เสน่ห์ จามริก จากนักรัฐศาสตร์สู่นักขับเคลื่อนวิชาการเพื่อสิทธิชุมชนและสังคม

โดย กฤษฎา บุญชัย[1]

“ ผมได้เรียนรู้จากการทำงานพัฒนาชุมชนในช่วงกว่า 10 ปีมานี่ มากยิ่งกว่าตอนสอนที่รัฐศาสตร์เกือบ 30 ปี” นั่นเป็นคำกล่าวที่อาจารย์เคยพูดเมื่อครั้งผมเริ่มทำงานที่สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาใหม่ๆ (ปี 2537) ทำให้เกิดความฉงนใคร่รู้ ในสนามของพัฒนาชุมชนมีอะไรมากกว่าการไปเติมเต็มการพัฒนาที่ชุมชนขาด (ปุ๋ย ปอ บ่อ ส้วม จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ทำงานเกษตร…ฯลฯ) งานพัฒนาจะมีปรัชญา แนวคิด ทฤษฎี หรือองค์ความรู้ใดที่ทำให้เราได้เรียนรู้ได้เข้มข้นอย่างนั้นเชียวหรือ
ผมจึงย้อนกลับไปดูประวัติของอาจารย์ อาจารย์สอนอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่ปี 2503-2530 นับเป็นเวลา 27 ปี ห้วงเวลาดังกล่าวไม่เพียงแต่บุกเบิกงานวิชาการ สร้างลูกศิษย์ที่โดดเด่นมากมาย และยังผ่านร้อนหนาวทางการเมืองที่ทวีความขัดแย้งตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 จนมาถึงช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบ นักวิชาการผู้อยู่ในสถาบันวิชาการรัฐศาสตร์ที่สุดยอดของประเทศ และอยู่ในเหตุการณ์การเมืองที่รุนแรงน่าจะสร้างการเรียนรู้อย่างเข้มข้นให้กับอาจารย์ แต่อาจารย์กลับบอกว่า สนามการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นน่าสนใจและทำให้อาจารย์เรียนรู้ได้มากกว่า
อาจารย์เข้าสู่สนามงานพัฒนาอย่างจริงจัง โดยเป็นประธานสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งใครมักเรียกชื่อย่อว่า “LDI” (แต่อาจารย์พอใจที่จะให้เรียกว่า “สทพ.”) ในห้วงเวลานั้นมีองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในท้องถิ่น ภาค เช่น ชมรมนักพัฒนาภาคเหนือ หรือในเชิงประเด็น เช่น ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม (มูลนิธิข้าวขวัญในปัจจุบัน) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ชมรมศิษย์เก่าบูรณะชนบทและเพื่อน (RRAFA) และได้เกิดการรวมเป็นคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) มาตั้งแต่ปี 2528 แต่ก็ยังไม่มีองค์กรพัฒนาเอกชนไหนที่โดดเด่นทางวิชาการส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นอย่างบูรณาการ
สทพ.ภายใต้การขับเคลื่อนของอาจารย์ได้รับงบจากหน่วยงานพัฒนาระหว่างประเทศแคนนาดา (CIDA) มีภารกิจสนับสนุนงบประมาณการพัฒนาให้องค์กรพัฒนาเอชนในท้องถิ่น อีกด้านหนึ่งอาจารย์ก็มีความมุ่งหวังจะสร้างให้ สทพ.เป็นสถาบันส่งเสริมวิชาการให้เข้าถึงชุมชน ให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งตนเอง[2]  ด้วยการบุกเบิกประสานงานนักวิชาการด้านการพัฒนาสังคมมาทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์ปัญหาชุมชน จัดเวทีวิชาการสาธารณะที่เรียกว่า “ทิศทางไท” เพื่อสร้างการเรียนรู้การพัฒนาชุมชน หรือแม้กระทั่งการจัดสรรงบฯ ให้แก่องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ซึ่งเป็นเรื่องการบริหารการพัฒนาทั่วไป อาจารย์ก็จะสร้างระบบการสนับสนุนที่มีฐานทางวิชาการที่หนักแน่นว่าจะนำไปสู่การสร้างชุมชนเข้มแข็งได้จริงหรือไม่
ประจวบเหมาะที่อาจารย์ได้รับคัดเลือกให้เป็นประธาน กป.อพช. (2532-2534) ก็ยิ่งสร้างบทบาทให้ สทพ.และ กป.อพช.โดดเด่นในฐานะองค์กร เครือข่ายนโยบายสาธารณะจากประชาชนฐานล่าง และมีความเข้มแข็งทางวิขาการในการขับเคลื่อนสังคม
รูปธรรมสำคัญของการเอางานวิชาการมาผสานขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนก็คือ งานวิจัยป่าชุมชน (2534-2536) เนื่องในช่วงเวลานั้น อาจารย์ได้เล็งเห็นว่าฐานที่มั่นของชุมชนท้องถิ่นอยู่ที่ทรัพยากรธรรมชาติ แต่ฐานทรัพยากรเหล่านั้นกลับถูกทำลาย แย่งชิงจากรัฐและกลุ่มทุนในนามของ “การพัฒนา” หรือกระทั่ง “การอนุรักษ์ป่า” ระบบรวมศูนย์อำนาจทรัพยากรของรัฐและการโอนย้ายทรัพยากรสาธารณะของชุมชนไปสู่กรรมสิทธิ์ของกลุ่มทุนคือหัวใจสำคัญของการเมืองว่าด้วยการพัฒนา คือรากฐานของปัญหาความยากจน ความอ่อนแอของชุมชน และความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม
หากเป็นนักวิชาการตามรั้วมหาวิทยาลัยหลายคนก็คงจะเลือกศึกษาวิจัยตามแฟชั่นแนวคิด ทฤษฎีใหม่ๆ หรือตามกระแสสังคม โดยไม่ได้จริงจังว่าการขับเคลื่อนให้สังคมเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือไม่ ขณะที่ชุมชน และปรากฏการณ์ทางสังคมเป็นเพียงวัตถุดิบของการศึกษา แต่อาจารย์เสน่ห์กลับทำตรงข้าม ผลักดันให้งานวิจัยป่าชุมชนไม่ใช่งานเฉพาะนักวิชาการ แต่เป็นงานที่ต้องสร้างความรู้ร่วมกันระหว่างนักวิชาการ นักพัฒนา และผู้นำชุมชน เป้าหมายไม่ได้จบเพียงการหาความรู้ แต่ต้องสร้างต้นแบบของชุมชนให้เข้มแข็งขยายตัว ยกระดับเป็นข้อเสนอทางนโยบายที่เข้มแข็งสู่สังคม ดังที่พัฒนาเป็นร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนฉบับประชาชนในปี 2536 และขับเคลื่อนเป็นขบวนการทางสังคม
แม้งานวิจัยป่าชุมชนจะจบไปนานแล้ว สถานการณ์ป่าชุมชนก็เปลี่ยนแปลงไปมากทั้งในระดับพื้นที่ องค์ความรู้ และนโยบาย แต่งานวิจัยป่าชุมชนในฐานะงานวิจัยพหุภาคีเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ก็ได้ปักหลักปักฐานแนวคิดทางวิชาการที่ไม่อยู่ในตำรารัฐศาสตร์ ได้สร้างหลักการนโยบายสาธารณะตั้งแต่นั้นมา นั่นก็คือแนวคิด “สิทธิชุมชน” ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน[3] ซึ่งอาจารย์ก็ทำวิจัยสิทธิชุมชนต่อเนื่องผ่านชุดโครงการวิจัยสิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล และชุดโครงการสิทธิชุมชนศึกษา (2541-2550)
แนวคิดสิทธิชุมชน คือ มรดกทางปัญญาของอาจารย์ที่มอบให้แก่สังคม โดยมีที่มาทางวิชาการและสถานการณ์ทางสังคม ในด้านวิชาการ อาจารย์เป็นผู้บุกเบิกงานศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนตลอดมา ได้เห็นว่าแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนในฐานะเป็นเกณฑ์คุณค่าสากลของปรัชญาการเมืองเสรีนิยมกำลังจะถึงทางตัน เมื่อการเมืองเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยม ได้สร้างลัทธิปัจเจกนิยมอย่างสุดโต่ง ทำให้สถาบันการเมืองสาธารณะทั้งที่เป็นรัฐและสังคมถูกลดทอน ในด้านเศรษฐกิจก็มุ่งแปรรูปทรัพยากรสาธารณะให้เป็นทรัพย์สินที่โอนย้ายถ่ายเทในระบบตลาด อาจารย์เห็นว่าสิทธิมนุษยชนจะเข้มแข็งได้ต้องมีสถาบันทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจรองรับ การเอาแนวคิดสิทธิมนุษยชนที่มีฐานเป็นชุมชนจึงเป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อต่อรองกับระบบรวมศูนย์อำนาจรัฐและทุนโลกาภิวัตน์ เพื่อที่จะสร้างหลักความมั่นคง ยั่งยืนให้กับสิทธิมนุษยชนของปัจเจกชนและสังคม และทำให้รัฐเป็นรัฐมีฐานสิทธิมนุษยชนด้วย
ในทางสถานการณ์สังคม ระบบกฎหมาย และนโยบายรัฐ และกลไกตลาดก็กำลังคุกคามแย่งทรัพยากรการดำรงชีพไปจากชุมชนทำให้เกิดความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การเอาเรื่องสิทธิซึ่งเป็นภาษาทางอำนาจในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐสมัยใหม่มาเป็นเครื่องมือของชุมชน จะทำให้ชุมชนได้มีเครื่องมือทางนโยบายในการปกป้องชีวิต ธำรงอัตลักษณ์ชุมชน สร้างอำนาจชุมชนให้เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นการอ้างสิทธิ สู้คดีในศาล ยืนยันเจตจำนงการพัฒนาตนเอง และขับเคลื่อนสังคมให้เกิดความยั่งยืนและเป็นธรรม
พลังทางแนวคิดสิทธิชุมชนอาจารย์บุกเบิกขึ้นมาได้แผ่ขยายออกไปกว้างไกล จากป่าชุมชนได้กลายเป็นอุดมการณ์และแนวนโยบายสาธารณะที่ขบวนการชุมชนกลุ่มต่างๆ ที่กำลังเผชิญกับการแย่งชิงทรัพยากรในทุกรูปแบบได้ใช้ขับเคลื่อนทางการเมือง จนสามารถบัญญัติหลักการดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แวดวงวิชาการไม่ว่าจะรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ จากที่แต่ก่อนไม่เคยนับว่าแนวคิดสิทธิชุมชนเป็นแนวคิดทางวิชาการต่างก็ให้ความสนใจขึ้นมา
ไม่เพียงแต่เรื่องชุมชนกับทรัพยากร อาจารย์เสน่ห์ให้ความสนใจกับปัญญาชนชาวบ้าน หรือ “ปราชญ์ชาวบ้าน”อย่างมาก ไม่ใช่เพราะต้องการชื่นชมหรือเชิดชูปราชญ์ชุมชนรายคน แต่สนใจกระบวนการทางสังคมที่สร้างการเรียนรู้ สร้างปัญญาทวนกระแสของผู้นำทางปัญญา กัลยาณมิตรทางวิชาการของอาจารย์จึงมักเป็นนักคิดชาวบ้านนอกรั้วมหาวิทยาลัย เช่น พ่อมหาอยู่ สุนทรชัย พ่อเล็ก กุดวงแก้ว พ่อคำเดื่อง ภาษี พ่อผาย สร้อยสระกลาง พ่อสุทธินันท์ ปรัชญพฤกษ์ เป็นต้น คนเหล่านี้ล้วนพัฒนาแนวคิดเชิงวิพากษ์ต่อระบบอำนาจที่มองเห็นและมองไม่เห็น การวิเคราะห์ความสัมพันธ์อำนาจทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค และสร้างอิสรภาพทางปัญญาขึ้นมา เมื่อคนได้ธรรมดาที่หาอยู่หากินสามารถสร้างภูมิปัญญาให้ตนเองและชุมชนเข้มแข็งได้ เราก็น่าจะส่งเสริมให้ชุมชนสร้างปัญญาที่เข้มแข็งได้ด้วย ดังนั้นการเคลื่อนชุมชนให้มีสิทธิที่เข้มแข็ง หัวใจสำคัญอยู่ที่การสร้างปัญญาของชุมชน
ในการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อปกป้องและผลักดันสิทธิชุมชน อาจารย์ได้เผชิญกับโครงสร้างและรูปแบบความสัมพันธ์อำนาจมากมายที่ต้องรอการวิจัยทางรัฐศาสตร์มาศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันร่างพรบ.ป่าชุมชนผ่านรัฐสภาที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำอำนาจระหว่างชาวบ้านกับนักการเมือง ข้าราชการและผู้เชี่ยวชาญในกลไกอำนาจรัฐ การผลักดันสิทธิชุมชนต่อฐานทรัพยากรในบทบาทคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่อาจารย์เป็นประธาน (2544-2552) ซึ่งต้องเผชิญกับกลไกรัฐทั้งระบบ ทั้งหมดนี้ได้ยืนยันข้อสรุปของอาจารย์ที่ว่า ต้องสร้างอำนาจจากชุมชนข้างล่าง เชื่อมต่อให้เป็นแนวระนาบ แล้วปฏิรูปการเมืองจากฐานล่างบนฐานของชีวิตของชุมชนโดยเฉพาะเรื่องปฏิรูปการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างเศรษฐกิจ สังคมชุมชนให้เข้มแข็ง
เป็นที่ตระหนักดีว่า ชุมชนท้องถิ่นมีการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมเมืองยิ่งขึ้น เป็นสังคมผู้ประกอบการ เป็นปัจเจกสูงขึ้น และเป็นสังคมที่ผลิตน้อยลง ไม่พึ่งฐานทรัพยากรทางตรงยิ่งขึ้น แทนที่แนวคิดสิทธิชุมชนจะกลายเป็นสิ่งล้าสมัย กลับยิ่งทวีความสำคัญ ในฐานะเป็นอุดมการณ์และเครื่องมือสร้างอำนาจต่อรองของประชาชน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าขบวนการสิทธิชุมชนไม่ได้สลายหรือหมดบทบาทไป แต่เกิดกลุ่มใหม่ๆ ขับเคลื่อนรูปแบบใหม่ๆ เพื่อปรับตัว ต่อรอง จัดความสัมพันธ์อำนาจใหม่ๆ สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรมอยู่อย่างต่อเนื่อง
27 ปีในแวดวงการพัฒนาที่อาจารย์เป็นสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และอีก 8 ปีที่ทำงานประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้สถาปนาระบบสิทธิชุมชนต่อการพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าและเข้มแข็ง และได้วางรากฐานให้กับแนวทางการพัฒนาต่างๆ เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน การกระจายอำนาจ การปกครองท้องถิ่น ชุมชนเข้มแข็ง การปฏิรูปการเมือง ธรรมาภิบาล สุขภาวะ การมีส่วนร่วมของประชาชน และอื่นๆ ให้มีเป้าหมายที่ชัดเจนและลุ่มลึกและจับต้องได้ เพราะมันได้ทำให้แนวคิดเหล่านี้มีรากฐานของสิทธิที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตจริงของชุมชน หลักการสิทธิชุมชนยังมีฐานะเป็นสดมภ์หลักของหลักการกำหนดนโยบาย กฎหมาย กลไกขับเคลื่อน และองค์ความรู้สิทธิมนุษยชนไทยและการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ก้าวหน้า
ผมเองได้ใช้ชีวิตตามรอยของอาจารย์เสน่ห์ผู้เป็นครูที่เปิดโอกาสและส่งเสริมให้ผมได้เรียนรู้และร่วมขับเคลื่อนสังคมตลอดมา ผมได้เริ่มต้นจากนักพัฒนาเป็นนักวิชาการ และก้าวสู่นักวิชาการและการขับเคลื่อนสังคม จนได้พบคำตอบแล้วว่า ทำไมสนามของการพัฒนาชุมชนและการขับเคลื่อนสังคมจึงเป็นบ่อเกิดทางปัญญามากมาย ทำไมเราต้องเข้าใจโลกด้วยจึงจะเปลี่ยนแปลงโลกได้ และตระหนักชัดแล้วว่าภารกิจทางปัญญาและทางสังคมที่ผมจะสืบสานต่อไป คือ การส่งเสริมให้ผู้คน ชุมชน และสังคมสร้างปัญญาปลดปล่อยพันธนาการทางสังคมด้วยตนเอง เพื่อให้บรรลุสิทธิเสรีภาพสมกับเกิดมาเป็นมนุษย์ที่มีเจตจำนงเสรี ดังคำของ ฌอง ฌาค รุสโซ นักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศสที่อาจารย์มักกล่าวไว้เสมอ      
 
อ้างอิง
[1] รองเลขาธิการ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ หลักสูตรปริญญาเอก มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
[2] กรรมการมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (มทพ.) ได้เล่าให้ฟ้งว่า CIDA สนับสนุนงบฯ ก้อนใหญ่ให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เพื่อเป็นสถาบันวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ที่ให้คำปรึกษาภาครัฐ ขณะที่ปันงบฯ บางส่วนมาสนับสนุน สทพ.ให้เป็น สถาบันวิชาการของชุมชนท้องถิ่น
[3] อาจารย์เสน่ห์ ได้ยกร่างปฏิญญาว่าด้วยสิทธิชุมชนท้องถิ่น 2 ฉบับ ฉบับที่ 1 คือ ป่าชุมชน ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิชุมชนท้องถิ่น: รากเหง้าประชาธิปไตยไทยปี 2536 อันเกิดจากการสังเคราะห์งานวิจัยป่าชุมชน และฉบับที่ 2 ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิชุมชนท้องถิ่น: ฐานปฏิรูปการเมือง ในปี 2549  อันเกิดจากการสังเคราะห์ชุดโครงการวิจัยสิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล และสิทธิชุมชนศึกษา http://csdi.or.th/2016/08/28/%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%8A/