ปาฐกถาเปิดการประชุมสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียม และการพัฒนา

Share Post :

หนังสือ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ : ความเท่าเทียมและการพัฒนา
โดย ประเวศ วะสี

ผมมาที่นี้ในวันนี้เพื่อแสดงความซาบซึ้งใจและแสดงความขอบคุณต่อท่านทั้งหลายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ได้อุทิศตนเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การจรรโลงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนเป็นภารกิจที่สูงส่งแต่ต้องประสบกับความยากลำบากอย่างยิ่ง การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่าง ๆ เกิดขึ้นอยู่ทั่วโลก มนุษยชาติใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในการเผชิญกับความยากจน ความกลัว ความอดอยาก หิวโหย อคติ ความขัดแย้ง ความรุนแรง สงครามและการแสวงประโยชน์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในประเทศกำลังพัฒนาหรือในประเทศที่พัฒนาแล้ว สาเหตุของปัญหามาจากทั้งปัจจัยส่วนบุคคลและปัจจัยเชิงโครงสร้าง เราไม่สามารถมองเรื่องสิทธิมนุษยชน แยกส่วน สิทธิมนุษยชนมีองค์ประกอบอย่างน้อย ๕ ประการด้วยกัน

การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นศูนย์กลางของสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค ประชาธิปไตย และความเป็นประชาสังคม การไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทำให้เกิดอคติและนำไปสู่การละเมิดต่าง ๆ อคติเป็นสิ่งที่ฝังรากลึก เกือบจะเป็นเหมือนการถ่ายทอดทางพันธุกรรม อคติมีทั้งอคติต่อวัย เพศ สีผิว เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนาและความเชื่อ สถานะทางเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ฯลฯ เราไม่สามารถขจัดอคติเหล่านี้ภายใต้จิตสำนึกแบบเดิมที่คับแคบ แต่เราต้องการจิตสำนึกใหม่ที่ก้าวข้ามอคติเหล่านี้

ด้วยเหตุนี้ ไอน์สไตน์จึงกล่าวว่า “เราต้องมีวิธีคิดใหม่แบบที่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือหากมนุษยชาติจะยังอยู่รอดต่อไป”

และด้วยเหตุนี้ ลาสโล กรอฟ และรัสเซลล์จึงเห็นว่ามนุษยชาติ จะหนีพ้นจากวิกฤตการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ด้วยการปฏิวัติทางจิตสำนึกแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น มีแต่เพียงจิตสำนึกใหม่และวิธีการคิดใหม่เท่านั้นที่จะทำให้เราก้าวข้ามความมีอคติทั้งหลายไปได้เพื่อที่ว่าการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะฝังลึกในจิตใจของมนุษย์ ดังนั้นจิตสำนึกใหม่จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในระบบสิทธิมนุษยชนดังที่ได้แสดงในรูปที่ ๑

เมื่อเร็ว ๆ นี้ วิลคินสันและพิคเก็ตต์ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสุขภาพและปัญหาสังคมดังปรากฏในรูปที่ ๒ ปัญหาด้านสุขภาพและสังคมรวมถึงการมีอายุยืนยาว อัตราการตายของเด็ก สุขภาพจิต การตั้งครรภ์ของวัยรุ่น โรคอ้วน การฆาตกรรม ความรุนแรง และการมีความไว้วางใจในระดับที่ต่ำ สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่อยู่ปลายสุดของเส้นกราฟด้านที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ในขณะที่ญี่ปุ่นและประเทศสแกนดิเนเวียอยู่ที่ปลายด้านตรงข้าม การลักทรัพย์ ปล้นสะดม และการยิงกันที่เกิดขึ้นที่เมืองนิวออร์ลีนส์หลังภัยพิบัติที่เกิดจากพายุเฮอร์ริเคนแคทรินาเป็นภาพที่ขัดแย้งอย่างเห็นได้ชัดกับ ความสงบของญี่ปุ่นหลังจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมาระเบิดเนื่องจากคลื่นสึนามิถล่ม ความไม่สงบและการใช้ความรุนแรงที่ เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรเมื่อเร็ว ๆ นี้เป็นสิ่งที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อดูจากเส้นกราฟของความเหลื่อมล้ำดังที่ปรากฏ ในรูปที่ ๒

สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่เป็นแบบอย่างของประชาธิปไตยเสรี เสรีภาพส่วนบุคคลและประชาธิปไตย ที่เรารู้จักกันดีไม่เพียงพอที่จะประกันความเสมอภาค ความเสมอภาคทางการเมืองในลักษณะที่บุคคลหนึ่งคนมีคะแนนเสียงหนึ่งเสียงเพียงอย่างเดียวไม่ได้ทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคมโดยอัตโนมัติ ในความเป็นจริงแล้ว ในระบบเศรษฐกิจของโลกตะวันตก ไม่มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพราะมีผู้คนและสถาบันจำนวนน้อยมากที่เข้าควบคุมและใช้อิทธิพลในการจัดการระบบเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดความแตกต่างของรายได้อย่างกว้างขวาง เราต้องพิจารณาเรื่องประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

ประชาธิปไตยที่มีเพียงรูปแบบโดยไม่มีสาระจึงใช้ไม่ได้ผล โรเบิร์ต พัทนัมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ทำการวิจัยเพื่อศึกษา ว่าเหตุใดอิตาลีจึงเป็นเสมือนประเทศที่มีสองประเทศในประเทศเดียว ภาคเหนือกับภาคใต้ของอิตาลีมีความแตกต่างกัน ในขณะที่ภาคใต้ของอิตาลียังเต็มไปด้วยความยากจน ความไม่เป็นธรรม ความรุนแรง และการแสวงประโยชน์ต่างๆ (คำว่ามาเฟียมาจากภูมิภาคนี้) ภาคเหนือของอิตาลี เช่น ที่เมืองมิลานและโทริโน่ กลับมีลักษณะที่ตรงกันข้าม คณะนักวิจัยพบว่าภาคใต้ของอิตาลีต่างจากภาคเหนือตรงที่ภาคใต้ขาดธรรมเนียมความเป็นประชาสังคม สังคมในอิตาลีตอนเหนือเป็นสังคมแนวราบที่ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจการบ้านเมืองอย่างเท่าเทียมกัน ในขณะที่สังคมในภาคใต้เป็นสังคม แนวดิ่งที่ชนชั้นสูงมีอำนาจมากกว่าชนชั้นล่าง พัทนัมสรุปในหนังสือของเขาที่ชื่อ “ใช้ประชาธิปไตยให้ได้ผล” ว่า การมีความเป็นประชาสังคม (civility)เป็นสาระสำคัญของประชาธิปไตย ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เรามีประชาธิปไตยแต่ในรูปแบบแต่ขาดความเป็นประชาสังคมในประเทศเหล่านั้น ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังมีอยู่อย่างกว้างขวาง เราจึงควรส่งเสริมธรรมเนียมปฏิบัติที่สร้างความเป็นพลเมืองในระบบสิทธิมนุษยชนด้วย สก็อตต์ เพ็ค นักจิตวิทยาผู้หนึ่งได้ ตั้งชื่อหนังสือของเขาได้อย่างเหมาะสมว่า “โลกที่รอการเกิดใหม่: ความเป็นพลเมืองที่ถูกค้นพบอีกครั้ง” มนุษย์มีสิ่งหนึ่งที่สัตว์ไม่มี นั่นคือสมองส่วนที่เรียกว่า นีโอ คอร์เท็กส์ ในสมองส่วนนี้เองที่ทำให้คนมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นมนุษย์ได้อย่างเต็มที่

สมองของมนุษย์มี ๓ ชั้น ชั้นในสุดซึ่งอยู่ส่วนหลังพัฒนามาจากสมองของสัตว์เลื้อยคลานที่ทำหน้าที่ในการเอาชีวิตรอด สมองส่วนกลางพัฒนามาจากสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทำหน้าที่ในเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก และสมองชั้นนอกซึ่งอยู่ ด้านหน้าคือนีโอคอร์เท็กส์ซึ่งเป็นสมองของมนุษย์ ในขณะที่สมองส่วนหลัง ทำหน้าที่ในเรื่องของการเอาชีวิตรอดแบบดิบ ๆ สมองส่วนหน้าเป็นส่วนที่ทำให้มนุษย์มีศักยภาพสูงสุดในอันที่จะพัฒนาสติปัญญาความเฉลียวฉลาด ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และการอุทิศตนเพื่อผู้อื่น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สมองส่วนหน้า เป็นส่วนที่ทำให้เราก้าวข้ามความมีตัวตนที่คับแคบไปสู่จิตสำนึกใหม่ของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อเรามีจิตสำนึกใหม่ เสรีภาพ ความรัก และความสุขจะตามมา จิตใจที่มีคุณภาพใหม่เช่นนี้จะ ทำให้เกิดการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้โดยอัตโนมัติ

การพัฒนาของสมองมีความเกี่ยวพันกับสภาพทางสังคมความไม่เป็นธรรม ความรุนแรง และการแสวงประโยชน์ต่างๆ จะไปกระตุ้นสมองส่วนหลังและทำให้สมองส่วนหน้าไม่พัฒนา ในขณะที่ความเสมอภาคและความเป็นประชาสังคมจะกระตุ้นพัฒนาการของสมองส่วนหน้า โลกของเราได้ใช้สมองส่วนหลัง (สมองของสัตว์เลื้อยคลาน) มากเกินไปแล้วแม้ว่าเราจะมีสมองส่วนหน้าที่ไม่ได้นำมาใช้ สภาพที่เป็นอยู่นี้ต้องได้รับการแก้ไขเสียใหม่ โลกต้องเปลี่ยนวิถีทางเดินจากการใช้สมองส่วนหลังมาเป็นการพัฒนาสมองส่วนหน้าแทน

เมื่อมาถึงจุดนี้ เราจะเข้าใจสิ่งที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ได้ดีขึ้น เขากล่าวว่า “เราต้องมีวิธีคิดใหม่แบบที่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือหากมนุษยชาติจะยังอยู่รอดต่อไป” วิธีคิดใหม่แบบที่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือไม่ใช่สิ่งอื่นใดที่น้อยไปกว่าสมองใหม่ (คือนีโอคอร์เท็กส์ นีโอ แปลว่าใหม่) และจิตสำนึกใหม่

หัวข้อหลักของการประชุมนี้คือ “สิทธิในการพัฒนา” รูปที่ ๑ แสดงให้เห็นต้นแบบใหม่ของการพัฒนาหรือระบบสิทธิมนุษยชน ระบบดังกล่าวประกอบด้วยองค์ประกอบที่มีความเกี่ยวโยงกัน ๕ ส่วน ได้แก่ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค ความเป็นประชาสังคม และจิตสำนึกใหม่ องค์ประกอบแต่ละส่วนล้วนสามารถเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่องค์ประกอบที่เหลืออีก ๔ ส่วนได้ เพื่อที่องค์ประกอบทั้ง ๕ ส่วนจะบูรณาการเข้าด้วยกันและได้รับการพัฒนาต่อไป สันติสุขจะเป็นผลที่เกิดจากการพัฒนาระบบสิทธิมนุษยชนที่บูรณาการเข้าด้วยกันนี้ สันติสุขจะช่วยเยียวยาโลกของเราให้หายจากความเจ็บไข้ได้

โลกของเรากำลังป่วยหนักและต้องการได้รับการรักษา ผมเชื่อมั่นว่าท่านทั้งหลายที่เป็นผู้ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนที่รวมกันอยู่ในที่ประชุมแห่งนี้ ต่างมีความปรารถนาในส่วนลึกของหัวใจที่จะรักษาโลกของเราด้วยสิทธิมนุษยชนเพื่อการพัฒนา ผมขอให้ภารกิจของท่านเป็นแรงบันดาลใจสำหรับมนุษยชาติทั่วโลกในอันที่จะทำงานร่วมกันเพื่อสร้างอารยธรรมใหม่ที่ผู้คนจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความเสมอภาค มีความเป็นประชาสังคม และมีจิตสำนึกที่ขยายวงกว้างออกไปที่เห็นว่ามนุษยชนชาติมีความเป็นหนึ่งเดียวกันขอให้งานด้านสิทธิมนุษยชนของท่านช่วยรักษาโลกของเราไว้

ขอบคุณ

————————————–

ปาฐกถาเปิดการประชุมสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 16, 6-8 กันยายน 2555, กรุงเทพฯ
ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ : ความเท่าเทียมและการพัฒนา / ประเวศ วะสี

 

Share Post :
Scroll to Top