ว่าด้วยวิจัยท้องถิ่น ตอนที่ 2 Inside Out ญาณวิทยาเชิงลึกของชุมชน

ในโลกวิชาการสมัยใหม่ ญาณวิทยาไม่ได้มีแค่ประจักษ์นิยมเท่านั้น ยังมีญาณวิทยาอีกหลายแบบ แต่ที่น่าสนใจเรียกได้ว่าตรงกันข้ามกับประจักษ์นิยมซึ่งเป็นญาณวิทยาหลักของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ คือ “ปรากฏการณ์วิทยา” (Phenomenology)
หากญาณวิทยาประจักษ์นิยมมุ่งแสวงหาความรู้ที่เป็นกลาง ปราศจากอคติ จับต้องได้หรือเป็นภววิสัย ปรากฏการณ์วิทยาบอกเราว่า ความรู้อันประกอบด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริงเป็นอัตวิสัยของแต่ละสังคมต่างหาก เพราะข้อมูลที่ประกอบสร้างเป็น “ความรู้” หรือ “ความจริง” นั้นจะมีความหมายไปทางใดขึ้นอยู่กับโลกทัศน์ หรือวัฒนธรรมที่กำหนดความหมายเหล่านั้น เช่น ข้าวในโลกทัศน์ของชาวนา มีความหมายที่ลึกซึ้งทั้งที่เป็นอาหาร เป็นฐานเศรษฐกิจ และมีจิตวิญญาณของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติคือแม่โพสพดูแล และโยงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติอื่นๆ เช่น ดิน น้ำ ป่า บรรพชน เป็นต้น แต่ข้าวในโลกทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ก็คือ พันธุ์พืชตระกูลหญ้าชนิดหนึ่งที่ให้คาร์โบไฮเดรต วิตามิน มีโครงสร้างพันธุกรรมเฉพาะ ดังนั้น สรรพชีวิตที่ดำรงอยู่ไม่ได้มีความหมายเดียวกันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมที่อ่านความหมายนั้นๆ ดังนั้นทุก “ความจริง” หรือ “ความรู้” ล้วนมีโลกทัศน์ ความเชื่อกำกับทั้งสิ้น แม้กระทั่งความรู้แบบวิทยาศาสตร์ก็มีโลกทัศน์ ความเชื่อแบบวิทยาศาสตร์กำกับอยู่

ไม่ได้เป็นกลางหรืออิสระจากคุณค่าใดๆ ตามที่กล่าวอ้าง

ญาณวิทยาแบบปรากฏการณ์วิทยา บอกว่า ถ้าเราจะเข้าใจ “ความจริง” ที่หลากหลาย โดยเฉพาะสังคมอื่นๆ ที่มีคุณค่า โลกทัศน์ต่างไปจากเราได้ เราต้องถอด “แว่น” หรือมุมมอง อคติ กระทั่งฐานคิด ทฤษฎีต่างๆ เอาไว้ก่อน แล้ว “จุ่ม” ตัวเองเข้าไปในวิถีวัฒนธรรมของสังคมที่ต้องการศึกษา ด้วยการเข้าไปใช้ชีวิต ร่วมประสบการณ์กับสังคมที่เราศึกษาอย่างปราศจากอคติ หากเรา “จุ่ม” ตัวเองในนานพอ จะทำให้เราเข้าใจ “ความจริง” “ความรู้” ในมุมมองของชุมชนหรือสังคมนั้นๆ ได้มากขึ้น ไม่ด่วนตัดสิน วิพากษ์จากฐานคติของเรา จนเมื่อเรา “ถอนตัว” ออกมาจากชุมชน จึงค่อยประกอบสร้างความเข้าใจในสายตาชุมชนขึ้นมาใหม่ตามกรอบแนวคิด ทฤษฎีที่เรามีอยู่ และเปรียบเทียบให้เห็นความเหมือนหรือความต่างในเชิงโลกทัศน์และความรู้
งานศึกษาชุมชนหรือสังคมอื่นๆ เชิงลึกโดยผู้วิจัยภายนอกแนวนี้ทำโดยนักมานุษยวิทยา ที่เป็นศาสตร์การศึกษาสังคมอื่นๆ ที่ต่างไปจากสังคมกระแสหลัก ทำให้เกิดมุมมองที่ลึกซึ้ง หลากหลาย และที่สำคัญคือให้คุณค่ากับวัฒนธรรม ความรู้อื่นๆ ว่ามีคุณค่า มีเหตุผลเช่นเดียวกับความรู้สมัยใหม่ เพียงแต่ดำเนินไปด้วยโลกทัศน์ที่ต่างออกไป การที่ชาวบ้านนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงไม่ใช่เรื่องงมงาย การที่เกษตรกรยังคงใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชร้ายแรงทั้งๆ ที่รู้ถึงผลกระทบเป็นอย่างดีไม่ใช่เรื่องไร้เหตุผล แต่มีที่มาจากประสบการณ์ชีวิตที่ประกอบสร้างเป็นแบบแผนพฤติกรรมของพวกเขาที่เรายังไม่รู้ ไม่เข้าใจ
 
แม้จะมีความพยายามศึกษาชุมชนให้ลึก เพื่อให้เข้าใจชุมชนให้มากที่สุด แต่กระนั้นญาณวิทยาแนวปรากฏการณ์วิทยาก็ยังไม่ใช่ญาณวิทยาแบบชุมชนและอาจมีจุดต่างและขัดแย้งกันในบางสถานการณ์
ปรากฏการณ์วิทยาเป็นเครื่องมือการศึกษาสำหรับคนภายนอกที่มีวัฒนธรรมที่ต่างไปจากสังคมหรือชุมชนที่เขาต้องการศึกษา มันจึงเป็นการศึกษาสังคมอื่นในเชิงลึก โดยกระบวนการเริ่มจาก “ถอดอคติ” (เอาเข้าจริงก็ไม่สามารถถอดโดยสิ้นเชิง) แล้ว “จุ่มตัวเอง” (สังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม) เข้าไปในโลกชีวิตชุมชน ตามมาด้วยการ “ถอนตัว” ออกมาแล้วนำมาสังเคราะห์ด้วยแนวคิด ทฤษฎีบนหลักคิดเชิงเหตุผลแบบสังคมศาสตร์ ซึ่งก็เป็นโลกทัศน์ ความเชื่อจากภายนอกอยู่ดี

ผี ในโลกทัศน์ของชุมชนประเพณีที่สัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง “ผี” มีบทบาทอย่างมาก มีทั้งผีป่า ผีน้ำ ผีดิน ผีต้นไม้ และผีที่เป็นบรรพชนผู้ล่วงลับ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การศึกษาในเรื่องความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ เช่น ผี ในโลกทัศน์ของชุมชนประเพณีที่สัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง “ผี” มีบทบาทอย่างมาก มีทั้งผีป่า ผีน้ำ ผีดิน ผีต้นไม้ และผีที่เป็นบรรพชนผู้ล่วงลับ หากคิดตามญาณวิทยาแบบชาวบ้าน “ผี” ทั้งหลายล้วนดำรงอยู่จริง ชีวิตของพวกเขาเชื่อมโยงกับผีตั้งแต่เกิดจนตาย ชีวิตจะทุกข์สุข ธรรมชาติจะคุ้มครองเกื้อหนุนชาวบ้านให้ไม่เกิดภัยพิบัติ ทำการผลิตได้สมบูรณ์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับผี กระทั่งชุมชนจะสามัคคีหรือทะเลาะเบาะแว้งหรือไม่ ผีมีส่วนสำคัญมาก ดังนั้นญาณวิทยาแบบชุมชน ผีเป็นภววิทยา หรือสภาวะที่ดำรงอยู่จริง
แต่สำหรับนักมานุษยวิทยา ที่ใช้ปรากฏการณ์วิทยาเป็นแนวทาง อย่างไรเสียก็ต้องยึดเอาหลักคิดสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเหตุผล “ที่น่าเชื่อถือ” “อธิบายได้” เป็นหลัก ผีในทัศนะนักมานุษยวิทยาจะมีจริงๆ เลยแบบชาวบ้านเชื่อไม่ได้ เพราะขัดกับหลักคิดสมัยใหม่ ผีจะมีได้ก็ต้องอธิบาย หรือตีความตามหลักเหตุผลในทางสังคมเท่านั้น แม้ตอนที่นักมานุษยวิทยา “จุ่ม” ตัวเองเข้าไปในชุมชน อาจจะ “อิน” กับเรื่องผีที่ชาวบ้านเล่า แต่เมื่อ “ถอนตัว” ออกมาแล้วแต่ผีจะความหมายได้ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ทางสังคมที่มีบทบาทหน้าที่ในโครงสร้างและหน้าที่ทางสังคม เป็นเครื่องมือต่อรองอำนาจ เป็นยุทธวิธีดำรงชีพ เป็นวาทกรรม และอื่นๆ ซึ่งจะเข้าใจได้ต้องตีความ อ่านความหมายเชิงลึก จัดระบบตามโครงสร้างความเชื่อ ซึ่งทั้งหมดยังอยู่ในหลักเหตุผลสมัยใหม่ หรือกระทั่งหลังสมัยใหม่ที่ก็ยังมีฐานร่วมกับประจักษ์นิยมด้วย
ดังนั้น ญาณวิทยาแบบปรากฏการณ์วิทยาที่ดูก้าวหน้า ยอมรับทุกความเชื่อ ก็ยังเป็นเครื่องมือสำหรับมนุษย์ในโลกสมัยใหม่ที่ต้องการศึกษาสังคมที่ต่างออกไป แม้จะเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้คนภายนอกเข้าใจวัฒนธรรมของสังคมที่ต่างออกไป แต่ก็เป็นการตีความจากภายนอกด้วยวิธีคิดสมัยใหม่ และสะท้อนถึงการกำกับอำนาจของกระบวนทัศน์สมัยใหม่ต่อสังคมประเพณี ยิ่งโดยเฉพาะงานศึกษาของนักวิชาการที่มักจะยึดเอาแนวคิด

ทฤษฎีที่ยิ่ง update เป็นสรณะหรือเป็นตัวกำหนดความรู้ เราจึงเห็นชุมชนบ้างก็มีโครงสร้างหน้าที่แบบระบบอุปถัมภ์ บ้างก็เป็นชนชั้นแบบมาร์กซิสม์ กิจกรรมทางสังคมของพวกเขาอาจมีบทบาทเชิงโครงสร้างและหน้าที่แบบมาลินนอฟสกี้หรือแรดคลิฟบราวน์ ตำนานหรือนิทานของเขาก็อาจมีโครงสร้างนิยมแบบเลวี่ สเตราส์ หรือมีความหมายลึกซึ้งที่ต้องพรรณาอย่าง “หนา” แบบเกียรซ์ บ้างก็ใช้ยุทธวิธีต่อรองอำนาจแบบผู้อ่อนแอตามแนวสก๊อตต์ ชาวนาในบางทฤษฎีดำรงอยู่ด้วยเศรษฐกิจศีลธรรมของสก๊อตต์ และอาจถูกมองใหม่เป็น “ผู้ประกอบการ” แบบป๊อปกินส์ ไปจนถึงแอนดรูว์ วอล์เกอร์ ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นเรื่องผิดอะไร เป็นพัฒนาการ ความหลากหลายแนวคิด การศึกษา และความรู้ของวงการวิชาการที่มีต่อชุมชน ผลัดกันเปลี่ยน “แว่น” มองตามสมัยนิยมทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ไม่ติดร่องอยู่กับเดิม ทำให้เห็นข้อจำกัดมุมมองแบบเก่าที่ใช้มา เพียงแต่มันยังไม่ใช่ญาณวิทยาที่เป็นวิถีชีวิต ที่ชุมชนสร้างความรู้อย่างมีอิสระ

สิ่งที่ญาณวิทยาแบบชุมชนต่างจากปรากฏการณ์วิทยา ก็คือ เป็นการศึกษาตนเองของชุมชน ไม่ใช่ศึกษาสังคมอื่น ฟังดูเผินๆ เหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ เพราะคนในชุมชนสามารถบอกได้อยู่แล้วว่าพวกเขามีประวัติอย่างไร มีฐานทรัพยากรอะไร ดำรงชีพอย่างไร มีญาติพี่น้องและเครือข่ายทางสังคมอะไร และมีปัญหาหรือความต้องการอะไร การศึกษาของชุมชนจึงอาจดูเป็นเพียงการเอาข้อมูลประสบการณ์และรูปธรรมการดำรงชีพจากคำบอกเล่า สัมภาษณ์ หรือการระดมสมองมาร้อยเรียงกัน
สำหรับการตอบโจทย์ที่เป็นเรื่องวัตถุวิสัย มีรูปธรรมชัดเจน เช่น จะพัฒนาเทคนิคการเกษตรอย่างไร จะสร้างตลาดแบบไหน จะพัฒนาธุรกิจชุมชนอย่างไร จะประเมินมูลค่าการใช้ทรัพยากรอย่างไร สภาวะหนี้สินเป็นแบบไหน และอื่นๆ ทั้งหมดนี้ ชุมชนสามารถใช้ญาณวิทยาแบบประจักษ์นิยมทั่วไปได้ ไม่ต้องทำความเข้าใจหรือตีความที่ซับซ้อน

แต่หากเป็นโจทย์ที่เจาะลึกไปถึงความคิด คุณค่า ความนัยที่แฝงอยู่ในประเพณี พิธีกรรม ตำนานของบรรพชน ความสัมพันธ์ทางสังคมชุมชน การเผชิญและต่อรองกับอำนาจทั้งทางสังคม ชุมชนกับธรรมชาติ และสิ่งเหนือธรรมชาติ จำเป็นที่ชุมชนต้องอาศัยญาณวิทยาชุมชนในเชิงลึก เพื่อนำมาสู่การทำความเข้าใจ “ตนเอง” อย่างลึกซึ้ง
คำถามพื้นฐานว่า “เราเป็นใคร” เป็นคำถามที่ดูง่าย แต่มีความซับซ้อน ซึ่งโยงตั้งแต่เรามาจากไหน ความเป็นเราเชื่อมโยงกับอะไร ความเป็นเราสัมพันธ์กับบริบท เงื่อนไขที่ต่างไปอย่างไร อะไรคือปัญหาของเรา และอนาคตเราจะไปไหน ทั้งหมดนี้เป็นคำถามที่ชุมชนใคร่ครวญ สะท้อนคิดต่ออัตลักษณ์ของตนเอง
การเข้าถึงอัตลักษณ์ตนเองเป็นมิติเชิงคุณค่าซึ่งมีความเป็นนามธรรม การวิจัยชุมชนควรจะเริ่มต้นจากสภาวะรูปธรรมในชีวิตทั้งชีวิตประจำวัน เช่น การเข้าถึงทรัพยากร การทำมาหากิน วิถีการผลิต เศรษฐกิจ ลักษณะความสัมพันธ์ในชุมชน และภาวะพิเศษ เช่น การเผชิญปัญหาภัยธรรมชาติ กลุ่มทุนแย่งทรัพยากร ถูกนโยบาย โครงการรัฐจัดระเบียบ เผชิญอคติทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม เป็นต้น และดูวิธีที่ชุมชนจัดการตนเองทั้งในดำรงชีพในประจำวัน และเผชิญภาวะปัญหาว่า ชุมชนตีความสถานการณ์ อ่านความหมาย แสดงออก จัดการตนเองและปัจจัยที่มากระทบอย่างไร แตกต่างกันหรือไม่ในบริบทที่ต่างกัน
สิ่งที่ควรตระหนัก คือ ตัวตนของชุมชนไม่ได้มีหนึ่งเดียว มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งผู้เฒ่าที่อยู่ในสังคมประเพณี คนรุ่นใหม่ที่อยู่โลกเทคโนโลยี ชาวนาที่ทำการผลิตเพื่อตนเอง กับชาวนาผู้ประกอบการ คนที่อยู่ภาคเกษตรพึ่งทรัพยากร กับคนที่ยึดอาชีพบริการ ฯลฯ ดังนั้นในสังคมชุมชนจึงมีทั้งอัตลักษณ์ย่อย และปะทะประสานก่อรูปเป็นอัตลักษ์ร่วม กระบวนการใคร่ครวญสะท้อนคิดจึงดำเนินไปหลายระดับและเชื่อมโยงกัน
ไม่เพียงปฏิสัมพันธ์ที่มีในชุมชน ความสัมพันธ์ของชุมชนยังเชื่อมโยงกับภายนอกตั้งแต่ท้องถิ่น รัฐชาติ โลกาภิวัตน์ทั้งในมิติเชิงชาติพันธุ์ เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และอุดมการณ์ ซึ่งแต่ละด้าน ชุมชนก็จัดความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันไป ดังนั้นการวิจัยชุมชนจึงไม่ควรจำกัดวงแค่สภาวการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในชุมชนเท่านั้น แต่ควรโยงกับสภาวะปัจจัยจากภายนอกด้วย
การศึกษาความเชื่อมต่อกับภายนอกที่มีต่อตัวตนของชุมชนมีหลายด้าน สมาชิกชุมชนจำนวนมากได้เคลื่อนย้ายเข้าไปหางาน สร้างชีวิตในโลกภายนอก เช่น แรงงานรับจ้าง ขับแท็กซี่ ขายของ เป็นผู้ประกอบการ และอื่นๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ กล่าวโดยปริยาย สมาชิกชุมชนก็ได้ “จุ่ม” ตัวเองเข้าไปในโลกภายนอกที่หลากหลาย กว้างใหญ่ไพศาล ได้เรียนรู้ ซึมซับ ปรับใช้ ต่อรองชีวิตของตน จัดกลุ่มทางสังคมในพื้นที่ใหม่ๆ พวกเราได้เรียนรู้ชีวิตทางสังคมใหม่ๆ ที่ปะทะประสานกับอัตลักษณ์เดิมของตนเอง ประสบการณ์ชีวิตเหล่านี้มีคุณค่าที่ควรจะนำมากลับสะท้อนกับสมาชิกในชุมชนเพื่อสร้างชุดความคิดในการเข้าใจสังคมจากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตของตนเองอย่างลึกซึ้ง โลกาภิวัตน์คืออะไร กลไกอำนาจรัฐเป็นแบบไหน ความเป็นชาติมีรูปธรรมทางสังคมอย่างไร อะไรคือความเหลื่อมล้ำทางสังคม อคติทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นและมีผลกระทบอะไร ทั้งหมดนี้ชุมชนสามารถตีความ สร้างแนวคิด ชุดคำอธิบายแบบที่เป็นของตนเองได้ โดยไม่ต้องยึดติดกรอบแนวคิดภายนอกอย่างตายตัว

ดังนั้น ความหมาย ความเข้าใจ และปัญญาที่ชุมชนสร้างขึ้นนั้น ผู้เขียนขอเรียกว่าเป็นญาณวิทยาแบบ “Inside Out” ที่ชุมชนสำรวจดิ่งลึกในความเป็นตัวตนของตนเองที่มีความหลากหลายโดยสร้างกระบวนการสนทนาผู้คนที่แตกต่างในชุมชนอย่างทั่วถึง และเชื่อมโยงไปสู่บริบท สังคมภายนอกผ่านการ “จุ่ม” ตัวเองกับโลกภายนอก และผ่านการอ่าน ตีความสถานการณ์ภายนอกด้วยทัศนะของชุมชน กระบวนการทั้งหมดนี้นี้ดำเนินไปอย่างพลวัต

ญาณวิทยาเชิงลึกแบบ Inside Out ของชุมชน ทำให้ชุมชนมีอิสระทางปัญญามากขึ้น หากชุมชนมองว่า “ผี” หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติส่งผลต่อชีวิต การตัดสินใจและพฤติกรรมของสังคมของพวกเขา เช่น ผีต้นน้ำ ผีป่า ผีปู่ย่า ผีปอบ เป็นต้น ชุมชนก็สามารถยืนยันวิธีคิดที่มีต่อโลกศักดิ์สิทธิ์ได้โดยอิสระ โดยไม่ต้องกลัวถูกกล่าวหาว่างมงาย หรือหลบเลี่ยงไปอธิบายให้เห็นเหตุผลทางสังคมแบบนักมานุษยวิทยา หรือหากว่า ชุมชนต้องการยืมแนวคิด ถ้อยคำในโลกสมัยใหม่มาตีความหมายตามทัศนะของชุมชน ชุมชนก็สามารถอธิบายการตีความใหม่ได้
ในการส่งเสริมให้ชุมชนทำวิจัยด้วยญาณวิทยาเชิงลึกแบบ Inside Out ฝ่ายสนับสนุนการวิจัยควรที่จะให้ชุมชนมีอิสระอย่างเต็มที่ในการตีความ อธิบายความหมายของตนเอง โดยไม่ติดกรอบแนวคิดภายนอก เปิดกว้างต่อคำอธิบายทั้งที่ “มีเหตุผล” ตามหลักคิดสมัยใหม่ และคำอธิบายจากความเชื่อประเพณี สร้างกระบวนการให้ชุมชนได้สืบย้อนจากภวะวิสัยที่เผชิญไปสู่การอัตวิสัยแสวงหาอัตลักษณ์ตนเอง ด้วยกระบวนการใคร่ครวญสะท้อนคิด เพิ่มความลึกให้กับโจทย์เชิงประจักษ์ด้วยการให้ความหมายจากโลกทัศน์ของชุมชน
เพื่อให้ฝ่ายสนับสนุนวิจัยเข้าใจชุมชนใกล้เคียงกับทัศนะชุมชน ควรที่ฝ่ายสนับสนุนวิจัยจะใช้ญาณวิทยาแบบปรากฏการณ์วิทยา ด้วยการ “ถอดแว่น” กรอบแนวคิด และความเชื่อของตนเองออกก่อน แล้ว “จุ่ม” ตัวเองเข้าไปในโลกชีวิตของชุมชนเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อให้ลดอคติ ความไม่รู้ของตนเอง เพื่อไม่ให้การส่งเสริมงานวิจัยกลายเป็นการครอบงำชุมชนด้วยการวิจัย แล้วนำเอาความเข้าใจต่อวิถีชีวิตมาออกแบบเป็นกระบวนการส่งเสริมงานวิจัยให้สอดคล้องกับโลกทัศน์และวิถีชุมชน จนชุมชนสร้างปัญญาจากญาณวิทยาของตนได้อย่างลึกซึ้ง สามารถต่อรองกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงและอำนาจภายนอกได้อย่างเข้มแข็ง
.