5. ยโสธรโมเดล
- ยโสธรโมเดล
การสร้างชุมชนพึ่งตนเองที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ที่มาของ “ยโสธรโมเดล”
“ยโสธรโมเดล” เป็นชื่อที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาลปัจจุบันเป็นผู้ตั้งชื่อ หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว “ยโสธรโมเดล” อันหมายถึงเครือข่ายเกษตรกรที่ทำการผลิตเกษตรอินทรีย์เพื่อนิเวศ สุขภาพ สังคม และการค้าที่เป็นธรรม โดยเชื่อมโยงไปสู่ผู้บริโภคนั้นเกิดขึ้นจากริเริ่มของผู้นำชุมชน ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรพัฒนาเอกชนมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี นับได้ว่าเป็นชุมชนเกษตรอินทรีย์ในยุคแรกๆ ของภาคอีสาน ต่อเนื่องมาจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่สุรินทร์
จากคำบอกเล่าของพ่อบุญส่ง มาดขาว ผู้นำเกษตรกรแห่งบ้านโนนยาง อำเภอกุดชุม ยโสธร และคุณอุบล อยู่หว้า นักพัฒนาเอกชนในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ได้เล่าว่า กลุ่มเกษตรอินทรีย์ในยโสธรนั้น มีจุดเริ่มมาจากบ้านนาโส่ ตำบลนาโส่ อำเภอกุดชุม
ชุมชนบ้านนาโส่มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมร้านค้าชุมชนมาตั้งแต่ปี 2520 เพื่อแก้ปัญหาขายข้าวไม่ได้ราคา ถูกพ่อค้าคนกลางเอารัดเอาเปรียบ ในห้วงเวลานั้นเอง พระครูสุภาจารวัฒน์ หรือ หลวงพ่อสีหา พระนักพัฒนาของชาวบ้าน โดยได้ร่วมกับชาวบ้าน ทำกิจกรรมที่สำคัญ ซึ่งนะไปสู่การเชื่อมโยง เพื่อจัดตั้งโรงสีข้าวในเวลาต่อมา
ในปี พ.ศ.2526 หลวงพ่อสีหาได้ร่วมกับชาวบ้าน และโรงพยาบาลอำเภอกุดชุม ริเริ่มแสวงหา และฟื้นฟูภูมิปัญญา ในการรักษาตัวเองของชาวบ้าน โดยจัดตั้งขึ้นเป็น “ชมรมหมอยาพื้นบ้าน” ซึ่งทำให้ได้รับการสนับสนุน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับ คุณธวัชชัย โตสิตระกูล นักพัฒนาเอกชน จาก “โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง” ได้มาสนับสนุนชุมชนให้ทำกิจกรรรมเรื่องสมุนไพร ไปสู่การพัฒนาไปสู่การทำเกษตรผมผสานที่ไม่ใช้สารเคมี ตั้งกองทุนเพื่อพันธุ์ไม้ และพัฒนาแหล่งน้ำ การอนุรักษ์ป่าชุมชน ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ และทำกิจกรรมรวมกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากขึ้น[1]
ต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2533 ทางโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองได้เชิญ คุณมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ชาวนาญี่ปุ่น ซึ่งเพิ่งจะได้รับรางวัลแม็กไซไซ มาเยี่ยมชาวนาไทย และได้เดินทางมาพูดคุย เกี่ยวกับการทำนาธรรมชาติ กับสมาชิกชมรมหมอยาพื้นบ้าน ทำให้ชาวนาบ้านนาโส่ นำโดยพ่อมั่น สามสีเกิดแนวคิดที่จะทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง และได้ก่อตั้งโรงสีชุมชน ชมรมรักษ์ธรรมชาติขึ้น ในปี 2534 โดยมีสมาชิกเริ่มต้น 1,010 คน ต่อมาก็ตั้งกลุ่มเกษตรกรทำนานาโส่ เพื่อผลิตข้าวอินทรีย์ขายในประเทศ ซึ่งหลังจากปรับเปลี่ยนระบบมาทำนาอินทรีย์ ผลผลิตข้าวก็ดีขึ้นและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และเพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าไปสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น ทางกลุ่มจึงได้นำระบบมาตรฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์เข้ามาควบคุมการผลิต และขอรับรองมาตรฐานทั้งในส่วนของ มกอช. และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย (มกท.) ซึ่งกลุ่มได้มาตรฐานข้าวอินทรีย์มาตั้งแต่ปี 2534 และมีการตรวจสอบรับรองต่อเนื่องทุกปี[2] บ้านนาโส่จึงเป็นจุดเริ่มต้น
ด้วยความใส่ใจในเรื่องสุขภาพ และการต้องการเป็นอิสระจากการค้าที่ไม่เป็นธรรม ชาวนาหลายรายได้หันมาสนใจทำเกษตรอินทรีย์ตามแนวทางของชุมชนบ้านนาโส่ ประกอบกับทางกลุ่มได้มีการรับซื้อข้าวอินทรีย์ในราคาสูงกว่าท้องตลาด โดยประกันราคาข้าวสูงถึงกิโลกรัมละสิบบาท ทำให้สมาชิกเกษตรอินทรีย์ขยายออกไป จนถึงปัจจุบันนี้ชมรมรักษ์ธรรมชาติบ้านนาโส่ มีสมาชิกทำเกษตรอินทรีย์สูงถึง 300 คน ผลิตข้าวอินทรีย์ได้ปีละ 1,000-1,500 ตัน
การส่งออกข้าวอินทรีย์ไปต่างประเทศ ที่ดำเนินการโดยสหกรณ์กรีนเนทเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ตลาดข้าวอินทรีย์ขยายตัว และเป็นแรงหนุนสำคัญที่ทำให้เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกอีสานขยายตัวด้วย
การขยายเครือข่ายเกษตรอินทรีย์
ปี 2542 บ้านน้ำอ้อม ตำบลน้ำอ้อม อำเภอค้อวัง ก็ได้จัดตั้งเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนน้ำอ้อม ผลิตข้าวอินทรีย์แปรรูปครบวงจรส่งขายกลุ่มประเทศยุโรป กลุ่มน้ำอ้อมเกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้ตามโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ภายใต้ภาคีความร่วมมือ 3 ฝ่าย ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มูลนิธิหมู่บ้าน และองค์การพัฒนาสหประชาชาติ (UNDP) จนปัจจุบันมีสมาชิกราว 1,000 ครอบครัว นับเป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในยโสธร ผลิตข้าวอินทรีย์ได้ 1,800 ตันต่อปี
ถัดมาในปี 2545 ก็ได้เกิดกลุ่มใหม่ขึ้นคือ กลุ่มชาวนาข้าวคุณธรรม วัดสวนธรรม ที่มีเครือข่ายชาวนาเกษตรอินทรีย์จังหวัดยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร อุบลราชธานี และศรีสะเกษ กล่าวโดยเฉพาะในจังหวัดยโสธร ได้มีแกนนำบางคนจากบ้านนาโส่มาร่วมจัดตั้งกลุ่มชาวนาข้าวคุณธรรม โดยรวมสมาชิกได้ 150 คน
ถัดมาในช่วงเวลาเดียวกัน ได้เกิดกลุ่มเกษตรกรทำนาบากเรือ อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ซึ่งมีสมาชิก 100 กว่าครัวเรือน ซึ่งที่จริงได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2519 แต่ได้เริ่มดำเนินการทำนาอินทรีย์อย่างจริงจังในปี 2545 จากการได้รับแรงบันดาลใจจากบ้านนาโส่ และการส่งเสริมของสหกรณ์กรีนเนท ปัจจุบันนี้กลุ่มเกษตรกรทำนาบากเรือก็ได้ผลิตข้าวอินทรีย์ได้ราว 700-1,000 ตันต่อปี
สหกรณ์เกษตรอินทรีย์เลิงนกทาและไทยเจริญ จำกัด ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาต่อมาในปี 2547 มีสมาชิกทำเกษตรอินทรีย์ราว 100-120 คน ผลิตข้าวอินทรีย์ส่งออก โดยมีสหกรณ์กรีนเนทเป็นผู้สนับสนุน
กลุ่มเกษตรธรรมชาติหนองยอ บ้านกุดหิน ตำบลกำแมด ซึ่งแยกตัวออกมาจากบ้านนาโส่ ในปี 2548 ก็ได้กลายเป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์อีกกลุ่มหนึ่ง สามารถรวบรวมสมาชิกได้ 120-130 คน กลุ่มนี้ดำเนินกิจกรรมตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติ ที่ผลิตข้าวอินทรีย์ส่งออกเช่นกัน
ล่วงมาถึงปี 2551 วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าวอินทรีย์บ้านโนนยาง ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม ก็ได้เกิดขึ้นโดยการนำของพ่อบุญส่ง มาดขาว ที่ต้องการเชื่อมโยงให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตหันมาให้ความสำคัญเรื่องการปลูกและการกินข้าวอินทรีย์ เพราะกว่า 20 ปี ที่กลุ่มได้ทำนาอินทรีย์ พบว่านอกจากต้นทุนที่ต่ำกว่าทำนาเคมีแล้ว การทำนาอินทรีย์ยังเป็นการช่วยรักษาสภาพแวดล้อมไม่ให้เสื่อมโทรม โดยเฉพาะดินที่เป็นหัวใจสำคัญในการเพาะปลูก รวมทั้งยังปลอดภัยและดีต่อสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภคอีกด้วย กลุ่มจึงต้องการส่งเสริมให้คนในชุมชนหันมาปลูกข้าวอินทรีย์ให้มากขึ้น นอกจากนี้กลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านโนนยางยังได้มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวทั้งที่เป็นข้าวหอมมะลิ และข้าวพื้นบ้าน จึงได้พันธุ์ข้าวคุณภาพดี สามารถขายพันธุ์ข้าวปลูกให้เกษตรกรได้อีกมาก ปัจจุบันกลุ่มบ้านโนนยางมีสมาชิก 130 คน ผลิตข้าวอินทรีย์ได้ 300-500 ตัน
ด้วยกระแสการตื่นตัวทั้งการผลิตและบริโภคข้าวอินทรีย์ ทำให้เอกชนนำโดยประธานหอการค้า จังหวัดยโสธร หันมาก่อตั้งสหกรณ์เกษตรอินทรีย์แทนรักขึ้นในปี 2557 โดยมีสมาชิกบางส่วนจากกลุ่มชาวนาข้าวคุณธรรมมาร่วม ปัจจุบันมีสมาชิก 40-50 ราย
ล่าสุดในปี 2558 ก็ได้ถือกำเนิดกลุ่มเกษตรอินทรีย์กลุ่มใหม่ที่ชื่อว่า กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านคำพรตา ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) กลุ่มดังกล่าวนี้แยกตัวออกมาจากสหกรณ์เกษตรอินทรีย์แทนรัก ปัจจุบันมีสมาชิก 40-50 ราย
กลุ่มเกษตรอินทรีย์ทั้ง 9 กลุ่มได้ขยายสมาชิกออกไปอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันมีสมาชิกรวมกันราว 2,100 คน มีพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์สูงถึง 40,000 ไร่ เป็นแหล่งผลิตข้าวอินทรีย์แหล่งใหญ่ของประเทศ โดยส่งออกไปต่างประเทศในกลุ่มประเทศยุโรป และขายในประเทศ และท้องถิ่น นอกจากข้าวแล้วยังมีพืชผักอินทรีย์ที่ผลิตขายตลาดสีเขียวที่มีไม่ต่ำกว่า 6-7 แห่งในยโสธรด้วย
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
ปัจจัยที่ทำให้กลุ่มเกษตรอินทรีย์เติบโตทั้งจังหวัดมีหลายด้าน เริ่มต้นตั้งแต่ปัญหาวิกฤติชาวนาทั้งด้านการถูกเอารัดเอาเปรียบ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการใช้สารเคมี ทำให้ชาวนาบางส่วนต้องการหาทางเลือกที่เป็นอิสระและยั่งยืน โดยมีผู้นำชุมชน และนักพัฒนาท้องถิ่น เช่น พระ ได้ริเริ่มขึ้น ดังนั้นปัจจัยด้านผู้นำชุมชนที่มีวิสัยทัศน์ มีความเข้มแข็ง และการสร้างกระบวนการเรียนรู้และจัดการภายในชุมชนในรูปแบบต่างๆ พร้อมกับการสร้างตลาดเกษตรอินทรีย์ เป็นปัจจัยพื้นฐานของชุมชนที่สำคัญ
องค์กรพัฒนาเอกชน อันได้แก่ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง สหกรณ์กรีนเนท เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกอีสาน มีบทบาทสำคัญยิ่งส่งเสริมทั้งด้านแนวคิด ความรู้ สนับสนุนปัจจัยการผลิต เทคโนโลยี เช่น โรงสีชุมชน พร้อมกับขับเคลื่อนทางนโยบาย และสังคม พร้อมทั้งยังบุกเบิกตลาดข้าวอินทรีย์ต่างประเทศและภายในประเทศ และยังประกันราคาข้าวอินทรีย์ให้สูงกว่าตลาด จนทำให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจที่จะพลิกฟื้นจากเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2546 เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนได้ร่วมกันจัดงานเกษตรอินทรีย์ระดับจังหวัด ทำให้เกษตรอินทรีย์กลายเป็นเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดที่เกิดจากการกำหนดของเกษตรกรไปโดยปริยาย ส่งผลให้หน่วยงานรัฐต่างๆ เช่น สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ธกส. สมัชชาสุขภาพจังหวัด ตลอดจนกลุ่มเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนเกษตรอินทรีย์อย่างแพร่หลาย
และในที่สุดเมื่อพลังการขับเคลื่อนของเกษตรกรและภาคประชาสังคมมีความสุกงอม รัฐบาลจึงได้รับเป็นนโยบาย กำหนดให้เป็น “ยโสธรโมเดล” ในเดือนมกราคม 2559 พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์วิถียโสธร หรือยโสธรโมเดล ด้านเกษตรอินทรีย์ครอบคลุมทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และสัตว์น้ำ พร้อมผลักดันให้จังหวัดยโสธรเป็นต้นแบบการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป จนถึงการตลาด ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนายกระดับการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติและตลาดโลก ซึ่งในปี 2560 คาดว่า จะสามารถพัฒนาพื้นที่จังหวัดยโสธรเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์เพิ่มเป็น 100,000 ไร่ และยังมีเป้าหมายขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปีด้วย
การดำเนินการงานใช้เวลา 3 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559-มกราคม 2562 เบื้องต้นจังหวัดยโสธรจะสำรวจข้อมูลรายชื่อกลุ่มเกษตรกรที่เข้าสู่ระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แล้ว และกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพในการพัฒนาเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จากนั้นจะร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ จัดทำแผนพัฒนากลุ่มเกษตรกรที่เหมาะสมกับศักยภาพและความต้องการของแต่ละกลุ่ม[3]
ทิศทางอนาคต
แม้รัฐบาล และราชการจะตื่นตัวกับ “ยโสธรโมเดล” แต่ในสายตาของผู้นำชุมชนอย่างพ่อบุญส่ง มาดขาว ไม่มั่นใจว่าราชการจะประสบความสำเร็จ หากไม่เอาเกษตรกรเป็นตัวตั้ง พ่อบุญส่งชี้ว่า ยโสธรโมเดลมาจากบทบาทของชาวบ้าน
ดังนั้นในขั้นต้นน้ำหรือในขั้นการผลิต ต้องให้เกษตรกรเป็นผู้ริเริ่มอย่างอิสระ ทั้งด้านระบบการผลิต ปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และอื่นๆ การรวมกลุ่ม การสร้างกระบวนการเรียนรู้ การกำหนดเป้าหมายการผลิต
ในขั้นกลางน้ำ เมื่อขยายสมาชิก ขยายผลผลิตได้เพิ่มมากขึ้น ราชการสามารถหนุนเสริมด้านเงินทุน โกดัง และปัจจัยการผลิตและจัดการต่างๆ
จนมาถึงขั้นปลายน้ำ รัฐควรมีบทบาทสำคัญในการหาช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกร โดยให้เกิดการจัดการตลาดร่วมกัน
จากข้อเสนอที่พ่อบุญส่งได้กล่าวไว้ ทำให้เห็นทิศทางว่า “ยโสธรโมเดล” จะเป็นจริงได้ ต้องเป็นโมเดลของเกษตรกรที่เชื่อมร้อยสังคมในระดับจังหวัด อยู่บนพื้นฐานเจตนารมณ์เริ่มแรกในการสร้างเสริมสิทธิเกษตรกร สร้างความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศ ระบบการผลิต เศรษฐกิจชุมชน สร้างความมั่นคงอาหาร และความปลอดภัยด้านอาหารทั้งแก่ผู้ผลิตและผู้บริโภค ภายใต้ระบบการค้าที่เป็นธรรม
หากการขับเคลื่อนเป็นไปตามเจตจำนงของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ดังกล่าว ก็น่าที่จะทำให้ “ยโสธรโมเดล” ไม่ใช่โมเดลของจังหวัดเท่านั้น แต่จะมีความสำคัญเป็นโมเดลประเทศสยามที่ยั่งยืนและเป็นธรรมอย่างแท้จริง
[1] สำนักที่ปรึกษา กรมอนามัย, โรงสีข้าวชมรมรักษ์ธรรมชาติ อ.กุดชุม จ.ยโสธร, รวมมิตรชุมชน ประชาคมท้องถิ่น ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาในระดับฐานราก, http://advisor.anamai.moph.go.th/main.php?filename=mitre01
[2] มูลนิธิสุขภาพไทย, 2557, กลุ่มเกษตรกรนาโส่ ผู้ทำคุณประโยชน์ด้านเศรษฐกิจการเกษตรดีเด่น, http://www.thaihof.org/main/article/detail/2557
[3]ไทยรัฐ,2559, หนุน ‘ยโสธร โมเดล’ ต้นแบบเกษตรอินทรีย์, ไทยรัฐออนไลน์ 29 มค.2559, http://www.thairath.co.th/content/570172