LOVE โมเดลผักปลูกคน (โรงเรียนปลูกคน คนปลูกอาหาร ตอนที่ 6 )

เบญจมัยพร  เกิดมี

เกียรติศักดิ์  ยั่งยืน

“ผัก” คือ ผลิตผลจากพืชที่ใช้เป็นอาหาร ได้จากส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ใบ ดอก ผล เป็นอาหารหลัก 5 หมู่ รับประทานได้ทั้งที่เป็นผักสด และปรุงสุกแล้ว โดยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ผัก มีใยอาหารสูง เป็นอาหารที่ให้วิตามิน และเกลือแร่ เสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแรง ต้านทานต่อโรค รักษาสมดุล และทำให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ ผักเป็นที่นิยมบริโภค อีกทั้งยังเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ในการแปรรูปอาหารเพื่อการถนอมอาหาร ได้เป็นผลิตภัณฑ์มากมาย เช่น บรรจุกระป๋อง ทำแห้ง แช่เยือกแข็ง ดองสามรสดองเกลือ และทอดกรอบ แต่ถ้าผักมีสารเคมีปนเปื้อน จากที่จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย จะส่งผลกระทบต่อร่างกาย เมื่อสะสมในร่างกายในปริมาณมาก การปลูกผักอินทรีย์ เป็นการปลูกผักที่ไม่ใช้สารเคมีในการป้องกัน กำจัดศัตรูพืช และไม่ใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อเร่งการเจริญเติบโต ปลอดภัยทั้งต่อผู้บริโภค และสภาพแวดล้อม อีกทั้งยังมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ แต่กลับให้ผลตอบแทนที่สูง (ดร.นิธิยา รัตนาปนนท์)

เด็กในวัยเรียน เป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต ต้องการอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยในการเสริมสร้างร่างกาย และบำรุงสมอง สำหรับการเติบโตและการเรียนรู้ การส่งเสริมให้เกิดกโครงการปลูกผักอินทรีย์ในโรงเรียน เพื่อเป็นอาหารกลางวันจึงเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่จะผลักดันให้เด็กๆรู้จักคุณค่าของผัก สนุกกับการทำการเกษตร รวมถึงยังอาจส่งผลให้เด็กๆเปิดใจในการเลือกรับประทานผักเพิ่มขึ้นอีกด้วย อย่างเช่น นักเรียนโรงเรียนวัดสรรเพชญ (ทวีวิทยาคม) อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ที่ซึ่งมีแนวคิดในการผลักดันเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจ

มารู้จักกับ “ผักปลูกคน LOVE โมเดล”

  โรงเรียนวัดสรรเพชญ (ทวีวิทยาคม) ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 บ้านคลองสรรเพชญ ตำบลยายชา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มีนักเรียนจำนวน 387 คน เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล 1 ถึง ประถมศึกษาปีที่ 6  ซึ่งแต่เดิมทางโรงเรียนมีโครงการปลูกผัก เพื่อนำมาประกอบอาหารกลางวันอยู่แล้ว จนเมื่อปี 2557 โครงการ “สามพรานโมเดล” ได้เข้ามาสนับสนุนโครงการเกษตรอินทรีย์ของโรงเรียน เริ่มจากการเตรียมแปลงสำหรับเพาะปลูกผักสวนครัว วิธีการเลี้ยงไส้เดือน รวมไปถึงการหว่านเมล็ดผัก กิจกรรมเหล่านี้ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดย นายพิริยะ สุวรรณสายะ  หรือครูป๊อป ครูผู้ดูแลโครงการ มีแนวคิดที่ว่า “ผักปลูกคน” LOVE โมเดล นั่นคือ

L (Like) ชอบอะไรก็ปลูกอันนั้น

O (OK) นักเรียนโอเคกับผักชนิดใด

V (Vote) โหวตว่าปลูกผักอะไร

E (Eat) ปลูกผักที่กินได้ง่าย

  โดยโครงการนี้ ครูป๊อปเริ่มจากให้นักเรียนในที่ปรึกษาของครู คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่เข้าร่วมโครงการสวนสามพราน จะมีตัวแทนเอาปุ๋ยมูลไส้เดือนไปขายที่ “ตลาดสุขใจ” ซึ่งเป็นตลาดสินค้าเกษตร
ปลอดสารพิษ สามารถนำสินค้ามาจำหน่ายได้ โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้า    

      คนกลาง เป็นพื้นที่ให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ และฝึกประสบการณ์ได้อย่างดี จากเริ่มโครงการมีเพียงเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เท่านั้น ต่อมามีการขยายพื้นที่กิจกรรมในทุกระดับชั้น มีเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ “การเลือกปลูกผักจะขึ้นอยู่กับบริเวณห้องเรียนของนักเรียนแต่ละชั้น เพื่อความสะดวกในการดูแล เด็กๆจะได้เกิดความรัก และภูมิใจในผักที่เป็นผลงานของตน การนำผักมาประกอบอาหารกลางวัน จะหมุนเวียนตามผลผลิตที่ได้

 

ขณะเดียวกันผลผลิตจากแปลงเกษตรไม่สามารถนำมาประกอบอาหารได้ทุกวัน จึงต้องมีคุณครูดูแลเรื่องโครงการอาหารกลางวัน ทั้งเมนูอาหาร ความสะอาด เพื่อให้นักเรียนไม่มีปัญหาด้านโภชนาการ” ผู้อำนวยการโรงเรียนกล่าว

นอกจากโครงการของสวนสามพรานที่ ทางโรงเรียนเข้าร่วม สามพรานโมเดลแล้ว ก็มีการเชื่อมโยงกับโครงการมีชัยพัฒนา บริษัท SCG จำกัด เครือข่ายโรงเรียนในอำเภอสามพรานด้วย และบริษัท ห้างร้านในชุมชน ที่คอยสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมต่าง โดยนางพรหมภัสสร พงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสรรเพชญ (ทวีวิทยาคม ) สนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียนและภาคีเครือข่ายเป็นอย่างดี

สร้างสุขด้วยการปลูกผักอินทรีย์

การใช้เวลาว่างหลังจากเลิกเรียน และกิจกรรมชุมชุนทุกเย็นวันพฤหัสบดี ผลผลิตจากการทำกิจกรรมของเด็กนักเรียนจะเป็นปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน น้ำหมักชีวภาพ น้ำสมุนไพร ต้นกล้าผัก และน้ำสมุนไพร ที่ได้จากการแปรรูป ทำให้ผู้ปกครองให้ความสนใจ นำต้นกล้าผักไปปลูกไว้บริโภคในครัวเรือน บางรายมีส่วนร่วมในการซื้อผลผลิตของนักเรียน ทำให้นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจที่สามารถสร้างรายได้ในระหว่างเรียนได้ ซึ่ง ครูป๊อป     ครูผู้ดูแลโครงการได้มีการจัดกระบวนการ และพัฒนาส่งเสริมกิจกรรม โดยการนำขวดน้ำใช้แล้วมาประดิษฐ์ให้ตั้ง และแขวนได้ แจกสำหรับผู้ปกครอง และนักเรียนที่ให้ความสนใจ นำไปปลูกผักที่บ้านได้

 

เนื่องจากบ้านนักเรียนบางคนเป็นบ้านเช่า จึงไม่มีพื้นที่กว้างในการปลูกผัก โครงการนี้ทำให้เด็กนักเรียนสามารถทำกิจกรรมอยู่ที่โรงเรียนได้ในตอนเย็นระหว่างรอผู้ปกครองมารับ เป็นการดูแลเด็กนักเรียนช่วยเหลือผู้ปกครองได้อีกทางหนึ่ง เด็กนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะบัญชีเงินฝากเป็นของตัวเอง โดยแบ่งจากเปอร์เซ็นต์จากการขายผลผลิตในแต่ละเดือน เป็นการฝึกการออมให้กับเด็กๆไปในตัว ผู้อำนวยการ กล่าวว่า การจะปลูกฝังให้เด็กนักเรียนเป็นคนดี ต้องเริ่มจากให้พวกเขาได้เจอกับสภาพแวดล้อมที่ดี โรงเรียนต้องสะอาด เด็กจะได้คุ้นเคยกับความเป็นระเบียบเรียบร้อย เปลี่ยนแปลงหญ้า เป็นแปลงผัก ช่วงแรกอาจต้องเจอกับสภาพดินที่ค่อนข้างแย่ ปลูกพืชชนิดไหนก็ให้ผลผลิตไม่ได้ตามที่ต้องการ การเข้ามาของโครงการสามพรานโมเดล ช่วยปรับสภาพแวดล้อม การทำการเกษตรของโรงเรียนเป็นการทำเกษตรแบบอินทรีย์ คุณครู และนักเรียน เห็นประโยชน์ของการปลูกผัก สามารถนำมาประกอบอาหารกลางวันได้ เด็กนักเรียนที่ได้ลงมือทำกิจกรรม ร่าเริง สดใสมากขึ้น
มีความคิดสร้างสรรค์ เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข พร้อมทั้งได้เรียนรู้การทำการเกษตร สามารถนำไปเป็นแนวทางในการสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวอีกด้วย

โครงการปลูกผักอินทรีย์เพื่ออาการกลางวัน จะช่วยให้คุณค่าทางโภชนาการของเด็กนักเรียน เป็นการเชื่อมโยงการเกษตร และโภชนาการทางอาหารเข้าด้วยกัน ลดความเสี่ยงอันตรายจากสารเคมีเพราะการปลูกผักอินทรีย์เป็นกระบวนการที่ไม่ใช้สารเคมี อีกทั้งยังสอดแทรกคุณค่าทางโภชนาการให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านชนิดผักที่ทำการเพาะปลูก การทำแปลงเกษตรเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารในโรงเรียนสู่ความยั่งยืน ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม การที่เด็กนักเรียนได้ลงมือทำเองนั้น จะช่วยสร้างเสริมทั้งประสบการณ์ชีวิต ความคิดริเริ่ม เมื่อเจอปัญหาย่อมสามารถแก้ไขได้ เป็นการสร้างความสุขให้แก่ตนเอง อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตที่ตนได้สร้างขึ้นอีกด้วย

 

—————————————————

เขียนโดย : คุณเกียรติศักดิ์ ยั่งยืน
บทความนี้มาจากงานวิจัยของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)