การประชุมเรื่อง ก้าวใหม่หรือก้าวเดิมของครัวเรือนเกษตรกร รายย่อยภายหลังวิกฤติโควิด-19

Share Post :

11 กันยายน 2563 เวลา 10.00-12.00 น.

คลิปการประชุม ก้าวใหม่หรือก้าวเดิมของครัวเรือนรายย่อยภายหลังวิกฤติ โควิด-19

ผลการศึกษา
ผลกระทบและการปรับตัว ของชุมชนท้องถิ่นในภาวะ COVID-19

กฤษฎา บุญชัย
สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
วันที่ 11 กันยายน 2563

ที่มา

•สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ในทิศทางที่ขยายตัวและซับซ้อนขึ้น “โควิด” ไม่ใช่เพียงสภาวะโรคระบาด แต่เป็นวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคมที่อุบัติขึ้นอย่างไม่คาดคิด และสร้างผลกระทบต่อเนื่องยาวนาน

•คณะวิจัยได้ร่วมกับ ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน มูลนิธิชีววิถี และภาคีสังคม สำรวจผลกระทบเชิงปริมาณระยะสั้นช่วงเดือน พค. (เป็นช่วงที่รัฐบาลมีมาตรการ Lock Down) ต่อเกษตรกรรายย่อย จำนวน 1,000 ครัวเรือน (ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ใน 15 จังหวัด 5 ภูมิภาค)

•ผลการศึกษาครั้งนั้นพบ คือ 1) เกษตรกรมีผลกระทบที่แตกต่างกันไปตามระบบการผลิต ชนิดพืชที่เข้าสู่ตลาดต่างกัน (ยางพารา และพืชผักผลไม้กระทบมากที่สุด) 2) เกษตรกรเข้าถึงตลาดได้ลำบากกระทบต่อฐานเศรษฐกิจ 3) เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 4) แรงงานกลับบ้านน้อย (เพราะติด lock down) 5) การปรับตัวยังไม่เห็นชัด 6) การเข้าถึงการช่วยเหลือของรัฐยังมีปัญหาไม่ทั่วถึง 

•การศึกษาครั้งนี้ จึงเป็นการไปเข้าใจเบื้องหลังข้อค้นพบเชิงปริมาณในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ จากมุมมอง บทเรียนของชุมชนที่เผชิญวิกฤติโควิดและอื่นๆ มาต่อเนื่องถึงทุกวันนี้ •ชุมชนที่เลือกศึกษา 6 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนเกษตรและป่า จังหวัดน่าน, ชุมชนเกษตรริมน้ำชี จังหวัดมหาสารคาม, ชุมชนวิถีประมงริมน้ำโขง อุบลราชธานีและอื่นๆ, ชุมชนพืชไร่และป่าตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา, ชุมชนชาวนาและสวนสิงหนคร คาบสมุทรสทิงพระ สงขลา, และชุมชนชายฝั่งทะเลภูเก็ต-พังงา

•เกณฑ์การเลือกพื้นที่ มาจาก จากภูมินิเวศหลากหลาย ชุมชนมีฐานความมั่นคงอาหารหลากหลาย มีกลไกชุมชนที่ดำเนินการมาต่อเนื่อง มีเป้าหมายที่จะเข้าใจสถานการณ์ ผลกระทบจากภาวะโควิด เพื่อใช้ออกแบบ

วัตถุประสงค์

• ประเมินผลกระทบ และการปรับตัวของชุมชนท้องถิ่นต่อภาวะโรคระบาด COVID 19 ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม

• ศึกษาถึงประสิทธิผลของการเยียวยาจากมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐกำลังดำเนินการในปัจจุบัน ต่อการปรับตัวของชุมชนท้องถิ่น

•เสนอแนะแนวทางการปรับตัวของชุมชนท้องถิ่นที่มีความยั่งยืนและแก้ไขปัญหาพื้นฐานของชุมชนท้องถิ่น

วิธีการศึกษา

•ใช้กระบวนการกลุ่มสนทนา

•นำเสนอผลการศึกษาเชิงปริมาณ เพื่อให้ชุมชนได้วิเคราะห์เปรียบเทียบกับสถานการณ์ในชุมชนตนเอง

•ใช้การเปรียบเทียบสถานะชุมชนก่อนโควิด ช่วงโควิดระบาด และช่วงยืดเยื้อต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นพัฒนาการ ความซับซ้อนของปัจจัย (โควิด และปัจจัยปัญหาอื่นๆ)

•เชื่อมโยงปรากฏการณ์ที่ชุมชนประสบในด้านต่างๆ เช่น สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ

•ให้ข้อมูลสถานการณ์ระดับโลก ประเทศ นโยบายของรัฐ

•แสวงหาสิ่งที่เป็นพลังการตั้งรับ ปรับตัว ฟื้นฟูของชุมชน และประเมินศักยภาพในการรับมือกับวิกฤติ

•แสวงหาและประเมินทางเลือก (ภายนอกนำเสนอ ชุมชนเลือกเอง) ต่อการปรับตัว

•ระยะเวลาศึกษา เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563

สภาวะวิกฤติก่อนโควิด

•ชุมชนท้องถิ่นต่างๆ เผชิญปัญหา ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม ฐานทรัพยากร ความไม่มั่นคงอาหารมาต่อเนื่อง เช่น

•ชุมชนน่าน เจอปัญหาความไม่มั่นคงสิทธิในที่ทำกินและฐานทรัพยากร เพราะนโยบายป่าไม้ ความผันผวนทางเศรษฐกิจของพืชข้าวโพด

•ชุมชนริมน้ำโขง เผชิญปัญหาน้ำโขงผันผวน เหือดแห้งจากเขื่อนจีน ลาวมาเกือบสิบปี ฐานทรัพยากรอาหารและรายได้ลดไปกว่าครึ่ง

•ชุมชนชาวนาน้ำชี มหาสารคาม เจอภัยแล้งมา 3 ปี (แม้อยู่ติดริมน้ำชี) จากทำนาปีและนาปรัง เหลือแค่ทำนาปี

•ชุมชนชาวไร่และป่าไม้ ฉะเชิงเทรา พืชไร่ (ยาง ปาล์ม มัน) ราคาตกต่ำต่อเนื่อง เจอปัญหาแล้ง การเข้าถึงทรัพยากรจากป่าถูกจำกัด

•ชุมชนชาวนา สวน และประมงสทิงพระ สงขลา ก็เผชิญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ จากศูนย์กลางเศรษฐกิจที่หาดใหญ่ (ผลกระทบจากความไม่สงบชายแดน) และธุรกิจท่องเที่ยวภูเก็ตตกต่ำ

•ชุมชนชายฝั่งทะเลภูเก็ต พังงา พึ่งพาฐานทรัพยากรทะเล ทำเกษตร และท่องเที่ยว ต้องเผชิญการรุกคืบ ปิดล้อมทรัพยากร ราคาพืชผลตกต่ำ และการท่องเที่ยวตกต่ำมาตั้งแต่ปี 57

•สรุปได้ว่า ชุมชนท้องถิ่นเผชิญวิกฤติโครงสร้างทั้งเรื่องเข้าถึงฐานทรัพยากร ความผันผวนของนิเวศ เศรษฐกิจตลาดตกต่ำ มาต่อเนื่องก่อนเผชิญโควิด 

สภาวะโควิดด้านสุขภาพ

•ชุมชนทุกแห่ง มีภาวะตื่นกลัวต่อโควิดอย่างมากจากกระแสข่าว มาตรการทางสังคมดำเนินการอย่างเคร่งครัด ป้องกันไม่ให้คนกลับบ้าน มีการรายงานตัว กักตัว ไม่ออกจากบ้าน ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในชีวิตประจำวัน ในงานประเพณี ในการทำมาหากินลดลงอย่างรวดเร็ว

•วิกฤติโควิดในสายตาของชาวบ้าน เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือคาดคิด และมองว่าผลกระทบมากไปกว่าวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่ชุมชนไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

•ผลกระทบโควิด เป็นทั้งสร้างปัญหาทำให้วิถีชีวิต วิถีการผลิต วิถีเศรษฐกิจหยุดชะงัก และทำให้ปัญหาโครงสร้างเดิมรุนแรงขึ้น

•ระบบอสม.ร่วมชุมชน ผู้ใหญ่บ้านมีความเข้มแข็ง สามารถเตือนภัย ติดตาม และรับมือกับความเสี่ยงได้ดี

•กล่าวโดยภาพรวม ชุมชนตื่นและตระหนักต่อโรคระบาดโควิด มีมาตรการป้องกัน ควบคุมทั้งทางการและทางสังคมที่เข้มงวด (น่าจะมากกว่าคนในเมือง)

•การดำเนินการของชุมชน ขับเคลื่อนด้วยพลังของชุมชน การสนับสนุนของภาครัฐยังไม่ชัดเจน งบประมาณที่ให้ไม่เพียงพอ หมู่บ้านต้องจัดการพึ่งตนเองเป็นหลัก

ผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ

•ชุมชนน่าน รายได้ลดลงกว่า 60% พ่อค้าเข้ามารับซื้อผลไม้ไม่ได้ แม้ภายหลังผ่อนคลายขายผลผลิต แต่ราคาลดลงกว่าครึ่ง ผลกระทบต่อความมั่นคงอาหารไม่มากนัก แต่กระทบรายได้ที่เป็นตัวเงิน เช่นค่าแรง

•ชุมชนมหาสารคาม เป็นช่วงที่ยังไม่เก็บเกี่ยวพอดีเลยไม่ค่อยเดือดร้อน ส่วนปลาเลี้ยงไม่ได้แล้วเพราะภัยแล้งยังไม่มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะคนท้องถิ่นทำงานกันเองทั้งหมดจึงไม่ลำบาก

•ชุมชนริมน้ำโขง  ยังพออยู่พอกินได้ ไม่เดือดร้อนปากท้องมากนัก แต่รายได้หดหายมากโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวรายได้ลดลง ตามปกติหาปลาในโขง ทำปลาร้าขายนักท่องเที่ยว แต่พอมีโควิดก็ขายไม่ได้ เดือดร้อนแรงงานเพราะแรงงานลาวที่จ้างวันละ 200 บาทเดินทางไม่ได้ ต้องจ้างคนไทยวันละ 300 บาทบวกค่าอาหารทำให้ต้นทุนเพิ่ม

•ชุมชนฉะเชิงเทรา การไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันทำให้เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจและวิถีชุมชน ไม่มีการจ้างงาน นาข้าวไม่ได้รับผลกระทบ แต่ยางพาราและผักผลไม้ราคาตก ผักผลไม้ขายไม่ได้เพราะพ่อค้าเข้าพื้นที่ไม่ได้ ราคาอาหารไม่ได้ขึ้นมากมายจนเดือดร้อน

•ชุมชนภูเก็ต-พังงา กลุ่มประมงกลับมาทำประมงเพราะไม่มีการท่องเที่ยว เกิดหนี้ก้อนโต จากการลงทุนเพื่อเตรียมรับ high season เช่นซื้อรถตู้ แต่พอเกิดโควิดก็ทำให้เป็นหนี้สินก้อนโต แม้แต่เจ้าหนี้นอกระบบที่ตามปกติแล้วจะร่ำรวยก็ลำบากเพราะคนไม่กล้ากู้ กลัวจะชำระคืนไม่ได้ ชาวสวนขายผลผลิตไม่ได้ จึงหันมาทำประมงเพื่อกินเองบ้าง ขายถูกๆบ้าง

•ชุมชนสงขลา ชาวบ้านต้องแยกระยะห่างกันมากขึ้น การจับจ่ายใช้สอยน้อยลง เศรษฐกิจแย่แต่ไม่ถึงกับอดอยาก พอมีกินอยู่ได้ในระยะสั้นๆ เกษตรกรที่ปลูกพืชเพื่อการค้ามากกว่าไว้บริโภคเอง ถ้าชุมชนไหนมีฐานออมทรัพย์หรือตลาดชุมชนจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า ผลผลผลิตข้าวไม่กระทบเพราะไม่ตรงฤดูกาล น้ำตาลไม่กระทบเพราะเป็นตลาด niche ผักราคาดีขึ้นเพราะผลผลิตออกน้อย ชาวสวนมะม่วงและประมงลำบากเพราะราคาตกเพราะไม่มีตลาด ต้นทุนการผลิตอย่างราคาเมล็ดพันธ์ ปุ๋ย และสารเคมีเพิ่มสูงขึ้น แต่ได้รับผลกระทบน้อยเพราะต้องลดการผลิต

•โดยภาพรวม แม้ผลกระทบโควิดต่อภาคเกษตรจะไม่รุนแรงเท่ากับภาคอื่นๆ (บริการ อุตสาหกรรม ) แต่มีลักษณะซ้ำเติมผลกระทบเดิมที่เกษตรกรย่ำแย่อยู่แล้วให้รุนแรงขึ้น

•ชุมชนไม่ได้มีปัญหาเรื่องความมั่นคงอาหารในครัวเรือนมากนัก เพราะยังเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ มีระบบอาหารในครัวเรือน ผลิตเพื่อบริโภคบางส่วน แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่เศรษฐกิจ รายได้ที่ลด รายจ่ายที่เพิ่ม

•พบปัญหาหนี้สินที่มากขึ้น แม้หลายชุมชนจะไม่พยายามกู้เพิ่ม เป็นทั้งหนี้ในระบบกับ ธกส. และหนี้นอกระบบ (โดยเฉพาะชาวบ้านที่ยากจนบางราย) ภาวะหนี้สินยังกระทบไปถึงระบบการเงินของชุมชน บางชุมชนเช่นจังหวัดน่าน ระบบออมทรัพย์ที่เคยเข้มแข็งกำลังเผชิญวิกฤติ มีการผ่อนผันหนี้สิน คนกู้เงินไปจ่ายหนี้นอกระบบ กับนายทุนข้าวโพด

•การผลิตบางประเภท เช่น ข้าว ข้าวโพด ยังไม่ถึงรอบการขาย ดังนั้นผลกระทบจากราคา และตลาดจะเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่ชุมชนยังคาดไม่ได้

แรงงานกลับบ้านหรือไม่

•น่าน ส่วนใหญ่ไม่ถูกเลิกจ้าง เพียงแค่รายได้ลดลง ส่งเงินกลับบ้านได้น้อยลง ส่วนกลุ่มที่กลับมา เนื่องจากไม่มีความต้องการแรงงานในพื้นที่ ลูกหลานที่กลับมาจากตัวเมืองจึงต้องออกไปรับจ้างที่อื่น เมื่อไม่มีงานรับจ้าง พ่อและแม่จึงต้องกู้หนี้มาใช้จ่ายกันในครัวเรือน ทำให้สมาชิกการเงินชุมชนลาออกไปถึง 1 ใน 3

•มหาสารคาม สะท้อนว่า ลูกหลานของชุมชน 20% ออกไปทำงานตามเมืองใหญ่ๆ กลุ่มนี้มักสุญเสียงานที่ทำและกลับบ้านได้แล้ว ส่วนอีก 15% อยู่ต่างประเทศ และยังทำงานได้อยู่ ชุมชนไม่ให้ลูกหลานที่ทำงานหรือเรียนอยู่ในเมืองกลับบ้านเพราะกลัวการกระจายของโรค แต่จะส่งความช่วยเหลือไปให้ เมื่อได้กลับมาแล้วก็นำเงินที่ได้จากการเลิกจ้างและความรู้ทางธุรกิจจากการทำงานกับบริษัทมาทำการเกษตรในพื้นที่บ้าง ขายสินค้าโอท้อปบ้าง

•ชุมชนริมโขง การออกไปทำงานรับจ้างเกิดขึ้นตั้งแต่แม่น้ำโขงมีปัญหา แต่แรงงานก็ไม่ได้กลับเพราะถูกกักตัวและคิดว่าสถานการณ์คงอยู่ไม่นาน และรอกลับไปทำงาน

•ชุมชนฉะเชิงเทราสะท้อนว่า กลุ่มที่ไม่ได้กลับมาเพราะถูกกักตัวก็ปรับตัวด้วยการขายของออนไลน์ และติดต่อมาขอหรือยืมเงิน แต่ก็ไม่มากนัก กลุ่มที่ได้กลับบ้านมักจะอยู่ในภาคบริการ แต่ก็ไม่ได้มาช่วยทำเกษตรเพราะไม่คุ้นเคย แค่กลับมาเพื่อรองานใหม่ กลุ่มที่อยู่ใกล้ภูมิลำเนาเดิมอยู่แล้ว พวกนี้ส่งเสริมงานทางภาคเกษตรให้ได้

•ชุมชนภูเก็ต-พังงา มีทั้งลูกหลานที่ทำงานในเมือง และแรงงานต่างถิ่นที่มาทำงานในภูเก็ต เผชิญปัญหาเมื่อรัฐออกมาตรการกักกันโรค ลูกหลานกลับบ้านไม่ได้ พ่อแม่ต้องส่งอาหารไปให้ เมื่อผ่อนคลายมาตรการกลับบ้านได้ กลับไปอยู่กับพ่อแม่เป็นภาระปากท้อง ปรับตัวด้วยการหาปลามากินในครัวเรือน แรงงานภาคการท่องเที่ยว โรงแรมไม่มีคนพัก พนักงานโรงแรมต้องออกจากงานโดยไม่ได้รับชดเชย ปรับตัวโดยการปลูกข้าวแต่ยังไม่ค่อยได้ผล ส่วนมากกลับมารองานในเมือง

•สรุปโดยภาพรวม แรงงานส่วนใหญ่ไม่กลับบ้าน เพราะไม่เห็นว่าอนาคตทางเศรษฐกิจการเกษตรในชุมชน ไม่มีความรู้ ทักษะการเกษตร จึงรอคอยงานในเมืองว่าจะกลับมา

•แรงงานเหล่านี้ปรับตัวหางานใหม่ อาชีพไปพลาง และได้รับการสนับสนุนอาหาร และรายได้จากชุมชน ซึ่งปรกติ แรงงานก็ไม่ค่อยมีเงินส่งกลับบ้าน ในภาวะนี้จึงต้องอาศัยการสนับสนุนจากชุมชน

•สภาวะเช่นนี้ สะท้อนได้ว่า แนวคิดที่จะให้แรงงานกลับไปทำเกษตรอย่างถาวรกับชุมชนยังเป็นไปได้ยาก ยกเว้นแรงงานตามฤดูกาลที่กลับมาทำเกษตรในบางช่วงอยู่แล้ว

นิเวศและฐานทรัพยากรในภาวะโควิด

•ในยามที่ประสบปัญหารายได้ลดลง ชุมชนต้องเพิ่มการพึ่งพาอาหารจากฐานทรัพยากรธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ชุมชนน่านและฉะเชิงเทราก็พึ่งพาพืชผัก อาหาร จากสวน และป่าชุมชนเพิ่มขึ้น ชุมชนริมโขงและน้ำชีก็อาศัยปลาจากน้ำโขงและตามทาม บุ่ง หนอง ที่อนุรักษ์ไว้ ชุมชนฉะเชิงเทรา เช่นเดียวกับชุมชนชายฝั่งทะเลภูเก็ตพังงา ก็กลับสู่ทะเลเป็นฐานรับรอง

•การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้เกิดขึ้นกับกลุ่มที่มีทักษะ (หาปลา ของป่า ฯลฯ) และนำมาจัดสรรในชุมชน

•ชุมชนที่มีฐานการฟื้นฟู ดูแลทรัพยากรอยู่แล้ว เช่น ป่าชุมชน ชายฝั่ง อนุรักษ์พันธุ์ปลา จัดการน้ำ ฯลฯ จะมีฐานนิเวศให้พึ่งพิงมากกว่าชุมชนที่ไม่มีฐานทรัพยากร

•ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อฐานทรัพยากร เช่น พืชพาณิชย์กับการใช้ที่ดิน เขื่อนกั้นแม่น้ำ ธุรกิจรุกทรัพยากร นโยบายกีดกันชุมชนต่อทรัพยากร กระทบต่อฐานทรัพยากร ทำให้การพึ่งพาทรัพยากรของชุมชนเป็นเพียงบางชุมชน บางด้าน

การตั้งรับ ปรับตัว

•ชุมชนน่าน ใช้วิธีประหยัดเงินมากขึ้น ปลูกผักบ้าง และ stock อาหาร กู้เงินจากกลุ่มออมทรัพย์ และเถ้าแก่ข้าวโพด หาอาชีพเสริม อำนวยความสะดวกให้พ่อค้าเข้ามารับซื้อผลผลิตจากชุมชน

•ชุมชนน้ำชีมหาสารคาม ใช้วิธีประหยัดเป็นหลัก แต่ก็ไม่สามารถช่วยได้มากนักเพราะปกติก็กินน้อยใช้น้อยอยู่แล้ว หนี้ครัวเรือนประมาณ 50,000 บาทต่อครอบครัว และไม่ได้กู้เพิ่มเพราะไม่มีใครสามารถให้ยืมเงินกันได้ และไม่อยากสร้างหนี้ใหม่

•ชุมชนริมน้ำโขง พยายามปรับตัวมาก่อนโควิด เช่น ทำปลาร้าไว้กิน เลี้ยงวัวควาย ทำผ้าย้อมคราม เป็นต้น

•ชุมชนฉะเชิงทเรา  ลดรายจ่าย + ปลูกผักสวนครัวกิน หันมารับจ้าง เช่นถางหญ้า เก็บสับปะรด ปลูกพืชสวนผสมไม่ค่อยได้เพราะมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ สหกรณ์ออมทรัพย์ช่วยไม่ได้มากเพราะการออมไม่พอจำนวนสมาชิก และเบิกถอนไม่ได้ หนี้สินเพิ่มไม่มาก

•ชุมชนภูเก็ต-พังงา  ปรับตัวโดยการประหยัด ปลูกผักสวนครัวกินเองเกือบทุกบ้าน และทำประมงเป็นอาหารไว้กินเอง เพราะขายไม่ค่อยได้ เจรจาผ่อนผันหนี้สินและไม่สร้างหนี้เพิ่ม กู้จากออมทรัพย์ เพราะได้ลดหย่อนดอกเบี้ย เพื่อเอาไปจ่ายหนี้นอกระบบ แต่ไม่อนุญาตให้พักหนี้ เกิดตลาดนัดชุมชนและเพจสาธารณะเช่นของตำบล เปิดเพื่อช่วยให้ชาวบ้านขายของได้

•ชุมชนสงขลา ปลูกพืชผักสวนครัวเพิ่มขึ้น ทำเกษตรอินทรีย์ไว้กินเอง และส่งให้โรงเรียนไว้บริโภค เปิดตลาดชุมชนเกษตรอินทรีย์โดยเกษตรกรขายตรงสู่ผู้บริโภค กู้หนี้ยืมสินจากเจ้าหนี้นอกระบบ เพราะในระบบเครดิตเต็มแล้ว กลุ่มออมทรัพย์อนุญาตให้ส่งเงินต้นน้อยลงและผ่อนผันหนี้แบบไม่มีค่าปรับ

•ระบบตลาดชุมชนท้องถิ่น เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงอาหาร แลกเปลี่ยนผลผลิตได้

•เกิดปรากฏการณ์แม่ค้าล้นเกินกว่าคนซื้อในชุมชน (กรณีสงขลา) ทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องได้ยาก

•โดยรวมแล้ว สภาวะการปรับตัวของชาวบ้านยังเป็นไปอย่างจำกัด ด้วยการลดค่าใช้จ่าย หันมาพึ่งความมั่นคงอาหารในครัวเรือนและชุมชน บางครัวเรือนไม่กู้หนี้เพิ่มเพราะไม่มีกำลังจะจ่ายลงทุน การหาทางอาชีพเสริมเป็นไปได้จำกัด เพราะชุมชนได้ทดลองมาหลายอย่าง แต่ไม่มีตลาด ทุน และความรู้ทักษะรองรับที่ชัดเจน

•เงื่อนไขการปรับตัวอยู่ที่ความพร้อมของชุมชน ชุมชนที่มีฐานทรัพยากรเป็นหลังอิง ยังพอมีความมั่นคงอาหารที่ไม่ผ่านตลาดได้ ชุมชนที่มีกลุ่มออมทรัพย์เข้มแข็ง (กรณีสงขลา ภูเก็ต) ระบบการเงินชุมชนยังช่วยเหลือชุมชนได้ดี สมาชิกยังมีวินัยทางการเงินอยู่ ชุมชนที่ฐานเศรษฐกิจหลากหลาย (บริโภค ขายในภาคนเกษตร และฐานเศรษฐกิจนอกภาคเกษตร) ยังกระจายความเสี่ยงไปได้

•ชุมชนที่ใกล้กับเมืองหรือเป็นเมืองมากทางเลือกนอกกลไกตลาด (สินค้า แรงงาน ฯลฯ) มีจำกัด ชุมชนพึ่งเกษตรพาณิชย์ (ขาดฐานทรัพยากร ผลิตเพื่อบริโภค กลไกตลาดท้องถิ่น) ทางเลือกปรับตัวจำกัด

•การดำเนินการของรัฐ เช่น ธกส. ที่มีโปรโมชั่นเงินกู้ก่อนโควิด กลับทำให้ชาวบ้านประสบปัญหาหนี้สินเป็นทุนเดิม เมื่อเผชิญวิกฤติโควิดจึงประสบปัญหารุนแรงขึ้น

•เกษตรกรจำนวนมากที่ถูกตรึงในระบบพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด ปาล์ม ยาง มัน ฯลฯ การปรับตัวทำได้ยาก เพราะชาวบ้านผูกติดกับระบบข้อตกลง หนี้สิน ฯลฯ  การถอยห่าง หรือออกจากโครงสร้างเหล่านี้ทำได้ยาก

•ชาวบ้านบางส่วนอยู่ได้เพราะเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ (แม้ไม่ทั่วถึง) นำไปใช้หนี้ นำไปลงทุนการผลิตทั้งในปัจเจก หรือกองเงินร่วมกัน ซึ่งเมื่อเงินที่รัฐสนับสนุนหมดลง ก็ยังไม่มีทางออกอื่น ยังรอคอยการช่วยเหลือจากรัฐ

•สภาวะโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมที่ตรึงเกษตรกรไว้ ทำให้พบว่า ชุมชนยังไม่ปรับตัวสร้างทางเลือกใหม่ได้มากนัก กล่าวอีกทาง การปรับตัวไม่สามารถเกิดขึ้นจากชุมชนโดยลำพัง ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับแนวคิด แบบแผน และโครงสร้าง

การช่วยเหลือของภาครัฐ

•มีคนในชุมชนจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือของรัฐ เช่น 5 พันบาทของเกษตรกรและผู้ใช้แรงงาน เพราะมีปัญหาการลงทะเบียน

•ไม่ปรากฏมาตรการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบและต่อเนื่องอย่างชัดเจน

•ชุมชนยังไม่รับรู้ หรือมีส่วนร่วมกับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาวะโควิดของภาครัฐ

•ข้อเสนอหลายประการที่รับรู้ เช่น การหาอาชีพเสริม การส่งเสริมแรงงานให้มาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ยังเป็นสิ่งที่ชาวบ้านเห็นว่าไม่มี

ข้อเสนอชุมชนต่อการช่วยเหลือของรัฐ ด้านจัดการโรคระบาด (หากมีรอบต่อไป)

•จัดหามาตรการจัดการผู้ลักลอบเข้าพื้นที่โดยเคร่งครัด

•ต้องการให้มีตัวบทกฎหมายควบคุมที่ชัดเจนและเจ้าหน้าที่มาช่วยควบคุม

•จัดหาหน้ากากอนามัยเพิ่ม เจลแอลกอฮอล์เพิ่ม

•อาสาสมัครเป็นกลุ่มเสี่ยงมาก ควรให้งบประมาณในการดูแลปกป้องการติดเชื้อ

ข้อเสนอชุมชนต่อมาตรการช่วยเหลือของรัฐด้านเศรษฐกิจ

•ในระยะสั้นให้ต่อเงินช่วยเหลือห้าพันบาทแบบถ้วนหน้า

•พักชำระหนี้ ลดราคาสินค้าที่จำเป็น

•จัดหากองทุนโควิดสำหรับหมู่บ้าน โดยให้ชาวบ้านบริหารจัดการกองทุนเอง

•สนับสนุนชุมชนจัดการน้ำในไร่นา และสายน้ำให้ยั่งยืน

•สนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน เช่น พันธุ์พืช ปุ๋ยชีวภาพ และอื่นๆ 

•ประกันราคาสินค้าเกษตรให้ครอบคลุม

•จัดหาตลาด (ตลาดท้องถิ่น ตลาดออนไลน์) ให้กับผลิตผลทรัพยากร การเกษตร และหัตถกรรมของชุมชน

•พัฒนาขนส่งสินค้าผลผลิตให้ชุมชน

•ส่งเสริมการท่องเที่ยวพื้นที่เชิงอนุรักษ์

•ส่งเสริมความรู้ ทักษะของชุมชนในการบริหารจัดการการผลิต เศรษฐกิจ

สรุป ผลกระทบและการปรับตัวของชุมชน

ชุมชนท้องถิ่นเผชิญวิกฤติก่อนโควิด โครงสร้างทรัพยากร ผลิต ตลาด เศรษฐกิจมาต่อเนื่องก่อนโควิด โควิดจึงเป็นปัจจัยทำให้เกิดวิกฤติที่รุนแรงมากขึ้น

ปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ ทำให้ชุมชนอ่อนแอลง เสี่ยง ขาดทางเลือก หลายปัจจัยเป็นความเสี่ยงที่จัดการไม่ได้ เช่น ปัญหาระบบนิเวศ ฐานทรัพยากร กลไกตลาด และยังเผชิญปัญหานโยบายและมาตรการของรัฐก่อนโควิดที่ทำให้ชุมชนอ่อนแอลง เช่น ระบบเงินกู้กับปัญหาหนี้สิน ระบบการจัดการทรัพยากร และความอ่อนแอทำให้ทางเลือกในการปรับตัวเป็นไปได้จำกัด การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมชุมชน ไม่ควรมองแยกสภาวะโควิดออกมาเดี่ยวๆ โดยไม่โยงกับโครงสร้างปัญหาที่ดำรงอยู่ก่อน

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจชุมชนเชื่อมโยงกันในระดับภูมิภาคที่มีศูนย์กลางทางเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ศูนย์กลางการค้า การท่องเที่ยว แรงงาน ตลาด ฯลฯ เมื่อเกิดผลกระทบในจุดต่างๆ จะเชื่อมโยงกันทั้งระบบ ดังนั้น การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน ต้องออกแบบให้เป็นระบบการจัดการในระดับภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากร มากกว่าเพียงดำเนินการเป็นจุดๆ

การสร้างความมั่นคงอาหารเป็นจุดเริ่มต้นและแนวทางสร้างฐานชุมชนที่ยั่งยืน ทุกชุมชนเข้าถึงทรัพยากรอาหารธรรมชาติท้องถิ่น ปลูกพืชผักผลไม้ในครัวเรือน และใช้กลไกตลาดอาหารท้องถิ่นในสร้างการเข้าถึงอาหาร ทิศทางส่งเสริมความมั่นคงอาหารในทุกมิติ (ปกป้องนิเวศ จัดการทรัพยากร การผลิตที่ยั่งยืน ตลาดท้องถิ่นให้เข้มแข็ง) เป็นทั้งมาตรการเร่งด่วนและหลักการสร้างความยั่งยืนในระยะยะยาว

ทุนทางสังคมที่สั่งสมต่อเนื่องและทางเลือกที่หลากหลายคือคำตอบในภาวะวิกฤติ ชุมชนที่มีการสร้างความเข้มแข็งต่อเนื่อง เช่น มีระบบการจัดการทรัพยากร มีระบบการเงินชุมชน มีการพัฒนาการผลิตที่ยั่งยืนและหลากหลาย กลไกสุขภาพในชุมชน และมีความสัมพันธ์ในชุมชนที่ดี ทำให้มีศักยภาพในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงได้สูง

ความเกื้อกูลระบบความสัมพันธ์ชุมชนกับเมือง ในภาวะปรกติ ลูกหลานที่ทำงานในเมืองหารายได้เพียงดำรงชีพให้รอด มีแค่บางส่วนที่ส่งเงินกลับมาสู่ครอบครัวชนบท ในภาวะวิกฤติ แม้ชนบทจะประสบปัญหาแต่ก็ยังเป็นพลังหนุน (เงิน อาหาร) ให้กับคนทำงานในเมือง การสร้างฐานชนบทให้เข้มแข็ง (ฐานทรัพยากร การผลิต เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม) จึงไม่เพียงช่วยหลือชุมชน แต่ยังส่งผลต่อคุณภาพการดำรงชีพของแรงงานในเมืองด้วย

นโยบายการคุ้มครองทางสังคมแก่ชุมชนท้องถิ่น ชุมชนเผชิญภาวะเสี่ยงก่อนโควิด โควิด และอื่นๆ ที่จะตามมา สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้างและความเปราะบางทางสังคม ข้อเรียกร้องของชุมชนสะท้อนถึงการต้องการระบบ “การคุ้มครองทางสังคม” ทั้งความมั่นคงนิเวศ ฐานทรัพยากร การผลิต การตลาด การประกันราคา กองทุน ฯลฯ โดยระบบการคุ้มครองควรพัฒนาในระดับภูมิทัศน์ (นิเวศ เศรษฐกิจ สังคม) และเชื่อมโยงจากชนบทสู่เมือง มีเครือข่ายทางสังคมและเชื่อมโยงกัน

วิกฤติเศรษฐกิจผสานกับวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่สำคัญคือ สภาวะโลกร้อน (ภัยแล้ง โรคระบาด ผลผลิตตกต่ำ นิเวศเสื่อมโทรม ฯลฯ) จะเป็นพายุครั้งใหญ่ที่จะกระทบชุมชนและโยงไปถึงสังคมทั้งระบบ เป็นสิ่งที่รัฐและสังคมต้องเร่งออกแบบการตั้งรับ ปรับตัว และเปลี่ยนผ่านชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็งโดยเร่งด่วน

Share Post :
Scroll to Top