SE ธุรกิจเพื่อสังคม ย่างก้าวที่ท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงโลก

Share Post :

กฤษฎา บุญชัย

กระแสการเติบโตของขบวนการธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยกำลังถูกมองว่าเป็นความหวังที่เชื่อมต่อพลังทางธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาถูกมองว่ามุ่งค้ากำไร ขูดรีดธรรมชาติ สร้างความเหลื่อมล้ำและผลักภาระสู่สังคม มาเป็นการสร้างสรรค์สังคมที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ซึ่งเป็นบทบาทขบวนการประชาสังคม เอ็นจีโอตลอดมา นั่นหมายความคู่ตรงข้ามของความขัดแย้งระหว่าง ธุรกิจ vs สังคม กำลังจะถูกจัดความสัมพันธ์ใหม่เป็นธุรกิจเกื้อกูลสังคม ในอีกมิติหนึ่งธุรกิจที่เป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตนกำลังสร้างบทบาทการทำหน้าที่สาธารณะ เกิดเป็นลูกผสมระหว่างธุรกิจกับประชาสังคม

          กระแสการเติบโตดังกล่าวมาจากแรงผลักดัน วิพากษ์ของสังคมที่มีต่อภาคธุรกิจ และการปรับตัวของธุรกิจเองที่เริ่มเห็นว่า ลำพังการมุ่งกำไรแต่สร้างปัญหาให้สังคม ผลสุดท้ายแทนที่ธุรกิจจะเติบโตยั่งยืน กลับจะเผชิญความตกต่ำ ดังนั้นจึงเริ่มเกิดแนวคิดว่า กำไรที่ธุรกิจควรแสวงหาไม่ควรจำกัดแค่กำไรตัวเงิน แต่ต้องได้กำไรทางสังคมทั้งต่อตัวธุรกิจและต่อสังคมด้วย

          ปัจจัยที่ทำให้ SE เติบโต ส่วนหนึ่งมาจากกระแสของสังคมสมัยใหม่ ที่คนรุ่นใหม่เห็นว่า อนาคตของสังคมนับว่าจะย่ำแย่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ปัญหาสภาวะโลกร้อน สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และอื่นๆ ที่เป็นผลมาจากธุรกิจในอดีตที่ขาดความรับผิดชอบ

          บวกกับความเสื่อมศรัทธาที่ประชาชนมีต่อรัฐว่าไม่สามารถเป็นกลไกจัดการสาธารณะ และก็ยังไม่เข้าใจ เชื่อมั่นต่อขบวนการประชาสังคม กระแสการช่วยเหลือสังคมจึงเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจรายใหม่ๆ ที่เติบโตในบริบทการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิตอล ซึ่งเปิดกว้างให้กับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมได้มากมาย เช่น การจัดระบบข้อมูลข่าวสาร การสร้าง platform ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณะ การสร้างระบบจัดการเงิน ระดมทุนออนไลน์ และอื่นๆ

          ด้วยความใฝ่ฝันอันเรืองรองของขบวนการธุรกิจที่อยากเห็น SE มีบทบาทการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่เอาเข้าจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงสังคมโดยขบวนการ SE กลับมีบทบาทไม่มากอย่างที่คิด

          SE ทำงานได้ดีในตรรกะของธุรกิจ ที่สามารถขาย “สินค้าและบริการ” ทางสังคมให้กับลูกค้า ใช้ความสามารถทางการตลาดในการเข้าใจวิธีคิด พฤติกรรม ความสัมพันธ์ทางสังคมของลูกค้า และการเชื่อมต่อพลังอุปสงค์กับอุปทานของผู้มีส่วนได้เสีย สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยอุดช่องว่างระบบจัดการสาธารณะของรัฐที่ยังไปไม่ถึงหรือไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

          แต่สิ่งที่ SE ทำไม่ได้ คือ การเข้าไปร่วมทุกข์สุขกับประชาชน คนด้อยโอกาส คนชายขอบที่ถูกกดขี่ขูดรีดจากระบบเศรษฐกิจและโครงสร้างทางการเมือง สร้างพลังสำนึกและการเรียนรู้ของประชาชนให้ลุกขึ้นมาต่อรองกับระบบอำนาจ สร้างศักยภาพจัดการตนเอง แสวงหาทางเลือกอย่างอิสระ และวิพากษ์ตรวจสอบนโยบายรัฐและบทบาทของทุน

          เพราะ“Eco system” ของ SE ยังจำกัดอยู่ในกลไกตลาดที่มุ่งตอบโจทย์กำไร ลำพังการเคลื่อนไหวของ SE จึงยากที่จะรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่ไม่เป็นธรรมได้

SE อาจระดมทุนจากธุรกิจมาช่วยชาวบ้านปลูกป่า ดับไฟป่า พัฒนารายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ แต่คงยากที่จะมาช่วยปกป้องสิทธิของชุมชนในพื้นที่ป่าจากการถูกรัฐละเมิด SE อาจสร้างแอพพลิเคชั่นช่วยเกษตรกรเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญต่อการผลิตและการตลาด แต่ยากที่จะปกป้องสิทธิในพันธุกรรมพืชจากข้อตกลง TCPPP SE อาจสร้างกระแสสิ่งแวดล้อมให้ผู้บริโภค แต่ไม่ง่ายเลยที่จะระดมพลังสังคมมาช่วยชุมชนริมน้ำโขงปกป้องสายน้ำจากเขื่อนน้อยใหญ่ คุ้มครองพื้นที่นิเวศอาหารของชุมชนที่กำลังโดนทำลายจากธุรกิจแร่ เขต EEC หรืออุตสาหกรรมจะนะ

   หาก SE มีเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมการเมืองที่ไม่เป็นธรรม แม้จะไม่สามารถก้าวพ้นจาก “Eco System” ของระบบตลาด แต่สามารถเชื่อมโยง หนุนเสริมขบวนการชุมชน เอ็นจีโอ และประชาสังคมที่มี “Eco System” ของระบบสังคมและการเมืองได้ ด้วยพลังทุน เทคโนโลยี การสื่อสาร และการเข้าถึงประชาชนในฐานะผู้บริโภค/ลูกค้าอันกว้างใหญ่ไพศาลของ SE เมื่อผสานกับพลังการปลุกสำนึกและขับเคลื่อนนโยบายจากฐานล่างของภาคประชาสังคม เราอาจเห็นพลังทวีคูณแบบใหม่ที่เป็นความหวังต่อการเปลี่ยนผ่านสังคมที่มีสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นธรรม ความยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้

Share Post :
Scroll to Top