รักษาสิทธิในพื้นที่ป่าให้กับกลุ่มชนเผ่า
ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ The Hindu Businessline, 6 มีนาคม 2562
ผู้เขียน: ดร. ที. ฮาค (Dr. T. Haque) อดีตประธานคณะทำงานด้านนโยบายที่ดิน, สถาบันแห่งชาติเพื่อการปฏิรูปอินเดีย ( NITI Aayog)
รัฐบาลกลางและรัฐบาลรัฐท้องถิ่นต้องบังคับใช้พรบ.สิทธิในพื้นที่ป่าอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
ในประเทศอินเดีย มีประชากรชนเผ่าและผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอื่นๆเกือบ 200 ล้านคนซึ่งอาศัยทรัพยากรในป่าเป็นหลักในการดำรงชีพ อย่างไรก็ตาม สิทธิตามจารีตประเพณีในพื้นที่ป่าของพวกเขามักถูกคุกคามเนื่องจากการขาดการสำรวจอย่างจริงจังรวมถึงข้อมูลที่ดินและการตั้งแหล่งที่ครบถ้วน คนกลุ่มนี้จึงมักถูกมองว่าเป็นผู้บุกรุกที่ดินซึ่งพวกเขาอาศัยอยู่
การบังคับใช้พระราชบัญญัติกลุ่มชนเผ่าที่กำหนดตามกฎหมายและผู้อาศัยในพื้นที่ป่าอื่นๆ ค.ศ. 2006 (การรับรองสิทธิในพื้นที่ป่า) ซึ่งให้การรับรองสิทธิในทรัพยากรป่าไม้แก่ปัจเจกบุคคลรวมถึงชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพสมควรยุติความอยุติธรรมที่กลุ่มชนเผ่าต้องเผชิญมาอย่างยาวนานอันมีสาเหตุจากจากรัฐบาลชุดที่ผ่านๆมาได้ แต่การที่รัฐบาลรัฐท้องถิ่นหลายรัฐไม่ว่าจะเพิกเฉยหรือชะลอการบังคับใช้ในช่วงหลังปีค.ศ. 2006 บอกเล่าสิ่งต่างๆมากมายถึงชะตากรรมเรื่องสิทธิในพื้นที่ป่าของกลุ่มชนเผ่า
คำสั่งศาลฎีกา ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2019 ที่สั่งให้รัฐท้องถิ่นต่างๆขับประชาชนที่ถูกปฏิเสธการอ้างสิทธิในพื้นที่ป่าออกจากพื้นที่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน คำสั่งขับไล่โดยศาลสูงสุดนี้พิจารณาจากบันทึกคำให้การที่รัฐท้องถิ่นต่างๆเป็นผู้ยื่น โชคดีที่รัฐบาลกลางยื่นฎีกาคัดค้านก่อนที่ศาลสูงสุดจะระงับคำสั่งขับไล่ ถึงแม้ว่าศาลได้ระงับคำสั่งขับไล่ไว้ชั่วคราว แต่สิทธิของกลุ่มชนเผ่าและผู้ที่อาศัยในพื้นที่ป่าอื่นๆยังคงมีความไม่แน่นอนอย่างสูง
หากคำสั่งระงับถูกยกเลิก ประชาชนกว่าหนึ่งล้านคนจะได้รับผลกระทบโดยทันทีแม้ปัจจุบันจะมีคำร้องพียงส่วนน้อยที่ถูกยื่นและพิจารณาแล้ว ตามข้อมูลของกระทรวงกิจการชนเผ่า ณ วันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 2018 มีการยื่นคำร้องเกี่ยวกับทรัพยากรของปัจเจกบุคคลและชุมชนรวม 4.2 ล้านคำร้อง โดยมีคำร้องที่ถูกปฏิเสธ จำนวน 1.9 ล้านคำร้อง
ด้วยอัตราการปฏิเสธคำร้องที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะมีประชากรชนเผ่าและผู้ที่อาศัยในพื้นที่ป่าอื่นๆอีกหลายล้านคนที่จะสูญเสียสิทธิตามจารีตประเพณีในพื้นที่ป่าเมื่อผู้ที่มีสิทธิได้ประโยชน์จากพรบ.สิทธิในพื้นที่ป่ายื่นคำร้องครบ 150 ล้านราย นึกไม่ออกเลยว่ารัฐบาลซึ่งได้รับเลือกตั้งมาตามระบอบประชาธิไตยสามารถทำแบบนี้กับประชาชนของตนได้อย่างไร ในอินเดียมีถึง 133 เขตเลือกตั้งที่พรบ.สิทธิในพื้นที่ป่าเป็นหนึ่งในประเด็นหลักในการเลือกตั้งเนื่องจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 30% เป็นผู้ที่มีสิทธิได้รับประโยชน์จากพรบ.ฉบับนี้ การที่ประชาชนจำนวนมากไม่มีหลักฐานที่เป็นเอกสารนั้นหาใช่เป็นความผิดของพวกเขา แต่รัฐบาลรัฐท้องถิ่นเองต่างหากที่ไม่พยายามรับรองและบันทึกสิทธิ์ของผู้ที่อาศัยในพื้นที่ป่าทั้งระดับปัจเจกชนและชุมชนอย่างเป็นระบบ
ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรป ปัจเจกบุคคลและชุมชนท้องถิ่นเป็นเจ้าของและเป็นผู้จัดการป่าไม้จำนวนมากซึ่งไม่เพียงช่วยสร้างรายได้แก่พวกเขาแต่ยังช่วยในการอนุรักษ์และเกิดการใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนด้วย ตัวอย่างเช่น เม็กซิโกได้มอบพื้นที่ป่ากว่า 70% ให้ชุมชนจัดการ ส่วนพื้นที่ป่าเกือบ 30% ในเวียดนามก็จัดการโดยชุมชนท้องถิ่น
พรบ.สิทธิในพื้นที่ป่าของอินเดียก็เป็นการก้าวไปข้างหน้าในทิศทางเดียวกัน พรบ.ฉบับนี้ให้อำนาจชุมชนในการใช้ จัดการและดูแลพื้นที่ป่าเพื่อการดำรงชีวิตรวมไปถึงการอนุรักษ์และปกป้องผืนป่า แต่การบังคับใช้ยังคงเป็นปัญหา
ปัญหาการบังคับใช้
สาเหตุหลักของปัญหาการบังคับใช้พรบ.สิทธิในพื้นที่ป่า ได้แก่ การขาดข้อผูกมัดทางการเมือง, กรมกิจการชนเผ่าซึ่งเป็นหน่วยงานในการบังคับใช้พรบ.สิทธิในพื้นที่ป่ามีทรัพยากรบุคคลและทรัพยากรด้านการเงินไม่เพียงพอ, เจ้าหน้าที่รัฐขาดความรับผิดชอบและความเมตตาซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจในหลายระดับ, คณะกรรมการระดับตำบลและอำเภอซึ่งเป็นผู้พิจารณาคำร้องที่ยื่นโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหมู่บ้าน (Gram Sabha)ไม่ทำหน้าที่หรือทำไม่เต็มที่
นอกจากนั้น การตัดสินใจบางอย่างของรัฐบาลเมื่อเร็วๆนี้ได้ส่งผลต่อการบังคับใช้พรบ.ฉบับนี้โดยเฉพาะประกาศกฎหมู่บ้านภายใต้พระราชบัญญัติป่าไม้แห่งอินเดีย ค.ศ. 1927 ในรัฐมหาราษฏระ, แนวปฏิบัติที่ออกโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม ป่าไม้และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2015 เพื่อปล่อยพื้นที่ 40% ของป่าเสื่อมโทรมในประเทศให้บริษัทเอกชนเช่าเพื่อการปลูกสวนป่า และการบังคับเพาะปลูกบนที่ดินภายใต้ระบบการทำไร่หมุนเวียน
บทวิเคราะห์ข้อมูลของโครงการ E-Green Watch โดยสถาบันนโยบายสาธารณะบาราติ (Bharati Institute of Public Policy) แสดงให้เห็นว่าพื้นที่เพาะปลูกของหน่วยงานด้านป่าไม้นั้นอยู่บนพื้นที่ซึ่งกลุ่มชนเผ่าและผู้อาศัยในพื้นที่ป่าอื่นๆที่มีสิทธิในพื้นที่เหล่านี้ภายใต้พรบ.สิทธิในพื้นที่ป่าใช้ประโยชน์อยู่ การบังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนปลูกป่าทดแทน ค.ศ. 2016 อย่างมักง่าย ไม่ระมัดระวังนำมาซึ่งความรุนแรงและการประท้วงที่เพิ่มขึ้นจากฝั่งผู้อาศัยในพื้นที่ป่า
ในทางกลับกัน หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหมู่บ้านมีส่วนร่วมในโครงการปลูกป่าทดแทน พื้นที่ป่าประมาณ 187,500,000 ไร่จะอยู่ภายใต้การปกป้องและการฟื้นฟูทดแทนที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังจะช่วยบรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการลดการปล่อยคาร์บอนที่เป็นลบด้วยการกักเก็บคาร์บอนเพิ่มเติม ไม่เพียงเท่านั้น 65 อำเภอจากจำนวนทั้งหมด 103 อำเภอซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายซ้ายมีศักยภาพที่จะได้รับสิทธิในพื้นที่ป่าทั้งระดับปัจเจกบุคคลและระดับชุมชนสูง
การบังคับใช้พรบ.สิทธิในพื้นที่ป่าในอำเภอเหล่านี้ไม่เพียงนำไปสู่การพัฒนาผู้ที่อาศัยในพื้นที่ป่า แต่จะสร้างความเชื่อใจและความผูกพันระหว่างประชาชนกลุ่มนี้กับรัฐบาลด้วย วิธีนี้จะส่งผลให้ความขัดแย้งเรื่องที่ดิน ปัญหากบฎนักซาไลท์ และปัญหาการด้อยพัฒนาลดลง
ตัวอย่างความสำเร็จ
แม้การบังคับใช้พรบ.สิทธิในพื้นที่ป่าจะมีปัญหาในรัฐท้องถิ่นส่วนใหญ่ แต่ก็มีความสำเร็จให้เห็นอยู่เช่นกัน ในพื้นที่ที่หัวหน้าการปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติหน้าที่อย่างขันแข็ง กลุ่มชนเผ่าและผู้อาศัยในพื้นที่ป่าอื่นๆก็ได้รับประโยชน์จากสิทธิในพื้นที่ป่าทั้งระดับปัจเจกบุคคลและชุมชน ที่หมู่บ้าน Panchgaon ในเมืองจันทราปุระ (Chandrapur) และหมู่บ้าน Mendalkha ในเมืองกั๊ดชิโรลิ (Gadchiroli) ชุมชนได้รับสิทธิเป็นเจ้าของต้นไผ่ในป่าในปีค.ศ. 2014 ซึ่งช่วยเพิ่มปริมาณไม้ไผ่ขึ้นเท่าตัวในเวลาประมาณ 3 ปี
ไม่เพียงเท่านั้น ชุมชนยังยังประสบความสำเร็จในการต่อรองราคากับผู้ซื้อเพื่อให้ได้ราคาสูงขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ ประสบการณ์จากเมืองอมราวตีก็เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าหมู่บ้านต่างในเมืองนายาเคดา (Nayakheda), อุปัดเคดา (Upatkheda) และ ขัตติยะปุระ (Khatiyapur) ได้ฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและปลูกพันธุ์ไม้ต่างๆ เช่น ต้นไผ่, มะขามป้อมและต้นสักพร้อมๆไปกับการดูแลรักษาดินและความชุ่มชื้นอย่างจริงจัง
หนทางสู่อนาคต
เมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์อันมหาศาลทั้งทางด้านระบบนิเวศ สังคมและเศรษฐกิจที่ได้จากการจัดการป่าโดยชุมชนและปัจเจกบุคคล รัฐบาลกลางและรัฐบาลรัฐท้องถิ่นควรร่วมกันบังคับใช้พระราชบัญญัติสิทธิในพื้นที่ป่า ค.ศ. 2006 อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
มาตรการในอนาคตรวมถึงการนำคำร้องเกี่ยวกับสิทธิในพื้นที่ป่าระดับปัจเจกชนและระดับชุมชนที่ถูกปฏิเสธมาพิจารณาใหม่และทบทวนคำร้องที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยเร็ว, จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการระดับตำบลและอำเภอเป็นประจำเพื่อพิจารณาและอนุมัติคำร้องเกี่ยวกับสิทธิในพื้นที่ป่าระดับปัจเจกชนและระดับชุมชนโดยมีกรอบเวลาและเสริมสร้างประสิทธิภาพให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหมู่บ้านเพื่อให้สามารถดูแลและจัดการทรัพยากรป่าไม้ของชุมชนได้
ไม่เพียงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อวางแผนและติดตามการบังคับใช้พรบ.สิทธิในพื้นที่ป่าเท่านั้น ต้องมีการปฏิรูปเจ้าหน้าที่ป่าไม้เพื่อทำหน้าที่ผู้ให้บริการแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหมู่บ้านด้วย นอกจากนั้นยังจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือด้านการตลาดและการประกันราคาขั้นต่ำแก่ผลผลิตจากป่าที่ไม่ใช่ไม้และสร้างกลไกระดับสถาบันเพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจป่าชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่าอีกด้วย
สิ่งสำคัญอีกประการคือกระทรวงกิจการชนเผ่าในระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลรัฐท้องถิ่นต้องได้รับการสนับสนุนทั้งทรัพยากรบุคคลและทรัพยากรด้านการเงินเพื่อช่วยในภารกิจการนำพรบ.สิทธิในพื้นป่าไปบังคับใช้