อาจารย์ผู้ให้ความรู้ และมุมมอง
โดย ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ
ท่านอาจารย์เสน่ห์ จามริก ท่านสอนคณะรัฐศาสตร์ ผมเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี ๒๕๑๙ ท่านอาจารย์เสน่ห์ จามริก เป็นรองอธิการบดีในช่วงที่ท่าน อ.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากผมเรียนคณะนิติศาสตร์ แถมไม่ค่อยเข้าเรียนเพราะมัวไปทำกิจกรรมจึงมิได้เป็นลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดท่าน แต่เคารพท่านในฐานะนักรัฐศาสตร์ นักสิทธิมนุษยชน ที่มีจุดยืนเพื่อสังคมส่วนรวม
ผมมาทำงานใกล้ชิดอาจารย์ตอนที่ท่านมาเป็นประธานสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ได้ช่วยทำบทบาทการประสานงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน อาจารย์สุภาพ สุขุมลุ่มลึก ผมมักได้รับความรู้ ความเห็นหลายมุมมองรอบด้านหลายมิติจากท่านเสมอ อาจารย์ยินดีและพร้อมให้คำปรึกษาในการทำงานตลอดเวลา
ในปี ๒๕๓๔ ผมได้มีส่วนร่วมในโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการป่าชุมชนในประเทศไทย ที่ท่านอาจารย์เป็นหัวหน้าโครงการ ประสานนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และเครือข่ายชาวบ้านที่ขับเคลื่อนป่าชุมชน ทำการวิจัยด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายใน ๔ ภูมิภาคในการร่วมกันวิจัยองค์ความรู้เรื่องป่าชุมชนซึ่งกำลังเป็นประเด็นขัดแย้งในสังคมระหว่างรัฐกับประชาชน ผลการวิจัยได้ค้นพบและพัฒนาหลักคิดเรื่อง “สิทธิชุมชน” ให้เด่นชัดขึ้นในสังคมไทย ที่จากเดิมพูดถึงเพียงสิทธิของรัฐกับสิทธิปัจเจก การเกิดสิทธิชุมชน ทำให้ชุมชนมีพื้นที่มีตัวตนที่เด่นชัด โดยเฉพาะในเรื่องชุมชนกับฐานทรัพยากร และพัฒนาสิทธิชุมชนไปสู่ด้านอื่นๆ
นอกจากนั้น อาจารย์ได้ชี้ให้เห็นองค์ความรู้จากงานวิจัยได้ทำให้สังคมต้องตระหนักถึงคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ ที่จำเป็นต้องมีการดูแลจัดการและพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นและสังคม“องค์ความรู้เรื่องสิทธิชุมชน ป่าชุมชน ความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพ” ได้ถูกพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน ผมเองเพื่อนนักพัฒนาและผู้นำชุมชน ที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการวิจัยของอาจารย์ก็ได้เรียนรู้จากกระบวนการวิจัยอย่างมาก และขบวนงานพัฒนาได้นำมาใช้ในการปฏิบัติงานขับเคลื่อนเรื่องสิทธิชุมชน ป่าชุมชน ความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพได้อย่างมีพลังมากขึ้นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จนหลักคิดเรื่อสิทธิชุมขนได้ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี2540
ยังจำได้ดีในวงประชุมร่วมทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้นำชาวบ้าน อาจารย์ในฐานะประธานการประชุมเริ่มบทสนทนา “พวกนี้แม้จะแต่งตัวไม่เรียบร้อย แต่จิตใจดี ทำงานเพื่อชาวบ้าน” ผมอดยิ้มไม่ได้ที่อาจารย์พยายามให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ยอมรับนักพัฒนา
ในวาระที่ท่านอาจารย์มีอายุครบ ๙๐ ปี ผมต้องขอขอบคุณภูมิความรู้ มุมมอง ทางด้านสังคม การปกครอง สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ป่าชุมชน และความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพ ที่ได้เรียนรู้ตลอดช่วงการทำงานพัฒนาที่ผ่านมา
ขอขอบคุณแบบอย่างการทำงานวิชาการของท่านอาจารย์ที่มีบทบาทในการพัฒนายกระดับองค์ความรู้ท้องถิ่นให้เป็นความรู้ของสังคม สร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ภาควิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชุมชน ที่เอื้อต่อการปฏิบัติการของเจ้าของสิทธิที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ ปกป้องสิทธิของตนเอง ปกป้องสิทธิชุมชน มาอย่างต่อเนื่องจวบถึงปัจจุบัน
ด้วยความเคารพรักอาจารย์เสมอ