ประสบการณ์ประชาสังคม (8): เวทีประชาคมแผน 8 (2540-2543)

Share Post :

                แผนพัฒนาประเทศเป็นเครื่องมือทางนโยบายและยุทธศาสตร์สำคัญที่รัฐไทยได้นำมาใช้กำหนดทิศทางและจังหวะก้าวการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมาตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี   แผนพัฒนาประเทศของไทยเป็นแผนระยะ 5 ปี เริ่มตั้งแต่แผน ๑ ในปี 2504 เป็นต้นมา ถึงขณะนี้อยู่ในช่วงของแผน ๑๐ แล้ว

          แต่เดิมแผนพัฒนาประเทศทุกฉบับ จัดทำโดยคณะข้าราชการนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เรียกกันว่า เทคโนแครต   กลุ่มคนเหล่านี้ผ่านการศึกษามาจากต่างประเทศโดยเฉพาะอเมริกาและยุโรป   ระบบคิดและมุมมองมีแบบแผนที่ชัดเจนตามแบบฉบับของอเมริกัน (Americanized) รัฐบาลในยุคนั้นได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาอย่างออกหน้าออกตาเพราะเป็นยุคสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาททั้งด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนา ใช้ประเทศไทยตั้งฐานทัพสู้กับโลกคอมมิวนิสต์เพื่อรักษาเขตอิทธิพลโลกเสรีในกลุ่มประเทศอินโดจีนเอาไว้ให้ได้ จนในที่สุดประเทศเพื่อนบ้านกลายเป็นคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมไปเกือบหมดทั้ง เวียดนาม ลาว และเขมร แต่ทฤษฎีโดมิโนมาหยุดที่ประเทศไทย ด้วยคำสั่ง 66/23 อันลือลั่นซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยแท้ ๆ

 
          ในปี 2539 สภาพัฒนาฯ ที่มี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นเลขาธิการ ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จัดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดทำแผน ๘ เป็นครั้งแรก   กลุ่มอาจารย์และนักพัฒนาอาวุโสที่มีบทบาทเข้าร่วมในยุคนั้นได้แก่ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, ศรีสว่าง พั่วพงศ์แพทย์, เดช พุ่มคชา, บำรุง บุญปัญญา, พิภพ ธงไชย, เอนก นาคะบุตร, สงวน นิตยารัมภ์พงศ์, วิชัย โชควิวัฒน, เสรี พงศ์พิชญ์ ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีอาจารย์ประเวศ วะสี, อาจารย์เสน่ห์ จามริก, คุณโสภณ สุภาพงษ์ ร่วมกระบวนการด้วย
 
          ในคราวนั้น กระบวนการจัดเตรียมแผน ๘ ดำเนินการเป็น 3 ขั้นตอน ขั้นแรกจัดเวทีจุดประกายความคิดการจัดทำแผนพัฒนาประเทศแนวใหม่ขึ้นที่ส่วนกลาง โดยเลือกเอาสถานที่ที่มีความหมายและทรงคุณค่าคือที่พระราชวังนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี   ขั้นสอง จัดเวทีวิสัยทัศน์ในระดับภูมิภาค 8 เวที ขั้นสาม นำผลจากเวทีทั้งหมดมาสังเคราะห์เป็นยกร่างแผนฯ และนำเข้าสู่เวทีระดมความคิดระดับชาติ ก่อนที่จะนำไปจัดทำเป็นแผนฯ ที่สมบูรณ์และประกาศใช้
 
          อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ผู้เป็นทั้งประธานสถาบัน LDI และประธาน กป.อพช. ในขณะนั้น    เป็นหัวเรือใหญ่ในการออกแบบและจัดกระบวนการ ท่านเลือกใช้เทคนิค การประชุมรวมพลังสร้างสรรค์ ที่เรียกว่า A-I-C ซึ่งมี 3 ขั้นตอน ขั้นแรกให้ที่ประชุมเสนอสิ่งที่ดี ๆ น่าประทับใจและชื่นชมกัน (Appreciate) ขั้นสองเป็นการอภิปรายแสดงความคิดเห็นโน้มน้าวซึ่งกันและกัน (Influence)   ขั้นสามเป็นการสรุปและสร้างพันธสัญญาร่วมกัน (Control)
 
          ในยุคนั้นเทคนิค A-I-C เป็นของใหม่ที่กลุ่มอาจารย์ไพบูลย์ท่านศึกษารูปแบบมาจากต่างประเทศและเป็นผู้นำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นซึ่งน่าสนใจและใช้ประโยชน์ได้ดีมาก    ผมเองก็เพิ่งจะมีประสบการณ์ A-I-C   ครั้งแรกก็ตอนที่เข้าร่วม เวทีแผน ๘ ของภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งอาจารย์ไพบูลย์ท่านไปจัดที่โรงแรมท็อปแลนด์ อาเขต จังหวัดพิษณุโลก นั่นเอง
 
          ภายหลังจากที่แผน ๘ ประกาศใช้อย่างเป็นทางการได้ไม่กี่เดือนก็เกิดวิกฤตฟองสบู่แตก   โรคต้มยำกุ้งระบาดไปทั่วเอเชีย    การดำเนินงานตามแผน ๘ มีอุปสรรคมากเพราะ IMF และ World Bank เข้ามากำกับดูแลการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-สังคมของรัฐบาล เนื่องจากประเทศไทยต้องกลายเป็นลูกหนี้      เพราะไปกู้เงินเขามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ   แต่ทุนทางสังคมและปัญญาที่เกิดขึ้นในกระบวนการจัดทำแผน ๘  ก่อนหน้านั้นมีส่วนช่วยอย่างมากที่ทำให้เกิดแผนงาน   โครงการและกลไกในการดูแลประชาชนและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตในครั้งนั้นอย่างทันท่วงที
 
          บรรดาผู้อาวุโสที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดทำกระบวนการแผน ๘ ได้ก่อตัวขึ้นเป็นกลุ่มโดยมีเวทีพบปะประชุมกันเป็นเนื่องนิจที่ห้องประชุมของสภาพัฒนาฯ เชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจและทางสังคมตลอดจนสิ่งแวดล้อมมาร่วมประชุมทุกเดือน คราวละประมาณ 25 – 30 คน   ทีมงานสภาพัฒนาฯ เป็นกองเลขานุการ   ท่านอาจารย์ประเวศ   วะสี ทำหน้าที่เป็นประธาน เรียกชื่อกลุ่มว่า ประชาคมแผน ๘
 
          วัตถุประสงค์เริ่มแรกของประชาคมแผน ๘ คือการประสานภาคีไปสู่การปฏิบัติตามกรอบแนวคิดของแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ ๘ นั่นเอง    แต่ด้วยเหตุที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ซึ่งรัฐบาลจะต้องเผชิญกับปัญหารุมเร้า   สภาพัฒนาฯ ในฐานะองค์กรมันสมองด้านการพัฒนาประเทศต้องแบกรับภารกิจสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด   เวทีประชาคมแผน ๘ จึงมีบทบาทเสมือนเป็น Think Tank  ของสภาพัฒนาฯ ไปโดยปริยาย
 
          สาระสำคัญที่ได้จากเวทีการประชุมแบบไม่เป็นทางการ (Informal) ของประชาคมแผน ๘  สภาพัฒนา ฯ ได้นำแนวคิดแนวทางไปสู่การผลักดันเป็นแผนงาน โครงการของรัฐบาลและหน่วยราชการต่างๆ โดยผ่านกลไก กนภ. และ กนส.
                   กนภ. หมายถึง คณะกรรมการนโยบายกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น
                   กนส. เป็นกลไกใหม่ที่ตั้งขึ้นเฉพาะกิจในยุครัฐบาลชวน   หลีกภัย เรียกว่าคณะกรรมการนโยบายสังคมแห่งชาติ   ทั้ง 2 กลไกเป็นคณะกรรมการแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และสภาพัฒนาฯ เป็นเลขานุการ
 
          เวทีประชาคมแผน ๘ ดำเนินไปได้ 3-4 ครั้งแล้วก่อนที่ ผมจะมีโอกาสเข้าร่วม   ตอนนั้นเกิดแนวคิดเรื่องโครงการกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF) ขึ้นแล้วและกำลังอยู่ในกระบวนการจัดทำรายละเอียดก่อนเริ่มดำเนินการจริง ผมได้รับมอบหมายมาดูแล LDI ในฐานะเลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ประมาณปลายปี 2541 จึงต้องทำหน้าที่ช่วยทีมงานสภาพัฒนาฯ ในกองเลขานุการของประชาคมแผน ๘ ไปโดยอัตโนมัติ
 
          เวทีประชาคมแผน ๘ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกเดือนเป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี   ระหว่างปี 2540-2543 ก่อนที่จะขยายวงแบบก้าว กระโดดในช่วงต่อมา มีบทเรียนรู้ที่น่าบันทึกไว้บางประการสำหรับประชาคมแผน๘ ดังนี้ :
                   1. เวทีประชาคมแผน ๘ เป็นเวทีประชุมแบบไม่เป็นทางการ (informal) ที่ผู้ทรงคุณวุฒิ และข้าราชการระดับสูงฝ่ายวางแผนและพัฒนาประเทศมาพบปะกัน จึงสามารถปรึกษาหารือ ระดมความคิดกันได้อย่างเป็นกันเอง ยืดหยุ่น ทำให้เกิดปัญญาและมีการนำเอาไปใช้ประโยชน์ได้ตามภารกิจและความสนใจของแต่ละบุคคล    หากเวทีเช่นนี้เกิดขึ้นในระดับภูมิภาค ท้องถิ่น หรือในองค์กรต่าง ๆ จะเกิดประโยชน์และสร้างสรรค์มาก แต่ที่เกิดยากเพราะขาดความถึงพร้อมของเหตุปัจจัย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวประธานหรือผู้นำ   และกองเลขานุการ
                   2. ผู้นำหรือประธานต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้นำเชิงบารมี – เชิญปัญญา ซึ่งได้รับการยอมรับนับถือจากผู้เข้าร่วมประชุมด้วยความสนิทใจ ไม่ใช่มาร่วมประชุมเพราะถูกสั่งการ หรือมาตามมารยาท   ความจริงในภูมิภาคก็มีบุคคลเช่นนี้อยู่ในระดับคุณภาพที่แตกต่างกันไป   แต่ปัญหาอยู่ที่ท่านเหล่านั้นจะมีแนวคิด ความเข้าใจและความพร้อมที่จะเล่นบทนี้หรือไม่   ตรงนี้แหละที่ยากยิ่งกว่า   และหากท่านมาทำหน้าที่ประธานการประชุมแล้ว ขีดความสามารถหรือทักษะในการนำการประชุมของท่านก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ชี้ขาดการดำรงอยู่และการพัฒนาของเวทีประชุมแบบไม่เป็นทางการเช่นนี้
                    3. กองเลขานุการต้องมีทักษะในการประสานงานและการจัดการ   เพราะต้องเป็นผู้ทำหน้าที่เชิญชวนผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกจากวงการต่าง ๆ มาร่วมหารือในเวที ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อปรัชญาของเวทีประชาคมและความสามารถในการสื่อสารอธิบายเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนั้นยังต้องมีทักษะในการกำหนดประเด็นการพูดคุยและการจัดเตรียมเอกสารประกอบการประชุมที่พอเหมาะพอดีอีกด้วย   การบันทึกประเด็นความคิดเห็นจากเวทีที่ไม่เป็นทางการแบบนี้ต้องการทักษะอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างไปจากการประชุมที่เป็นทางการทั่วไป เพราะต้องการการสรุปบันทึกที่สั้นกระชับ ตรงประเด็นและไม่ตกหล่น เพื่อการสื่อสารติดต่อภายหลังการประชุมและรักษาเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างกันเอาไว้อย่างเหนียวแน่นและสมัครใจ
                    4. ผู้เข้าร่วมประชุมควรเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อประเด็นที่หารือกัน รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่สามารถมองภาพรวมได้เพราะจะช่วยให้เวทีมีทั้งมุมมองในเชิงลึกและเชิงกว้างไปพร้อมกัน   ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนหนึ่งอาจหมุนเวียนไปตามประเด็นเฉพาะที่จะหยิบยกขึ้นมาหารือ อีกส่วนหนึ่งต้องการสมาชิกประจำซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและผู้นำที่มีปัญญาบารมีของเครือข่ายนั่นเอง
         
          จากวันนั้นถึงวันนี้ คำว่าเวทีประชาคมได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ตามความเข้าใจและวัตถุประสงค์ของผู้ดำเนินการ   หน่วยงานที่นำไปเผยแพร่และประยุกต์ใช้กว้างขวางมากที่สุดเห็นจะเป็นกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองและกรมการพัฒนาชุมชนในยุครัฐบาลทักษิณ ประมาณปี 2545 เป็นต้นมา   พวกเขาเอารูปแบบของเวทีประชาคมไปใช้ในการประชุมชาวบ้านทุกระดับ   แต่จิตวิญญาณและเทคนิคกระบวนการนั้นเทียบเคียงกับบทเรียนรู้ทั้ง 4 ประการข้างต้นนี้ไม่ได้เลย    อยากจะทำอะไรก็ต้องเรียกชาวบ้านมา “ประชาคม” กันก่อน เวทีประชาคมของพวกเขาจึงมีค่าเท่ากับการเรียกมาประชุมเท่านั้น
 
          น่าเสียดายยิ่งนัก.
 
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
3 สิงหาคม 2552
Share Post :
Scroll to Top