ปฏิบัติการพลเมืองขับเคลื่อนระบบอาหาร เพื่อสุขภาวะเพื่อความมั่นคงอาหาร

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้พัฒนาและขับเคลื่อนแผนอาหารเพื่อสุขภาวะมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพื่อเป้าหมายการสร้างพลังทางสังคมเพื่อพัฒนาความมั่นคงอาหาร ความปลอดภัยอาหาร โภชนาการอาหารที่เชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อาหารให้ยั่งยืนและเป็นธรรม ในปัจจุบันนี้เป็นช่วงสุดท้ายของแผน 3 ปี (พ.ศ.2561-2563) และกำลังเข้าสู่กระบวนการพัฒนาแผน 10 ปีในช่วงต่อไป

ผู้วิจัยซึ่งทำหน้าที่สังเคราะห์วิชาการเพื่อการกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ จึงได้ทำการสังเคราะห์บทเรียนการขับเคลื่อนของแผนอาหารฯ ผ่านโครงการต่างๆ ที่ภาคีได้ดำเนินการเป็นรูปธรรมในระดับพื้นที่ โดยศึกษาผ่านระบบอาหาร 4 ด้านได้แก่ ระบบการผลิตที่ยั่งยืน ระบบตลาดอาหาร กลไกเชิงสถาบันคือโรงเรียน และโรงพยาบาลที่เชื่อมโยงกับระบบอาหาร และสังเคราะห์เป็นขบวนการพลเมืองอาหาร

โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อประมวลแนวคิด และสถานการณ์สำคัญต่อการพัฒนาระบบอาหารสุขภาวะที่ยั่งยืนและเป็นธรรม สังเคราะห์บทเรียนการขับเคลื่อนระบบอาหาร ผ่านระบบการผลิตและการบริโภค ตลาดสีเขียว โรงเรียน และโรงพยาบาล จัดทำข้อเสนอทางเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ การขับเคลื่อนแผนอาหารสุขภาวะ

ผู้วิจัยใช้วิธีการศึกษาด้วยการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวแนวคิด สถานการณ์อาหารในระดับสากลและประเทศ และแผนอาหารสุขภาวะ ร่วมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคีในแต่ละภาค และเวทีประเด็น ศึกษาต้นแบบหรือกรณีศึกษาใน 4 กลุ่ม คือ การผลิต โรงเรียน โรงพยาบาล และตลาดสีเขียว (ร่วมกับ อ.ปิยาพร อรุณพงษ์) โดยใช้การสัมภาษณ์ การประชุมกลุ่มย่อย การสังเกตการณ์จากการเข้าร่วมกิจกรรม นำเสนอผลการสังเคราะห์ต่อคณะกรรมการกำกับทิศฯ ร่วมกับภาคี และประมวลข้อมูล ข้อคิดเห็นจากเวทีมาสรุปรายงาน

กลุ่มเป้าหมายคือ ภาคีที่รับทุนจากแผนอาหารเพื่อสุขภาวะในกลุ่มความมั่นคงอาหาร และความปลอดภัยอาหาร ใช้เวลาศึกษา1 ปี (มกราคม-ธันวาคม 2562)

แนวคิดที่ใช้ศึกษา ได้แก่ แนวคิดความมั่นคงอาหาร แนวคิดพลเมืองอาหาร และกรอบวิเคราะห์ระบบอาหารในห่วงโซ่อาหาร

ผลการศึกษาพบว่า การขับเคลื่อนระบบอาหารสุขภาวะของภาคีต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. เป็นการขับเคลื่อนตามสถานการณ์ปัญหาที่เผชิญ พัฒนาขึ้นมาเป็นแนวคิด ปฏิบัติการที่มีจุดเน้น ก่อเกิดเป็นอัตลักษณ์ เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ที่มีลักษณะเฉพาะตามบริบทหรือตำแหน่งแห่งที่ต่างกันไปในห่วงโซ่อาหาร

ภาคีทั้งหมดเริ่มต้นจากรูปธรรมที่จับต้องได้ในพื้นที่ตามบริบทเฉพาะของตน เริ่มจากรูปธรรมที่ยึดโยงผู้คนให้มาเชื่อมโยงกันคือ อาหาร สุขภาพ เศรษฐกิจ นิเวศ การศึกษาของท้องถิ่น โดยได้เรียนรู้จากโครงสร้างปัญหาที่กระทบกับชุมชน

การขับเคลื่อนของภาคีได้สร้างสรรค์ระบบอาหารสุขภาวะในบริบทของตน เกิดเป็นระบบอาหารที่เน้นการผลิตเชิงนิเวศวัฒนธรรม เกิดเป็นระบบตลาดสีเขียวท้องถิ่นที่ทำหน้าที่กระจายผลผลิตและรายได้สู่เกษตรกร และยกระดับไปสู่การสร้างการเรียนรู้ข้ามภาคีจากผู้ผลิตเชื่อมต่อกับผู้บริโภค เกิดเป็นระบบอาหารที่มีกลไกเชิงสถาบันรองรับขับเคลื่อน เช่น โรงพยาบาลสีเขียว โรงเรียนสีเขียว ที่ไม่เพียงบทบาทหน้าที่หลากหลายตั้งแต่หน้าที่การตลาด หน้าที่การเรียนรู้ หน้าที่การเชื่อมพลังสังคม หนุนเสริมชุมชน และมีกลไกเชิงนโยบายระดับจังหวัด อำเภอ ท้องถิ่นมีประชาชนมีส่วนร่วมระดับท้องถิ่น

ทั้งหมดนี้มุ่งเป้าไปสู่สภาวะความมั่นคงอาหารในระดับชุมชน ซึ่งทำให้นิยามความหมายของความมั่นคงอาหารได้พัฒนากว้างขวางออกไป และยังได้เปลี่ยนความหมายเดิมที่จำกัดการเติบโตของพลเมืองอาหาร

ฐานคิดและเป้าหมายที่ชุมชนและประชาสังคมได้แสดงออกผ่านการออกแบบสร้างสรรค์ระบบอาหารในแต่ละฐานนั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวผลผลิตอาหารที่ดี หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสม แต่คือการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพของผู้คนจากผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ฯลฯ ให้กลายเป็น “พลเมือง” ที่แข็งขันในการสร้างทางเลือก โอกาส อำนาจ และอิสรภาพในการมีความมั่นคงอาหารที่มั่นคงและเข้มแข็งของตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม

ขณะที่การขับเคลื่อนพลเมืองอาหารได้สร้างแนวคิดและปฏิบัติการเชิงคุณภาพที่ก้าวหน้า มุ่งเปลี่ยนคุณค่า ความหมาย ความสัมพันธ์ และทางเลือกที่เป็นจริง แต่โครงสร้างนโยบายระบบอาหารของรัฐมุ่งสร้างผลงานเพื่อบรรลุตัวชี้วัด โดยยังติดอยู่กรอบคิดเชิงมหภาคที่มองตัวชี้วัดรูปธรรมเชิงปริมาณ

ยุทธศาสตร์ที่เป็นทางออกคือ การนำพลังอำนาจทางความคิด ความรู้ และทุนทางสังคมของขบวนการพลเมืองอาหารที่เป็น Soft Power ไปปฏิบัติการในโครงสร้าง กลไกรัฐที่ไม่แข็งตัว รุกเข้าไปมีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพโดยไม่คาดหวังการขยายตัวเชิงปริมาณที่รวดเร็วนัก การทำงานกับโครงสร้าง และกลไกของรัฐยังจะเปลี่ยนให้บุคคลากร และองค์กรเกิดวัฒนธรรมพลเมืองอาหารขึ้นมาได้

หน่วยงานสนับสนุนระบบอาหารสุขภาวะอย่าง สสส.จึงควรกำหนดเป้าหมาย ระบบอาหารสุขภาวะอยู่ที่การหนุเสริมสร้างพลเมืองอาหารด้วยการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการในบริบทของแต่ละท้องถิ่นให้นำไปสู่สภาวะความมั่นคงอาหารที่ท้องถิ่นกำหนด ด้วยยุทธศาสตร์สร้างระบบ กลไกการจัดการระบบอาหารเชิงพหุหน้าที่ และยุทธศาสตร์สร้างการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลเมืองอาหาร

 

อ่านต่อ…

ปฏิบัติการพลเมืองขับเคลื่อนระบบอาหาร