การออกแบบยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนสังคม

Share Post :

กฤษฎา บุญชัย

ปัญหาของวิธีคิดออกแบบยุทธศาสตร์กระแสหลัก

แนวคิดเรื่อง ยุทธศาสตร์ ซึ่งแต่เดิมเป็นแนวคิดทางการทหารที่ใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายทางสังคม ได้ถูกนำมาใช้เป็นยุทธศาสตร์สำหรับการวางแผนพัฒนา โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ เช่น รัฐบาล ราชการ เอกชน ประชาสังคม

การเปลี่ยนบทบาทจากสถานการณ์การสู้รบ มาเป็นการพัฒนาที่มีปัจจัยกว้างขวางและซับซ้อนมากกว่า ทั้งปัญหาที่เผชิญ เป้าหมายที่ต้องการบรรลุ ภาคีที่เกี่ยวข้อง ทรัพยากรที่มี ช่วงเวลาที่ต้องการผลสัมฤทธิ์ และอื่น ๆ ทำให้ความหมายของยุทธศาสตร์เดิมที่เน้นแนวทางประสบชัยชนะได้เปลี่ยนเป็นการกำหนดภารกิจแผนงานประจำ นั่นจึงทำ “แผนยุทธศาสตร์” ทั้งหลายหมดความหมายของความเป็นยุทธศาสตร์ที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ของการเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายอย่างมีปัจจัยกำหนดอย่างเฉพาะเจาะจง ยิ่งเป็นยุทธศาสตร์การวางแผนของระบบรัฐ ราชการที่เน้นการทำแปลงเป้าหมายนามธรรมสู่การปฏิบัติจากบนลงล่าง ภายใต้ระบบรวมศูนย์ อย่าง เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือยุทธศาสตร์หน่วยงานนโยบายต่าง ๆ กลายเป็นการกำหนดภารกิจให้ครบทุกด้าน เช่น ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา การแข่งขัน การสื่อสาร การสร้างความเข้มแข็งสังคม การพัฒนาความรู้ ฯลฯ ยิ่งกำหนดยุทธศาสตร์ที่กระจายตัว ตอบโจทย์ให้ครบมากเท่าใด ขาดมิติเชิงซ้อน ได้ทำให้เสน่ห์ของยุทธศาสตร์ที่ควรมีซึ่งก็คือ จุดเน้นเพื่อการเปลี่ยนแปลงไม่เกิดขึ้น

ผลกระทบของการวางแผน “ยุทธศาสตร์” ที่ไม่มีนัยทางยุทธศาสตร์ ได้ทำให้องค์กร กลไก เครือข่ายขับเคลื่อนนโยบายทั้งหลาย ไม่สามารถสร้างนวัตกรรมที่มีจุดเน้นสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีพลัง อีกทั้งกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ในลักษณะนี้มักหมกมุ่นอยู่กับถ้อยคำภาษา หลักตรรกะของภาษา ตัวชี้วัดตามยุทธศาสตร์ภายใต้กระบวนทัศน์เดิมที่ขาดพลังไปทุกที และเมื่อจัดทำยุทธศาสตร์เสร็จ ยุทธศาสตร์เหล่านั้นมักจะเป็น “ยุทธศาสตร์ที่ไม่มีชีวิต” ขาดความหมายที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงของผู้คนในสังคมที่หลากหลายอย่างมีชีวิตชีวา ไม่อยู่ในความทรงจำของผู้ขับเคลื่อน หรือไม่มีนัยสำคัญของการนำไปใช้ขับเคลื่อนสังคมจริง ๆ แต่จะถูกนำมาใช้อีกทีเมื่อต้องติดตาม ประเมินผลการดำเนินการให้บรรลุกรอบยุทธศาสตร์ที่วางไว้

จากประสบการณ์ที่ผมได้ทำงานภาคประชาสังคมที่ต้องแสวงหาจุดเปลี่ยนการขับเคลื่อนทางสังคมตลอดเวลา และได้มีบทบาทร่วมในการพัฒนายุทธศาสตร์นโยบายของกลไกนโยบายระดับชาติในบางองค์กร พบเห็นว่า การสูญเสียนัยทางยุทธศาสตร์ของกระบวนการจัดทำแผน “ยุทธศาสตร์” เกิดขึ้นอย่างมาก และหากกลุ่ม องค์กร เครือข่ายต่าง ๆ ยังคิดวางแผนยุทธศาสตร์ตนเอง หรือเสนอยุทธศาสตร์ต่อกลไกนโยบายสาธารณะในแบบ “ยุทธศาสตร์ที่ตายแล้ว” โอกาสที่จะสร้างจุดเปลี่ยนทางสังคมเกิดขึ้นได้ยาก

ภาพประกอบ : www.sto.go.th

แล้วแนวคิดยุทธศาสตร์แบบไหนที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ผมขอกลั่นจากบทเรียนการปฏิบัติการออกมาเป็นข้อเสนอสำหรับภาคประชาสังคมเบื้องต้นดังนี้

ข้อเสนอต่อแนวคิดยุทธศาสตร์

ยุทธศาสตร์ คือ การแสวงหาจุดเปลี่ยน (เปลี่ยนจากภาวะตกต่ำ ถูกกระทำ ตั้งรับ หรือพันธนาการต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะเฉื่อย ขาดพลัง และทิศทางในการขับเคลื่อน) เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย (เป้าหมายที่แจ่มชัด ขึ้นอยู่การเข้าใจอนาคตที่เป็นไปได้ และวางเป้าหมายที่สัมพันธ์และตอบโจทย์อนาคต) ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสมที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (พื้นที่ เวลา ทรัพยากร กลุ่มคน กระแสสังคม)

ดังนั้น การพัฒนายุทธศาสตร์จึงต้องแสวงหา คัดเลือก วางจังหวะก้าว รวมพลัง พุ่งเป้า ไม่สามารถทำแบบกระจัดกระจาย หรือทำไปทุก ๆ ด้าน หรือทำตามแบบแผนประจำได้ แต่ต้องสร้างนวัตกรรมของการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างไปจากกรอบแนวคิด การปฏิบัติแบบเดิม ๆ (ซึ่งเริ่มหมดพลังลงไป) ด้วยเหตุนี้ยุทธศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่ต้องทบทวน สร้างสรรค์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

องค์ประกอบทางยุทธศาสตร์ ได้แก่

1) ประเด็นหรือเนื้อหาที่จะขับเคลื่อนสังคม โดยการกำหนดประเด็น และชุดเนื้อหาที่มีพลังทั้งในเชิงเหตุผลและอารมณ์เพื่อสื่อสารสร้างการเปลี่ยนแปลง

2) คน กลุ่มคน กลุ่มสังคมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายการเปลี่ยนแปลง

3) พื้นที่ ทั้งพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ พื้นที่โลกออนไลน์ พื้นที่ทางสังคม ที่มีความเฉพาะเจาะจง

4) ทิศทางจะใช้กระบวนการขับเคลื่อนจากบนสู่ล่าง ล่างขึ้นบน กระจายแนวระนาบ เชื่อมต่อไปสู่จุดที่มีคณะลักษณะเฉพาะ เชื่อมต่อแบบมีศูนย์กลาง หรือไม่มีศูนย์กลาง

5) กระบวนการหรือเครื่องมือ เช่น กระบวนการจัดการความรู้ การสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระบวนการสร้างวาระหรือประเด็นร่วม การใช้ปัญหาจากชายขอบเชื่อมสู่สังคมใหญ่ การใช้ตัวอย่างที่ดีไปสู่กลุ่มคนที่ต้องการเรียนรู้ การโน้มน้าวกลุ่มคนสำคัญ การใช้ข้อมูล บทสังเคราะห์ที่สร้างผลสะเทือน การสร้างตัวกระทำการหลากหลาย การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง การสร้างความตระหนัก ตระหนก ความหวัง การคาดการณ์อนาคต ฯลฯ

6) กลไกเชิงสถาบัน เช่น เอาทำให้กลไกเดิมที่มีอยู่เกิดการขับเคลื่อน (ในบทบาทใหม่) การทำให้เกิดกลไกใหม่ที่มีพลังกว่าเดิม

องค์ประกอบยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องมีการวิเคราะห์ คัดสรร ประเมิน เพื่อจัดวางอย่างเฉพาะเจาะจง และมีนัยสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลง

ความสามารถในการออกแบบยุทธศาสตร์ที่ดี ต้องมีความสามารถในการคาดการณ์อนาคตใหม่ๆ (ที่เปลี่ยนไปจากเดิม) ด้วยข้อมูล สถานการณ์รอบด้านเพื่ออ่านโอกาสและความท้าทายที่จะเกิดขึ้น และประเมินทุนทางสังคมที่ตนเองมี (คน ความรู้ เครือข่าย การยอมรับทางสังคม) ว่าจะนำไปสู่การสร้างจุดเปลี่ยนได้อย่างไร

ภาพประกอบ : www.sto.go.th

ยุทธศาสตร์เนื้อหา

ผู้เขียนขอหยิบยกยุทธศาสตร์เนื้อหาเพื่อวิเคราะห์ เพราะมีความสำคัญอันดับต่างๆ ขององค์ประกอบทางยุทธศาสตร์ทั้งหมด ยุทธศาสตร์เนื้อหาไม่ได้แยกโดด ๆ แต่เป็นหนึ่งในกระบวนการยุทธศาสตร์โดยรวมที่ต้องออกแบบพร้อมกันทั้งระบบซึ่งเห็นแผนที่ของการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน โดยยุทธศาสตร์เนื้อหามีความเฉพาะเจาะจงเรื่องกระบวนการพัฒนาเนื้อหาที่มีแนวคิดใหม่ ข้อมูลใหม่ หรือข้อมูลเก่าแต่ตีความใหม่ จากการประเมินโอกาสและความท้าทายในอนาคต ออกแบบเนื้อหาให้สอดคล้อง ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการเปลี่ยนแปลงที่กำหนดไว้ ภายใต้บริบทที่เหมาะสม (พื้นที่ เวลา ทรัพยากร กลุ่มคน กระแสสังคม)

กรณีตัวอย่างยุทธศาสตร์เรื่องความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมทางสังคม เราต้องประเมินก่อนว่า ทำไมการสื่อสาร ขับเคลื่อนเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ผ่านมา ได้แก่ การแสดงข้อมูลภาพรวมคนส่วนน้อยถือครองทรัพยากรส่วนมาก คนส่วนมากโดยเฉพาะคนจนถือครองทรัพยากรส่วนน้อย แม้จะทำให้สังคมเข้าใจความเหลื่อมล้ำมากขึ้น แต่ไม่ส่งผลกระตุ้นให้คนลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง อาจเป็นเพราะว่า

1) ผู้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายกำหนด เช่น กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ กลุ่มคนที่มีบทบาทหลักขับเคลื่อนต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำไม่ได้เป็นตัวหลักร่วมออกแบบยุทธศาสตร์ การออกแบบยุทธศาสตร์ที่จำกัดวงเฉพาะที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้สังเกตการณ์ แหล่งทุน หรือกระทั่งผู้มีส่วนสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ที่ได้มักเป็นยุทธศาสตร์ที่ครึ่ง ๆ กลางๆ ประนีประนอมระหว่างการรักษาอำนาจกับการสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือมุ่งตอบโจทย์หน่วยงานระดับบนมากกว่าการสร้างพลังให้กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบหรือมีบทบาทขับเคลื่อน นอกจากจะไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทิศทางสร้างความเป็นธรรม แต่ยังตีกรอบจำกัดธำรงรักษาความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมด้วย

2) ไม่สร้างความหวังของการเปลี่ยนแปลง ยุทธศาสตร์เนื้อหาที่แม้จะมีข้อมูลสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมอย่างรอบด้าน แต่ก็อาจส่งผลสองทาง ทางแรกคือ สังคมเข้าใจความเหลื่อมล้ำ แต่ในอีกทางหนึ่งคือ หมดหวังต่อการสร้างความเป็นธรรม ดังนั้นการเสนอชุดวิเคราะห์ปัญหาจึงไม่เพียงพอ

3) จำกัด ตีกรอบไปที่กลุ่มคนเปราะบางที่ถูกกระทำมากเกินไป แต่ไม่เชื่อมโยงไปถึงคนส่วนอื่น ๆ ในสังคมว่า จะส่งผลกระทบอะไร และพวกเขาจะมีบทบาทอะไร ในระดับไหนได้บ้าง ทำให้เกิดภาวะแยกส่วน โดยที่สังคมส่วนอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักไม่คิดเป็นธุระหรือความรับผิดชอบร่วมกัน

4) ไม่ได้เสนอทางออกจากความเหลื่อมล้ำที่เป็นรูปธรรม มีความเฉพาะเจาะจงพอ และเป็นสิ่งที่คนสามารถลุกขึ้นมาทำเรื่องในบริบทของตนเองแต่สั่งสม ขยายผลไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นการเสนอทางออกเชิงนามธรรมแต่ไม่มีรูปธรรมชัดเจนก็ขาดพลัง แต่ในทางกลับกันการเสนอทางออกรูปธรรมเป็นเรื่องๆ โดยไม่เชื่อมโยงปัญหาเชิงระบบก็จะทำให้กลุ่มสังคมต่าง ๆ ขาดกรอบคิด ทิศทางร่วมกัน ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบได้

5) ขาดบริบทของการเปลี่ยนแปลงว่า กลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคมควรจะต้องขับเคลื่อนผ่านรูปธรรมอะไร ในช่วงเวลา พื้นที่ โอกาส กลุ่มยุทธศาสตร์ไหนที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งแต่กลุ่มขับเคลื่อนควรจะถูกออกแบบให้มีขับเคลื่อนอย่างมีพลังในบริบทของตน มากกว่าจะจับมารวมกันในยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนแบบเดียวกัน

6) เกิดปัญหาของการเลือกเพื่อวางจุดเน้น เช่น จะเลือกบางประเด็นไหน หรือจะเลือกพื้นที่ หรือจะเลือกนโยบายไหน เลือกปัญหาของคนกลุ่มไหน ฯลฯ ซึ่งจะมักจะเกิดความลักลั่นว่าเลือกทางหนึ่ง อาจจะสูญเสียโอกาสของทางหนึ่ง เช่น เลือกประเด็นหนึ่งเพื่อแก้ปัญหา แม้จะมีรูปธรรมชัด แต่เมื่อมีหลายร้อยปัญหาถั่งโถมเข้ามาก็จะต้องวนอยู่ในการแก้ปัญหาซ้ำ ๆ เพราะหลายปัญหามีแบบแผนของปัญหาร่วมกัน หรือเลือกจากการแก้เชิงระบบที่ร้อยทุกปัญหา แต่ก็ติดกับดักว่าจะเป็นนามธรรมเกินไป จนผู้คนจับต้องไม่ได้และไม่เกิดพลังการเปลี่ยนแปลง ปัญหาเหล่านี้มาจากวิธีคิดเชิงเดี่ยวต้องเลือกจุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น แต่เราสามารถคิดเชิงซ้อน โดยเลือกจากการเชื่อมโยงทุกจุดเน้น และคัดสรรสิ่งที่มีพลัง เช่น เลือกพื้นที่ กลุ่มคนหนึ่งๆ ที่อาจมีหลายประเด็น แต่เห็นปัญหาเชิงระบบ พร้อมกับเชื่อมโยงเปรียบเทียบไปกับพื้นที่อื่น กลุ่มคนอื่น ที่มีปัญหาเชิงระบบร่วมกัน และทำงานสื่อสารรณรงค์ไปที่การแก้ปัญหารูปธรรมนั้น ๆ ในฐานะต้นทางของการแก้ปัญหาเชิงระบบด้วย

7) ขาดความสอดคล้องฉับไวกับสถานการณ์สังคม ปัญหารูปธรรมความเหลื่อมล้ำจะปะทุขึ้นมาเสมอตามปัญหาที่เกิดขึ้นในจุดต่าง ๆ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เนื้อหา ต้องรุก เข้าถึงอย่างรวดเร็วในการตีความ ให้ความหมาย เชื่อมโยงเนื้อหาไปสู่กลุ่มคน หรือสังคมที่ต้องการให้เรียนรู้และมีบทบาทการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการสื่อสารแบบกว้างๆ โดยไม่มิติเชิงรุกในห้วงเวลา สถานการณ์ที่เหมาะสม จึงไม่เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงที่มีพลัง

กล่าวโดยสรุป ยุทธศาสตร์เป็นกระบวนการทางปัญญาที่เป็นทั้งศาสตร์ (ข้อมูล ตรรกะ) และศิลป์ (การสร้างพลังทางอารมณ์ผ่านสัญลักษณ์ต่าง ๆ) ในการครุ่นคิด วิเคราะห์จากข้อมูล บทเรียนทางสังคมอดีต ปัจจุบัน เพื่อออกแบบอนาคตอย่างรอบด้าน เมื่อกระบวนทางปัญญาตกผลึก จึงได้วางจุดเน้นของการเปลี่ยนแปลงในบริบทที่เหมาะสม ในรูปแบบของการทดลองปฏิบัติการ ซึ่งมีการประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับเปลี่ยนให้เป็นฝ่ายกระทำในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ยุทธศาสตร์จึงไม่ใช่การออกแบบงานประจำ ที่ปราศจากเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่การออกแบบจากความต้องการภายในของผู้กระทำโดยไม่สัมพันธ์กับพลังทางสังคมที่มีอยู่และกำลังเป็นไป

ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหญ่ ยุทธศาสตร์เนื้อหามีความสำคัญที่จะสร้างเนื้อหาที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ด้วยการออกแบบเนื้อหา วิธีการนำเสนอเนื้อหา มีบริบทที่ชัดเจน ในทุนทางสังคมที่มี และในสภาวะการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

ภาครัฐคงยากที่จะเคลื่อนจากวิธีคิดยุทธศาสตร์กระแสหลักเพราะติดอยู่ในระบบการจัดทำแผน งบประมาณ การประเมินผล แต่ภาคประชาสังคมควรสร้างยุทธศาสตร์ที่มีชีวิตที่มีพลังแห่งปัญญาและอารมณ์เพื่อสร้างผลสะเทือนจากจุดเล็ก ๆ ที่อัดแน่นไปด้วยคุณภาพไปจนถึงระบบสังคมใหญ่ให้ได้ในที่สุด

Share Post :
Scroll to Top