พลิกฟื้น…วิถีชุมชนลุ่มน้ำแม่ตาว

Share Post :

เป็นอดีตไปแล้วสำหรับความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งผลิตข้าวและผลผลิตทางการเกษตร กว่าหนึ่งหมื่นเจ็ดพันไร่ของลุ่มน้ำแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อต้องกลายเป็นพื้นที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยม

ออกอากาศทางเนชั่นแชนแนล ทีทีวี1 วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม 2548
เป็นอดีตไปแล้วสำหรับความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งผลิตข้าวและผลผลิตทางการเกษตร กว่าหนึ่งหมื่นเจ็ดพันไร่ของลุ่มน้ำแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อต้องกลายเป็นพื้นที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยม
เควยเหย่ พลอยหาญกาญน์ ชาวบ้าน บ้านพะเด๊ะ ต .พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก
“มาตรวจพบข้าวนี้ว่ามีแคดเมี่ยม ไม่ให้ทำนาแล้ว ไม่ให้กินข้าวนี้แล้ว”
บุญศรี เครือคำหวัง ชาวบ้าน บ้านแม่ตาวกลาง ต.แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก
“ปีที่แล้วก็ตัดข้าวทิ้ง ปีนี้ไม่ได้ทำอะไรเลย ตัดข้าวเขียวทิ้งเลยปีที่แล้ว ข้าวก็ไม่ได้กินสักเม็ด”
บุญปั๋น ละน้อย กำนัน ต .แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก
“โห ทุกข์ใจ ทุกปีเราเห็นข้าว แล้วก็เหมือนกับว่ามันตั้งแต่บรรพบุรุษ เราทำนามาตลอด มาตอนนี้เห็นแต่หญ้า”
จง ต๊ะสุข นายฝาย ต .แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก
“ไม่รู้จะทำยังไง ต้องจำใจอยู่อย่างนี้ รัฐบาลก็ไม่จริงจัง แก้ปัญหาระยะยาวก็ไม่แก้”
บรรยาย นับตั้งแต่มีการค้นพบแหล่งแร่สังกะสีที่ดอยผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในปี 2490 เป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจแหล่งแร่และการทำเหมืองแร่สังกะสีร่วมกัน ระหว่างรัฐบาลไทยและบริษัทเอกชนจากต่างประเทศ โดยมีการเปลี่ยนมือผู้ดำเนินงานหลายครั้ง มีช่วงเวลาที่ถูกทิ้งร้าง ขาดการดูแลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อม จนกระทั่งเดือนมกราคม 2547 เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงจึงเกิดขึ้น เมื่อสถาบันจัดการทรัพยากรน้ำนานาชาติ จัดแถลงข่าวเรื่องการปนเปื้อนของสารแคดเมี่ยม ที่จะส่งผลร้ายต่อทั้งผืนดิน พืชผลและร่างกายผู้คน
เพลินใจ เลิศลักขณะวงศ์ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่
จ .ตาก
“สถานการณ์คือหลังจากที่ชาวบ้านรับข่าวสาร หลังจากจากอิมี่แถลงข่าวกับกรมควบคุมมลพิษที่กรุงเทพ มันเกิดภาวะไม่เชื่อ ไม่เห็นกับตา อันดับแรกไม่เชื่อว่าจริงหรือเปล่าที่มีแคดเมี่ยมในดิน อันดับที่สอง ไม่เชื่อว่ากินเข้าไปแล้วมีพิษต่อร่างกาย ตอนแรกชาวบ้านเขาจะโทษสื่อว่า ข้อมูลที่สื่อนำเสนอมันไม่เป็นความจริง กระบวนการตรงนั้นพี่ว่ามันเป็นความไร้ระเบียบ”
บรรยาย การค้นพบสารแคดเมี่ยมในดิน และการปนเปื้อนในข้าว เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปัญหา ความไม่เข้าใจและการแตกแยกกันในชุมชน กลายเป็นเรื่องใหม่ที่น่าเป็นห่วงของคนในชุมชนที่มีแต่ความสงบสุขแห่งนี้
ไพฑูรย์ รักษ์ตระกูลคีรี พ่อหลวงบ้านพะเด๊ะ ต .พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก
“ความจริงชาวบ้านก็เกิดความโมโหเหมือนกัน โมโหว่าเมื่อก่อนพวกเขาทำนาได้ แล้วตอนนี้ทำไม่ได้เลย เพราะว่าทางบริษัทเขาทำเหมืองแร่ข้างบน ถ้าจะให้ดีที่สุดก็ขอให้ บริษัทหยุดทำเหมือง”
เทียนชัย สิงหการ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเหมืองและสำรวจแร่ บริษัท ผาแดงอินดัสทรีย์ จำกัด (มหาชน)
“ตั้งแต่บริษัทผาแดงมาเปิดทำเหมืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 เบื้องต้นเราจะทำบ่อดักตะกอนขึ้นมาเป็น 3 บ่อ ระดับของบ่อจะสูงเป็น 3 ระดับ เมื่อน้ำฝนชะหน้าดินหรือแร่ลงมาก็จะโดนดักด้วยบ่อที่ 1 ตะกอนส่วนใหญ่ก็จะตกที่บ่อ 1 ส่วนอื่นก็ไหลล้นไปตกที่บ่อที่ 2 และ 3 ตามลำดับ แล้วไหลออกจากบ่อมาสู่แม่น้ำห้วยแม่ตาว ก็คือเท่าที่ทำมา 21 ปี เราก็ทำดูแลดีมาตลอด”
บุญปั๋น ละน้อย กำนัน ต .แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก
“ที่เราไม่ชอบใจตรงนี้ว่าที่รัฐบาลทำอย่างนี้ เราก็อยากให้มาตรวจมาดูว่ามันมีจริงไหม ถ้ามีจริงทำไมรัฐบาลไม่มาแก้ไข”
บรรยาย พื้นที่ปนเปื้อนแคดเมี่ยมที่สำรวจพบ ครอบคลุม ตำบลพระธาตุผาแดง ตำบลแม่ตาว และ ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เนื่องเพราะลุ่มน้ำแม่ตาวเป็นแหล่งน้ำ เพื่อการเพาะปลูกที่สำคัญ ซึ่งต้นน้ำแม่ตาวอยู่ด้านเหนือของดอยผาแดง ไหลผ่านแหล่งแร่สังกะสี อันเป็นตัวนำพาสารแคดเมี่ยมไหลลงสู่พื้นนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่นี้มีระบบชลประทานแบบเหมืองฝาย ที่เป็นภูมิปัญญาชาวเหนือในการทดน้ำเข้านา ทำให้สารแคดเมี่ยมขยายพื้นที่ในการปนเปื้อนได้ง่าย ด้วยจำนวนผู้ได้รับผลกระทบมีปริมาณมาก หลากหลายความความคิดความเชื่อ ทำให้ปัญหาซับซ้อน ยิ่งเมื่อบทสรุปของภาครัฐในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือการซื้อข้าวเปลือกค้างยุ้งของฤดูกาลผลิต 2546-2547 มาเผาทำลาย โดยจ่ายเงินชดเชย 4 ล้านบาท แต่ขาดการวางแผนล่วงหน้า ขาดความต่อเนื่องและขาดการทำความเข้าใจกับชุมชน ทำให้ปีต่อมาชาวบ้านลงนาปลูกข้าวตามปกติ ความซับซ้อนของปัญหายิ่งเพิ่มขึ้น
เพลินใจ เลิศลักขณะวงศ์ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ .ตาก
“มารู้อีกทีว่าข้าวเริ่มตั้งท้องแล้ว ทำไงไม่ให้ข้าวออก เกี่ยวข้าว คิดง่ายๆ เกี่ยวข้าวมาทั้งดิบๆ เขาเรียก เกี่ยวแม่โพสพตั้งท้อง ซึ่งโดยความเชื่อของชาวบ้านมันเป็นสิ่งที่ทารุณจิตใจ แม่โพสพเป็นสิ่งที่เลี้ยงดูเขามา การที่ถูกทำ หลายคนร้องไห้ หลายครอบครัวมีภาวะกดดัน ก็นำไปสู่เรื่องวัฒนธรรมทันทีว่าจะต้องทำยังไง ที่จะแก้ตรงนี้ ก็คือ ทำพิธีขอขมาแม่โพสพ ก่อนเกี่ยวข้าว แล้วก็เกี่ยว หลายบ้านไม่ยอมรับค่าชดเชย เดินออกจากนาปล่อยให้นาเผา ไป”
บรรยาย บทเรียนที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าการแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน จำเป็นอย่างยิ่งต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดและรอบด้าน ทั้งเรื่องความเชื่อ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ไปจนถึงวิทยาศาสตร์ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จึงมีความพยายามในการรวบรวมข้อมูล สร้างศูนย์ประสานงานการพัฒนาลุ่มน้ำแม่ตาว สร้างเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมกันคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น
เพลินใจ เลิศลักขณะวงศ์ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่น
น่าอยู่ จ .ตาก
“ในภาวะที่อะไรยาก อะไรที่เรายังมองไม่เห็นชัด เราอย่าเพิ่งหาแพะ ถ้าเมื่อไรมองหาแพะ จะทำให้เกิดช่องว่าง ทำให้คนอื่นเข้าไปช่วยยาก เรามีบทเรียนตั้งหลายที่ ที่เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างชาวบ้านกับอะไรก็ตามที่มีอยู่ พอเผชิญหน้ากัน ใครเข้าไปไม่อยู่ซ้ายก็ขวา เข้าไปยาก เอากรณีคลิตี้ก็เหมือนกันอย่างที่เราเห็น พอราชการเข้าไปก็บอกว่าเข้าข้างเจ้าของเหมือง พอเอ็นจีโอเข้าไปก็ว่าเข้าข้างชาวบ้าน สุดท้ายมันไม่มีเวทีสำหรับการจะคิด ประชาคมนี่ เนื่องจากเราเป็นคนพื้นที่ เรามองเห็นความสันติสุขของในพื้นที่ อันดับแรก การไม่หาแพะจะทำให้เรามีเวลาครุ่นคิดว่าเราจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตรงนี้ได้ยังไงก่อน เมื่อเปิดพื้นที่กว้างตรงนี้ ทุนที่แต่ละคนมี พลังที่แต่ละคนมี ไม่ว่าบริษัทผาแดง ราชการ ประชาคม ชาวบ้าน มีเวลาเอาทุนมารวมกัน ทุนความคิด ทุนปัญญามาคิดหาทางออก”
บรรยาย จากการพูดคุยในเวทีสาธารณะที่ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมทำให้เกิดการแก้ปัญหาแบบเชิงรุก ด้วยการสั่งห้ามการทำนาในปี 2548 โดยรัฐยอมจ่ายค่าชดเชยให้ไร่ละ 4,200 บาท มีการเปิดคลินิกแคดเมี่ยมเพื่อติดตามและรักษาผู้มีแคดเมี่ยมปนเปื้อนในร่างกายอย่างใกล้ชิด พร้อมให้ความรู้ความเข้าใจด้านการดูแลสุขภาพและหลีกเลี่ยงการรับสารเข้าสู่ร่างกายเพิ่มขึ้น
นายแพทย์พิสิฐ ลิมปธนโชติ อายุรแพทย์ โรงพยาบาลแม่สอด
“มันจะมีพิษกับไตและกระดูกโดยตรง ทางนี้จะมีผลเกี่ยวข้อง หรือไม่เกี่ยวกัน ยังไม่ทราบ ซึ่งในเรื่องไตก็จะมีผลตามมาหลายอย่าง เช่น พอเป็นไตระยะหนึ่งก็จะเริ่มมีความดันโลหิตสูง มีเรื่องหลอดเลือดสมอง ตามมา เริ่มมีเรื่องโรคหัวใจ ส่วนเรื่องของกระดูก ส่วนใหญ่คนไข้ไม่ค่อยเสียชีวิต แต่จะเป็นการสร้างความทรมานให้คนไข้มากกว่า มีเรื่องกระดูกพรุนกระดูกบาง กลุ่มนี้จะมีปัญหาเรื่องปวดกระดูกรุนแรง กระดูกหักง่าย”
นายแพทย์วิทยา สวัสดิวุฒิพงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลแม่สอด
“ทั่วไปที่โรงพยาบาลเกื้อหนุนเขาได้ ก็คือ บัตร 30 บาท สำหรับคนที่มีระดับ
แคดเมี่ยมในร่างกายสูง ซึ่งเราต้องตรวจเขาปีละครั้ง ในคนที่ไตปกติ กับตรวจเป็นระยะๆในคนที่ไตเริ่มผิดปกติ เราออกบัตรแคดเมี่ยมให้เขา เพราะฉะนั้นเขาจะไม่ต้องเสียเงินกระทั่ง 30 บาท คือได้รับบริการฟรีทุกเรื่องทุกโรค ที่เกี่ยวข้องกับแคดเมี่ยม”
บรรยาย ความพยายามอีกด้านหนึ่ง คือการหาแนวทางการประกอบอาชีพทดแทนการทำนา โดยมีข้อเสนอในการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ปาล์ม และสวนยางพารา แต่เนื่องจากเป็นการทดลองโดยภาครัฐ ซึ่งชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วม ทำให้ยังไม่เกิดความมั่นใจ เมื่อใกล้ถึงฤดูกาลทำนา บางส่วนจึงต้องการกลับมาทำนาเหมือนเดิม
ไพฑูรย์ รักษ์ตระกูลคีรี พ่อหลวง บ้านพะเด๊ะ ต .พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก
“ตามความคิดของชาวบ้าน ชาวบ้านอยากทำนาเหมือนเดิม เพราะเป็นอาชีพเก่า ถ้าประกอบอาชีพอย่างอื่นเขาไม่ค่อยชำนาญ ไม่ค่อยถนัด เพราะคนเก่าๆก็ไม่มีความรู้ ไม่ได้เรียนหนังสือ”
เควยเหย่ พลอยหาญกาญน์ ชาวบ้าน บ้านพะเด๊ะ ต .พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก
“ถ้าให้นานี้อยู่เหมือนเดิม ได้ทำกินเหมือนเดิม ได้ปลูกข้าวเหมือนเดิม ได้ทำมาหากินเหมือนเดิม จะไม่เดือดร้อนอย่างนี้หรอก”
บุญศรี เครือคำหวัง ชาวบ้าน บ้านแม่ตาวกลาง ต.แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก
“ก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาให้ชดเชยที่จะปลูกได้ มันจะปลูกไม่ได้ แล้วก็คนจะเบนไปทำอาชีพอื่น จะยากนะ อย่างลุงอายุ 18 เริ่มทำนามา จนเดี๋ยวนี้อายุ 60 กว่าแล้ว”
บรรยาย การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน นอกจากต้องใช้เวลา ความรู้และวิธีการที่เหมาะสมแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือความมั่นใจที่ภาครัฐต้องสร้างให้เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและก้าวเดินไปพร้อมๆกัน
เชิดศักดิ์ ชูศรี รองผู้ว่าราชการ จ.ตาก
“ก็ได้ข้อสรุปว่า เราไม่ควรจะเพาะปลูกอีกแล้ว เพราะปลูกไปแล้ว มันก็ต้องไปทำลาย ก็เลย มีข้อตกลงร่วมกันกับเกษตรกร กับเจ้าของนาในพื้นที่ว่า เราควรจะงดการปลูกในปี 48 ที่ผ่านมา โดยทางจังหวัด ทำเรื่องขอเงินชดเชยให้ ถามว่า จะจ่ายไปอีกเมื่อไร ตอนนี้เรายังไม่ได้คิดถึงขั้นนั้น เราจ่ายแค่สองปี สิ่งที่เราทำ ในขณะนี้คือโครงการต่อเนื่องหลังจากที่เราไม่ให้เขาปลูกข้าว ไม่ให้เขา ทำการเกษตรแล้ว เราจะให้เขาทำอะไร ก็มานั่งคิดกัน โดยตัวแทนของภาครัฐ องค์กรท้องถิ่น และชาวบ้าน ได้ข้อสรุปในเบื้องต้น คือ จะมีการพัฒนาอาชีพ เพื่อให้เขามีรายได้ และมีกองทุน สำหรับ นำไปประกอบอาชีพ ตามความต้องการ และความถนัดของเขา เราพยายามอยากจะ ให้มันยั่งยืน เพราะเราทราบดีว่าปัญหานี้เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต เกี่ยวข้องกับปากท้อง ที่ชาวบ้านจะต้องอยู่กับพื้นที่ตรงนั้นให้ได้ อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างน้อยก็ ไม่ด้อยไปกว่าสิ่งที่เขาเคยเป็นมาในอดีต เราพยายามดึงผู้นำชุมชน ดึงภาคประชาสังคม ตัวแทนชาวบ้าน เข้ามามีส่วนร่วม เราจัดเวทีประชาคมหลายครั้ง ในการปรึกษาหารือ ในการรับฟังความคิดเห็น เพราะเราอยากทำอะไรให้ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน เพราะมันจะได้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน”
เพลินใจ เลิศลักขณะวงศ์ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ .ตาก
“ร้อยกว่าปีของชุมชนนี้ที่เกิดขึ้น เขามีความอุดมสมบูรณ์ เขามีภูมิปัญญาที่สั่งสม เขามีระบบเหมืองฝายที่ดูแลด้วยตัวเอง เขาไม่เดือดร้อนอะไร เขาไม่เคยพึ่งพิงใคร แต่วันหนึ่งเขาต้องขอให้รัฐช่วย เขาทนไม่ไหว ศักดิ์ศรีเขามี ไม่ใช่ถูกกระทำแบบนั้น ต้องยกตรงนี้ให้เขาเป็นผู้ตัดสิน แต่การที่จะตัดสินได้ มันเป็นความรู้ใหม่ของการทำมาหากิน เคยทำนามาตลอดชีวิต ไม่เคยง้อใคร ข้าวก็ข้าวอย่างดี วันหนึ่งข้าวในยุ้งก็ไม่เหลือ พันธุ์ก็ไม่เหลือ นาก็ร้าง ความรู้ที่จะไปสู่ที่ใหม่จะไปยังไง มีการเสนอว่ามีปาล์ม มียางพารา เกิดมายังไม่รู้เลยว่าต้นเป็นยังไง จะทำให้ได้เงิน จะทำยังไง”
บรรยาย แม้จะไม่อาจเรียกคืนความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน และ แม่น้ำตาวที่เคยเป็นแหล่ง ปลูกข้าวหอมมะลิ คุณภาพดี จนได้รับรางวัลถึงสองปีซ้อน แต่ความพยายามของชาวแม่สอด ในการฟื้นคืนความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และวิถีชุมชนคนลุ่มน้ำแม่ตาว น่าจะเป็นการ สื่อสารข้อมูลสำคัญไปยังภาครัฐ โดยเฉพาะระดับนโยบาย ที่ควรมองการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ให้รอบด้าน โดยการให้ความสำคัญกับชุมชน เพราะในที่สุดแล้ว คนในชุมชนคือผู้รับผลอันยาวนาน
สารคดี : บ้านเมืองเรื่องของเรา ชุดชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่
ผลิตโดย : งานพัฒนาการสื่อสารฯ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
Share Post :
Scroll to Top