ว่าด้วยวิจัยท้องถิ่น ตอนที่ 1 ญาณวิทยา ปัญหาของการวิจัยท้องถิ่น

 

เมื่อกล่าวถึงงานวิจัยท้องถิ่นที่กำลังเป็นจุดสนใจของนักพัฒนานั้น ตามความหมายที่ สกว.ฝ่ายวิจัยท้องถิ่นให้ไว้สรุปได้ว่า งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น หมายถึง งานวิจัยที่ชุมชนเป็นผู้ดำเนินการหรือเป็นหลักในการดำเนินการ

(โดยมีฝ่ายอื่นๆ ร่วมหนุนเสริม) เป็นการตั้งโจทย์จากปัญหาและความต้องการของชุมชน มุ่งแก้ปัญหาและสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน เป้าหมายดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเมื่อมองผ่านแนวคิดเรื่องความรู้ คือ อำนาจ เป็นอำนาจเพื่อการปลดปล่อยสู่ความเป็นอิสระ ดังนั้นการวิจัยที่ทำโดยชุมชน จึงมีเป้าหมายให้ชุมชนสร้างอำนาจทางปัญญาด้วยตนเอง หาใช่การวิจัยที่นักวิจัยจากภายนอกที่แม้จะวิจัยชุมชน แต่ใช้ชุมชนเป็นเพียงวัตถุของการศึกษา ชุมชนไม่เกิดปัญญา ไม่เกิดอำนาจในการแก้หรือต่อรองกับปัญหาที่เผชิญ

สุดท้ายนักวิจัยภายนอกกลับเป็นกลายเป็น “ตัวแทน” หรือ “ผู้เชี่ยวชาญ” การเล่าเรื่องของชุมชนตามแนวคิด ทฤษฎี จินตนาการหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่อยากจะเห็น

ความสำคัญของของงานวิจัยโดยชุมชนอีกอย่างก็ คือ ชุมชนในฐานะที่เป็น “คนใน” ย่อมจะถูกอนุมานว่ารู้เรื่องราว ปัญหา ความต้องการ และการเปลี่ยนแปลงในชุมชนตนเองได้ดีกว่า “คนนอก” แม้กระทั่งนักมานุษยวิทยาที่พยายามทำตัวเองเป็นคน “กึ่งนอกกึ่งใน” ก็อาจจะไม่รู้เท่าคนในชุมชนที่เป็น “คนใน” จริงๆ
จากการที่ผู้เขียนเป็นนักเรียนมานุษยวิทยา ได้เป็นทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้สังเคราะห์งานวิจัยท้องถิ่นมาต่อเนื่อง ผ่านงานวิจัยมานับร้อยๆ เล่ม สัมผัสกับวงนำเสนองานวิจัยชุมชนมามาก พบว่า แม้จะมีเป้าหมายที่ดี มีสถานะของผู้วิจัยที่เป็นคนในชุมชนเอง แต่งานวิจัยส่วนมากกลับยังไม่ทำให้เกิดองค์ความรู้ ความเข้าใจชุมชนที่ลึกซึ้งแหลมคม ไม่ทำให้เกิดแนวคิด มุมมอง ข้อมูลใหม่ๆ จากชุมชนเท่าใดนัก

ปัญหามันอยู่ตรงไหน ผู้รู้หลายท่านช่วยกันชี้และเสนอแนะ บ้างก็ว่าต้องพัฒนาวิธีวิทยาขึ้นมาใหม่ โดยให้วิธีวิทยาเข้าไปอยู่ในวิถีของชาวบ้าน บ้างก็ว่าควรศึกษาประเด็นหลักๆ เช่น การแย่งชิงทรัพยากร การครอบงำของทุนเสรีนิยม การเปลี่ยนระบบคุณค่า การทำลายความหลากหลาย การศึกษาสังคมสูงวัย เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดยังเป็นข้อเสนอภาพกว้างที่ยังไม่เห็นทางออกที่ชัดเจน

ผู้เขียนคิดว่า รากฐานปัญหาเริ่มมาจากญาณวิทยา (ทฤษฏีว่าด้วยความรู้) ของงานวิจัยท้องถิ่นที่ยังขาดความชัดเจน สับสน และที่สำคัญคือถูกครอบงำด้วยญาณวิทยากระแสหลักอย่างไม่รู้ตัวจนขาดความเป็นอิสระ และความเป็นตัวของตัวเอง
ในโลกวิชาการสมัยใหม่ แบ่งญาณวิทยาออกเป็นกลุ่มต่างๆ ได้แก่ ประจักษ์นิยม เป็นแนวคิดว่าความรู้ต้องเป็นสิ่งสากล เป็นกลาง ปราศจากอคติ ความรู้ตั้งเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ วัดได้ จับต้องได้ แต่สิ่งที่เป็นคุณค่า ความเชื่อ ประสบการณ์ชีวิตกลับไม่นับเป็นความรู้ เพราะมันเป็นนามธรรม ไม่เป็นกลาง จับต้องไม่ได้ วิทยาศาสตร์กระแสหลักของโลกตะวันตกอยู่บนฐานญาณวิทยาแบบนี้ การสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นจริงได้ ก็ต้องอาศัยผู้ “เป็นกลาง” ศึกษาสังเกต ทดลอง เก็บข้อมูลเชิงปริมาณ ประมวลเป็นตัวเลข สถิติ หรือหากจะเป็นในเชิงคุณภาพก็ต้องคิดแบบกลไกคือ บอกได้ว่า มีแบบแผนหรือโครงสร้างอะไรดำรงอยู่ เงื่อนไข ปัจจัยอะไร ที่สร้างการเปลี่ยนแปลง และสามารถวัดผลการเปลี่ยนแปลงได้ หัวใจอยู่ที่ “เหตุผล” แต่ “เหตุผล” ใดเล่าที่ “ฟังขึ้น” ก็ต้องมาจากข้อมูลที่เก็บอย่างเป็นระบบ หรืออ้างอิงกับแนวคิด งานศึกษาที่เป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการในเรื่องนั้นๆ
งานวิจัยท้องถิ่นส่วนมาก ถูกดึงดูดเข้าไปสู่ญาณวิทยาแบบนี้มาก เรื่องเล่าของชุมชน ประสบการณ์ชีวิต มุมมองแนวคิดต่างๆ ส่วนไหนที่พอจะ “ชั่ง ตวง วัด” ตามหลักญาณวิทยาประจักษ์นิยมได้ เช่น ทำเป็นการสำรวจความคิดเห็น พฤติกรรม ก็จะถูกนับเป็นข้อมูลการวิจัย ส่วนที่แปลงไม่ได้ เช่น เรื่องเล่า ประสบการณ์ชีวิต ความเชื่อ มุมมองเหล่านี้มาวางไว้เฉยๆ โดยไม่มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือถกกันแบบชาวบ้านให้ลงลึก
ผลก็คือ ยิ่งทำวิจัย ก็ยิ่งทำให้จุดเด่นของงานวิจัยท้องถิ่นเหือดหายไป เพราะถูกแปรสภาพเป็นชุดข้อมูล ภาษา ระบบคิดตามขนบวิชาการสมัยใหม่ที่ชุมชนไม่คุ้นเคย หรือเรียกได้ว่าเป็นการแปลงรหัสถ่ายโอนเรื่องราวชุมชนที่ชุมชนกำกับความหมาย ให้กลายเป็นข้อมูลหรือรหัสที่ล่องลอยเพื่อให้คนภายนอกอ่านแต่คนในกลับไม่เข้าใจมัน ชาวบ้านซึ่งไม่ได้ถูกฝึกฝนมาเป็นนักวิจัย “อาชีพ” ในการเข้ารหัสแปลงรหัสดังกล่าว ไม่ใช่เชี่ยวชาญเก็บข้อมูล วิเคราะห์ลงตาราง ประมวลค่าทางเศรษฐศาสตร์ ย่อมไม่อาจทำได้ดีแบบนักวิชาการภายนอก
แม้จะมีพี่เลี้ยง วิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิมาช่วยกัน “ปลุกปล้ำ” ให้ดูเป็นงานวิจัยก็ตาม และอาจด้วยเหตุนี้กระมังที่เมื่อเอ่ยถึงงานวิจัย ชาวบ้านแม้จะเคยมีประสบการณ์ร่วมงาน “วิจัย” ย่อมจะรู้สึกแปลกแยก ไม่สามารถอ่าน ตีความ ให้ความหมายข้อมูลในรูปงานวิจัยในชุมชนตนเองให้เป็นปัญญาของชุมชนได้ ความรู้ที่ได้จึงเป็นเพียงข้อมูลหรือรหัสให้คนนอกสังเคราะห์ ส่วนชาวบ้านที่เป็นคนในที่พออ่านรหัสภายนอกได้ก็อาจใช้ข้อมูลเอาไว้ใช้สื่อสารกับภายนอก ใช้วางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของตนเองบ้าง แต่ยังไม่เกิดอำนาจทางปัญญา เกิดแนวคิด มุมมองใหม่ๆ เพราะงานวิจัยไม่ได้ถูกทำให้เป็นการสร้างความรู้ของเขาแบบวิถีของเขาตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
แล้วญาณวิทยาแบบที่เป็นชาวบ้านมีหรือไม่ ประสบการณ์ความรู้จากมานุษยวิทยาที่เป็นแนวการศึกษาที่ให้ความสนใจต่อโลกทัศน์ ความหมายของชุมชนเองพบว่า ชาวบ้านมีญาณวิทยาในแบบอื่นที่ต่างไปจากประจักษ์นิยม สิ่งที่เรียกว่า “ความจริง” ในทัศนะของชุมชนไม่จำเป็นต้องเป็นความจริงเชิงประจักษ์แบบชั่งตวงวัด แต่เป็น “ความจริง” หรือ “ข้อเท็จจริง” จะมีความหมายเมื่อถูกอ่านโดยโลกทัศน์ ประสบการณ์ชีวิตของชุมชน ซึ่งมีทั้งสืบทอดจากอดีต เรียนรู้จากสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน และปฏิสัมพันธ์กับภายนอก ผสมผสานกันเป็นความหมายเฉพาะถิ่นเฉพาะที่ หรือเฉพาะสถานการณ์ที่เรียกว่า “ความรู้เฉพาะสถานการณ์” (Situated knowledge)
ญาณวิทยาของชาวบ้านจึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ชีวิต เรื่องราวทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นตำนาน ความเชื่อ ประเพณี เรื่องเล่า ความฝัน คำนินทา อาจมีความหมายได้เมื่อเชื่อมโยงกับปัญหา ความต้องการที่เขาสนใจ ความรู้แบบแพทย์พื้นบ้าน การทำไร่ นา สวน การรักษาป่า สายน้ำ และอื่นๆ ที่กลายเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงเป็นความรู้ที่ไม่แยกโลกทัศน์ ความเชื่อ ปัจจัยเฉพาะถิ่นออกจากข้อมูลที่จะใช้สังเคราะห์ให้เกิดปัญญา ดังนั้นความรู้เฉพาะถิ่นแบบนี้อาจใช้ได้ดีในบริบทเดิม แต่หากสถานการณ์เปลี่ยน ความรู้เหล่านี้ก็อาจไม่สอดคล้องกับบริบทใหม่

แต่หัวใจของญาณวิทยาชาวบ้านไม่ได้อยู่ที่ตัวเนื้อหาของความรู้ แต่อยู่ที่กระบวนการเรียนรู้ที่แยกไม่ออกกับวิถีชีวิตหรือกระบวนการสู้ชีวิตที่ปรับตัว ต่อรองกับสถานการณ์ใหม่ๆ ปราชญ์ชาวบ้านหลายคนที่พัฒนาวิถีเกษตรยั่งยืน พัฒนาพันธุกรรมข้าวและพืชอาหารสมัยใหม่ แสวงหาสมุนไพรใหม่ๆ ล้วนแต่เคยเป็นเกษตรกรที่กระโจนเข้าสู่วิถีสมัยใหม่ทั้งเกษตรแผนใหม่ แพทย์แผนใหม่ จำนวนไม่น้อยเคยออกนอกภาคเกษตรไปทำงานรับจ้างทั้งในเมืองและต่างประเทศ พวกเขาเหล่านั้นเป็นนักบุกเบิก ทดลองด้วยตัวเอง จนชีวิตเกือบประสบความพังพินาศ เพราะขาดอำนาจทางปัญญาที่จะต่อรองชีวิต พวกเขาได้แหวกกรอบทั้งจากกระบวนทัศน์สมัยใหม่ แบบแผนประเพณีเดิม มาสรรค์สร้างเป็นความรู้เฉพาะสถานการณ์ขึ้นมาใหม่ที่ประสบความสำเร็จในทุกวันนี้

เห็นได้ว่า ญาณวิทยาของชาวบ้านมองการแสวงหาความรู้จากการปฏิบัติจริง เชื่อมโยงผสมผสานกับทุกศาสตร์ทั้งแผ่นใหม่และภูมิปัญญาบรรพชน ใช้ชีวิตในการทดลองค้นคว้า แสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ยิ่งผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านชีวิตที่หลากหลาย ผ่านสังคมหลายๆ แบบ ก่อให้เกิดการตกผลึกทางปัญญา

คำถามคือ แล้วเราจะจัดรูปแบบการสนับสนุนงานวิจัยท้องถิ่นที่เป็นโครงการให้เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านและชุมชนได้หรือไม่ อย่างไร

เริ่มต้นด้วยการ ให้อิสระชุมชนในการแสวงหาความรู้โดยไม่ยึดกับญาณวิทยาประจักษ์นิยม หรืออื่นๆ ที่จะปิดกั้น ตีกรอบการแสวงหาความรู้ของชุมชน

ในระดับชุมชนอาจเริ่มต้นด้วยการดูประสบการณ์การแสวงหาความรู้ของผู้คนในชุมชนนั้นๆ ว่าชุมชนมีประสบการณ์การแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์อะไรร่วมกันอย่างไร เช่น ยามเผชิญภัยพิบัติ โรคระบาด ภัยแล้ง ความแตกแยกในชุมชน เป็นต้น เพราะในกระบวนการแก้ปัญหาและสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ล้วนต้องมีการตั้งโจทย์ แสวงหาข้อมูล วิเคราะห์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามวิถี แล้วชวนชุมชนประเมินว่า กระบวนการเรียนรู้ตามวิถีวัฒนธรรมที่ผ่านมามีจุดแข็ง และข้ออ่อนอะไร โดยให้ชุมชนร่วมกันประเมิน ปรับญาณวิทยาที่เหมาะสมกับตนเอง ดังนั้นชุมชนจะเป็นผู้กำหนดเป้าหมาย ออกแบบเครื่องมือ จัดวางกระบวนการวิจัยหรือการจัดการความรู้ของตนเองภายใต้โจทย์ร่วม สถานการณ์ใหม่ที่พวกเขาเผชิญ

ส่งเสริมปราชญ์ชาวบ้าน ปัญญาชน นักคิดในชุมชนให้ศึกษาวิจัยต่อยอดความรู้ของตนเอง โดยให้ชุมชนออกแบบกระบวนการจัดการความรู้ที่จะเชื่อมโยงความรู้ของปราชญ์กับชุมชน นอกจากนี้ควรที่จะถอดกระบวนการหาความรู้ของปราชญ์เหล่านี้เพื่อนำมาเป็นตัวอย่างให้คนอื่นๆ ในชุมชนนำมาปรับใช้

เนื่องจากญาณวิทยาของชาวบ้านขึ้นอยู่กับสถานการณ์และบริบท หน่วยงานส่งเสริมงานวิจัยควรปรับระบบการจัดการงานวิจัยให้ยืดหยุ่น ลดความเป็นแบบแผนเชิงกลไกลง ( input กลไก output outcome…) ยืดหยุ่นในขั้นตอนแบบแผน เช่น กำหนดโจทย์ กำหนดวิธีการศึกษา เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ทดลองปฏิบัติการ สรุปบทเรียน อภิปรายผล…ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องวางเป็นแบบแผนที่ตายตัว แต่ควรออกแบบให้เข้ากับจังหวะชีวิตของชุมชน

ปมปัญหาใหญ่อยู่ที่การเก็บ บันทึกข้อมูล และการสื่อข้อมูล

แม้ญาณวิทยาของชาวบ้านจะมีการศึกษา สังเกต ทดลอง เปรียบเทียบ (ในแบบวิถีชีวิตก็ตาม) แต่กระบวนการสื่อสารและจัดการความรู้ของชุมชนทำกระทำการสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม เช่น ประเพณี พิธีกรรม ตำนาน เรื่องเล่า เครื่องมือ เทคโนโลยีในการใช้ชีวิต แบบแผนพฤติกรรม และการพูดคุยในชีวิตประจำวัน สังคมชุมชนไม่ใช่สังคมของการเขียนเท่าใดนัก โดยเฉพาะการเขียนผ่านภาษาวิชาการยิ่งเป็นไปได้ยาก การจะสื่อสารความรู้ของชุมชนที่เป็นวิถีชีวิตนั้น ควรที่จะต้องเข้าไปทำความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ในบริบทชุมชน (การให้ชาวบ้านออกมานำเสนองานวิจัยในห้องประชุม ฉาย powerpoint ในเวลาสิบนาที นั่นไม่ใช่พื้นที่และวิธีการแสดงออกความรู้ของชุมชนที่มีอิสระและมีศักดิ์ศรีได้เลย)

ฝ่ายสนับสนุนการวิจัยควรที่จะต้องเข้าไปในบริบทของชุมชน เข้าไปในพื้นที่ที่ชุมชนจะนำเสนอความรู้ได้เต็มที่ เข้าไปดู ศึกษา และตีความจากวิถีชีวิต พฤติกรรม เหตุการณ์ และอื่นๆ ที่สะท้อนถึงการพัฒนาความรู้ของชุมชน เช่น ไปดูระบบนาที่ปรับปรุงใหม่ ไปดูต้นข้าวที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ ไปฟังเสียงของคนในชุมชนว่าเกิดผลอะไรจากนวัตกรรมที่ที่พวกเขาสร้างขึ้น ฯลฯ แล้วให้ทีมสนับสนุนภายนอกตีความ แปลงรหัส จัดระบบเข้ากรอบ ตาราง กราฟ แผนภาพ และอื่นๆ เพื่อสื่อสารกับภายนอก

นั่นหมายความว่า เพื่อต้องการเชื่อมญาณวิทยาของชุมชนกับภายนอก ต้องเกิดการทำงานหลายชั้น ทั้งในระดับชุมชนที่ศึกษาตามวิถี และทีมถอดรหัสที่แปลงสภาวะความรู้ท้องถิ่นให้เป็นข้อมูลวิชาการตามประจักษ์นิยมควบคู่กันไป
จนเมื่อชาวบ้านมีความเชี่ยวชาญสามารถใช้ญาณวิทยา และวิธีการสื่อสารความรู้ได้ทั้งสองแบบ ก็อาจจะสามารถเขียนงานวิจัยแบบที่สังคมภายนอกอ่านได้ด้วยตนเอง ก้าวพ้นจากการเป็นเพียงแค่แหล่งข้อมูล ผู้เล่าเรื่องภายใต้การกำกับของ “นักวิชาการ” ได้อย่างมีอิสระ