ปฏิรูปประชาธิปไตยต้องไปให้ถึงคนชายขอบ

Share Post :

กฤษฎา บุญชัย

          ประวัติศาสตร์การต่อสู้ประชาธิปไตยที่ไปถึงคนยากจน คนชายขอบมากที่สุดก็คือ การเคลื่อนไหวของ 3 ประสาน คือ นักศึกษา ชาวนา กรรรมกร และประชาชนทั่วไปในยุค 14 ตุลาคม 2516 เพราะสิ่งที่ตามมาหลังเสรีภาพเบ่งบานผ่านพ้นเผด็จการก็คือ การที่นักศึกษาจับมือกับชาวนาและกรรมกรลงไปเรียนรู้และแก้ปัญหาให้กับคนยากจน รูปธรรมสำคัญคือ การผลักดันพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2518 และพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่านา (2518) เพื่อตอบโจทย์ปัญหาชาวนาไร้ที่ทำกิน แม้ผลทางปฏิบัติของกฎหมายดังกล่าวจะยังไม่สามารถกระจายการปฏิรูปที่ดินให้ทั่วถึงเกษตรกร แต่ก็พอที่จะบ่งบอกได้ว่า ขบวนการประชาธิปไตยไม่ลืมชาวนาชาวไร่และกรรมกร

          แต่กระบวนการปฏิรูปการเมืองหลังจากนั้นมายังไม่มีความคืบหน้าเท่าใดนัก จนเมื่อเกิดการขับเคลื่อนปฏิรูปการเมือง ผลักดันรัฐธรรมนูญ 2540 ประชาชนทุกกลุ่มเหล่าจากคนชั้นกลางไปถึงคนชายขอบได้ช่วยกันผลักดัน นั่นจึงทำให้หลักสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ได้รับการรับรองอย่างชัดเจน เช่น สิทธิชุมชนต่อฐานทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิในสิ่งแวดล้อม สิทธิที่อยู่อาศัย สิทธิผู้บริโภค สิทธิแรงงาน สิทธิสตรีและสิทธิทางเพศ สิทธิผู้ด้อยโอกาสอื่นๆ เป็นต้น

เพราะการปฏิรูปการเมืองไม่ได้ถูกผลักดันไปให้สุดทาง ยังจำกัดการปฏิรูปอยู่แค่การเมืองในโครงสร้างส่วนบนสุดคือการสร้างรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ปัญหาระบบอำนาจนิยมทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่คุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนหาได้ถูกกำกับโดยรัฐธรรมนูญอย่างที่คาดหวัง อะไรถึงเป็นเช่นนั้น มีประเด็นให้ขบคิดบางประการ

  1. รัฐราชการหาได้ถูกกำกับโดยรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญคือภาพสะท้อน “รัฐนาฏกรรม” นั่นหมายความว่า การบัญญัติหลักการดีงามทั้งหลายในรัฐธรรมนูญ ถูกรัฐใช้แสดงต่อประชาชนและชาวโลกถึงหน้าตา ศักดิ์ศรี การสร้างความชอบธรรมของรัฐ มากกว่าจะใส่ใจนำไปปฏิบัติจริง ดังปรากฏว่ารัฐธรรนูญ 2540, 2550, 2560 แม้จะมีหลักการสิทธิเสรีภาพ (ปี 40,50) และกำหนดหน้าที่รัฐ (ปี 2560) แต่ในความเป็นจริงหาได้ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจใหม่เพื่อรับรองสิทธิชุมชนและคนชายขอบอื่นๆ แต่อย่างใด ปัญหาเกิดจากเมื่อสังคมเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดหลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญ แต่กลับคิดว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว ปล่อยให้การปฏิรูปโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญตกอยู่ในมือราชการเพียงลำพัง เมื่อไม่มีพลังกดดัน รัฐราชการเลือกที่นิ่งเฉยไม่ปฏิรูปตนเองที่เป็นต้นเหตุปัญหา และด้วยพลังราชการที่เข้มแข็งประกอบกับภาคการเมืองก็ต้องพึ่งพาราชการ การปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างโครงสร้างอำนาจใหม่ให้รองรับชุมชนและคนชายขอบต่างๆ จึงไม่เกิดขึ้นจริง เราจึงเห็นระบบรวมศูนย์อำนาจของกระทรวงต่างๆ ยังคงอยู่ต่อไปโดยเฉพาะกระทรวงที่ถืออำนาจทรัพยากรและอำนาจปราบปรามไว้อย่างเข้มข้น เช่น กระทรวงทรัพยากร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงพลังงาน เป็นต้น เช่นเดียวกับกระทรวงเศรษฐกิจอื่นๆ ที่กลายเป็นพื้นที่ร่วมประโยชน์ระหว่างชนชั้นนำกับกลุ่มทุนโดยไร้พลังประชาธิปไตยมากำกับ
  2. วัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ไม่ถูกรื้อ เพราะระบบอำนาจไม่ได้ปราฏอยู่แค่โครงสร้างทางการเมือง แต่ซ่อนเร้นในวัฒนธรรมชีวิตประจำวัน และกระทำความรุนแรงต่อคนชายขอบที่ไม่มีพลังการต่อสู้ทางวัฒนธรรมที่เข้มมแข็งพอ เช่น ชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ป่าที่ถูกปิดล้อมด้วยวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมอำนาจนิยมของรัฐ, สตรีและกลุ่มหลากหลายทางเพศที่ถูกกดขี่ด้วยวัฒนธรรมอำนาจชายเป็นใหญ่, คนชรา คนยากจน คนพิการ คนไร้บ้าน แรงงานนอกระบบที่ถูกปิดกั้นจากวัฒนธรรมทุนนิยมที่มองว่าพวกเขาไร้ประโยชน์ต่อการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นต้น เพราะการครอบงำอำนาจเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏในโครงสร้างทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา แต่ปฏิบัติการในวัฒนธรรมชีวิตประจำวันที่รื้อถอนไมได้ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ 

         ปมปัญหาทั้งสองประการทำให้รัฐราชการและระบบอำนาจต่างๆ เรียนรู้ที่จะรับมือจากแรงกดดันของการปฏิรูปประชาธิปไตย ยังคงอำนาจรวมศูนย์ผูกขาดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมต่อไปได้ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้อย่างไร

การเคลื่อนไหวประชาธิปไตยจึงไม่ควรหยุดแค่รัฐธรรมนูญ แต่ควรรื้ออำนาจรัฐราชการและระบบผูกขาดต่างๆ เช่น ระบบเศรษฐกิจผูกขาด ระบบทุนพลังงานฟอสซิล ระบบทรัพยากรธรรมชาติ ระบบสวัสดิการรัฐ กลไกผูกขาดผลประโยชน์ของกลุ่มทุน ฯลฯ พร้อมกับรื้อวัฒนธรรมอำนาจทุนนิยม อุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ อุดมการณ์ชาตินิยมรวมศูนย์ ฯลฯ ด้วยการตรวจปฏิบัติการอำนาจของสถาบันทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมที่ปฏิบัติการในชีวิตประจำวัน แม้การสร้างประชาธิปไตยทางวัฒนธรรมจะยากลำบากและยาวนาน แต่ก็เพื่อให้ประชาธิปไตยไปถึงคนชายขอบอย่างแท้จริง

Share Post :
Scroll to Top