“เบื้องหลังรางวัลฯ”   โรงเรียนของหนู กิน อยู่ ปลอดภัย (โรงเรียนปลูกคน คนปลูกอาหาร ตอนที่ 5 )

นายจรุงพัฒน์  ใจวงศ์ผาบ

นายเกียรติศักดิ์  ยั่งยืน

เมื่อได้ลงไปทำการเก็บข้อมูลภายใต้โครงการโรงเรียนปลูกคน คนปลูกอาหาร ที่โรงเรียนบ้านยางแดง ตำบลคู้ยายหมี อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา  พบป้ายไวนิลประกาศรางวัลจากการแข่งขันประกอบอาหาร และ “บุคคลที่สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนบ้านยางแดง” ตามด้วยรายชื่อนักเรียนหลายคน อาทิ

  • รางวัลเหรียญเงิน การแข่งขันทำอาหารเช้าเพื่อสุขภาพแบบไทย ระดับชั้น ป.4-6 ระดับภาคกลางและตะวันออก ปี 2553
  • รางวัลเหรียญทอง การแข่งขันทำอาหารคาว-หวานเพื่อสุขภาพ(ประเภทเส้น) ระดับชั้น ป.4-6 ระดับภาคกลางและตะวันออก ปี 2554
  • รางวัลเหรียญทอง การแข่งขันทำอาหารคาวจานเดียว(ประเภทเส้น)และอาหารหวาน(ขนมไทย) ระดับชั้น ป.4-6 ระดับภาคกลางและตะวันออก ปี 2555
  • รางวัลชนะเลิศระดับชาติ  “อาหารคาวจานเดียวประเภทข้าวและขนมหวาน” ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 63 ปี 2556

 

แน่นอนว่าเบื้องหลังของการได้มาซึ่งรางวัลอันนำความภาคภูมิใจมาสู่ชาวบ้านยางแดง ย่อมมีที่มาที่ชวนค้นหา…

จากการสนับสนุนงบประมาณโครงการผักกางมุ้ง จำนวน 30,000 บาท โดยองค์การบริหารส่วนตำบลคู้ยายหมี เมื่อปี 2550 ถือเป็นจุดสำคัญในการส่งเสริมจิตสำนึกให้คณาจารย์โรงเรียนบ้านยางแดง ตำบลคู้ยายหมี อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ตระหนักถึงการพึ่งพาตนเองทางด้านอาหาร

ด้วยเนื้อที่กว่า 16 ไร่ของโรงเรียนฯ ทำให้ผู้บริหารและคณาจารย์ร่วมออกแบบการส่งเสริมให้นักเรียนเห็นความสำคัญของความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยเริ่มจากการเชื่อมโยงกับภาคีภายนอกโรงเรียนเพื่อส่งเสริมทักษะให้แก่นักเรียน ได้แก่ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดฉะเชิงเทรา ในการให้ความรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ, ปุ๋ยน้ำ, การเพาะต้นกล้า, การทำยาฆ่าแมลงจากใบสะเดา, การสอนทำอิฐ ฯลฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการสนับสนุนองค์ความรู้และวัตถุดิบในการเพาะเห็ด, สวนวนเกษตรของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม (ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต) สำหรับองค์ความรู้เรื่องสมุนไพร เป็นต้น 

  นอกจากภาคีภายนอกแล้ว ยังมีวิทยากรภายในโรงเรียน นั่นก็คือพนักงานขับรถประจำโรงเรียนนั่นเอง ซึ่งมากด้วยประสบการณ์และทักษะทางการเกษตร ทั้งการสอนดำนา การปลูกพืชผักเกือบทุกชนิด และการเลี้ยงปลา

 

 

 

ปัจจุบันพืชผักที่ปลูกในโรงเรียน ได้แก่ ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง บวบ เห็ด แตงกวา มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว  ถั่วงอก มะนาว เป็นต้น อีกทั้งยังมีบ่อเลี้ยงปลานิล 1 บ่อ และปลาดุก อีก 1 บ่อ ซึ่งพืชผักเหล่านี้ ก็ได้ถูกนำมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารกลางวัน เป็นเมนูต่างๆ เช่น ต้มยำไก่ใส่เห็ด ผัดผักน้ำมันหอย ต้มข่าไก่ แกงเทโพ ผัดเปรี้ยวหวาน ยำวุ้นเส้น ยำไก่ฉีก แกงเผ็ดหมู ต้มจืด ไข่เจียว ผัดบวบใส่ไข่ กะหล่ำปลีใส่ไข่ ผัดซีอิ้ว ข้าวผัดฮอทดอก ยำรสไม่เผ็ด ราดหน้า เป็นต้น

นอกจากจะถูกนำมาทำเป็นอาหารกลางวันให้นักเรียนได้รับประทานแล้ว โรงเรียนยังจัดสรรพืชผักบางส่วนให้แก่นักเรียนที่ทำหน้าที่ในการดูแลแปลงผักให้นำกลับไปใช้ประกอบอาหารที่บ้านตนเอง อีกทั้งยังนำมาวางจำหน่ายบริเวณด้านหน้าของโรงอาหาร เพื่อให้คนในชุมชนได้บริโภคพืชผักที่ปลอดภัยอีกด้วย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากคนในชุมชนเป็นอย่างดี เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการปลูกพืชผักของโรงเรียนนั้น ปราศจากสารเคมี ซึ่งผลกำไรจากการจำหน่ายก็ได้นำมาซื้อเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกหมุนเวียนต่อไป

  นอกจากผู้บริหารโรงเรียนแล้ว บุคคลที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้นักเรียนของโรงเรียนบ้านยางแดง ได้รับรางวัลจากการเข้าร่วมการแข่งขันประกอบอาหารระดับประเทศต่อเนื่องถึง 7 ปี อีกทั้งเคยได้รางวัลชนะเลิศ 1 ครั้ง ก็คือ คุณวรลักษณ์ ใจบุญ หรือ “พี่แต๋น” แม่ครัวคนเก่ง ของน้องๆ นักเรียนโรงเรียนบ้านยางแดง

 

สำหรับพี่แต๋น เดิมเคยเป็นครูสอนเด็กพิเศษ(LD) ต่อมาเมื่อเด็กพิเศษมีจำนวนน้อยลง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 2 จึงยกเลิกการจ้าง แต่ทางโรงเรียนเล็งเห็นถึงศักยภาพและความรู้ความสามารถทางด้านหลักโภชนาการของเธอ จึงเสนอให้ทำหน้าที่แม่ครัวแทน

จากการสอบถามพี่แต๋น ถึงความสามารถในการประกอบอาหาร ก็ไม่ได้มีเคล็ดลับอะไรมากมาย เพียงแต่บอกว่า เธอมีความสุขที่ได้ทดลองประยุกต์เมนูอาหารใหม่ๆ อยู่เสมอ ด้วยพืชผักชนิดต่างๆ ในโรงเรียน และด้วยความรู้สึกที่เคยทำหน้าที่ครูมาก่อน ทำให้พี่แต๋นมีความสุขเวลาได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่น้องๆ นักเรียน “พี่ก็สนุกน่ะ ได้สอนเด็กทำอาหาร และเวลาไปแข่ง ก็ได้เดินทาง เหมือนได้ไปเที่ยวด้วย”

 

 

สำหรับความสำเร็จทั้งในแง่ของรางวัลและการส่งเสริมจิตสำนึกในการพึ่งพาตนเองทางอาหารให้แก่นักเรียนนั้น คุณณัจฉรียา ศรีละบุตร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยางแดง มองว่า “อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 และเป็นปัจจัยที่สำคัญ กองทัพต้องเดินด้วยท้อง ที่ชุมชนนี้ถือว่าโชคดีอย่างน้อยมีที่ดิน ดังนั้นทุกบ้านจะมีของที่ไม่ต้องซื้อ เช่น มะกรูด มะนาว ตะไคร้ นอกจากนั้นยังปลอดภัยอีกด้วยเพราะเขาปลูกไว้กินเอง ก็สามารถพึ่งตัวเอง แบ่งเบาค่าใช้จ่ายได้ อย่างที่ดินของโรงเรียนบ้านยางแดง มี 16 ไร่เราก็ปลูกฝังเด็กนักเรียนว่าผักมีประโยชน์ แต่ถ้าเราซื้อกินเราก็ไม่รู้ที่มา ซึ่งพอเราสอนเขา เขาก็เอาความรู้กลับไปทำที่บ้าน แล้วเด็กก็จะโชว์กันน่ะ ว่า อยู่บ้านหนูก็ทำ หนูทำแปลงอย่างนั้น หนูปลูกอย่างนี้ หนูมีอันนั้นอันนี้ เค้ามีอะไรเค้าจะโชว์เพื่อนๆ”

อีกทั้งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยางแดง ไม่ได้มองว่าการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในระดับโรงเรียนมีปัญหาในเชิงนโยบาย แต่อยู่ระดับปฏิบัติการที่ว่า ผู้บริหารของแต่ละโรงเรียนจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด นอกจากนั้นสิ่งสำคัญคือการคำนึงถึงบริบทของแต่ละพื้นที่ เนื่องจากโรงเรียนบ้านยางแดงอาจจะได้เปรียบกว่าโรงเรียนอื่น เนื่องจากเนื้อที่ของโรงเรียนมีค่อนข้างมาก และมีภาคีทั้งภายในและนอกชุมชนหนุนเสริม ทำให้การดำเนินงานด้านนี้เป็นไปได้ด้วยดี แต่สำหรับโรงเรียนบางแห่งอาจจะไม่ได้มีปัจจัยที่พร้อมเหมือนโรงเรียนบ้านยางแดง

 

—————————————————

เขียนโดย : คุณเกียรติศักดิ์ ยั่งยืน
บทความนี้มาจากงานวิจัยของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)