ประชุมออนไลน์: การแก้ปัญหา ไฟป่า หมอกควัน ชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภาคเหนือ
วันนี้ ผมได้เชื่อมโยงให้เกิดการประชุมออนไลน์ร่วมกันระหว่าง มล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานอนุกรรมธิการเพื่อให้วางแนวทางขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบและนำสู่การปฏิบัติ ภายใต้กรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) อย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฏร ผู้แทนจาก GISTDA กรมควบคุมมลพิษ กับคุณชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ และคุณประยงค์ ดอกลำไย ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ในหัวข้อเรื่องการแก้ปัญหา ไฟป่า หมอกควัน ชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภาคเหนือ
ในด้านสถานการณ์ พบว่าขณะนี้ไฟป่าเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มากกว่าร้อยละ 90 มีจุด hotspot มากกว่าทุกปี พื้นที่เกิดไฟป่ามีหลายประเภทตั้งแต่ เผาในพื้นที่โล่งแจ้ง ในพื้นที่ป่า ทั้งป่าอนุรักษ์ และป่าสงวน การเผาในพื้นที่พืชเชิงเดี่ยว เช่นไร่ข้าวโพด และฝุ่นควันจากภาคเมือง เช่น จากรถ โรงงาน และจากประเทศเพื่อนบ้าน ยิ่งสภาพพื้นที่ เป็นแอ่งกระทะ ภูมิอากาศมีความกดอากาศสูงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทำให้ฝุ่นควันที่มากยิ่งขึ้นยิ่งถูกกักในพื้นที่เชียงใหม่ผลกระทบต่อชาวบ้านและประชาชนจึงรุนแรง
กล่าวเฉพาะในพื้นที่ป่า ชุมชนจำนวนมากมีการจัดการป่าที่ดี แต่ไฟป่าเกิดจากชาวบ้านที่อื่นๆ ที่มีการลักลอบเผาเพื่อหาอาหาร บางกรณีเป็นการตอบโต้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจับกุมปราบปรามพวกเขา
สาเหตุหลักของปัญหาไฟป่าในป่าโดยหลักมาจากระบบโครงสร้างอำนาจรัฐที่สร้างความขัดแย้งกับชุมชนในพื้นที่ การประกาศพื้นที่ป่าครอบทับชุมชน ปิดกั้นสิทธิชุมชน และการมีส่วนร่วมของพวกเขา ความขัดแย้งนี้ไม่ได้ถูกคลี่คลาย แม้จะมีนโยบายรัฐเรื่องการพิสูจน์สิทธิ์ในพื้นที่ ตั้งแต่มติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 เรื่อยมา หรือการมี พรบ.ป่าชุมชนที่ใช้เฉพาะชุมชนนอกป่าอนุรักษ์ พรบ.อุทยานแห่งชาติ และพรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ซึ่งยังไม่มีกระบวนการเรียนรู้สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน
และเมื่อรักจัดการไฟป่าก็มีแนวคิดที่ผิดพลาดเช่นแนวคิดเรื่อง zero burning หรือการห้ามเผาโดยเด็ดขาด ซึ่งไม่สอดคล้องกับระบบนิเวศและวิถีดำรงชีพของชุมชน แนวคิดในการแก้ปัญหาแบบอีเว้นท์ คือจัดการเฉพาะหน้าแต่ไม่แก้ปัญหาให้ยั่งยืน อีกทั้งกลไกก็ไม่บูรณาการ ระบบ single command ที่ให้ผู้ว่าฯ มีอำนาจตัดสินใจไม่ได้ผล เพราะเจ้าหน้าที่แต่ละกรม จะเชื่อฟังหน่วยงานต้นสังกัดมากกว่าผู้ว่าฯ
การจัดการปัญหาในขณะนี้ต้องแปรความขัดแย้งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐชาวบ้านและสังคมให้ได้ ไม่แบ่งชุมชนออกเป็นพื้นที่ตามกฎหมาย แต่จะเน้นสนับสนุนร่วมมือทุกชุมชน วางแผนการจัดการเรียนร่วมอย่างเป็นระบบโดยมีการแบ่งบทบาทที่ชัดเจนเช่น พิ้นที่ป่าไหนที่จัดการได้ดีก็ให้ชุมชนจัดการ พื้นที่ป่าไหนที่ต้องการจัดการร่วมระหว่างชุมชนกับรัฐก็ต้องร่วมกันอย่างจริงจัง และพื้นที่ไหนที่รัฐดูแลเป็นหลักก็ให้รัฐดำเนินการ
พื้นที่ที่ ชุมชนซ้อนทับในป่าอนุรักษ์ก็ให้วงพื้นที่ออกไป สร้างการมีส่วนร่วมจัดการอย่างจริงจัง มีระบบสนับสนุนชุมชน เช่นมีกองทุนชุมชนซึ่งภาคธุรกิจสามารถมีบทบาทเข้ามาสนับสนุนการจัดการป่าและไฟป่าของชุมชนได้ทุกพื้นที่ ซึ่งตอนนี้ชุมชนกำลังต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวขาดงบประมาณสนับสนุน ต้องระดมทุนกันเองในภาคสังคม
หม่อมหลวงดิศปนัดดาอธิบายเพิ่มเติมว่า อนุกรรมาธิการฯ จะรวบรวมข้อเสนอ ทั้งในเชิงแนวคิด วิธีการแก้ปัญหาทั้งในระดับพื้นที่ นโยบาย การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายประมวลเสนอต่อรัฐบาล
แต่ในการขับเคลื่อน ไม่ต้องรอรัฐบาล ภาคสังคมในท้องถิ่นและจังหวัดควรเร่งสร้างความร่วมมือขับเคลื่อนได้เลย และจะเชิญส.ส ทั้งหมดในเชียงใหม่มาเดือนรู้แล้วช่วยกันผลักดัน
นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ในการคุยกันครั้งแรกสามารถ เชื่อมโยงแนวคิดืการวิเคราะห์ และยุทธศาสตร์ในภาพใหญ่ๆได้ และมีแผนในการสื่อสารข้อมูลและขับเคลื่อนร่วมกันต่อ
แม้จะมีความเห็นต่างบ้างในบางประเด็นเช่น มุมมองต่อไร่หมุนเวียน ที่ มล.ดิศปนัดดา อยากให้เปลี่ยนเป็นเกษตรเพิ่มรายได้คงที่ แต่ผมเห็นแย้งว่า ไร่หมุนเวียนไม่ได้ทำลายป่า ยังคงใช้พื้นที่เท่าเดิมและจัดการพื้นที่ดินและป่าได้ดี ยิ่งลดไร่หมุนเวียน ยิ่งจะทำให้เกิดความอ่อนแอของชุมชนในการพึ่งตนเองด้านอาหารและจัดการทรัพยากร และเราไม่ควรคาดหวังเรื่องให้ชาวบ้านมีความมั่นคงอาหารจากรายได้ ซึ่งไม่แน่นอนไม่พร้อม พึ่งตัวเองไม่ได้ และยังถูกเอาเปรียบจากทุน แต่ควรเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเองด้านอาหารจากการเข้าถึงทรัพยากรและการผลิตยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่จะต้องไปเรียนรู้ร่วมกันในระดับพื้นที่ และจากองค์ความรู้ทางวิชาการ
มีความคืบหน้าต่อไปอย่างไรจะแจ้งให้ทราบครับ
กฤษฎา บุญชัย
ผู้อำนวยการ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา