(ตอนที่ 3) โครงการพัฒนาอาหารปลอดภัยต่อสุขภาพด้วยระบบอินทรีย์ นครปฐม (สามพรานโมเดล)

พื้นที่อำเภอสามพรานเป็นพื้นที่เพาะปลูกและจำหน่ายผลไม้ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ และยังมี “สวนสามพราน” เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ การเกษตรกรรมผลผลิตมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ แต่จากสื่อโฆษณาทำให้เกษตรกรต้องการเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต
ให้ได้มากๆ ทำให้เกิดมีการใช้สารเคมีในระบบการผลิตกันอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้ทั้งต้นทุนการผลิตก็สูงตาม จึงเกิดปัญหาตามมา ทั้งรายได้ของเกษตรกรที่ลดลงจากกลไกราคาตลาด เกษตรกรเกิดหนี้สิน มีปัญหาด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เปลี่ยนแปลงเสื่อมโทรมลงไป

สืบจากกระแสอาหารปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ ทำให้ผู้บริโภคตื่นตัว มีความต้องการอาหารที่ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการทำเกษตรอินทรีย์เป็นการนำภูมิปัญญาพื้นบ้านมาใช้ประโยชน์ ผลผลิตเกษตรอินทรีย์จึงมีความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง มีความปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน และน้ำ  เนื่องจากการทำเกษตรที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีจำกัดวัชพืชและโรคแมลง หรือฮอร์โมน และสารเคมีทุกชนิด  โดยจะใช้อินทรีย์วัตถุ อย่างปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยหมัก รวมถึงปุ๋ยคอกบำรุงให้พืชแข็งแรง มีความต้านทานต่อโรคพืชและแมลง

โรงแรมสามพรานรีเวอร์ไซด์ เล็งเห็นจุดขายช่องทางธุรกิจ การท่องเที่ยว  ได้มุ่งหน้าเป็นองค์กรธุรกิจท่องเที่ยวต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย ในระดับสากลมาตั้งแต่ปี 2549 โดยมีการปรับสวนผัก ผลไม้ บริเวณที่ดินฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำให้เป็นสวนพืชผักและสมุนไพรอินทรีย์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวข้ามฝางไปเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์ และสามารถเก็บผักต่างๆ มาปรุงเป็นอาหารทานกันสดๆ ทำให้สถานที่แห่งนี้ได้รับการรับรองระดับสากล จนได้นับ Green Globe Certificate (Earth Check) ในปี 2552
ต่อมาสามพรานริเวอร์ไซด์ มีแนวความคิดที่อยากได้ผัก ผลไม้ ที่เป็นอินทรีย์ไว้บริการลูกค้าที่มาใช้บริการเพื่อการต่อยอดทางธุรกิจ จนในปี 2553 จึงเริ่มด้วยการปลูกผักอินทรีย์ในพื้นที่ 30 ไร่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำของสามพรานรีเวอร์ไซต์ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับห้องอาหารของโรงแรม แต่ผลผลิตที่ได้ยังไม่เพียงพอ ต่อมามีเกษตรกรบางส่วนในพื้นที่ใกล้เคียงต้องการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเคมีมาสู่การทำเกษตรระบบอินทรีย์ แต่ยังขาดความรู้ และช่องทางการตลาดจำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ จึงได้เข้ามาร่วมกับสามพรานริเวอร์ไซด์ จนเกิดเป็นกลุ่มธุรกิจเชิงคุณค่าสามพราน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ซึ่งในช่วงแรกของการดำเนินโครงการ เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่อยากเปลี่ยนมาทำเกษตรระบบอินทรีย์ เพราะยังมีความคิดว่าทำยากและให้ผลผลิตน้อย และไม่มีตลาดรองรับ ทางสวนสามพรานจึงเริ่มทำตลาดทางเลือกให้กับเกษตรกร “ตลาดสุขใจ” พื้นที่กว่า 2 ไร่ ริมถนนเพชรเกษตรหน้าสวนสามพราน ให้เกษตรกรนำผลผลิตอินทรีย์ และผักปลอดสารพิษมาวางขาย จำหน่ายโดยตรงแก่ผู้ซื้อ โดยทางสวนสามพรานจัดหาผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือมาสุ่มตรวจคุณภาพพืชผักผลไม้ของเกษตรกรทุกสัปดาห์ หากว่ามีสารเคมีตกค้างหรือไม่ ทำให้ผู้บริโภคที่มาซื้อผลผลิตอินทรีย์มีความมั่นใจ นอกจากนี้ทางโรงแรมสามพรานริเวอร์ไซต์ยังรับซื้อผลผลิตอินทรีย์ โดยมีการรับซื้อในราคาประกัน

การสร้างตลาดทางเลือกให้เกษตรกรเกิดความเปลี่ยนแปลงสามารถสร้างความมั่นคงทางตลาดและช่องทางการจำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ส่งผลให้การขยายผลการทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น สวนสามพรานเห็นว่าหากจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จทางสวนสามพรานต้องทำเป็นตัวอย่าง  จึงจะสามารถทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือเกษตรกรผู้ที่ต้องการปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ได้ ภายในสวนสามพรานจึงมีการนำระบบเกษตรอินทรีย์มาใช้ทั้งหมด รวมถึงมีการพัฒนาพื้นที่ของโรงแรมที่อยู่ติดริมแม่น้ำให้เป็นสวนเกษตรอินทรีย์ มีการปลูกผัก ปลุกข้าว และทางโรงแรมเองก็มีการพัฒนาเมนูอาหารอินทรีย์มาบริการลูกค้า และมีจุดจำหน่ายผลผลิตอินทรีย์ขึ้นในโรงแรม จนในปี 2556 สวนสามพรานและเกษตรกรนำร่องหลายคน ได้รับการรับรองมาตรฐานอินทรีย์สากล (IFOAM)
โดยปัจจุบันการดำเนินงานของสวนสามพรานภายใต้มูลนิธิสังคมสุขใจ ขับเคลื่อนพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอินทรีย์ด้วย “สามพรานโมเดล” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากการที่เกษตรกรส่วนใหญ่ขายผลผลิตผ่านพ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นผู้กำหนดราคา ขายผลผลิตสินค้าไม่ได้ ในขณะเดียวกันเกษตรกรไม่สามรถควบคุมต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามราคาสารเคมี ทำให้เกิดมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น มีปัญหาด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง
ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ติดอยู่ในวงจรแบบนี้ ดังนั้นการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้วิถีธรรมชาติในการปลูกผักผลไม้แทนการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สามพรานโมเดลจึงเป็นกลไกการขับเคลื่อนระบบการผลิตเกษตรกรรมที่ปลอดภัย ให้เกษตรกรในจังหวัดนครปฐม ตระหนักถึงความสำคัญพัฒนาระบบเกษตรอินทรีย์ โดยการปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการทำเกษตรตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นตัวเกษตรกร เรื่องดิน เรื่องน้ำ การเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมถึงระบบการตลาด โดยทำแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เพื่อหวังให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรเคมีมาสู่วิถีการทำเกษตรอินทรีย์ จากความพยายามและความร่วมมือของหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เกษตรกรเกิดความเปลี่ยนแปลงมีความตระหนักถึงพิษภัยของการทำเกษตรเคมี  เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนหันมาทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น และขยายเครือข่ายกว้างออกไป
 

การเข้ามาเป็นสมาชิกเกษตรอินทรีย์สามพรานโมเดล

ปัจจุบันโครงการนี้มีเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ทั้งหมด 18 กลุ่ม จำนวน 130 ราย ทั้งอยู่ในจังหวัดปฐมและจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์และกาญจนบุรี โครงการสามพรานโมเดลให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของโครงการ ลงพื้นที่ออกเยี่ยมแปลงพร้อมให้คำปรึกษาแนะนำแก่เกษตรกรในระหว่างการปรับเปลี่ยนการผลิตอย่างสม่ำเสมอ มีการจัดเวทีในระดับพื้นที่แลกเปลี่ยนกับเกษตรกร

นอกจากนี้ยังมีการจัดทำโครงการย่อยสนับสนุนเพิ่มศักยภาพเกษตรกร คือ การให้ความรู้อบรมการทำเกษตรอินทรีย์ การทำปุ๋ยหมักและการทำน้ำหมักชีวภาพ การลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนการรวมกลุ่มและเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ให้เกิดการช่วยเหลือกัน ส่งเสริมการปลูกพืชผัก ผลไม้อินทรีย์ เกษตรกรยังมีส่วนร่วมในการวางแผนผลิตการจัดการหลังเก็บเกี่ยว การขนส่ง การแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิตอินทรีย์ เช่น น้ำฝรั่ง  และการตลาดขายตรงจากเกษตรผู้ผลิตสู่ผู้ซื้อผู้บริโภค การรวบรวมผลผลิตเกษตรอินทรีย์ไปส่งขาย ถือได้ว่าเป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ พร้อมกับให้เกษตรกรบันทึกผลการทำเกษตรอินทรีย์ในแปลง เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาแปลงปลูกให้ได้มาตรฐาน อีกทั้งเกษตรกรทำอย่างจริงจังเป็นระบบ ทำให้ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่ได้มีคุณภาพมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และยังมีเกษตรกรอีกจำนวน 60 รายได้รับการรับรองมาตรฐานอินทรีย์สากล International Federation of  Organic Agriculture Movement (IFOAM ) จากสำนักงานมาตรฐานอินทรีย์ (มกท.)

ซึ่งแต่ละกลุ่มมีระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม Participatory Guarantee System (PGS) ของตนเอง สำหรับสมาชิกและพร้อมที่จะพัฒนาไปสู่มาตรฐานอินทรีย์สากล โดยมีมาตรฐานที่เรียกว่า 3 เขียว ซึ่งเป็นขั้นตอนการเปลี่ยนเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ คือ

  • สีขาว เกษตรที่มีความตั้งใจในการเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ แต่ยังมีการใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเคมีอยู่บ้าง มีโอกาสในการเข้าร่วมประชุมชนและพัฒนาศักยภาพตนเอง แต่ยังไม่มีโอกาสนำผลผลิตมาจัดจำหน่าย
  • สีเขียวอ่อน เกษตรกรที่หยุดการใช้สารเคมีอย่างสิ้นเชิง ผ่านการตรวจโดยเจ้าหน้าที่ของสวนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถ้าผลการตรวจผ่านจะได้โอกาสเข้าโครงการที่สามพรานโมเดล จะทำการตลาดให้
  • สีเขียวกลาง เกษตรกรที่ผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานมาตรฐานอินทรีย์
  • สีเขียวแก่ เกษตรกรที่ผ่านการตรวจสอบจากทุกหน่วยงาน

นอกจากนี้ทางโครงการยังจัดให้มีศูนย์พัฒนาเกษตรอินทรีย์สุขใจ เป็นที่ให้ความรู้เกษตรอินทรีย์ทั้งระบบ แก่ สมาชิกเกษตรกร โรงเรียน หน่วยงาน และผู้สนใจทั่วไป พร้อมทั้งออกไปให้ความรู้เกษตรอินทร์และอาหารปลอดภัยกับโรงเรียนในพื้นที่อีกด้วย
 

การตลาดและการเชื่อมโยงผู้บริโภค

โครงการสามพรานโมเดล เป็นการช่องทางการตลาดใหม่ๆ ให้กับเกษตรกร เป็นการเชื่อมระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคผ่านห่วงโซอาหารคุณค่าเกษตรอินทรีย์ ช่องทางการตลาดในการจำหน่ายผลผลิตสินค้าจะต้องเป็นไปตามจริง หมายความว่า จะไม่มีการช่วยซื้อ ช่วยอุดหนุด แต่การจัดจำหน่ายจะเป็นไปตามกลไกทางตลาดอย่างแท้จริง เป็น “ Free market mechanism” บนพื้นฐานการค้าที่เป็นธรรม ทางโครงการเป็นคนกลางในการเชื่อมระหว่าง กลุ่มโรงแรม มหาวิทยาลัย หน่วยงานเอกชน เพื่อเพิ่มโอกาสในการจัดจำหน่ายสินค้าหรือพัฒนาระบบที่ช่วยเกื้อหนุนการระบายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคได้ดีมากขึ้น ช่องทางการตลาดเป็นแบบการซื้อขายตรงมีหลายรูปแบบ ได้แก่

  • ตลาดสุขใจ เป็นตลาดนัดอินทรีย์แห่งแรกเปิดเมื่อปี 2553 เป็นความร่วมมือกับสวนสามพราน และกรมการค้าภายใน ตั้งอยู่บริเวณหน้าสวนสามพราน ริมถนนเพชรเกษตร เปิดเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 00 – 17.00 น. จำหน่ายพืชผักผลไม้อินทรีย์ ทางตลาดจัดให้มีการสุ่มตรวจพืชผักผลไม้เพื่อหาสารเคมีตกค้างทุกอาทิตย์ เกษตรกรที่จะนำผลผลิตอินทรีย์มาขายตรงผ่านมาตรฐานของตลาดมีอยู่ 3 ระดับ คือ เขียวอ่อนคือยังแค่ปลอดภัยอยู่ เขียวกลางคือสินค้าส่วนใหญ่กำลังเข้าสู่ระบบ และเขียวเข้มคือสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐานอย่างเป็นทางการแล้ว ในปัจจุบันตลาดสุขใจมีร้านค้ามากกว่า 60 ร้าน แต่ละร้านมีเกษตรกร 5 – 6 ราย ที่นำผลผลิตประเภทเดียวกันมาวางจำหน่าย มีลูกค้าผู้บริโภคในท้องถิ่น 30% และเป็นคนกรุงเทพและนักท่องเที่ยว 70 % มีรายได้ของตลาดต่อเดือนมากกว่า 2 ล้านบาท
  • ตลาดสุขใจสัญจร เป็นการนำเกษตรกรและผลผลิตสินค้าอินทรีย์ไปจำหน่ายในอาคารสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เช่น อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ และห้างเซ็นทรัล โดยมีโครงการ From Farm to Firm ทำงานร่วมกับคณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (กำแพงแสน)
  • โมเดิร์นเทรด เป็นการนำผลผลิตอินทรีย์ของสมาชิกไปจำหน่าย คือ สวนสามพราน และท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต (TOP)
  • จำหน่ายผลผลิตสินค้าอินทรีย์ตรงจากเกษตรกร( 60 ราย) ให้แก่กลุ่มธุรกิจโรงแรมในกรุงเทพ และศูนย์ประชุม คือ พืชผักผลไม้ และข้าวอินทรีย์ ขายได้ 300 ตันต่อปี เพื่อเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรกลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์กับธุรกิจโรงแรม ผ่านโครงการ Farm to Functions ร่วมกับสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ มีโรงแรมทั้งหมดที่รับซื้อผลผลิตข้าวอินทรีย์ จำนวน 9 แห่งรวมทั้งโรงแรมสามพรานรีเวอร์ไซด์ และศูนย์ประชุม จำนวน 3 แห่ง เป็นการซื้อขายล่วงหน้า
  • การจำหน่ายผลผลิตสินค้าผ่านเว็บไซต์ Sookjai Organic เป็นการซื้อขายตรงจากเกษตรกรและจัดส่งสินค้าไปให้ผู้บริโภค
  • จัดการท่องเที่ยวในสวนเกษตรอินทรีย์ “คนกิน คนปลูก” โดยร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและเอกชนเป็นการเชื่อมโยงผู้บริโภคและผู้สนใน เกษตรอินทรีย์อาหารปลอดภัยลงไปเที่ยวชมในสวนเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ ได้เรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์และระบบเกษตรอินทรีย์ และยังได้ซื้อผลผลิตสินค้าอินทรีย์จากสวนเกษตรกรโดย
  • การจัดงานประจำปี จัดงานมหกรรม “วันสังคมสุขใจ” งานนี้จัดขึ้นเพื่อปลุกระดมเครือข่ายอินทรีย์
  • และเกษตรปลอดภัยทั่วประเทศ เป็นห้องเรียนธรรมชาติ ที่ให้ความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ทุกมิติ มีการจำหน่ายผลผลิตสินค้าอินทรีย์และอาหารปลอดภัยโดยตรงจากเกษตร และสร้างแรงบันดาลใจการใช้วิถีชีวิตอินทรีย์ให้กับผู้เข้าชมงาน การจัดงานที่ผ่านมามีผู้เข้าเยี่ยมชมงานจำนวน 12,000 กว่าคน


 

สิ่งที่ภาคภูมิใจสามพรานโมเดล

  • การทำเกษตรอินทรีย์ตรงกับความต้องการของเกษตรกร มีความสุข ทั้งด้านการผลิต ด้านสุขภาพ และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
  • สมาชิกเกษตรอินทรีย์เดินตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีความยั่งยืนในการผลิต สร้างรายได้จนสามารถลดหนี้สิน เป็นต้นแบบตัวอย่างให้แก่เกษตรกรนอื่น ยังมีการรวมกลุ่มกันเรียนรู้และต่อรองราคาผลผลิตกับพ่อค้าคนกลาง มีตลาดเป็นของตนเอง
  • สามพรานโมเดลเป็นต้นแบบเกษตรอินทรีย์ครบวงจร ทั้งการสนับสนุนผู้ผลิตเกษตรกร การตลาดเชื่อมโยงผู้บริโภค และการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิตอินทรีย์
  • เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานของเกษตรกร หน่วยงานต่างๆ และต่างประเทศ
  • การนำเอาสามพรานโมเดลไปผลักดันเรื่องวิถีเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดนครปฐม


 

ความต้องการยกระดับพัฒนาต่อ

  • ขยายแนวคิดและส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรที่มีความต้องการปรับเปลี่ยนจากเกษตรเคมีมาสู่เกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง
  • สร้างพื้นที่ต้นแบบชุมชนเกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืน
  • สร้างพัฒนาต้นแบบเกษตรกรอินทรีย์ให้อยู่ได้อย่างมีความมั่นคงในวิถีอินทรีย์
  • ส่งเสริมยกระดับเกษตรกรอินทรีย์ การจัดการแรงงาน การปลูกพืชผักผสมผสาน การจัดการผลิต การจัดการแปลงให้ได้รับรองมาตรฐานอินทรีย์ PGS และไปสู่ได้รับการรับรองมาตรฐานอินทรีย์สากล (IFOAM)
  • การพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรให้ถึงมือเกษตรกร และให้เกษตรกรเรียนรู้ด้านธุรกิจ
  • การพัฒนาและการสืบทอดให้แก่คนรุ่นใหม่ เกษตรกรรุ่นใหม่ ให้เข้ามาสู่การผลิตระบบเกษตรอินทรีย์และวิถีอินทรีย์
  • ให้ความรู้เชื่อมโยงผู้บริโภคและผู้สนใจ ให้เข้าถึงผลผลิตเกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัย จากช่องทางการตลาดการซื้อขายตรง และมีส่วนร่วมกับเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์


 
“สามพรานโมเดล” การเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบเดิมสู่การเป็นเกษตรอินทรีย์ สนับสนุนเกษตรอินทรีย์พัฒนารายได้ สร้างความยั่งยืนให้กลุ่มและเครือข่ายเกษตรกร ยังได้ส่งต่อผลผลิตอินทรีย์และอาหารปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง เกิดจากการประสานร่วมมือกับ หน่วยงานของภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคธุรกิจเอกชน นอกจากนี้ยังมีการถอดบนเรียนเป็นชุดความรู้ในการขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งการดำเนินงานถือเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนแบบประชารัฐบนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


จากบทสัมภาษณ์ คณะทำงาน มูลนิธิสังคมสุขใจ จ.นครปฐม วันที่ 4 พ.ย. 2559
ขอบคุณข้อมูลจาก สวนสามพราน นครปฐม


(ตอนที่ 1) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา

(ตอนที่ 2) เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ

(ตอนที่ 3) โครงการพัฒนาอาหารปลอดภัยต่อสุขภาพด้วยระบบอินทรีย์ นครปฐม (สามพรานโมเดล)