โรงเรียนบ้านห้วยน้ำใส ใส่ใจอาหาร (โรงเรียนปลูกคน คนปลูกอาหาร ตอนที่ 4 )

เมล็ดพันธุ์อิสระ เรียบเรียง

หมู่บ้านโพธิ์ทอง ตำบลคู้ยายหมี อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ถือเป็นชุมชนที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ จนทำให้ผู้คนจากหลายพื้นที่อพยพเข้ามาอยู่ในชุมชน และประกอบอาชีพเกษตรกรรม กระทั่งตั้งรกรากหลายชั่วอายุคน

ผู้บริหารโรงเรียนบ้านห้วยน้ำใส ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านโพธิ์ทอง จึงเล็งเห็นศักยภาพของพื้นที่ และมุ่งเน้นการเสริมสร้างทักษะด้านอาหารปลอดภัยให้แก่นักเรียน โดยเริ่มดำเนินโครงการโรงเรียนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อมุ่งเน้นจิตสำนึกต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายผู้ปกครองมาช่วยให้ความรู้แก่เด็กนักเรียน อาทิ ในด้าน การปลูกผักสวนครัว การแปรรูปอาหาร แปรรูปสมุนไพร ฯลฯ

ต่อมาบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้เข้ามาสนับสนุนโครงการฯ ในปี พ.ศ. 2555 ทำให้เมื่อถึงปี พ.ศ.2556 ได้มีการต่อยอด ด้วยการดำเนินโครงการชมรมเศรษฐกิจพอเพียง ขึ้น

 

   

   

ซึ่งปัจจุบันในโรงเรียนบ้านห้วยน้ำใสมีพื้นที่ให้นักเรียนได้ฝึกทักษะทางการเกษตร ทั้งแปลงสาธิตทางการเกษตรเพื่อทำการปลูกผักสวนครัว, พื้นที่ปลูกไม้ผล อาทิ มะนาว กล้วย มะพร้าว และมีบ่อเลี้ยงปลา  โดยผลผลิตจากการเกษตรที่นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ทางโรงเรียนก็จะมาประกอบอาหารกลางวัน

 

นอกจากทักษะทางการเกษตรแล้ว โรงเรียนยังได้เพิ่มพูนทักษะด้านการการแปรรูปอาหารจากวัตถุดิบในพื้นที่โรงเรียนผ่านชมรมแปรรูปอาหาร โดยครูรุ่งรัตน์ พันธ์เรณู ครูชำนาญการพิเศษ ผู้ดูแลชมรมแปรรูปอาหาร เล่าว่าวัตถุดิบที่นำมาใช้สอน ก็ล้วนเป็นสิ่งที่มีอยู่ในโรงเรียน เช่น เห็ดทอด มะดันแช่อิ่ม ทอดมันหัวปลี เป็นต้น ซึ่งสังเกตได้ว่า นักเรียนจะชอบเข้าเรียนวิชานี้เป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะได้เรียนรู้การแปรรูปอาหารจากสิ่งใกล้ตัวแล้ว ยังได้รับประทานผลผลิตเมื่อแปรรูปสำเร็จแล้วอีกด้วย อีกทั้งยังมีการสอนทำผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างจานจากวัตถุดิบในโรงเรียนอีกด้วย

 

สำหรับมุมมองของนายประพันธ์ ยอดตระกูลชัย ผู้อำนายการโรงเรียนบ้านห้วยน้ำใส ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มีความสำคัญต่อหลักคิดของความมั่นคงทางด้านอาหาร กระทั่งดำเนินการส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะด้านนี้อย่างจริงจัง ผอ.ประพันธ์ มองว่า วิธีการที่จะทำให้การส่งเสริมความมั่นคงทางด้านอาหารในระดับโรงเรียนนั้น ทุกอย่างไม่ได้มีเป้าหมายเดียว อาทิ การมองว่าคนไทยควรมีความยั่งยืนและเป็นสุข นั่นคือเป้าหมาย แต่ผลผลิตรายทางก็เป็นสิ่งสำคัญ อีกทั้งภาครัฐควรมีการส่งเสริมให้คนในสังคมมีจิตสำนึกและตระหนักถึงความปลอดภัยจากอาหาร โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ เช่น ในหนึ่งโรงเรียน แล้วจึงขยายออกไประดับชุมชน จนถึงระดับสังคม  เนื่องจากความยั่งยืนเป็นเรื่ององค์รวม ซึ่งหากผู้คนทั้งสังคมเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าวตรงกัน เด็กๆ ก็จะรู้สึกว่า สิ่งที่ได้รับการปลูกฝังในโรงเรียนกับนอกโรงเรียนเป็นเรื่องเดียวกัน

“ความมั่นคงทางอาหาร สำหรับผมให้ความสำคัญกับ 2 อย่าง คือ หนึ่งเพียงพอหรือไม่ สองปลอดภัยหรือไม่ ผมให้เปอร์เซ็นต์ว่าไม่ถึง 50 ถามว่าปลอดภัยแล้วมันส่งผลอะไร พอนี้มีแน่นอนอาหารคนทำเยอะ ทุกอย่างบ้านเราเหลือเฟือด้านความพอ แต่ความปลอดภัยยังห่วงอยู่เพราะเราไม่รู้ที่มาของอาหาร ส่วนความยั่งยืนของอาหารเรามองที่ตัวอาหารหรือมองที่ตัวคน ถ้ามองที่ตัวอาหาร ผมถือว่ายั่งยืนแน่นอน อาหารมีเพียงพอตลอดที่เรามีชีวิตอยู่ แต่ถ้ามองเรื่องผลกระทบต่อตัวคน มันจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มจากตรงนี้ ถามว่าตรงนี้คือความยั่งยืนไหม พี่มองว่ามันน่าจะเป็นศูนย์ หมายถึงว่าเราทานเข้าไปมันไม่มีความปลอดภัย เพราะความปลอดภัยมันต้อง 100% ถ้าเด็กทานอาหารเข้าไปแล้วมีสารพิษในอาหารแค่ 0.1% มันคือความไม่ปลอดภัยแล้ว และถ้าเค้าทานวันนี้แล้วอีก 30 ปีข้างหน้า เขาเกิดเป็นโรคขึ้นมา เราจะบอกว่าตรงนี้คือความยั่งยืนใช่หรือไม่ คือถ้ามองในแง่ความยั่งยืนของอาหารที่มีกินตลอด ด้วยระบบต่างๆ เช่น ระบบธุรกิจ หรืออะไรก็แล้วแต่ มันสามารถเลี้ยงตัวมันเองได้ แต่ปลอดภัยหรือไม่เป็นเรื่องสำคัญ”

 

—————————————————

เขียนโดย : คุณเกียรติศักดิ์ ยั่งยืน
บทความนี้มาจากงานวิจัยของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)