หลักสูตรฝึกอบรม “ผู้นำเยาวชนตื่นรู้กู้วิกฤติโลกร้อน”

หลักสูตรฝึกอบรม
“ผู้นำเยาวชนตื่นรู้กู้วิกฤติโลกร้อน”

โดย Thai Climate Justice for All (TCJA)

หลักการและเหตุผล

          ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (โลกร้อน) เป็นปัญหาที่คุกคามมนุษยชาติที่รุนแรงที่สุด กระทบต่อทุกผู้คนบนผืนพิภพ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง คนชายขอบ ชุมชนที่อยู่กับระบบนิเวศธรรมชาติที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอากาศสุดขั้ว เช่น ชุมชนในพื้นที่ป่า ชุมชนลุ่มแม่น้ำ ชายฝั่ง ชุมชนเกษตรกรรม เป็นต้น ผลกระทบดังกล่าวส่งผลต่อภัยพิบัติของประเทศ ความแห้งแล้ง ความม่านคงอาหาร การแพร่ระบาดเชื้อโรค ฝุ่นควันจากไฟป่า ไฟเกษตร และฝุ่นอุตสาหกรรม กระทบสุขภาพ ส่งผลกระทบไปถึงเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง กรณีการแพร่ระบาดเชื้อโควิดและฝุ่น pm 2.5 ก็เป็นรูปธรรมระลอกแรกของปัญหาสภาวะโลกร้อนที่สั่นคลอนเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

          รากปัญหาของสภาวะโลกร้อน มาจากการพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมบนฐานพลังงานฟอสซิลของโลกที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจากประเทศอุตสาหกรรมที่ปลดปล่อยก๊าซจากการผลิตอย่างยาวนาน จนเข้าสู่ทศวรรษ 2000 ประเทศกำลังพัฒนาก็กำลังเร่งทะยานจะเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อเข้าใกล้การต้นแบบการพัฒนาของประเทศตะวันตก ทำให้มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงขึ้น

          ปัญหาโลกร้อนเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญต่อความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมทางสังคมสูง ในทางภูมิรัฐศาสตร์ ประเทศอุตสาหกรรมปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสั่งสมมาช้านาน แต่ประเทศยากจนจำนวนไม่น้อยที่อยู่เขตผันผวนภูมิอากาศแถบเส้นศูนย์สูตร เช่น เกาะ ริมฝั่งทะเล ประสบภาวะรุนแรงสุดขั้ว เช่นเดียวกับวิถีคนเมืองในประเทศตะวันตกและในเมืองใหญ่ที่ปลดปล่อยก๊าซในอัตราสูง แต่มีอำนาจในการป้องกัน เลือกวิถีชีวิตที่ปลอดภัยจากความผันผวนสภาพภูมิอากาศได้มากกว่ากลุ่มคนยากจนที่ต้องเผชิญความรุนแรง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาโลกร้อนจึงต้องสร้างมิติความเป็นธรรมไปพร้อมกัน จึงจะสร้างพลังความร่วมมือทางสังคมให้เกิดขึ้นได้จริง

          กลับไปที่ชุมชนท้องถิ่น ขณะนี้ได้ผลกระทบ การเปลี่ยนแปลง และมีการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจำนวนมากยังไม่เห็นความเชื่อมโยงผลกระทบในชีวิตกับสภาวะโลกร้อน ขณะเดียวกันหลายชุมชนที่ปรับตัวได้ดีทั้งในเชิงผลกระทบ และสร้างวิถีชีวิต การผลิตที่สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ดี เช่น ป่าชุมชน ทรัพยากรชายฝั่งชุมชน เกษตรกรรมยั่งยืน พลังงงานหมุนเวียน ฯลฯ

          แต่เรื่องราวของชุมชนไม่ได้รับการรับรู้ทั้งในเชิงสาเหตุปัญหา ผลกระทบ และต้นแบบวิถีชุมชนที่จะเป็นการฟื้นฟู ดูดซับคาร์บอนได้ดี ทำให้เรื่องโลกร้อนอยู่ในวังวนของผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานรัฐ และเอกชนที่กำลังมุ่งแต่คิดคำนวณ ตรวจวัด และแลกเปลี่ยนคาร์บอนกัน ขาดการเชื่อมโยงกับวิถีชุมชน และยังเป็นวังวนในภาวะความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนด้วย

          ทางเครือข่าย Thai Climate Justice for All (TCJA) อันประกอบด้วยภาคีสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และภาคีภาคประชาสังคมและวิชาการ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ มีความมุ่งหมายที่จะสร้างการเรียนรู้และการสื่อสารทางสังคมเรื่องราวของชุมชนกับสาธารณะในมิติโลกร้อน ทั้งสาเหตุปัญหา ผลกระทบ การปรับตัว และทางออก จึงได้พัฒนาโครงการนี้ขึ้น โดยมุ่งส่งเสริมเยาวชนในแต่ละท้องถิ่นได้มีความรู้ ความเข้าใจสภาะโลกร้อนที่เชื่อมโยงมิติชุมชนและนโยบาย และสามารถสื่อสารทางสังคมผ่านการทำสื่อในรูปแบบวีดีโอคลิป-ภาพถ่าย ออกมาได้ โดยหวังว่า เยาวชนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญประเทศในการติดตาม เผยแพร่ และขับเคลื่อนกู้วิกฤติโลกร้อนได้

วัตถุประสงค์

  1. อบรมแนวคิด เนื้อหา และวิธีการศึกษาสาเหตุ ปัญหา ผลกระทบ และทางออกของโลกร้อนที่เชื่อมโยงกับวิถีชุมชน และนโยบายของรัฐ
  2. อบรมการทำคลิปวีดีโอ และถ่ายภาพ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวจากพื้นที่สู่สาธารณะ
  3. สร้างผู้นำเยาวชน และรวมตัวเป็นเครือข่ายเยาวชนในการขับเคลื่อนกู้วิกฤติโลกร้อน

แนวทางการอบรม

  1. จัดอบรมปฐมนิเทศ
  2. จัดอบรมแนวคิด เนื้อหาโลกร้อนในประเด็น
    • ภาพรวมสาเหตุ ปัญหา ผลกระทบสภาวะโลกร้อนที่มีต่อนิเวศ เศรษฐกิจ สังคม
    • แนวทางการศึกษาผลกระทบและการปรับตัวสภาวะโลกร้อนชุมชน
    • ทิศทางนโยบายเพื่อกอบกู้วิกฤติโลกร้อน
  3. อบรมการถ่ายทำ ตัดต่อคลิปวีดีโอ และถ่ายภาพนิ่งเพื่อใช้ผลิตสื่อโลกร้อนจากเนื้อหา และกิจกรรมชุมชน โดยทางโครงการจะนำมาตัดต่อรวมเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ

(เนื่องจากสถานการณ์โควิด จึงจำเป็นต้องอบรมออนไลน์)


ระยะเวลา พฤษภาคม-มิถุนายน 2564

  • วันที่ 22 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.00-16.00 น.

เรื่อง : โลกร้อน

วิทยากร : อาจารยประสาท มีแต้ม

เรื่อง : วิถีชุมชนและนโยบาย

วิทยากร : ดร.กฤษฎา บุญชัย

  • วันที่ 23 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.00-16.00 น.

เรื่อง : การทำคลิปวิดีโอและถ่ายภาพนิ่ง

วิทยากร : คุณกุลพัฒน์ จันทร๋ไกรลาส


กลุ่มเป้าหมาย จำนวนประมาณ 20 คน

          เยาวชนทั้งในชนบทและเมือง อายุราว 15-25 ปี (ยืดหยุ่นได้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความสนใจ)

เงื่อนไข

          เป็นการอบรมที่ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ผู้เข้าร่วมอบรมจะต้องมีความรับผิดชอบในการเข้าเรียนต่อเนื่อง และผลิต clip video และร่วมเป็นอาสาสมัครเยาวชนกู้วิกฤติโลกร้อน

วิทยากร

อาจารย์ประสาท มีแต้มวิทยากรเรื่อง “โลกร้อน”
ดร.กฤษฎา บุญชัยวิทยากรเรื่อง “วิถีชุมชนและนโยบาย”
คุณกุลพัฒน์ จันทร๋ไกรลาสวิทยากรเรื่อง “การทำคลิปวิดีโอและถ่ายภาพนิ่ง”

สนใจสมัครได้ที่ Email : ldf.saneh@gmail.com
หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ดร.กฤษฎา บุญชัย 081658-3352