ถนนสู่การสร้างโลกที่ยั่งยืนกว่าเดิม

(บรรยายภาพ) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นหลักของการพูดคุยเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการประชุมที่เมืองดาวอสปีนี้
ภาพโดย: ยานนิส เบรากิ (Yannis Behraki) สำนักข่าวรอยเตอร์ส

07 กุมภาพันธ์ 2562

ผู้เขียน: อาคิม สไตเนอร์ (Achim Steiner) ผู้บริหารสูงสุดของสำนักงานโครงการพัฒนาเเห่งสหประชาชาติ (UNDP)

“สวนสวรรค์แห่งอีเดนนั้นจบสิ้นเเล้ว” เซอร์เดวิด แอทเทนโบโร (Sir David Attenborough) กล่าวในสุนทรพจน์ว่าด้วยการทำลายล้างที่มนุษยชาติได้กระทำต่อโลกธรรมชาติระหว่างงานประชุมที่เมืองดาวอสประจำปี 2562 เซอร์เดวิดยังให้ความหวังโดยกล่าวว่ามนุษย์เรานั้นเป็น “สายพันธุ์เเห่งการเเก้ปัญหา” เเต่ก็ย้ำว่าเรามีเวลาเพียงทศวรรษเดียวในการเเก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ส่วนอังตอนีอู กูเเตรีซ (António Guterres) เลขาธิการเเห่งสหประชาชาติได้สะท้อนแนวคิดเหล่านี้ในสุนทรพจน์ “สถานการณ์โลก” โดยกล่าวว่านับวันแรงผลักดันการพัฒนาเศรษฐศาสตร์มหภาคในระดับโลก (Megatrend) เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยิ่งมีความเกี่ยวโยงมากขึ้นเเต่การตอบสนองต่อประเด็นพวกนั้นกลับแยกออกเป็นส่วนๆ เขาเตือนว่าการไม่จัดการปัญหานี้อย่างจริงจังคือ “ตำราสู่หายนะ”

ขณะที่มีพวกเราจำนวนหนึ่งควรถูกกระตุ้นเตือนว่าการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นปัญหาเร่งด่วนเเค่ไหน เเต่สิ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจคือความวิตกกังวลในเรื่องนี้ได้รับการเอ่ยถึงอยู่ในทุกประเด็นการพูดคุยเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เมืองดาวอสครั้งนี้  ยังมีอีกหลายเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปราย ไม่ว่าจะเป็นความไม่เท่าเทียม การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ความท้าทายเรื่องการสร้างทักษะใหม่ๆเพื่อเผชิญกับยุคการใช้เครื่องจักรกลมาทำงานเเทนคน ไปจนถึงการจัดการการปกครองโลก ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ระบบอาหารเเละอนาคตของระบบการเงิน เป็นต้น

หนทางใหม่ๆเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เทคโนโลยีเเละการเงินซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักเพื่อให้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ก้าวไปข้างหน้าในอนาคตอันใกล้นั้นกำลังเป็นจุดสนใจ เเม้กระทั่งผู้ที่มีความอ่อนด้อยด้านเทคโนโลยีที่สุดในหมู่พวกเราก็ยังรู้สึกตื่นเต้นเมื่อพูดคุยถึงศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ (AI) การนำเข้าข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อวิเคราะห์ (Big Data) เเละ ระบบโครงข่ายในการเก็บข้อมูลเเบบบล็อกเชน (Blockchain) ในการทำให้โลกเราน่าอยู่ขึ้น ความคิดหลากหลายที่อาจทำให้เกิดการพลิกโฉมพวกนี้ทั้งเปิดโลกทัศน์เเละทำให้เปิดปากค้าง ไล่มาตั้งเเต่โครงการที่จะปกป้องสนามบินเเละโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆจากการโจมตีทางเซเบอร์ ไปจนถึงการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจตระหนักถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเเละรับผิดชอบในส่วนของพวกเขาโดยผนวกเป้าหมายเหล่านั้นเข้ากับรูปแบบการประกอบธุรกิจ

เเน่นอนว่าเทคโนโลยีที่สร้างความผลิกผัน (disruptive technology) ไม่ใช่ยาวิเศษที่ทำให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยืน เเม้พวกมันจะมีคุณมากเเต่ก็มีความเสี่ยงสูงอย่างที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติอุตสากรรมครั้งที่ 4 ก็ช่วยเร่งให้การเดินไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนรุดหน้าไปได้ โครงการพัฒนาเเห่งสหประชาชาติเรานั้นมีภารกิจเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาสามารถใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเพื่อขจัดความยากจนข้นเเค้นเเละสร้างความเจริญรุ่งเรืองที่ทุกคนได้ผลประโยชน์ร่วมกัน

หากจะกล่าวให้ชัดคือ เราเพิ่งเปิดตัวศูนย์ปรึกษาเเละเเนะนำการแก้ปัญหาด้านการพัฒนา (Accelerator Labs) 60 เเห่งในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อวิเคราะห์ปัญหาเเละเชื่อมกับผู้ที่สามารถเเก้ปัญหานั้นๆที่กระจายอยู่ทั่วโลกโดยใช้ทั้งเครือข่ายในพื้นที่เเละข้อมูลจากเเหล่งใหม่ๆ ตั้งเเต่โซเชี่ยลมีเดียไปจนถึงภาพถ่ายดาวเทียม เราต้องการสนับสนุนผู้คิดค้นนวัตกรรม อย่างเช่น เดน่า ลูอิส (Dana Lewis) ที่สร้างเครื่องมือที่อนุญาตให้ผู้อื่นนำรหัสคอมพิวเตอร์ (open-source) ไปพัฒนาต่อสำหรับการจัดการโรคเบาหวานประเภทที่ 1 หรือคนอย่างผู้ประกอบการที่สร้างฟาร์มลอยน้ำในบังคลาเทศที่มักประสบปัญหาน้ำท่วม

Accelerator Lab จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นต่อเจ้าหน้าที่เเละโครงสร้างพื้นฐานประจำประเทศต่างๆของโครงการพัฒนาเเห่งสหประชาชาติที่มีอยู่ในปัจจุบัน ศูนย์เหล่านี้จะช่วยให้โครงการพัฒนาเเห่งสหประชาชาติสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายเเละทักษะความรู้ด้านการพัฒนาที่มีอยู่ใน 170 ประเทศทั่วโลกเข้ากับข้อมูลด้านนวัตกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพื่อช่วยเหลือประเทศที่จำเป็นต้องพัฒนาในด้านต่างๆ ซึ่งจะกล่าวให้ถึงที่สุดเเล้วก็คือการไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่างๆนั่นเอง

นวัตกรรมด้านการเงิน

หัวข้อเรื่องการเงินมักเป็นประเด็นในการพูดคุยระหว่างผมกับตัวเเทนรัฐบาลเเละผู้นำองค์กรธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นวัตกรรมด้านการเงิน” นับเป็นเรื่องหลักในการสนทนา ไล่เรียงตั้งเเต่ความสามารถในการช่วยเหลือผู้อพยพเเละผู้ลี้ภัยไปจนถึงสิ่งที่เรียกกันว่า “การระดมทุนโดยใช้เหรียญดิจิตัล (Initial Coin offering –ICO)” เพื่อเป็นทุนให้กับโครงการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆของบริษัทที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง

เราได้ค้นหาวิธีการต่างๆที่จะดึงดูดเงินทุนเพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงศึกษาความจำเป็นในการจัดตั้งกระบวนการเเละเครื่องมือจัดการผลกระทบเพื่อให้ทราบว่าบริษัทใดที่มีวิธีการดำเนินงานโดยคำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคมเเละธรรมาภิบาลอยู่ในดีเอ็นเอ การเปลี่ยนแปลงที่กล่าวไปข้างต้นอาจส่งอิทธิพลต่อกระเเสเงินทุนของบริษัท ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงกว่าที่บริษัทเหล่านี้จะเห็นพ้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

คณะทำงานด้านการเงินดิจิตัลเพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสำนักเลขาธิการเเห่งสหประชาติเพิ่งได้ประชุมร่วมกันเป็นครั้งเเรกเพื่อหาทางเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีเเละการเงิน บทบาทของคณะทำงานซึ่งผมเป็นประธานร่วมกับมาเรีย รามอส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มอับซ่า (Absa Group) ประเทศแอฟริกาใต้ คือ ให้คำเเนะนำด้านกลยุทธในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงินที่มีศักยภาพในการเดินไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เราได้ถกกันถึงความจำเป็นในการใช้ระบบการเงินดิจิตัลเพื่อให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจจริงๆมากขึ้น เเละเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมภายในประเทศโดยคำนึงถึงพันธสัญญาที่เป็นเเกนสำคัญของเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”  มีข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ คือ 70-80% ของแอพพลิเคชั่นทางการเงินได้รับการพัฒนาขึ้นในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป ไม่ได้ทำขึ้นมาตามประสบการณ์หรือความจำเป็นเฉพาะพื้นที่ สิ่งที่ชัดเจนมากคือระบบการเงินดิจิตัลได้สร้างโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เเละสามารถมีบทบาทในการสร้างสังคมสำหรับทุกคน

อนาคตที่มุ่งหวัง

การประชุมที่เมืองดาวอสได้เพาะเมล็ดพันธุ์เพื่อให้เกิดเเนวทางผสมผสานระหว่างองค์กรธุรกิจ รัฐบาลเเละประชาสังคมที่เป็นที่ต้องการอย่างยิ่งในการหาหนทางเเก้วิกฤติต่างๆของโลกเเบบใหม่ๆเเละได้ผล โครงการพัฒนาเเห่งสหประชาชาติได้ทำให้ความร่วมมือกับสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นด้วยการมุ่งไปที่ประเด็นการนำเครื่องจักรกลมาใช้เเทนมนุษย์รวมถึงเเรงผลักดันอื่นๆที่อาจเปลี่ยนโฉมห่วงโซ่คุณค่าของโลก

การทำความเข้าใจว่าความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจมีผลกระทบอย่างไรบ้างต่อประเทศกำลังพัฒนาซึ่งพึ่งพาห่วงโซ่คุณค่าเหล่านี้ในการดำรงกลยุทธด้านการพัฒนาโดยมีการส่งออกเป็นตัวนำนั้นมีความสำคัญยิ่ง เมื่อมองไปยังอนาคต ผลของความร่วมมือนี้น่าจะช่วยโครงการพัฒนาเเห่งสหประชาชาติ รวมถึงองค์กรอื่นๆของสหประชาชาติในการให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลเเละองค์กรธุรกิจต่างๆที่พยายามตามการพัฒนาเหล่านั้นให้ทันทั้งในเเง่นโยบายเเละการปฏิบัติ

ในฐานะที่เป็นทั้งผู้เข้าร่วมประชุมเเละผู้สังเกตุการณ์ในการประชุมประจำปี 2562 ที่เมืองดาวอส ผมได้ประสบด้วยตนเองทั้งความเป็นผู้นำ ความคิดริเริ่ม จิตวิญญาณในการร่วมมือเเละความปรารถนาอันเเจ่มชัดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านการพัฒนาที่ผู้เข้าร่วมงานจำนวนมากได้เเสดงให้เห็นในที่ประชุม การประชุมประจำปีนี้ได้นำพาให้ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงได้มารวมกัน ได้ร่วมให้ข้อเสนอต่างๆที่จำเป็นเเละเป็นรูปธรรมเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งมีเวลาเหลือเพียงเเค่ 12 ปีให้ก้าวไป

(รูป เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน)

1 ขจัดความยากจน

2 ขจัดความหิวโหย

3 สุขภาพเเละความเป็นอยู่ที่ดี

4 การศึกษาที่มีคุณภาพ

5 ความเท่าเทียมทางเพศ

6 น้ำสะอาดเเละสุขาภิบาล

7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้

8  การจ้างงานที่มีคุณค่าเเละการเติบโตทางเศรษฐกิจ

9 อุตสาหกรรม นวัตกรรมเเละโครงสร้างพื้นฐาน

10 ลดความเหลื่อมล้ำ

11 เมืองเเละชุมชนที่ยั่งยืน

12 การบริโภคเเละการผลิตที่มีความรับผิดชอบ

13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

14 สิ่งมีชีวิตทางทะเล

15 สิ่งมีชีวิตบนบก

16 สันติภาพ ความยุติธรรมเเละสถาบันที่เข้มเเข็ง

17 ความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน