ภูมิอากาศวิทยา/อุดมคติวิทยา: ความขัดเเย้งในหมู่ขบวนการขับเคลื่อนเรื่องโลกร้อนที่ไม่ถูกพูดถึง

[ฉบับร่างสำหรับหนังสือเรื่อง Climate Change Resistance and Renewal: Campaigns and Strategies from the Frontlines ของ เเทมร่า (Tamra Gilbertson) และ ไบรอัน โทกา (Brian Tokar) ที่กำลังจะตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Routledge ] เเลร์รี่ โลฮ์มันน์ (Larry Lohmann)
บริษัทเดอะคอร์เนอร์เฮ้าส์ (The Corner House)

ขบวนการขับเคลื่อนเรื่องสภาพภูมิอากาศคืออะไร นั่นก็ขึ้นกับว่าเรานิยามการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศว่าอย่างไร ความตึงเครียดที่สร้างความเเตกเเยกในกลุ่มขบวนการขับเคลื่อนเรื่องสภาพภูมิอากาศก็คือการงัดข้อกันระหว่างเเนวคิดเรื่องสภาพภูมิอากาศเเบบต่างๆ การที่จะสร้างเเนวร่วมในการเเก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่เเข็งเเกร่งขึ้นได้นั้นต้องยอมรับว่ามีความขัดเเย้งเรื่องการนิยามสภาพภูมิอากาศอยู่เสียก่อน

การที่ชนชั้นผู้มีการศึกษาไม่ว่าในซีกโลกเหนือหรือใต้ทึกทักเอาว่าสภาพภูมิอากาศต้องถูกนิยามโดยภูมิอากาศวิทยานั้นเป็นปัญหาในตัวของมันเองสำหรับการจัดการทางการเมือง ไม่มีช่วงเวลาใดที่ต้องเร่งเข้าไปทำความเข้าใจสภาพภูมิอากาศในความหมายอื่นๆเท่ากับช่วงเวลาที่ผู้คนมากมายนอกเหนือไปจากกลุ่มปัญญาชนที่มีความคิดทางวิทยาศาสตร์ซับซ้อน อย่างชาวนาชาวไร่ ผู้อาศัยในป่า ชุมชนตามเเนวชายเเดน เด็กนักเรียน เเละคุณย่าคุณยายชนชั้นเเรงงานพร้อมเเล้วที่จะรับความเสี่ยงต่างๆเพื่อหาหนทางให้นี้เรื่องภาวะโลกร้อนนี้เดินไปข้างหน้าอีกแล้ว

ก่อนอื่นใด ผมต้องขอชี้เเจงว่างานเขียนชิ้นนี้ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดเเย้งที่เป็นมายาวนานระหว่างนักภูมิอากาศวิทยาส่วนใหญ่กับกลุ่มที่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดเเย้งนั้นใช่ว่าไม่สำคัญ เเละเป็นเรื่องดีเเล้วที่มีนักวิจัยที่มีความสามารถอย่าง นาโอมิ โอเรสเกส (Naomi Oreskes) และอีริก คอนเวย์ (Erik Conway) (2553) ทำการศึกษาพลวัตบางอย่างเเบบเจาะลึก อย่างไรก็ตาม สมมติฐานของงานเขียนชิ้นนี้คือการเลือกข้างในการถกเถียงที่ออกจะไร้วิสัยทัศน์ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญอันดับแรกของความพยายามที่จะสร้างขบวนการขับเคลื่อนเรื่องสภาพภูมิอากาศของโลกให้เข้มแข็ง การเลือกปฏิเสธความจริงไม่ใช่ความเชื่อเเต่เป็นอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้นมากซึ่งไม่สามารถจัดการได้โดยเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้รู้จักภูมิอากาศวิทยามากขึ้น เเต่จำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงรากฐานของเเนวคิดการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ภูมิอากาศวิทยาสะท้อนให้เห็น ความสำคัญที่เร่งด่วนกว่าคือการพัฒนาเเนวทางการทำงานที่รอบคอบเเละเเสดงถึงความเคารพในประเด็นหรือกับกลุ่มคนที่มีเเนวโน้มจะประสบผลเช่น กับผู้คนจำนวนมากทั่วโลกที่ประสบปัญหาหรือโกรธเเค้นเพราะปรากฎการณ์โลกร้อนซึ่งถ้าเป็นกรณีอื่นเเล้ว อาจจะพบว่าเป็นเรื่องยากหรือพบว่าเป็นเรื่องยากจริงๆ ซึ่งผมจะเรียกว่า “การตกลงประนีประนอม” ระหว่างการเมืองเเละอุดมคติ” ที่สะท้อนผ่านภูมิอากาศวิทยา

บทนี้จะพยายามแนะว่าเเนวทางการทำงานที่กล่าวถึงนั้นเป็นอะไรได้บ้าง โดยมีประเด็นความคิดที่นำเสนอดังนี้

หนึ่ง เเจงให้เห็นลักษณะเชิงการเมืองของภูมิอากาศวิทยาที่สำคัญ 2 ประการ เเละย้ำเตือนว่าการเมืองมีอิทธิพลครอบงำมากเพียงใดในบริบทของนักอนุรักษ์สิ่งเเวดล้อม รัฐชาติเเละสหประชาชาติ

สอง บทความนี้จะถอยหลังไปหนึ่งก้าว เเละพิจารณาประเด็นการเมืองนี้อีกครั้งจากอีกมุมหนึ่ง ซึ่งพยายามทำให้เห็นอย่างชัดเจนโดยแสดงให้เห็นว่าทำไมการเมืองเเบบนี้ก็เหมือนเรื่องการเหมือนอื่นๆเเล้วยังมีเเนวโน้มที่จะขัดเเย้งกับคนส่วนใหญ่ของโลกที่เพรียกหาการลงมือเเก้ปัญหาการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

เมื่อหวนคิดถึงว่าภูมิอากาศวิทยาเป็นความรู้ที่เเตกเเขนงออกมาจากประวัติศาสตร์  ก็จะมองเห็นการเผชิญหน้าระหว่างภูมิอากาศวิทยาเเละความเข้าใจเรื่องสภาพภูมิอากาศสมัยใหม่ที่เน้นสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ

สาม เมื่อการรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศที่หยั่งรากทั่วโลกรวมถึงปฏิบัติการที่สำคัญๆได้สร้างความรู้เรื่อง “ความเป็นอื่น” ในเชิงการเมืองของภูมิอากาศวิทยาอย่างละเอียดลึกซึ้งเเล้ว บทนี้จึงสรุปความโดยเน้นให้เห็นว่าการให้ความสนใจต่อพลวัตของการตีความอย่างสุดโต่ง การสนทนาแลกเปลี่ยนเเละการสร้างมิตรระหว่างกลุ่มเเนวคิดต่อภาวะโลกร้อนที่มาจากฐานความคิดที่ต่างกัน โดยเฉพาะระหว่างผู้ที่ถูกครอบงำด้วยความรู้ทางภูมิอากาศวิทยาเเละพวกที่ไม่ถูกครอบงำนั้นสำคัญเพียงใดต่อการสร้างแนวร่วมในหมู่ขบวนการขับเคลื่อนเรื่องสภาพภูมิอากาศด้วยกัน

มุมมองภูมิอากาศวิทยาต่อสภาพภูมิอากาศ

เมื่อมองจากมุมประวัติศาสตร์โลก ความเข้าใจเรื่องสภาพภูมิกาศของภูมิอากาศวิทยาในปัจจุบันนั้นทั้งประหลาด เต็มไปด้วยอคติ คับเเคบ แปลกเเยกอย่างที่สุด อาจถึงขั้นพิลึกพิลั่นด้วยซ้ำ รูปแบบสองประการของความเข้าใจในลักษณะนี้ที่มีความเกี่ยวโยงกันมีความสำคัญมากต่อบทนี้ หนึ่งคือวิธีที่เเนวคิดนี้มองปัญหาสภาพภูมิอากาศในรูปแบบโมเลกุล การเคลื่อนที่ของโมเลกุล เเละการไหลของพลังงาน จัดให้วัตถุในธรรมชาติที่ไม่ข้องเกี่ยวกับ “สังคม” สองคือมุกโบราณๆที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้จัดการได้รับการสนับสนุนทางการเมืองด้วยความมักง่ายมักราวกับว่านั่นเป็น “วิธีเเก้” ปัญหาภาวะโลกร้อน

ในทางภูมิอากาศวิทยา คุณสมบัติเด่นของโมเลกุลเเละการเคลื่อนที่ของพลังงานที่ไม่ใช่เรื่องทางสังคมสามารถพิสูจน์ได้ง่ายๆ ภูมิอากาศวิทยามุ่งที่จะเเยกธรรมชาติ “ที่ไม่ใช่มนุษย์” (โมเลกุลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การสะท้อนแสงของเมฆ สารประกอบมีเทนคลาเทรดหรือน้ำเเข็งไฟ) ออกจากสังคม “ที่ไม่ใช่ธรรมชาติ” (ส่วนเกินที่ผลิตได้ สหภาพเเรงงาน นโยบายพลังงาน) (Bonneuil and Fressoz 2016) งภูมิอากาศวิทยามองก๊าซเรือนกระจกราวกับว่ามันล่องลอยอยู่ในอากาศที่เจตนาไม่มีตัวตน ตัวอย่างเช่น ภูมิอากาศวิทยาสามารถทำความเข้าใจถึงที่มาของโมเลกุลก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศได้ตราบเท่าที่สามารถสืบย้อนไปได้ถึงจุดต่างๆในระบบพิกัดคาร์ทีเซียน (Cartesian) ที่ปราศจากมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องเท่านั้น และเนื่องจากการใช้ชื่อประเทศเเทนภาคส่วนต่างๆในปริภูมินี้โดยรัฐชาติสมัยใหม่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองที่ได้รับการยอมรับ ภูมิอากาศวิทยาจึงได้รับอนุญาตให้ระบุชื่อประเทศ เช่น จีน เป็นต้นว่าเป็นผู้ปล่อยโมเลกุลในปริมาณเท่านั้นเท่านี้ไปด้วย ผลก็คือภูมิอากาศวิทยากลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการโยนความรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปยังจีน ขณะเดียวกันภูมิอากาศวิทยาก็ถูกกันให้ห่างจากการสืบย้อนกลับไปหาผู้รับผิดชอบที่เเท้จริงในการปล่อยโมเลกุลก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาถ่านหินในเขตประเทศจีนที่อยู่ในประเทศอื่นซึ่งเป็นผู้เข้าไปลงทุนเพื่ออาศัยเเรงงานราคาถูกของจีน การทำเช่นนั้นอยู่นอกขอบเขตภูมิอากาศวิทยา ดังนั้นจึงไม่ “เกี่ยวกับ” สภาพอากาศเลยเเม้เเต่น้อย

ในทำนองเดียวกัน ภูมิอากาศวิทยาได้รับอนุญาตให้ใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการคำนวณตัวเลขระบุความเป็นไปได้ในการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนของโมเลกุลชนิดต่างๆ เช่น มีเทน หรือไนตรัสออกไซด์ถึงเเม้ว่าตัวเลขพวกนั้นขาดหลักฐานทางกายภาพที่สอดคล้องมารองรับ (Mackenzie 2009) เเต่กลับไม่ได้รับอนุญาตให้ระบุถึงศักยภาพในการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนของการลงทุนในรูปแบบต่างๆหรือการจัดการป่าไม้ที่สังคมร่วมกันเป็นเจ้าของ ไม่สำคัญว่าศักยภาพเหล่านั้นมีความหลากหลายอย่างชัดเจนเพียงใด  ก็ถูกจัดให้อยู่นอกวงการศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ดี กรณีที่คล้ายๆกันก็คือ ภูมิอากาศวิทยาอนุญาตให้เเยกเเยะความต่างระหว่างโมเลกุลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เเละมีเทนได้เเต่ห้ามไม่ให้เเยกเเยะความต่างระหว่างก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ 2 รูปแบบ คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อการยังชีพ เเละก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการฟุ้งเฟ้อ การแยกแยะเช่นนั้นยังคงถูกมองว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถึงเเม้ว่าอนิล อัครวาล (Anil Agrawal)  เเละสุนิตา นาเรน (Sunita Narain) ได้เขียนถึงภาวะโลกร้อนในโลกที่ไม่เท่าเทียมมาเกือบ 30 ปีเเล้ว (2534)

อคติทางการเมืองที่เห็นในภูมิอากาศวิทยาอีกประการคือ การนำแนวคิดเเบบจำเพาะเจาะจงเเละไม่เกี่ยวกับปัจจัยทางสังคมว่าด้วยพลังงานที่เกิดจากการศึกษาอุณหพลศาสตร์ (Thermodynamics) ซึ่งพัฒนาขึ้นในคริสตศตวรรษที่ 19  (Thermodynamics) มาใช้โดยไม่มีใครสังเกตเห็น เเนวคิดด้านพลังงานนี้เเพร่หลายอย่างมากในปัจจุบันจนเกือบลืมกันไปว่าเเนวคิดนี้เริ่มต้นมาจากกระบวนการสร้างเครืองจักรที่เปลี่ยนพลังงานความร้อนไปเป็นพลังงานกลในช่วงต้นของยุคอุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักรไอน้ำ ไดนาโมเเละเครื่องจักรกลอื่นๆที่ใช้ประโยชน์จากพลังงานฟอสซิล (Malm 2016; Bonneuil and Fressoz 2016) ที่สามารถช่วยให้ธุรกิจ จดจ่อกับวัตถุประสงค์หลัก มีระเบียบวินัยเเละเติบโตเพื่อเพิ่มผลกำไร เพิ่มความสามารถในการผลิตของเเรงงานจำนวนมหาศาลที่จากที่ดินของตัวเองมา เมื่อมาถึงจุดที่นำไฟ ลม ไฟฟ้า เเม่เหล็กเเละอื่นๆมารวมกันเป็นขบวน “พลังงาน” และเเยกพลังงานที่ว่านั้นออกจากการมีส่วนร่วมของมนุษย์ในเกษตรกรรมที่ใช้เเรงงานสัตว์ การเดินเรือ การถลุงแร่เเละการทำอาหารเเละอื่นๆอีกมากมาย นั่นคือทุนนิยมเเละจักรวรรดินิยม ซึ่งก็คือการเมืองนั่นเอง กระนั้น “พลังงาน” ในรูปแบบเก่า ที่สังคมมีส่วนร่วม เเตกต่างหลากหลายเเละไม่สามารถเอาไปเทียบกันได้ยังคงอยู่เเละค่อยๆพัฒนา ปัจจุบัน พลังงานรูปแบบนั้นดำรงอยู่ร่วมกับพลังงานในระบบอุณหพลศาสตร์ เเละได้ก่อรากฐานให้กับขบวนการขับเคลื่อนเรื่องสภาพภูมิอากาศ นั่นคือ ทุนนิยมจากพลังงานฟอสซิลที่สุดโต่งเเละเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในหลายๆส่วนของโลก ซึ่งเห็นได้ชัดเจนเมื่อชุมชนชนบทหาทางป้องกันระบบเกษตรกรรมที่ตั้งอยู่บนฐานสังคม หรือการใช้ฟืนจากการรุกล้ำเข้ามาด้วยอำนาจของพลังงานในระบบอุณหพลศาสตร์ (เช่น ในรูปการเข้ายึดครองที่ดินเเละเเหล่งน้ำเพื่อทำเหมืองถ่านหินหรือสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ) หรือกระทั่งการสูญเสียสิทธิผ่านทางของคนท้องถิ่นเนื่องจากการก่อสร้างทางหลวงเพื่อรองรับเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Lohmann and Hildyard 2014) ตราบใดที่ภูมิอากาศวิทยาไม่ตระหนักถึงความเเตกต่างหลายๆอย่างของพลังงานเหล่านี้เช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม ภูมิอากาศวิทยาก็มีเเนวโน้มที่จะถูกผลักให้ไปอยู่ฝั่งตรงข้ามกับความเป็นอยู่เเละความสนในความเข้าใจต่อสภาพภูมิอากาศของผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกต่อไป

เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถูกบ่งชี้ด้วยการเคลื่อนที่ของโมเลกุลเเละการไหลของพลังงานที่ไร้มิติทางสังคมเสียเเล้ว จึงกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นมากที่จะทึกทักว่าแผนการอันเยี่ยมยอดที่จัดการหน่วยโมเลกุลที่ไร้ชีวิตพวกนี้จาก “ภายนอก” เป็นวิธีเเก้ปัญหาที่ถูกต้อง นั่นคือโดยการทำให้สภาพอากาศมีสภาพคล้ายกล่องสี่เหลี่ยม เเละมองปรากฎการณ์ “ธรรมชาติ” จากด้านบน เเยกออกจากประสบการณ์ในโลกที่อยู่ทุกๆวันที่ทอม อินโกลด์ นักมนุษยวิทยาเรียกว่า “โลกของสิ่งมีชีวิต” (lifeworlds) นอกจากนั้น ภูมิอากาศวิทยามีเเนวโน้มที่จะทำให้ “มนุษยชาติ” เป็นเพียงเเค่เสาหินขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ไกลๆ คล้ายๆคนต่อรถไฟจำลองเป็นงานอดิเรก (ทั่วๆไปก็เป็นเพศชาย) กำลังยืนมองผลงานตัวเอง หากขอบข่ายภูมิอากาศวิทยาปิดกั้นไม่ให้เกิดความเข้าใจว่าสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้ซึ่งพัวพันทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างการเเย่งยึดส่วนเกินที่ผลิตได้ (surplus extraction) ลัทธิจักรวรรดินิยมแบบใหม่ (neocolonialism) การเหยียดเชื้อชาติ การใช้ประโยชน์จากสารประกอบไฮโดรคาร์บอน การจัดระเบียบวินัยคนงาน ระบบการปกครองเเบบพ่อปกครองลูก (patriarchy) เเละการดิ้นรนต่อสู้เรื่องชนชั้น รวมถึงวิธีการเเสดงความเคารพต่อเเละการสนทนากับสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ จึงไม่เเปลกที่การดำเนินมาตรการด้านสภาพภูมิอากาศวิทยาที่ยึด “ภูมิอากาศวิทยา” เป็นหลักอย่างที่นักอนุรักษ์สิ่งเเวดล้อมจำนวนมากต้องการจะมีเเนวโน้มที่จะหดเล็กลงจนเป็นเเค่การสนับสนุนการควบคุมหรือ “การปกครอง” สิ่งที่อยู่ภายนอกที่มีลักษณะเหมือนซอมบี้โดยผู้เชี่ยวชาญ

การสนับสนุนในลักษณะนี้มีความโน้มเอียงที่จะรวมผู้เขียนนโยบาย นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเเละผู้ประสบอุทกภัยไว้ด้วยกันฟากหนึ่ง ส่วนอีกฟากก็สร้างสภาพภูมิอากาศที่ปราศจากมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยทั้งสองส่วนเชื่อมกันด้วยช่องเเคบที่เเคบมาก อิทธิพลของ “มนุษย์” ต่อสภาพภูมิอากาศเดินทางผ่านตัวเชื่อมประสานที่ยังไม่สมบูรณ์ที่มาร์คัส เทย์เลอร์  (Marcus Taylor) (2015: 38) เรียกว่าเป็น “ ‘การใช้กำลัง’ จากภายนอกก่อกวนพลศาสตร์ของบรรยากาศที่มีรูปแบบดำเนินไปอย่างสัมพันธ์กัน” “ความผันผวนจากปัจจัยภายนอก” ที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศเดินทางผ่านช่องเเคบไปในอีกทิศทางหนึ่งเเละส่งอิทธิพลต่อโลกมนุษย์ จากนั้นก็ตามมาด้วยการจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศของมนุษย์ (เช่น การกำหนดราคาคาร์บอน) ตามคำเเนะนำของนักวิทยาศาสตร๋ด้านสภาพภูมิอากาศที่ผู้คนเข้าใจว่ามีวิธีพิเศษในการเเแปลความสัญลักษณ์ที่ผ่านเข้ามาทางตัวเชื่อมกับธรรมชาตินี้ในขณะเดียวกันก็กรองเอาการวิพากษ์วิจารณ์ออกจากสังคม (Rouse 2002)

ภูมิอากาศวิทยาไม่ได้สร้างโลกทัศน์นี้ขึ้นมา เเต่มีมาก่อนหน้าเเล้ว เช่น ในการจัดการป่าไม้ในยุคล่าอาณานิคมซึ่งมีเเนวโน้มที่จะห้ามตั้งคำถามใดๆต่อการการกระทำของระบบทุนนิยม เเละการกระทำเหล่านั้นมีความเชื่อมโยงกับก้อนสภาพภูมิอากาศขนาดมหึมาด้วยการจัดการทางวิทยาศาสตร์ ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ สภาพภูมิอากาศจึงกลายเป็นภูมิอากาศเพื่อสังคมจักรวรรดิยมที่มีลักษณะเช่นก้อนสี่เหลี่ยม — เพื่อผู้ปกครอง (ในการประกันความอุดมสมบูรณ์ของการเพาะปลูกเเละการอนุรักษ์ธรรมชาติ) เเต่ก็เพื่อเเรงงานของพวกเขาด้วยด้วย (ส่วนหนึ่งก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลุกฮือ) นักประวัติศาสตร์ ริชาร์ด โกรฟ (Richard Grove) (1997: 183) สังเกตเห็นว่าผลกระทบ “มักจะสร้างความเสียหายเเละความลำบากเเก่สังคมชนพื้นเมืองพอๆกับการทำลายระบบนิเวศโดยตรงเเละการยึดครองสิ่งเเวดล้อมเเละสิทธิขั้นพื้นฐานโดยนายทุน” ข้อสังเกตนั้นมีผลให้รู้สึกว่าต้องเอาจริงเอาจังก็เฉพาะกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยังคงหวังว่าภูมิอากาศวิทยาเองจะสามารถสร้างจุดสนใจร่วมที่ทำให้ผู้คนไม่ว่าจะชนชั้น เชื้อชาติ หรือเพศใดมารวมตัวสนับสนุนการรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับโลกได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

การครอบงำของมุมมองเเบบภูมิอากาศวิทยา

เป็นไปได้ยากที่จะดูเเคลนอิทธิพลครอบงำของมุมมองต่อการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ ตัวอย่างเช่น ในการประชุมอย่างเป็นทางการว่าด้วยภาวะโลกร้อน นักภูมิอากาศวิทยาซึ่งได้รับการเเต่งตั้งให้เป็นโฆษก “ธรรมชาติ” ถูกเชิญให้ออกจากห้องหลังจากได้ “นำเสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เพื่อที่ผู้กำหนดนโยบายทั้งหลายซึ่งมีฐานะเป็นโฆษก “สังคม” จะได้อภิปรายกันต่อไปว่าจะทำให้การสะสมทุนเดินหน้าต่อไปอย่างไรในโลกเรือนกระจก กฎนี้เริ่มต้นในเเบบสีขาวกับดำ อย่างเช่น คำสั่งของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2556) ให้ประเมิน “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรอบด้าน โดยปราศจากอคติเเละเป็นไปในเเนวทางที่สัมพันธ์กับกับนโยบายเเต่ไม่กำหนดนโยบาย” คำกล่าวนี้ต้องการให้ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เป็นเหมือนกล่องขนาดยักษ์ที่มีขอบเขตชัดเจนที่มีอิทธิพลต่อการเมืองหรือได้รับอิทธิพลจากการเมือง เเต่ต้องชัดเจนว่ามาจากกระบวนการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง การใช้คำว่า “อย่างรอบด้าน” ทำให้ไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าภูมิอากาศวิทยาอาจไม่ครอบคลุมความรู้ด้านสภาพภูมิอากาศโดยรวมทั้งหมด การใช้คำว่า “ปราศจากอคติ” จึงเป็นการปฏิเสธความเป็นไปได้ที่การที่ภูมิอากาศวิทยาถือว่าภาวะโลกร้อนเป็นผลมาจากโมเลกุลเเละการไหลของพลังงานอาจไม่เป็นผลดีต่อหลายชนชั้นทางสังคมที่มีมุมมองเรื่องสาเหตุต่างไป การคอยตรวจขอบเขตให้ชัดเจนช่นนี้ทำให้การอภิปรายเกี่ยวกับอคติทางการเมืองของเรื่องภูมิอากาศวิทยาเป็นไปได้ยากกว่าการอภิปรายเกี่ยวกับอคติทางการเมืองของผู้กำหนดนโยบายเสียอีก 

กลุ่มผู้ที่ปฏิเสธเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้กระบวนการผลิตอวิชชาเเข็งเเกร่งขึ้นเมื่อพวกเขาแสดงความหวาดกลัวว่านักวิทยาศาสตร์บางคนอาจ “ล้ำเส้นไปสู่การผลักดันนโยบาย” (Broder 2010) เเต่นักอนุรักษ์สิ่งเเวดล้อมอย่างหลายคนก็เช่นกัน อย่าง บิล แมคคิบเบ็น ( Bill McKibben) พวกเขาสนับสนุนการเมืองที่ “ฟิสิกส์เเละเคมีเป็นตัวนำการตัดสินใจ” (Romm 2011) ซึ่งรัฐบาลเเละพวกเราทั้งหมดต่างก็เห็นด้วย หรืออย่างตอนที่จัดตั้งเครือข่ายต่างๆ เช่น 350.org ที่มองมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าเป็นการจัดการการไหลเวียนของโมเลกุลตามเเนวทางของภูมิอากาศวิทยา เเล้วก็ยังมีคณะกรรมการทางวิทยาศาสตร์ที่ร่วมประชุมเพื่อตัดสินใจว่าจะนับตรงจุดไหนว่าอิทธิพล “ของมนุษยชาติ”ต่อโลก “ธรรมชาติ”จะเเข็งเเกร่งพอที่จะเรียกว่าสมัยแอนโทรโปซีน (anthropocene epoch) (Lewis and Maslin 2015)

เมื่อเป็นเช่นนี้ อำนาจเเละสถานะของนักวิทยาศาสตร์กายภาพ รวมถึงความรับผิดชอบของพวกเขาต่อสังคมจึงขึ้นอยู่กับการสร้างภาพให้สาธารณชนเห็นว่าธรรมชาติเเละมนุษย์ไม่มีความสัมพันธ์กัน เเละรักษาภาพนั้นเอาไว้  เป็นแรงกระตุ้นให้พวกเขาเองอยู่ในความเพ้อฝัน

หรือพิจารณาดูตารางด้านล่างซึ่งเรียบเรียงจากหนังสือที่ได้พอล ฮอว์เก็น (Paul Hawken) นักธุรกิจมาช่วยเเก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง อีกทั้งได้รับการรับรองจาก ทอม สเตเยอร์ (Tom Steyer) เศรษฐีพันล้านซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนบริหารความเสี่ยง (Hedge fund) ด้วย (Roberts 2019)

10 วิธีเเก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นิยมที่สุด

ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหน่วยกิกะตัน (Gigaton) ที่อาจลดได้ภายในปี 2593

วิธีเเก้ปัญหา

ปริมาณที่น่าจะเป็นไปได้

ปริมาณที่โครงการ Drawdownคาดการณ์

ปริมาณที่ลดได้เต็มที่

การจัดการสารทำความเย็นในตู้เย็นเเละเครื่องปรับอากาศ                                                  1

89.74         

2

96.49

3

96.49

กังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า (บนบก)                2

84.60

1

146.50

1

139.31

ลดปริมาณอาหารเหลือทิ้ง                             3

70.53

4

83.03

4

92.89

การกินที่เน้นพืชเป็นหลัก                               4

66.11

5

78.65

5

87.86

ป่าร้อนชื้นเเถบเส้นศูนย์สูตร                           5

61.23

3

89.00

2

105.60

การให้การศึกษาแก่เด็กหญิง                         6

59.60

7

59.60

8

59.60

การวางแผนครอบครัว                                   7

59.60

8

59.60

9

59.60

โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานเเสงอาทิตย์ 8

36.90

6

64.60

7

60.48

วนเกษตรเเบบนำสัตว์ไปเลี้ยงในป่า                9

31.19

9

47.50

6

63.81

แผงพลังงานเเสงอาทิตย์บนหลังคา             10

24.60

10

43.10

13

40.34

ที่มา: โครงการ Drawdown                                                                       รวบรวมโดย สำนักข่าว Vox

ต้นตอของปัญหา “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ที่จะควรมี “วิธีการปัญหา” ถูกจำกัดอยู่เฉพาะเรื่องปริมาณโมเลกุลของก๊าซเรือนกระจกที่มากเกินไป ซึ่งน่าจะเรียกว่า “ค่าโมเลกุลเทียบเท่า” ที่นักภูมิอากาศวิทยาซึ่งทำงานกับคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) คิดขึ้นมา เมื่อเป็นดังนั้น สิ่งสำคัญอันดับเเรกในการเเก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงไม่ใช่การให้สนับสนุนขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมหลากหลายรูปแบบที่มีอยู่ซึ่งพยายามยุติการใช้พลังงานฟอสซิล เเต่กลับไปทำเรื่อง “การจัดการสารทำความเย็นในตู้เย็นเเละเครื่องปรับอากาศ”  สิทธิสตรีก็ถูกลดทอนลงให้เป็นเเค่การมีส่วนร่วมเชิงปริมาณที่ “เด็กหญิงที่มีการศึกษา” อาจช่วยลดความเข้มข้นของโมเลกุลได้

ภายในกรอบเงื่อนไขของตารางข้างบน มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะประเมินผลกระทบตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สิ่งเเวดล้อมของเจวอนส์ (Jevons) ภายใต้กระบวนการในระบบทุนนิยมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งการประหยัดเเต่ละอย่างส่งผลให้ก๊าซเรือนกระจกลดลงได้ในภาคส่วนหนึ่ง ณ ช่วงเวลาหนึ่ง อาจเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมได้ในระยะยาว (Polimeni, Mayumi et al. 2008; Lohmann and Hildyard 2014) มันคงเป็นการยากที่จะจินตนาการถึงภาพเเทนการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่สนใจสาเหตุและลักษณะที่แท้จริงที่ชัดเจนมากไปกว่านี้แล้ว กระนั้นตารางนี้ก็เเสดงให้เห็นความคิดของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่พยายามอย่างหนักที่จะตั้งอยู่บนพื้นฐานภูมิอากาศวิทยาอยู่พอสมควร

ความเสียหายเกิดขึ้นเเล้ว

หากไม่อาจดูเเคลนอิทธิพลครอบงำของภาพของสภาพอากาศทางเเนวคิดภูมิอากาศวิทยา ก็ไม่อาจจะประเมินความเสียหายที่ภาพนั้นอาจสร้างให้กับขบวนการขับเคลื่องเรื่องสภาพภูมิอากาศต่ำไป 

ตัวอย่างเช่น เมื่อความตกลงปารีสว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 ได้มีกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ “ประชาคมนานาชาติ” อันเป็นหนึ่งเดียว สามารถคิดหาวิธีที่จะรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก “ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม”  (UNFCCC 2015: 21 – การประชุมภาคีสมาชิกกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 21) จึงเป็นสัญญาณที่อินโกลด์ (Ingold) (2000: 209) เรียกว่า “จุดสูงสุดของกระบวนการเเบ่งแยก” มนุษย์ออกจากโลกที่อาศัยอยู่ สำหรับชาวโลกส่วนใหญ่ที่ให้คำมั่นว่าจะท้าทายการเเบ่งแยกเช่นนั้น จึงไม่ได้มีเรื่องน่ายินดีเท่าไหร่เกี่ยวกับแผน “การบรรเทา” เเละ “การปรับตัว” ต่างๆที่ยิ่งตอกย้ำประเด็นที่ตีความโดยนักภูมิอากาศว่า สภาพภูมิอากาศเป็นเรื่อง “พลังธรรมชาติ” ที่ไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ซึ่งโอบอุ้มสังคมที่สิ่งมีชีวิตอยู่กันอย่างสอดคล้องสัมพันธ์กัน (Taylor 2015: 31) ซึ่งตอบเเทนคุณของสภาพภูมิอากาศโดยไม่จำเป็นต้องไปยุ่งกับความขัดเเย้งระหว่างชาวนาชาวไร่กับธุรกิจการเกษตร ระหว่างคนพื้นเมืองกับบริษัทเหมืองเเร่ หรือระหว่างชาวชุมชนแออัดกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลงฟอสซิล

ที่เลวร้ายกว่านั้น ความตกลงปารีสตอกย้ำว่า “สภาพภูมิอากาศ” ที่อ้างถึงนั้นยังคงเป็นสัญลักษณ์ของการ แสวงหาประโยชน์รูปแบบใหม่ๆสำหรับพวกที่เห็นว่าสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ทั้งเรื่องของธรรมชาติ หรือสังคม หรือทั้งสองอย่างรวมกัน เเต่เป็นเรื่อง “สิ่งมีชีวิต” เเละเป็นส่วนหนึ่งของ “กระบวนการก่อร่างสิ่งเเวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่” (Taylor 2015: 39) ตัวอย่างเช่น ประชาชนในชนบทของปากีสถาน ตามที่เทย์เลอร์ชี้ให้เห็นนั้นเข้าใจเเทบจะทันทีเลยว่าข้อโต้เเย้งของรัฐบาลที่ได้รับอิทธิพลจากภูมิอากาศวิทยาที่ว่า “การปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เป็นเรื่องของการปกป้อง “ระบบสังคม” จากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่เข้ามากระทบจากภายนอกนั้นเป็นขั้วตรงข้ามกับความพยายามของพวกเขาที่จะดำรงชีวิตให้ได้ภายใต้งื่อนไขของภาวะโลกร้อน (137-8) พวกเขาจะคิดต่างไปจากนี้ได้อย่างไรในเมื่อประสบการณ์ที่ผ่านมา ได้เเสดงให้เห็นว่าผลจากหนี้สิน การยึดครองที่ดินซึ่งผลักให้เกษตรกรรายย่อยต้องไปอยู่ในที่ดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ไม่เหมาะกับการเพาะปลูกนับตั้งเเต่คริสตศตวรรษที่ 19 (หรือประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา) ได้ “สร้างภูมิประเทศมนุษย์ที่ความเสี่ยงต่ออุทกภัยไม่เท่ากัน” ไม่เพียงเท่านั้น เกษตรกรรายย่อยบางส่วนก็ถูกผลักให้ย้ายห่างจากคลองชลประทานขุดใหม่ขึ้นออกไปเรื่อยๆทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อภัยเเล้ง อีกทั้งความสามารถในการผลิตของประเทศก็ถูกนำไปผูกโยงกับการประหยัดโดยการเพิ่มขนาดการผลิตที่เกษตรกรต้องกลายมาเป็นเเรงงานในภาคอุตสาหกรรมเเทนที่การทำเกษตรกรรมในพื้นที่ขนาดเล็กที่เน้นการใช้เเรงงานคน (129-137) ซึ่งความเชื่อมโยงนี้มีความสัมพันธ์กับการทำให้รอยเเยกระหว่างธรรมชาติเเละสังคมที่เห็นได้จากเเนวคิดเรื่องสภาพภูมิอากาศของภูมิอากาศวิทยาชัดเจนขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ ด้วยการทำให้ “กลพระเจ้า” (god trick) (Haraway 1991) ที่จินตนาการว่าสภาพภูมิอากาศมีผู้รู้ที่เสเเสร้งว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นตัวเเทนเเละถูกชักใยโดยผู้มีอำนาจควบคุมตามคำเเนะนำของผู้รู้คงอยู่ เเนวทางที่ยึดภูมิอากาศวิทยาเป็นหลักของข้อตกลงปารีสได้ช่วยให้ตลาดคาร์บอนมีที่มีทางต่อไป ซึ่งตลาดพวกนี้ไม่เพียงจะทำให้ภาวะโลกร้อนเลวร้ายลงไปอีกตามที่ได้มีการรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรมากมายเเล้ว เเต่ยังค่อยๆทำลายวิธีปฏิบัติที่สืบทอดกันมาซึ่งจะเป็นที่ต้องการที่สุดในอนาคตเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆให้ดีขึ้น คนที่อาศัยอยู่ในป่าทุกคนที่ต้องมอบดินเเดนส่วนหนึ่งเพื่อช่วยภาคอุตสาหกรรมชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ไม่รู้ว่ามาจากไหนบ้างกำลังเห็นว่าผืนดินเเละวิถีคนอยู่กับป่าของตนที่สร้างความสมดุลให้กับสภาพภูมิอากาศกำลังโดนภูมิอากาศวิทยาทำให้ด้อยค่าลง ทุกคนที่ต้องพลัดถิ่นไปยุโรปหรืออเมริกาเหนือเนื่องจากถูกขับออกจากที่ดินเพื่อการเพาะปลูกพืชน้ำมันที่ใช้ผลิตเชื้อเพลิงที่เชื่อว่ามีความเป็นกลางทางคาร์บอน ไม่ได้เป็นเพียงเหยื่อของทัศนะที่ว่า หนึ่งโมเลกุลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีค่าเท่ากันในการส่งผลต่อภาวะโลกร้อน เเต่พวกเขายังถูกปล้นทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย

การทำลายทักษะนี้เริ่มใช้เมื่ออนาคตของชนพื้นเมืองหรือชาวชนบทถูกลดทอนให้เป็นเพียง “เส้นฐานของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ที่มีไว้ใช้วัดผลในการลดมลภาวะของทางเลือกต่างๆที่ผู้เชี่ยวชาญซึ่งหมุนเวียนกันมาคิดค้นขึ้นเพื่อภาคอุตสาหกรรมมีสิทธิในการสร้างมลพิษจากคาร์บอนในราคาถูก ภาคอุตสาหกรรมจึงสามารถตักตวงผลประโยชน์จากต้นทุนที่ถูกลงไปเพื่อเพิ่มอำนาจในการทำลายความรู้ของคนพื้นเมืองหรือชาวชนบทยิ่งขึ้นไปอีก ในขณะเดียวกัน วิศวกรรมดาวเคราะห์ซึ่งได้รับการเกื้อหนุนจากทัศนะในทางภูมิอากาศวิทยาที่ว่าโลกเป็นเหมือนรถไฟจำลองที่มีชายผู้ต่อยืนมอง ไม่ได้เพียงก่อให้เกิดการดูถูกชนพื้นเมืองส่วนใหญ่เเละดินเเดนของพวกเขา เเต่เข้าไปทำให้วัฏจักรของโลกเสียกระบวน อีกทั้งการส่งเสริมอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลทางอ้อมยังเป็นภัยคุกคามต่อภูมิปัญญาเรื่องสภาพภูมิอากาศของพวกเขาด้วย

ภาวะครอบงำของภูมิอากาศวิทยาที่น่ากังวลใจ

ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น นักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศหลายคนได้พยายามดึงดูดความสนใจของสาธารณชนด้วยการสวมเสื้อคลุมภูมิอากาศวิทยา อย่างไรก็ตาม อย่างที่บทนี้ได้เเสดงให้เห็นนั้นเเล้วนั้น ตัวโครงสร้างจริงๆของภูมิอากาศวิทยาสามารถกลายเป็นม้าโทรจันทางการเมืองที่เอาชนะการจัดการอย่างเป็นระบบของเเนวทางที่มีประสิทธิภาพกว่าได้

เเต่ทำไมกลยุทธ์อื่นจึงเป็นไปไม่ได้ล่ะ? อย่างเช่นกลยุทธ์ที่เคารพความสำเร็จของภูมิอากาศวิทยาเเละไม่ยอมรับการปฏิเสธความจริง เเต่ขณะเดียวกันก็ตระหนักว่าภูมิอากาศวิทยานั้นเป็น “สิ่งอื่น” อย่างชัดเจนและโดยรวมๆเเล้วยังเป็นภัยต่อความรู้เเละวิธีปฏิบัติของขบวนการขับเคลื่อนเรื่องสภาพภูมิอากาศที่มุ่งไปที่อนาคตที่เหมาะกับการอยู่อาศัย เป็นต้น

กุญเเจอาจอยู่ที่การเข้าใจว่า “สิ่งอื่น” ที่ว่านั้นอาจกลายมาเป็น “ศัตรู” ก็ต่อเมื่อกระบวนการทำงานร่วมกันไม่เป็นประชาธิปไตย เเละเเม้นหากเกิดขึ้นจริง การเปลี่ยนรูปแบบการเผชิญหน้าสามาระนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้

เเนวทางที่มีส่วนที่เหมือนกันอาจช่วยได้ เเนวทางหนึ่งคือการเเสดงให้เห็นว่าภูมิอากาศเป็นตัวเเทนประวัติศาสตร์บางเเง่มุมเท่านั้น เเละการกันภูมิอากาศวิทยาออกไปในลักษณะนี้ไม่ใช่เพิกเฉยหรือไม่เห็นคุณค่า เเต่ในทางกลับกัน เป็นการทำความเข้าใจให้ถ่องเเท้ขึ้นว่าภูมิอากาศวิทยาคืออะไร ทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้ อีกเเนวทางหนึ่งคือการช่วยสร้างให้เกิดการพูดคุยกันระหว่างภูมิอากาศวิทยาเเละเเนวคิดเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ “สมัยใหม่” อื่นๆที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างซึ่งสามารถทำให้เห็นว่าความขัดเเย้งที่เคยมองไม่เห็นนั้นคืออะไร เเละจะรับรู้ เผชิญหน้า เเละเเก้ไขสิ่งเหล่านั้นอย่างไรได้บ้าง การรับฟังความเเตกต่างเล็กๆน้อยๆในข้อโต้เเย้งอย่างตั้งใจก็เป็นวิธีท้าทายอิทธิพลของภูมิอากาศวิทยาต่อขบวนการขับเคลื่อนด้านสภาพภูมิอากาศในตัวมันเองอยู่เเล้ว เเละยังทำให้ทุกฝ่ายในขบวนการเคลื่อนไหวซึ่งต่างกันอย่างสุดขั้วมีความเคารพกันเเละกันยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครก็ไม่ควรประมาทความยากลำบากในการละลายลำดับชั้นความรู้ที่เเช่เเข็งไว้มานาน ดังจะเห็นได้จากข้อตกลงในการหาทางออกทางการเมืองที่ภูมิอากาศวิทยายุคปัจจุบันเป็นส่วนประกอบที่มีบทบาท

หากจะสร้าง“ทางสายกลาง” ที่ฉลาดเเละสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อการปฏิสัมพันธ์ระหว่างขบวนการขับเคลื่อนด้านสภาพภูมิอากาศเเละทำให้เกิดความเข้มเเข็งขึ้นเเม้จะยังคงไว้ซึ่งความต่างอยู่ มันจำเป็นต้องได้ผล ซึ่งอาจจะเดินตามเเนวที่นักประวัติศาสตร์ริชาร์ด ไวท์ (Richard White) บอกเป็นนัยเอาไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเข้ามายึดครองภูมิภาคทะเลสาบทั้ง 5 (Great Lakes)ในอเมริกาเหนือของชาวยุโรป เพื่อที่ทุกฝ่ายได้ไม่ต้องพยายาม “ให้ได้ในสิ่งที่ต้องการโดยการใช้กำลัง” (White 2011: 52) นั่นเท่ากับเป็นการกระตุ้นอย่างจริงจังให้นักเคลื่อนไหวจากซีกโลกเหนือเเละคนอื่นๆที่เดินตามสูตรที่มองมาตรการเเก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศว่ามาจาก“วิทยาศาสตร์ที่ผู้เชี่ยวชาญทบทวนเเล้ว” ได้ตระหนักถึงประวัติศาสตร์ยุคล่าอาณานิคมของตัวเองมากขึ้น

ให้ภูมิอากาศวิทยาได้รู้จักประวัติศาสตร์ของตัวเอง

ครอสบี้ สมิธ (Crosbie Smith) เเละ เอ็ม นอร์ตัน ไวส์ (M. Norton Wise) นักประวัติศาสต์วิทยาศาสตร์ได้ให้สิ่งที่อาจจะเป็นคำเเนะนำที่มีประโยชน์สำหรับโครงการนี้ไว้ในหนังสือชีวประวัติชื่อ ลอร์ดเคลวิน, พลังงานเเละอาณาจักร ความยาว 2 เล่ม (2532) เคลวินซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 เป็นผู้ที่ได้รับความเคารพยกย่องอย่างสูงในหัวข้อที่บทนี้พูดถึงซึ่งจะว่าไปเเล้ว เขามีชีวิตอยู่ในช่วงการถือกำเนิดระบบทุนนิยมที่มีเชื้อเพลงฟอสซิล (fossil capitalism) เป็นพื้นฐานเเละอุณหพลศาสตร์ (thermodynamics) รวมถึงช่วงหนึ่งของธรณีศาสตร์ (earth science) สมัยใหม่ด้วย

เช่นเดียวกับภูมิอากาศวิทยา  วิทยาการพลังงาน (energy science) ที่เคลวินช่วยสร้างขึ้นเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ของการสืบเสาะหาข้อมูล เเต่มันก็มีโอกาสได้ถือกำเนิดขึ้นได้เฉพาะในบริบทของจักรวรรดิ์ ของการล้อมเขตที่ดินของสามัญชนที่เกิดขึ้นพร้อมกันในยุโรป อินเดียเเละแอฟริกา เเละการขับเคลื่อนโดยธุรกิจของเเรงงานที่เพิ่งไร้ที่ดินทำกินนับล้านๆคนเนื่องจากการเข้ามาของเครื่องจักรกล

เเละโครงสร้างของมันก็สะท้อนให้เห็นความจริงนี้ ไม่ใช่เเค่ในเเบบเดียวกับกฎข้อเเรกของอุณหภูมิศาสตร์จัดการพลังงานที่กระจัดกระจายให้กลายเป็นพลังงานก้อนใหญ่ที่ทรงพลังเพื่อรับใช้เมืองเเห่งเครื่องจักรซึ่งมีเครื่องจักรไอน้ำ กังหันน้ำ เเละเคเบิ้ลใต้น้ำข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นตัวเเทน เเต่ในเเบบเดียวกับกฎข้อที่ 2 ที่วัดปริมาณความกังวลเรื่องประสิทธิภาพเเละ “งาน” ที่นำไปใช้ได้ซึ่งเป็นที่สังเกตได้เพราะความเร่งด่วนในยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมของโลก  (Lohmann and Hildyard 2014) เท่านั้น

ตามที่สมิธและไวส์ยืนยันด้วยความระมัดระวังว่า “บริบททางสังคม” ของเคลวินอาจไม่สามารถ “กำหนดเนื้อหาวิทยาศาสตร์”ของเขาได้เลย เเต่สติปัญญาอันเฉลียวฉลาดของเขาก็ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับทักษะอันน่าอัศจรรย์เพื่อการยอมรับฟังสิ่งที่ “ธรรมชาติ” ที่เป็นนิรันดร์เเละไม่ใช่ทุนนิยมกำลังบอกเขา เเต่กลับมาจากวิธีการที่ “วิสัยทัศน์ด้านอุตสาหกรรมของเขาเเทรกซึมเข้าไปอยู่ในความรู้ความเข้าใจในโลกธรรมชาติของเขารวมถึงงานวิจัยเชิงทฤษฎีเเละเชิงทดลองที่เขาพยายามทำให้สำเร็จ” ซึ่งสามารถส่งผลต่อประวัติศาสตร์ทุนนิยมในภาพรวม เเน่นอนว่าคตินิยมเรื่องผู้บุกเบิกทางวิทยาศาสตร์สมัยวิคตอเรีย ซึ่งน่าจะรวมถึงทัศนคติที่เหยียดเขื้อชาติ มีความเป็นจักรวรรดินิยมเเละการปกครองเเบบพ่อปกครองลูก “มีให้เห็นได้ในงานทางวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่นที่สุดของเขา ในสิ่งประดิษฐ์เเละสิทธิบัตร เเต่ยังเห็นได้ในงานด้านฟิสิกส์เชิงคณิตศาสตร์อีกด้วย” (Smith and Wise 1989: xx-xxi) ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของเคลวินเป็นตัวเเทน “การสร้างระบบของโลก” (xxiii) ที่ธรรมชาติถูกจัดการในเเบบที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับบางสิ่งมากกว่าอย่างอื่นซึ่งไม่ต่างจากโลกทัศน์เเบบอื่นๆ  การจะยกระดับธรรมชาติเเบบทุนนิยมของพลังงานทางทฤษฎีที่เขาช่วยสร้างให้มีสถานะเป็น “ธรรมชาติจริงๆ” นั้นเป็นเพียงเรื่องของลัทธิบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ภูมิอากาศวิทยาก็เช่นกัน ภูมิอากาศวิทยาเป็นหรือไม่เป็นอะไร เเละทำอะไรได้หรือไม่ได้ เป็นหัวข้อที่ไม่อาจเเยกออกจากอคติที่ประวัติศาสตร์ของตัวมันเองได้ทิ้งไว้ให้ ตัวอย่างหนึ่งคือทัศนคติทางการเมืองที่อยู่ในเเบบจำลองภูมิอากาศโลกที่คำนวณโดยระบบคอมพิวเตอร์ไม่เพียงกำเนิดมาจากเเรงขับทางทุนนิยมในการสร้างเเละเเยกมนุษย์ “ซึ่งไม่ใช่ธรรมชาติ” ที่สามารถทำของใช้จากธรรมชาติที่ถูกตีความว่า “ไม่ใช่มนุษย์” ออกมา เเต่จากภูมิหลังที่จำเพาะเจาะจงกว่ามากอย่าง ศาสตร์แห่งการศึกษาการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน/สัตว์ และเครื่องจักร (cybernatics) การวิเคราะห์ระบบเเละ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จำลองพลศาสตร์ของการไหลแบบไม่เชิงเส้นของการระเบิดของระเบิดนิวเคลียร์ในยุคสงครามเย็น กลไกควบคุมปืนใหญ่ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2  (Edwards 2013, Elichirigoity 1999)เเละถ้าย้อนหลังไปไกลอีกนิด ก็คือ ตัวควบคุมเเบบป้อนกลับที่จำเป็นต่อเครื่องจักรไอน้ำของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (Beniger 1986)

มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่นวัตกรรมจำนวนมากมีพื้นฐานมากจากเสรีนิยมใหม่เเละการจำลองสภาพภูมิอากาศที่ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมๆกัน เเละไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ความรู้ทางภูมิอากาศวิทยาที่ผลิตโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเเคทลีน โฟเกล (Kathleen Fogel) บอกว่า “ช่วยรัฐบาลตั้งเเละรับรองโครงสร้างคนเเละธรรมชาติที่ไม่ซับซ้อน รวมถึงขนบต่างๆที่มีสิ่งนั้นเป็นพื้นฐาน”  (Fogel 2004: 109)

  

ประวัติศาสตร์ของภูมิอากาศวิทยาได้มอบความเเข็งเเกร่งบางอย่างให้ เเต่ก็มอบข้อบกพร่องให้ด้วย โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้รับทางตอนปลายสุดของการพัฒนาเหล่านี้ สิ่งสำคัญที่สุดอาจจะเป็นการขาดความตระหนักถึงอคติที่ประวัติศาสตร์นั้นได้ทิ้งมรดกไว้ให้ หากประวัติศาสตร์เป็นอีกเเบบหนึ่ง ภูมิอากาศวิทยาก็คงจะต่างไปจากนี้ ซึ่งอาจจะมีอคติเเละข้อบกพร่องเช่นกันเเต่จะเป็นข้อบกพร่องคนละอย่างกับปัจจุบัน

ลองพิจารณาตัวอย่างนักวิทยาศาสตร์ชาวโตโตเเนค จากเมืองฮูเอฮูเอต์ล่า (Huehuetla) ในเขตเซียร่า นอร์ทเต เด พูเอบา (Sierra Norte de Puebla) ของประเทศเม็กซิโก ซึ่งนักมนุษยวิทยา วิลเลี่ยม ดี สมิธบรรยายไว้ว่า นักวิทยาศาสตร์จากฮูเอฮูเอต์ล่าได้บันทึกว่ารูปแบบของฝนในภูมิภาคมีความไม่เเน่นอนสูงขึ้นเเละมีความเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ เช่น ฤดูใบไม้ผลิที่เเห้งเเล้ง เเละอุทกภัยที่รุนเเรง สำหรับพวกเขาซึ่งต่างจากพวกนักภูมิอากาศวิทยา การสังเกตความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวโดยไม่ตระหนักถึงการหยั่งรากลึกทางประวัติศาสตร์ของข้อสังเกตต่างๆในประวัติศาสตร์ว่าด้วยความสามารถที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเเละนำไปใช้ประโยชน์เเสดงถึงความล้มเหลวของตัววิทยาศาสตร์เอง ถ้าพวกเขาอยากให้รอบคอบเเละถูกต้องเเม่นยำ ข้อสังเกตนั้นๆต้องย้อนรอยขึ้นไปเเละดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการสูญเสียความเคารพต่อตาน้ำ ผีหรือเทพารักษ์ที่ดูเเลเเหล่งน้ำ เเละผลผลิตที่ดีของชุมชนที่ต้องพึ่งพาทั้งสองอย่างนี้ รวมถึงความอ่อนแอลงของตัวเเทนเเหล่งน้ำเองเเละความสามารถในการลงโทษผู้ที่ไม่เคารพเพื่อปกป้องรกษาตัวเองรวมถึงชุมชนที่น้ำเป็นตัวนิยามความเป็นหนึ่งเดียวกัน

จากมุมมองเช่นนั้น วิทยาศาสตร์ที่ดีดำรงอยู่ได้ ส่วนหนึ่งก็โดยการตระหนักถึงอคติเเละธรรมชาติของตัวมันเอง  วิทยาศาสตร์ที่ดีไม่พยายามเเทนที่การตระหนักนั้นด้วยตำนานภูมิหลังที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการสื่อสารโดยเวทมนตร์กับสิ่งลี้ลับที่ไม่ใช่มนุษย์อย่างที่ภูมิอากาศวิทยาเเละสิ่งเเวดล้อมนิยมที่หันมาพึ่งภูมิอากาศวิทยาเพื่อหาเหตุผลรับรองมีเเนวโน้มที่จะทำ

ให้ภูมิอากาศวิทยาได้รู้จักผู้ร่วมขบวนการ

ใครก็ตามที่ได้ฟังประชาคมรากหญ้าพูดคุยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งตัวผมเองกำลังนึกถึงประสบการณ์ที่เมืองโมโลของติมอร์ตะวันตก ชายฝั่งตอนเหนือของเกาะฟลอเรส ยอดของเทือกเขาเเอนดีสในเอควาดอร์ ที่ราบสูงของสก็อตแลนด์ เเนวเข็มขัดสีเขียวของอินเดียตอนกลาง ภาคเหนือของไทย รวมถึงตอนกลางของลอนดอนเเละลอสแองเจลลีส คงจะสังเกตุเห็นคลื่นใต้น้ำที่รุนเเรงเรื่องเล่าที่ไม่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่ก่อให้เกิดการอภิปรายเเละการดำเนินการรูปแบบอื่นๆ คงจะสังเกตเห็นคลื่นใต้น้ำที่มีกำลังเเรงของเรื่องเล่าต่างๆที่ไม่ใช่เชิงภูมิอากาศวิทยาซึ่งมีอิทธิพลต่อทั้งการอภิปรายเเละการดำเนินการรูปแบบอื่นๆ

ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศเม็กซิโกที่เพิ่งกล่าวไป ประเด็นหนึ่งของการพูดคุยเเลกเปลี่ยนนั้นคือการขาดการเซ็นเซอร์ทางจริยธรรมเเละทางการเมือง เเละการหายไปของสิ่งเหล่านี้มีเเนวโน้มที่จะขยายไปเป็นการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างชุมชนกับนักภูมิอากาศวิทยาหรือนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มองว่าตัวเองเป็นตัวเเทนเเนวคิดทางภูมิอากาศวิทยา

โชคร้ายที่ส่วนหนึ่งของมุมมองทางภูมิอากาศวิทยามีเเนวโน้มจะประเมินหลักฐานที่บ่งบอกถึงความเป็น “สิ่งอื่น” ต่ำกว่าความเป็นจริงเมื่อขาดการเซ็นเซอร์ ภูมิอากาศวิทยามักมองตัวเองเช่นเดียวกับปราชญ์ทั้งหลายที่ยอมรับข้อตกลงเพื่อหาทางออกทางการเมืองที่ภูมิอากาศวิทยามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยว่าเป็นฐานรากซึ่งมีความเป็นกลาง ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเเละเป็นสากลของมาตรการการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องพูดพร่ำทำเพลง

เมื่อเป็นดังนั้น ภูมิอากาศวิทยามักจะมองคำวิจารณ์ทางการเมืองต่อตัวเองว่าเป็นหลักฐานของความไร้ประสิทธิภาพ ของการปฏิเสธความจริง ของการรุกล้ำเข้าไปสู่การอภิปรายทางวิทยาศาสตร์ของการคิดนโยบายซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ของการขาดแกนหลักของวิชามากกว่าเป็นการดำรงอยู่ร่วมกันของเเกนหลักวิชา (intellectual discipline) ที่หลากหลาย เเน่นอนว่า ส่วนหนึ่งของการป้องกันตัวเองเช่นนั้นเกิดจากการที่ภูมิอากาศวิทยาแปลความการวิพากษ์วิจารณ์ที่อยู่บนพื้นฐานประวัติศาสตร์ผิดเพี้ยนไปราวกับว่าการวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นเหมือนการปฏิเสธเเบบปูพรม หรือเปิดเผยทัศนคติ “ต่อต้านวิทยาศาสตร์” หรือประกอบด้วยคำสั่งว่าจะเอาภูมิอากาศวิทยาขึ้นหิ้งเเล้วเเทนที่ด้วย “ความรู้อื่น” ที่ครบถ้วนสมบูรณ์กว่าซึ่งนำเสนอความเป็นจริงของ “ธรรมชาติ” เเก่ “สังคม” ได้ดีกว่า

ผลที่ตามมาของการขาดความตระหนักในเรื่อง “ความเป็นอื่น” ของภูมิอากาศวิทยาต่อขบวนการขับเคลื่อนเรื่องสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่สามารถทำให้เห็นภาพได้ง่ายๆ ลองนึกภาพว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากนักวิทยาศาสตร์ชาวโตโตเเน็ค (Totonac) ที่กังวลเกี่ยวกับ “การเเตกกระจายทางความคิด” เเละลำดับขั้นการสั่งการที่เป็นฐานสนับสนุนความมั่นคงของมนุษย์เเละสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์รวมตัวกันมาแทรกในการประชุมของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผิวขาวจากประเทศซีกโลกเหนือที่ศรัทธาโลกทัศน์ทางภูมิอากาศวิทยาอย่างเเรงกล้า

นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพวกนั้นคงจะจ้องมองชาวโตโตเเนคลอดเเว่นอ่านหนังสือด้วยความงุนงงอยู่ครู่หนึ่งจากนั้นก็กลับไปพูดเรื่องส่วนในล้านส่วนต่อ หรือกระตุ้นให้นักวิทยาศาสตร์พวกนั้นพักคำวิจารณ์ไว้ก่อนเพราะ “เราทุกคนล้วนเป็นพวกเดียวกัน” เเละจำเป็นต้องร่วมกันสนับสนุนให้เกิดฉันทามติทางภูมิอากาศวิทยาก่อนที่จะดำเนินการขั้นต่อไป หรือไม่ก็ไม่สนใจคำวิจารณ์ที่มุ่งประเด็นไปที่อนาคตโดยพยายามจัดให้เป็น “อดีต” ที่ถูกเเทนที่เสีย (Fabian 2002) หรือไม่ก็เคาะนิ้วด้วยความรำคาญ ขุ่นข้องเเละงุนงงกับข้อคิดเห็น “เชิงปรัชญา” ของกลุ่มคนที่ดูจะเป็นพวกผู้ปฏิบัติมากกว่าด้วยมือที่หยาบกระด้าง ใบหน้ากร้านเเดด เเละมีประสบการณ์ต่อสู้ดิ้นรนยาวนานใตลาดกาแฟโลก อีกทั้งสงสัยว่าทำไมพวกนั้นจึงไม่สามารถจะยอมรับ “ความจริง” เรื่องการจัดการสารทำความเย็นได้อย่างไร้ข้อกังขา เมื่อเป็นดังนั้น การมุ่งหน้าไปสู่การร่วมกันรณรงค์เรื่องสภาพภูมิอากาศจึงมักถูกทำให้เป็นการโต้เเย้งที่ไร้สาระเกี่ยวกับความต้องการควบคุมเส้นเเดนระหว่างการเมืองเเละธรรมชาติซึ่งทำให้การตั้งคำถามต่อทั้งสองฝ่ายเองหรือตัวเชื่อมที่ถูกสร้างขึ้นระหว่างทั้งคู่เป็นไปไม่ได้

สิ่งที่สูญเสียไปอย่างน่าเสียดายในกระบวนการตัดตอนเช่นนั้นไม่ใช่เพียงเเค่ข้อโต้เเย้งที่สำคัญมากเเละมีความจำเป็นยิ่ง เเต่รวมถึงความตระหนักว่าข้อโต้เเย้งเหล่านั้นมีความเป็นไปได้ด้วย การขาดความตระหนักเช่นนี้เองที่ทำให้ความต่างในกลุ่มขบวนการขับเคลื่อนด้านสภาพอากาศกลายเป็นความขัดเเย้ง หาใช่ความเเตกต่างระหว่างกระบวนการคิดเเบบภูมิอากาศวิทยากับแบบไม่ใช่เลย เมื่อทางเลือกในการสร้างเเนวคิดเรื่องสภาพภูมิอากาศถูกทำลายความน่าเชื่อถือหรือถูกเมิน คนส่วนใหญ่ในโลกไม่สามารถอยู่เฉยได้ตลอดไป เมื่อ “ความเป็นธรรมทางด้านสภาพภูมิอากาศ” ได้ถูกทำให้กลายเป็นเพียงเรื่องของการกระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นธรรม หรือการกระจายพลังที่จับต้องไม่ได้ที่เป็นธรรม หรือการกระจายผลการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่เป็นธรรม หรือการกระจายภาระภาษีคาร์บอนที่เป็นธรรม หรือการกระจายต้นทุนในการปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็นเพื่อเปลี่ยนการไหลเวียนของโมเลกุลที่เป็นธรรม เเทนที่เป็นการเปิดให้สาธารณชนได้ถกกันในเรื่องที่ดิน งาน ระบบการปกครองเเบบพ่อปกครองลูก ชนชั้น เชื้อชาติ มลภาวะ เเละเรื่องอื่นๆอีกมากมาย จึงไม่มีทางที่จะหยุดยั้งความไม่เป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศได้ มีเเต่จะทำให้เพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้เท่ากับความพ่ายเเพ้สำหรับภูมิอากาศวิทยาตราบเท่าที่ไม่สามารถเข้าใจว่าภูมิอากาศวิทยาเองจำเป็นต้องเรียนรู้จากการพูดคุยถกเถียงในรูปแบบใหม่ ไม่ใช่เเค่เรื่องประเภทเเละกระบวนการที่นอกเหนือจากการจัดการโมเลกุล เเต่ต้องพูดถึงภูมิอากาศวิทยาเองและอคติที่มีด้วย

ถ้าจะพูดถึงเรื่องนี้อีกเเบบก็คือการที่การด่วนสรุปความมีความสำคัญเหนือการค่อยๆตีความหมายกลายเป็นปัจจัยขัดขวางการรณรงค์ทางสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าการตีความกลับไปกลับมาระหว่างการถกเถียงเชิงภูมิอากาศวิทยาหรือไม่ใช่เชิงภูมิอากาศวิทยาจะช้าหรือเร็ว เเละใครเป็นคนตัดสินใจว่าจะช้าหรือเร็วเป็นคำถามเรื่องการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ซึ่งดูเหมือนว่า “ชนชั้นภูมิอากาศวิทยา” จะมีอำนาจเหนือกว่า เเละยังมีอำนาจมากพอที่บังคับให้ใช้วิธีการตีความอย่างเร่งด่วนโดยไม่รับฟังใคร เเทนที่จะเป็นการเเลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ไม่ได้มีการตั้งธงไว้ก่อนซึ่งปฏิเสธที่กันประวัติศาสตร์เเละการเมืองออกไป ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายเหลือเกินที่สิ่งแวดล้อมนิยมซึ่งครอบงำโดยภูมิอากาศวิทยาจะเมินเเนวทางเเก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่เเตกต่างหลากหลายเเละบอกว่าเเนวทางเหล่านั้นมีความสับสนหรือเข้าใจผิด รวมถึงพยายามทำให้เเนวทางเหล่านั้น มารวมอยู่ภายใต้ขอบข่ายภูมิอากาศวิทยา การอ้างว่าการเคลื่อนไหวไม่ให้มีการขุดเจาะน้ำมันในป่าอะเมซอนในเขตประเทศเอควาดอร์เป็นเรื่องการ “จำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” เเละ “การจำกัดชีวมณฑล” เท่านั้น หรือ เเนวคิดเรื่องชีวิตที่ดี (sumak kawsay) ที่ชาวพื้นเมืองในอเมริกาใต้ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเรื่องของการพัฒนาสีเขียวที่ “ฟื้นคืนสภาพได้” หรือ ดินเเดนของชนพื้นเมืองเป็นเพียงพื้นที่นามธรรมที่สนับสนุนโดยนักทำแผนที่ชาวยุโรปในคริสตศตวรรษที่ 16 หรือเป็นคำทำนายของศตวรรษที่ 21 ว่าเป็น “เมืองหลวงธรรมชาติ” หรือ เทพเจ้าพาชามามา (Pachamama) ที่ชนพื้นเมืองเเห่งเทือกเขาแอนดีสนับถือเป็นหนึ่งในการสร้างตัวตนให้กับ “ธรรมชาติ” ของทุนนิยมที่มีเพียงมนุษย์ที่อยู่ภายนอกสามารถปกป้องสิทธิ์ให้ได้ ตัวอย่างของการด่วนสรุปทั้งหมดนี้รังเเต่จะนำมาซึ่งความสิ้นหวังเเละความรุนเเรง

สิ่งที่ตลกก็คือตัวอย่างของการตีความอย่างเร่งรีบที่ว่านั้นไม่เพียงเเต่ทำให้ขอบเขตของมาตรการเเก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศอ่อนเเอลง ยังทำให้ช้าลงด้วย วิลเลี่ยม สมิธ (William Smith) (2007: 232) กล่าวไว้ว่า “ยุทธศาสตร์ที่รัฐเป็นศูนย์กลางเเละครอบงำโดยประเทศซีกโลกเหนือ” มีความเป็นไปได้ที่จะ “เปลี่ยนสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ได้ภายในช่วงระยะเวลาที่เหลืออยู่ได้น้อยกว่ายุทธศาสตร์ที่ .ให้เกียรติศาสตร์ที่เเตกต่างหลากหลาย (Bakhtin 1981) หากการจัดการทางการเมืองว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องมีกระบวนการที่เร็วขึ้น จำเป็นต้องยอมรับว่ามี “ความเป็นอื่น” ในหมู่ขบวนการการขับเคลื่อนเรื่องสภาพภูมิอากาศอยู่สูงพอๆกับสามัญชนกับการล้อมเขตที่ดินของรัฐบาลอังกฤษ (enclosure movements) เมื่อหลายศตวรรษที่ผ่านมาทีเดียว ข้ออ้างว่านักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศ “อยู่ข้างเดียวกันหมด” โดยอัตโนมัติ เเละควรหยุดพูดถึงความเเตกต่างระหว่างกันเเล้วมุ่งความสนใจไปที่ “ศัตรูร่วม” อย่างบริษัทน้ำมัน หรือ โดนัลด์ ทรัมป์นั้น เป็นอุปสรรคเเละเหมือนถอยหลังลงคลอง ทั้งไม่ก่อให้เกิดพลังเเละไม่ได้มองอนาคตเป็นสำคัญ

บทสรุป

ราว 4 ทศวรรษที่ผ่านมา โลอิส กิบบส์ เเม่บ้านซึ่งจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเเละต้องต่อสู้กับการปนเปื้อนสารพิษจากอุตสาหกรรมในละเเวกบ้านที่อยู่ทางตอนบนของรัฐนิวยอร์ค ได้ประสานสมาชิกในชุมชนเเละนักสิ่งเเวดล้อมที่มีความกังวลในประเด็นนี้จากองค์กรพัฒนาเอกชนที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตันเพื่อหารือว่าร่วมมือกันทำงานได้หรือไม่ กิ๊บบส์เล่าให้ฟังว่า

“มันตลกมากค่ะ คนระดับรากหญ้านั่งอยู่ฝั่งหนึ่งของห้อง ดื่มเบียร์บัดไวเซอร์เเล้วก็สูบบุหรี่ ส่วนนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั่งกินโยเกิร์ตอยู่อีกฝั่ง ทางเราอยากคุยเรื่องค่าชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบ ส่วนพวกเขาอยากคุยเรื่องระดับความเข้มข้นของสารเบนซีนที่ 10 ในพันล้านส่วน (parts per billion – ppb) บางช่วงก็เกือบกลายเป็นสงครามเเน่ะค่ะ เราหวังว่า การได้เจอคนในพื้นที่ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอาจจะอยากสนับสนุนจุดยืนของคนรากหญ้า เเต่ผลไม่ได้ออกมาเช่นนั้น” (Greider 1992: 214).

สิ่งที่กิ๊บบส์ชี้ให้เห็นคือความเเตกเเยกที่ยังดำรงอยู่ในปัจจุบันในขบวนการขับเคลื่อนเรื่องสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ซึ่งฝ่ายภูมิอากาศวิทยาที่หมกมุ่นกังวลอยู่กับเรื่อง “ส่วนต่อพันล้าน” มีบทบาทสำคัญ ขบวนการขับเคลื่อนเรื่องสภาพภูมิอากาศเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ได้หรือไม่ หรือถูกลิขิตให้เดินซ้ำรอยเดิม  พวกเขาสามารถทำความเข้าใจภูมิอากาศวิทยาเเละปฏิรูปโดยสร้างพันธมิตรได้สำเร็จหรือเปล่า หรือภูมิอากาศวิทยาจะยังเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่เเบ่งแยกพวกเขาต่อไป  บทนี้ได้บอกเป็นนัยว่าความสำเร็จขึ้นจะอยู่กับการอุทิศความสนใจให้กับกระบวนการการแปลความอย่างเป็นประชาธิปไตยเเละการต่อรองบนพื้นฐานของ “การพบกันครึ่งทาง” มากกว่าที่เข้าใจกันโดยทั่วไปมาก ซึ่งการสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาอย่างอดทนจะก่อให้เกิดความเจ็บปวดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บันทึกถึงนักเคลื่อนไหวที่เป็นชนชั้นกลางที่มีการศึกษาซึ่งพยายามช่วยสภาพภูมิอากาศให้รอดพ้นจากผลพวงจากการกระทำของโลกธุรกิจเเบบโดนัลด์ ทรัพส์เเละเเจร์ โบลโซนาโรส เเละนักภูมิอากาศวิทยาซึ่งยืนยันว่าพวกเขามีหน้าที่ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่ขีดขอบเขตงานวิจัยของตนให้อยู่ที่การติดตามโมเลกุลของก๊าซเรือนกระจกเเละการถ่ายโอนพลังงานอาจไม่ใช่มิตรของคุณเสมอไป  พวกเขาเป็นนักอุดมคติที่เลือกข้างในการต่อสู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องชนชั้น เชื้อชาติเเละเพศซึ่งมีที่มาย้อนไปไกลกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมมากไม่ต่างจากคนส่วนใหญ่อื่นๆ  อาจจะโดยไม่รู้ตัวหรือด้วยความตั้งใจดีใดก็ตาม

บันทึกถึงนักเคลื่อนไหวที่ไม่เเน่ใจว่าจะมีความเห็นอย่างไรต่อความหายนะด้านสภาพภูมิอากาศท่ามกลางการต่อสู้ที่ดำเนินอยู่กับมาตรการรัดเข็มขัด การกวาดต้อนจับขังผู้คน การขุดเเร่ การทำเกษตรระดับอุตสาหกรรม สงคราน้ำมัน การฆ่าโดยตำรวจ การวางแผนให้ล้าสมัย การเลี่ยงภาษี การเจาะชั้นหินด้วยแรวดันน้ำเเละปัญญาประดิษฐ์ คุณอาจจะไม่เเน่ใจว่าจริงๆเเล้วคุณเป็นส่วนหนึงของขบวนการขับเคลื่อนเรื่องสภาพภูมิอากาศหรือไม่ เเต่ในความเป็นจริงคือคุณเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำโดยปริยาย เเละคุณก็มีสิทธิที่จะเข้าร่วมในการให้คำนิยามว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคืออะไรด้วย หากโลกอื่นมีจริง ถ้าอย่างนั้น ก็มีนักภูมิอากาศวิทยาเเบบอื่นเช่นกัน