หลักสูตรการเรียนรู้ปรัชญาการเมืองและมานุษยวิทยาฉบับนักพัฒนาสังคม

Share Post :

กฤษฎา บุญชัย
สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

เป้าหมาย

          เป็นหลักสูตรที่ออกแบบสำหรับนักพัฒนา นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ในทุกภาคส่วน ที่มีเป้าหมายพัฒนาทางปัญญาและวิชาการเพื่อการศึกษา ทำความเข้าใจสังคมที่มีความหลากหลาย ซับซ้อน เปลี่ยนแปลงให้ลึกซึ้ง เท่าทัน อันทำให้ยกระดับการออกแบบและขับเคลื่อนงานพัฒนา และการสร้างสรรค์สังคมที่สันติ ยั่งยืน และเป็นธรรมได้ดียิ่งขึ้น

ปรัชญา ความสำคัญ และวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

ระบบการศึกษาแต่ละแบบล้วนมีอุดมการณ์และเป้าหมายในตัวเอง ในปัจจุบันการศึกษาระดับสูงทั้งในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก มีเป้าหมายเพื่อผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน เป็นผู้เชี่ยวชาญ ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการผลิตบุคลากรเพื่อให้เป็นอาจารย์ นักวิชาการในสถาบันการศึกษา แม้ในสายสังคมศาสตร์ที่สนใจศึกษาเรื่องรัฐ สังคม และประชาชน แต่เป้าหมายปลายทางกลับไม่ชัดเจนว่าจะสร้างคนเพื่อไปเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างแท้จริง หากแต่มุ่งเน้นเสริมอำนาจของสถาบันการศึกษา และสถานภาพของ “วิชาการ” และ “นักวิชาการ” ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

หากคิดแบบปิแอร์ บูดิเยอ นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส อาจตีความได้ว่า การศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ก็มีฐานะเป็น “ทุนทางวัฒนธรรม” (Cultural Capital) แบบหนึ่ง ซึ่งผู้คนต้องไขว่คว้าแสวงหาเพื่อใช้สร้างคุณค่า ความหมายเพื่อเลื่อนสถานะทางสังคมของตนเอง ยิ่งมามองในแวดวงนักพัฒนาหรือนักกิจกรรมทางสังคม โดยใช้แนวคิดมานุษยวิทยา กระบวนการดังกล่าวมีความคล้ายกับ “พิธีกรรมการเปลี่ยนผ่าน” (Rite of Passage) ที่เปลี่ยนสภาพนักพัฒนา นักขับเคลื่อนทางสังคมต่างๆ ให้กลายเป็น “นักวิชาการ” ของสถาบันอำนาจ ผู้คนที่ผ่านกระบวนการส่วนมากไม่เพียงละทิ้งเป้าหมาย ตัวตน และบุคลิกภาพแบบเดิม แต่ยังสร้างตัวตนใหม่ขึ้นพร้อมแวดวงนักวิชาการ เกิดคุณค่า รสนิยม วิถีทางสังคม (Habitus) ที่มีสถานะทางอำนาจรองรับอันเข้มแข็ง ดังนั้น ไม่ว่าความรู้ทางสังคมที่นักวิชาการหรือสถาบันวิชาการสร้างขึ้นจะเท่าทันสังคม จะวิพากษ์อำนาจ หรือมีส่วนสร้างสรรค์สังคมมากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่ที่ประจักษ์ชัดคือ การศึกษาในระบบมหาวิทยาลัยได้กลายเป็น “หลุมดำ” (Black Hole) ดูดเอาปัญญาชนทางสังคมที่เติบโตมากับการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เป็นจริง (Organic Intellectual) เปลี่ยนมาเป็นเป็นปัญญาชนของสถาบันการศึกษา ซึ่งว่าให้ถึงที่สุดแล้วก็เป็นหนึ่งใน “กลไกอุดมการของรัฐ” ตามแนวคิดของหลุยซ์ อัลธูแซร์ นักมาร์กซิสม์สายโครงสร้าง

ในขณะที่สถาบันวิชาการได้รับการเชิดชูสร้างคุณค่าด้วยความมี “ปัญญา” แบบวิชาการ กลายเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่สังคมน้อมฟัง แต่ในภาคสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน นักเคลื่อนไหวทางสังคมกลับถูกกดทับให้ด้อยค่าว่าขาดความสามารถทางวิชาการ เป็นเพียงกลุ่มปฏิบัติการต่อต้านรัฐ ไม่ก็เป็นส่วนขยายของรัฐ ที่ไม่ได้มีสถานะทางปัญญา หรือเป็นสำนักคิดทางวิชาการของตนเองที่มีสร้างสรรค์แนวคิดในการเข้าใจและขับเคลื่อนสังคมอย่างมีพลังได้

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นทั้งนักพัฒนาและผ่านการศึกษาวิชาการในระบบซึ่งตระหนักถึงสถานะอำนาจของวิชาการเป็นอย่างดี ผู้เขียนเห็นว่าทั้งการศึกษาในระบบมหาวิทยาลัยและการเรียนรู้ของนักพัฒนาต่างก็มีจุดเด่น และข้อจำกัดอยู่มาก ทำให้การสร้างปัญญาของสังคมเป็นไปได้อย่างจำกัด

ในสถาบันวิชาการ หากเป็นสายกระแสหลักกระบวนการศึกษาดูเหมือนจะละทิ้งอุดมการณ์หรือเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมที่ก่อปัญหา และมุ่งสร้างสังคมที่ดีงามและเป็นธรรมไปแล้ว การศึกษาจึงเป็นการของการแยกแยะ จัดระบบข้อมูลตามกรอบ รูปแบบ และเกณฑ์ที่ “น่าเชื่อถือ” การศึกษาแบบนี้จึงสาละวนกับเรื่องปัจจัย ตัวแปร ความน่าเชื่อถือของข้อมูล โมเดล สมการ ซึ่งห่างไกลจากสภาพความเป็นจริงและความทุกข์ร้อนของสังคมอยู่มาก

หากเป็นสายวิพากษ์ การศึกษาจะให้คุณค่ากับการแสวงหาทฤษฎีใหม่ ท้าทายแนวคิดเดิม สร้างข้อถกเถียงต่อยอดจากนักคิดคนสำคัญ หาความแปลกใหม่ของมุมมอง ดังนั้นปัญหาของสังคม ความทุกข์ยาก ความไม่เป็นธรรมของสังคมจึงได้รับความสำคัญสูง แต่เป็นความสำคัญในฐานะเป็นวัตถุดิบของการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการสร้างแนวคิดเชิงวิพากษ์ใหม่ ชีวิตอันทุกข์ยากของประชาชนจะได้รับการสนใจหรือไม่ มุมมองใหม่ๆ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมที่ดีขึ้นหรือไม่ และจะออกแบบสังคมใหม่ให้น่าอยู่และเป็นธรรมได้จริงหรือไม่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เป็นเป้าหมายหลัก และดูเหมือนว่ายิ่งในกระบวนการเรียนรู้ที่ตั้งคำถาม รื้อถอนคุณค่าทางสังคมทุกชนิด ดูเหมือนว่านักวิชาการทางสังคมจะละทิ้งการมีข้อเสนอ การออกแบบ และปฏิบัติการสร้างสังคมที่ดีงามไปเสียแล้ว และออกจะดูถูกดูแคลนปฏิบัติการสร้างเสริมอำนาจชุมชน สังคมหรือกลายเป็นพวกปฏิบัตินิยมไปเสียหมด

ในส่วนนักพัฒนาเอกชน ด้วยวิถีการทำงานที่เกาะติดกับชุมชน เป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับจุลภาค ถ้าจะมีใครเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของ “ชนบท” หรือ สังคม “ชาวนา” มากที่สุด หากไม่นับคนท้องถิ่นที่เป็นคนในแล้ว ก็ควรจะเป็นนักพัฒนานั่นเอง หาใช่นักวิชาการที่สร้างกรอบทฤษฎีแล้วโฉบลงมาเก็บข้อมูลชั่วครั้งชั่วคราว แต่ด้วยความที่นักพัฒนาถูกแวดล้อมด้วยสถานการณ์เฉพาะหน้าทั้งในชุมชนและการเคลื่อนไหวทางสังคม ทำให้ความรู้นักพัฒนาซึ่งเป็นความรู้เชิงปฏิบัติเฉพาะสถานการณ์ (Situated knowledge) ไม่ได้มีการยกระดับเป็นแนวคิด หรือสร้างข้อถกเถียงเชิงแนวคิดใหม่ๆ (แม้จะมีการตั้งคำถาม ถกเถียงในแวดวงนักพัฒนา แต่เป็นการถกเถียงในเชิงปฏิบัติ เช่น ยุทธศาสตร์ ตลอดจนท่าที การจัดความสัมพันธ์ในขบวน ฯลฯ มากกว่าเป็นการถกเถียงในเชิงแนวคิด ทฤษฎี)

ด้วยเหตุนี้ทำให้แม้นักพัฒนาจะใกล้ชิดชุมชน เห็นการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ไม่สามารถยกระดับแนวคิดขึ้นมาได้เท่าที่ควร และยิ่งในระยะหลังที่นักพัฒนาทำงานใกล้ชิดกับชุมชนน้อยลง ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวมากกว่าการเข้าใจระบบหรือสภาวะแบบบูรณาการ ก็ยิ่งทำให้การพัฒนาความรู้น้อยลง ประกอบกับแนวการทำงานของนักพัฒนามุ่งขับเคลื่อนเชิงประเด็นมากขึ้น (การศึกษาเชิงประเด็นมีข้อเด่นที่การเจาะลึก และเชื่อมโยงชุมชนกับนโยบาย และจัดตั้งการเคลื่อนไหวเชิงประเด็นข้ามพื้นที่ได้ง่าย) เกิดเป็นการเมืองเชิงประเด็นเดี่ยวๆ (single politics) หากไม่มีการสร้างแนวคิดเชิงระบบ โครงสร้างระบบให้แข็งแกร่ง ย่อมมีโอกาสสูงที่จะลดการศึกษาทำความเข้าใจโครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงการเมืองและสังคมเชิงระบบได้

เมื่อความสัมพันธ์อำนาจในสนามของการพัฒนาชุมชนและนโยบายเป็นไปในลักษณะสถาบันวิชาการครองอำนาจนำในฐานะ “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลาม ขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชนไม่สามารถสร้างความเป็นสถาบันทางสังคมที่ได้รับการยอมรับได้ ทำให้นักพัฒนาส่วนหนึ่งที่มีความสนใจทางวิชาการไหลไปสู่สถาบันวิชาการ แม้หลายคนตั้งใจจะไปเรียนรู้วิชาการในสถาบันเพื่อมาขับเคลื่อนทางสังคม แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการหล่อหลอมทางสังคมในระบบก็ทำให้พวกเขาเห็นว่า การเคลื่อนไหวทางปัญญาภายใต้สถาบันที่มีอำนาจมีเสน่ห์ดึงดูดใจมากกว่า อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงในโลกวาทกรรมได้มากกว่า

ขณะที่นักพัฒนาที่ยืนหยัดกับสนามการพัฒนาและขับเคลื่อนสังคมก็ถูกคาดหวังให้ทำงานวิจัย สร้างงานวิชาการ แต่ก็ไม่มีศักยภาพทางวิชาการที่เพียงพอ ทำให้งานวิจัยที่นักพัฒนาทำเป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบกับงานพัฒนาและงานเคลื่อนไหวทางสังคมของตนเอง ไม่สามารถยกระดับแนวคิดให้มีคุณภาพขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักพัฒนาหรือนักกิจกรรมทางสังคมบางส่วนที่ศึกษาเจาะลึกเรื่องราวที่ตนเองขับเคลื่อนแล้วเชื่อมโยงไปสู่แนวคิดเชิงระบบที่ก้าวหน้าได้ พวกเขาบางส่วนอาจไม่ได้เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยระดับสูง หรือบางส่วนผ่านกระบวนการในสถาบันการศึกษาแต่ยังรักษาจริต และแนวทางการทำงานขับเคลื่อนสังคมไว้ได้ ก็สามารถยกระดับทางปัญญาของตนและขบวนการได้ดี

ด้วยเหตุนี้เอง การออกแบบระบบและกระบวนการสร้างความเข้มแข็งทางปัญญาวิชาการให้กับนักพัฒนาหรือนักกิจกรรมทางสังคมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อขบวนการพัฒนาและการเคลื่อนไหวทางสังคม โดยสร้างเป็นระบบการศึกษาเชิงคุณภาพที่มีความเข้มข้นทางวิชาการสูง โดยไม่กรอบประเพณี ระเบียบทางวิชาการที่รุ่มร่าม หรือไม่ได้มีเป้าหมายเชิงปัญญาที่แท้จริงออกไป และสร้างสรรค์ความรู้โดยเชื่อมโยงระหว่างแนวคิด สภาวะสังคมที่เป็นจริง และปฏิบัติการทางสังคม หล่อหลอมเป็นศาสตร์เชิงปฏิบัติที่เข้มข้นทางปัญญา เพื่อให้นักพัฒนายังคงเป็นนักพัฒนาที่มีศักยภาพทางวิชาการ โดยคงจุดเด่นเรื่องการเกาะติดเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมระดับจุลภาค การมีเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ดีงาม โดยมุ่งสร้างความรู้ที่นำไปสู่การยกระดับแนวคิด และการขับเคลื่อนสังคมได้อย่างมีพลัง

เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โครงการวิชาการทิศทางไท สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา จึงได้สร้างหลักสูตรสังคมศาสตร์เพื่อสังคมที่สันติ ยั่งยืน และเป็นธรรมขึ้น โดยหวังให้เป็น “ถ้ำเสือ” หรือ NGOs Academy หรือสถาบันการเรียนรู้วิชาการของภาคสังคม โดยจะบุกเบิกกระบวนการศึกษาเรียนรู้ใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างเท่าทัน และตอบโจทย์การทำงานพัฒนาทางสังคมที่อาจหาไม่ได้ในรั้วมหาวิทยาลัยหรือการปฏิบัติการในงานพัฒนาในแบบเดิมๆ

วัตถุประสงค์

1. เพื่อผลิตนักพัฒนาหรือนักกิจกรรมทางสังคมให้มีคุณภาพทางวิชาการอย่างเข้มข้น สามารถสร้างปัญญาให้กับสังคมที่จะใช้ทำความเข้าใจปัญหา แสวงหาแนวทางการสร้างสรรค์สังคมที่สันติ ยั่งยืน และเป็นธรรม

2. เพื่อสร้างกลุ่ม เครือข่ายนักพัฒนาหรือนักกิจกรรมทางสังคมที่มีพลังทางวิชาการด้านปรัชญาและมานุษยวิทยาในการขับเคลื่อนสังคมด้วยกระบวนการทางปัญญา

กระบวนการเรียนรู้

  • การเรียนจะใช้การสนทนากันในห้องเรียนเป็นหลัก ดังนั้นผู้เข้าร่วมจะต้องอ่านหนังสือที่มอบหมายมาก่อนล่วงหน้าให้จบ เพื่อให้สามารถสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้อย่างมีคุณภาพ
  • การเรียนจะไม่มีการสอบ เมื่อจบหลักสูตร จะให้ผู้เรียนนำงานที่ตนเองทำ หรือเรื่องที่ตนเองสนใจมาวิเคราะห์ด้วยแนวคิด ทฤษฎี ที่ได้เรียนมาไป โดยเขียนเป็นบทความ และนำเสนอในห้องเรียน
  • ผู้เรียนจะต้องเรียนต่อเนื่อง

วันเวลา และสถานที่

  • เรียนเดือนละ 1 ครั้ง ทั้งหมด 10 ครั้ง เวลา 10.00-15.00 น. (พัก 12.00-13.00 น.) ที่สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

ค่าเรียน

          คนละ 800 บาท/ครั้ง รวมทั้งสิ้น 8,000 บาท (สามารถแบ่งชำระได้) โดยผู้เรียนรับผิดชอบค่าเอกสารเอง ผู้จัดจะเตรียมสถานที่ อาหารว่างให้

ตารางการเรียน
(วันเวลา และเอกสาร อาจปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม)

ครั้งที่ 1
วันที่ 12 ตุลาคม 2563
ปรัชญาการเมืองคลาสิก เรื่อง รัฐ ความยุติธรรม
เอกสารที่อ่านคือ อุตมรัฐ (The Republic) ของเพลโต้
ครั้งที่ 2
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2563
ปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ว่าด้วยเสรีภาพ
เอกสารที่อ่าน
สัญญาประชาคม หลักแห่งสิทธิ ฌอง ฌาค รุสโซ
ครั้งที่ 3
วันที่ 14 ธันวาคม 2563
ปรัชญาการเมืองสมัยใหม่
เอกสารที่อ่าน   
1) เจ้าผู้ปกครอง (The Prince) นิโคโล มาเคียเวลลี่
2) ยูโทเปีย (Utopia) เซอร์ โทมัส มอร์
ครั้งที่ 4
วันที่ 11 มกราคม 2564
ทฤษฎีว่าด้วยความยุติธรรม
เอกสารที่อ่าน    
1) ทฤษฎีว่าด้วยความยุติธรรม จอห์น รอลส์                            
2) ปรัชญาสาธารณะ ไมเคิล แซนเดล
ครั้งที่ 5
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564
หลากหลายปรัชญาการเมือง
เอกสารที่อ่าน   
1) โลกของโซฟี  โยสไตน์ กอร์ดอร์ แปลโดย ดร.สายพิณ ศุพุทธมงคล
2) การิทัต ผจญภัย สตีเฟนส์ ลุกส์ แปลโดย ดร.เกษียร เตชะพีระ
ครั้งที่ 6
วันที่ 15 มีนาคม 2564
แนวคิดหลังสมัยใหม่ หลังโครงสร้างนิยม
เอกสารที่อ่าน
คิดอย่างมิเชล ฟูโกต์
คิดอย่างวิพากษ์ ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์
ครั้งที่ 7
วันที่ 12 เมษายน 2564
เสรีนิยม และเสรีนิยมใหม่
เอกสารที่อ่าน
หนังสือเสรีนิยมใหม่ ความรู้ฉบับพกพา แปลโดย วรจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง
ครั้งที่ 8
วันที่ 10 พฤษภาคม 2564
มานุษยวิทยาวัฒนธรรม
เอกสารที่อ่าน   
1) มานุษยวิทยาวัฒนธรรม ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ
2) จากวานรถึงเทวดา มานุษยวิทยามาร์กซิสม์
ครั้งที่ 9
วันที่ 14 มิถุนายน 2564
วัฒนธรรมคือความหมาย
เอกสารที่อ่าน   
1) วัฒนธรรมคือความหมาย ทฤษฎีและวิธีการของคลิฟฟอร์ด เกียรซ์, รศ.ดร.มรว.อคิน รพีพัฒน์
2) สืบสายเลือด เรื่องสั้นมานุษยวิทยา ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ
ครั้งที่ 10
วันที่ 12 กรกฎาคม 2564
นำเสนอบทความ สรุปประมวลผล

Share Post :
Scroll to Top