ระบบข้อมูลข่าวสารกับการจัดการปัญหาฝุ่น pm 2.5

Share Post :

กรณีศึกษาสถานการณ์มลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก, แนวทางการขับเคลื่อนการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน, จุฑาทิพย์ มณีพงษ์ และคณะ, กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า.

กฤษฎา บุญชัย
สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

บทนำ

            ปัญหาฝุ่น pm 2.5 ได้กลายเป็นปัญหาระดับชาติ จากช่วงเหตุการณ์ที่ฝุ่นและหมอกควันได้ปกคลุมกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ปัญหาดังกล่าวได้เกิดอย่างรุนแรงต่อเนื่องโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่มาตั้งแต่ปี 2550 จนกลายเป็นข่าวระดับโลก แต่ในช่วงเวลานั้นยังไม่ได้มีระบุเจาะจงว่าเป็นฝุ่นขนาดเล็ก pm 2.5 จนกระทั่งผลกระทบที่รุนแรงเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อต้นปี ผนวกกับปัญหาฝุ่นในภาคเหนือก็รุนแรงยิ่งขึ้นกว่าทุกปี พร้อมไปกับฝุ่นควันในภาคอีสานที่กลายเป็นปัญหาระดับภาคก็ปะทุขึ้น ทำให้รัฐและสังคมตื่นตัวที่จะแสวงหาแนวทางป้องกัน แก้ไขอย่างจริงจัง

            บทความชิ้นนี้ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาฝุ่นทั้งระบบ แต่จะขอเจาะจงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการระบบข้อมูลข่าวสารของรัฐว่าได้นำไปสู่การสร้างความพร้อม การแก้ไขปัญหา และการวางแผนป้องกันหรือไม่เพียงใด พร้อมกับมีข้อเสนอแนะต่อแนวทางการจัดการข้อมูลข่าวสารเพื่อให้สังคมไทยมีความพร้อมในการจัดการปัญหาฝุ่น pm 2.5 ที่กำลังจะมาอีกในปีหน้า

จุดเริ่มต้นการประเมินผลกระทบฝุ่น pm 2.5

          ปัญหาฝุ่นหมอกควัน เป็นปัญหาระดับโลกและภูมิภาค โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่การขยายตัวของพืชอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น การเผาพื้นที่ป่าเพื่อปลูกปาล์มโดยกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในเกาะสุมาตรา อินโดนีเซียที่สร้างปัญหาหมอกควันแก่ภูมิภาคทั้งมาเลเซีย สิงค์โปร์ และภาคใต้ของไทยมาตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ทำให้กลุ่มประเทศอาเซียนต้องจัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยเรื่องหมอกควันในภูมิภาค ปี 2540 และเกิดข้อตกลงว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามแดนอาเซียน ในปี 2545 แต่ปัญหาหมอกควันในอินโดนีเซีย มาเลเซียก็ยังคงปะทุต่อเนื่อง แม้จะมีการออกมาตรการต่างๆ มาก็ตาม[1]

            ด้วยความตื่นตัวในระดับโลกและภูมิภาค ทำให้หน่วยงานรัฐไทยโดยกรมควบคุมมลพิษได้ออกมาตรการตรวจวัดฝุ่น pm 2.5 เป็นครั้งแรกในปี 2544 แต่ก็เป็นเพียงการตรวจในบางจุดเท่านั้น จนต่อมา

ในปี 2547 กรมควบคุมมลพิษได้ว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศึกษาและเสนอมาตรฐานความปลอดภัยของฝุ่น pm 2.5 โดยผลวิจัยเสนอว่า ค่ามาตรฐานที่ควรเป็นคือ ค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ย 24 ชม.อยู่ที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อมาในปี 2553 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติออกประกาศฉบับที่ 23 กำหนดค่ามาตรฐาน 24 ชม.อยู่ที่ 50 ไมโครกรัมฯ และค่ารายปีอยู่ที่ 25 ไมโครกรัมฯ[2]

            การดำเนินการของไทยในช่วงเวลานั้น ยังไม่ได้มีความชัดเจนถึงผลกระทบของฝุ่น pm 2.5 ต่อสุขภาพ จนเมื่อองค์การอนามัยโลกประกาศเมื่อปี 2544 ให้ฝุ่น pm 2.5 เป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็ง จนต่อมาในปี 2548 องค์การอนามัยโลกก็ได้กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศเพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์กลางของทุกประเทศ ไว้ที่ค่าเฉลี่ยราย 24 ชม.ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีที่ 10 ไมโครกรัมฯ โดยชี้ว่า “ไม่มีระดับปริมาณสารมลพิษระดับใดที่ถือได้ว่าปลอดภัยสาหรับทุกคน”

          แต่กรมควบคุมมลพิษ มองว่า การกำหนดมาตรฐานดังกล่าวต้องสอดคล้องกับความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี รวมถึงสภาพสังคม เศรษฐกิจ ของประเทศ ดังนั้นในปี 2553 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงออกประกาศฉบับที่ 23 กำหนดมาตรฐานฝุ่น PM2.5 โดยค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมงจะต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยในเวลา 1 ปี จะต้องไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร[3] ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก และต่ำกว่าข้อเสนอของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แม้องค์การอนามัยโลกจะเตือนถึงผลกระทบดังกล่าว และกรมควบคุมมลพิษก็ได้เริ่มตรวจวัด พร้อมกับศึกษาเพื่อกำหนดมาตรฐาน แต่ข้อมูลข่าวสารเรื่องสาเหตุ ที่มา ผลกระทบของฝุ่น pm 2.5 ยังไม่ได้เป็นที่รับรู้แก่สาธารณชนเท่าใดนัก โดยเมื่อสถานการณ์ฝุ่นเริ่มปรากฏผลกระทบในภาคใต้ ต่อมาก็เกิดในภาคเหนือ ซึ่งยังห่างไกลจากการรับรู้และตื่นตัวของคนกรุงเทพฯ ทำให้เรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นประเด็นสาธารณะเท่าใดนัก ทำให้ประเด็นปัญหาเรื่องการกำหนดค่ามาตรฐาน

ฝุ่นควันจากการเผาป่าและไร่ข้าวโพดในภาคเหนือ            

ปัญหาหมอกควันจากไฟป่าเริ่มเป็นที่กล่าวถึงในภาคเหนือมาตั้งแต่ปี 2550 แต่ข้อมูลเรื่องที่มา สาเหตุ และวิธีการจัดการฝุ่นยังไม่มีความชัดเจน แม้ในปีดังกล่าวรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้

ประกาศให้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือเป็นวาระแห่งชาติ แต่หน่วยงานรัฐต่างๆ ทั้งกรมควบคุมมลพิษ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ และอื่นๆ ก็ไม่ได้มีข้อมูลประมวลให้เห็นอย่างเป็นระบบ

            จนกระทั่งเกิดเหตุหมอกควันและไฟป่าที่รุนแรงที่สุดในปี 2562 จากการที่รัฐไม่ได้มี platform ที่ประมวลข้อมูลอย่างเป็นระบบ สถาบันอ้อผะหญา ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับชุมชนอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนที่ปลูกข้าวโพดและถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุของฝุ่นหมอกควัน ได้ประมวลข้อมูลจากดาวเทียมพบว่า นับตั้งแต่ปี 2552 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจำนวน hotspot สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพม่า ตามมาด้วย ไทย ลาว กัมพูชา โดยจำนวน hotspot สูงสุดในปี 2555 พม่ามีจุดฮอตสปอตถึง 5 หมื่นกว่าจุด และลดลงมาเรื่อย และปี 2562 ช่วงมค.-กพ. กัมพูชานำโด่ง ตามด้วยไทย ลาว และพม่า เมื่อเข้าช่วง มีค. พม่าสูงสุด ตามด้วยไทย ลาว กัมพูชา โดยข้อมูลดาวเทียมได้บ่งชี้ว่าตัวแปรสำคัญมาจาก ความกดอากาศสูงจากอ่าวตังเกี๋ยแผ่เข้ามาทางตะวันตก ปะทะกับความกดอากาศต่ำ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้สภาพอากาศปิด ไม่มีลม อากาศร้อนจัด มีฝนบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงใต้ แต่ภาคเหนือลมสงบ หมอกควันจึงกักขังอยู่ในแอ่งนานกว่าปกติ

            ข้อมูลดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงควาเข้าใจที่สังคมมีว่า ปัญหาฝุ่นหมอกควันไม่ได้มีสาเหตุหลักมาภาคเหนือของไทยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาของภูมิภาคจากธุรกิจข้าวโพดที่ขยายในประเทศต่างๆ และผสานกับสภาพภูมิอากาศที่ไม่เคลื่อนไหว ทำให้ปัญหาฝุ่นสะสมมากขึ้น และจากการตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษพบว่าตั้งแต่ปี 2550 ช่วงปลาย มค.ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ฝุ่น pm10 สูงเกินมาตรฐาน 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม. กระทบสุขภาพ และการใช้ชีวิตของประชาชน กระทบการท่องเที่ยว ส่งผลยอดจองโรงแรมช่วงสงกรานต์ลดลงถึงครึ่งหนึ่ง โดยปี 2555 ฝุ่นในภาคเหนือสูงขึ้น พบว่ามี 8 จังหวัด ที่มีปัญหาฝุ่นควันเกินค่ามาตรฐานคือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน และพะเยา โดยเฉพาะที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จนกระทั่งปี 2562 จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ติดอันดับเมืองที่ไม่ปลอดภัยจากฝุ่นสูงที่สุดในโลก             ข้อมูลดาวเทียมจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ระบุพบ พื้นที่ฮอตสปอตในพื้นที่ป่าสงวน ร้อยละ 86 ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 5.8 พื้นที่เกษตรร้อยละ 4.3 แต่ระบุประเภทพื้นที่ใช้เกณฑ์พื้นที่ตาม กม.ทำให้ระบุได้ไม่ชัดเจนว่า เกิดจากการเผาป่า หรือเผาพืชไร่ที่อยู่ในพื้นที่ป่าตามกฎหมาย ผลจากการที่ข้อมูลขาดความชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาในการกำหนดมาตรการของรัฐที่มุ่งควบคุมบังคับชุมชนในพื้นที่ป่าที่ใช้ไฟในการผลิตตามวิถีพื้นบ้าน เช่น เตรียมพื้นที่ไร่หมุนเวียน แต่ละเลยปัญหาไฟในพื้นที่แปลงข้าวโพด และความเข้าใจของสังคมที่คลาดเคลื่อน ผลก็คือ ชุมชนท้องถิ่นถูกปิดกั้นการเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการผลิตยังชีพ แต่ธุรกิจข้าวโพดที่สร้างปัญหาไฟและหมอกควันอย่างรุนแรงกลับไม่ได้รับการจัดการเท่าที่ควร

            ข้อมูลจากหน่วยราชการยังขัดแย้งกับมุมมองของคนในพื้นที่ นายสมเกียรติ มีธรรม สถาบันอ้อผะหญา ที่ร่วมแม่แจ่มโมเดลได้บอกเล่าว่า เมื่อก่อนชาวบ้านจุดไฟเผาป่าเพื่อหาอาหารจริง แต่ปัจจุบันลดลงไปมาก เพราะชุมชนมีการดูแลอย่างเข้มข้น ทั้งการคุมพื้นที่ ทำแนวกันไฟ เฝ้าระวัง การจัดการแม่แจ่มโมเดล ทำให้ไฟป่าทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่ข้าวโพดลดลงมาก ตั้งแต่ปี 2559

          ข้อมูลใดจะถูกต้องกว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับว่า หน่วยงานรัฐยังขาดข้อมูลเชิงระบบที่ละเอียด และเจาะจง และไม่ได้เปิดให้ชุมชน ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา จัดการ และตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร ผลจากข้อมูลที่ไม่ชัดเจน สับสน ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐ ประชาชน และชุมชนในพื้นที่ เกิดปรากฏการณ์กล่าวโทษกันไปมา ดังเช่น มีการเคลื่อนไหวของคนเมืองที่ประกาศไม่รับซื้อเห็ดเผาะจากชุมชน เพราะเข้าใจไปว่า ชุมชนเผาป่าเพื่อเอาเห็ด แต่ในสถานการณ์จริงในพื้นที่ การจะได้เห็ดต้องมีการดูแลจัดการไฟเป็นอย่างดี นอกจากนี้การที่รัฐกำหนดนโยบายสั่งการจากข้างบนโดยไม่มีข้อมูลจากข้างล่าง ทำให้มาตรการต่างๆ เช่น การห้ามเผาป่า ก็ไม่ได้ผล

            อย่างไรก็ตาม ปัญหาของความขัดแย้งไม่ได้เป็นเพราะขาดข้อมูล หรือข้อมูลคลาดเคลื่อน สิ่งที่อยู่ลึกไปกว่าข้อมูลก็คือ ทัศนคติและโครงสร้างความสัมพันธ์อำนาจระหว่างรัฐกับชุมชนในพื้นที่ป่าที่เป็นตัวกำหนด รัฐมีนโยบายควบคุมพื้นที่ป่าและชุมชนในพื้นที่ป่าอย่างเข้มข้นตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาจนมาถึงนโยบายทวงคืนผืนป่าตั้งแต่ปี 2557 ไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นระบบการผลิตพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงถูกกล่าวหาว่าเป็น “ไร่เลื่อนลอย” ทำลายป่า ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์หมอกควันและไฟป่า รัฐจึงพุ่งเป้าไปที่พวกเขา กระบวนการจัดการข้อมูลของรัฐก็ยังถูกจำกัดด้วยทัศนคติดังกล่าว

วิธีคิดการจัดการป่าแบบรัฐอำนาจนิยมได้เผยแพร่จนเป็นทัศนคติของสังคม จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ข้อมูลบทบาทของชุมชนที่ทุ่มเทแรงกาย ใจ ร่วมมือจัดการไฟป่าอย่างเต็มที่กลับไม่ปรากฏสู่สาธารณะ เพราะถูกบดบังด้วยวิธีคิดที่มองชาวบ้านเป็นศัตรูต่อป่า ทำไมภาควิชาการ ภาคสังคมที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมบางส่วนจึงพัฒนาข้อเสนอการจัดการหมอกควันและไฟป่าที่ไม่พิจารณาสภาพความเป็นจริงของสังคม เช่น ข้อเสนอ zero burning ที่ห้ามชาวบ้านจุดไฟในพื้นที่ป่าโดยเด็ดขาด โดยไม่คำนึงว่าไฟเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศป่าผลัดใบ และเป็นส่วนสำคัญของการผลิตพื้นบ้าน ข้อมูลบนฐานคติที่คลาดเคลื่อนเช่นนี้ไม่สามารถลดปัญหาหมอกควันและไฟป่าได้เลย มีแต่โหมกระพือความขัดแย้ง แตกแยกระหว่างชุมชนบนที่สูงกับรัฐและคนเมือง แม้ท้ายที่สุดไฟป่าและหมอกควันจะดับไปจากฤดูฝนที่ย่างกรายเข้ามา แต่ก็พร้อมจะกลับมาลุกโหมใหม่ในฤดูแล้งปีหน้า

หนทางที่ง่ายที่สุดที่จะการจัดการทัศนคติที่คลาดเคลื่อนก็คือ การทำฐานข้อมูลจุดฮอตสปอตที่สัมพันธ์กับพื้นที่อย่างเจาะจง ข้อมูลทิศทางลม ข้อมูลระบบนิเวศ การเปลี่ยนแปลงสภาวะโลกร้อน ระบบการผลิต การขยายตัวพืชเศรษฐกิจ ข้อมูลผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจข้าวโพด และที่สำคัญคือข้อมูลวิถีชีวิตของชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ป่าให้เป็นที่ประจักษ์ ครอบคลุมรอบด้าน และให้ชุมชน ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา ใช้ และตรวจสอบข้อมูลอย่างทั่วถึง ย่อมจะสลายมายาคติที่กำหนดนโยบายมาสู่การพัฒนานโยบายการจัดการหมอกควันไฟป่า ฐานทรัพยากร และชุมชนบนที่สูงอย่างมีส่วนร่วม

ข้อมูลที่ไม่ปรากฏจากปรากฏการณ์ฝุ่นควันจากไร่อ้อยในอีสาน

            ท่ามกลางปัญหาฝุ่นควันที่ประเดประดังในภาคเหนือและกรุงเทพฯ ข่าวคราวฝุ่นควันในภาคอีสานจากอุตสาหกรรมไร่อ้อยที่มีระบบเกื้อหนุนให้เผาแปลงอ้อยเพื่อสะดวกในการเก็บเกี่ยว และพ่วงด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวลจากการอ้อยปรากฏเพียงครั้งคราว

            การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของสังคมในเรื่องดังกล่าวไม่ได้มาจากภาครัฐ แต่มาจากนักวิชาการอิสระที่นำเสนอเรื่องราวผ่านสื่อสังคมสมัยใหม่ และสื่อมวลชน ภาพฝุ่นควันคละคลุ้งจากการเผาอ้อย แม้จะไม่ได้ลอยเข้ามาครอบคลุมเขตเมืองอย่างรุนแรงเหมือนเชียงใหม่ แต่ก็ทำให้ชุมชนในพื้นที่รอบไร่อ้อยต้องเผชิญปัญหาฝุ่นควันอย่างรุนแรง

            การเผาอ้อยมาจากการเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำตาล มีการเผาอ้อยที่เป็นพืชเชิงเดี่ยวภายใต้ระบบโควต้าซึ่งเป็นพันธะสัญญารูปแบบหนึ่ง โรงงานน้ำตาลหลายแห่งยังพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลที่หลายแห่งไม่มีการควบคุมที่ดีพอ ปล่อยมลพิษออกสู่อากาศด้วย

            ขณะที่ในปัจจุบัน จะเกิดโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลอีกอย่างน้อย 4 แห่ง คือที่บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น อ.เสลภูมิ อ.ปทุมรัตน์ และ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด โรงงานแต่ละแห่ง จะส่งผลให้มีการปลูกอ้อยประมาณ 3 แสนไร่

            กระบวนการผลิตอ้อยที่ทำให้เกิดปัญหาเผาพื้นที่ไร่อ้อยเริ่มจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้กำหนดวันเริ่มต้นวันหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 2561/62 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 ถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ทำให้เกษตรกรต้องรีบตัดอ้อยส่งโรงงาน นั่นคือ การเผาไร่อ้อย เพื่อให้สะดวกในการตัดและเก็บขน

            แรงงานตัดอ้อยสะท้อนว่าในวันนึง การตัดอ้อยสด แรงงานจะตัดได้ 100 กว่ามัด ถ้าตัดอ้อยไฟไหม้ก็จะได้ 300 กว่ามัด แม้ค่าจ้างตัดอ้อยสดจะสูงกว่า แต่ตัดอ้อยไฟไหมคุ้มกว่า โดยค่าตัดอ้อยสดตันละ 180-200 บาท ตัดอ้อยไฟไหม้ ราคาตันละ 110-120 บาท แต่ใน 1 วัน จะตัดอ้อยไฟไหม้ได้ปริมาณมากกว่าตัดอ้อยสดถึง 3 เท่า

            ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา มีการเผาไร่อ้อย สร้างปัญหาฝุ่นมาถึงภาคตะวันออกและภาคอีสานของไทยด้วยเช่นกัน ทำให้ปัญหาฝุ่นควันในภาคอีสานโดยเฉพาะในบริเวณที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านขยายตัวยิ่งขึ้น

            เป็นที่น่าแปลกใจว่า ขณะที่ปัญหาฝุ่นควันจากไร่อ้อยในอีสานรุนแรงขึ้น แต่เครื่องมือการตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษกลับมีน้อยมาก มีแค่เพียงจังหวัดเลย ขอนแก่น และนครราชสีมา[4] และมีในจำนวนน้อย ทำให้การรายงานข่าวสารเพื่อเตือนภัยและประเมินผลกระทบที่มีต่อสุขภาพประชาชนมีน้อยมาก ปัญหาฝุ่นควันในอีสานจากอุตสาหกรรมอ้อยจึงถูกรัฐและสังคมเพิกเฉย ประชาชนในพื้นที่ไร่อ้อยเป็นผู้รับผลกระทบมากที่สุด แต่อุตสาหกรรมอ้อยกลับไม่ได้การตรวจสอบจากรัฐและสังคมเท่าใดนัก

ฝุ่นควันจากโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ปรากฏหรือไม่ถูกวัด

            ปัญหาฝุ่น pm 2.5 ในกรุงเทพฯ ทำให้สังคมเชื่อมโยงไปถึงฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรมในปริมณฑลด้วย สิ่งที่น่าพิจารณาคือ ผลกระทบฝุ่น pm 2.5 จากโรงงานอุตสาหกรรมอาจจะมากกว่าฝุ่นที่มาจากการเผาไหม้ทางการเกษตร เพราะฝุ่นในภาคอุตสาหกรรมนำพาสารเคมีร้ายแรงหลายชนิดที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น พีเอเอช สารปรอท แคดเมียม อาร์เซนิก เป็นต้น

            แต่นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ชี้แจงถึงผลที่ทำให้สังคมแปลกใจว่า การตรวจวัดฝุ่นละอองของโรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 2,095 โรง ว่าไม่พบโรงงานที่มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ส่วนฝุ่น pm 10 อยู่ในค่ามาตรฐาน[5]

            แต่จากข้อมูลของกรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า ปัจจุบันโรงงานในประเทศไทยมี 1.4 แสนโรง เป็นโรงงานจำพวกที่ 2 และ 3 ตาม พรบ.โรงงาน ส่วนจำนวนนิคมอุตสากรรม เขตอุตสาหกรรมในไทยมี 87 แห่ง  แม้แต่โรงไฟฟ้าแม่เมาะไม่มีการตรวจวัดความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 มีแต่วัดค่าฝุ่น PM 10 และจากแบบจำลองการกระจายตัวของฝุ่น PM 2.5 ใน กทม.และปริมณฑล พบว่า กระจุกตัวใน จ.สมุทรปราการ เพราะมีภาคอุตสาหกรรมหนาแน่น รองลงมา จ.สมุทรสาคร ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาฝุ่นพิษหนักอย่างต่อเนื่อง ภัยฝุ่นจิ๋วยังมาจากโรงไฟฟ้าเก่า ซึ่งไม่ตรวจวัด PM 2.5 เช่นเดียวกันเตาเผามูลฝอยใหม่และเก่า ตลอดจนเตาเผามูลฝอยติดเชื้อ ซึ่งตรวจวัดแต่ปริมาณฝุ่นละอองรวม กทม.มีโรงเผาขยะผลิตไฟฟ้าขนาด 300-500 ตัน โรงขยะหนองแขม เป็นแหล่งกำเนิด PM 2.5 กลับไม่พูดถึงการจัดการที่ปลายปล่องอุตสาหกรรม[6] 

          กรีนพีชยังเรียกร้องให้จัดการฝุ่นทุติยภูมิและโรงงานอุตสาหกรรมรอบๆ ที่ปล่อยด้วย ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยไม่มีข้อมูลหรือกฎหมายเพื่อบังคับให้รายงานฝุ่น PM 2.5  ทำให้ไม่สามารถวางแผนป้องกันหรือลดการปล่อย PM 2.5 ได้

            ดังนั้น ปัญหาเรื่องข้อมูลของฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรมขณะนี้จึงเป็นเรื่อง การไม่ระบบการวัดข้อมูลการปล่อยฝุ่น pm 2.5 จากโรงงานอุตสาหกรรม เพราะรัฐไม่ได้กำหนดค่ามาตรฐานการปล่อยฝุ่นที่ปล่องโรงงาน เมื่อไม่มีการวัดจึงปรากฏว่าไม่พบปัญหาฝุ่น pm 2.5

            ปัญหาฝุ่นจากภาคอุตสาหกรรมยังอาจเชื่อมโยงไปสู่ภาคเมืองด้วย จากข้อสังเกตของมูลนิธิบูรณะนิเวศว่า ฝุ่นควันจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและอื่นๆ ในภาคตะวันออก และจากฝั่งสมุทรสาคร นอกจากนี้ยังพบโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ใช้ถ่านหินเป็นพลังงานซึ่งไม่ได้อยู่การตรวจสอบผลกระทบจากรัฐ ฝุ่นควันเหล่านนี้ลอยไปสมทบกับฝุ่นควันที่อยู่เมืองกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลการวัดการปล่อยฝุ่นจากโรงงาน ทำให้ไม่สามารถสรุปได้ว่า ฝุ่น pm 2.5 จากภาคอุตสาหกรรมได้ซ้ำเติมฝุ่นควันในเมืองหรือไม่ เพียงใด

            สรุปปัญหาฝุ่นควันโรงงานอุตสาหกรรมขณะนี้ คือ ขาดการวัดปริมาณและชนิดฝุ่นที่ปลายปล่องโรงงาน ทำให้ขาดข้อมูลปริมาณสารพิษที่โรงงานอุตสาหกรรมสร้างขึ้น และไม่มีการจัดทาบัญชีการระบายมลพิษทางอากาศ (PRTR ) จากโรงงานอุตสาหกรรม

ฝุ่นควันในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่

ฝุ่นในกรุงเทพฯ มีที่มาจาก เกิดปรากฏการณ์อากาศปิดแบบโดมความร้อนผกผัน ทำให้ฝุ่นลอยคว้างในอากาศนานขึ้น ด้วยสภาพอาคารสูงมีโอกาสได้รับผลกระทบสูงจากการเคลื่อนตัวของฝุ่น PM 2.5 เพราะฝุ่นลอยตัวต่ำในช่วงเช้า แต่พอเริ่มสาย ฝุ่นจะลอยตัวสูงขึ้น

สาเหตุฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มาจาก รถยนต์ ร้อยละ 55 (ทั้งจากการเผาไหม้ที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ และจากผ้าเบรก) การเผาไหม้ที่โล่งแจ้ง ร้อยละ 14 ฝุ่นทั่วไปและงานก่อสร้าง ร้อยละ 9 ฝุ่นข้ามพรมแดน ร้อยละ 6 ฝุ่นจากดินและถนน ร้อยละ 1

            พบว่าแถบพระราม 2 ต่อเนื่องสมุทรสาคร มีฝุ่นในปริมาณสูงมากอย่างต่อเนื่อง พบว่าเป็นหนึ่งในเขตอุตสาหกรรม ที่มีนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง มีโรงงานมากกว่า 130 โรงงาน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นพื้นฐานหลักของจังหวัด ที่มาจากกระบวนการและกิจกรรมทางอุตสาหกรรม

            ฝุ่นที่สระบุรีมาจากนิคมอุตสาหกรรม และการขุดดิน ระเบิดหิน รวมถึงฝุ่นที่มาจากพื้นที่อุตสาหกรรมหรือการเผาทางการเกษตรทางภาคตะวันตกทั้งหมด ที่ลอยมาตามแนวสันเขาเพื่อออกสู่อ่าวไทย มาผ่าน จ.สมุทรสาคร

โดยสรุปสาเหตุหลักมาจากรถยนต์ที่เผาพลาญพลังงานฟอสซิล ปล่อยฝุ่นควัน ในสภาวะการจราจร คมนาคมขนส่งมีส่วนสร้างมลภาวะฝุ่นมาก โครงสร้างผังเมืองที่แออัด ไม่เอื้อต่อการระบายอากาศ และมีความเป็นได้สูงที่ฝุ่นควันจากอุตสาหกรรมในปริมณฑลก็แผ่มาถึงเมือง

ปัญหาข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในภาคเมืองก็เช่นเดียวกับภาคอื่นๆ คือ รัฐยังไม่มีระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ละเอียด ครอบคลุมทุกพื้นที่ จุดตรวจวัดคุณภาพอากาศยังมีน้อย และเป็นภาพรวม แต่หน่วยงานต่างๆ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล พื้นที่สาธารณะ ต่างๆ กระทั่งชุมชน ไม่มีเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศเพื่อประเมินสถานภาพอย่างเฉพาะเจาะจง

นอกจากนี้ ข้อมูลเรื่องหน้ากากป้องกันฝุ่นมีความสับสน เช่น หน้ากาก N95 หรือใช้วัสดุทดแทน วิธีการใช้ที่เหมาะสม และการเข้าถึงก็ยังมีปัญหา

นอกจากขาดการวัดที่ละเอียดทั่วถึง ระบบฐานข้อมูลเรื่องคุณภาพอากาศก็มีความสับสน แต่ละหน่วยงานใช้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศที่แตกต่างกัน เช่น กรมควบคุมมลพิษ ใช้ฐานข้อมูล (air4thai.pcd.go.th) แต่ก็ยังมีหน่วยงานต่างประเทศ คือ The World Air Quality Project มีระบบข้อมูล (aqicn.org) หรือของ IQ Air (airvisual.com) ใช้วิธีที่ต่างกัน ทำให้ค่าที่ได้ต่างกัน แต่ละหน่วยงานใช้เครื่องมือ จุดวัด และการประมวลผลที่แตกต่างกันทำให้ได้ค่าดัชนีที่ต่างกัน สร้างความสับสนให้กับหน่วยงานต่างๆ

นอกจากนี้ระบบข้อมูลที่รัฐเผยแพร่ ก็ไม่ได้แจ้งเตือนสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากใช้การคำนวณจากค่าการตรวจวัดเฉลี่ย 24 ชม.ที่ย้อนหลัง แต่สภาพอากาศจริงเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

จากสภาพที่ขาดข้อมูลที่แม่นยำ มีความสับสน ทำให้ประชาชนต้องหาทางออกกันเอง เช่น บางโรงเรียน บางหน่วยงานติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศเองเพื่อใช้กำหนดแผนการป้องกันภัย บางหน่วยงานต้องเลือกที่จะประมวลค่าดัชนีเอง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เจาะจง โดยอิงกับมาตรฐานที่ปลอดภัยที่สุด นอกจากนี้ทั้งประชาชนและหน่วยงานก็หาทางออกการป้องกันตนเองด้วยการจัดซื้อหน้ากาก เครื่องฟอกอากาศ และอื่นๆ โดยไม่ระบบข้อมูลมารองรับอย่างชัดเจน

สรุป

            ปัญหาฝุ่น pm 2.5 ได้เผยให้สังคมไทยเห็นว่า รัฐและสังคมไทยยังขาดความพร้อมในการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุปัญหา การป้องกัน การประเมินผลกระทบ การรับมือ การแก้ไขฟื้นฟู โดยมีสาเหตุหลักๆ ดังนี้

  • รัฐขาดการกำหนดมาตรฐานฝุ่น 2.5 ในระดับที่ปลอดภัยเป็นที่ยอมรับ
  • ยังไม่มีการวัดการปล่อยในแหล่งกำเนิดอย่างละเอียด ทั้งภาคเกษตร เมือง และอุตสาหกรรมอย่างแยกแยะ เจาะจง
  • ไม่มีข้อมูลปริมาณสารพิษ และการจัดทำบัญชีการระบายมลพิษทางอากาศ และผลกระทบจากสารพิษที่ชัดเจน
  • ขาดการประเมินผลกระทบในทุกมิติทั้งในระดับโครงการและภาพรวม
  • ขาดการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่มีผู้เกี่ยวข้องหลายส่วน
  • ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนา ใช้ประโยชน์ และประเมินข้อมูลอย่างทั่วถึง

ตารางข้อมูล แหล่งข้อมูล ความเพียงพอข้อมูล มลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก

ประเภทข้อมูลวัตถุประสงค์ข้อมูลแหล่งข้อมูลความเพียงพอ
ข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI)ใช้วิเคราะห์ความรุนแรงของมลพิษฝุ่นกรมควบคุมมลพิษ -App Air4thaiไม่เพียงพอ  ขาดข้อมูลที่กระจายทั่วถึงทุกพื้นที่
ข้อมูลจุดฮอตสปอตใช้วิเคราะห์ที่มา ความรุนแรง และใช้ตรวจสอบมาตรการดำเนินการGISTDAไม่เพียงพอ ขาดการระบุสภาพการใช้ที่ดินในพื้นที่
ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงนิเวศ การใช้ทรัพยากร การผลิต และวิถีของชุมชนที่เกี่ยวข้องกับไฟในพื้นที่ป่าใช้วิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมการจัดการไฟของชุมชนหน่วยไฟป่า กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ  ไม่เพียงพอ คลาดเคลื่อน
ข้อมูลสารพิษที่มากับฝุ่นจากการเผาพืชเกษตรใช้วิเคราะห์ระดับปัญหา ผลกระทบจากมลพิษฝุ่น และวางแผนป้องกันไม่มี 
ข้อมูลต้นทุน ความเหมาะสมทางเศรษฐกิจเปรียบเทียบการจัดการด้วยไฟกับทางเลือกที่ไม่ใช้ไฟในการเผาเตรียมพื้นที่เกษตรใช้ในการวางแผนพัฒนาทางเลือกการจัดการหมอกควัน ฝุ่นจากภาคเกษตรที่เหมาะสมไม่มี 
ข้อมูลบัญชีการระบายมลพิษทางอากาศ (PRTR ) จากโรงงานอุตสาหกรรมใช้ตรวจสอบที่มา ความรุนแรง และกำหนดแนวทางจัดการฝุ่นที่ต้นกำเนิดจากโรงงานกรมโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่ได้จัดทำ
ข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหินใช้ประเมินที่มา สาเหตุ และแนวทางกำกับการใช้พลังงานของอุตสาหกรรมไม่ให้ก่อมลพิษฝุ่นกรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่มีข้อมูลปรากฏ
ข้อมูลการปริมาณ ทิศทางฝุ่นข้ามแดน ข้ามจังหวัดใช้ตรวจสอบที่มา ความรุนแรง และกำหนดแนวทางจัดการฝุ่นที่ต้นกำเนิดกรมอุตุนิยมวิทยา, GISTDAไม่มี
ข้อมูลการประเมินผลกระทบสุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยแยกตามภาคส่วน เช่น เมือง ชนบท หรือเฉพาะด้าน เช่น การท่องเที่ยว ค่ารักษาพยาบาล และอื่นๆใช้วิเคราะห์และวางแผนกำหนดนโยบายการจัดการเชิงโครงสร้างเพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นกรมควบคุมมลพิษ, สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมฯ กระทรงสาธารณสุขไม่มี
ข้อมูลขีดจำกัด (carrying capacity) ของปริมาณรถยนต์ที่เมืองจะรองรับได้โดยไม่เกิดฝุ่นละอองเกินมาตรฐานใช้วางแผนการด้านคมนาคมขนส่ง และการจัดการเมืองให้เหมาะสมไม่ให้สร้างปัญหามลพิษฝุ่นกรมควบคุมมลพิษไม่มี

เมื่อข้อมูลกลางไม่เพียงพอ ไม่ตอบโจทย์ ประชาชนเองก็ขาดเครื่องมือในการวัดคุณภาพอากาศเพื่อวางแผนชีวิตและหาทางเลือกในการป้องกันตนเอง ทำให้ผลกระทบรุนแรง และเมื่อขาดข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์และวางแผนอย่างรอบด้าน ทำให้การกำหนดนโยบายผิดพลาด ไม่นำมาสู่การแก้ปัญหาในรากฐาน สังคมติดอยู่ในมายาคติ (ตอกย้ำความเชื่อเดิมที่คลาดเคลื่อน และเห็นเพียงปรากฏการณ์ที่ปลายเหตุ) ไม่รวมพลังเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้

Share Post :
Scroll to Top