ประวัติความเป็นมาของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

Share Post :

ความเป็นมาจากกองทุนพัฒนาท้องถิ่นไทย – แคนาดา สู่สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

ในช่วงปีพุทธศักราช  2520  ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คุกรุ่นไปด้วยกลิ่นไอของสงคราม ทั้งสงครามเวียนนาม  กัมพูชา และการเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการหลั่งไหลของโครงการช่วยเหลือจากต่างประเทศมายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
องค์กรสนับสนุนความช่วยเหลือระหว่างประเทศของรัฐบาลแคนาดา (Canadain International Development Agency : CIDA)  ได้กำหนดแผนระยะยาว โดยเลือกให้ความช่วยเหลือประเทศไทยเป็นจุดเน้นหลัก จึงมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาท้องถิ่นไทย – แคนาดา (Local Development Assistance Program – LDAP) ขึ้น เพื่อส่งเสริม สนับสนุนองค์กร สถาบันและกลุ่มต่างๆ ที่ดำเนินการพัฒนาท้องถิ่นให้สามารถขยายบทบาทและขีดความสามารถเพื่อประโยชน์ต่อชุมชนทั้งในระดับหมู่บ้านและประเทศโดยรวม
คณะกรรมการของ (LDAP) ในส่วนของไทยประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายรัฐบาล  และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น ศ.เสน่ห์  จามริก,  ศ.นพ. ประเวศ   วะสี,  รศ.ม.ร.ม. อคิน   รพีพัฒน์,   คุณบำรุง   บุญปัญญา เป็นต้น
กองทุน LDAP เริ่มดำเนินงานในช่วงปีพุทธศักราช 2527 – 2532  โดยสนับสนุนโครงการพัฒนารวมทั้งสิ้น 55  โครงการ ด้วยงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท  ผลของกองทุน LDAP  ก่อให้เกิดการเติบโตขององค์กรพัฒนาเอกชนอย่างมาก โดยเฉพาะการก่อเกิดของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และมูลนิธิ/สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาในเวลาต่อมา
แต่เนื่องจากการดำรงอยู่ในรูปของกองทุนขาดความคล่องตัว  องค์กรพัฒนาเอกชนจากทุกภูมิภาคร่วมกับนักวิชาการมีความเห็นพ้องกันว่าจำเป็นต้องแปรรูปกองทุนมาเป็นองค์กรพัฒนาที่เป็นอิสระ  มีกลไกการบริหารที่คล่องตัวมีประสิทธิภาพในการประสานพลังและเครือข่ายที่สำคัญต่าง ๆ   และขีดความสามารถในการพัฒนาการวิจัยและสังเคราะห์ข้อมูล และบทเรียนจากการพัฒนาสร้างขึ้นเป็นองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และสามารถนำไปผลักดันเป็นนโยบายในระดับประเทศได้   อีกทั้งภายใต้การปรับตัวนี้ตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานงานวิจัยที่สังเคราะห์สภาพชนบทไทยด้วย  ดังนั้นคณะกรรมการ LDAP จึงได้ถวายบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีเป็นองค์พระอุปถัมภ์ ทำให้เกิดการก่อตั้ง “มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (Local Development Foundation : LDF) ขึ้น และโดยความร่วมมือกันระหว่าง CIDA  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ และมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDF)  จึงได้จัดตั้ง “สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (Local  Development Insitis : LDI) ขึ้น เพื่อเป็นองค์กรดำเนินงานภายใต้มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
 

กำเนิดสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนากับการเติบโตขององค์กรพัฒนาเอกชนไทย

The origin of Local Development Institute and the evolution of Thai NGOs

ในช่วงปี 2527 – 2532 LDAP มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรพัฒนาเอกชน จนก่อรูปเป็นคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)  ที่ทำหน้าที่ประสานงานเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนในทุกสาขาจากทุกภูมิภาคในปี  2528 ต่อมาเมื่อ LDAP  ได้แปรรูปพัฒนามาสู่ สทพ. ในปี 2534 จึงมีพันธกิจที่ต้องสืบสานการสนับสนุนความเข้มแข็งขององค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในรูปกองทุนดังเดิม เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือร่วมใจของเครือข่ายต่าง ๆ เข้าด้วยกัน  รวมทั้งการร่วมผลักดันเชิงนโยบายและเสริมสร้างกระบวนการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนและองค์กรพัฒนาเอกชน จนเป็นที่มาของจุดมุ่งหมายที่ว่า
“มุ่งพัฒนาให้เกิดผลกระทบทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่น และระดับนโยบาย ด้วยการเสริมสร้าง ฟื้นฟูศักยภาพ ความริเริ่มของชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ให้สามารถพึ่งตนเองได้ ควบคู่กับการเชื่อมโยงบทเรียนและผลกระทบระดับชุมชนท้องถิ่น เหล่านี้ให้ก่อตัวขยายผลทั้งในแนวราบและในแนวดิ่ง เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผลักดันในระดับนโยบาย (macro – micro linkage)”
เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาได้จัดตั้งกลไกให้เป็นจุดตั้งต้นของกระบวนการทำงานที่เกี่ยวเนื่องกัน โดยดำเนินการไป รวม 4 ด้านดังนี้

  1. ส่งเสริมการริเริ่มและมีส่วนร่วมของประชาชนท้องถิ่นในการตัดสินใจ โดยผ่านกลไก กป.อพช.ภาคต่าง ๆ
  2. ส่งเสริมให้บุคคล/สถาบันภายนอก ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนเข้าร่วม โดยผ่านกลไกคณะกรรมการพิจารณาโครงการภาค ส่วนกลางและคณะทำงานติดตามประเมินผลโครงการ
  3. วิจัยเชิงปฏิบัติการและมีส่วนร่วมในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้อง
  4. จัดเวทีภาคและการเสวนา เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับประเด็นการวิจัย และโครงการพัฒนาที่ได้รับการสนับสนุน

ในกระบวนการทำงาน สทพ. ได้เข้าไปมีบทบาทในการรณรงค์ผลักดันการแก้ไขปัญหาชุมชนท้องถิ่นในทุกระดับหลายรูปแบบ คือ

  1. การสนับสนุนทุนในโครงการพัฒนาผ่านกลไกภาค
    • การสนับสนุนทุนให้เปล่าแก่โครงการพัฒนาขององค์กรพัฒนาเอกชนแต่ละภูมิภาค โดยผ่านกลไกของคณะกรรมการพิจารณาโครงการ จากภาคีต่าง ๆ ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ  ข้าราชการ  นักธุรกิจ  และองค์กรชาวบ้านในภาคนั้น ๆ โครงการที่สนับสนุน เช่น  โครงการในด้านการพัฒนาอาชีพ การจัดการทรัพยากรของชุมชนการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ การสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพกลุ่มและองค์กรชาวบ้าน
    • การให้สินเชื่อเพื่อการพัฒนาชนบท (Loan Funds) เป็นโครงการที่ได้รับการอุดหนุนเงินทุนจาก CIDA โดยสถาบันชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการให้สินเชื่อกับองค์กรชาวบ้านผ่านองค์กรอื่นได้แก่  ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทยจำกัด และบริษัทร่วมทุนชนบทจำกัด ซึ่งเป็นผู้พิจารณาให้สินเชื่อและบริหารลูกหนี้ โดยต้องออกเงินร่วมในสินเชื่อดังกล่าวด้วยส่วนหนึ่ง ตัวอย่างองค์กรชาวบ้านที่ได้รับสินเชื่อ เช่น สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนสัมพันธ์หนึ่ง จำกัด สหกรณ์เครดิตยูเนียนบ้านไร่พัฒนา จำกัด เป็นต้น
    • การสนับสนุนงานด้านฝึกอบรม เช่น การเสริมทักษะด้านการบริหารจัดการและการบัญชีให้กับโครงการพัฒนาขนาดเล็กที่ได้รับการสนับสนุน การเพิ่มศักยภาพในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การฝึกอบรมเรื่องธุรกิจชุมชน เป็นต้น
    • การสนับสนุนงานเครือข่ายฯ เช่น การสนับสนุนงบประมาณแก่เครือข่าย กป.อพช. ภาค โดยผ่าน กป.อพช. ชาติ การแลกเปลี่ยนและประสานความร่วมมือในเรื่องแนวคิด และทิศทางการทำงานระหว่างกันในเวทีต่าง ๆ การวิจัยเชิงปฏิบัติการและการมีส่วนร่วม
  2. บทบาทการวิจัย เช่น การวิจัยเชิงปฏิบัติการป่าชุมชน (เป็นที่มาของการร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน)  การวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพการวิจัยเกษตรทางเลือก เป็นต้น
  3. บทบาทงานข้อมูลและการเผยแพร่ เช่น จัดทำวารสารทิศทางไท จัดเวทีสัมมนาเรื่องชุมชน เอกสารชุดประชาสังคม เป็นต้น
  4. บทบาทในการผลักดันเชิงนโยบาย เช่น นโยบายป่าไม้แห่งชาติร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน เวทีการเงินชุมชนผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น

จากการสนับสนุนดังกล่าว ส่งผลให้ขบวนการองค์กรพัฒนาเอกชนจากทุกภาคเติบโตขึ้นมาก   มีสมาชิกในเครือข่ายกว่า 200 องค์กร โดยมี กป.อพช.ในแต่ละภาค ทำหน้าที่ประสานงานและหนุนเสริมในด้านต่าง ๆ เป็นโครงสร้างการประสานงานเชิงยุทธศาสตร์ การผลักดันเชิงนโยบายและมีคณะกรรมการการพิจารณาโครงการขนาดเล็ก (PRC)  ทำหน้าที่พิจารณาโครงการและติดตามประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะงานในแต่ละภาคจะมีความโดดเด่นไปตามสภาพปัญหา สังคม  วัฒนธรรม ระบบนิเวศของพื้นที่ เช่น ในภาคเหนือ มีความเด่นชัดเรื่องสิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ และเครือข่ายลุ่มน้ำ ขณะที่ในภาคอีสานโดดเด่นเรือ่งเกษตรกรรมทางเลือก ซึ่งมีปราชญ์ชาวบ้านเป็นผู้นำทางความรู้อยู่จำนวนมาก และในภาคใต้ เกิดเครือข่ายประมงชายฝั่งพื้นบ้านทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน เป็นต้น
 

สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กับบริบทของสังคม

อาจกล่าวได้ว่าสถานการณ์ของสังคมมีส่วนสร้างให้เกิด สทพ. ขึ้นมาเพราะวิกฤติของการพัฒนาอันก่อปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองได้มาถึงจุดทำให้เกิดความรุนแรงเชิงโครงสร้างในสังคม ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรจากชนบทพุ่งขึ้นสูง พื้นที่ป่าลดลงอย่างรวดเร็วจากปี 2500  ที่มีป่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ มาในปัจจุบันที่เหลือไม่ถึงร้อยละ 20 ขณะที่ที่ดินอันเป็นฐานทรัพยากรหลักของชาวบ้านหลุดมือไปสู่นายทุน ประมาณการว่าร้อยละ 50  ของชาวนาทั่วประเทศเป็นผู้ไร้ที่ดินทำกินของตนเอง  อีกทั้งความล้มเหลวของเกษตรแผนใหม่ ทำให้ภาวะหนี้สินของเกษตรกรสูง เช่น หนี้สินต่อ ธกส. ของเกษตรกรทั่วประเทศมีสูงถึง 3 แสนล้านบาท จากประสบการณ์ของ LDAP และองค์ความรู้ในการพัฒนาชนบทที่เกิดจากการวิจัย อันเป็นพื้นฐานของการกำหนดทิศทางการดำเนินงานนั้น สทพ. มีภารกิจในการผลักดันเชิงนโยบายการเสนอทางเลือกการพัฒนา และการสนับสนุนขบวนการของประชาชนในการฟื้นฟูตนเอง ซึ่งพอจำแนกบทบาทได้ดังนี้ :
ช่วงปี 2534 – 2537  การผลักดันเชิงนโยบาย และเสริมสร้างกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง
นโยบายการพัฒนาของรัฐที่ก่อปัญหาความล่มสลายของชุมชนมีหลายด้าน โดยเฉพาะการแย่งชิงทรัพยากรจากชุมชนท้องถิ่นที่รุนแรงทั้งในนามของการพัฒนา และการอนุรักษ์ สทพ. ได้ร่วมกับ กป.อพช. ได้ร่วมกับ กป.อพช. และสถาบันวิชาการในแต่ละภาค ดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการในเรื่องการจัดการป่าชุมชน เพื่อชี้ให้เห็นถึงนโยบายป่าไม้แห่งชาติ รวมถึงกฎหมายด้านป่าไม้ฉบับต่าง ๆ ว่าเป็นตัวสร้างปัญหาการทำลายทรัพยากร และสร้างความขัดแย้งกับชุมชน และได้นำเสนอแนวทางการจัดการ “ป่าชุมชน” ด้วยการเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามีส่วนร่วม ตามเงื่อนไขทางวัฒนธรรมดั้งเดิม กล่าวโดยรวมก็คือ การให้ความสำคัญของสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร รูปธรรมในเชิงนโยบายที่ปรากฏได้แก่ การร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน ฉบับประชาชนขึ้น ซึ่งต่อมารัฐบาลได้นำไปใช้ดำเนินการ
ทางเลือกการพัฒนาอีกด้านหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่ง คือ การเผยแพร่แนวทางเกษตรกรรมทางเลือก จากฐานภูมิปัญญาชาวบ้าน  โดยร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกในการผลักดันเชิงนโยบาย และการส่งเสริมเครือข่ายให้ขยายตัวมาโดยตลอด อีกทั้งยกระดับสู่เรื่องของธุรกิจชุมชนเศรษฐกิจชุมชน ตลาดทางเลือกที่เชื่อมเป็นเครือข่ายกับผู้บริโภค
ช่วงปี 2537 – 2540 จากชุมชนสู่ประชาคม การขยายตัวของภาคประชาสังคม
ผลจากการรณรงค์เผยแพร่ การผลักดันเชิงนโยบาย และการขยายตัวของเครือข่ายองค์กรชาวบ้าน และองค์กรพัฒนาเอกชน ทำให้ประเด็นทางนโยบายหลายประการเริ่มได้รับการยอมรับ เริ่มจากการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ซึ่งได้บรรจุหลักการเรื่องสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร พ.ร.บ.ป่าชุมชน การสนับสนุนเกษตรกรรมทางเลือกหรือเกษตรยั่งยืน, ความหลากหลายทางชีวภาพจนอาจกล่าวได้ว่า หลักการเกี่ยวกับชุมชนทั้งหมดในแผนฯ 8 เป็นผลสำเร็จจากการผสานสั่งสมองค์ความรู้ และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างองค์กรเอกชน องค์กรชาวบ้าน  และ กป.อพช. ในทุกภูมิภาค ซึ่ง สทพ.เป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันครั้งนี้ และต่อมาในช่วงปี 2540 หลักการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับชุมชนก็ได้รับการบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชนด้วยเช่นกัน
ในช่วงแผนฯ 8 (2540 – 254…) นี้ก็ได้เกิดแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า “ประชาสังคม”  อันหมายถึงปริมณฑลสาธารณะของประชาชนในท้องถิ่นที่ลุกขึ้นมาจัดการปัญหา พัฒนาตนเอง โดยเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างกันเป็นเครือข่ายรูปแบบต่าง ๆ แนวคิดประชาสังคมนี้ได้แพร่หลายอย่างรวดเร็ว และเป็นปฏิสัมพันธ์กับความรู้สึกของประชาชนต่อรัฐ ที่ไม่สามารถจัดการปัญหา และพัฒนาสังคมที่มีความซับซ้อนขึ้น ทุกขณะได้ จนต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเติบโต ขบวนการเคลื่อนไหวสำคัญ ๆ ที่ สทพ. เข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น เครือข่ายทรัพยากรเครือข่ายเกษตรทางเลือก  ข่ายความร่วมมือเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาไทย ช่วยการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม เป็นต้น แม้ดูเหมือนว่ากลุ่มองค์กรที่ สทพ. เข้าไปเกี่ยวข้องจะมีความหลากหลายมากขึ้น แต่จุดเน้นที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงคือ การสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนท้องถิ่นเป็นหัวใจสำคัญ
ช่วงปี 2540 – 2545  ยุคปฏิรูปสังคม และงานเคลื่อนไหวระดับมหภาค
วิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงตั้งแต่ปี 2540 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในทุกระดับชั้น ทุกสาขาอาชีพ ทั้งคนชั้นกลาง และแผ่ไปถึงชนบท โดยเฉพาะชุมชนที่อ่อนแอ แม้องค์กรพัฒนาเอกชนจะทำงานพัฒนาท้องถิ่นมานับสิบปีจนเกิดชุมชนเข้มแข็งในหลายพื้นที่ซึ่งสามารถต้านทานต่อกระแสวิกฤตเศรษฐกิจได้ แต่ก็มีจำนวนน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับชุมชนต่าง ๆ ทั้งประเทศ สทพ. จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 9 ประการ โดยมุ่งขยายพันธมิตรที่เป็นกำลังสำคัญในทุกส่วนของสังคม เพื่อหวังผล ให้เกิดขบวนการเติบโตของภาค “ประชาสังคม” ทั่วประเทศ อันจะเป็นพลังในการปฏิรูปสังคมในทุกระดับ โดยเฉพาะเมื่อช่องทางนโยบายของรัฐได้ริเริ่มเปิดกว้างจากการบุกเบิกมาก่อนหน้านี้

คณะกรรมการของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา  ประกอบด้วย

1 นายแพทย์สงวน  นิตยารัมภ์พงศ์ ประธานกรรมการบริหาร
2 นางสาวศรีสว่าง  พั่ววงศ์แพทย์ กรรมการ
3 ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน กรรมการ
4 ดร.มาลี  สุวรรณอัตถ์ กรรมการ
5 นายอเนก  นาคะบุตร กรรมการ
6 นายแพทย์พลเดช  ปิ่นประทีป กรรมการ
7 นางเบ็ญจมาศ  ศิริภัทร กรรมการและเลขานุการ

 

ผู้อำนวยการสำนัก ประกอบด้วย

1 นายแพทย์พลเดช  ปิ่นประทีป ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาประชาสังคม
2 นายทรงพล  เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยชุมชนท้องถิ่น
3 นางเบ็ญจมาศ  ศิริภัทร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมศักยภาพชุมชน

 
ภาพรวมขององค์กร
ประวัติความเป็นมา
ในปี 2528 – 2529  เกิดปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือ  มีองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนจำนวนมากที่มีขนาดเล็กไม่สามารถเข้าถึงหน่วยทรัพยากรที่จะสนับสนุนได้ โดยเฉพาะแหล่งทุนจากต่างประเทศในช่วงนั้น  นักกิจกรรมทางสังคม นักวิชาการและนักพัฒนาองค์กรเอกชน ได้ร่วมมือกับ CIDA สร้างรูปแบบการทำงานแบบใหม่ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเรียกว่าโครงการความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาชุมชน (The Local Development Assistance Project – LDAP) และโครงการฯ มีบทบาทในการนำเงินสนับสนุนจาก CIDA จัดสรรสนับสนุนให้ NGO  จัดสรรสนับสนุนให้ NGO เพื่อทำงานการพัฒนาสังคม
โครงการนี้เริ่มดำเนินการในปลายปี พ.ศ.2523  ภายในสถานทูตแคนาดากรุงเทพฯ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อทบทวนและอนุมัติโครงการที่เสนอมาขอเงินทุน คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยตัวแทนจากรัฐบาลไทย สถาบันการศึกาและองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ  วะสี  ศาสตราจารย์ ดร.หม่อมราชวงศ์อคิน  รพีพัฒน์  และคุณบำรุง บุญปัญญา ผลการพิจารณาของคณะกรรมการปรากฏว่าส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนองค์กรพัฒนาในระดับรากหญ้า
ระหว่างปี พ.ศ.2527 – 2532 LDAP ได้จัดสรรเงินสนับสนุนให้แก่องค์กรท้องถิ่นโดยตรง จำนวน 100  ล้านบาท ใน 55 โครงการ และแต่ละโครงการต้องผ่านกระบวนการและประเมินผลด้วย เงินทุนเหล่านี้ได้ช่วยเหลือให้องค์กรระดับรากหญ้าหลายองค์กรที่มีความเข้มแข็งขึ้นในเวลาต่อมา
 
มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
ประมาณ 5 ปี หลังจากโครงการของ LDAP เริ่มดำเนินงาน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพบว่าการบริหารจัดการเงินทุนในลักษณะที่การจัดการเงินทุนจากสถานทูตภายในข้อตกลงทวิภาคีทำให้ต้องพึ่งพาและตกอยู่ในความควบคุมของทั้ง 2 รัฐบาลนั้น มีความยืดหยุ่นและความคล่องตัวในการจัดการน้อย จึงได้ร่วมหารือกันและเห็นพ้องกันว่าควรสร้างกองทุนขึ้นใหม่ที่มีความอิสระยิ่งขึ้น มีโครงสร้างการบริหารจัดการที่ยืดหยุ่น มีสมรรถนะและความสามารถในการสร้างเครือข่ายกับองค์การอื่น ๆ และอีกประการหนึ่งองค์กรนี้ควรมีความสามารถที่จะทำงานวิจัยเพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์บทเรียนต่าง ๆ ทีได้รับจากประสบการณ์ในระดับรากหญ้า แล้วนำเสนอข้อแนะนำสำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย  ด้านวิสัยทัศน์ต่อไป
คณะผู้ริเริ่มก่อตั้งกองทุนจึงได้ทราบบังคับทูลพระกรุณาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เพื่อขอจัดตั้งมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ขึ้น จากนั้นมูลนิธิฯ ได้ประสานกับ CIDA และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ก่อตั้งสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เพื่อจะเป็นฝ่ายปฏิบัติการ (Operational unit)  ของมูลนิธิฯ
มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาเป็น  “กองทุน”  กองหนึ่งที่ได้รับเงินสนับสนุนจำนวนประมาณ 151ล้านบาทจาก CIDA สำหรับใช้จ่ายตามเจตนารมณ์ของมูลนิธิฯ ดังนั้น มูลนิธิ/สถาบันฯ จึงเป็นกลไกที่ทุกฝ่ายสร้างขึ้นเพื่อกระจายความช่วยเหลือจากกองทุนลงไปสู่โครงการพัฒนาของท้องถิ่น
 
ภารกิจสูงสุด
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ  วะสี ได้กล่าวว่าสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา มุ่งมั่นกับยุทธศาสตร์การเชื่อมต่อประสบการณ์ของชุมชนและองค์กรพัฒนาเอกชนแล้วนำมาสังเคราะห์ เพื่อเป็นข้อเสนอแนะทิศทางการพัฒนา และเห็นว่าทิศทางการพัฒนาประเทศมีแนวโน้มมาทางชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น การเชื่อมต่อหรือถักทอทางสังคมเพื่อให้เกิดพลังทางสังคม เป็นวิธีเดียวที่จะช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤติ มูลนิธิ/สถาบันฯ จึงมุ่งมั่นกับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการถักทอทางสังคมทุกส่วน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสัมพันธ์กันด้วยอำนาจมาเป็นความสัมพันธ์ด้วยความเป็นกัลยาณมิตร เกิดความเป็นประชาสังคมในที่สุด
ศาสตราจารย์ เสน่ห์  จามริก  ประธานคนแรกของสถาบันฯ ชี้ให้เห็นว่า มูลนิธิฯ /สถาบันฯ ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์อันชัดเจนที่จะสร้างความสามารถในการตัดสินใจด้วยตนเอง ของชุมชนชนบทที่ยากจนโดยมีองค์กรประชาสังคมไทยและโคงการพัฒนาชุมชนสำหรับคนยากจนหนุนช่วยอย่างมีประสิทธิภาพ  ดังนั้นคุณค่าขององค์กรประชาสังคมและโครงสร้างการพัฒนาจึงได้แก่ความพยายามที่จะบรรลุวัตถุประสงค์แห่งการ เสริมสร้างความสามารถในการตัดสินใจด้วยตนเองของชุมชนท้องถิ่น วัตถุประสงค์นี้เกิดจากการสังเคราะห์และผลลัพท์ของการประชุมระดมความคิดหลายครั้ง ในทางปฏิบัตินั้น ในช่วงแรกของการดำเนินงาน (2534 – 2537) สถาบันฯ มุ่งเน้นเพื่อการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิกต่าง ๆ ที่มาร่วมงานกัน  แต่ท้ายที่สุด คือกิจกรรมการพัฒนาล้วนมุ่งไปสู่เป้าหมายแห่งการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น เนื่องจากคาดหวังว่าด้วยการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันนี้ จะได้มีการเผยแพร่ วิเคราะห์ถึงความสำเร็จขององค์กรประชาสังคมและโครงการพัฒนาต่าง ๆ ให้เป็นที่รับทราบกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในภาครัฐบาลและภาคเอกชน

พัฒนาการการดำเนินงานปี 2545-ปัจจุบัน

จังหวะก้าวปี 2545

  • ประสานร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและข้าราชการตามแนวทาง “เป็นประชารัฐ”
  • รักษาระยะห่างที่เหมาะสมกับรัฐบาล โดยร่วมมือและผลักดันซึ่งกันและกัน
  • เตรียมก่อขบวนการเมืองน่าอยู่และชุมชนน่าอยู่เพื่อยกระดับสถานภาพของเครือข่าย
  • งานประชาสังคมทั่วประเทศในฐานะทางเลือกที่ 3 “การเมืองภาคพลเมือง”

ริเริ่มงานเครือข่ายประชาสังคมระหว่างประเทศ

จังหวะก้าวปี 2546

  • ประสานร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและข้าราชการตามแนวทาง “เป็นประชารัฐ” และก่อตัว “เครือข่าย พลังชุมชน-พลังแผ่นดิน” ทั่วประเทศ  เพื่อเอาชนะปัญหายาเสพติด  ปัญหาความยากจน  และสร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างบูรณาการ
  • เตรียมก่อขบวนการเมืองน่าอยู่และชุมชนน่าอยู่เพื่อยกระดับสถานภาพของเครือข่ายงานประชาสังคมทั่วประเทศในฐานะทางเลือกที่ 3 “การเมืองภาคพลเมือง”
  • ริเริ่มงานเครือข่ายประชาสังคมระหว่างประเทศ
  • การก่อตั้งสถาบันยุทธศาสตร์เอาชนะความยากจน
  • สนับสนุนความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในการแก้ปัญหาวิกฤตคอร์รัปชัน

จังหวะก้าวปี 2547

  • สร้างความเป็นปึกแผ่นของเครือข่ายองค์กรชุมชนและขบวนการภาคประชาสังคมในขอบเขตทั่วประเทศ
  • เพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองของเครือข่ายการเมืองภาคพลเมือง
  • บุกเบิกพัฒนางานสื่อสารสาธารณะ
  • ใช้จังหวะการเลือกตั้งให้เป็นประโยชน์ต่อขบวนการพลเมืองอาสา
  • เตรียมบุคลากรเพื่อภารกิจที่ต่อเนื่อง
Share Post :
Scroll to Top