ฐานทรัพยากรไทยในมุมมองของ ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก
โธมัส มัลธัส (Thomas Malthus) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองชาวอังกฤษได้เคยกล่าวเชิงทำนายไว้เมื่อกว่าสองร้อยปีที่แล้วว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดที่มนุษยชาติจะต้องเผชิญในอนาคต ก็คือปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ประชากรโลกจะเพิ่มมากขึ้นจนถึงระดับที่ทรัพยากรที่มีอยู่
ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานของผู้คนในโลกได้อย่างพอเพียง ทรัพยากรที่จะขาดแคลนและถูกแย่งชิงมากที่สุด ก็คือ ทรัพยากรที่ดิน ที่ดินจะไม่ถูกใช้เพื่อการผลิตอาหารเพื่อผู้คนในประเทศที่เป็นเจ้าของที่ดิน หากแต่จะถูกใช้เพื่อการผลิตเพื่อส่งออก แลกกับเงินตราต่างประเทศ
ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก เป็นนักวิชาการไทยคนแรกที่จุดประกายความรู้เกี่ยวกับฐานทรัพยากร อาจารย์เสน่ห์อธิบายว่า ฐานทรัพยากรเขตร้อน (Tropical-resource base) มีความหมายกว้างกว่าคำว่าทรัพยากรธรรมชาติ เพราะมีความหมายที่แสดงถึงความสำคัญเชิงคุณค่าของทรัพยากร ที่มิได้มองแยกย่อยไปในรายทรัพยากร หากแต่หมายถึงการดำรงอยู่ร่วมกันของทรัพยากรธรรมชาติทุกประเภท ทั้งป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรชายฝั่ง แร่ธาตุ พลังงาน น้ำ ทรัพยากรชีวภาพ ทรัพยากรพันธุกรรม และรวมถึงสิ่งแวดล้อมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ในความคิดของอาจารย์เสน่ห์ ฐานทรัพยากรมิได้มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในฐานะที่เป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ตลอดจนมีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรม ต่อวิถีชีวิตของผู้คนและชุมชนท้องถิ่น
ความเห็นของอาจารย์เสน่ห์ สอดคล้องกับคำพยากรณ์ของมัลธัส โดยจะแตกต่างกันเฉพาะในเรื่องการให้ความสำคัญของประเภททรัพยากรเท่านั้น มัลธัสไม่ได้ให้ความสำคัญกับทรัพยากรพันธุกรรม ซึ่งก็คงเป็นเพราะเมื่อสองร้อยปีที่แล้ว คนยังไม่รู้จักว่าพันธุกรรมคืออะไร ส่วนอาจารย์เสน่ห์ให้ความสำคัญกับทรัพยากรพันธุกรรม และมองว่าทรัพยากรพันธุกรรม ที่ประกอบกันเป็นความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดอย่างหนึ่งของไทย ซึ่งในปัจจุบันทรัพยากรเหล่านี้ได้ถูกทำลายหายไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจมี่ไม่ยั่งยืน และจากการใช้ทรัพยากรโดยไม่บันยะบันยัง เกิดการสูญเสียและลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ ที่กลายเป็นปัญหาสำคัญเป็นปัญหาร่วมสมัยของคนทั้งโลก
อาจารย์เสน่ห์มองโลกในแง่ดีกว่ามัลธัส โดยเห็นว่าพลังชุมชนท้องถิ่นจะช่วยทำให้สังคมไทยอยู่ร่วมกับทุน อยู่ร่วมกับกระแสเศรษฐกิจแนวใหม่ได้ จุดยืนที่หนักแน่นโดยตลอดของอาจารย์เสน่ห์ ก็คือความเชื่อที่ว่า สังคมและเศรษฐกิจการเมืองไทยมีขีดความสามารถเพียงพอที่จะสร้างเสริมทำให้กระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้กระแสทุนเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เปลี่ยนแปลงจากอำนาจนิยม ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีชุมชนเป็นศูนย์กลาง ชุมชนจะมีบทบาทสำคัญต่อการอนุรักษ์ฐานทรัพยากรของไทยให้คงอยู่สืบไป
อาจารย์เสน่ห์เสนอว่า “สิทธิชุมชน” ซึ่งค่อนข้างจะเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากการรับรู้ รับรองในวงวิชาการและในแวดวงของผู้ปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้สังคมไทยอยู่รอดได้ในกระแสทุนอันเชี่ยวกราก ถ้าหากสังคมไทยเป็นสังคมฐานทรัพยากรที่มีชุมชนเป็นศูนย์กลางแล้ว ไทยจะสามารถนำเอาศักยภาพเหล่านี้ นำต้นทุนทางคุณค่ามนุษย์ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม มาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน โดยสังคมฐานทรัพยากรเขตร้อนของไทย จะมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ คือ มนุษย์ (ซึ่งรวมถึงชุมชนท้องถิ่น) ภูมิปัญญา และทรัพยากรธรรมชาติ (ซึ่งหมายความรวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ)
อาจารย์เสน่ห์ไม่ได้บอกให้สังคมไทยปฏิเสธคุณค่าความสำคัญของโลกธุรกิจ หรือปฏิเสธบทบาทของธุรกิจการค้าในการสร้างความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี แต่จะต้องพยายามทำให้กระแสที่จะแผ่ขยายอำนาจครอบครองครอบงำนั้น ให้เป็นกระแสที่มีความสมดุลมากขึ้น อาจารย์เสน่ห์เน้นย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า เราไม่ควรนำสิทธิมนุษยชนไปต้านเทคโนโลยีในเชิงปฏิเสธ แต่ควรจะเน้นเรื่องการสอดแทรกนำเอาจริยธรรมเข้ามาสู่โลกของธุรกิจ เข้าสู่กระบวนการนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยี การมุ่งปกป้องฐานทรัพยากร การรับรองสิทธิชุมชน และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จะทำให้สังคมไทยเกิดความตระหนักคำนึงถึงประเด็นด้านจริยธรรม ควบคู่ไปกับการให้คุณค่าความสำคัญของธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจมีคุณค่าความสำคัญอยู่ในกรอบของคุณธรรมจริยธรรมอย่างแท้จริง
คุณูปการของอาจารย์เสน่ห์ จามริก ที่มีต่อสังคมไทย ก็คือ การเป็นผู้นำผู้จุดประกายประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนร่วมสมัย ที่มีบริบทที่กว้างกว่าสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ผู้คนมักจะพูดถึงกัน เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย สิทธิในสุขภาพ ฯลฯ สิทธิมนุษยชนสมัยใหม่ อันได้แก่ สิทธิชุมชน และสิทธิด้านเศรษฐกิจต่างๆ มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่เป็นสิทธิตามธรรมชาติที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด ไม่แน่ว่าในอีกสองร้อยปีข้างหน้า ผู้คนจะพูดถึงข้อเสนอและแนวความคิดของอาจารย์เสน่ห์ จามริก เช่นเดียวกับที่ในปัจจุบันเรากำลังพูดถึงคำทำนายของโธมัส มัลธัส ซึ่งกล่าวไว้เมื่อสองร้อยปีที่แล้ว
โดย จักรกฤษณ์ ควรพจน์