โครงสร้าง ขบวนการเคลื่อนไหว และยุทธศาสตร์ สิทธิชุมชนกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

Share Post :

กฤษฎา บุญชัย

หายนะทางนิเวศ ความขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากร การจัดการทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมได้กลายเป็นปมปัญหายิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ ดังปรากฏจากวิกฤติโลกร้อนจากการพัฒนาอุตสาหกรรมได้สร้างความปั่นป่วนต่อนิเวศ และการดำรงชีพของทุกสรรพชีวิต

ขณะที่ความรุนแรงระบบนิเวศเชิงโครงสร้างขยายตัวยิ่งขึ้น รัฐซึ่งเป็นสถาบันหลักของสังคมหาได้ทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรเพื่อประโยชน์สุขและเป็นธรรมของประชาชน แต่ได้ยึดเอาทรัพยากรของชุมชนไปรวมศูนย์เพื่ออำนาจและความมั่งคั่ง

ชุมชนท้องถิ่นหลายแห่งในสังคมไทยที่เผชิญความทุกข์ยากจึงได้พยายามหาทางปกป้องชีวิต ฐานทรัพยากร และสังคมวัฒนธรรม เป็นต้นว่า ชาวบ้านที่อยู่กับป่ารวมตัวกันคัดด้านการสัมปทานไม้ และพัฒนาระบบการจัดการป่าชุมชน ชาวประมงพื้นบ้านในภาคใต้และภาคตะวันออกที่เผชิญกับการกว้านล้างท้องทะเลโดยประมงพาณิชย์ก็รวมตัวกันปกป้องทรัพยากรชายฝั่ง ชาวบ้านที่อยู่กับสายน้ำซึ่งได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ผันน้ำก็ได้รวมตัวกันปกป้องสายน้ำ เกิดเป็นเครือข่ายลุ่มน้ำปกป้องฟื้นฟูสายน้ำ เกษตรกรที่เห็นปัญหาความเสื่อมโทรมนิเวศและสุขภาพจากเกษตรเคมีได้สรรค์สร้างระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่เป็นมิตรกับนิเวศขึ้น เช่นเดียวกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนา เช่น เขื่อน เหมืองแร่ โรงไฟฟ้า อุตสาหกรรม และอื่นๆ ที่รวมตัวกันทั้งในภาคชนบทและตัวเมืองเพื่อปกป้องชีวิตและฐานทรัพยากรของชุมชนและสาธารณะ

ปัญหาเชิงโครงสร้างได้แก่ 1) การขยายตัวของระบบทุนโลกาภิวัตน์ที่แปลงทรัพยากรสาธารณะให้เป็นสินค้าและผูกขาดกระจุกตัวในกลุ่มทุน 2) ระบบราชการของรัฐที่ยังคงรวมศูนย์อำนาจผูกขาดทรัพยากรสาธารณะเพื่อสั่งสมอำนาจ ผลประโยชน์ของหน่วยงาน และเปิดเสรีการเข้าถึงทรัพยากรพร้อมกับแปลงทรัพยากรเหล่านี้ให้กับกลุ่มทุน และ 3) การถดถอยของประชาสังคมด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ที่มีพื้นที่ทางการเมืองและสังคมหดแคบจนขาดอำนาจต่อรองในทางนโยบาย และไม่สามารถรวมตัวกันเป็นขบวนการที่กว้างขวางและมีพลังได้

ปัจจัยทั้งสามประการมีความเชื่อมโยงกันหมด โดยเฉพาะรัฐที่มีหน้าที่เป็นกลไกการกำหนดนโยบายและควบคุมกติกาการจัดสรรทรัพยากร แต่การดำเนินการของรัฐที่กลายเป็นกลไกผูกขาดอำนาจผลประโยชน์ด้วยตัวเอง และเป็นตัวกระทำการ (agent) ของระบบทุนในการเปิดเสรีการเข้าถึงทรัพยากร และการแปลงทรัพยากรสาธารณะให้เป็นของเอกชน ทำให้สภาวะความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มีอยู่เดิมพัฒนาเป็นความไม่เป็นธรรมที่รุนแรงขึ้น

ปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบทุนนิยมเสรีจึงส่งผลระบบบริหารจัดการทรัรพยากรของสังคมไทยล้มเหลว เกิดความไม่เป็นธรรม รัฐได้สูญเสียบทบาทในการสร้างความเป็นธรรม ความผาสุกให้กับประชาชน จากการเป้าหมายการจัดการทรัพยากรเพื่อเร่งพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลักมากกว่าความยั่งยืนทางนิเวศ ความเป็นธรรมทางสังคม และความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น ดำเนินการผูกขาดอำนาจจัดการทรัพยากรโดยขาดการยอมรับสิทธิชุมชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สะท้อนผ่านระบบกฎหมายที่เป็นอยู่ เร่งรัดกระตุ้นระบบกรรมสิทธิ์ปัจเจกโดยใช้กลไกตลาด โดยเพิกเฉยการมีกลไกทางสังคมและกฎหมายกำกับเท่าที่ควร เมื่อรัฐล้มเหลว สังคไทยจึงถูกบีบด้วยกระบวนการทางเศรษฐกิจให้มุ่งเน้นเศรษฐกิจระยะสั้น โดยยอมแลกกับต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและสังคม และผลักภาระต้นทุนเหล่านี้ให้กับคนจน คนด้อยอำนาจในสังคม ในภาคประชาสังคม เมื่อปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมรุนแรงขึ้นทุกขณะ ชุมชนต่างๆ ได้ร่วมกับกลุ่มประชาสังคมในเชิงนิเวศวัฒนธรรมและนิเวศการเมืองก่อรูปเป็นขบวนการสิทธิชุมชนฐานทรัพยากรเพื่อผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างนโยบายการจัดการทรัพยากรและการพัฒนาที่กระทบต่อการดำรงอยู่ร่วมกันของชุมชนและสังคม เจตนารมณ์สิทธิชุมชนได้ถูกประกาศอย่างชัดเจนครั้งแรกจากการเคลื่อนไหวป่าชุมชนในปีพ.ศ. 2532 ตามมาด้วยเครือข่ายคัดค้านเขื่อน เครือข่ายลุ่มน้ำ เครือข่ายประมงพื้นบ้าน เครือข่ายมลภาวะอุตสาหกรรม เครือข่ายคัดค้านเหมืองแร่ เครือข่ายต่อต้านโรงไฟฟ้า เป็นต้น

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.ldi.or.th/wp-content/uploads/2020/08/nature_struc.pdf

Share Post :
Scroll to Top