เมื่อคนเลหันมาปลูกผักกิน (โรงเรียนปลูกคน คนปลูกอาหาร ตอนที่ 2)

เมล็ดพันธุ์อิสระ เรียบเรียง

เมืองพัทลุงมีความหลากหลายทางภูมินิเวศน์ อันดูได้จากอาณาเขตด้านทิศตะวันตกจดเทือกเขาบรรทัดซึ่งเป็นแนวเขาสลับซับซ้อน พาดผ่านเป็นแนวเหนือใต้ ทำให้บริเวณนี้มีภูมิประเทศเป็นป่าดิบชื้น  ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนผลไม้หรือสวนยางพาราเป็นส่วนมาก พืชผักธรรมชาติยังพอมีให้เก็บกิน ตอนกลางของจังหวัดมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มสลับกับโคกควน ผู้คนแถบนี้ทำนาในที่ลุ่ม ตรงโคกควนอาจมีสวนยางพารา หรือผลไม้ ผู้คนนิยมปลูกพืชผักต่างๆไว้บริโภคในครัวเรือน เหลือจึงขายต่อ ส่วนอาณาเขตด้านตะวันออก พื้นที่บริเวณนี้จดทะเลสาบสงขลา ผู้คนอาศัยอยู่แนวลุ่มน้ำตามแนวชายฝั่งทะเลสาบตามแนวเหนือใต้ มีชีวิตผูกพันกับวิถีทำประมง นาข้าว สัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ตลอดปี  ผืนดินแถบนี้เป็นดินเหนียว ดินทราย หรือมีลักษณะแข็งปลูกพืชพรรณต่างๆไม่ค่อยงอกงาม และเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก จะเกิดน้ำท่วมขังในบริเวณนี้เป็นวงกว้าง และยาวนาน ถึงช่วงนี้จึงเป็นปรกติที่จะเห็นผู้คนแถบนี้สัญจรไปมาหาสู่กันด้วยเรือ คนที่เติบโตขึ้นมาโซนลุ่มน้ำทะเลสาบลงขลาส่วนใหญ่จึงโตมากับสายน้ำ มีความเชี่ยวชาญด้านการจับสัตว์น้ำ หรือทำนาตามฤดูกาล เมื่อวิเคราะห์ดูจะเห็นได้ว่าเมืองพัทลุงมีภูมินิเวศน์ใหญ่ๆเป็น 3 โซน คือโซนป่าในแนวเขตเทือกเขาบรรทัด โซนนาในบริเวณที่ราบลุ่มตอนกลาง และโซนเลในแนวชายฝั่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

 

กล่าวถึงคนในโซนลุ่มน้ำทะเลสาบของเมืองพัทลุง มักมีวิถีชีวิตผูกพันกับสายน้ำทะเลสาบ ทำให้การเป็นอยู่ของผู้คนแถบนี้อาศัยพึ่งพิงความสมบูรณ์ของทรัพยากรที่มีอยู่มากมาย โดยเฉพาะทรัพยากรจากทะเลสาบ ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา และอื่นๆ หรือจะเป็นผืนดินแถบนี้เหมาะแก่การทำนาข้าว จึงทำให้ที่นี่ได้ชื่อว่า ดินแดนซึ่งในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แต่ในความบริบูรณ์ด้วยทรัพยากรต่างๆเหล่านี้ หรือเป็นด้วยที่ภูมิประเทศติดทะเลสาบ ทำให้พื้นที่บริเวณนี้ไม่ค่อยเหมาะแก่การปลูกพืชผักต่างๆ เนื่องด้วยอาจเป็นเพราะผืนดินมีสภาพเป็นดินเหนียว ดินทราย หรือดินเหนียวปนทราย ทำให้ดินมีลักษณะแข็ง กระด้างยากแก่การขุดหรือเพาะปลูก อีกทั้งเมื่อฤดูน้ำหลากมาถึงน้ำก็ท่วมขังยาวนาน อาจกินเวลาเป็นเดือนหรือหลายเดือน บางปีก็มีน้ำท่วมขังหลายระลอก ทำให้ผู้คนแถบนี้ไม่ค่อยนิยมปลูกผักไว้บริโภค  อาศัยซื้อเฉพาะที่จำเป็นแทน ซึ่งอาจเป็นความเคยชินจากรุ่นสู่รุ่น หรือเป็นด้วยพื้นที่/ภูมิประเทศไม่อำนวยในการเพาะปลูกพืชผักต่างๆก็เป็นได้

เมื่อมองจากปัจจัยข้างต้นจึงเป็นสาเหตุใหญ่ทำให้คนในโซนลุ่มน้ำทะเลสาบไม่ค่อยนิยมบริโภคผัก  ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาหาร หรือทานเป็นผักสด อาหารส่วนใหญ่ในแต่ละวันจะประกอบด้วยปลา หรือสัตว์น้ำอื่นๆเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่ค่อยมีผักในการประกอบอาหาร ทำให้คนแถบนี้มีวัฒนธรรมในการบริโภคผักน้อยกว่าผู้คนในแถบโซนนาหรือโซนป่า ซึ่งอาจเป็นด้วยวิถีหรือนิสัยความเคยชิน ไม่ก็ด้วยพื้นที่ที่อาศัยอยู่ไม่เอื้ออำนวยในการที่จะได้บริโภคผัก ทำให้วัฒนธรรมเหล่านี้ถูกส่งต่อสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ส่งผลให้เด็กๆและคนรุ่นใหม่แถบนี้ไม่ชอบบริโภคผัก แม้ว่าบางคนจะโยกย้ายตัวเองไปอยู่ที่อื่นๆ ดูเหมือนพฤติกรรมการไม่เคยชินกับการบริโภคจะติดตัวไปด้วย สังเกตจากกับข้าวกับปลาของคนเลที่มากรีดยางแถวโซนป่า มักจะแกงปลา หรือเนื้อสัตว์โดยไม่มีผักสักอย่างเดียว แต่ด้วยความที่คนแถบนี้มีวิถีอยู่กับลุ่มน้ำทะเลสาบ มีความบริบูรณ์ในด้านทรัพยากรทางทะเล และยังทำนาปลูกข้าวกินเองกันพอสมควร แม้จะลดน้อยกว่าอดีตที่ผ่านมา แต่ถ้ามองระดับความมั่นคงทางอาหาร ผู้คนแถบนี้ยังพึ่งพาตัวเองได้พอสมควร

          แน่นอนว่าเมื่อผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองไม่บริโภคผัก เด็กรุ่นใหม่ก็จะเคยชินกับการไม่บริโภคผักไปด้วย อีกอย่างแม่ครัวของโรงเรียนต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่ประกอบอาหารให้เด็กนักเรียนก็ต้องเป็นคนพื้นถิ่น เมื่อเช่นนี้อาหารที่ประกอบจากความเคยชินซึ่งสั่งสมมารุ่นแล้วรุ่นเล่า ก็จะถูกถ่ายทอดแก่เด็กนักเรียนไปโดยไม่รู้ตัว กลายเป็นควานเคยชินต่อไป จากรุ่นหนึ่งซึ่งไม่บริโภคผัก สู่รุ่นหนึ่งซึ่งไม่บริโภคผักต่อกันไป จะด้วยสาเหตุจากวัฒนธรรมการบริโภคของผู้คนแถบนี้ หรือพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยหรือเหตุอื่นๆ ก็ตาม จึงนับเป็นเรื่องที่น่าศึกษาต่อไป

          โรงเรียนเทศบาลจองถนน(วัดบางแก้ว) ด้วยพื้นที่อาณาเขตติดกับวัดเขียนบางแก้ว ซึ่งตามประวัติระบุเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองพัทลุง มีคลองท่ามะเดื่อกั้นระหว่างวัดเขียนบางแก้วกับโรงเรียน ซึ่งเป็นคลองสายใหญ่ก่อนไหลลงสู่ทะเล ดังนั้นชุมชนที่นี่ก็มีความเป็นมายาวนานและยังมีวิถีชีวิตผูกพันกับทะเลสาบอย่างแนบแน่น เรียกได้ว่าเป็นโรงเรียนโซนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอย่างชัดเจน โรงเรียนเทศบาลจองถนนตั้งอยู่ในตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง อยู่ห่างจากตัวอำเภอทางทิศตะวันออกประมาณ 9 กิโลเมตร มีนักเรียนทั้งหมด  200 คน ครู 17  คน เปิดสอนในระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6  นักเรียนส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของคนแถบนี้ ตามแบบฉบับของลูกเล  ครั้งแรกที่สัมผัสกับโรงเรียนเทศบาลจองถนน (วัดบางแก้ว) โรงเรียนนี้มีแปลงผักเป็นของตัวเอง ทั้งรูปแบบลงดิน และกระถาง หรือแม้แต่วัสดุต่างๆ เยอะจนทำให้รู้สึกแปลกใจ อีกทั้งยังมีโรงเพาะเห็ด โรงเรือนเลี้ยงไก่ ซึ่งมีไก่ไข่จำนวนหลายตัว รวมไปถึงมีค้างให้ไม้เลื้อยจำพวกบวบ ฟัก และถั่วฝักยาว โดยที่น่าแปลกไปกว่านั้นพวกไม้เลื้อยพวกนั้นไม่ได้ปลูกลงแปลงดิน แต่ปลูกอยู่ในถุงสำหรับเพาะชำขนาดใหญ่ ระหว่างนั้นยังสังเกตเห็นบ่อชีเมนต์ขนาดพอกับห้องใหญ่ๆห้องหนึ่ง แรกเริ่มไม่คิดว่าเป็นบ่อเลี้ยงปลา ด้วยที่ตั้งของโรงเรียนแห่งนี้บริเวณรอบๆ ขึ้นชื่อเรื่องปลาชุกชุม แต่พอมองลอดตาข่ายกั้นขอบบ่อเห็นปลาดุกขนาดประมาณสองนิ้วมือ โผล่หนวดยุบยับ นี่คือสัมผัสแรกระหว่างเดินดูรอบๆบริเวณโรงเรียนเทศบาลจองถนน  แรกเมื่อพบกันเห็นเพียงแต่ว่า เป็นครูหญิงท่าทีกระฉับกระเฉงดูมีไฟและมุ่งมั่น คะเนวัยไม่คิดว่าคุณครูท่านนี้จะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน สำหรับผู้อำนวยการ หัตยา เพชรย้อย หรือหลายคนเรียก ผอ.แอน หรือครูแอนของนักเรียน ก็เลยได้ไขข้อข้องใจจากคำถามหลายอย่างที่สงสัยกัน เรื่องแรกหนีไม่พ้นการปลูกผักค้างไม้เลื้อยในถุงเพาะชำ ซึ่งปรกติเราจะเห็นแต่ปลูกในแปลงดิน ฟังคำตอบจากครูแอนยิ่งทำให้โรงเรียนนี้น่าสนใจมากขึ้น  เหตุเพราะที่นี่ดินไม่ดีปลูกผักไม่ค่อยงอกงาม ดินเป็นดินเหนียวปลูกผักลงดินแล้วน้ำระบายได้ไม่ดี จึงต้องนำดินไปปรับปรุงเสียก่อน เพื่อให้พืชเติบโตได้ดี ซึ่งเป็นการไขข้องสงสัยของเราได้ดีทีเดียว แต่ยังไม่หมด ครูแอนของนักเรียน หรือผอ.แอนยังเสริมต่อว่าจุดประสงค์สำคัญของการปลูกพวกพืชผักในถุงเพาะชำ คือโรงเรียนตั้งอยู่ติดกับคลองท่ามะเดื่อ เมื่อน้ำหลากบริเวณโรงเรียนจะมีน้ำเอ่อล้นจากสายคลองเข้าท่วมโรงเรียน บางปีระดับถึงสะเอว ดังนั้นการปลูกพืชหรือผักในถุงเพาะชำเมื่อถึงฤดูน้ำหลากยังสามารถยกผักหนีน้ำได้ ทำให้ยังมีทางบรรเทาภัยพิบัติและผ่านพ้นไปโดยไม่ต้องรอแค่ความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ฟังแล้วยิ่งอัศจรรย์ใจ ยังไม่หมดแค่นั้นครูแอนยังเสริมอีกว่า สาระสำคัญทีสุดที่อยากสื่อในเรื่องนี้คือ อยากให้นักเรียนนำกลับไปใช้ที่บ้าน เพราะบริเวณโดยรอบโรงเรียนซึ่งเป็นบ้านของนักเรียนหลายคน ถึงฤดูน้ำหลากก็ไม่ต่างจากโรงเรียน  คือโดนน้ำท่วมขังเหมือนกัน ซึ่งตอนนี้ผู้ปกครองและนักเรียนหลายคนนำไปประยุกต์ทำที่บ้านตัวเอง ครูแอนเล่าพร้อมยิ้มดูอ่อนโยน เมื่อถามถึงเรื่องปลาดุกในบ่อก็ได้รับคำตอบ แม้เป็นคนเลมีปลามากมายให้จับกินจับขาย แต่บางช่วงเช่นหน้ามรสุม หรือมีพายุก็ออกหาปลาไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นถ้าในบ้านมีผัก มีปลาแม้เกิดภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติอื่นอันไม่คาดคิด บ้านนั้นก็จะผ่านมันไปได้โดยไม่ต้องรอแต่ความช่วยเหลือจากคนอื่นอย่างเดียว ท่านผอ.แอนตบท้ายจนเกิดรอยยิ้มรอบวงสนทนา

           เนื่องด้วยคุยไปคุยมาจนเกือบถึงเที่ยงวัน สังเกตเห็นนักเรียนชั้นเด็กเล็กเดินเข้าแถวมุ่งไปทางโรงอาหาร ถือโอกาสชวนผอ.แอนคุยเรื่องอาหารกลางวัน พอถามถึงว่าใช้ผักที่ปลูกเองในการทำอาหารกลางวันหรือเปล่า ก็ได้รับคำตอบถึงกับอึ้งเลยทีเดียว ที่นี่โรงอาหารต้องซื้อผักที่นักเรียนและคุณครูช่วยกันปลูกเพื่อที่จะนำมาประกอบอาหาร เมื่อยิงคำถามว่าทำไมต้องซื้อผักที่ปลูกเองด้วย ก็ต้องอึ้งรอบสอง เพราะเพื่อเป็นทุนในการปลูกผักรอบต่อไปเท่ากับเป็นทุนหมุนเวียนให้กิจกรรมนี้เดินได้ด้วยตัวเอง ผอ.แอนกล่าว และยังเสริมว่าถ้าให้โรงอาหารไปประกอบอาหารฟรีๆ รอบการปลูกผักต่อไปต้องลงทุนใหม่ทุกครั้ง ดังนั้นช่วงไหนไม่มีงบประมาณอุดหนุนก็ต้องหยุดกิจกรรมปลูกผักของนักเรียนไป ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย  ต่อเมื่อนักเรียนชั้นโตขึ้นมาหน่อยตั้งแถวเดินมุ่งไปโรงอาหาร จึงชวนผอ.แอนไปดูโรงอาหารของโรงเรียน  ป้ายเมนูอาหารขึ้นว่าผัดผักบุ้ง กับแกงเลียง ผิดคาดนิดหน่อยเพระคิดว่าต้องมีอาหารทะเล หรืออย่างน้อยก็ต้องมีปลาเป็นเมนูหลัก สอบถามป้าเอียดแม่ครัวประจำโรงอาหารแห่งนี้ว่าทำไมถึงแกงเลียง แกเหมือนไม่ค่อยเข้าใจ ตอบมาแบบยากจะเข้าใจ ว่าวันนี้วันแกงเลียง ก่อนจะงงกันไปใหญ่ ผอ.แอนก็เฉลยว่า ทุกวันพุธที่ครัวโรงอาหารต้องมีแกงเลียงเป็นเมนูหนึ่ง ป้าเอียดจึงเรียกวันแกงเลียง ซึ่งได้สร้างรอยยิ้มให้กับทุกคน ถามป้าเอียดถึงที่มาของส่วนประกอบแกงเลียง ก็จับความได้ประมาณว่า ได้พืชผักจากในรั้วโรงเรียนส่วนหนึ่ง ส่วนหนึ่งก็จากพ่อแม่เจ้าพวกนี้ พรางชี้มือไปที่นักเรียนที่กำลังรับประทานอาหารกันอยู่ ที่เหลือก็ชื้อจากชุมชน ช่วงไหนของไม่พอก็ชื้อแถวตลาด ระหว่างสนทนากันนั้น ผอ.แอนเสริมให้ฟังว่าป้าเอียดเมื่อก่อนนี้เป็นคนไม่ทานผักเลย เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ค่อยทาน แล้วเมื่อโดนผอ.แอนหว่านล้อมกึ่งบังคับให้ต้องประกอบอาหารให้เด็กรับประทานนั้นต้องมีผักเป็นส่วนประกอบในทุกมื้อ โดยเฉพาะวันพุธซึ่งเป็นวันแกงเลียงผัก แรกทีเดียวแกอิดออดไม่ยอมทำอาหารที่ต้องใส่ผัก แกชอบแกงปลาหรืออื่นๆอย่างเดียวโดยไม่มีผักเลย เมื่อครั้งหนึ่งแกทำอาหารกลางวันแล้วทางผอ.แอนบอกให้ใส่มะละกอลงไปด้วย แกถึงกับตกใจว่าจะกินได้อย่างไร เกิดมาแกยังไม่เคยกิน รอยยิ้มและเสียงหัวเราะเกิดอีกครั้งที่โรงอาหารแห่งนี้

           เป็นเรื่องจริงว่ายังมีผู้คนในพื้นที่แถบนี้ไม่เคยรับประทานผักหลายชนิดที่คนทั่วไปทานกันอยู่ประจำ เช่นกรณีมะละกอของป้าเอียด แต่นั่นเมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันทั้งนักเรียนและครูคุ้นเคยกับการบริโภคผัก โดยเฉพาะจากในรั้วโรงเรียนเมื่อถึงวันพุธ วันแกงเลียง อีกทั้งป้าเอียดเองก็คุ้นเคยกับการประกอบอาหารจากพืชผักมากขึ้น ผอ.แอนยังเสริมว่าต่อไปว่าอยากส่งเสริมให้วัฒนธรรมการบริโภคผัก เกิดกับทางบ้านของเด็กนักเรียนด้วย กล่าวคือการบริโภคผักควรจะมีในทุกมื้อ ไม่ใช่จำกัดเฉพาะกับอาหารกลางวันเท่านั้น

             คนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีชีวิตผูกพันกับกับวิถีวัฒนธรรมดั้งเดินยาวนานเช่นเดียวกับพฤติกรรมในการบริโภค เมื่อแต่เดิมพืชผักมีน้อยจึงส่งผลให้การบริโภคน้อยตามไปด้วย ยิ่งสั่งสมมารุ่นต่อรุ่น กลายเป็นความเคยชินจนเกิดเป็นวัฒนธรรมประจำถิ่น ใช่แต่ว่าคนรุ่นใหม่ไม่บริโภคผัก คนรุ่นเก่าก็เช่นกัน ด้วยภูมินิเวศน์แถบนี้ไม่ค่อยเหมาะสมกับการปลูกพืชผักตามแนวทางปรกติทั่วไป ดังนั้นควรมีการหันมาใช้นวัตกรรมการปลูกผักในแบบฉบับต่างๆ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่และฤดูกาล เช่นดังโรงเรียนเทศบาลจองถนนกำลังปฏิบัติ โดยอาจเริ่มจากระดับนักเรียนซึ่งเป็นการปลูกฝังค่านิยมการบริโภคตั้งแต่เล็กๆ ขยายไปสู่ระดับครอบครัว และระดับชุมชนต่อไป เชื่อว่าต่อไปเด็กๆที่เติบโตขึ้นวันนี้จะมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคผัก เกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ให้คนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและที่อื่นๆที่พวกเขาและเธอเหล่านั้นอาศัยอยู่สืบไป

 

 

—————————————————

เขียนโดย : คุณเกียรติศักดิ์ ยั่งยืน
บทความนี้มาจากงานวิจัยของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)