สถานภาพวิชาการ เพื่อแม่น้ำโขงที่ยั่งยืน และเป็นธรรม

Share Post :

สัมภาษณ์ : ผศ.ดร.กนกวรรณ มโนรมย์
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
โดย : ดร.กฤษฎา บุญชัย

สัมภาษณ์ ผศ.ดร.กนกวรรณ มโนรมย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

กฤษฎา: สวัสดีครับอาจารย์กนกวรรณ จากที่ได้คุยกันเรื่องเวทีสังเคราะห์บทเรียน ออกแบบอนาคต และยุทธศาสตร์ของภาคประชาสังคมต่อลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือบทเรียนของนักวิชาการ และภาควิชาการ มองอดีต และปัจจุบัน ขออาจารย์ช่วยประเมินสถานะความรู้ บทบาทงานวิชาการต่อเรื่องแม่น้ำโขง มีความก้าวหน้า หรือผลสำเร็จ หรือการสร้างผลสะเทือนอย่างไรได้บ้าง และเรื่องที่สอง อาจารย์มีข้อเสนอต่ออนาคต และทิศทางการขับเคลื่อนของภาคสังคมอย่างไร

กนกวรรณ: เรื่องแรกงานวิชาการ หรือประเด็นที่นักวิชาการสนใจศึกษาแม่น้ำโขงส่วนมากในระดับนานาชาติสนใจการทำงานข้ามสาขาวิชาในการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับแม่น้ำโขง เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เริ่มตั้งแต่งาน Empower Mekong Program ว่าด้วยเรื่องน้ำ การฟื้นตัว และสิ่งแวดล้อม มีนักวิจัย นักวิชาการนอกภูมิภาค เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ได้เข้ามาทำงานร่วมกัน และมีเอกสารวิจัยหลายเล่ม
ในยุคแรกเป็นช่วงสร้างองค์ความรู้ครอบคลุม และลึกซึ้ง หนังสือเล่มสำคัญ คือภูมิทัศน์แม่น้ำโขง (Water Landscape) รวมงานเขียนหลากหลายมุม เช่น สื่อสารมวลชน สังคมศาสตร์ ประมง รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้เห็นภาพแม่น้ำโขงที่ครอบคลุม เข้มข้น และหลากหลายประเด็น ต่อเนื่องมามีนักวิชาการภูมิภาคน้ำโขง นักวิจัยรุ่นใหม่สนใจเรื่องสร้างองค์ความรู้ในหลายแง่มุม การทำเกษตร การทำประมงพื้นบ้าน แหล่งน้ำใช้ และการเกษตรกรรมบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ประเทศเวียดนาม เพราะใช้ระบบชลประทานเข้มข้นมาก เมื่อไรที่น้ำจืดลดน้อยลง จะต้องย้อนกลับขึ้นไปที่ต้นน้ำ นักวิชาการเวียดนามจะตื่นตัวมาก ดังนั้นองค์ความรู้เรื่องการอยู่อย่างไรในบริเวณปากแม่น้ำโขงจะเข้มข้นมาก รวมทั้งนักวิชาการประมงที่โตนเลสาบ ประเทศกัมพูชา มีการศึกษาเรื่องการนำน้ำโขงมาเติม และการไหลย้อนกลับแม่น้ำโขง ศึกษาระบบนิเวศน์ที่สมดุลเป็นอย่างไร โดยเฉพาะประมงพื้นบ้าน ประมงชายขอบ ประมงของเวียดนาม และกัมพูชา รอบโตนเลสาบ
ส่วนแม่น้ำโขงสายหลักมีองค์ความรู้หลากหลายสาขา แต่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา งานวิชาการนานาชาตินำไปสู่การรณรงค์มีน้อย เพราะเน้นการสร้างองค์ความรู้เป็นหลัก เน้นการทำงานกับภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาเป็นเรื่อง ๆ และกำหนดนโยบาย เช่น เรื่องภัยแล้ง น้ำไม่พอ เพศสภาวะและการจัดการแม่น้ำโขง แต่ระดับพื้นที่ งานวิจัยของชาวบ้าน ชาวบ้านปากมูน ลุ่มน้ำสงคราม และราศีไศล มีผลกระทบระดับหนึ่ง แต่ไม่มาก งานวิจัยนำไปใช้ระดับท้องถิ่น แต่ยังมีพลังไม่พอในการสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ เพื่อใช้จัดการแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน และสร้างความเป็นธรรม จะเป็นไปได้ต้องมีพลัง และผู้มีอำนาจการตัดสินใจเห็นความสำคัญ
ประเมินว่าผู้มีอำนาจการตัดสินใจใช้ประโยชน์ และการเข้าถึงแม่น้ำโขง ให้ความสำคัญกับงานวิจัยระดับพื้นถิ่นน้อยมาก รวมทั้งนักวิชาการที่ทำงานเรื่องลุ่มน้ำโขงเพื่อนำข้อมูลไปใช้ และออกแบบการเข้าถึงแม่น้ำโขงที่คำนึงถึงสิทธิชุมชน การจัดการแม่น้ำโขงอย่างเป็นธรรม เห็นความสำคัญเห็นตัวตนความหมายของชาวบ้านยังมีไม่มาก จึงทำให้พลังความรู้ของชาวบ้านไม่สามารถยกระดับขึ้นมาเพื่อเทียบเคียงกับงานของนักวิชาการที่ทำงานกับภาครัฐระดับนโยบาย

กฤษฎา: ขออาจารย์เล่าเพิ่มเติมที่มองว่างานวิชาการชาวบ้านมีน้อย และยังไม่มีพลังมากพอ เป็นเพราะงานจำนวนน้อย หรือเรื่องเฉพาะเกินไป หรืองานวิจัยไม่เป็นวิชาการ จึงมีผลต่อการยอมรับหรือไม่

กนกวรรณ: เป็นคำถามที่ดีมาก เรื่องนี้มีความซับซ้อน และมีหลายเหตุผล ทำไมงานวิจัยไทบ้านของเราไม่สามารถไปสร้างแรงผลักขนานใหญ่ได้ ในระดับภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประเด็นที่หนึ่ง เป็นการต่อสู้ระหว่างความรู้ท้องถิ่น และความรู้แบบวิทยาศาสตร์ ไม่เคยมีความรู้ท้องถิ่นไหนชนะความรู้วิทยาศาสตร์ได้เลย คืออำนาจความรู้วิทยาศาสตร์ถูกยอมรับในวงกว้าง เทคโนแครต และรัฐซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ เพราะมันเป็นวิทยาศาสตร์ เชื่อถือได้ ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว และขนาดการทำงานต่อเนื่องหลายปี ครอบคลุมหลายพื้นที่ แต่โจทย์วิจัยของนักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาการแม่น้ำโขงไม่ได้ทำให้แม่น้ำโขงถูกใช้อย่างยั่งยืน และเป็นธรรม แต่มันถูกใช้เพื่อสร้างองค์ความรู้ และแล้วแต่รัฐจะนำไปใช้ สรุปคือเป็นการต่อสู้แบบที่ไม่เท่าเทียมกัน อำนาจของพลังความรู้ท้องถิ่นชาวบ้าน กับเทคโนแครต ข้าราชการระดับสูง เทียบกันไม่ได้ ความรู้ของชาวบ้านถูกยอมรับน้อยมาก ฝั่งความรู้วิทยาศาสตร์มองความรู้ชาวบ้านว่าเป็นความรู้ไม่มีเหตุไม่ผล
ประเด็นที่สอง องค์ความรู้ของชาวบ้านมีความเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่ ส่วนตัวมองว่าเป็นวิทยาศาสตร์เพราะผ่านกระบวนการสังเกต และทดลองมาหลายชั่วอายุคน แต่ขอบเขตงานวิจัยชาวบ้านมีข้อจำกัด ทำได้ในพื้นที่เล็ก ๆ เพราะไม่มีงบประมาณขนาดใหญ่มาสนับสนุนให้ทำงานต่อเนื่อง ที่ผ่านมางบประมาณให้ชาวบ้านทำวิจัยหลักหมื่น แต่วิจัยของนักวิชาการหลักล้านบาท จึงทำให้ความรู้ของชาวบ้านไม่สามารถตอบคำถามได้ครอบคลุมทั้งหมด และมิติหลากหลาย อีกทั้งข้อจำกัดของเครื่องมือเก็บข้อมูล ชาวบ้านใช้การสังเกต การปฏิบัติ แต่นักวิทยาศาสตร์มีเครื่องมือวิทยาศาสตร์เก็บตัวอย่าง และพิสูจน์ชนิดปลาต่าง ๆ
ประเด็นที่สาม ความรู้แบบชาวบ้านเป็นความรู้ที่ผ่านการพูดปากต่อปาก การสังเกต และมีขอบเขต พื้นที่เล็ก ๆ จึงมีข้อจำกัดในการยกระดับความรู้ขึ้นมาให้มีพลังมากพอเห็นแม่น้ำโขงอย่างลึกซึ้ง
ประเด็นที่สี่ การสื่อสารความรู้ของชาวบ้านยังมีข้อจำกัด (Science Communication) การนำความรู้ของชาวบ้านมาสื่อสารอย่างเป็นระบบ และภาษาที่มีเหตุผลเทียบเคียงกับงานวิชาการ เพื่อยกฐานะงานภูมิปัญญาชาวบ้าน ไม่ใช่ถูกกล่าวอ้างว่ามีอคติ การเขียนเข้าข้างตัวเอง จึงต้องหากลไกร่วมกันเพื่อทำให้ความรู้ของท้องถิ่นของชาวบ้านได้รับการยอมรับ แต่ยังนึกไม่ออก แต่หากจะต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า โดยใช้ฐานความรู้ของชาวบ้าน มีความจำเป็น เพราะสังเกตงานแม่น้ำที่ได้รับการยอมรับให้เป็นนิติบุคคล เขาอาศัยความรู้ของชาวบ้าน เช่นคนพื้นเมือง เขายอมรับ และเคารพสิทธิคนพื้นเมือง เขาสื่อสารอย่างไร ให้รัฐบาลยอมรับได้ นี้เป็นสิ่งท้าทายพวกเราที่ทำงานในลุ่มน้ำโขง

กฤษฎา: ผมนึกถึงนักวิชาการที่ไม่ใช่ชาวบ้านแต่เข้าใจชุมชน เช่น นักมานุษยวิทยา นักประวัติศาสตร์ นักภูมิศาสตร์ และประมง เป็นต้น รวมทั้งอาจารย์กนกวรรณ อาจารย์คิดว่านักวิชาการที่เข้าใจชุมชน และปัญหาโครงสร้าง พยายามผลิตองค์ความรู้จะช่วยถมช่องว่างได้อย่างไร

กนกวรรณ: เราทำงานช้าเกินไป ทำได้ แต่เราเริ่มต้นช้าไป เราต้องการนักวิชาการแบบพวกเรามากขึ้น ทำร่วมกับชาวบ้าน โดยไปเก็บข้อมูลกับชาวบ้าน แต่ไม่ใช่ให้เราสื่อสาร เราต้องสร้างชาวบ้านสื่อสารกับสาธารณะด้วยการสื่อสารอย่างเป็นระบบ และมีพลัง เราทำเรื่องนี้ไม่มากพอ ส่วนใหญ่นักวิชาการพวกเรามักจะนำความรู้ของชาวบ้านมาตีพิมพ์บทความแล้วจบ แต่มันไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ มันนำไปสู่การเรียนรู้ได้ รับรู้ได้ว่าชาวบ้านเป็นอะไร แม่น้ำคืออะไร ปลามีความหมายอะไร ซึ่งคนรู้โดยทั่วไป แต่ไม่พอ มันจะต้องอาศัยกลไกสื่อสารเสวนาเพิ่มขึ้น เอาความรู้ของชาวบ้านมาเสวนาให้มากขึ้น ในพื้นที่ (Platform) ที่ทรงพลังกว่านี้ แต่ดิฉันยังคิดไม่ออก
เราจะต้องมาหารือกันว่าความรู้ของชาวบ้านจะนำมาจัดระบบ สร้างเวที ตอนนี้เราเริ่มต้นได้ดีแล้ว จัดเวทีให้ชาวบ้านได้พบกับผู้มีอำนาจตัดสินใจ (Policy Maker) และมีนักวิชาการช่วยจับประเด็นให้ความรู้ชาวบ้านมีระบบ ดึง Key Message ออกมา

กฤษฎา: เรื่องการสื่อสาร ตอนนี้สื่อต่าง ๆ ให้ความสนใจสื่อสารเรื่องราวของชาวบ้านออกสู่สาธารณะ เช่น ไทยพีบีเอสทำเรื่องลุ่มน้ำโขง สำนักข่าวคนชายขอบ สื่อเถื่อน อาจารย์คิดว่าการขยายตรงนี้ช่วยอะไร

กนกวรรณ: ดีใจที่ไทยพีบีเอสมา แต่ก่อนสื่อต่าง ๆ อยู่ในที่ตั้งตัวเองไม่สนใจแม่น้ำโขง แต่เมื่อแม่น้ำโขงมีวิกฤต ชาวบ้านที่ตามุยบอกว่าแม่น้ำโขงป่วยมาก รักษายาก มันจะต้องระดมทรัพยากรทั้งหลาย สื่อ วิชาการ และสถาบันที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันทำ ไม่ต่างคนต่างทำ และมีประเด็นชัดเจนร่วมกัน ไม่ใช่สื่อคนละประเด็น อาจจะค่อย ๆ แตะค่อย ๆ เล่าเรื่องให้คนสนใจ แต่จะต้องมีประเด็นร่วมกัน ประเด็นแหลมคมที่สุด และฉากทัศน์สำคัญคืออะไร สัก 3-4 ประเด็นหลัก ๆ โดยมีงานวิจัยสนับสนุน (Back up) ความรู้ของชาวบ้าน และภาควิชาการหลากหลายสาขา เช่น นักวิชาการประมง และนักเศรษฐศาสตร์ ดังนั้น จะมีการเคลื่อนตัว การใช้ความรู้เพื่อส่งผลสะเทือน ซึ่งกำลังเริ่มต้น อาจจะช้า แต่ก็ยังเริ่มต้นได้

กฤษฎา: กลไกหลัก ๆ ตอนนี้ คือ MRC (คณะกรรมการลุ่มน้ำโขง) ซึ่งทำงานวิชาการ และมีนักวิจัยมากมาย อาจารย์คิดว่าองค์ความรู้จากนักวิชาการ และนักวิชาการพวกเราจะเชื่อมกันให้ไปถึงระดับ MRC ได้หรือไม่

กนกวรรณ: การตัดสินใจใน MRC จะต้องผ่านคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงประเทศไทย (National Mekong Committee) มี สทนช. (สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ) หากเราสามารถคุยกับ สทนช.ได้ เราเห็นเขาพยายามเข้ามา ยังเปิดใจคุยได้ เราควรให้ข้อมูลผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี เพราะเปิดเขื่อนมา 2-3 ปีแล้ว มีผลกระทบแล้ว แต่เรายังไม่มีงานวิชาการสรุปผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน และหากมีงบมาให้ชาวบ้านเก็บข้อมูลประมงตลอดแม่น้ำโขง 7 จังหวัด อาจจะเอาข้อมูลไปนำเสนอร่วมกับ สทนช. และภาควิชาการเพื่อจะเป็นกรณีศึกษาสำหรับการติดตามผลกระทบเขื่อนสาละวัน เพราะกำลังวัดพื้นที่ ก่อสร้างหัวงานเขื่อน เป็นเรื่องที่เราต้องเร่งรีบทำ

กฤษฎา: ท่าทีประเทศต่าง ๆ เช่น จีน ลาว บอกว่าเป็นอธิปไตยของเขา สงสัยว่า จริง ๆ แล้วกลไกสนใจความรู้จริง ๆ หรือไม่ อาจารย์ช่วยประเมินว่า หากเราพัฒนางานให้มีคุณภาพมากขึ้น ตอบโจทย์มากขึ้น หลากหลายสาขามากขึ้นแล้ว จะสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือนโนบายระดับภูมิภาคหรือไม่

กนกวรรณ: ประเมินว่าที่ผ่านมาทำได้หรือไม่ ตอบว่าแทบจะไม่ได้ เช่น เขื่อนไซยะบุรี เพราะเขาอ้างอธิปไตยของเขา เขื่อนเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาของเขา คือการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าเพื่อส่งออก หากปัญหาไม่เกิด นึกการแก้ปัญหาไม่ออก แต่ตอนนี้เกิดปัญหาขึ้นแล้ว หากเรามีข้อมูลเข้มข้นชัดเจน หรือ สทนช.จัดสรรงบประมาณเพื่อมาประเมินผลกระทบก่อนจะสร้างเขื่อนตัวต่อไป
เรายังหวังว่างานวิชาการจะนำไปใช้ประโยชน์ และต้องไปดูระเบียบ MRC เรื่องการตัดสินใจอยู่บนฐานข้อมูลที่เป็นระบบเชื่อถือได้พอสมควร แน่นอนว่าภาคเอกชน และภาคการเมืองมีบทบาทสูงต่อการตัดสินใจ เพราะเป็นเรื่องการเมืองที่จะกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ จะต้องต่อสู้กันระหว่างความรู้กับ Policy จะไปด้วยกันได้หรือไม่ หรือจะใช้ Policy นำไม่สนใจความรู้ เราจะต้องเอาความจริงมาพูด หากไม่เอาความจริงมาพูดว่าผลกระทบมีอะไร แล้วเดินหน้าสร้างเขื่อนไปเรื่อย ๆ ไม่หันกลับมาดูผลกระทบต่อชุมชน ต่อระบบนิเวศน์ ต่อสรรพสิ่งต่าง ๆ มันไม่เป็นธรรม เราต้องเสนอเรื่องสิทธิสากลด้วย Human Right จะต้องทำงานหนักมากขึ้น
เรายังเชื่อว่าการตัดสินใจสร้างเขื่อนสาละวัน และเขื่อนอื่น ๆ ขอให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และ สทนช.หันมาดูความจริง และผลกระทบต่าง ๆ ก่อนจะสร้างเขื่อนอื่น ๆ และทำ PNPCA การปรึกษาหารือ และกระบวนการต่าง ๆ กับความรู้ของชาวบ้าน และภาควิชาการที่ทำงานด้านนี้มานำเสนอในกระบวนการก่อนสร้างเขื่อนตัวต่อไป เราจะต้องทำให้กระบวนการก่อสร้างเขื่อนช้าลงจะต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลมากขึ้น และเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

กฤษฎา: ขอบคุณอาจารย์ที่วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ข้างหน้าซึ่งน่าสนใจมาก ตอนนี้ขอเจาะลึกงานของอาจารย์ซึ่งผมชื่นชมมาก เห็นภาพประวัติศาสตร์ และเปิดแนวคิดใหม่ ๆ ผมจะขอนำคลิปของอาจารย์ไปเผยแพร่กับนักพัฒนา และชุมชน ขออาจารย์ช่วยเล่าว่าจะสื่อสารอะไร

กนกวรรณ: หนังสือเล่มนี้ ชื่อว่า ภาวะวิทยาแม่น้ำโขง เห็นชื่อแล้วสงสัยว่าคืออะไร ภาวะวิทยาคือ เราตั้งคำถามว่าแม่น้ำโขงคืออะไร มันดำรงอยู่อย่างไร แล้วแม่น้ำโขงในฐานะความหมาย และนัยยะสำคัญมาก เมื่อไรก็ตามแม่น้ำโขงอยู่ในภาวะธรรมชาติของมัน ซึ่งฝ่ายรัฐบอกว่าไม่ทันสมัย แม่น้ำไหลเอื่อย ๆ ธรรมชาติ หน้าร้อนก็แห้ง หน้าแล้งก็ท่วม รัฐบอกว่าไม่มีประโยชน์ ดังนั้นต้องสร้างเขื่อนเพื่อจะมีประโยชน์ และจะทันสมัย ขณะที่ภาคประชาสังคม และชุมชนผู้ใช้ประโยชน์แม่น้ำโขงอธิบายอีกมุมหนึ่ง คือเขาต้องการแม่น้ำที่ไม่มีเขื่อน ไหลไปตามฤดูกาล และตอบโจทย์เศรษฐกิจของชาวบ้านได้ หนังสือเล่มนี้บอกว่า แม่น้ำมีชีวิตมีความหมาย มีนัยต่อการดำรงชีพของคนในพื้นที่ และสิ่งที่รัฐ และทุนกระทำต่อแม่น้ำโขงได้สร้างผลกระทบ สร้างต้นทุนที่สูงขึ้นให้กับชุมชน อีกทั้งตัวละครอื่น ๆ เข้าไปกระทำ ดังนั้นเขื่อนซึ่งไม่มีชีวิต แต่มีความหมายมากต่อการเปลี่ยนแปลง (Transform) แม่น้ำโขงธรรมชาติให้ทันสมัย เหมือนกับคนตามธรรมชาติ มีกินมีอยู่ทั่วไป แต่การใช้เทคโนโลยีเข้าไปเปลี่ยนแปลงได้สร้างปัญหากับชุมชน และสิ่งแวดล้อม สรุปว่าหนังสือเล่มนี้เสนอประเด็นสำคัญว่า แม่น้ำที่มีความหมายกับชุมชนคือแม่น้ำที่เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่แม่น้ำที่ทันสมัย

กฤษฎา: ขออาจารย์ช่วยขยายความ ที่อาจารย์กล่าวถึงสิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น เขื่อน ได้ส่งผลกระทบกับชุมชน หรือเป็นผู้กระทำต่อแม่น้ำ

กนกวรรณ: หนังสือเล่มนี้พยายามทำความเข้าใจแม่น้ำจากมุมมองของผู้ไม่มีชีวิตซึ่งคือ เขื่อนไซยะบุรีเป็นผู้กระทำการที่ไม่มีชีวิต ที่ผ่านมาเราจะมองผู้กระทำการคือคน คนมีบทบาทสำคัญมากในการจัดการแม่น้ำ ไม่ได้มองว่าเขื่อนมีอิทธิพลกับแม่น้ำ แต่หนังสือเล่มนี้ตั้งคำถามว่าควรจะมีเขื่อนหรือไม่ เพราะเขื่อนในฐานะเทคโนโลยี และไม่มีชีวิต แต่มีอิทธิพลสูงมากในการปรับเปลี่ยนการไหลของแม่น้ำ การกัก และควบคุมการไหลแม่น้ำ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน และมีอิทธิพลในการตัดสินใจสร้างเขื่อนตัวถัดไป เพราะเขื่อนคือการพัฒนามีอำนาจสร้างอำนาจเศรษฐกิจให้รัฐ และทุน

กฤษฎา: ชอบที่อาจารย์มองว่าเขื่อนดูเหมือนไม่มีชีวิต แต่กลายเป็นผู้กระทำที่ไปส่งผลกระทบเป็นรูปธรรมทำให้เกิดความทันสมัยมากขึ้น แต่ชาวบ้านมองว่าแม่น้ำมีชีวิต แม่น้ำมีชีวิตทำให้นึกถึงแนวคิดใหม่ ๆ เช่นกฎหมายของประเทศนิวซีแลนด์คุ้มครองแม่น้ำในฐานะสิ่งมีชีวิต คำถามคือชีวิตชาวบ้านรัฐยังไม่สนใจ แล้วแม่น้ำมีชีวิตจะเป็นยุทธศาสตร์ที่มีพลัง ขยายต่อไปได้อย่างไร

กนกวรรณ: คิดว่ามีความเป็นไปได้ในอนาคต สถานการณ์สร้างเขื่อนตอนนี้เข้มข้นมาก จะทำให้แม่น้ำตายขาดความสมดุล ความสมบูรณ์ และส่งผลกระทบต่อผู้คนมหาศาล จะนำไปสู่บทเรียนที่ประเทศอื่นเคยมี เขามีการรณรงค์ เพราะเป็นภาวะเจ็บปวดที่สุด ดังนั้นเราจะต้องรักษา และฟื้นฟูแม่น้ำในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่แน่ใจว่าเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งแม่น้ำโขงจะต้องได้รับการคุ้มครองในฐานะคน ๆ หนึ่ง ซึ่งจะนำเสนอประเด็นนี้ในงานวันที่ 22 ร่วมกับ Bangkok Tribune ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำให้แม่น้ำในประเทศไทยเป็นนิติบุคคล มีนักกฎหมาย และชาวบ้านมาคุยร่วมกัน

กฤษฎา: ตอนนี้มีนักศึกษาปริญญาเอกกำลังทำวิทยานิพนธ์ เรื่องแม่น้ำมีชีวิตเพื่อยกระดับเป็นนโยบาย

กฤษฎา: มองภาพอนาคตของลุ่มน้ำโขงแล้ว มีสัญญาณบวกบ้างหรือไม่

กนกวรรณ: เห็นสัญญาณบวก และยังไม่ท้อ คือช่วงที่ชาวบ้านไปฟังศาลปกครองเมื่อ 3 พฤษภาคม ศาลยกคำร้องโดยที่ชาวบ้านไม่ได้พูดเลย ก็รู้สึกท้อ แต่เมื่อทราบว่าอาจารย์กฤษฎาจัดงานสัปดาห์หน้า ไทยพีบีเอส และสื่อต่าง ๆลงมาร่วมงาน เป็นสัญญาณที่ดี เพราะเป็นการจับมือทำงานร่วมกันเป็นมหกรรมใหญ่ ๆ ทั้งงานวิชาการ งานเผยแพร่รณรงค์ งานผลิตสื่อต่าง ๆ จะเกิดพลังส่งผลกระทบได้

กฤษฎา: อาจารย์ประเมินงานวิชาการปัจจุบัน และมองไปในอนาคตแล้ว เรื่องอะไรที่ควรเร่งทำเพื่อส่งผลให้เกิดความเข้าใจ สร้างการเปลี่ยนแปลง และสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

กนกวรรณ: คิดว่าเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และรายได้ของคนในลุ่มน้ำโขงสำคัญมาก จะรู้ได้อย่างไรต้องสืบย้อนกลับไป เช่น การทำประมง พืชพรรณต่าง ๆ และการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ชุมชนในลุ่มน้ำโขง และเรื่องนโยบาย เพราะเราต้องมองมากกว่าเรื่องท้องถิ่น (Local) เราเข้าไม่ถึง Policy Maker ไม่รู้หลักคิดการตัดสินใจเชิงนโยบายของเขา ทำให้เราทำงานเหมือนชกลม ชกไม่ถูกจุด ซึ่งภาคีที่จะช่วยเชื่อมโยงได้ คืออาจารย์สุริชัย หวันแก้ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และผู้ใหญ่ท่านอื่น ๆ เราต้องการวงพูดคุยเสนอความคิด และแนวนโยบายให้กับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ เช่น จากบทเรียนเขื่อนไซยะบุรี ไม่ควรจะสร้างเขื่อนสาละวัน

กฤษฎา: น่าสนใจครับ ผมจะลองนำเสนอกับอาจารย์สุริชัย ผมได้แนวคิดใหม่ คือ สัปดาห์ก่อนผมจัดเวทีคุยเรื่อง Silent Spring เขียนโดย Rachel Carson ในวาระครบรอบ 60 ปีของหนังสือเล่มนี้ Rachel เล่าเรื่องยุคที่คนใช้ดีดีทีเพื่อฆ่าแมลงกันมาก แต่ Rachel พยายามบอกเล่าสังคมถึงอันตรายของมัน จนกระทั่งรัฐบาลตรวจสอบ และยกเลิกการใช้ดีดีที ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ดังนั้น ผมขอให้กำลังใจงานของอาจารย์จะสร้างผลกระทบได้เช่นกัน เพราะความรู้มีความหมาย แต่จะต้องสั่งสมทั้งปริมาณ และคุณภาพ และมีจุดยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

กนกวรรณ: ขอบคุณอาจารย์กบ เพราะสิ่งที่อาจารย์กบทำงานเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในยุทธศาสตร์ของเรา

กฤษฎา: ยังมีเวทีในเดือนกรกฎาคม จะมีการเจาะลึก และส่งผลกว้างขวางขึ้น เพราะจะเชิญคนเกี่ยวข้องระดับนโยบายเข้าร่วมด้วยเพื่อจะได้ไม่ชกลมเหมือนที่ผ่านมา

กนกวรรณ: เวทีเดือนกรกฎาคม จะชวนกรรมการสิทธิมนุษยชน และขอให้กรรมการสิทธิฯ ชวนผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องพลังงานเข้าร่วมพูดคุยเชิงสร้างสรรค์ และขอเชิญสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาเป็นเจ้าภาพร่วม


Share Post :
Scroll to Top