เติบโตด้วยเมล็ดพันธุ์ (โรงเรียนปลูกคน คนปลูกอาหาร ตอนที่ 3)

เมล็ดพันธุ์อิสระ เรียบเรียง

ในนามความทันสมัย ทำให้เด็กนักเรียนเหล่านี้ยิ่งห่างไกลกับการบริโภคผักมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อโฆษณา หรือสื่อที่เข้าถึงได้ง่ายอย่างเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่มุ่งนำเสนอการบริโภคในรูปแบบของความทันสมัย รูปลักษณ์สีสันสวยงามทั้งในเรื่องหีบห่อหรือตัวอาหารเอง โดยไม่ค่อยได้คำนึงถึงคุณค่าต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวของที่บริโภค เช่นคุณค่าทางโภชนาการ ความปลอดภัย ที่สำคัญคุณค่าในวัฒนธรรมประจำถิ่น ดังนั้นเมื่อมีสิ่งชักนำเหล่านี้ทำให้เด็กรุ่นใหม่ๆ พร้อมที่จะหันหลังให้ถิ่น

ถ้าใครเคยเดินทางผ่านไปแถวคาบสมุทรสทิ้งพระ คงเคยเห็นท้องนาอันกว้างใหญ่ ทิวตาลโตนดเรียงรายตลอดข้างทาง ดูจากขนาดความสูงของต้นตาลโตนด พาให้นึกถึงความเก่าแก่ของชุนชนแถบนี้ ด้วยพื้นที่เป็นคาบสมุทร โดยฝั่งตะวันตกจรดกับทะเลสาบสงขลา ฝั่งตะวันออกจรดทะเลใหญ่หรือทะเลอ่าวไทย สังเกตเห็นมีวัดวาอารามมากมายในแถบนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัดเก่าแก่ บวกกับตาลโตนดกระจายอยู่มากมาย อดีตคงเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งมีความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่หนึ่ง ทั้งในทางด้านพุทธศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม หรือในด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีความสมบูรณ์ในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ ทรัพยากรทางทะเลที่มีอยู่มากมายทั้งจากทะเลสาบและทะเลใหญ่

พื้นที่คาบสมุทรสทิ้งพระ ประกอบด้วยอำเภอสทิ้งพระ อำเภอสิงหนคร อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอระโนด ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกสุดของจังหวัดสงขลา ผู้คนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพหลักๆอยู่สองประเภท คือผู้ที่อาศัยริมชายฝั่งของทั้งสองด้านที่ติดทะเลจะประกอบอาชีพทำประมง คนที่ไม่ได้อยู่ติดทะเลก็ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่นทำนาข้าว ทำไร่ หรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับตาลโตนดอย่างเช่นทำน้ำตาลโตนด ลูกตาลสด น้ำส้มจากตาลโตนด และอื่นๆอีกมากมายที่สามารถใช้ประโยชน์จากต้นตาลโตนด

สิ่งหนึ่งเมื่อสัมผัสกับผู้คนแถบนี้ เรื่องของวิถีการกิน เช่นเดียวกับหลายๆที่ของคนที่อาศัยอยู่ในชายฝั่งทะเล หรือคนในลุ่มน้ำทะเลสาบ สิ่งที่ไม่ค่อยพบเจอในเมนูอาหารคือ ความหลากหลายของพืชผักที่ใช้ประกอบอาหาร แต่จะแทนที่ด้วยอาหารทะเลไม่ว่าจะเป็นปลา กุ้ง หอย ปู และอื่นๆ มากมาย ทั้งนี้อาจเป็นด้วยความมีอยู่มากมายของทรัพยากรเหล่านี้ ทั้งจากน้ำจืด น้ำเค็ม หรือแม้แต่น้ำกร่อย จนเกิดเป็นวัฒนธรรมการกินที่หยั่งรากลึกสืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น สังเกตเมนูอาหารเช่นการแกงก็จะแกงเฉพาะเนื้อสัตว์อย่างพวกปลา ก็จะเป็นปลาอย่างเดียวไม่ค่อยมีผักอื่นเป็นส่วนประกอบ หรืออาจมีก็เพียงอย่างสองอย่าง ไม่เหมือนผู้คนที่อาศัยอยู่โชนเขาหรือโชนนา ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่อาจพบว่าเมนูหนึ่งอาจมีพืชผักเป็นส่วนประกอบมากถึงสิบชนิด หรืออาจมากถึงยี่สิบชนิดอยู่ในหม้อเดียวกันก็เป็นเรื่องปรกติ

วัฒนธรรมการบริโภคอย่างหนึ่งของผู้คนในภาคใต้ที่ดูจะเหมือนกันในทุกที่คือ จะเลือกกินสิ่งที่มีอยู่มากมายในท้องถิ่นนั้นๆก่อน จนนานวันกลายเป็นนิสัยความเคยชิน สั่งสมสืบทอดจนเกิดเป็นวัฒนธรรมการบริโภคประจำถิ่น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การกินอยู่ของผู้คนในภูมิภาคเดียวกัน จะมีความแตกต่างกันในแต่ละท้องที่ จนบางพื้นที่เกิดเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นที่หาที่ใดเหมือนไม่ได้

โรงเรียนวัดประตูเขียนเป็นโรงเรียนหนึ่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของคาบสมุทรสทิ้งพระ โดยมีพื้นทีตั้งอยู่ใน .ม่วงงาม .สิงหนคร  .สงขลา เป็นโรงเรียนขนาดเล็กเปิดสอนในระดับอนุบาลถึงประถมศึกษา มีจำนวนนักเรียนไม่ถึงร้อยคน นักเรียนส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กในชุมชนใกล้เคียง เป็นลูกหลานของคนพื้นถิ่นโดยแท้ ทำให้รับเอาวัฒนธรรมการบริโภคจากที่มีอยู่โดยตรง บวกกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงในนามความทันสมัย ทำให้เด็กนักเรียนเหล่านี้ยิ่งห่างไกลกับการบริโภคผักมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อโฆษณา หรือสื่อที่เข้าถึงได้ง่ายอย่างเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่มุ่งนำเสนอการบริโภคในรูปแบบของความทันสมัย รูปลักษณ์สีสันสวยงามทั้งในเรื่องหีบห่อหรือตัวอาหารเอง โดยไม่ค่อยได้คำนึงถึงคุณค่าต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวของที่บริโภค เช่นคุณค่าทางโภชนาการ ความปลอดภัย ที่สำคัญคุณค่าในวัฒนธรรมประจำถิ่น ดังนั้นเมื่อมีสิ่งชักนำเหล่านี้ทำให้เด็กรุ่นใหม่ๆ พร้อมที่จะหันหลังให้ถิ่น

ครูไพรัตน์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวัดประตูเขียน ตอนนี้ได้เกษียนราชการไปแล้ว แต่ยังมีความผูกพันกับโรงเรียนอยู่ และด้วยตอนนี้โรงเรียนวัดประตูเขียนเองก็ไม่มีครูผู้ชาย และยิ่งไม่มีครูที่สอนวิชาเกี่ยวกับเกษตรโดยตรง ทำให้ครูไพรัตน์อาสาเข้ามาสอนในเรื่องเหล่านี้ ด้วยหวังว่าได้เกิดประโยชน์กับนักเรียน และเป็นความรู้ติดตัวนักเรียนไป ที่สำคัญได้ส่งเสริมการบริโภคผักของนักเรียนให้มากยิ่งขึ้น ใจความสำคัญตอนหนึ่งที่ครูไพรัตน์กล่าวถึงการบริโภคผักของนักเรียนคือ ต้องมีผักก่อนนักเรียนถึงจะได้กินผัก ดังนั้นการจะมีผักได้ต้องเริ่มจากการปลูก ผ่านขั้นตอนมากมาย กระบวนการบริโภคเป็นขั้นสุดท้ายซึ่งสำคัญมาก เพราะเมื่อปลูกแล้วกินไม่เป็นหรือไม่อยากกิน ก็ไม่เกิดประโยชน์

ที่ตรงไหนก็ปลูกผักได้ครูไพรัตน์กล่าว ของเพียงมีความรู้ความเข้าใจในพื้นที่และพืชพันธุ์ที่จะปลูก ที่สำคัญเด็กนักเรียนต้องมีส่วนร่วม ซึ่งจะทำให้เขาและเธอเหล่านั้นรักมัน ดังนั้นไม่แปลกที่โรงเรียนวัดประตูเขียนซึ่งมีพื้นที่ไม่ได้มากมายนัก แต่กลับมีพืชผักต่างๆ กระจายอยู่โดยรอบโรงเรียน และโดยไม่จำกัดพื้นที่และรูปแบบ ทั้งรอบอาคาร ริมกำแพง ค้างไม้เลื้อย หรือวางเป็นชั้นในรูปแบบขั้นบันได โดยมีพืชผักหลากชนิด เมื่อสอบถามนักเรียนและครูไพรัตน์ได้ความว่า ผักต่างๆที่จะปลูกนักเรียนจะเป็นผู้เสนอขึ้นมาว่าอยากปลูกอยากกินผักอะไร ก็จะจัดการหาพันธุ์พืชผักเหล่านั้น พร้อมทั้งหาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกการปรุงและที่สำคัญคือการกิน เมื่อนักเรียนมีส่วนร่วม ก็เป็นการง่ายทีจะทำให้เด็กนักเรียนได้กินผัก

สำคัญมากกับการสร้างกระบวนการเรียนรู้กับเด็ก การเรียนรู้เรื่องการปลูกผักไม่ได้หมายถึงเพียงมีผักไว้บริโภคเท่านั้น แต่ยังเป็นการฝึกฝนในเรื่องการสร้างความมั่นคงในด้านอาหาร รู้จักเลือกรับประทานอาหารที่ดีและปลอดภัย สามารถพึ่งตนเองได้ เห็นได้จากแนวคิดหลักของโรงเรียนวัดประตูเขียน ที่เน้นให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริง ตั้งแต่การเตรียมดิน ปรุงดิน คัดเลือกพันธุ์ผักที่จะปลูก วิธีการปลูก การผลิตปุ๋ยใช้เอง วิธีการดูแลรักษาและโรคภัยแมลงต่างๆ เรียนรู้ผ่านแปลงผักและวิธีการปลูกที่หลากหลาย และต้องสอดคล้องกับช่วงวัยของนักเรียนในแต่ละชั้นเรียน เช่นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เน้นปลูกผักง่ายๆกินง่ายๆ อย่างผักบุ้ง เป็นต้น เพื่อให้เห็นผลได้ง่าย ไม่ต้องการการดูแลที่ซับซ้อนมากนัก ซึ่งเมื่อนักเรียนทำแล้วเกิดผล การสร้างกระบวนการเรียนรู้ในขั้นถัดไปที่สูงขึ้นก็ทำได้ไม่ยาก หรือนักเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่4-6นอกจากจะเน้นพืชผักในแปลงเพาะปลูกแล้ว ยังเพิ่มเทคนิคขั้นสูงขึ้นมาอีกหน่อย เช่นการตอนกิ่ง การติดตา หรือการเสียบยอด โดยครูไพรัตน์กล่าวว่านักเรียนที่จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนวัดประตูเขียนสามารถขยายพันธุ์พืชด้วยเทคนิคเหล่านี้ได้ทุกคน

การเตรียมเมล็ดพันธุ์ที่จะเพาะปลูกในโรงเรียนตามที่นักเรียนเสนอในแต่ละครั้งนั้น ครูไพรัตน์จะเตรียมไว้เยอะกว่าปรกติที่ใช้ในแปลงผักที่โรงเรียน เนื่องจากเมื่อนักเรียนได้ปฏิบัติจริงในโรงเรียน จะมีความกระตือรือร้นจากการได้ทำจริงสดๆร้อนๆ จึงใช้โอกาสนี้แจกเมล็ดพันธุ์ที่เตรียมไว้ที่เหลือจากปลูกที่โรงเรียนแล้วให้นักเรียนไปปลูกต่อที่บ้าน ซึ่งนักเรียนก็ตอบรับเป็นอย่างดี อาจเป็นเพราะเพิ่งผ่านกระบวนการเรียนรู้มาใหม่ๆ ทำให้อยากเอาไปทำที่บ้านบ้าง นับเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจของครูไพรัตน์ทีเดียว ซึ่งพอนักเรียนนำพืชผักกลับไปปลูกที่บ้าน พ่อแม่ผู้ปกครองทางบ้านก็ต้องร่วมกับบุตรหลานตัวเองด้วย เกิดเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกัน ทั้งยังเป็นการสร้างค่านิยมที่ดีในด้านการบริโภคอาหารในครัวเรือนอีกด้วย แม้อาจเป็นส่วนที่ยังไม่มาก แต่สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนในคาบสมุทรสทิ้งพระ ซึ่งเคยชินกับการประกอบอาหารที่ไม่ค่อยมีพืชผักเป็นส่วนประกอบ จนกลายเป็นวัฒนธรรมการบริโภคประจำถิ่น ดังนั้นเมล็ดพันธุ์เม็ดเล็กๆที่นักเรียนเริ่มปลูกในวันนี้ อาจเป็นการปลูกฝังบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ในภายหน้าแก่พวกเขาก็เป็นได้

อาจไม่ง่ายนักที่ใครจะลุกขึ้นมาทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ได้โดยง่าย บางทีการเริ่มจากสิ่งเล็กๆ อาจเป็นแนวทางหนึ่งที่เราสามารถเริ่มลงมือทำได้เลย ต้นตาลโตนดต้นใหญ่ที่ยืนต้นเรียงรายอยู่มากมายในพื้นที่คาบสมุทรสทิ้งพระ คงยืนยันได้ถึงความยิ่งใหญ่ของมัน ยืนต้นผ่านลมพายุแดดฝนมานานปี ออกลูกติดผลเพื่อมอบให้แก่สรรพสิ่งต่างๆมากมาย แต่ใครรู้บ้างว่าต้นตาลโตนดที่ยิ่งใหญ่เหล่านั้นเกิดจากหน่วยผลเล็กๆขนาดเพียงกำปั้นเท่านั้นเอง

 

—————————————————

เขียนโดย : คุณเกียรติศักดิ์ ยั่งยืน
บทความนี้มาจากงานวิจัยของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)