ไก/เทา พืชอาหารธรรมชาติลุ่มน้ำโขง

Share Post :

รพิจันทร์ ภูริสัมบรรณ

(1) แนะนำไก/เทา

สาหร่ายน้ำจืดที่มีตามลำน้ำโขง มีชื่อเรียกตามถาษาท้องถิ่นว่า ไก (ไค – ลาว) หรือ เทา (เตา – ลาว) ตามแต่ละชนิดและพื้นที่ โซนน้ำโขงทางเชียงรายจะเรียกว่า ไก ส่วนน้ำโขงทางภาคอีสานส่วนใหญ่จะเรียกสาหร่ายแม่น้ำโขงว่าเทาทั้งหมด ไม่ว่าจะเส้นสั้นหรือยาว สาหร่ายน้ำจืดแท้จริงไม่ใช่พืช แต่ก็มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและเป็นสิ่งที่อยู่คู่แม่น้ำโขงและวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับแม่น้ำโขงมาช้านาน  ไก/เทาเหล่านี้เป็นทั้งแหล่งอาหาร ที่ยึดเกาะ และแหล่งอนุบาลของปลาและสัตว์น้ำนานาชนิด รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารของผู้คนที่พึ่งพิงแม่น้ำโขง

(2) ลักษณะและนิเวศที่มีไก/เทา

จากขึ้นมูลของนักวิจัยจาวบ้านที่เชียงของ-เวียงแก่ง เชียงราย มีการจำแนกไก ออกเป็น 4 ประเภท คือ (1) ไกหินหรือไกไหม เส้นยาวคล้ายเส้นผม ชอบอยู่กับหินและจุดที่น้ำไหลแรง ซึ่งชาวบ้านนิยมใช้ไกชนิดนี้ประกอบอาหาร (2) ไกต๊ะ คล้ายกับไกหินแต่ชอบอยู่กับน้ำนิ่งและในห้วย (3) ไกค่าว เส้นจะยาวและเหนียวกว่าไกหิน และ (4) ไกหางหมาซึ่งมีลักษณะพิเศษคือมีเส้นเล็กๆ แตกออกมาคล้ายหางหมา และจะอยู่รวมกับไกหิน ทางภาคอีสานส่วนใหญ่เรียกสาหร่ายน้ำโขงว่า เทา ซึ่งเกิดทั้งตามลำห้วยและแม่น้ำโขงในส่วนที่น้ำไหลไม่แรงหรือในน้ำนิ่ง (แต่บางที่ชนิดเส้นยาวก็เรียกไคตามภาษาลาว) สาหร่ายน้ำโขงชนิดที่พบที่บ้านน้ำไพร ต.สังคม อ.สังคม หนองคาย มีทั้งแบบยาวและแบบสั้นเส้นเล็กๆ บางๆ โดยแบบหลังนั้นเกาะอยู่กับพื้นทราย

         ไก/เทาน้ำโขง เกิดในแหล่งน้ำตื้นและจะมีในหน้าน้ำลดประมาณเดือนมกราคม-เมษายน เนื่องจากน้ำตามธรรมชาติไหลช้าลง และตะกอนในน้ำน้อยลง ทำให้แสงอาทิตย์ส่องถึงและไก/เทาสามารถสังเคราะห์แสงเพื่อเป็นอาหารได้ ไก/เทาจะเกาะอยู่กับพื้นหินหรือพื้นทรายแม่น้ำโขงและมีสีเขียวอ่อน เมื่อแก่จะสีเข้มขึ้นและเมื่อตายจะลอยน้ำ


เทาเกิดในน้ำตื้นใหลช้าหรือน้ำนิ่ง อยู่กับดินทราย
(แม่น้ำโขง บ้านน้ำไพร ต.สังคม อ.สังคม จ.หนองคาย)

เทาที่เก็บได้จากแม่น้ำโขง                       ลักษณะเมื่อเทาแห้งหมาดๆ
เทา 4 ระยะ
(1) กลางภาพด้านล่าง เทาสีเขียวอยู่ใต้น้ำ สามารถกินได้
(2) ด้านซ้ายของภาพ น้ำลดทำให้เทาติดอยู่บนดินทราย
(3) กลางภาพ เทาลอยขึ้นมากำลังตายและมีเขียวอ่อน กินไม่ได้
(4) ด้านขวาล่างของภาพ เทาที่ลอยตายเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล  

(3) ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง

ไก/เทาตามธรรมชาตินั้นมีคุณประโยชน์และความสำคัญต่อระบบนิเวศและวัฒนธรรมของชุมชนตามลำน้ำโขงความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงได้ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำขึ้นลงผิดปกติและผลกระทบต่อไก/เทา รวมถึงสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมา แม่หญิงบ้านหาดไคร้ แหล่งเก็บหรือ “จก” ไก แห่งสำคัญแห่งหนึ่ง ได้เล่าว่า น้ำโขงตามธรรมชาติจะค่อยๆ ขึ้น ค่อยๆ ลด ถ้าน้ำมาแรงอย่างเวลามีการเปิดเขื่อน ไกก็จะหายไปหมด

         ในช่วงที่น้ำโขงลดลงมากเป็นปรากฎการณ์ เช่นในช่วงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีการเกิดไก/เทามากเกินไปในจุดที่น้ำน้อยและนำขัง เมื่อไก/เทาตายจะขึ้นมาลอยน้ำ ทำให้น้ำเน่าส่งกลิ่นเหม็นและส่งผลเสียต่อสัตว์น้ำและคนในละแวกนั้น   

         ปัญหาอีกเรื่องที่ตามมาคือ เวลาน้ำลดฉับพลัน ไม่ปกติตามธรรมชาติ ไก/เทา ซึ่งเป็นที่ๆ สัตว์น้ำขนาดเล็กพักพิงหรือมาวางไข่ จะพันและแห้งตายเป็นกองใหญ่รวมเป็นสุสานย่อมๆ ของสัตว์น้ำขนาดเล็กด้วยเช่นกัน


พบเทาที่โผล่น้ำมีหอยเล็กติดอยู่


เทาที่ลอยขึ้นมาตายส่งผลเสียต่อคุณภาพน้ำ (บ้านปากเนียม ต.ห้วยพิชัย อ.ปากชม จ.เลย)

(4) วัฒนธรรมอาหารจากไก/เทา

ไก/เทา อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนริมน้ำโขงมาช้านาน กลุ่มผู้หญิงจะลงเก็บหรือ “จก” ไกเป็นหลัก และนับว่าเป็นการหาอยู่หากินที่สนุกสนานเมื่อรวมกันไปหลายคน คนภาคเหนือนิยมกินไกเป็นอย่างมาก และไกแม่น้ำโขงขึ้นชื่อว่าเป็นไกที่อร่อย หอม กว่าไกที่อื่น อาหารที่นิยมทำคือ เจี๋ยวไก อีกทั้งยังมีการแปรรูปเป็นไกแผ่นใส่งา ไกทรงเครื่อง และน้ำพริกไก เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว นอกเหนือจากนี้ยังมีการคิดพัฒนาทำเป็นคุกกี้ไก และเค้กไกอีกเช่นกัน       ในภาคอีสานนั้นต่างกับทางเหนือเรื่องความนิยมกินไกน้ำโขง โดยคนรุ่นหลังมานี้มองว่าสาหร่ายแม่น้ำโขงสกปรก ส่วนหนึ่งเพราะติดภาพที่มีคนตายลอยมากับน้ำโขงในช่วงที่ลาวมีสงครามกลางเมืองมาจนถึงช่วงที่มีการปฏิวัติ ปี 2518 อย่างไรก็ตามยังมีการใช้ไกหรือไคตามชื่อเรียกท้องถิ่นในแกงอ่อม และใช้เทาทำลาบ แม้ยังไม่ค่อยมีการเอามาประยุกต์ทำเป็นแผ่น น้ำพริก หรือขนมเช่นภาคเหนือ


ผู้เขียน : รพิจันทร์ ภูริสัมบรรณ

รพิจันทร์เป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่สถาบันเพื่อทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน (Institute for Resources, Environment and Sustainability – IRES) มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย
แคนาดา มีความสนใจงานวิชาการและนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการแม่น้ำและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมของชุมชนริมน้ำ ในอดีตรพิจันทร์เป็นนักวิจัยให้กับสถาบันแปซิฟิก (Pacific Institute) เมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอเนีย สหรัฐอเมริกา และศึกษานโยบายการจัดการน้ำ ผลกระทบจากภัยแล้ง และการวางแผนเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

Rapichan Phurisamban,
PhD Student (She/Her/Hers)
Institute for Resources, Environment, and Sustainability (IRES)
University of British Columbia (UBC) | Unceded xʷməθkʷəy̓əm (Musqueam) Territory
429-2202 Main Mall
Vancouver, BC Canada V6T 1Z4

Share Post :
Scroll to Top