การคุ้มครองทางสังคม (Social Protection)

การคุ้มครองทางสังคม ตามความหมายของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หมายถึง การจัดระบบหรือมาตรการในรูปแบบต่างๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ ไม่ว่าจะเป็นบริการสังคม การประกันสังคม การช่วยเหลือทางสังคม การคุ้มครองอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Nets) สำหรับผู้ด้อยโอกาสและคนยากจน และการจัดการกับความเสี่ยงทางสังคม (Social Risk Management) ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ สังคม และภัยพิบัติต่างๆ

ในอดีตที่ผ่านมาก่อนหน้าการระบาดของไวรัสโควิด 19 นั้น ระบบคุ้มครองทางสังคมที่นิยมใช้กันในประเทศไทยนั้นจะเป็นระบบประกันสมทบเป็นหลัก ได้แก่ประชาชนจ่ายเบี้ยประกันส่วนหนึ่ง และนายจ้างหรือรัฐสมทบอีกส่วนหนึ่ง แต่เมื่อประเทศไทยประสบกับปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ระบบนี้จึงพบกับอุปสรรคสำคัญ ได้แก่คนรุ่นใหม่นิยมทำอาชีพอิสระนอกระบบประกันกันมากขึ้น และแรงงานนอกระบบมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อเกิดการระบาดของไวรัสโควิด 19 ระบบนี้ยิ่งด้อยประสิทธิภาพลง เนื่องจากการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึงด้วยเหตุผลเดียวกัน ทำให้ความช่วยเหลือกระจุกตัวอยู่กับลูกจ้างที่อยู่ในระบบและ/หรือผู้สมัครรับความช่วยเหลือที่มีความสามารถในการเข้าถึงช่องทางออนไลน์ ทำให้ประชากรกลุ่มที่ยากจนที่สุดที่มีโอกาสเข้าถึงคอมพิวเตอร์ไม่ถึง 3% และเข้าถึงอินเตอร์เน็ตไม่ถึง 1% ไม่ได้รับความเป็นธรรม

การคุ้มครองทางสังคมจึงเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งเป็นชุดพัฒนาเพื่อลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ชุมชน โดยการบรรเทาภาวะความยากจนข้นแค้นของประชากรด้วยระบบสวัสดิการที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน สร้างความเข้มแข็งในการพึ่งพาตนเอง และยังสามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรในระยะยาวอย่างมั่นคงและเป็นธรรมได้อีกด้วย โดยที่ชุดการพัฒนาเหล่านี้จะมีที่มาจาก 1) ทางภาครัฐ เช่นงบประมาณช่วยเหลือเยียวยา สวัสดิการสังคม และการศึกษา 2) จากชุมชนเอง เช่นระบบการเงินชุมชนและระบบการจัดการทรัพยากร และ 3) จากประชาสังคม เช่นการผลักดันนโยบายเชิงรุกจากชุมชนสู่รัฐ และเชื่อมต่อทรัพยากรกับกลุ่มชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็ง (ดร.กฤษฎา บุญชัย)

ชุดการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพตามทฤษฎีของ Truman Packard* นั้นควรประกอบไปด้วย

  1. สิทธิเท่าเทียมถ้วนหน้าจากภาษีประชาชน สิทธิในขั้นนี้ควรมีมูลค่าเพียงพอในการขจัดความยากจนและความสูญเสียอย่างเฉียบพลันที่เกิดจากอุบัติภัย ซึ่งรัฐควรให้แก่ทุกคนที่สมัครโดยไม่มีระบบคัดกรองหรือไม่ต้องคำนึงว่าจะมีฐานะยากจนมากหรือไม่ เนื่องจากอุบัติภัยอาจกระทบกับโอกาสในการทำงานในอนาคตที่จะตามมา แต่ไม่กระทบกับฐานะทางการเงินที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีมูลค่าการช่วยเหลือจะลดหลั่นลงไปตามฐานะทางการเงิน หรือกลุ่มของผู้ได้รับสิทธิ (เช่นเด็กและผู้สูงอายุ) ก็เป็นได้

การจัดกลุ่มผู้ได้รับสิทธิจะต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดที่พอดีๆ มาตรการที่เข้มงวดมากเกินไปจะทำให้ความช่วยเหลือไม่สามารถเยียวยาความเดือดร้อนได้ ในขณะที่มาตรการที่ย่อหย่อนเกินไปทำให้งบประมาณไม่เพียงพอกับรายจ่าย โดยรัฐจะต้องเริ่มเก็บข้อมูลประชากรโดยละเอียดเพื่อให้สามารถแจกจ่ายความช่วยเหลือไปที่บุคคลโดยตรงให้มากที่สุดและรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากเป็นช่องทางที่จะหลีกเลี่ยงการคอรัปชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ในปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเอาหลักการสิทธิเท่าเทียมถ้วนหน้ามาใช้อย่างได้ผลในการสาธารณสุข ได้แก่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่สามารถลดค่าใช้จ่ายสุขภาพต่อรายได้ของประชากรกลุ่มที่ยากจนที่สุดให้ใกล้เคียงกับประชากรกลุ่มที่รวยที่สุดได้ (ต่ำกว่า 2%) ซึ่งนับว่าประเทศไทยให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพแก่ประชาชนค่อนข้างสูงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยรวมทุกประเทศ ส่วนสวัสดิการด้านอื่นๆที่ยังนับว่าขาดแคลนอยู่มาก ได้แก่

  1. เงินสนับสนุนเด็กและเยาวชน
    1. การศึกษา
    1. ที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน
    1. งานและรายได้
    1. ระบบประกันสังคม
    1. บำนาญผู้สูงอายุ
    1. สิทธิทางสังคมและพหุวัฒนธรรม ประชากรกลุ่มเฉพาะ
    1. ปฏิรูประบบภาษี
  2. ประกันสังคมภาคบังคับ (พนักงานออมแล้วนายจ้างและ/หรือรัฐสมทบ)   เพื่อประกันฐานะทางการเงินในระยะยาว โดยที่รัฐอาจเพิ่มสัดส่วนการสมทบเพื่อให้ผู้เอาประกันได้ประโยชน์มากขึ้น
  3. กรมธรรม์สำคัญที่ควรต้องมีเป็นประกันทางเลือกเสริมที่รัฐแนะนำหรือบังคับใช้กรมธรรม์สำคัญๆที่รัฐตัดสินใจว่าประชาชนควรมีไว้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง เช่นประกันการเดินทางและประกันทรัพย์สิน
  4. กรมธรรม์จากบริษัทประกันเอกชนตามความสมัครใจ เช่น ประกันเพื่อการออมและประกันชีวิต ซึ่งรัฐควรเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบความเป็นธรรมและการให้ผลตอบแทนของกรมธรรม์ของบริษัทประกันเอกชน

จากแนวคิดในการเพิ่มอัตราสมทบจากรัฐเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นในหลักการประกันถ้วนหน้านั้น คำถามสำคัญที่ตามมาจึงได้แก่ จะทำอย่างไรรัฐจึงสามารถจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอสำหรับการนำเอาหลักการสิทธิเท่าเทียมถ้วนหน้ามาใช้ในระบบสวัสดิการอีก 8 ด้านที่เหลือ Truman Packard เสนอว่ารัฐบาลควรทดลองโยกย้ายงบประมาณเสียใหม่โดยตัดงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพและล้าหลังออก ยกตัวอย่างเช่นโยกงบประมาณบางส่วนจากกองทุนน้ำมันซึ่งตามปกติแล้วจะมีมูลค่าที่สูงมากมาให้แก่หลักประกันถ้วนหน้า และเน้นใช้วิธีการเก็บภาษีแบบก้าวหน้าให้มากกว่าที่ผ่านมาในอดีต รวมไปถึงภาษีที่มีผลกระทบน้อยต่อผู้มีรายได้น้อยอย่างเช่นภาษีที่ดิน ภาษีมรดก หรือภาษีสิ่งแวดล้อมเช่นภาษีคาร์บอน แล้วจึงประเมินผลที่เกิดขึ้นกับทั้งระบบ แหล่งรายได้อีกแหล่งหนึ่งนั้นได้แก่การเก็บภาษีธุรกรรมออนไลน์ โดยเป็นที่คาดกันว่าอีคอมเมิร์ซจะทำให้การจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการในเศรษฐกิจนอกระบบสามารถติดตามตรวจสอบและเก็บภาษีได้อย่างถูกต้องเป็นธรรม ซึ่งรายได้ของรัฐทั้งหมดนี้จะกลับคืนสู่ประชาชนในรูปของหลักประกันถ้วนหน้าต่อไป

ปิโยรส ปานยงค์ ผู้เขียน
วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ประมวลข้อมูลจาก Protecting All โดย Truman Packard ตีพิมพ์โดย World Bank Group ค.ศ. 2019