี้พัฒนามีโรงเรียน มาตัดตอนลูกหลานของเฮา

ถาม อนาคตปกาเกอะญอจะอยู่กับป่าได้อย่างไร

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

ผมว่า ไม่ใช่แค่ปกาเกอะญอ คนอื่นๆจะต้องทำป่าไม้ของตนเอง ไม่ว่าจะฝรั่ง ขมุ คนเหนือ คนใต้ จะต้องมีป่าของตัวเอง ต้องแบ่งพื้นที่ให้ตัวเองส่วนหนึ่ง ต้องทำพื้นที่ป่าอนุรักษ์ส่วนหนึ่ง

ถาม ย้อนไปในปี 3839 มีการรณรงค์ผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชน ทำไมเราต้องผลักดัน

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

เมื่อสัมปทานมาเกี่ยวข้อง เมื่อการศึกษามาเกี่ยวข้อง เมื่อการล่าอาณานิคมมาเกี่ยวข้อง ทำให้พวกนี้พัง เพราะโครงสร้างดั้งเดิมมีแบบนี้ โครงสร้างใหม่เข้ามาเรื่อยๆ

เพราะป่าที่เราเสียไม่ใช่เพราะชุมชนทั้งหมด ไม่ใช่ที่ใดที่หนึ่งทั้งหมด แต่เป็นเพราะถูกนโยบายข้างนอกมา เป็นปัญหาทั้งประเทศ และคนที่ขายป่าคือ อธิบดีกรมป่าไม้ คนแรกเป็นฝรั่ง คนที่สองก็ฝรั่ง คนที่สามก็ฝรั่ง คนที่สี่ทำตามคนอื่นไม่ได้ทำแบบที่ควรจะเป็นของประเทศไทย ฝรั่งช่วงหนึ่งต้องการเอาแต่ผลประโยชน์คือ แร่กับไม้ เรื่องการปกครองเป็นเรื่องรองของเขา จริงๆแล้วการปกครองเขายึดเราไม่ได้ เขาเข้ามายึดได้คือแร่กับป่า

ถาม คือกฎหมายเดิมเป็นแบบนี้ ที่ไปเอื้อต่อนายทุน เอื้อในการตัดไม้ เราเลยมองว่า พ.ร.บ.จะช่วยรักษาป่าใช่ไหม

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

ช่วยให้มีการจัดการตนเองมากขึ้น ที่ผ่านมาคนอื่นมาจัดการเรา เราจะมีสิทธิในการจัดการ  ในการจัดการตนเองไม่ใช่ว่าเราจะจัดการแบบนี้แบบนั้น จะต้องมีระบบการศึกษาตั้งแต่เด็กอนุบาล ปัจจุบันเทคโนโลยีกินเด็กไปหมดแล้ว ความยากเกิดขึ้นอีกเท่าตัว

ความขัดแย้งมีด้วยกัน 5 ข้อ 1.ขัดแย้งเรื่องคิดเชื่อไม่เหมือนกัน  2.ขัดแย้งเรื่องป่า ดิน น้ำ หรือทรัพยากร 3.ขัดแย้งในเรื่องอำนาจ 4.ขัดแย้งในเรื่องสิทธิ 5.ขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์และเงินตรา

ถาม ตอนนี้เราได้ตัว พ.ร.บ. มาแล้ว คิดว่าเราทำสำเร็จหรือยัง

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

ยังไม่สำเร็จ เพราะการปฏิบัติขึ้นอยู่กับแต่ละชุมชน ยังเป็นของปลอมอยู่ ของจริงคือว่าตนเองมีสามัญสำนึกพอรึยัง  มันเป็นแค่โอกาสแต่ก็ต้องทำต่อไปอีกยาว เพราะพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่สามารถขอจัดตั้งป่าชุมชนในเขตอุทยานได้ แต่ยังดีกับชาวบ้านบางส่วน เขยิบไปทีละนิดๆ

ยังไม่มีการใส่หลักสูตรในโรงเรียนให้เด็กๆ ส่วนวัยรุ่นก็ติดมือถือ ติดยา ติดเหล้า

ถาม 30 ปี ที่ผ่านมา ชุมชนมีส่วนในการผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับนี้

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

ไม่ใช่ชุมชนอย่างเดียว  มีคนอื่นๆ ด้วย มันถูกซ้ำเติมมาหลายสิบปี จนชุมชนทนไม่ไหว เพราะบางคนถูกอพยพ ถูกผลักดัน บางคนถูกนายทุนเอาที่ไป ทหารเอาที่ไปก็มี มันมีความซับซ้อน การวางผังเมืองของรัฐก็ใช่  

ถาม-ประเมินการทำงานขององค์กรชาวบ้าน ที่ผ่านมามีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไรบ้าง

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

ต้องไปขึ้นๆลงๆอย่างนี้อีกยาว ถ้ามองเปรียบเทียบกับธรรมชาติ ขนาดทะเลยังขึ้นๆลงๆ แม้แต่ภูเขาก็มีขึ้นมีลง ต้องไปต่อหยุดไม่ได้ แต่อาจจะไปช้าไปเร็วก็ไปแบบนี้

ถาม ป่าชุมชนเป็นทางออกของคนอยู่กับป่าหรือไม่

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

เป็นอีกส่วนหนึ่งถ้าเข้าใจ  มันไม่ได้เป็นทางออกของคนที่อยู่กับป่าเท่านั้น เพราะก็อาจจะเป็นทางออกของคนที่อยู่ในเมืองด้วยถ้าเข้าใจ คนอยู่ในเมืองจะมาช่วยคนอยู่ในป่าดูแลยังไง คนอยู่ในป่าก็จะบริการคนในเมืองให้มีอากาศดีๆ อย่างไร ก็ได้ประโยชน์กันทั้งนั้น 

ผมตบมือที่นี่ ฟ้าก็สะเทือน เสาก็กระเทือน ดินก็กระเทือน ทรายก็กระเทือน หินก็กระเทือน

ถาม พะตีกำลังจะบอกว่าการที่ชาวบ้านทำป่าชุมชนไม่ได้เกิดประโยชน์แค่ชาวบ้านแต่จะเกิดประโยชน์กับคนอื่นๆด้วย

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

ได้หมดเลย อยากให้คนในเมืองเข้าใจแบบมีสามัญสำนึก ไม่ใช่มีอคติ  ไม่ว่าจะเป็นคนอยู่ในเมืองหรืออยู่ในป่าก็ต่างเกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นกัน ที่นี่เป็นที่ร้องไห้

ถาม ทำไมหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานป่าไม้ยังมีอคติกับคนที่อยู่กับป่า

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

เพราะความเห็นแก่ตัว เพราะเรามีวิญญาณ เรามีร่างกาย เรามีเมืองผี อยู่เมืองนรกเมืองสวรรค์ อยู่ในใจเขา เขาปรับไม่ได้ ปรับยาก เพราะเขาเกิดมาอย่างนั้น เขาแยก 5 ตัวนี้ไม่ได้ แล้วยังมี 3 ชั้น ทั้งความเชื่อความคิด ทะเลาะกันเรื่องอำนาจ สิทธิ ทั้งผลประโยชน์และเงินตรา  แต่ถ้าในมิติอื่น มีวิญญาณ มีร่างกาย มีเมืองผี มีเมืองมนุษย์ มีเมืองสวรรค์อยู่ในใจเขาใจเรา มันซับซ้อนกัน ส่วนใหญ่คนจะเอาเร็วๆ เอาเมืองผีง่ายกว่า เอาเมืองนรกง่ายกว่า

พระพุทธเจ้าที่อินเดีย มี 5 ชนชั้น ผ่านมา 2,000 กว่าปี ปัจจุบันก็ยังมี 5 ชนชั้นอยู่  มันไม่ง่ายที่จะทำให้เขาเข้าใจ

ถาม สิ่งที่ต้องทำต่อไปมีอะไรบ้าง

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

ทำต่อไป คนอยู่บนดอยก็จะต้องปลูกสามัญสำนึกให้ภูมิใจในชุมชนบ้านเกิดของเขา คนที่อยู่ในเมืองภูมิใจในที่ดินของเขา และเข้าใจ 3 ซ้อน วิญญาณ 5 และ 32 ขวัญ ฟ้า 7 ซ้อน ดิน 7 ชั้นยังไง อยู่ในตัวเราตัวเขา

คนในเมืองหรือคนทั่วโลกจะต้องทำด้วย ไม่ใช่แค่คนที่อยู่ในป่าเท่านั้น เพราะทุกคนเกี่ยวข้องกัน และจะต้องมีสามัญสำนึกที่เข้าใจ ไม่มองแค่ผลประโยชน์ หรืออำนาจหรือความเชื่อของเขา ไม่พอ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่จะต้องทำ

ถาม มีข้อเสนอกับชุมชนที่ทำป่าชุมชนบ้างไหม อย่างไร

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

การทำเป็น “ตุ๊กตา” (กรณีศึกษา) ก็ทำไป จริงๆแล้วตอนนี้เรามีตัวอย่างทั่วโลกอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับเรานำมาปรับใช้แบบไหนอย่างไรที่เหมาะสม  ในส่วนของชุมชน จะต้องทำให้วัยรุ่นมีความเข้าใจ และสืบทอดต่อไป  

ที่ผ่านมาพะตีไปให้ความรู้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภาคเหนือ ทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังมีสื่อมาทำเผยแพร่  แต่เด็กก็ถูกทุนดักไว้แล้ว

ถาม พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับปัจจุบันจะต้องแก้ไขรึเปล่า

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

จะแก้ไม่แก้ยังไงก็ยาวอยู่แล้ว แก้ได้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนักการเมือง แม้แต่นักการเมืองก็ทะเลาะกันจะแก้ได้รึป่าวก็ไม่รู้  ยาวแน่ๆ

ถาม พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับปัจจุบันส่งผลกระทบกับชุมชนที่อยู่ในเขตป่าหรือไม่

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

ส่งผลอยู่ แต่คนที่จะต่อรองหรือจะต่อต้านขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่  จะมีขบวนการต่อรองกันอย่างไร

ถาม กฎหมายออกมาแล้ว จะใช้ประโยชน์ได้ไหม

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

ใช้ได้ แต่จะต้องไปทำความเข้าใจกับรัฐที่กุมอำนาจอยู่  รัฐจะต้องสนับสนุนเงินกับเรา สนับสนุนเครื่องมืออะไรบางอย่าง  ต้องให้ทหารตำรวจมาสนับสนุนอย่างไร

ถาม ที่หนองเต่ายื่นจดทะเบียนป่าชุมชนหรือยัง

พะตีจอนิ  โอ่โดเชา

ยังๆ ขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่  

Share Post :
Scroll to Top