อาจารย์เสน่ห์ จามริก นักรัฐศาสตร์บูรณาการหนึ่งเดียว

โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ ประเวศ วะสี,

(๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐)

โชคดีในชีวิตของผมอย่างหนึ่งคือการได้รู้จักและได้เรียนรู้จากท่านอาจารย์เสน่ห์ จามริก ความคิดในการพัฒนาของท่านอาจารย์เสน่ห์ชัดเจนและตรงมาก คืออยู่ที่การส่งเสริมศักดิ์ศรี สิทธิ และศักยภาพของประชาชนคนข้างล่างด้วยการทำงานทางวิชาการ
ในขณะที่ชนชั้นนำส่วนใหญ่สนใจการพัฒนาที่ส่วนบนของสังคม ท่านอาจารย์เสน่ห์ทุ่มเทให้กับส่วนล่างหรือฐานของประเทศ เรื่องนี้คิดดูตามเหตุและผลน่าจะเห็นได้ไม่ยากว่า โครงสร้างอะไรที่จะมีความมั่นคงและยั่งยืนฐานต้องกว้างและแข็งแรง จะเป็นพระเจดีย์ หรือปิระมิดก็ตามหรือตึกรามบ้านช่องก็ตาม สังคมก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกัน ที่แปลกกคือชนชั้นนำส่วนใหญ่กลับสนใจแต่ส่วนบน คือ อะไรๆ ก็เอาแต่ข้างบน ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ การศึกษา การเมือง ศิลปวัฒนธรรม ประดุจสร้างพระเจดีย์จากยอด ซึ่งก็ต้องพังลงๆ เพราะไม่มีฐานมา รองรับ
เรื่องการพัฒนาจากฐานล่าง หรือสร้างพระเจดีย์จากฐานนี้ท่านอาจารย์เสน่ห์ ท่านมั่นคง เหนียวแน่นมาก ท่านเป็นผู้ตั้งและเป็นประธานสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา หรือ LDI (Local Development Institute) และทำงานทางวิชาการเกี่ยวกับมิติต่างๆ ของชุมชนท้องถิ่นเป็นอันมาก ท่านเป็นผู้นำในการทำงานด้านป่าชุมชนและสิทธิชุมชน ท่านและคณะมีอาจารย์ยศ สันตสมบัติ ทำงานวิจัยเกี่ยวกับป่าชุมชนเป็นอันมาก จนคติเรื่องป่าชุมชนเข้าไปอยู่ในจิตสำนึกของสังคมและมีการผลักดันให้มีพระราชบัญญัติป่าชุมชน
เรื่องสิทธิชุมชนก็ต้องถือว่าท่านอาจารย์เสน่ห์เป็นผู้มองอย่างลึกและผลักดันในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยท่านเห็นว่าเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่มีมาแต่เดิมในการจัดการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมต่อมารัฐได้มาริบสิทธิของชุมชนไปเป็นของรัฐ แต่รัฐไม่สามารถจัดการ การใช้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ดังที่ปรากฏความร่อยหรอเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เกษตรกรไม่มีที่ทำกิน ไม่มีมีป่าไม้ช่วยในการดำรง ชีวิต ท่านอาจารย์เสน่ห์จึงเรียกร้องอย่างแข็งขันในเรื่องคืนสิทธิให้ชุมชนในการจัดการทรัพยากร โดยอ้างถึงการวิจัยเรื่องป่าชุมชนว่ามีตัวอย่างให้เห็นว่าชุมชนสามารถรักษาป่า และได้รับประโยชน์จากป่า ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวแนวคิดเรื่องป่าชุมชนอย่างเอาจริงเอาจังจนไปปรากฏในรัฐธรรมนูญไม่น้อยเกิดจากท่านอาจารย์เสน่ห์ จามริก
ท่านอาจารย์เสน่ห์พูดถึงคุณค่าของความหลายหลายทางชีวภาพเป็นอย่างมาก และพูดถึงคุณค่าอย่างหนึ่งซึ่งน้อยคนจะพูดถึง นั้นคือคุณค่าในทางความรู้ ในตัวของสิ่งมีชีวิตต่างๆ มีความรู้ซ่อนอยู่ภายในรอให้มนุษย์เข้าไปเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากความรู้นั้นๆตรงนี้เป็นเรื่องลึกซึ้งแต่เข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป ผมขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจประเด็นนี้ของท่านอาจารย์เสน่ห์ สัตว์และพืชนานาชนิดสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่วิจิตรและมีประโยชน์มากที่มนุษย์ยังสร้างไม่ได้เช่นใยแมงมุมมีความแข็งแรงมากกว่าเหล็กกล้าถ้าเทียบน้ำหนักกรัมต่อกรัมหรือ หอยบางชนิดสร้างเปลือกหอยที่มีคุณภาพสูงกว่าเซรามิคที่มนุษย์สร้าง หรือสัตว์น้ำชนิดหนึ่งสามารถผลิตกาวที่สามารถติดได้ในน้ำ ฯลฯ ถ้าเราศึกษาดีเอ็นเอของสัตว์และพืชต่างๆจะทำให้เข้าใจกลไกการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงเหล่านั้นให้สามารถเลียนการผลิตเหล่านั้น

ประเด็นมีอยู่ว่าการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพมากเหลือเกินทำให้สัตว์และพืชเป็นหมื่นๆแสนๆชนิดสูญพันธุ์และสิ่งที่สูญไปด้วย คือ ความรู้ในชีวิตเหล่านั้นซึ่งจะไม่มีวันหวนกลับนี่ คือ ประเด็นของท่านอาจารย์เสน่ห์ในเรื่องคุณค่าทางความรู้ของความหลากหลายทางชีวภาพ

ท่านอาจารย์เสน่ห์เคยได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติหรือสภาการศึกษาฯ ท่านได้นำเอาแนวคิดเรื่องชุมชนเข้าไปสู่การศึกษาและตั้งคณะทำงานการวิจัยเกี่ยวกับชุมชนกับการศึกษาแนวคิดเรื่องชุมชนกับการศึกษาที่ท่านอาจารย์ เสน่ห์ นาไปปลูกไว้ที่สภาการศึกษาได้อย่างงอกงามขึ้น มาในความคิดของข้าราชการในสภาการศึกษาบางท่านซึ่งต่อมามีบทบาทในการผลักดันในเรื่องนี้ เช่น ดร.เจือ จันทร์ จงสถิตอยู่, ดร.สีลาภรณ์ นาครทรรพ ท่านอาจารย์เสน่ห์มีความรู้สึกอย่างลึกซึ่งต่อเรื่องศักดิ์ศรีของความเป็นคน และสิทธิมนุษยชน ท่านเห็นว่าถ้ามนุษย์มีสำนึกในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนของตนเองจะเกิดความสุข อย่างล้ำลึกและเปิดศักยภาพในตนเอง การเคารพศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนทุกคน อย่างเท่าเทียมกัน เป็นศีลธรรมพื้นฐานของสังคมและเป็นจุดกำเนิดให้แก่สิ่งดีๆทั้งหลาย เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม
ท่านอาจารย์เสน่ห์สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากท่านเคยชักชวนผู้คนมากหลายมาทำวิจัยขั้นรากฐานของสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง งานวิชาการเรื่องนี้มีผลกระทบมากดังที่นักวิจัยที่มีคุณภาพสูงท่านหนึ่ง คือ วรศักดิ์ มหัทธโนบล เล่าไว้ในคำนำหนังสือ ชื่อ “พุทธโคดม” ของเขาว่าตามปกติเขาสนใจเรื่องจีน แต่เมื่อ ได้รับ การชักชวนจากท่านอาจารย์เสน่ห์ให้มาทำวิจัยเรื่องสิทธิมนุษยชนในอารยธรรมตะวันออก เขาต้องไปศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับอินเดียอย่างลงลึกทำให้สามารถเขียนเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และ การเมือง ในชมพูทวีปในสมัยพุทธกาลได้ความรู้ทำนองนี้เรามีไม่มากนักจากการอ่านพุทธประวัติหรือพระไตรปิฎกซึ่งจำกัดอยู่กับเรื่องธรรมะเป็นสำคัญ
เท่าที่เล่ามาถ้าสังเกตจะเห็นว่าเมื่อท่านอาจารย์เสน่ห์จะจับทำเรื่องอะไรไม่ว่าเรื่องชุมชน ท้องถิ่น ป่าชุมชน การศึกษา สิทธิมนุษยชน ท่านจะทำการวิจัยสร้างความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆงานที่ท่านจับ จึงมีคุณภาพนี้อาจจะนับว่าต่างจากคนส่วนใหญ่
ท่านเคยพูดว่า “ในมหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยนักการเมือง”
ท่านมิได้หมายความว่านักการเมืองเข้าไปเดินเพ่นพ่านในมหาวิทยาลัย แต่ท่านหมายถึงครูบาอาจารย์นั่นแหละ ซึ่งในความคิดเห็นของท่านครูบาอาจารย์ต้องใฝ่ความรู้ และทำอะไรๆบนฐานความรู้มิใช่มุ่งเอาชนะคะคานกัน ด้วยการปลุกระดม หรือวิวาทะ หรือการโฆษณาชวนเชื่อ หรือวาทกรรม ซึ่งทำกันทั่วไปทั่วไปในหมู่นักวิชาการ
ประเด็นนี้ควรพิจารณากันให้ดีๆ ว่า ในสังคมสมัยใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงกันยาวไกลหลายมิติและซับซ้อนมีความยากที่จะเข้าใจและแก้ไขปัญหาใดๆ การปลุกระดม + การบริภาษ วิวาทะ หรือวาทกรรมไม่สามารถฝ่าความยากไปได้ต้องอาศัยความรู้และการเรียนรู้
เรื่องนี้ทำให้นึกถึงข้อความที่ผมอ่านเจอในพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การชม หรือการติเตียนไม่ใช่ธรรมะ” “ธรรมะคือรู้ว่าอะไรทำให้เกิดอะไร” ตรงนี้สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับวิธีคิดแบบพุทธจะเข้าใจยากอยู่สักหน่อย
ทางพุทธศาสนาไม่คิดแบบตายตัว ซึ่งนำไปสู่การแยกส่วน และสุดโต่ง
แต่คิดเชิงปัจจัยตาการ คือ ความเป็นเหตุปัจจัยที่เป็นพลวัต ที่เรียกว่าหลักอิทัปปัจจัยตาคือการที่นี้ทำให้เกิดนี้ นี้ทำให้เกิดนี้…. หนุนเนื่องกันไปไม่มีที่สิ้นสุด
การชมหรือการติเตียนเป็นการตายตัวแยกส่วน เป็นขาวดำ เป็นบวก เป็นลบ ธรรมชาติ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ขึ้นกับว่าเรื่องใดสัมพันธ์กับอะไร ณ เวลาใด ทุกอย่างล้วนเป็นกระแสของเหตุ ปัจจัยที่หนุนเนื่อง

พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ธรรมะคือการรู้ว่าอะไรทำให้เกิดอะไรหรือความเป็นเหตุเป็นผล

ข้อนี้ทำให้นึกถึงการปฏิปทาของท่านอาจารย์เสน่ห์ที่ท่านแสวงหาความเป็นเหตุเป็นผล ในเรื่องที่ท่านเกี่ยวข้องเสมอซึ่งก็คือธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสถึง เนื่องจากความเป็นเหตุเป็นผลไม่เข้าใกล้สภาวะสุดโต่งตายตัว ๒ ขั้ว บางครั้งจึงเรียกปฏิปทาแห่งความเป็นเหตุเป็นผลนี้ว่า ทางสายกลางหรือมชัฌมิาปฏปิทา
ความขัดแย้งในสังคมไทยที่อยู่ด้วยกันมาช้านาน แบ่งเป็นซ้ายเป็นขวา เป็นเหลืองเป็นแดงหรือเป็นอะไรอย่างอื่น คงหาทางออกไม่ได้ด้วยการคิดแบบตายตัวแยกส่วน “แนวทาง เสน่ห์ จามริก” แห่งความเป็นเหตุเป็นผลหรือมัชฌิมาปฏิปทาน่าจะเป็นทางออก
ท่านอาจารย์เสน่ห์เป็นนักรัฐศาสตร์ แต่แทนที่จะคิดถึงรัฐศาสตร์แบบแยกส่วนเพียงการเมืองการปกครอง หรือที่ร้ายกว่านั้นก็เพียงแค่สอนคนไปเป็นนายอำเภอ ผู้ว่าราชการ จังหวัดเท่านั้น ท่านกลับแปลกไปที่มองรัฐศาสตร์อย่างบูรณาการที่เชื่อมโยงเรื่องจิตสำนึก ชุมชน สิ่งแวดล้อม ความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน การศึกษา เศรษฐกิจ

อะไรที่แยกส่วนจะนำไปสู่สภาวะวิกฤตเสมอ
เพราะสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยง
โลกวิกฤตเพราะคิดแบบแยกส่วนและทำแบบแยกส่วน จึงไม่ยั่งยืน
โลกจะพ้นวิกฤตได้และมีความยั่งยืนต้องคิดและทำอย่างบรูณาการ

ท่านอาจารย์เสน่ห์ จามริกเป็นและตัวอย่างของบุคคลที่อยู่ด้วยปัญญาและปรารถนา ความถูกต้อง ในโอกาสอันเป็นมงคลที่ท่าน มีอายุวัฒนะถึง ๙๐ ปี ผมขออุทิศข้อเขียนอัน เล็กน้อยข้างต้นเป็นเครื่องบูชาคุณของท่าน และขออวยพรให้ท่านมีความสุข สุขภาพดี มีอายุวัฒนะยิ่งๆ ขึ้น และหากใครที่รำลึกถึงท่าน จะศึกษาให้เข้าใจปฏิปทาของท่านก็จะเป็นคุณ อย่างสูง