กองทุนประชาสังคม ร่วมสร้างสันติภาพชายแดนใต้
พลเดช ปิ่นประทีป
เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
เขียนให้โพสต์ทูเดย์ / พุธที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๐
ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ เป็นต้นมา ธนาคารโลก กระทรวงการคลัง และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา มีความร่วมมือทำงานกันในรูปแบบไตรภาคี มุ่งสร้างสรรค์แนวทางและรูปแบบการสนับสนุนบทบาทของชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาชายแดนใต้
บัดนี้การดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา ๘ ปี ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว พร้อมได้สร้างองค์ความรู้และประสบการณ์ที่มีคุณค่าไว้มากมาย ผมขออนุญาตนำบางส่วนบางตอนที่เกี่ยวกับแผนงานกองทุนประชาสังคมเพื่อความร่วมมือเสริมสร้างสันติภาพมารายงานต่อสาธารณะโดยผ่านบทความนี้
กองทุนประชาสังคมเพื่อความร่วมมือเสริมสร้างสันติภาพ (Peace-building Partnership Facilities : PPF) เป็นการออกแบบแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความเข้มแข็ง สามารถเป็นพลังอำนาจที่สาม (Third Sector) และร่วมส่วนในกระบวนการสันติภาพ
กองทุนPPF มีวัตถุประสงค์สามประการ
๑) เสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม
๒)ส่งเสริมบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคมในกระบวนการสร้างสันติภาพ
๓)สร้างพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ ระหว่างรัฐกับประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่น ที่จะนำไปสู่ความเชื่อมั่นไว้วางใจระหว่างกันและเกิดสันติสุข สันติธรรมและสันติภาพขึ้นในพื้นที่
กองทุน PPF มีแนวทางหลัก ที่เป็นกรอบการสนับสนุนภาคประชาสังคมใน ๓ ด้าน คือ ๑) เพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการองค์กร การจัดการเชิงเครือข่าย การขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม การสานเสวนาเชิงสร้างสรรค์(Dialogue) และการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายต่อสังคม รัฐและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ๒) สนับสนุนกิจกรรม-โครงการที่มุ่งลดเงื่อนไขและปัจจัยที่เป็นสาเหตุของความขัดแย้ง ๓) สนับสนุนกิจกรรม-โครงการที่ลดผลกระทบจากความรุนแรงและช่วยเหลือเยียวยาทางจิตใจต่อกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์
ผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ๘ ปี PPFได้ให้การสนับสนุนทุนดำเนินงานแก่ภาคประชาสังคมรวม ๔๗ โครงการ กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ โดยตรง ๒๘ องค์กร ๔ เครือข่าย และผู้เกี่ยวข้องอีก ๑๒๐ องค์กร
มีข้อค้นพบและบทเรียนรู้จากการดำเนินงาน ดังนี้
- PPF เป็นกระบวนสนับสนุนทุนโดยกลไกนอกภาครัฐ ในเนื้อแท้จึงเป็นกลไกของสังคม โดยสังคมและเพื่อสังคม ขับเคลื่อนภารกิจโดยผ่านกระบวนการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม จึงสามารถลดประเด็นปัญหาความหวาดระแวงจากกลุ่มต่างๆที่อยู่ในขั้วความขัดแย้งที่กำลังต่อสู้กัน
- PPF ช่วยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และปรับตัวระหว่างการทำงาน ช่วยทำให้เห็นช่องว่างของการทำงานเสริมสร้างสันติภาพทั้งในส่วนของภาครัฐ ประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่น นำไปสู่การออกแบบการทำงานที่สามารถเติมเต็มช่องว่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การดูแลให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจกับกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบที่รัฐไม่สามารถเข้าถึง การสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องสันติภาพในระดับฐานราก และแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาสังคม (State and Civic Engagement)
- PPF ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาสังคม โดยทำให้เกิดกลไกสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ที่มีสถานภาพ เป็นพื้นที่กลาง และมีบทบาทเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ
- PPF ช่วยพัฒนานวัตกรรมทางสังคมสำหรับการเสริมสร้างสันติภาพในหลายรูปแบบ ทั้งในเชิงความรู้ เครื่องมือ ทักษะ และกระบวนการทำงาน อาทิ หลักสูตรการเรียนรู้กระบวนการสร้างสันติภาพในระดับฐานรากสำหรับศูนย์อบรมจริยธรรมเด็กเล็กตาดีกา หลักสูตร “กล้าทำดี ลดการรังแก” สำหรับกลุ่มครูในโรงเรียนของรัฐ, หลักสูตรการเรียนรู้เรื่องกระบวนการสันติภาพในชุมชน หลักสูตรการสื่อสารอย่างศานติในครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ คู่มือและหลักสูตรการเยียวยาด้านจิตใจสำหรับคนทำงานภาคประชาสังคมและอาสาสมัครดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ หลักสูตรการเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกซ้อมทรมาน รวมทั้งการพัฒนาตัวอักษรยาวีที่สามารถใช้งานได้ในระบบคอมพิวเตอร์ทั่วไปเป็นรูปธรรมของการทำให้คุณค่าอัตลักษณ์ท้องถิ่นสามารถปรับตัวและดำรงอยู่อย่างมีความหมายในปัจจุบัน
- PPF สามารถเป็นสะพานเชื่อมให้องค์กรภาคประชาสังคมเข้าถึงและให้การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่รัฐเข้าไม่ไปไม่ได้ ซึ่งมีส่วนช่วยลดความตึงเครียดและความคับข้องใจ และลดเงื่อนไขของความขัดแย้งและความรุนแรงในอนาคต เช่น การให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนที่รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของรัฐ
ข้อเสนอแนะนโยบายความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาสังคม เสริมสร้างกระบวนการสันติภาพ
- สังคมควรสนับสนุนบทบาทองค์กรภาคประชาสังคมเป็นตัวกลาง-สะพานเชื่อม ยกสถานะเป็นภาคีร่วมพัฒนาประเทศสู่เป้าหมาย SDG และความยั่งยืน ดึงทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพ โดยได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากประชาชนในพื้นที่
- รัฐควรสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกลไกในลักษณะกองทุน สนับสนุนการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมอย่างจริงจัง กลไกเช่นนี้สามารถศึกษาบทเรียนรู้จากธนาคารโลกผู้เคยสนับสนุนกองทุน PPF ดังที่กล่าวข้างต้น หรือ กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF) ที่ธนาคารออมสินเคยดูแลเมื่อครั้งวิกฤติเศรษฐกิจ ปี ๒๕๔๐ หรือบทเรียนรู้จากมูลนิธิกองทุนชุมชนเพื่อไอร์แลนด์เหนือ (CFNI) ด้วยก็ได้ ตัวอย่างของกองทุนเหล่านี้มิใช่บริหารแบบระบบราชการ แต่เป็นการบริหารจัดการโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มีความเป็นอิสระ สามารถขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพได้อย่างมีทิศทาง เป็นระบบและต่อเนื่อง ทุกภาคส่วนร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์ รูปแบบการบริหารจัดการ ความโปร่งใส ระบบฐานข้อมูล และการติดตามประเมินผล
- รัฐและประชาสังคมควรพัฒนากลไกร่วมหนุนเสริมบทบาทของประชาสังคมเพื่อการทำงานดูแลช่วยเหลือช่วยเหลือด้านจิตใจของกลุ่มเปราะบางให้มีมาตรฐานและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รัฐไม่สามารถเข้าถึง
- รัฐและประชาสังคมควรร่วมมือกันจัดตั้งสถาบันที่ทำหน้าที่พัฒนาองค์ความรู้และให้การฝึกอบรมการดูแลสุขภาพจิตของผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบแก่ภาคประชาสังคม รวมทั้งหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง
- รัฐควรจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยความยุติธรรม ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเพื่อเป็นกลไกในการรับเรื่องร้องเรียน (Grievance Mechanism) และแสวงหาข้อเท็จจริง (Fact Finding) ในกรณีที่สังคมเกิดข้อสงสัยต่อการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ
- รัฐควรตระหนักว่า จะต้องปฏิบัติภายใต้กรอบของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด เพื่อขจัดเงื่อนไขที่จะเป็นปัจจัยสร้างความรุนแรงและเสริมสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจให้กับประชาชนในพื้นที่.