ว่าด้วยวิจัยท้องถิ่น ตอนที่ 3 โจทย์และวิธีวิทยาของการวิจัยโดยชุมชน
นักวิชาการหาโจทย์วิจัยจากการต่อยอดหรือหักล้างแนวคิด ทฤษฎีเดิม บ้างก็แสวงหาในสิ่งที่ในแวดวงวิชาการหรือในสังคมยังไม่มีคำตอบชัดเจน
โจทย์เหล่านั้นอาจเป็นเรื่องสนใจใคร่รู้ที่ตนเองอยากตอบ หรือหน่วยงาน แหล่งทุนกำหนดให้ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องผูกพันกับชีวิตนักวิจัย นักวิจัยจึงสามารถศึกษาไปได้เรื่อยๆ บางปีถนัดเรื่องชายแดน อีกปีอาจมาศึกษาเรื่องอาหาร แล้วก็อาจกระโดดไปการเมือง เรื่องเพศสภาพ ความรุนแรง และอื่นๆ นานาสารพัน ขอเพียงมีแนวคิด ทฤษฎี และงานวรรณกรรมที่ไปค้นหาได้ นักวิชาการก็ศึกษาไปได้ จึงกลายเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” เฉพาะกิจ หรือแบบฉับไวโดยไม่ยาก
แต่เอาเข้าจริง นักคิด นักวิชาการของโลก เช่น คาร์ล มาร์กซ์ มิเชล ฟูโกต์ และอีกหลายคนที่สร้างแนวคิดส่งผลสะเทือนเลื่อนลั่นทางสังคม หาใช่นักวิชาการจับจดที่มุ่งหาประเด็นเพื่อลับคมความคิด สร้างชื่อเสียงให้ตัวเองอย่างเลื่อนลอย ชีวิตพวกเขาล้วนเผชิญอำนาจที่มากระทบต่อความเป็นตัวตนของเขา หรือสังคมของเขา จึงเคลื่อนไหวด้วยปัญญาจนสร้างแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อโลกถึงทุกวันนี้
งานวิจัยชุมชนมีความคล้ายกับกระบวนการสร้างปัญญาของนักคิดของโลก เพราะนักวิจัยชุมชนกำลังหาคำตอบให้กับชีวิตที่กำลังเผชิญกับปัญหา หรือกำลังหาความรู้ในการพัฒนาตนเองด้วยความมุ่งมั่น
การตั้งโจทย์วิจัยของชุมชนจึงไม่ได้เป็นเพียงคำถามอะไรก็ได้
แต่เป็นคำถามที่มาจากความเป็นจริงของชีวิตที่ชาวชุมชนกำลังหมกมุ่นหาคำตอบอะไรบางอย่างที่สำคัญต่อชีวิต ถามและค้นหาในสิ่งที่ชุมชนไม่รู้ หรือไม่เชื่อในความรู้ที่ตนเองหรือสังคม ว่าจะตอบคำถามของชุมชนได้จริง และสิ่งนั้นมีความสำคัญในการเปลี่ยนชีวิตของพวกเขา พลังของความกระหายใคร่รู้ในสิ่งที่สำคัญเยี่ยงนั้นจึงจะสร้างปัญญาใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้
แต่งานวิจัยชุมชนก็ต่างไปจากงานของนักปรัชญาหรือนักคิดทางทฤษฎี เนื่องจากงานวิจัยชุมชนเป็น ศาสตร์เชิงปฏิบัติ แม้จะมุ่งหาแนวคิด ความรู้ใหม่ แต่ก็ต้องเป็นความรู้ที่ “กินได้” คือ สัมพันธ์กับบริบทของชุมชนนั้นๆ และนำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนได้จริง การตกผลึกทางความคิดของชุมชนอาจไม่ได้มาจากการนั่งครุ่นคิดทางปรัชญา ไม่ได้ได้มุ่งหาธรรมชาติ หรือกฎเกณฑ์อันเป็นนามธรรม หรือการสร้างหลักเกณฑ์การนิยามความหมาย การจำแนกแยกแยะสรรพสิ่ง แต่มาจากการอ่านความหมายชีวิตของตนเอง ชุมชน และสังคมที่ดำเนินไปตามวิถีที่เป็นจริง หรือจากการทดลองปฏิบัติการบางอย่างที่ชุมชนออกแบบขึ้น
โจทย์วิจัยจากงานวิจัยชุมชนที่มีพลัง จึงเป็นการตั้งโจทย์ที่อยู่ระหว่างแนวคิดอันเป็นนามธรรมกับการแสวงหาคำตอบแนวทางปฏิบัติ (How to) ไม่สุดขั้วไปด้านใดด้านหนึ่ง แต่เชื่อมระหว่างการสร้างแนวคิดอันเป็นนามธรรมในการอ่านโลก อ่านสังคม อ่านตนเอง กับความรู้ในวิธีดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายของชุมชนไปด้วยกัน
แม้จะเป็นเพียงโจทย์เล็กๆ เช่น ศึกษารูปแบบการเลี้ยงไก่ การสร้างตลาดอาหารอินทรีย์ การฟื้นฟูทรัพยากร ฯลฯ การตั้งและตอบโจทย์เหล่านี้ ชุมชนสามารถทำได้ทั้งในระดับตื้น คือ หาความรู้และทดลองเลี้ยงไก่ดู หรือไปสำรวจตลาด สร้างตลาดดูแล้วมาถอดบทเรียนกันจนได้ความรู้นำไปปฏิบัติต่อ แต่ผู้เขียนอยากพาให้ชุมชนมุ่งพัฒนาและตอบโจทย์วิจัยในเชิงลึก ด้วยการให้ชุมชนประเมินว่า โจทย์นั้นๆ มีความหมายทางสังคมต่อชุมชน การพัฒนาความรู้การเลี้ยงไก่จะเป็นยุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งของชุมชนในแง่ใดแง่หนึ่ง การฟื้นฟูทรัพยากรจะยกระดับความรู้และการเรียนรู้ให้กับชุมชนที่นำไปสู่อิสรภาพการกำหนดอนาคตตนเองในเรื่องทรัพยากร
ดังนั้นความหมายเบื้องหลังโจทย์ที่เรียบง่ายจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง กระบวนการกำหนดโจทย์วิจัยของชุมชนจึงเป็นควรสร้างการใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างลงลึก ทั้งการไปหาความคิด ข้อมูล ประสบการณ์จากที่ต่างๆ แล้วมาถกเถียง กลั่นกรองเจียระไนจนเกิดความชัดเจนว่า นี่คือสิ่งที่เราไม่รู้ การเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นจะเป็นจุดเปลี่ยนของชุมชนเรา หากจะทำเชิงลึกการตั้งโจทย์จึงไม่ควรแค่ระดมความคิด สำรวจปัญหาความต้องการเบื้องต้น แล้วตั้งเป็นโจทย์วิจัยเลย แต่ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการพัฒนาโจทย์ว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้เชิงลึกที่สำคัญของชุมชน ฝ่ายสนับสนุนงานวิจัยเองหากมุ่งหมายให้ชุมชนศึกษาเชิงลึกก็ควรส่งเสริมให้เกิดกระบวนการพัฒนาโจทย์ของชุมชนอย่างจริงจัง ไม่รวบรัด ฉาบฉวย
กระบวนการตั้งโจทย์และตอบคำถามเชิงลึกจะนำไปสู่การสำรวจตัวตนของชุมชนในหลายด้าน ในบางด้านชุมชนจะพบคุณค่าทางภูมิปัญญา วิถีชีวิตของชุมชนอย่างที่ไม่เคยตระหนักมาก่อน
เนื่องจากโจทย์วิจัยของชุมชนสัมพันธ์กับความเป็นตัวตนทั้งโลกทัศน์ ประสบการณ์ชีวิต และโครงสร้างทางสังคมของชุมชน กระบวนการตั้งโจทย์และตอบคำถามเชิงลึกจะนำไปสู่การสำรวจตัวตนของชุมชนในหลายด้าน ในบางด้านชุมชนจะพบคุณค่าทางภูมิปัญญา วิถีชีวิตของชุมชนอย่างที่ไม่เคยตระหนักมาก่อน เช่น พบว่าวิถีการปกป้องป่าของชุมชนจนเกิดผลสำเร็จมาจากสำนึกในส่วนรวมที่เข้มแข็ง และเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบระบบนิเวศอย่างเท่าทัน รู้ถึงคุณค่าของพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านของบรรพชนว่าไม่มีเป็นแค่ส่งทอดกันมา หรือมีคุณลักษณะเป็นข้าวเม็ดโตไม่นิ่ม แต่บรรพชนได้เลือกสรร ปรับปรุงอย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของชุมชน รู้ถึงประวัติ ตำนาน นิทาน เพลงของท้องถิ่นว่ามีความหมายเชิงลึกถึงสังคมอุดมคติที่บรรพชนออกแบบและปลูกฝังไว้กับคนรุ่นหลัง
การตั้งโจทย์และตอบโจทย์เชิงลึกอาจพาชุมชนไปสำรวจด้านที่เป็นปัญหาและกระทบต่อตัวตนของชุมชน ดังเช่น เหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ห่างเหินจากคนเฒ่าคนแก่อาจไม่ใช่เพียงเพราะเทคโนโลยีหรือสื่อภายนอก แต่ยังมาจากกระบวนการทางสังคมของชุมชนเองที่ไม่เตรียมความพร้อมเผชิญการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ความเสื่อมโทรม ขัดแย้งทรัพยากรอาจไม่ใช่เพียงแค่หน่วยงานรัฐ หรือนายทุนมาบุกรุกทั้งแบบถูกและผิดกฎหมาย แต่ยังอาจมาจากสำนึกและความสัมพันธ์ของชุมชนที่ห่างเหินจากนิเวศวิถี หรือมาจากสำนึกต่อทรัพยากรส่วนรวมของชุมชนมันเปลี่ยนไปเป็นแบบของใครของมัน ความล้มเหลวในการทำธุรกิจชุมชน อาจไม่ใช่เพียงชาวบ้านไม่รู้ช่องทางหรือกลไกตลาดหรือรูปแบบการเอาเปรียบจากพ่อค้าดีพอ แต่ยังอาจมาจากการเล่นพรรคเล่นพวกเป็นตัวตั้ง จนขาดธรรมาภิบาลในการจัดการ การสำรวจเชิงลึกในด้านที่มีปัญหามีความสำคัญอย่างยิ่งไม่แพ้ด้านที่เป็นเชิงบวก เพราะทำให้ชุมชนนำมาปรับปรุงชีวิต และเงื่อนไขทางสังคมของตนเองในระดับรากฐานได้อย่างมีพลัง
เมื่อการตั้งโจทย์นำไปสู่การเข้าใจชีวิตทั้งภายในและเชื่อมโยงสู่ภายนอก กระบวนการตั้งโจทย์จึงมีความสำคัญมากที่สุดในการวิจัยชุมชน ยิ่งกว่าการเก็บข้อมูลให้ครบตามเครื่องมือ หรือการประมวลตัวเลข การจัดทำแผนภาพ และอื่นๆ ที่มีฐานะเป็นองค์ประกอบในการตอบโจทย์
แต่การที่จะหาคำตอบให้บรรลุโจทย์ที่ตั้งไว้ได้อย่างไรนั้น ความสำคัญอยู่ที่ “วิธีวิทยา”
วิธีวิทยาเป็นวิถีทางยุทธศาสตร์เพื่อตอบโจทย์วิจัย มีความกว้างและลึกกว่าเครื่องมือทางเทคนิคการเก็บข้อมูลชุมชน เช่น การจัดประชุมกลุ่มย่อย การสัมภาษณ์ การทำแบบสอบถาม การใช้แผนที่ การจัดทำเส้น timeline และอื่นๆ เทคนิคเหล่านั้นเป็นเพียงเครื่องมือการเก็บข้อมูลซึ่งอยู่ขั้นปลายสุด หลังจากเราชัดเจนในเรื่องโจทย์วิจัย และวิธีวิทยาแล้ว
วิธีวิทยาคือการตอบคำถามให้ได้ว่า ถ้าเราสนใจจะตอบโจทย์เรื่องนั้นๆ เราจะต้องไปดูจากอะไร ดูจากใคร เหตุการณ์แบบไหน ในสภาวะอะไร
ถ้าชุมชนต้องการเข้าใจภูมิปัญญานิเวศของตนเองให้ลึกซึ้ง วิธีวิทยามีหลายประการ เช่น การไปดูที่การเรียกชื่อ จำแนกแยกแยะ ให้ความหมายต่อนิเวศของชุมชน คนกะเหรี่ยงในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรจำแนกป่าได้กว่า 40 ประเภท ชาวประมงพื้นบ้านแยกแยะระบบนิเวศทะเลและบนท้องฟ้าทั้งดวงดาว สายลม ได้ละเอียดลออ จำแนกประเภทพันธุ์ปลาได้มากหลาย การจำแนกและการบ่งบอกคุณค่าของนิเวศและทรัพยากรสะท้อนถึงความรู้ทางนิเวศของชุมชนได้ลึกซึ้ง
เรายังดูภูมิปัญญานิเวศได้จากวิถีการทำมาหากินและกฎเกณฑ์ข้อห้ามทางวัฒนธรรม คนกะเหรี่ยงออกแบบทำไร่หมุนเวียนให้ยั่งยืนต้องอาศัยความรู้นิเวศอะไรบ้าง มีข้อห้ามอะไรในการเลือกพื้นที่ ฟันไร่ และอื่นๆ ชาวประมงพื้นบ้านรู้แหล่งหาปลาตรงบริเวณไหนของสายน้ำ จับปลาได้ดีช่วงฤดูกาลไหน หรืองดเว้นจับปลาช่วงไหน มีข้อห้ามอะไรบ้างในการจับปลา ข้อห้ามทางประเพณี “ขึด” หรือข้อปฏิบัติทางวัฒนธรรมจึงเป็นเป้าหมายของวิธีวิทยาที่สำคัญ เพราะมันสะท้อนกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ที่ชุมชนมีต่อธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ
ไม่เพียงแต่การศึกษาในวิถีชีวิตยามปรกติ วิธีวิทยาการเข้าใจนิเวศวัฒนธรรมของชุมชน ควรต้องดูยามที่ชุมชนเผชิญวิกฤติธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง อุทกภัย ไฟป่า ฯลฯ ที่ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหาร ทรัพยากร หรือเสี่ยงต่อการดำรงชีพ วิธีการที่ชุมชนเผชิญกับปัญหา
หากชุมชนจะศึกษาความหมายประเพณี พิธีกรรมของชุมชนตนเอง วิธีวิทยา คือ การอ่านความหมายของประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อต่างๆ ว่าสัมพันธ์กับการดำรงชีพของชุมชน โครงสร้างสังคม กระบวนการเรียนรู้ของชุมชนอย่างไร และดูต่อไปว่าประเพณี พิธีกรรมได้ “ให้บริการทางสังคม” (จัดสรรทรัพยากร ผลิตซ้ำคุณค่าชุมชน พื้นที่การแสดงออกในภาวะยกเว้น ฯลฯ) อย่างไรกับชุมชน เมื่อเข้าใจรหัสหมายของประเพณี พิธีกรรมแล้ว จึงนำมาสู่การออกแบบว่า หากจะใช้ประเพณี พิธีกรรมให้มีบทบาทหน้าที่ทางสังคมในสถานการณ์ใหม่ที่เปลี่ยนไป อะไรคือแก่นแกนของการสร้างความหมายผ่านประเพณี พิธีกรรม และชุมชนต้องคำนึงถึงเงื่อนไข ปัจจัยอะไรบ้าง
หากชุมชนต้องการเข้าใจความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจของชุมชนและกับภายนอก วิธีวิทยา คือการไปดูเรื่องอำนาจต่อรองในการเข้าถึง ครอบครองทรัพยากร จัดสรรทรัพยากร ปัจจัยการผลิต การควบคุมเทคโนโลยี และอำนาจในการต่อรองตลาดทั้งด้านผลิตผล ราคา การควบคุมคุณภาพ ปริมาณ ช่วงเวลา และกลไกการแลกเปลี่ยน เป็นต้น มีใครเข้าถึงและมีใครถูกกีดกันจนนำไปสู่สภาวะความเหลื่อมล้ำ ทั้งผู้เข้าถึงและถูกกีดกันตีความหมายสภาวะดังกล่าวอย่างไร จึงจะนำไปสู่การสังเคราะห์เป็นความคิดเรื่องความไม่เป็นธรรมจากมุมมองของชุมชน
หากชุมชนต้องการเข้าใจและหาคำตอบเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งหรือแสวงหาทางสร้างความเป็นปึกแผ่นของชุมชน วิธีวิทยาที่เหมาะสมไม่ใช่การไปดูในชีวิตประจำวันเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเน้นไปดูยามสภาวะที่ชุมชนเผชิญวิกฤติว่าชุมชนจัดการความขัดแย้งกันอย่างไร ความขัดแย้งบางลักษณะที่ซึมลึก ไม่ปรากฏในสภาพทั่วไป เช่น ความขัดแย้งในหมู่เครือญาติ ตระกูล ในประเด็นต้องห้าม เช่น เรื่อง เพศ วัฒนธรรม การเมือง ฯลฯ วิธีวิทยาที่เหมาะสมไม่ใช่การศึกษาในชีวิตส่วนรวมที่มักจะเก็บความขัดแย้งไว้ใต้พรม แต่ต้องมุ่งไปทำความเข้าใจมุมมอง ทัศนะของแต่ละฝ่าย นำมาวิเคราะห์สาเหตุ และสร้างพื้นที่การเรียนรู้ต่อรองที่เป็นอิสระ และเท่าเทียมกัน
หากชุมชนกำลังเผชิญปัญหาใหม่ๆ ที่ไม่เคยประสบมาก่อน เช่น ภาวะโลกร้อนที่กระทบต่อการผลิต ปัญหาจากเทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญหาแรงงานต่างชาติ ฯลฯ วิธีวิทยาที่ดีไม่ใช่เพียงการย้อนกลับไปดูบทเรียน ภูมิปัญญาหรือประสบการณ์ในอดีต เพราะชุมชนยังไม่ได้สร้างความรู้กับปัญหาเหล่านั้น แต่ควรศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันที่กระทบต่อคนกลุ่มต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกชุมชนซึ่งมีการปรับตัวแตกต่างกันไปตามเงื่อนไข และอาจต้องอาศัยความรู้จากภายนอกมาประยุกต์ด้วย
ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า วิธีวิทยา คือ การแสวงหาวิธีการในเชิงยุทธศาสตร์ที่จะตอบโจทย์เป้าหมายได้อย่างเจาะจงกับสถานการณ์ บริบท ด้วยคำถามพื้นฐานว่า ดูจากอะไร ดูจากใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร โดยชุมชนร่วมกันออกแบบวิธีวิทยาให้ชัดเจน เมื่อมั่นใจว่าวิธีวิทยาหรือยุทธศาสตร์การตอบโจทย์ชัดแล้ว ชุมชนจึงค่อยออกแบบรายละเอียดในทางเทคนิคว่า จะใช้เครื่องมือการเก็บข้อมูลอย่างไร จะใช้เส้นเวลาประวัติศาสตร์ดี แผนที่ทรัพยากร แผนผังชุมชน การสัมภาษณ์ดี หรือประชุมกลุ่มย่อยดี ก็แล้วแต่พิจารณาให้เหมาะสม
โจทย์ วิธีวิทยา และเครื่องมือเก็บข้อมูลที่ทรงพลังของชุมชน จะเห็นได้ในประสบการณ์ชีวิตของชุมชน ที่ยามที่พวกเขาเผชิญปัญหา หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยวิถีชีวิตที่พวกเขาเผชิญ การออกแบบโจทย์ วิธีวิทยา และเครื่องมือเก็บข้อมูลที่ดีควรเป็นการสังเคราะห์จากประสบการณ์ชีวิตเขาให้ชัดเจนและนำมาพัฒนาจุดที่ยังเป็นข้อจำกัด พร้อมกับออกแบบกระบวนการให้แนบเนื่องไปกับการดำรงชีวิตหรืออาจพัฒนาวิถีดำรงชีวิตใหม่อันเป็นวิถีวัฒนธรรมทางปัญญาแบบชุมชน ที่มุ่งแสวงหาความรู้ใหม่ที่เชื่อมโยงแนวคิดนามธรรมและปฏิบัติการไปพร้อมกัน เพื่อยกระดับอำนาจทางปัญญาของชุมชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นไป
…