ไร่หมุนเวียน สิทธิทางวัฒนธรรมเพื่อความเป็นธรรมทางนิเวศและสังคม

Share Post :

Rotational farming: Cultural rights for ecological and social practice

ดร.กฤษฎา บุญชัย
Kritsada Boonchai
สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
Local Development Institute (LDI)

บทคัดย่อ

            ไร่หมุนเวียน คือระบบการผลิตพื้นบ้านของคนกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่บนที่สูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่นๆ โดยประยุกต์จากกระบวนการของนิเวศป่าเขตร้อนชื้นด้วยการทำการผลิตในระยะสั้นและปล่อยพักฟื้นระยะยาวจนผืนดินคืนความสมบูรณ์แล้วจึงวนกลับมาทำที่เดิม

            ไร่หมุนเวียนไม่เพียงเป็นระบบการผลิตอาหารที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นอัตลักษณ์วัฒนธรรมของคนกะเหรี่ยงที่แฝงไว้ด้วยมโนทัศน์นิเวศวัฒนธรรม องค์ความรู้ชาติพันธุ์นิเวศ ระบบการจัดการทรัพยากรส่วนรวม และระบบการผลิตเชิงศีลธรรมเพื่อการยังชีพอย่างมั่นคง

            ไร่หมุนเวียนเริ่มประสบปัญหาตั้งแต่การเกิดรัฐ-ชาติไทยสมัยใหม่ที่นำเอาวิทยาศาสตร์เชิงพาณิชย์ว่าด้วยการจัดการป่าและการเกษตรเข้ามาพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้สูงสุดตามแนวทางระบบทุนนิยม ไร่หมุนเวียนถูกมองว่าเป็นระบบการผลิตที่ล้าหลังไม่มีประสิทธิภาพ กระทบต่อป่าไม้ที่เป็นแหล่งทรัพยากรอันมีค่าของรัฐ ขัดกับหลักกรรมสิทธิ์ที่ดินปัจเจก เป็นวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงตามแนวชายแดนที่ถูกสงสัยว่าไม่ใช่คนไทย และอาจเป็นภัยต่อความมั่นคง

            เมื่อรัฐประกาศเขตป่าอนุรักษ์ครอบทับพื้นที่ทำกินของคนกะเหรี่ยง ไร่หมุนเวียนจึงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ถูกห้ามหมุนเวียนหรือถูกกดดันให้ทำไร่เฉพาะผืนดินที่พักฟื้นระยะสั้นเกินไป ทำให้ความสมบูรณ์และความหลากหลายพืชพรรณอาหารในไร่ลดลง ชุมชนประสบความไม่มั่นคงอาหารและการดำรงชีพ ต้องหันไปทำการเกษตรพาณิชย์ที่ไม่ยั่งยืน

            เครือข่ายกะเหรี่ยงได้ผลักดันผลักดันไร่หมุนเวียนในฐานะเป็นสิทธิทางวัฒนธรรมประเพณี แต่ก็ถูกรัฐเพิกเฉย แม้จะสามารถผลักดันให้มีมติคณะรัฐมนตรีรับรองการทำไร่หมุนเวียน แต่หน่วยงานป่าไม้ก็ยังละเมิดสิทธิการทำไร่หมุนเวียนของคนกะเหรี่ยงตลอดมา

            ในภาวะที่โลกและประเทศชาติกำลังประสบปัญหาการพัฒนาที่ทำลายระบบนิเวศ ขาดมโนทัศน์ องค์ความรู้ใหม่ที่จะทำการผลิตและดำรงชีพที่เกื้อกูลต่อระบบนิเวศ เครือข่ายกะเหรี่ยงจึงเสนอให้ไร่หมุนเวียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติและของโลก เพื่อเป็นต้นแบบของการสร้างความเป็นธรรมทางนิเวศให้แก่โลกใบนี้

Abstract

          Rotational Farming (RF) is a kind of folk production system of Karen and others ethnic groups living in highland Southeast Asia. By adaptive from rain forest ecological process, people uses land in short period and leave it long period for recovery.

           RF is not only efficient food production system, but it’s also cultural identity of Karen implying cultural ecology paradigm, ethno-ecology knowledge, common pool resources system and moral economy for self-sufficiency livelihood.

          RF has begun problems since the beginning of modern Thai Nation-State bringing merchant scientific forestry and agriculture to develop     economic under capitalism. RF has been blamed as undeveloped production, degrading forest so precious resource of State, conflict with private property regime, and RF is way of life of highland ethnic groups on border so may not be “Thai”.

          When government demarcated forest protected areas cover Karen land, RF became illegal land use. People was prohibited rotate land and was pressured to use permanent or short follow period. The result from prohibit practice custom RF, neutral of land is degraded, biodiversity is loss and people has found food insecurity, finally they have to practice unsustainable merchant agriculture.

           Karen network has been pushing RF as cultural rights to State and public, but it is ignored from governments. Although there is cabinet agreement accepting RF, but forestry authority still has abusing Karen rights to practice RF.

          And now, world and Thai state have found unsustainable development, lack of new paradigm and knowledge to living with earth by harmony. Karen network is proposing RF as the world and national cultural heritage which is the prototype of developing ecological justice for this earth. 

บทนำ

            เฮลิคอปเตอร์ตกเคยนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อคราวนายทหาร ชนชั้นสูง ดารา ใช้เฮลิคอปเตอร์ของราชการไปล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นชนวนให้สังคมเห็นถึงการใช้อำนาจบาตรใหญ่อย่างไม่เป็นธรรม และนำมาสู่การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

            38 ปีผ่านไป เหตุการณ์ซ้ำรอยได้เกิดแม้จะมีแง่มุมที่ต่างกัน แต่ก็เป็นการใช้อำนาจบาตรใหญ่ของหน่วยงานรัฐที่กระทำต่อประชาชน กลางปี 2554 เฮลิคอปเตอร์ทหารตกถึง 3 ลำที่ป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลังเสร็จปฏิบัติการ “ยุทธการตระนาวศรี” ด้วยการบุกไปเผาบ้าน ยุ้งฉางของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ป่าลึก ด้วยข้อหาชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้ไม่ใช่คนไทย บุกรุกป่า ทำไร่เลื่อนลอย อาจลักลอบค้ายาเสพติด และสนับสนุนกองกำลังกะเหรี่ยงติดอาวุธ (KNU) ในฝั่งพม่า

            แม้ยังไม่ว่ามีแนวโน้มว่าเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกรอบที่สองที่ป่าแก่งกระจานจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการเมืองเหมือนครั้งแรกหรือไม่ แต่ปฏิบัติการอุกอาจด้วยความรุนแรง และข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอยไร้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวได้เป็นชนวนความขัดแย้งที่รุนแรงต่อมา เมื่อนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” แกนนำชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ตำบล้านบางกลอย ตน่ัฐ้วยความรุนแรง และข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอยไร้ข้อมูลดังกล่าว ได้เป็นชนวนความขัดแย้งที่รุนแรงต่อมา เมื่อห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ถูกอุ้มหายไปอย่างไร้ร่องรอย ในปี 2557 หลังจากที่ออกมายื่นฟ้องหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชในข้อหาเข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง โดยยืนยันว่าชุมชนกะเหรี่ยงอยู่ในพื้นที่มานับร้อยปี และไม่ได้ทำลายป่า

            การถูกทำให้หายไปของบิลลี่ ได้รื้อฟื้นประวัติศาสตร์การถูกกดขี่ข่มเหงของคนกะเหรี่ยงแก่งกระจาน และชุมชนกะเหรี่ยงในภาคตะวันตกและภาคเหนือเป็นเวลานาน กล่าวโดยเฉพาะพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่มาประกาศครอบทับชุมชนกะเหรี่ยงเมื่อปี 2524 โดยก่อนหน้านั้นชุมชนกะเหรี่ยงที่เคยอาศัยอยู่ริมน้ำเพชรบุรีได้ถูกอพยพโยกย้ายตั้งแต่ครั้งก่อสร้างเขื่อนแก่งกระจานในปี 2509 และถูกอพยพต่อมาจากการปราบปรามคอมมิวนิสต์ตลอดช่วงปี 2508-2514 มาถึงปฏิบัติการกวาดล้างครั้งใหญ่ในปี 2539 ชาวบ้าน 57 หลังคาเรือนถูกอพยพลงมายังพื้นที่บ้านบางกลอยล่าง พื้นที่จัดสรรของอุทยานฯ (ขณะที่มีไม่ต่ำกว่า 10 หลังคาเรือนไม่ได้รับการจัดสรรที่) แต่ทำกินไม่ได้ เพราะรัฐบังคับให้ทำเกษตรคงที่ นาขั้นบันได และอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่วิถีการผลิตของคนกะเหรี่ยงที่ทำไร่หมุนเวียน ประกอบกับไม่มีน้ำ และปัจจัยการผลิตอื่นๆ ทำให้บางส่วนอพยพกลับไป[1]

            เหตุการบิลลี่ และการรังแกคนกะเหรี่ยงครั้งแล้วครั้งเล่า แม้จะรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 จะคุ้มครองสิทธิชุมชนในด้านวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติ แม้เครือข่ายกะเหรี่ยงจะผลักดันให้รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีเรื่องแนวนโนบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ที่ให้การยอมรับและคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม ทรัพยากร การศึกษา และสัญชาติของคนกะเหรี่ยง โดยมีมาตรการศึกษาและรับรองไร่หมุนเวียน เขตวัฒนธรรมพิเศษ และอื่นๆ แต่รัฐธรรมนูญกับ มติครม.ดังกล่าวกลับไม่มีผลปฏิบัติใดๆ ในอีกด้านหนึ่ง กระทรวงทรัพยากรฯ ก็กำลังเตรียมเสนอต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้รับการรับรองเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยที่ไม่ได้สนใจปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมนำโดยนายวุฒิ บุญเลิศได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลก เรียกร้องขอให้ชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจานที่จะมีการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ได้รับสิทธิในการบริหารจัดการผืนป่าของตนเอง และขอร่วมกับรัฐบาลไทยในการเสนอพื้นที่ป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ[2]

            หนึ่งในบรรดาข้อเรียกร้องที่สำคัญคือ ต้องให้ชุมชนชาวกะเหรี่ยงคือผู้กำหนดพื้นที่ทางวัฒนธรรมการทำกินโดยระบบไร่หมุนเวียนในวงรอบไร่หมุนเวียน 10 ปีด้วยตนเอง แสดงให้เห็นว่าปมปัญหาเรื่องไร่หมุนเวียนไม่ใช่เพียงแค่อาชีพ หรือระบบการผลิตหนึ่งที่ถูกรัฐมองว่าเป็นสาเหตุการทำลายป่าจนต้องเข้าไปละเมิดสิทธิชุมชน และพยายามแทนที่ด้วยเกษตรแผนใหม่ การที่คนกะเหรี่ยงยืนยันสิทธิในการผลิต การจัดการทรัพยากร และสิทธิทางวัฒนธรรมผ่านไร่หมุนเวียนย่อมสะท้อนถึงความสำคัญยิ่งยวดในฐานะเป็นวิถีวัฒนธรรม และกลายเป็นปมปัญหาสำคัญที่รัฐปฏิเสธการดำรงอยู่ของคนกะเหรี่ยงในเขตป่า ไร่หมุนเวียนสำคัญอย่างไร จากวิถีวัฒนธรรมคนกะเหรี่ยงได้กลายมาเป็นการเมืองเรื่องทรัพยากรและวัฒนธรรมในระดับชาติได้อย่างไร ติดตามได้ต่อไปนี้

ไร่หมุนเวียนส่วนหนึ่งของระบบภูมิทัศน์นิเวศวัฒนธรรมและอาหาร

จากงานศึกษาโครงการศึกษาไร่หมุนเวียนของกะเหรี่ยงเพื่อเสนอเป็นมรดกทางภูมิปัญญาวัฒนธรรม[1] ที่ศึกษาวิถีการดำรงชีพของคนกะเหรี่ยงภาคเหนือและตะวันตกทั้งจากกรณีศึกษาและจากงานทบทวนเอกสารพบว่า ไร่หมุนเวียนของคนกะเหรี่ยงรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ บนพื้นที่สูงนั้น คือระบบนิเวศเกษตรพื้นบ้านบนพื้นที่สูงที่พัฒนาขึ้นมาจากความรู้ท้องถิ่นที่สั่งสมมายาวนาน ภายใต้ระบบนิเวศป่าเขตร้อนชื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ซึ่งมีวัฎจักรการหมุนเวียนธาตุอาหารรวดเร็ว[2] ด้วยเหตุนี้วงจรการผลิตที่ใช้พื้นที่ระยะสั้นและพักฟื้นพื้นที่ระยะยาวจึงเป็นการจำลองวัฎจักรระบบนิเวศเขตร้อนชื้น ความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตในไร่หมุนเวียนจึงขึ้นอยู่กับความมั่นคง สมดุลของระบบนิเวศ เช่น ดิน พืชปกคลุมดิน ไฟป่า ความชุ่มชื้น น้ำ ความหลากหลายของพืชพรรณ สัตว์ป่า ภูมิอากาศ ฯลฯ และการหมุนเวียนธาตุอาหารตามธรรมชาติ การจำลองนิเวศในระบบไร่หมุนเวียนดำเนินการหลายรูปแบบ เช่น การเลือกพื้นที่ที่มีนิเวศไม่เปราะบาง การเลือกพื้นที่ไร่ซากที่มีอายุพอเหมาะกับระยะที่ผืนดินและต้นไม้สะสมธาตุอาหารได้อย่างพอดี การเผาไร่จึงเป็นการปลดปล่อยธาตุอาหารจากพืชสู่ดิน การไม่ตัดฟันให้เตียน ก็เพราะต้องอาศัยระบบสังคมพืชที่หลากหลายช่วยเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ไร่หมุนเวียนจึงไม่ใช่เพียงระบบการผลิตของคนกะเหรี่ยง แต่ยังเป็นระบบนิเวศประดิษฐ์หน่วยย่อยภายใต้นิเวศวิทยาภูมิทัศน์ (Ecological Landscape) ใหญ่ที่มีทั้งภูเขา ที่สูง หุบเขา ต้นน้ำ ป่าทึบ ป่าผสมผลัดใบ ทุ่งหญ้า ฯลฯ ที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบ

หากมองผ่านระบบการผลิตอาหารของคนกะเหรี่ยง ไร่หมุนเวียนแม้จะเป็นระบบการผลิตหลักแต่ก็ไม่ใช่ระบบผลิตเดียวของคนกะเหรี่ยงพวกเขายังมีทั้งที่สวนรอบบ้าน นา พื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ หลากหลายกันไป ภายใต้ระบบภูมิทัศน์ด้านอาหารและเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับอาหาร คนกะเหรี่ยงจึงมีความหลากหลายในการเข้าถึงอาหารทั้งอาหารที่เกิดจากการผลิตในระบบไร่หมุนเวียน และอาหารที่เก็บหาจากธรรมชาติโดยตรง จึงทำให้พวกเขามีความมั่นคงด้านอาหารในหลายๆ ทาง และด้วยความที่มีระบบการผลิตที่ตอบสนองเป้าหมายทางเศรษฐกิจต่างกัน เช่น ไร่หมุนเวียนใช้สำหรับผลิตข้าวเพื่อบริโภคและการขายบางส่วน พื้นที่สวน ไร่ สำหรับผลิตเพื่อขายและบริโภคบางส่วนเราจึงเห็นภูมิทัศน์ด้านอาหารและเศรษฐกิจของคนกะเหรี่ยงที่แต่ละส่วนมีหน้าที่ทางเศรษฐกิจต่างกันแต่เชื่อมโยงกันเป็นความมั่นคงอาหารและเศรษฐกิจของชุมชน

แต่หากพิจารณาจากแง่มุมทางวัฒนธรรม ไร่หมุนเวียนเป็นพื้นที่ปฏิบัติการทางวัฒนธรรมที่เป็นแกนกลางของชุมชน ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนกะเหรี่ยงล้วนโยงใยผูกพันกับการทำไร่

หมุนเวียน ไม่เพียงเท่านี้คนกะเหรี่ยงยังมีวิถีทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับพื้นที่ทางวัฒนธรรมอื่นๆ หลายแบบ เช่น พื้นที่ป่า พื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ที่สัมพันธ์กับการดำรงชีพ ไร่หมุนเวียนจึงเป็นส่วนหนึ่งในภูมิทัศน์วัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติคุ้มครองส่งเสริมเขตวัฒนธรรมพิเศษ จึงไม่ได้จำกัดเพียงแค่พื้นที่ไร่หมุนเวียนเท่านั้น แต่ครอบคลุมภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมทั้งหมด

เมื่อไร่หมุนเวียนเป็นส่วนหนึ่งที่สัมพันธ์และพึ่งพากับระบบการผลิตและระบบนิเวศอื่นๆ ในภูมิทัศน์ด้านนิเวศและวัฒนธรรม การธำรงรักษาไร่หมุนเวียนจึงไม่ใช่เพียงการปกป้องรักษาพื้นที่ไร่ หรือระบบการผลิตไร่ แต่ยังต้องส่งเสริมให้ชุมชนมีสิทธิในการเข้าถึง จัดการคุ้มครองและใช้ประโยชน์จากระบบภูมิทัศน์ทางนิเวศ วัฒนธรรม และอาหารทั้งระบบอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพด้วย

การจัดการทรัพยากรส่วนรวมกับความยั่งยืนและเป็นธรรมของระบบไร่หมุนเวียน

จากกรณีศึกษาในตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบรี จังหวัดกาญจนบุรี คนกะเหรี่ยงที่นี่ยึดหลักระบบสิทธิการจัดการทรัพยากรร่วมมายาวนาน[1] ไร่หมุนเวียนแต่ละผืนไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาดของใคร แม้จะมีการรู้กันว่าผืนไร่ซากทั้งหลายเป็นของครอบครัวไหนทำมานาน แต่หากมีความจำเป็นที่จะใช้ก็ขอใช้ไร่ซากของเจ้าของเดิมได้ ซึ่งในทางปฏิบัติก็มีการหยิบยืม แลกเปลี่ยนพื้นที่กันได้ และด้วยความเป็นระบบสิทธิต่อทรัพยากรร่วมนี้เอง ทำให้จำนวนพื้นที่ไร่ซากของตำบลไล่โว่ไม่ได้ขยายตัวแต่อย่างใด พื้นที่ไร่ซากทั้งหมดของแต่ละหมู่บ้านจึงเปรียบเสมือนพื้นที่สำรองของส่วนรวม โดยมีครอบครัวที่ใช้พื้นที่เหล่านั้นมาก่อนเป็นผู้ถือสิทธิชั่วคราวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกก็เข้ามากระทบต่อระบบสิทธิร่วมของชุมชน ที่บ้านกองม่องทะ และบ้านอื่นๆ ในตำบลไล่โว่ หน่วยงานด้านป่าไม้เข้ามากันเขตพื้นที่แบ่งออกเป็นพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่สวน และพื้นที่ไร่ตามประเพณี โดยเฉพาะพื้นที่ทำสวนทำให้ระบบกรรมสิทธิ์ปัจเจกเข้ามาแทนที่ระบบสิทธิร่วม และในสถานการณ์พืชเศรษฐกิจที่หน่วยงานรัฐและเอกชนเข้ามาส่งเสริม ทำให้เป็นปัจจัยของการเปลี่ยนสภาพพื้นที่ไร่ซากบางแห่งซึ่งเป็นสิทธิร่วมมาเป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลมากยิ่งขึ้น ขณะที่พื้นที่ที่ถูกกันให้เป็นไร่ตามประเพณี ก็เป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล การเดินทางยากลำบาก เมื่อคนส่วนมากต้องปรับตัวตามสภาพเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนจากเศรษฐกิจยังชีพเข้าสู่เศรษฐกิจเงินตรามากขึ้น การทำ ไร่ตามประเพณีในเขต

ห่างไกลก็ลดน้อยลง อาจทำให้พื้นที่สิทธิร่วมดังกล่าวหมดไปกลายเป็นพื้นที่หวงกันของรัฐ

สำหรับชุมชนกะเหรี่ยงในภาคเหนือ จากกรณีศึกษาทั้งหมดยืนยันว่า พื้นที่ไร่ของพวกเขาเป็นระบบกรรมสิทธิ์ครอบครัวมานาน ตามพัฒนาการของเศรษฐกิจเงินตรา แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ สิทธิในที่ดินดังกล่าวไม่ใช่สิทธิของครอบครัวอย่างโดดเดี่ยว แต่ยังมีสิทธิชุมชนซ้อนทับด้วยระบบการจัดการทรัพยากรร่วมของชุมชน มีการทำแนวกันไฟร่วมกัน ในบางสถานการณ์สามารถแลกเปลี่ยนหยิบยืมพื้นที่ไร่ซากกันได้ หากบ้านใดผลผลิตข้าวไม่พอกินก็สามารถหยิบยืมกันได้ แต่ด้วยความที่เป็นสิทธิส่วนครอบครัว ทำให้แต่ละครอบครัวมีอิสระมากกว่ากะเหรี่ยงในตำบลไล่โว่ในการตัดสินใจใช้ที่ดิน เช่น บางครอบครัวอาจต้องการปลูกข้าวโพดก็ใช้ไร่ซากของตนเองไปปลูก หรือกรณีที่ถูกหน่วยงานป่าไม้กดดันไม่ให้ทำไร่ซากแก่ ถูกจำกัดพื้นที่ทำไร่ ทำให้แต่ละครอบครัวต้องแบ่งแปลงพื้นที่ของตนเองซอยย่อยออกมาปลูกพืชแบบต่างๆ เช่น ทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่แคบ เพราะแบ่งเป็นพื้นที่สวน เป็นต้น

ไม่ว่าจะเป็นระบบสิทธิทรัพยากรร่วมของกะเหรี่ยงตำบลไล่โว่หรือกรรมสิทธิ์ครอบครัวภายใต้สิทธิเชิงซ้อนในระบบทรัพยากรร่วมของกะเหรี่ยงภาคเหนือ ต่างก็สะท้อนถึงความสำคัญของระบบสิทธิการจัดการทรัพยากรร่วมที่เป็นฐานสำคัญที่ทำให้ไร่หมุนเวียนมีความมั่นคงและยั่งยืน ความสำคัญของระบบดังกล่าวอยู่ที่การเกื้อกูลพึ่งพากันในชุมชนหรือระหว่างชุมชน เกื้อกูลทั้งการแบ่งปันทรัพยากร ปัจจัยการผลิต ผลผลิต แรงงาน และอื่นๆ ก่อเป็นระบบสิทธิที่ยืดหยุ่นไปตามความเหมาะสมและความจำเป็นของครอบครัวและชุมชน

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจการค้า พืชพาณิชย์และระบบกรรมสิทธิ์ปัจเจก บวกกับการหวงกันพื้นที่ของรัฐโดยไม่ให้ชุมชนมีอิสระในการเข้าถึงทรัพยากรในเขตป่าอนุรักษ์ เป็นแรงกดดันให้สิทธิทรัพยากรร่วมที่มั่นคงและยืดหยุ่นเปลี่ยนไป ที่ดินเริ่มเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลมากขึ้น นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไร่หมุนเวียนลดลงความยั่งยืนของไร่หมุนเวียนจะเป็นไปได้ก็ด้วยการเสริมสร้างระบบสิทธิการจัดการทรัพยากรร่วมให้กลับมาเข้มแข็ง


[1] สิทธิการจัดการแตกต่างจากกรรมสิทธิ์ ตรงที่สิทธิการจัดการเป็นการสิทธิไม่สมบรูณ์ มีความยึดหยุ่น ผู้เป็นเจ้าของสิทธิเปิดให้สมาชิกอื่นในชุมชนเข้าถึงทรัพยากรได้โดยมีเงื่อนไข เช่น ความยั่งยืน ความเป็นธรรม ความจำเป็น ความเหมาะสมอื่นๆ เป็นต้น สถานภาพสิทธิดังกล่าวอาจหมดไปโดยกลับคืนสู่ชุมชนและสาธารณะ เมื่อเจ้าของสิทธิ์ไม่ใช้ทรัพยากร ดูรายละเอียดใน Elinor Ostrom (1990). Governing the Commons: The Evolution of Institutions for Collective Action. Cambridge, UK: Cambridge University Press. ISBN 9780521405997.

อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจของไร่หมุนเวียน

จากการสัมภาษณ์และสังเกตการชุมชนกรณีศึกษาต่างๆ ที่กำลังเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการค้ามากขึ้น ชุมชนกะเหรี่ยงในทุกพื้นที่ต่างยืนยันถึงเป้าหมายของการผลิตไร่หมุนเวียนว่าเป็นไปเพื่อความมั่นคงในการบริโภคของครัวเรือนและชุมชนเป็นหลักแม้ในขณะที่พืชพาณิชย์จำนวนมากที่ได้รับการส่งเสริมผลักดันโดยกลุ่มทุนและรัฐกำลังจะทำให้ระบบเศรษฐกิจของคนกะเหรี่ยงต้องก้าวสู่เศรษฐกิจการค้ามากขึ้น แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังยืนยันตรงกันว่าต้องการคงรักษาไร่หมุนเวียนไว้เพื่อการบริโภค โดยเฉพาะหากชุมชนล้มเหลวในการสร้างเศรษฐกิจจากพืชเงินสด การคงรักษาไร่หมุนเวียนก็ยังเป็นหลักประกันว่าพวกเขายังมีข้าวพอกิน

รูปธรรมหลายประการที่ยืนยันว่าคนกะเหรี่ยงต้องการให้ไร่หมุนเวียนยังอยู่บนฐานอุดมการณ์ผลิตเพื่อยังชีพ เช่น การคงไว้ซึ่งชนิดพืชอาหารหลักๆ การรักษาระบบหมุนเวียนพื้นที่ การไม่ใช่เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช เครื่องจักรเข้ามาเร่งผลผลิต แม้ในสถานการณ์ที่มีความเป็นไปได้ที่ข้าวพื้นบ้านจะกลายเป็นสินค้ามีราคา การไม่ใช้ระบบหมุนเวียนพื้นที่กับพืชเศรษฐกิจ อันหมายรวมถึงการแยกชื่อ ความหมาย พิธีกรรมระหว่างไร่ข้าว กับไร่พืชพาณิชย์อื่นๆไม่ให้ปะปนกัน

การผลิตเพื่อความมั่นคงในการบริโภคและการเกื้อกูลแบ่งปันกันในชุมชนสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจศีลธรรม (Moral Economy) ของ James C. Scott (19977)[1] ที่วิเคราะห์ว่าชาวนามีแนวคิดการผลิตเพื่อความอยู่รอด หรือสร้างความมั่นคงในการบริโภคเป็นหลัก มากกว่าจะมุ่งลงทุนผลิตเพื่อหวังกำไรซึ่งมีความเสี่ยงสูง เมื่อเราพิจารณาไร่หมุนเวียนแบบโดดๆ คนกะเหรี่ยงยังทำไร่หมุนเวียนบนหลักเศรษฐกิจศีลธรรม แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและอาหารทั้งหมดของคนกะเหรี่ยงโดยเฉพาะพื้นที่ในภาคเหนือ พบว่าภูมิทัศน์เศรษฐกิจของคนกะเหรี่ยงมีความซับซ้อน ขณะที่ไร่หมุนเวียนยังเป็นหน่วยการผลิตศีลธรรม แต่หน่วยผลิตเศรษฐกิจอื่นๆ ได้เข้าสู่เศรษฐกิจการค้าเพื่อตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจใหม่ๆ จึงเท่ากับว่า ในภูมิทัศน์เศรษฐกิจ คนกะเหรี่ยงกำลังจัดตำแหน่งแห่งที่ความสัมพันธ์ของอุดมการณ์เศรษฐกิจทั้งแบบศีลธรรมและแบบการค้าโดยจัดวางบทบาทหน้าที่และความสัมพันธ์ของระบบการผลิตแต่ละประเภทเพื่อให้พวกเขามีความเข้มแข็งในการพึ่งตนเองและมีอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจและจัดวางให้เศรษฐกิจศีลธรรมกับการค้าเกื้อกูลกัน เราจึงพบเห็นว่า คนกะเหรี่ยงยังยืนยันทำไร่หมุนเวียนต่อไป

แม้จะไม่ตอบโจทย์เรื่องรายได้ก็ตามปมท้าทายอยู่ที่สิทธิและอำนาจในการจัดการภูมิทัศน์เศรษฐกิจของพวกเขาว่ามีความเข้มแข็งเพียงใด การประกาศเขตป่าอนุรักษ์ซ้อนทับชุมชนได้ปิดกั้นการเข้าถึงทรัพยากร กดดันต่อระบบการผลิตไร่หมุนเวียนทำ ให้ได้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภค การเข้ามาครอบครองที่ดินของกลุ่มทุน และการขยายตัวพืชพาณิชย์กำลังไม่เพียงแต่ทำให้ระบบการผลิตศีลธรรมหมดความหมายลง ระบบเศรษฐกิจการค้าของพวกเขาก็ตกเป็นเบี้ยล่าง ปัจจัยเหล่านี้กำลังทำให้ภูมิทัศน์เศรษฐกิจและอาหารของคนกะเหรี่ยงกำลังเสียสมดุล เปลี่ยนรูปไปสู่เศรษฐกิจการค้าแบบไร้อำนาจต่อรองมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เองการเสริมสร้างภูมิทัศน์เศรษฐกิจและอาหารที่เข้มแข็ง โดยการปกปักรักษาไร่หมุนเวียนให้ทำหน้าที่ผลิตเพื่อบริโภค และสร้างเสริมเศรษฐกิจการค้าบนฐานทรัพยากร และศักยภาพต่างๆ ของชุมชนให้มีประสิทธิภาพ สามารถเกื้อกูลเศรษฐกิจศีลธรรมของไร่หมุนเวียนให้ดำเนินต่อไปได้จึงทวีความสำคัญยิ่ง

ลักษณะพื้นฐานของความเป็นไร่หมุนเวียน

แม้รูปลักษณ์ของไร่หมุนเวียนจะแตกต่างไปตามปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของแต่ละแห่ง เช่น บางแห่งลดรอบหมุนเวียนและเสริมด้วยการจัดการให้มีประสิทธิภาพ บางแห่งยังยืนยันพื้นที่และรอบหมุนเวียนแบบเดิม บางแห่งเป็นสิทธิร่วมแต่บางแห่งเป็นกรรมสิทธิ์ปัจเจก บางแห่งยังคงประกอบพิธีกรรมตามประเพณีความเชื่อดั้งเดิม แต่บางแห่งเริ่มปรับลดพิธีกรรมที่ไม่สอดคล้องออกไป เป็นต้น แต่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ เราได้พบลักษณะพื้นฐานของความเป็นไร่หมุนเวียนร่วมกัน ซึ่งหากมีการผลิตที่แตกต่างไปจากลักษณะพื้นฐานเหล่านี้คนกะเหรี่ยงจะไม่ยอมรับว่าเป็นไร่หมุนเวียน หรือ “คึ/เคว่อะ” อีกต่อไป ลักษณะพื้นฐานดังกล่าว ได้แก่

  1. การใช้ระบบหมุนเวียนธาตุอาหารตามธรรมชาติ ด้วยการทำการผลิตระยะสั้นและปล่อยให้พักระยะยาวจนผืนดินฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉลี่ยแล้วมีการพักฟื้นไร่ซากไม่ต่ำกว่า ๗-๑๒ ปี แล้ววนกลับมาทำใหม่ แต่จำนวนรอบปีไม่สำคัญเท่ากับความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่นั้นๆ ว่ากลับคืนมาเหมาะแก่การปลูกข้าวหรือยัง ตัวชี้วัดสำคัญอยู่ที่เทคโนโลยีที่มาใช้การผลิตว่าต้องไม่เร่งการผลิตจนทำลายระบบนิเวศ
  2. อุดมการณ์การผลิตเพื่อยังชีพ คนกะเหรี่ยงไม่มีจินตภาพที่จะกำหนดให้ไร่หมุนเวียนหรือ “คึ/เคว่อะ” ผลิตเพื่อการค้าเป็นหลักแต่ยังยืนการผลิตเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและชุมชนเป็นหลักแม้จะมีการขายผลผลิตบางอย่างที่ได้จากไร่หมุนเวียน เช่น พริกแตง ถั่ว ฯลฯ แต่ก็เป็นเพียงส่วนเสริมเท่านั้น ดังนั้นเศรษฐกิจศีลธรรมด้วยอุดมการณ์ยังชีพยังเป็นปัจจัยสำคัญที่แบ่งแยกระหว่างการทำไร่ข้าวของพวกเขากับระบบการผลิตอื่นๆ
  3. ไร่หมุนเวียนกับการสืบทอดอัตลักษณ์วัฒนธรรม แม้เริ่มปรากฏว่าความสนใจของคนรุ่นหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยต่อประเพณีพิธีกรรมไร่หมุนเวียนแบบดั้งเดิมลดลง แต่จากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงนี้เองที่ทำให้คนกะเหรี่ยงตระหนักถึงความสำคัญของไร่หมุนเวียนในฐานะอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น ผู้เฒ่าผู้แก่กะเหรี่ยงในแต่ละชุมชนต่างพยายามพื้นฟูประเพณีความเชื่อไร่หมุนเวียน แม้ว่าจะมีการปรับประยุกต์บ้างแต่ก็คงรักษาสาระสำคัญทางวัฒนธรรมไว้ ความยึดมั่นต่อไร่หมุนเวียนในฐานะอัตลักษณ์วัฒนธรรมปรากฏกระทั่งคนที่เลิกทำไร่หมุนเวียนไปแล้ว แต่พวกเขาก็ยังยืนยันว่าความเป็นกะเหรี่ยงยังต้องผูกพันกับการทำไร่หมุนเวียนต่อไป หรือในทางกลับกันความเป็นไร่หมุนเวียนก็ต้องปฏิบัติตามวัฒนธรรมประเพณีของคนกะเหรี่ยง

การเมืองความขัดแย้งไร่หมุนเวียน

แม้ยังไม่มีข้อมูลสำรวจอย่างเป็นทางการว่าชุมชนกะเหรี่ยงยังทำไร่หมุนเวียนอยู่เท่าใด แต่จากการประมาณการร่วมกับเครือข่ายกะเหรี่ยงพบว่า ชุมชนที่ยังทำไร่หมุนเวียนมีอยู่ไม่มากนัก และที่มีอยู่ก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม[2] โดยมากเป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าลึก ในหุบเขา ตามแนวชายแดนที่ยากต่อการเข้าถึง จากการวิเคราะห์ร่วมกับเครือข่ายกะเหรี่ยง และชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่กรณีศึกษามีข้อสรุปถึงปัจจัยที่กระทบต่อการดำรงอยู่ของไร่หมุนเวียนที่สำคัญ ได้แก่

  1. ปัจจัยทางนโยบายมีการกล่าวถึงมากที่สุดคือ การประกาศเขตป่าอนุรักษ์ซ้อนทับพื้นที่ชุมชน ชาวกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ป่า จะถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ควบคุมไม่ให้ทำไร่หมุนเวียนหรืออย่างน้อยที่สุดก็จะถูกบังคับให้จำกัดพื้นที่ และจำกัดรอบหมุนเวียน ทำให้ดินเสื่อมโทรม เกิดหญ้ามาก ผลผลิตข้าวต่อไร่ต่ำลง ได้ข้าวไม่พอกิน ในสถานการณ์รัฐปิดล้อมไม่ให้คนกะเหรี่ยงมีความเป็นอิสระในการทำไร่หมุนเวียนตามประเพณีจนเกิดความเปราะบางด้านอาหาร
  2. การเข้ามาของเครือข่ายทุนจากภายนอก เช่น พ่อค้า นายทุน ที่มาพร้อมกับพืชพาณิชย์ การกว้านซื้อที่ดิน ตลอดจนโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจของรัฐ ได้เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจพึ่งตนเองให้เป็นเศรษฐกิจการค้า เป็นแรงกดดันให้ชาวบ้านต้องเปลี่ยนจากไร่หมุนเวียนไปปลูกพืชพาณิชย์

สภาวะขัดแย้งถูกรุกทั้งนโยบายการอนุรักษ์ป่าและการขยายตัวเศรษฐกิจเงินตราอย่างสุดขั้วทั้งสองด้านได้สร้างผลกระทบรุนแรงต่อการธำรงรักษาไร่หมุนเวียนไว้ ชุมชนกะเหรี่ยงที่ตกอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์จึงถูกรัฐตัดขาดการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานและอื่นๆ และถูกละเลยการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง และเท่าทันการเปลี่ยนแปลง

แต่ในอีกทางหนึ่งเมื่ออยู่นอกพื้นที่อนุรักษ์ก็ถูกปล่อยให้ตกอยู่ในเศรษฐกิจเงินตรา ดังนั้นนโยบายและปฏิบัติการของหน่วยงานรัฐที่ใช้วิธีแบ่งเขตพื้นที่เป็นเขตอนุรักษ์ที่ควบคุมเต็มที่ และเขตเศรษฐกิจแบบเปิดเสรีเต็มที่กลับประสบความล้มเหลว ดังที่ปรากฏในบ้านกองมองทะ ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ที่มีการแบ่งพื้นที่ป่าแบบดังกล่าว ทำให้การปฏิบัติไร่หมุนเวียนตามประเพณีลดลงเพราะถูกรัฐคุมพื้นที่ ขณะที่พื้นที่เศรษฐกิจก็มีแนวโน้มขยายตัวกระทบต่อระบบนิเวศยิ่งขึ้น เช่น การปลูกยางพารา และพืชเงินสดอื่นๆ

ปัญหาการแบ่งการจัดการแบบสุดขั้วทำให้ชุมชนอย่างบ้านเกาะสะเดิ่งที่อยู่ถัดไปปฏิเสธระบบการแบ่งพื้นที่ดังกล่าวรากลึกของปัญหานโยบายที่กระทบต่อไร่หมุนเวียนของชุมชนกะเหรี่ยงมาจากอคติของรัฐและสังคมภายนอกหลายๆ ด้าน เริ่มตั้งแต่อคติต่อ “ไร่หมุนเวียน” ว่าเป็นระบบการผลิตที่คุกคามต่อระบบนิเวศ และโยงกับปัญหาการทำลายป่าหลายด้าน เช่น การแผ้วถางพื้นที่ การเผาไร่เกิดไฟป่าและหมอกควัน ดังนั้นแม้เครือข่ายกะเหรี่ยงและกลุ่มสนับสนุนจะอธิบายวาทกรรม “ไร่หมุนเวียน” ให้มีความหมายเชิงอนุรักษ์ โดยแยกแยะให้แตกต่างจาก “ไร่เลื่อนลอย” แต่ก็ยังไม่สามารถลบล้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปได้

อคติต่อไร่หมุนเวียนโยงไปถึงวิธีคิดเชิดชูความเป็นสมัยใหม่ที่อ้างอิงกับวิทยาศาสตร์ ความก้าวหน้า เหตุผลนิยม แต่ไร่หมุนเวียนบนฐานวัฒนธรรมถูกมองว่าเป็น “พื้นบ้าน” ที่ดูล้าหลัง ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มั่นคง ไม่สามารถสร้างผลิตภาพที่ก้าวหน้าได้ รูปธรรมคือ ขณะที่ชาวบ้านเชื่อมมั่นว่าไร่หมุนเวียนเป็นระบบเกษตรที่ยั่งยืน มีฐานคิดทางนิเวศรองรับ แต่กลับทำให้ไม่มีหน่วยงานรัฐด้านการเกษตรไหนสนใจในความเป็นระบบเกษตรที่เหมาะสมบนพื้นที่สูง

หนึ่งในวิธีคิดความเป็นสมัยใหม่ ก็คือ มีการจำแนกประเภทที่เด็ดขาดชัดเจน (ป่า เกษตร เขตอนุรักษ์ เขตเศรษฐกิจ) และมีความมั่นคงถาวร ต่อเนื่อง หากแต่ระบบไร่หมุนเวียนในวัฒนธรรมกะเหรี่ยงกลับมีสภาวะหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านในช่วงที่ทำไร่ ไร่หมุนเวียนเป็นพื้นที่เกษตร แต่เมื่อปล่อยให้เป็นพื้นที่ไร่ซาก ในระยะแรกยังเป็นพื้นที่เกษตรพักฟื้น แต่เมื่อปล่อยนานไปจะกลายเป็นพื้นที่ป่า จนเมื่อกลับมาแผ้วถางพื้นที่อีกครั้ง สภาวะพื้นที่เกษตรก็กลับมาอีก สภาวะหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านยังโยงกับวิธีคิดเรื่องสิทธิต่อที่ดินด้วย ในระบบสิทธิทรัพยากรร่วมแบบกะเหรี่ยงในตำบลไล่โว่ ความเป็นเจ้าของประจักษ์ชัดเมื่อทำไร่ในปัจจุบัน แต่เมื่อพักฟื้นผืนดินไว้ ที่ดินดังกล่าวก็กลับคืนสู่ทรัพยากรร่วมของชุมชน เมื่อรัฐและสังคมภายนอกไม่เข้าใจสภาวะหมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน ทำให้มองว่าการทำไร่จะขยายพื้นที่ ขยายความเป็นเจ้าของ ตามการเพิ่มขึ้นของประชากร และกลายเป็นทรัพย์สินที่จะซื้อขายถ่ายโอนตามระบบกรรมสิทธิ์สมัยใหม่ อคติหรือความไม่เข้าใจต่อระบบดังกล่าว

่หมู่บ้านเกาะสะเดิ่ง ตำบลไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี

ทำให้รัฐเลือกที่จะบังคับกดดันให้คนกะเหรี่ยงทำเกษตรถาวร แม้ว่าจะส่งผลทำลายป่าและทำให้เศรษฐกิจยังชีพของชุมชนพังทลายก็ตาม

ปัญหาวิธีคิดการแบ่งแยกหน้าที่ของพื้นที่เด็ดขาดยังทำให้รัฐมองไม่เห็นมิติพหุหน้าที่ของพื้นที่ไร่หมุนเวียน สำหรับคนกะเหรี่ยงทั้งในตำบลไล่โว่ และในพื้นที่ต่างๆ ภาคเหนือ พื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ยังมีหน้าที่เป็นแหล่งอาหารและแหล่งผลิตยามที่ชาวบ้านทำไร่หมุนเวียน เช่นเดียวกันพื้นที่ที่ปลูกพืชก็ยังต้องมีหน้าที่เชิงอนุรักษ์ด้วยอีกทั้งยังมีพื้นที่วัฒนธรรม เช่น พื้นที่ประกอบพิธีกรรม ซ้อนทับลงไปในพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่ทำไร่ด้วย พหุหน้าที่ของพื้นที่ในวัฒนธรรมการผลิตคนกะเหรี่ยงดังกล่าวถูกปฏิเสธจากรัฐ นำมาสู่ทางตันของการจัดการพื้นที่และชุมชนได้

ข้อเสนอนโยบายเพื่อการคุ้มครองส่งเสริมไร่หมุนเวียนให้เป็นมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม

1. ในระยะสั้นที่ยังไม่สามารถเพิกถอนเขตป่าอนุรักษ์ หรือแก้ไขกฎหมายป่าไม้ได้ ให้ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ดำเนินการสำรวจกำหนดขอบเขตพื้นที่ไร่หมุนเวียนรวมถึงไร่ซากทั้งหมดของแต่ละหมู่บ้าน แล้วทำการขึ้นทะเบียนพื้นที่เหล่านี้ทั้งหมด พร้อมประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์วัฒนธรรมพิเศษ หรือเขตนิเวศวัฒนธรรมเกษตรพื้นบ้านของคนกะเหรี่ยง โดยพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้นที่ให้ทำไร่หมุนเวียนต่อไปได้

2. ในระยะยาว ควรมีกฎหมายรองรับสถานะภูมิทัศน์ทางนิเวศเศรษฐกิจ วัฒนธรรมของคนกะเหรี่ยง ดังเช่น ข้อเสนอเรื่องกฎหมายรองรับเขตวัฒนธรรมพิเศษ โดยอาจทำได้หลายทาง เช่น กันเขตพื้นที่ดังกล่าวออกจากเขตป่าอนุรักษ์และรองรับด้วยกฎหมายใหม่ หรือใช้กฎหมายใหม่ประกาศเขตพื้นที่ภูมิทัศน์ฯ ซ้อนทับลงไป (เช่นเดียวกับการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติซ้อนทับลงไปบนเขตป่าสงวนแห่งชาติ) หรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายป่าอนุรักษ์ทั้งหมดให้รองรับสิทธิชุมชนกะเหรี่ยงในเขตวัฒนธรรมพิเศษการผลักดันกฎหมายดังกล่าวอาจเริ่มต้นหลายทางทั้งในระดับนโยบาย ข้อบัญญัติของชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมไปกับการผลักดันนโยบายระดับประเทศ

3. การสร้างกลไกเชิงสถาบันในการจัดการพื้นที่ภูมิทัศน์นิเวศเศรษฐกิจ วัฒนธรรม โดยเป็นกลไกที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน และเปิดให้ภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกลไกดังกล่าว โดยทั้งนี้กลไกเชิงสถาบันต้องมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองพื้นที่ภูมิทัศน์ฯ ระบบไร่หมุนเวียนของคนกะเหรี่ยงเป็นหลัก

4. ในด้านเศรษฐกิจ จัดตั้งกองทุนเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูไร่หมุนเวียนเพื่อเป็นมรดกทางภูมิปัญญาวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องเนื่องจากไร่หมุนเวียนทำหน้าที่ผลิตเพื่อยังชีพและหน้าที่เชิงวัฒนธรรมไม่ได้ทำหน้าที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนในขณะที่ชุมชนต้องการรายได้มากขึ้น ดังนั้นการสร้างแรงจูงใจด้วยการสนับสนุนงบประมาณเป็นพิเศษกับชุมชนกะเหรี่ยงที่ยังคงทำ ไร่หมุนเวียนจึงมีความจำเป็นในฐานะการส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

5. ศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและความยั่งยืนการผลิตของไร่หมุนเวียนให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และนโยบาย ดังเช่น การส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างชุมชนกับนักวิชาการด้านนิเวศ การเกษตร และอื่นๆ ให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตของไร่หมุนเวียนแต่ละด้าน เช่น การคัดเลือกและจัดการพันธุกรรมข้าว การปลูก การบำรุงดิน การจัดการโรคและแมลง และอื่นๆ โดยทั้งหมดเป็นการต่อยอดระบบการผลิตดั้งเดิม ไม่ได้เป็นการครอบงำ หรือเปลี่ยนการผลิตของชาวบ้านไปจากวัฒนธรรมของพวกเขา

6. พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นจากฐานทรัพยากรชีวภาพ เช่น การพัฒนาพันธุกรรมข้าวและพืชอาหารท้องถิ่น การพัฒนายา และอื่นๆ เป็นต้น ควรประสานให้สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรชีวภาพ (องค์การมหาชน) ตลอดจนนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันต่างๆ และนักสังคมศาสตร์เข้ามาสร้างงานวิจัยร่วมกันระหว่างชุมชนกับนักวิชาการเพื่อพัฒนาความรู้การใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ และกำหนดเป็นข้อตกลงเรื่องแนวทางการจัดการความรู้ สิทธิในความรู้ การแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม ฯลฯ[3]

7. ในด้านสังคม ควรมีการเผยแพร่ให้แก่สังคมได้ยอมรับคุณค่าความสำคัญทั้งในเชิงนิเวศ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ พร้อมใช้เป็นแนวทางส่งเสริมชุมชนกะเหรี่ยงอื่นๆ ที่ได้ละทิ้งไร่หมุนเวียนหรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่สูงได้นำความรู้ไร่หมุนเวียนไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบการผลิตของตนอย่างเหมาะสมเพื่อให้สมกับเจตนารมณ์การเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติและของโลก

8. สร้างความเข้าใจต่อรัฐและสังคม ให้มองไร่หมุนเวียนในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ทางนิเวศเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่มีบทบาทหน้าที่หลากหลายและบูรณการ อันจะทำให้รัฐและสังคมเห็นความสำคัญในการคุ้มครองทั้งระบบภูมิทัศน์และร่วมกันคิดค้นเครื่องมือทางนโยบาย กฎหมาย และอื่นๆ ในการคุ้มครองภูมิทัศน์ของคนกะเหรี่ยง

9. รณรงค์ให้เรื่องไร่หมุนเวียนเป็นประเด็นทางสังคมที่มีมิติกว้างขวางกว่าเรื่อง สิทธิในการผลิตในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และการอนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิม โดยเพิ่มประเด็นเชิงบวกใหม่ๆ ที่หลากหลาย ทั้งทางนิเวศ เช่น ระบบการจัดการนิเวศพื้นที่สูงในสถานการณ์โลกร้อน การป้องกันการบุกรุกยางพาราในเขตป่าคลังแห่งทรัพยากรชีวภาพอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมในด้านอาหาร ยาและอื่นๆ หรือเป็นพื้นที่วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของคนกะเหรี่ยง โดยทั้งหมดนี้ต้องมีการประสานให้เกิดกลไกจากฝ่ายต่างๆ มาร่วมขับเคลื่อนในแต่ละประเด็น

10. เร่งสร้างเสริมพื้นที่รูปธรรมการจัดการไร่หมุนเวียนที่ยั่งยืน มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจมีหลายรูปแบบแตกต่างกันไป ทั้งไร่หมุนเวียนตามประเพณีดั้งเดิม ไร่หมุนเวียนเชิงประยุกต์ร่วมกับระบบการผลิตและการจัดการทรัพยากรอื่นๆ ควรวางเป้าหมายว่า ภายในเวลา 5 ปี จะขยายพื้นที่รูปธรรมทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณอย่างกว้างขวาง โดยกำหนดเป็นโครงการนำ ร่องโดยร่วมมือกับภาคีต่างๆ ทั้งหน่วยงานรัฐนักวิชาการ กลุ่มประชาสังคม และเมื่อประสบผลสำเร็จก็ให้ยกระดับเป็นนโยบายระดับชาติ

11. สร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องไร่หมุนเวียนในกลุ่มประชาคมอาเซียน เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนต่างก็มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทำ ไร่ข้าวบนพื้นที่สูง เมื่อได้สั่งสมความรู้จากปฏิบัติการไร่หมุนเวียนในประเทศต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับร่วมกันแล้ว ก็ควรที่ประเทศไทยจะผลักดันให้ไร่หมุนเวียนเป็นนโยบายส่งเสริมเกษตรบนพื้นที่สูงในอาเซียน เพื่อตอบโจทย์ของภูมิภาคร่วมกัน เช่น ระบบการผลิตที่สร้างความมั่นคงอาหาร การจัดการกับปัญหาไฟป่าและหมอกควัน การอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำ การลดภาวะโลกร้อน เป็นต้น

ไร่หมุนเวียนคือสิทธิทางวัฒนธรรมสิ่งที่ไม่ถูกนับจากรัฐไทย

คนกลุ่มนี้เป็นชนกลุ่มน้อยที่เรียกว่ากะหร่างมาจากประเทศพม่า ไม่ใช่คนไทย นอกจากบุกรุกพื้นที่อุทยานฯแล้ว ยังครอบครองอาวุธสงคราม ถางทำลายป่า เกี่ยวข้องกับการปลูกพืชเสพติดกัญชา เป็นผู้ค้ายาเสพติด สนับสนุนชาวพม่าในการลักลอบเข้าประเทศ เเละสนับสนุนกองกำลังกะเหรี่ยงติดอาวุธเคเอ็นยู[4]

แม้ชาวกะเหรี่ยงจะดำรงอยู่ในผืนแผ่นดินสยามก่อนกำเนิดรัฐ-ชาติสมัยใหม่ แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังถูกตั้งคำถามจากรัฐว่าไม่ใช่คนไทย จึงเป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมรัฐไทยจึงธำรงความลักลั่นในการรับรองสิทธิชาวกะเหรี่ยงตลอดมา

ทั้งที่จากข้อมูลของราชการเอง กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง หรือที่พวกเขาเรียกตนเองว่า “ปกากะญอ” สำหรับกะเหรี่ยงโปว์ในภาคเหนือ และ “โพล่ง” สำหรับกะเหรี่ยงโพล่งในภาคตะวันตก ซึ่งปัจจุบันกระจายตัวอยู่อาศัยตามหุบเขา พื้นที่สูงในเขตภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลางรวม 15 จังหวัด คาดว่ามีประชากรราว 404,000 คน[5] พวกเขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมมาช้านาน หาใช่ชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามา ตามหลักฐานรัฐไทยยอมรับกะเหรี่ยงมาตั้งแต่ก่อนกำเนิดรัฐ-ชาติสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองตามหัวเมืองชายแดน เช่น พระศรีสุวรรณ เจ้าเมืองสังขละบุรี เป็นต้น หากแต่รัฐยอมรับการดำรงอยู่ของคนกะเหรี่ยงเพียงเป็นกลุ่มคนที่ช่วยเป็นแนวป้องกันตามชายแดนเท่านั้น

            ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับกะเหรี่ยงในประเทศเปลี่ยนจากการยอมรับไว้ที่ชายขอบมาสู่การเก็บกดปิดกั้น ไม่ยอมรับสิทธิการดำรงชีพ สิทธิทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านทรัพยากรธรรมชาติเมื่อรัฐเริ่มผูกขาดการจัดการป่าไม้ หลังจากที่รัชกาลที่ 5 จัดตั้งกรมป่าไม้ในปี 2439 ตามมาด้วยจอมพล ป.พิบูลสงครามออกพระราชบัญญัติป่าไม้ 2484 เพื่อควบคุมพื้นที่การทำไม้เชิงพาณิชย์ และทวีความเข้มข้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ออก พรบ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า 2503 พรบ.อุทยานแห่งชาติ 2504 การผูกขาดพื้นที่ป่าทั้งเพื่อการพาณิชย์และการอนุรักษ์ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐปฏิเสธการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพื้นที่ป่า เนื่องจากสถานการณ์การเมืองชายแดนเปลี่ยนแปลงไป ในยามที่ไม่จำเป็นต้องมีกะเหรี่ยงเป็นแนวกันชน รัฐไทยสนใจการแสวงประโยชน์และอำนาจเหนือพื้นที่ป่ามากกว่า ประกอบกับนโยบายปราบปรามยาเสพติดภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงที่ถูกขนานนามว่า “ชาวเขา” ถูกมองด้วยสายตาหวาดระแวงว่าเป็น “ไม่ใช่คนไทย ค้ายาเสพติด ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย”

            กระบวนการประกาศเขตป่าอนุรักษ์เริ่มอย่างเข้มข้นหลังจากการยกเลิกสัมปทานไม้ทั่วประเทศปลายปี 2531 กรมป่าไม้เร่งประกาศเขตป่าอนุรักษ์โดยไม่สนใจว่ามีชุมชนอยู่อาศัยหรือไม่ ดังเช่น การประกาศเขตรัษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในปี 2517 ในกระบวนการสำรวจของเจ้าหน้าที่ก็พบว่ามีชาวกะเหรี่ยงอาศัย แต่กลับเพิกเฉยด้วยเหตุผลว่า ไม่ใช่คนไทย และอาจเคลื่อนย้ายมาจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่สำหรับชาวกะเหรี่ยงพวกเขาตกอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์โดยไม่รู้ตัว ในระยะแรกรัฐยังไม่ควบคุมเข้มงวดมากนัก แต่ต่อมารัฐเริ่มกดดันหนักในพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่สัตว์ป่า และอื่นๆ โดยมีไร่หมุนเวียน ไร่เลื่อนลอยของคนกะเหรี่ยงเป็นเป้าหมายสำคัญ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงเริ่มเรียกร้องสิทธิชุมชนอย่างจริงจัง ดังในช่วงที่กรมป่าไม้เสนอให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกในปี 2534 ชาวกะเหรี่ยงในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรก็เริ่มจัดงานบุญประเพณีข้าวใหม่ร่วมกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาดำรงอยู่ในพื้นที่ และนำเสนอแนวคิดและรูปธรรม “ไร่หมุนเวียน” ในฐานะวนเกษตรบนพื้นที่สูงขึ้นมาหักล้าง “ไร่เลื่อนลอย” ที่รัฐกล่าวหาว่าเป็นการทำลายป่า

            คนกะเหรี่ยงได้ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนด้านทรัพยากร หรือตั้งเครือข่ายตนเองเพื่อผลักดันเชิงนโยบายโดยตรง เช่น เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) ก็เกิดขึ้นจากชุมชนในเขตป่าที่มีชาวกะเหรี่ยงเป็นฐานหลักเรียกร้องสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรตั้งแต่ปี 2538 ตามมาด้วยเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (กวส.) ในปี 2542 การเคลื่อนไหวของขบวนการเหล่านี้ทำให้ประเด็นปัญหาและข้อเสนอของกะเหรี่ยงเริ่มปรากฏในทางสังคมและการเมืองมากขึ้น

ยุทธศาสตร์สิทธิทางวัฒนธรรมเพื่อความเป็นธรรมทางนิเวศ

            การต่อสู้โดยอาศัยเรื่องสิทธิวัฒนธรรม ประเพณีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถที่จะปกป้องสิทธิชุมชนได้ จนเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงกฎหมาย เมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 และปี 2550 ได้บัญญัติเรื่องสิทธิชุมชนในด้านวัฒนธรรมประเพณี และมีส่วนร่วมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ความพยายามที่จะใช้กรอบรัฐธรรมนูญ และกลไกเชิงสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อปกป้องสิทธิชุมชนกะเหรี่ยงก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังเช่น การผลักดันมติคณะรัฐมนตรีฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง 3 สิงหาคม 2553 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน 2553 (มีกะเหรี่ยงบางชุมชน เช่น ชุมชนหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้า จ.เชียงรายถูกเสนอให้เป็นโฉนดชุมชน) แต่ด้วยการที่รัฐยังคงผูกขาดอำนาจจัดการป่าอย่างเข้มข้น ทำให้ปัญหาสิทธิทางวัฒนธรรม การดำรงชีพ การจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะการทำ “ไร่หมุนเวียน” ไม่ถูกยอมรับ[6]

การใช้ที่ดินของชุมชนหินลาดใน

            เครือข่ายกะเหรี่ยงทั้งภาคเหนือและตะวันตก ต่างตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูการทำไร่หมุนเวียนทั้งในหมู่คนกะเหรี่ยงที่ขณะนี้ส่วนใหญ่ถูกกดดันโดยรัฐและโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้ทิ้งไร่หมุนเวียนไปทำเกษตรแผนใหม่เป็นส่วนใหญ่ เพราะพวกเขายืนยันว่าไร่หมุนเวียนไม่ใช่การการทำมาหากิน หรือเป็นอาชีพแต่เป็นอัตลักษณ์หรือวิถีวัฒนธรรมของความเป็นคนกะเหรี่ยงที่พวกเขาภาคภูมิใจ พวกเขายังเห็นความสำคัญที่จะเผยแพร่คุณค่าของไร่หมุนเวียนสู่สังคม อันประกอบด้วยมโนทัศน์นิเวศวัฒนธรรมที่กำหนดให้มนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ต้องนอบน้อมต่อธรรมชาติ องค์ความรู้ชาติพันธุ์นิเวศที่ประกอบความรู้ต่อวัฏจักรนิเวศ การจำแนกคุณค่าประโยชน์ของพืช สัตว์ ผืนดิน สายน้ำ และสรรพชีวิต การออกแบบระบบการผลิตที่ใช้วงจรนิเวศเพื่อสร้างผลิตภาพอาหาร อุดมการณ์เศรษฐกิจศีลธรรม ที่กำหนดพฤติกรรมการผลิตและบริโภคเพื่อยังชีพอย่างมั่นคงและพอเพียง และระบบการจัดการทรัพยากรร่วมที่เท่าเทียม เป็นธรรม

            คนกะเหรี่ยงเห็นว่ามโนทัศน์และแบบแผนความคิดและความรู้ของไร่หมุนเวียนจะเกื้อกูลต่อคนในสังคมที่ประสบปัญหาวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกับธรรมชาติจากเศรษฐกิจทุนนิยม ในเชิงรูปธรรมไร่หมุนเวียนของคนกะเหรี่ยงเป็นปฏิบัติการเชิงนิเวศที่เป็นรูปธรรมที่สร้างบริการทางนิเวศ เศรษฐกิจ และสังคมหลายอย่าง เช่น ป้องกันการขยายตัวของพืชพาณิชย์ ไร่หมุนเวียนในพื้นที่สูงเกื้อกูลต่อป่าให้เป็นแหล่งต้นน้ำที่สมบูรณ์ พรรณพืชในระบบไร่หมุนเวียนคือแหล่งพันธุกรรมอาหารและยาอันทรงคุณค่า

            ปฏิบัติการฟื้นฟูไร่หมุนเวียนของพวกเขาสอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง “ความเป็นธรรมเชิงนิเวศ” (Ecological Justice) ที่ให้ความสำคัญกับการความเป็นธรรมที่มนุษย์จะได้รับบริการทางนิเวศอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน โดยผู้คนที่ใช้ประโยชน์จากนิเวศจะต้องมีวิถีการใช้ทรัยพากรที่ยั่งยืน ร่วมความรับผิดชอบในการดูแล ฟื้นฟูธรรมชาติให้มั่นคง สมบูรณ์เพื่อคนทั้งสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต ไร่หมุนเวียนคือต้นแบบของความเป็นธรรมเชิงนิเวศที่คนกะเหรี่ยงต้องการฟื้นฟูให้กลับมาในวัฒนธรรมตนเอง เผยแพร่ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศชาติและของโลก

            การสร้างสิทธิทางวัฒนธรรมและความเป็นธรรมทางนิเวศเป็นทิศทางที่ระดับสากลกำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ ดังปรากฏในข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ เช่น        

  1. การรับรองสิทธิชนเผ่าและชนพื้นเมือง ได้แก่ อนุสัญญาลำดับที่ 169 ว่าด้วยชนเผ่าและชนพื้นเมืองขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศปี 2532 ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของปวงชนท้องถิ่นดั้งเดิม ปี 2550
  2. ข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยป่าไม้ และการจัดการทรัพยากรที่รับรองสิทธิชุมชนด้านทรัพยากร เช่น  
  3. อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ 1987
  4. วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 21 2535
  5. หลักการป่าไม้ (Forest Principle) 2535
  6. อนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ ปี 2535
  7. ข้อตกลงเครื่องมือที่ไม่ผูกมัดทางกฎหมายในการจัดการป่าทุกประเภท ( The Non-Legally Binding Instrument on All Types of Forests) 1992
  8. เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) 2558

            แม้ข้อตกลงทั้งหมดที่กล่าวมาจะไม่มีการผูกมัดบังคับแก่ประเทศสมาชิกที่ลงนาม แต่ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นทิศทางการเคลื่อนไหวในระดับโลกที่มาบรรจบกับขบวนการเคลื่อนไหวของชุมชนท้องถิ่นที่ผลักดันยอมรับสิทธิทางวัฒนธรรม การจัดการทรัพยากรของชุมชนพื้นเมือง หากแต่รัฐไทยกลับล้าหลัง จนทำให้เกิดแรงตึงเครียด ละเมิดสิทธิชุมชนทั้งโดยตรง เช่น การทำให้ผู้นำหายตัวไป การอพยพโยกย้าย การเผาบ้านเรือน หรือการกดดันให้กะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เลิกทำไร่หมุนเวียนด้วยความจำยอม             ทิศทางนโยบายรัฐไทยยังไม่เปิดกว้างสำหรับไร่หมุนเวียนของคนกะเหรี่ยง เมื่อร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ที่ยกร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่ได้กำหนดโครงสร้างที่เอื้อหรือรับรับสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรและวัฒนธรรมอย่างแท้จริง โดยอ้างการกำหนดหน้าที่ของรัฐดูแลทรัพยากรธรรมชาติสามารถครอบคลุมสิทธิชุมชนได้ แต่บทเรียนของคนกะเหรี่ยงที่เผชิญกับการละเมิดสิทธิชุมชนตลอดมาในนามของการทำหน้าที่รัฐ หากไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเรื่องสิทธิ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในรัฐธรรนูญ และกฎหมายทรัพยากรทั้งระบบให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น รับรองสิทธิชุมชน มีกลไกอิสระคุ้มครองสิทธิชุมชนอย่างจริงจัง จะมีผู้นำกะเหรี่ยงอีกเท่าไหร่ที่หายตัวไปเช่นบิลลี่ จะมีชุมชนกะเหรี่ยงอีกอีกกี่พันครอบครัวที่จะต้องยากจนฉับพลันเมื่อไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนและเข้าถึงทรัพยากรในป่าได้ และจะมีผืนป่าอีกมากน้อยเท่าไรที่จะถูกแผ้วถางทำลายเป็นพืชพาณิชย์ เพราะไร่หมุนเวียนอันเป็นระบบนิเวศเกษตรที่ยั่งยืนตลอดจนวัฒนธรรมเชิงนิเวศของคนกะเหรี่ยงถูกทำลาย โดยเฉพาะยามที่รัฐกำลังทวงคืนผืนป่าและกำจัดไร่หมุนเวียน สังคมไทยหากจะประสงค์ความยั่งยืนของนิเวศ ทรัพยากร ความหลากหลายทางวัฒนธรรมก็ไม่ควรที่ปล่อยให้ชาวกะเหรี่ยงถูกละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติอีกต่อไป

บรรณานุกรม

กฤษฎา บุญชัย พรพนา ก๊วยเจริญ และคณะ. (2557). โครงการศึกษาไร่หมุนเวียนของกะเหรี่ยงเพื่อเสนอเป็น

มรดกทางภูมิปัญญาวัฒนธรรม. คณะอนุกรรมการศึกษาไร่หมุนเวียนเพื่อเสนอเป็นมรดกทางภูมิปัญญาวัฒนธรรม, กรงส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม: กรุงเทพฯ

ประชาไท. (2559). เครือข่ายกะเหรี่ยงแถลงหากไม่ได้รับสิทธิจัดการผืนป่า จะไม่ยอมรับมรดกโลกแก่งกระจาน.

            20 กุมภาพันธ์ 2016, http://prachatai.org/journal/2016/02/64180

สมศักดิ์ สุขวงศ์. (2536). ป่าเขตร้อน. นิตยสารสารคดี ฉบับ พฤษภาคม 2536.น.76

สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2554). เอกสารตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง

แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง. กระทรวงวัฒนธรรม: กรุงเทพฯ

อานันท์ กาญจนพันธุ์ และคณะ. (2547). รายงานการวิจัยระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน: เล่ม ๑ สถานภาพ

          และความเปลี่ยนแปลง. คณะสังคมศาสตร์ หาวิทยาลัยเชียงใหม่: เชียงใหม่.

Acharawadee. (2014). เปิดบทสัมภาษณ์ “บิลลี่” กับวิถีในแก่งกระจาน “ป่าคือเรา เราคือป่า“. นักข่าวพลเมือง

ไทยพีบีเอส, http://www.citizenthaipbs.net/node/4056

Ostrom, Elinor. (1990). Governing the Commons: The Evolution of Institutions for Collective Action.

            Cambridge, UK: Cambridge University Press. ISBN 9780521405997

Scott, C. James.  (1977). The Moral Economy of the Peasant: Rebellion and Subsistence in Southeast

Asia. (Yale, 1977). ISBN 0-300-02190-9

INBio COSTA RICA, http://www.inbio.ac.cr/


[1] James C. Scott. (1977). The Moral Economy of the Peasant: Rebellion and Subsistence in Southeast Asia, (Yale, 1977). ISBN 0-300-02190-9

[2] ดูประเภทการปรับตัวของระบบไร่หมุนเวียน ใน อานันท์ กาญจนพันธุ์ และคณะ (2547). รายงานการวิจัยระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน: เล่ม 1 สถานภาพและความเปลี่ยนแปลง. คณะสังคมศาสตร์ หาวิทยาลัยเชียงใหม่: เชียงใหม่.

[3] ตัวอย่างในต่างประเทศได้แก่ สถาบัน INBIO ของประเทศคอสตาริกา ที่เป็นองค์กรรัฐจัดตั้งขึ้นโดยการผลักดันของนักวิทยาศาสตร์เพื่อมีภารกิจศึกษาวิจัยทรัพยากรชีวภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น ด้านอาหาร ยารักษาโรคร่วมกับชุมชน โดยมีการจัดสรรผลประโยชน์ทีได้ให้กับชุมชน มีการรับรองสิทธิชุมชนต่อความรู้ พันธุกรรมท้องถิ่นของตน ทำให้ชุมชนตระหนักถึงคุณค่าและสิทธิในความรู้ ทรัพยากรท้องถิ่น และพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น ดูรายละเอียดใน INBio COSTA RICA, http://www.inbio.ac.cr/

[4] คำสัมภาษณ์ นายชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน, อ้างใน Acharawadee, 2014, อ้างแล้ว)

[5] เอกสารตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง จัดพิมพ์โดย กระทรวงวัฒนธรรม, 2554

[6] ไม่เพียงรัฐไทยที่ไม่ยอมรับไร่หมุนเวียนเท่านั้น รัฐต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เช่น ลาว พม่า เวียดนาม ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ทำไร่หมุนเวียนมาช้านานก็ถูกรัฐปฏิเสธด้วยเหตุผลกระทบต่อการจัดการป่าของรัฐด้วยกันทั้งสิ้น


[1] กฤษฎา บุญชัย พรพนา ก๊วยเจริญ และคณะ, 2557, อ้างแล้ว

[2] สมศักดิ์ สุขวงศ์. (2536). ป่าเขตร้อน. นิตยสารสารคดี ฉบับ พฤษภาคม 2536.น.76


[1] Acharawadee, (2014),  เปิดบทสัมภาษณ์ “บิลลี่” กับวิถีในแก่งกระจาน “ป่าคือเรา เราคือป่า”, นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส, http://www.citizenthaipbs.net/node/4056

[2] ข้อเสนอของเครือข่ายกะเหรี่ยง ได้แก่ 1. ต้องให้ชุมชนชาวกะเหรี่ยงคือผู้กำหนดพื้นที่ทางวัฒนธรรมการทำกินโดยระบบไร่หมุนเวียนในวงรอบไร่หมุนเวียน 10 ปีด้วยตนเอง 2. ต้องกำหนดให้พื้นที่ห้วยกระซู่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจานเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยไร่หมุนเวียนร่วมกัน ระหว่างรัฐกับชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่  3. ต้องให้ชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้เลือกพื้นที่อาศัยด้วยตนเอง 4. ต้องให้ชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้บริหารดูแลจัดการพื้นที่อยู่อาศัยและไร่หมุนเวียนด้วยตนเองในรูปแบบคณะกรรมการชุมชน และ 5. ต้องยอมรับวิถีวัฒนธรรม สิทธิชุมชน และสิทธิมนุษยชนของชาวกะเหรี่ยง ดูในประชาไท (2559), เครือข่ายกะเหรี่ยงแถลงหากไม่ได้รับสิทธิจัดการผืนป่า จะไม่ยอมรับมรดกโลกแก่งกระจาน, 20 กุมภาพันธ์ 2016, http://prachatai.org/journal/2016/02/64180


[1] ปรับปรุงมาจากงานวิจัย กฤษฎา บุญชัย พรพนา ก๊วยเจริญ และคณะ (2557) โครงการศึกษาไร่หมุนเวียนของกะเหรี่ยงเพื่อเสนอเป็นมรดกทางภูมิปัญญาวัฒนธรรม, คณะอนุกรรมการศึกษาไร่หมุนเวียนเพื่อเสนอเป็นมรดกทางภูมิปัญญาวัฒนธรรม, กรงส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม: กรุงเทพฯ

Share Post :
Scroll to Top