เมื่อปราจีนฯ ทดลองสร้างกระบวนนโยบายแบบมีส่วนร่วม

Share Post :
เมื่อปราจีนฯ ทดลองสร้างกระบวนนโยบายแบบมีส่วนร่วม
จากที่สถาบันฯ ได้รับทาบทามจากสภาพัฒน์ฯ เพื่อทำโครงการ sandbox สร้างนิเวศสังคมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วมระดับจังหวัด โดยมีจังหวัดปราจีนบุรีเป็นพื้นที่นำร่อง สถาบันฯ จึงได้ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายชุมชน ประชาสังคมในจังหวัดและภาคีที่เกี่ยวข้องมาร่วมออกแบบกระบวนการขับเคลื่อน sandbox ด้วยกัน
เมื่อวานจึงเริ่มเปิดฉากด้วยเวทีประชุมปฏิบัติการ kick off ปราจีนบุรี พื้นที่นำร่องการพัฒนากลไกภาคีเครือข่ายในการสร้างพลังทางสังคมขึ้นเป็นครั้งแรก เป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจ และออกแบบกระบวนนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วม โดยมีภาคชุมชน ประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนมาร่วมกันอย่างคึกคัก
เราได้ร่วมกันออกแบบกระบวนการแบบผสมผสาน
เริ่มจากประเมินและออกแบบอนาคตความสัมพันธ์ ร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน ประชาสังคม ชุมชน ต่อกระบวนนโยบายที่จะเกิด และอยากจะเห็นให้เกิดเป็นเป้าหมาย ผลปรากฏว่า แม้ปัจจุบันจะมีปัญหาหลายด้าน แต่อนาคตความน่าจะเป็นมีความหวังยิ่ง ทั้งทุนธรรมชาติ สังคม ทั้งกระบวนการรับฟังความเห็น การมีส่วนร่วมในนโยบายที่ขยายวงกว้างขึ้น ที่สำคัญที่สุดคือ ทุกภาคีล้วนตระหนักตรงกันว่า เราต้องร่วมมือกัน แม้จะเห็นต่าง ขัดแย้งบ้างในบางประเด็น และบางเงื่อนไขการทำงาน เมื่อเอาอนาคตเป็นเป้าหมาย การออกแบบจึงเริ่มต้นด้วยการสำรวจทุนทางสังคม บทเรียนทั้งที่สำเร็จและจำกัดจากรูปธรรมที่ผ่านมา เช่น เกษตร น้ำ ขยะและสารพิษ และอื่น ๆ (ช้างป่า เด็กและเยาวชน) 
แน่นอนว่าเรามีบทเรียนที่ติดขัด เช่น มีเป้าหมาย ข้อมูลต่างกัน ขาดพื้นที่เรียนรู้รับฟังแลกเปลี่ยน ขาดกลไกร่วมขับเคลื่อน แต่ที่ประชุมก็เห็นพลัง นวัตกรรมขับเคลื่อนที่มีศักยภาพทุกกลุ่ม กลุ่มเกษตรก็สร้างสรรค์ความรู้ ต้นแบบเกษตรกร การผลิต การตลาดที่ก้าวหน้า กลุ่มจัดการน้ำก็มีการสำรวจข้อมูลประเมินสถานการณ์น้ำติดตามผลกระทบและแสวงหาแนวทางจัดการ ส่วนกลุ่มขยะและสารพิษก็มีตัวอย่างชุมชนที่จัดการขยะที่เข้มแข็งและติดตามตรวจสอบการทิ้งขยะของภาคอุตสาหกรรมโดยพยายามเชื่อมกับกลไกของรัฐเพื่อการบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น
จากกลุ่มเชิงประเด็นเราได้ค่ากลุ่มค่าภาคีเพื่อให้มองเห็นถึงภาพรวมเชิงระบบว่าอะไรเป็นปัจจัยที่เอื้อและปัจจัยข้อจำกัดต่อการขับเคลื่อนนโยบายทุกกลุ่มได้ผลสรุปตรงกันไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านผู้นำ การขยายเครือข่าย การสร้างคนรุ่นใหม่ ข้อมูลความรู้และการสื่อสาร พื้นที่รับฟังแลกเปลี่ยน การสร้างกลุ่มชุมชนให้เข้มแข็ง การมีกลไกมีส่วนร่วมในการออกแบบติดตามและขับเคลื่อน
หลังจากนั้นเราจึงได้ชวนที่ประชุมกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนหลัก ๆ ไปจนถึงการออกแบบเป็นโครงการปฏิบัติการภายในระยะเวลา 6 เดือน โดยใช้ฐานจากกลุ่มประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมา
น่าสนใจว่า มีโครงการที่ร่วมกันคิดน่าสนใจเกิดขึ้นและเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะบรรลุผล เช่น การสร้างพื้นที่หรือเวทีร่วมในการติดตามขับเคลื่อนนโยบาย การพัฒนาอบรมสร้างคนรุ่นใหม่ การทำฐานข้อมูลทั้งการจัดการน้ำจัดการขยะในพื้นที่ที่มีขอบเขตชัดเจน และอื่น ๆ ที่ทุกภาคีเห็นว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่นำไปสู่กระบวนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมได้ โดยแต่ละภาคีล้วนใส่บทบาทของตนเองว่าจะมีส่วนทำอะไรในแผนเหล่านั้น
กระบวนการไม่ได้จบแค่เวที kick off แต่หลังจากนี้ื จะเอาข้อสรุปจากเวทีทั้งในเชิงเป้าหมาย แนวทาง ต้นแบบโครงการนำร่อ ไปสร้างการเรียนรู้เชิงลึกและออกแบบอย่างเป็นรูปธรรมในกลุ่มประเด็นต่างๆทั้งเกษตรน้ำขยะสารพิษและอื่น ๆ เพื่อเป็นการทดลองทั้งการใช้ข้อมูลการสร้างกลไก การดึงภาคีเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อน โดยที่ประชุมมีความหวังร่วมกันว่า 6 เดือนแห่งการทดลองปฏิบัติการ จะเกิดแนวคิดแนวทางรูปธรรมของการทำกระบวนการนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วมที่ก้าวหน้า สามารถช่วยคลี่คลายปัญหาในเรื่องต่างๆ ด้วยพลังร่วมกันของคนปราจีนฯ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรมให้ได้
การขับเคลื่อนงานครั้งนี้สำเร็จด้วยดี โดยมีผมกฤษฎา บุญชัย (กบ) ทำหน้าที่สังเคราะห์แนวคิดความรู้ ณัฐธิดา รัตนสวัสดิ์ (กะติ๊บ) ออกแบบและดำเนินการกระบวนการประชุมเชิงปฏิบัติการนวัตกรรมสร้างสรรค์ ทนงศักดิ์ จันทร์ทอง ช่วยประสานภาคีเครือข่าย และปิโยรส ปานยงค์ช่วยบันทึกการประชุม
ต้องขอขอบคุณทุกภาคีทั้งสภาพัฒน์ที่เป็นแม่งานหลัก เจ้าหน้าที่จาก พอช. สภาเกษตรกรฯ และเครือข่ายประชาสังคมจังหวัดปราจีนที่ได้มาร่วมกันอย่างแข็งขันจนงานบรรลุได้อย่างดีในครั้งนี้
Share Post :
Scroll to Top