ความยั่งยืนไม่พอ: เราต้องการวัฒนธรรมเชิงปฏิรูปฟื้นฟู
โดย แดเนียล คริสเตียน วาห์ล (Daniel Christian Wahl)
15 มีนาคม 2560
เผยแพร่โดย INSURGE intelligence สื่อเชิงสืบสวนเพื่อประชาชนและโลกที่ได้รับเงินสนับสนุนจากการระดมทุน ช่วยสนับสนุนเราเพื่อให้ได้รายงานเรื่องที่สื่ออื่นไม่กล้าแตะ
แค่ความยั่งยืนไม่พอที่จะเป็นเป้าหมายประการเดียว ตัวคำว่า “ความยั่งยืน” เองไม่เพียงพอเนื่องจากไม่ได้บอกเราว่าจริงๆแล้วเราพยายามรักษาสิ่งใดให้ยั่งยืนกันแน่ ในปี ค.ศ. 2005 หลังจากใช้เวลาสองปีในการเขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเรื่องการออกแบบความยั่งยืน ผมตระหนักได้ว่าสิ่งที่เราพยายามรักษาให้ยั่งยืนนั้นคือแบบแผนของสุขภาพ ความทนทานและความสามารถฟื้นตัวในภาวะยากลำบาก รวมถึงความสามารถในการปรับตัวซึ่งรักษาโลกใบนี้ให้อยู่ในสภาพที่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายงอกงามได้ ถึงที่สุดแล้ว การออกแบบความยั่งยืนก็คือการออกแบบเพื่อสุขภาพของมนุษย์และโลกของเรานั่นเอง (Wahl, 2006b)
วัฒนธรรมเชิงปฏิรูปฟื้นฟู (Regenerative Culture) นั้นดีต่อสุขภาพ ทนทานและสามารถฟื้นตัวในภาวะยากลำบาก สามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพต่างๆได้ อีกทั้งเป็นแนวคิดที่ใส่ใจโลกและใส่ใจชีวิตซึ่งเป็นวิถีที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในการรังสรรค์อนาคตที่รุ่งเรืองสดใสเพื่อมวลมนุษยชาติ แนวคิดเรื่องความทนทานและสามารถฟื้นตัวสู่สภาวะปกติได้ในสภาวะยากลำบากนั้นสัมพันธ์กับสุขภาพอย่างแนบแน่นเนื่องจากอธิบายถึงความสามารถที่จะฟื้นตัวของการทำงานของอวัยวะสำคัญในการคงชีพและกลับมาสู่ภาวะปกติจากความผิดปกติชั่วคราวหรือภาวะวิกฤติ เมื่อเรามุ่งไปสู่ความยั่งยืนโดยมองแบบองค์รวม เราพยายามรักษาแบบแผนที่เชื่อมโยงและสร้างความแข็งแกร่งให้กับทั้งระบบ ความยั่งยืนคือสิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องสุขภาพแบบองค์รวม เรื่องความทนทานต่อสภาวะต่างๆและความสามารถฟื้นคืนสภาพปกติได้ไม่ว่าจะระดับใด นับตั้งแต่ท้องถิ่น ภูมิภาค ไปจนถึงระดับโลก
ศาสตร์แห่งความซับซ้อน (Complexity science) สอนเราว่าในฐานะผู้มีส่วนในระบบนิเวศ–จิต–สังคมที่มีพลวัตและซับซ้อนซึ่งขึ้นอยู่กับข้อจำกัดด้านชีวกายภาพบางอย่าง เป้าหมายของเราต้องเป็นการมีส่วนร่วมที่เหมาะสม ไม่ใช่การคาดการณ์และการควบคุม (Goodwin, 1999a) วิธีที่ดีที่สุดในการเรียนรู้ที่จะมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสมคือการให้ความสนใจต่อความสัมพันธ์และการปฏิสัมพันธ์อย่างเป็นระบบให้มากขึ้น มุ่งช่วยเหลือให้เกิดความทนทานต่อสภาวะยากลำบากและความสามารถในการฟื้นตัวรวมถึงสุขภาพที่ดีของทั้งระบบ รักษาความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์ในหลายระดับ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดปรากฎการณ์ในทางบวกด้วยการให้ความสนใจต่อคุณภาพของความสัมพันธ์และการไหลเวียนข้อมูลในระบบ หนังสือเล่มนี้สำรวจความเป็นไปได้ต่างๆว่าจะทำสิ่งที่กล่าวมานี้ได้อย่างไร (คัดจากบทย่อยจากหนังสือเรื่อง Designing Regenerative Cultures ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Triarchy Press, 2016)
การใช้หลักป้องกันไว้ล่วงหน้า
มีการเสนอให้นำหลักป้องกันไว้ล่วงหน้ามาใช้เป็นกรอบการทำงานเมื่อต้องเผชิญกับความซับซ้อนและ “ความไม่รู้” ที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะส่งผลลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในอนาคตให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราได้ทำสัญญากันไว้หลายต่อหลายครั้งแล้วว่าจะนำหลักป้องกันไว้ล่วงหน้ามาใช้นับตั้งแต่ “กฎบัตรโลกเพื่อธรรมชาติ” ค.ศ. 1982 ไปจนถึงพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสุขภาพ ในปีค.ศ. 1987 ปฏิญญาริโอในปี ค.ศ. 1992 พิธีสารเกียวโตและการประชุมริโอ +20 ในปี ค.ศ. 2012
คำแถลงฉันทามติวิงสเปรดว่าด้วยหลักป้องกันไว้ล่วงหน้าระบุว่า “ในการทำกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ ควรนำหลักป้องกันไว้ล่วงหน้ามาใช้แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุและผลกระทบอาจยังพิสูจน์ไม่ได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์” (Wingspread Statement, 1998) หลักการนี้มอบภาระในการพิสูจน์ว่าการกระทำนั้นๆไม่ก่อให้เกิดอันตรายให้แก่ผู้ที่เสนอและลงมือปฏิบัติ แต่ที่ปฏิบัติกันทั่วไปนั้นอนุญาตให้การกระทำทุกอย่างที่ (ยัง) ไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าอาจมีผลกระทบที่อันตรายหรือไม่ดำเนินต่อไปโดยไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียด สรุปอย่างสั้นๆก็คือหลักป้องกันไว้ล่วงหน้านั้นบอกให้กระทำการป้องกันไว้ล่วงหน้าหากรู้สึกไม่แน่ใจ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เรากำลังทำกันอยู่
ขณะที่กลุ่มที่ทรงอิทธิพลต่างๆในสหประชาติและรัฐบาลหลายประเทศได้พิจารณาหลายครั้งหลายหนแล้วว่าหลักป้องกันไว้ล่วงหน้าเป็นวิธีที่ฉลาดในการกำหนดทิศทางการกระทำต่างๆ แต่การปฏิบัติงานจริงแสดงให้เห็นว่าการนำหลักนี้ไปบังคับใช้ได้จริงได้ลำบากมากเพราะมักเกิดความไม่แน่ใจอยู่ไม่มากก็น้อย หลักป้องกันไว้ล่วงหน้ายังมีแนวโน้มว่าอาจขัดขวางนวัตกรรมที่ยั่งยืนและเป็นอุปสรรคต่อเทคโนโลยีใหม่ๆที่มีประโยชน์อย่างสูงเนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเทคโนโลยีพวกนี้จะก่อให้เกิดผลเสียหายหรือเป็นอันตรายที่ไม่คาดคิดต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในอนาคตหรือไม่
ทำไมจึงไม่ท้าทายนักออกแบบ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ผู้กำหนดนโยบาย และผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนให้ประเมินแผนงานที่เสนอมาในแง่ศักยภาพด้านการปฏิรูป การฟื้นฟู และการสืบต่อชีวิต
ทำไมไม่จำกัดการนำนวัตกรรมไปใช้ให้อยู่ในระดับท้องถิ่นและภูมิภาคก่อนจนกว่าจะพิสูจน์ผลดีให้ประจักษ์ชัดเจน
การมุ่งที่จะออกแบบสุขภาพอย่างเป็นระบบอาจไม่ได้ช่วยเราให้รอดพ้นจากผลกระทบและความไม่แน่นอนที่ไม่ได้คาดคิดแต่ก็เป็นหนทางลองผิดลองถูกที่นำไปสู่วัฒนธรรมเชิงปฏิรูปฟื้นฟู เราต้องการคำปฏิญาณเช่นเดียวกับคำสัตย์สาบานฮิปโปเครติสสำหรับการออกแบบ การสร้างเทคโนโลยีและการวางแผนว่า “จะไม่ก่อภัยอันตรายใดๆ” อย่างเร่งด่วน ในการนำข้อบังคับด้านจริยธรรมนี้ไปปฏิบัติได้จริง เราจำเป็นต้องมีเจตจำนงเรื่องสุขภาวะกำเนิด (การสร้างสุขภาพ) เป็นรากฐานในการออกแบบ การสร้างเทคโนโลยีและการวางแผน นั่นคือ “เราต้องออกแบบเพื่อสุขภาพของมนุษย์ ระบบนิเวศและโลก” ด้วยวิธีนี้ เราจึงสามารถก้าวจาก “สิ่งที่ทำกันเป็นปกติ” ซึ่งไม่ยั่งยืนไปข้างหน้าสู่นวัตกรรมที่ฟื้นฟูและสร้างชีวิตใหม่ซึ่งช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่วัฒนธรรมเชิงปฏิรูปฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว มาถามตัวเองกันเถอะว่า:
เราจะออกแบบ สร้างเทคโนโลยี วางแผนและตัดสินใจเชิงนโยบายในแนวทางส่งเสริมสุขภาพที่ดีของสิ่งแวดล้อม ชุมชนและมนุษย์ได้อย่างไร
เราจำเป็นต้องตอบต่อข้อเท็จจริงที่ว่ากิจกรรมของมนุษย์ในช่วงนับร้อยนับพันปีที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายต่อการทำงานที่สมบูรณ์ตามธรรมชาติของระบบนิเวศ ทรัพยากรทั่วโลกลดลงขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้นเนื่องจากประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเราก็ยังคงทำลายระบบนิเวศด้วยการออกแบบและวิถีบริโภคนิยมที่ไร้ความรับผิดชอบอยู่อย่างไม่หยุดหย่อน
หากเราเอาชนะความท้าทายเรื่องการลดความต้องการและการบริโภคได้ทั่วโลกพร้อมๆกับการสร้างทรัพยกรขึ้นมาใหม่ด้วยการเทคโนยีและการออกแบบเชิงปฏิรูปฟื้นฟู เราก็มีโอกาสที่จะทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้และสรรค์สร้างอารยธรรมแห่งการปฏิรูปฟื้นฟูขึ้นมาได้ การเปลี่ยนแปลงนี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนโฉมฐานทรัพยากรของอารยธรรมของเราจากทรัพยากรฟอสซิลไปเป็นทรัพยากรชีวภาพที่สร้างขึ้นใหม่และทดแทนได้ ทั้งยังนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรและการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล บิล รี้ดได้วางแผนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญบางอย่างที่จำเป็นต่อการสร้างให้เกิดวัฒนธรรมเชิงปฏิรูปฟื้นฟูอย่างแท้จริง
“แทนที่จะสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง สิ่งจำเป็นต้องทำคือเรียนรู้ว่าเราจะมีส่วนร่วมในสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรโดยใช้สุขภาพของระบบนิเวศเป็นพื้นฐานในการออกแบบ[…] การเปลี่ยนจากโลกทัศน์แบบแยกส่วนมาเป็นการมองแบบองค์รวมเป็นการก้าวกระโดดที่สำคัญที่วัฒนธรรมของเราจำเป็นต้องทำ นั่นคือการวางกรอบและทำความเข้าใจความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกันของสิ่งมีชีวิตในแบบบูรณาการ การมองโดยใช้สถานที่เป็นกรอบก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจได้ […] บทบาทของเราในฐานะนักออกแบบและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคือการเปลี่ยนความสัมพันธ์ของเราให้เป็นแบบที่สร้างความสัมพันธ์ซึ่งได้รับผลประโยชน์กันทั้งระบบ” – บิล รี้ด (2007: 674)
รี้ดยกให้ “การคิดแบบทั้งระบบ” และ “การคิดเชิงระบบสิ่งมีชีวิต” เป็นรากฐานของการเปลี่ยนความนึกคิดที่จำเป็นเพื่อสร้างวัฒนธรรมการเชิงปฏิรูปฟื้นฟู เราจะมาลงรายละเอียดบางอย่างเรื่องการเปลี่ยนแปลงมุมมองที่จำเป็นในบทที่ 3, 4 และ 5 ซึ่งสัมพันธ์กับการกำหนดแนวคิดขั้นพื้นฐานใหม่ในการทำความเข้าใจเรื่องความยั่งยืน อย่างที่บิล รี้ดกล่าวไว้ว่า “ความยั่งยืนคือความก้าวหน้าไปสู่การตระหนักรู้ว่าสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงกัน ว่าระบบการพานิชย์ ก่อสร้าง สังคม ธรณีวิทยาและธรรมชาติล้วนมีความสัมพันธ์กันเป็นระบบเดียว ว่าระบบเหล่านี้มีส่วนร่วมในวิวัฒนาการของชีวิตร่วมกัน” (2007) เมื่อเราเปลี่ยนมุมมอง เราจะเข้าใจว่าชีวิตนั้นเป็นกระบวนการทั้งหมดของวิวัฒนการที่ต่อเนื่องไปสู่ความสัมพันธ์ที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน ที่หลากหลายขึ้น และที่อุดมสมบูรณ์ขึ้น” การสร้างระบบเชิงปฏิรูปฟื้นฟูไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนทางสังคม ทางนิเวศ เศรษฐกิจและเทคนิค แต่ต้องไปพร้อมๆกับการเปลี่ยนวิธีการคิดของเราเกี่ยวกับตนเอง ความสัมพันธ์ต่อกันและกันของเราและความสัมพันธ์ของเรากับสิ่งมีชีวิตโดยรวม
รูปที่ 1 แสดงถึงการเปลี่ยนมุมมองรูปแบบต่างๆขณะที่เราขยับจาก “สิ่งที่ทำกันเป็นปกติ” ไปสู่การสร้างวัฒนธรรมเชิงปฏิรูปฟื้นฟู เป้าหมายของการสร้างวัฒนธรรมเชิงปฏิรูปฟื้นฟูนั้นรวมถึงความยั่งยืนแต่ก็กินความมากไปกว่านั้นด้วย การออกแบบเชิงฟื้นสภาพ (Restorative design) มุ่งที่จะฟื้นความสามารถในการปรับสภาวะตนเองตัวเองที่สมบูรณ์คืนสู่ระบบนิเวศท้องถิ่น ส่วนการออกแบบเชิงฟื้นคืนความสัมพันธ์ (Reconciliatory design) เป็นการก้าวไปอีกขั้นด้วยการทำให้การมีส่วนร่วมในกระบวนการแห่งชีวิตและความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างวัฒนธรรมและธรรมชาติของมนุษยชาติเป็นที่ประจักษ์ชัดเจน การออกแบบเชิงปฏิรูปฟื้นฟู (Regenerative design) สร้างให้เกิดวัฒนธรรมเชิงปฏิรูปฟื้นฟูที่สามารถเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองและคาดการณ์ถึงความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง วัฒนธรรมเชิงปฏิรูปฟื้นฟูนั้นปกป้องและสร้างความรุ่มรวยทางชีวะวัฒนธรรมเพื่อคนรุ่นหลังและเพื่อสิ่งมีชีวิตโดยรวม
รูปที่ 1: ปรับจากหนังสือของรี้ด (2006) โดยได้รับอนุญาตจากผู้เขียน
Figure 1: Adapted from Reed (2006) with the author’s permission
The Regenerative Design Framework กรอบแนวคิดเรื่องการออกแบบเชิงปฏิรูปฟื้นฟู
Regenerating Systems ระบบส่งเสริมการสร้างชีวิตใหม่
- Living systems approach guides design and innovation มุมมองเรื่องระบบสิ่งมีชีวิตเป็นแนวทางให้การออกแบบและการสร้างนวัตกรรม
- Collaboration creates abundance ความร่วมมือสร้างความอุดมสมบูรณ์
- Creating conditions conductive to life สร้างสภาวะที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิต
- Regenerative approach decreases energy uses แนวคิดว่าด้วยการปฏิรูปฟื้นฟูลดการใช้พลังงาน
- Systemic vitality increases พลังชีวิตของทั้งระบบเพิ่มขึ้น
Degenerating System ระบบที่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรม
- Systemic vitality decreases พลังชีวิตของทั้งระบบลดลง
- Exploitative approach increases energy uses แนวคิดว่าด้วยการแสวงหาประโยชน์เพิ่มการใช้พลังงาน
- Creating degenerative conditions ทำให้เกิดสภาพเสื่อมโทรม
- Competition creates scarcity การแข่งขันก่อให้เกิดความขาดแคลน
- Fragmented approach to design and innovation แนวคิดแบบแยกส่วนในการออกแบบและสร้างนวัตกรรม
Regenarative การปฏิรูปฟื้นฟู
appropriate participation and design as nature การออกแบบและมีส่วนร่วมที่เหมาะสมเช่นธรรมชาติ
Reconciliatory การฟื้นคืนความสัมพันธ์
Reintegrating humans as integral parts of nature การนับรวมมนุษย์เข้าเป็นส่วนประกอบสำคัญหนึ่งของธรรมชาติ
Restorative การฟื้นคืนสภาพ
Humans doing thing to nature มนุษย์กระทำต่อธรรมชาติ
Sustainable ความยั่งยืน
Neutral point of not doing any more damage จุดกึ่งกลางที่ไม่สร้างความเสียหายเพิ่มเติม
Green รักษ์ธรรมชาติ
Relative improvement มีแนวโน้มที่ดีขึ้น
Conventional Practice แนวปฏิบัติแบบเดิม
Compliants to avoid legal actions การยินยอมทำตามเพื่อหลีกเลี่ยงการดำเนินการทางกฎหมาย
“เรื่องราวการแบ่งแยก” กำลังเดินทางมาถึงขีดจำกัดของความมีประโยชน์ของมันแล้ว อีกทั้งผลกระทบเชิงลบจากโลกทัศน์ที่เกี่ยวข้องและพฤติกรรมที่เป็นผลสืบเนื่องเริ่มส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตโดยรวม เมื่อเราได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของโลก เราจึงเรียนรู้ที่จะค้นหาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับทุกชีวิตอีกครั้ง วิสัยทัศน์ของบิล รี้ดเรื่องการออกแบบเชิงปฏิรูปฟื้นฟูเพื่อสุขภาพโดยรวมของระบบนั้นสอดคล้องกับงานรุ่นบุกเบิกของหลายคนเช่น แพททริค เกดเดส (Patrick Geddes) อัลโด ลีโอโพลด์ (Aldo Leopold) ลูวิส มัมฟอร์ด (Lewis Mumford) บัคมินสเตอร์ ฟุลเลอร์ (Buckminster Fuller) เอียน แมคฮาร์ค (Ian McHarg ) อี.เอฟ. ชูมาร์เกอร์ (E.F. Schumacher ) จอห์น ทอดด์ (John Todd) จอห์น ทิลล์แมน ไลล์ (John Tillman Lyle) เดวิด ออร์ (David Orr) บิล มอลลิสัน (Bill Mollison ) เดวิด โฮล์มเกร็น (David Holmgren) และบุคคลอื่นๆอีกที่ได้ศึกษาและค้นหาการออกแบบโดยคำนึงถึงสุขภาพของทั้งระบบ
เรื่องเล่าทางวัฒนธรรมเรื่องใหม่กำลังปรากฎขึ้น ซึ่งสามารถให้กำเนิดและบอกเล่าถึงวัฒนธรรมเชิงปฏิรูปฟื้นฟูอย่างแท้จริงได้ เรายังไม่รู้โดยละเอียดว่าวัฒนธรรมนี้จะมีหน้าตาอย่างไรและเราก็ยังไม่รู้ในรายละเอียดอีกเช่นกันว่าเราจะเดินทางจากสถานการณ์ “โลกที่วิกฤติ” ในปัจจุบันสู่อนาคตแห่งวัฒนธรรมเชิงปฏิรูปที่รุ่งเรืองได้อย่างไร อย่างไรก็ดี เราได้เห็นบางแง่มุมของอนาคตนั้นแล้ว ณ ตอนนี้
การใช้คำว่า “เรื่องเก่า” และ “เรื่องใหม่” ทำให้เราตกอยู่ในอันตรายของการมองว่าการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมนี้เป็นเรื่องการเข้ามาแทนที่ “เรื่องเก่า” โดย “เรื่องใหม่” ซึ่งการแบ่งแยกออกเป็นสองขั้วตรงข้ามเช่นนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเล่าเรื่องแบบแบ่งแยกตามแบบ “เรื่องเก่า” ส่วน “เรื่องใหม่” นั้นไม่ใช่การปฏิเสธโลกทัศน์ที่เป็นกระแสหลักในปัจจุบันเสียทีเดียว แต่รวมเอาแนวคิดเช่นนี้ไว้ด้วยเพียงไม่ได้เห็นว่าแนวคิดนี้เป็นแนวคิดเพียงหนึ่งเดียว หากแต่เปิดรับการรับรู้หลายๆแนวทางที่จำเป็นและมีเหตุผล
การยอมรับความไม่แน่นอนและความคลุมเครือทำให้เราให้ความสำคัญกับมุมมองที่หลากหลายที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมในความซับซ้อนอย่างเหมาะสมของเรา มุมมองเหล่านี้ไม่เพียงเห็นคุณค่าและยอมรับในเหตุผลของ “เรื่องเก่าๆ” ว่าด้วยการแบ่งแยก แต่รวมไปถึง “เรื่องโบราณๆ” ที่ว่าด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกับโลกและจักรวาลด้วย มุมมองพวกนี้อาจช่วยให้เราหาหนทางการปฏิรูปฟื้นฟูเพื่อการเป็นมนุษย์ที่มีความใกล้ชิด มีการพึ่งพาอาศัย รวมถึงการอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตทั้งปวงโดยเป็นผู้สร้าง “เรื่องราวใหม่” ของมนุษยชาติร่วมกัน
การขาดความอดทนและความรีบร้อนที่จะกระโจนสู่คำตอบ วิธีแก้ปัญหาและบทสรุปนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับปัญหาที่เพิ่มขึ้นทั้งทางด้านนิเวศ วัฒนธรรม สังคม ปัญหาระดับส่วนรวม ปัญหาระดับปัจเจกบุคคล แต่แนวโน้มที่จะเห็นด้วยกับคำตอบแทนที่จะถามให้ลึกลงไปเช่นนี้ก็ไม่พ้นเป็นการคิดแบบแบ่งแยกเหมือนเดิม
แม้ไม่ใช่ทั้งหมดแต่ก็พูดได้ว่าศิลปะของนวัตกรรมเชิงวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงได้นั้นเป็นเรื่องการยอมรับ “ความไม่รู้” และการใคร่ครวญกับคำถามต่างๆเพื่อให้แน่ใจว่าเรากำลังถามคำถามที่ถูกต้อง และตระหนักถึงความสัมพันธ์ของเรากับวิธีที่เราทุกคนนำพาโลกไปข้างหน้าด้วยการกระทำของเราและด้วยการดำรงอยู่ของเรา วัฒนธรรมเชิงปฏิรูปฟื้นฟูจะเกิดขึ้นได้จากการค้นพบและการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ที่สัมพันธ์กับตัวตน ชุมชน และสิ่งมีชีวิตทั้งปวง แก่นของการสร้างวัฒนธรรมเชิงปฏิรูปฟื้นฟูก็คือการเชื้อเชิญให้ใคร่ครวญคำถามร่วมกันนั่นเอง
[คัดมาจากบทย่อยจากหนังสือเรื่อง Designing Regenerative Cultures ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Triarchy Press, 2016]