ร่าง : บทสรุปเชิงนโยบาย “การอนุรักษ์ และพัฒนา” ทรัพยากรธรรมชาติ โดยรัฐ ผนึกกำลังประชาชน (ประชา + รัฐ )

Share Post :

ร่างโดย ดร.เอนก นาคะบุตร
ประธานคณะทางานจัดการองค์ความรู้ฯ
วันที่ 7 มิถุนายน 2564

สถาบันลูกโลกสีเขียว มีวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้ง ดิน น้ำ ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ สบูรณ์และสืบสานไปถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคต ด้วยการส่งเสริม และให้กำลังใจผ่าน “รางวัลลูกโลกสีเขียว” หลายประเภท ได้แก่ ประเภทชุมชน บุคคล กลุ่มเยาวชน งานเขียนความเรียง สื่อมวลชน และผลงานสิปปนนท์ เกตุทัตฯ ที่มีผลงานดีเด่นเป็นแบบอย่างแก่ประเทศและประชาชนทั่วไปมาตลอดทุกปีกว่า 20 ปีที่ผ่านมา

ในรอบกว่า 100 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยล้วนตกอยู่ใต้ทิศทางการพัฒนาที่ต้องเอา “ทิศทางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเสรีทุนนิยม” (ตามโลกานุวัตรของโลกตะวันตก) และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของรัฐที่รัฐใช้อำนาจกฎหมายและบริหารจัดการด้วยอำนาจกฎหมายดังกล่าว ซึ่งได้รับ”อิทธิพล” มาจากการล่าอาณานิคมของประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส และตกทอด “หลักคิดและหลักการ” มาจนถึงปัจจุบัน ในการบริหารทรัพยากรธรรมชาติด้วยรัฐเท่านั้น ทั้งเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและเพื่อการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จากฐานทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ (Human – Nature =Wealth)

ในขณะที่ชุมชนต่างๆ ที่สถาบันฯ ให้รางวัลและค้นพบว่า “วิสัยทัศน์ร่วมและคุณค่าร่วม” ของประชาชนในชุมชนและบุคคลากรของรัฐที่ร่วมรับผิดชอบบริหารทรัพยากรธรรมชาติระดับพื้นที่ @ภูมินิเวศน์ ล้วนมีทิศทาง และเป้าหมายในการที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้น ทั้ง น้ำ ป่า ดิน ร่วมกัน ให้เป็นสมบัติของชาติ ของสาธารณะ และประโยชน์ในการเอื้อต่อการดำรงชีวิต “อย่างพอเพียง” ร่วมกัน เพื่อมุ่งสู่ความ “พอดี – สมดุล” ของการ “สมประโยชน์” (win – win) ระหว่างรัฐกับประชาชนร่วมกัน ดังเช่น การมุ่งสร้าง “ความมั่นคงในที่ดินทำกินของรัฐ มอบ “สิทธิทำกิน” ทำให้เกิดรายได้ทั้งปี ตลอด 12 เดือน ด้วยการปลูกป่า 4 ชั้น ควบคู่การจัดการป่าชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในป่าตันน้ำ หรือการมุ่งพัฒนาแหล่งน้ำทั้งระบบตันน้ำ – ระบบกลางน้ำ – ระบบปลายน้ำ ให้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตร “ทั้งปี / 12 เดือน” และกระจายสู่แปลงเกษตรของประชาชน “ทุกแปลง” เป็นต้น

ประเด็นสำคัญ ทั้งชาวบ้านในชุมชนรอบบำและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต่างร่วมมือและผนึกกำลังกันวางแผน ลงแรง พัฒนาร่วมกันโดยต่างไม่ยึด “ตัวตน” (ไร้ตัวตน) และมองข้าม “เขตแดนและกรรมสิทธิ์ ” (ไร้พรมแดน) ที่จะร่วมกันพัฒนาแหล่งน้ำ ปลูกป่า ทำแนวป้องกันไฟป่า ตลอดจนร่วมกันดับไฟป่า ทั้งในเขตแดนป่าของรัฐ และเขตแดนของป่าชุมชนร่วมกัน

นวัตกรรมสำคัญที่มีนัยสำคัญเชิงนโยบาย ล้วนพบว่า

  1. ชุมชนต้องจัดตั้งและจัดการตนเองก่อน เพื่อนำไปสู่ “การสรรสร้างตนเองให้ ชุมชนเข้มแข็งจากปัจจัยในชุมชน” ทั้งการมีจิตอาสา การริเริ่มของผู้นำ ทั้งผู้นำทางการและผู้นำไม่เป็นทางการ (ทั้งชาย หญิง) การระดมคนและเงิน การวางผังและแผนงาน และกติกาชุมชนร่วมกันไปจนถึงการส่งทอดภารกิจให้ผู้นำและเยาวชนรุ่นต่อไป เพื่อร่วมกันบริหารจัดการกิจกรรมทั้งด้านการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่อนุรักษ์ “ภายใต้กติกาชุมชน” ร่วมกัน

    จากนั้นชุมชนจึงร่วมกันขยายเครือข่าย และสร้างความร่วมมือกับรัฐท้องถิ่น ทั้งในการสร้างข้อบัญญัติร่วมกันตลอดจนการจัดสรรทรัพยากร งบประมาณของรัฐท้องถิ่น เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน รวมไปถึงการขยายความร่วมมือและผนึกกำลังตลอดจนงบประมาณกับหน่วยราชการ และภาคธุรกิจเอกชน หรือภาคประชาสังคมที่อยู่นอกชุมชน
    ต่อไป โดยเน้นการมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำตลอดทั้งปี เพื่อจัดสรรและกระจายน้ำให้กับประชาชนทุกแปลง เป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรก แล้วจึงนำไปสู่การสร้างรายได้รายวัน รายเดือน รายปี ตลอดทั้งปีควบคู่การจัดการท่องเที่ยวชุมชนในการทำธุรกิจชุมชนร่วมกันในการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศกับบุคคลภายนอก
  2. ยุทธศาสตร์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ในอดีตเน้นการบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนรอบป่า ได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ เป็นการสร้างความร่วมมือและผนึกกำลังกับประชาชนรอบป่าเพื่อให้เกิดการจัดการป่าชุมชนโดยประชาชนเอง และในหลายพื้นที่ได้มีการร่วมมือกันจัดการทั้งป่าและน้ำในเขตแดนของรัฐและป่าชุมชนของประชาชนร่วมกัน เพื่อมุ่งการสมประโยชน์ระหว่างรัฐกับประชาชน และเพื่อให้ฐานทรัพยากรธรรมชาติที่อนุรักษ์ร่วมกัน เป็นฐานการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างพอเพียงเพื่อการสร้างความมั่นคงของชีวิตประชาชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่รอบป่าร่วมกัน
  3. การปรับและประยุกต์ใช้ความรู้สมัยใหม่ควบคู่ความรู้เฉพาะถิ่นตามแต่ละภูมิวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาของท้องถิ่นให้สอดคล้องกับแต่ละระบบภูมินิเวศน์ เช่น การขุดสระในระบบเป็นเครือข่าย (สระพวง)เชื่อมสระที่เป็นแหล่งน้ำหลักเข้ากับหนอง คลอง และบึงตามธรรมชาติ ตลอดจนสร้างระบบท่อใต้ดินดึงน้ำเข้าสู่แปลงนาทุกแปลง เป็นต้น หรือการใช้ความรู้ภูมิปัญญาของคนในภาคใต้ที่ปลูก “สวนสมรม” มาประยุกต์ใช้กับการเลือกชนิดพืชปลูกป่า 4 ชั้น เป็นต้น
  4. การสำรวจและจัดทำแนวเขตแดน แนวกันไฟ ตลอดจนทำฐานข้อมูลภูมิศาสตร์ของแต่ละเขตแนวป่าทั้งป่าของรัฐและป่าชุมชนของชาวบ้านร่วมกัน (GIS) การจัดทำแผนผังน้ำ ผังป่า และแผนแม่บทชุมชนเพื่อการเรียนรู้ ระดมความร่วมมือและงบประมาณ ตลอดจนเพื่อการติดตามถอดบทเรียนร่วมกัน ไปจนถึงการใช้โทรศัพท์มือถือ และโซเชียลมีเดีย สื่อสารกันเองในหมู่ประชาชน

ข้อเสนอเชิงนโยบายอนาคต

  1. ทิศทางใหม่การพัฒนาประเทศ : ควรมีการปรับเข้าสู่ความสมดุลระหว่างการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกับความยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติและความสุขและความมั่นคงชีวิตของประชาชน
  2. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ : ประชา + รัฐ เพื่อมุ่งให้เกิดการผนึกกำลังกันของภาคประชาชน ร่วมกับภาครัฐอย่างน้อย ในที่ดินที่เป็นป่าของรัฐที่เสื่อมโทรม หรือตลอดจนในเขตป่าของรัฐที่กำลังเผชิญกับวิกฤตไฟป่าตลอดจนในพื้นที่การเกษตรของประเทศ ที่จะต้องพัฒนาแหล่งน้ำให้เพียงพอทั้งปีและเข้าถึงทุกแปลงเกษตรในอนาคต
  3. การปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยกับบริบทของประเทศและบริบทของแต่ละ ภูมินิเวศน์และภูมิวัฒนธรรม อันจำเป็นที่จะต้องคิดถึงการกระจายอำนาจในระดับปฏิบัติการเพื่อให้เกิดทั้งความสอดคล้องกับแต่ละบริบทและการมี “กลไกการบริหาร” จัดการที่สนธิกำลังและผนึกกำลังร่วมกัน (single command และ collaboration) ทั้งกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ เอกชน ภาคประชาสังคม และ ภาคประชาชน โดยอาจนำร่องที่ 8 จังหวัดในภาคเหนือตอนบน ในเรื่องการจัดการไฟป่าและมลพิษทางอากาศ ที่เป็นวิกฤติของประเทศมาร่วม 10 กว่าปีในปัจจุบัน
Share Post :
Scroll to Top