Share Post :

โดย ศ.เสน่ห์ จามริก
หนังสือ สิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล, 2546

“สิทธิมนุษยชนไทย” ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นการแบ่งแยกเรื่องราวของสิทธิมนุษยชนออกเป็นส่วนๆ เสี่ยงๆ ตามเขตแดนของประเทศ หรือเชื้อชาติต่างๆ สิทธิมนุษยชนเป็นหลักการสากลของธรรมชาติความเป็นมนุษย์ร่วมโลก ไม่อาจแบ่งแยก หรือเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะโดยเกณฑ์เชื้อชาติ สัญชาติ เพศและวัย ตลอดจนศาสนาและลัทธิความเชื่อต่างๆ เพียงแต่ว่าสภาพลักษณะชนิดประเภท และชอบข่ายความเชื่อมโยงชับซ้อนของประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชน อาจมีความแตกต่างหลากหลายกันไปตามกาลเวลาและบริบทเฉพาะทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจการเมือง และสังคมวัฒนธรรม โดยนัยนี้เอง สิทธิมนุษยชน จึงมีความเป็นพลวัตตามสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมโลกร่วมสมัย ซึ่งมวลกลุ่มชน ชุมชนและประชาชาติทั้งหลายต่างเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบอย่างกว้างขวางและเข้มข้นขึ้นโดยลำดับ ทั้งหมดประกอบกันเป็นสถานการณ์สากลภายใต้กระแสพลังที่ใช้เรียกขานกันโดยทั่วไปว่าโลกาภิวัตน์ แล้วก็เพราะความเป็นพลวัตของเรื่องสิทธิมนุษยชนนี้เอง ประเด็นปัญหาและปรากฏการณ์ต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นตามสภาพเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลง และสภาวะจิตสำนึกของมนุษย์เรา ดังที่ได้เน้นถึงในบทผนวกที่ 1 ว่าด้วย “ฐานความคิด และวัตถุประสงค์ของการวิจัย” ตอนท้ายสรุปรายงานวิจัยนี้

ยิ่งไปกว่านั้น “สถานการณ์สากล” ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่ว่านี้ ยังมีส่วนแนบเนื่องไปด้วยกันกับปัญหาความลักลั่นขัดแย้งเกี่ยวกับหลักคิดและกระบวนทัศน์ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จึงเป็นเหตุให้เกิดสถานการณ์ของการแสวงและใช้อำนาจโดยอ้างอิงหลักการสิทธิมนุษยชนส่วนหนึ่ง มาบั่นทอนทำลายสิทธิมนุษยชนอีกส่วนหนึ่งของเพื่อนมนุษย์ร่วมประชาคมโลกด้วยกัน นั่นก็คือ กระแสโลกาภิวัตน์ ภายใต้อุ้งอำนาจของลัทธิอุดมการณ์ “เศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่” (Economic Liberalism) ซึ่งจำแลงรูปโฉมมาเป็น “เสรีนิยมใหม่” (Neo-Liberalism) ในปัจจุบัน ประเด็นปัญหาและขอบข่ายของการศึกษาวิจัยชุดโครงการ “สิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล” จึงค่อนข้างสลับซับซ้อนจำเป็นต้องทำความชัดเจน ว่ากันดั้งแต่เรื่องของธรรมชาติและหลักคิดสิทธิมนุษยชนเอง ความเป็นจริงเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ และเศรษฐกิจเสรีนิยม เศรษฐกิจการเมืองไทยในบริบทของภูมิภาค ฐานทรัพยากรธรรมชาติเขตร้อนของโลก และพื้นฐานทางสังคม วัฒนธรรม และพัฒนาการทางสถาบันของไทย ตลอดจนหลักการและกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ อันสอดคล้องต่อเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ “ฉบับปฏิรูปการเมือง” พ.ศ.2540 ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่าน ได้มีการกล่าวขวัญถึงกันอย่างกว้างขวางขึ้น โดยลำดับว่า จะต้องพัฒนาสังคมไทย ให้เป็น “สังคมฐานความรู้” (Knowledge based) แต่เราไม่เคยมานั่งถกทำความชัดเจนกันอย่างจริงจังเลยว่า “ความรู้” อะไรกันแน่ที่พึงประสงค์สำหรับสังคมและคนไทยเรา ผลก็คือ แต่ละคนแต่ละสำนักก็ต่างยึดกุมเอาตัวชุดความรู้ กระบวนทัศน์ และวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่มีอยู่แล้วเป็นทุนเดิมนั่นเอง เป็นสรณะ ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ก็ตกอยู่ในสภาวะหยุดนิ่งและชะงักงันทางปัญญาเช่นนั้น ชุดโครงการวิจัย “สิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล” นี้อาจมีข้อขาดตกบกพร่องมากมายหลายอย่างโดยไม่ต้องสงสัย แต่อย่างน้อยก็เป็นความพยายามเสาะแสวงเพื่อสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ให้รอบต้านขึ้น และเพื่อเป็นการผสานเรื่องของสิทธิมนุษยชนในบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อันแตกต่างหลากหลายให้ได้เกิดความกลมกลืนเสนอสนองซึ่งกันและกัน ดังหลักคติธรรมสากลที่ว่า “สิทธิมนุษยชนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และไม่อาจแบ่งแยกส่วนได้” พื้นฐานความรู้ความเข้าใจ และวัฒนธรรมการเรียนรู้เช่นว่านี้ ย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมและการปฏิบัติสิทธิมนุษยชน ในทางที่สร้างสรรค์ต่อชีวิตมนุษย์และสังคม ตลอดฐานทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นสมบัติร่วมกันของมวล มนุษยชาติ แทนที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือประหัตประหารทำลายล้างกันอย่างเช่นในทุกวันนี้ ในนามของ “สิทธิมนุษยชน” ภายใต้ฉายา “เศรษฐกิจเสรีนิยม”

จากความคิดคำนึงถึง สิทธิมนุษยชนในบริบทของภูมิภาคฐานทรัพยากรธรรมชาติเขตร้อนนี้เอง จุดเน้นของชุดโครงการวิจัยฯ นี้ จึงมุ่งไปที่เรื่องของ “สิทธิชุมชน” ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ ที่มีทั้งแย้งและเสริมหลักคิดเดิม ๆ ของวัฒนธรรมตะวันตก ที่มองเห็นสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลล้วน ๆ เป็นการเตือนสติที่ยึดมั่นถือมั่นสุดโต่งอยู่กับปัจเจกนิยมและวัตถุนิยม จนสิทธิมนุษยชนกลายเป็นเครื่องมืออำนาจบั่นทอนทำลายศักดิ์ศรีและชีวิตมนุษย์และธรรมชาติไปทั่วโลกตลอดช่วงสองสามศตวรรษที่ผ่านมา ในแวดวงวิชาการปัญญาชนของไทยเรา ก็ไม่นำพาที่จะเรียนรู้แยกแยะว่า อะไรเป็นสากล และอะไรเป็นเรื่องเฉพาะของวัฒนธรรมตะวันตก เพราะว่าเราต่างพากันเสพติดทางความคิดความเชื่อว่า อะไรที่มาจากตะวันตก ล้วนเป็นเรื่องสากลทั้งนั้น ในนามของ “การเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัย” และ “การพัฒนา” ผลก็คือ สังคมไทยต้องตกอยู่ในวังวนของอาณานิคมทางปัญญามาช้านาน

โครงการวิจัย “สิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล” พยายามแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ และความเป็นอิสระทางปัญญาความคิดและวัฒนธรรมการเรียนรู้ ไม่ใช่เพราะความคลั่งชาติ หรือต้องการให้เรื่องของ “สิทธิมนุษยชนไทย” เกิดความโดดเด่นแยกตัวต่างหากจากสิทธิมนุษยชนของคนชาติอื่นๆ เพราะโดยแท้จริงแล้ว ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคฐานทรัพยากรธรรมชาติเขตร้อน เรื่องราวของสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ก็ย่อมมีอะไรๆ ร่วมอยู่กับในที่อื่นๆ แล้วก็ด้วยเหตุผลความเป็นจริงข้อนี้ ชุดโครงการวิจัยฯ นี้ จึงไม่อาจมองฐานทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งชีวิตมนุษย์และสังคมอย่างเป็นชิ้นเป็นส่วนอย่างในวัฒนธรรมตะวันตก หากมุ่งเน้นถึงสภาวะความเป็น “ฐาน” ทรัพยากรและชีวิตความเป็นชุมชน แม้แต่คำว่า ชุมชน ก็ไม่ใช่จะมองเป็นกลุ่มเป้าหมายแยกต่างหากจากกัน หากแต่เป็นในแง่ของความเป็น “เครือข่าย” ที่จะต้องเรียนรู้ดำรงชีวิตร่วมกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นเรื่องที่บรรดาชุมชนท้องถิ่นทั้งหลาย จำต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งภายในแต่ละชุมชน ระหว่างชุมชน และระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องภายในชุมชนเอง ก็จำต้องมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ให้เคารพในศักดิ์ศรีและสิทธิของบรรดาสมาชิกที่ประกอบกันขึ้นเป็นชุมชน โดยนัยนี้ ความหมายและขอบข่ายของสิทธิมนุษยชน ก็จะเข้าลักษณะความเป็นองค์รวมของชีวิต ซึ่งย่อมประกอบไปด้วยทั้งมนุษย์ สังคม และธรรมชาติแวดล้อม และซึ่งย่อมต้องการวิถีการเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนที่ แตกต่างไปจากวิถีของอำนาจ และค่านิยม ในประวัติศาสตร์พัฒนาการสิทธิมนุษยชนของสังคมโลกตะวันตก

ที่มา : เสน่ห์ จามริก (2546). สิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

Share Post :
Scroll to Top