ศ.เสน่ห์ จามริก เชื่อมร้อยรัฐศาสตร์-สังคมศาสตร์กับการเคลื่อนไหวของชุมชนเรื่องฐานทรัพยากร

 

โดย วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

พวกเรารู้จักชื่อ ศ.เสน่ห์ จามริก ตั้งแต่ทำกิจกรรมนักศึกษาในมหาวิทยาลัยและตอนที่เริ่มต้นทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทยเมื่อปี 2527 แต่ก็จัดชื่ออาจารย์ไว้ในกลุ่มนักวิชาการผู้ใหญ่ที่ได้แต่อ่านงานหรือบทความของท่านที่ยากจะมีโอกาสได้เข้าถึงแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์โดยตรง เคยได้ยินมาว่ามีผู้ยกย่องท่านว่าเป็น “ราชสีห์แห่งวงวิชาการรัฐศาสตร์” และอดีตนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนไว้ว่าอาจารย์เสน่ห์ เป็นหนึ่งในนักวิชาการของไทยไม่กี่คนที่ท่านยอมรับ เมื่อมีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดกับอาจารย์ได้เรียนถามท่านเรื่องนี้ อาจารย์บอกว่าคงเป็นเพราะท่านใกล้ชิดกับดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ ซึ่งนับถือท่าน ดร.เกษมซึ่งร่วมก่อตั้งพรรคกิจสังคมคงเป็นคนบอกเล่าความเป็นนักวิชาการของอาจารย์แก่อดีตนายกรัฐมนตรี
ผมมีโอกาสได้ร่วม (นั่งอยู่รอบนอก) วงวิชาการกับอาจารย์ตอนที่ท่านมาตั้งสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาแล้ว ในวง “เสวนาทิศทางไท” เรื่องปัญหาที่ดินและการพัฒนาชนบทครั้งหนึ่ง อาจารย์เชิญ ดร.อัมมาร์ สยามวาลา มาด้วย ได้เห็นการถกเถียงทางวิชาการอย่างออกรสระหว่างนักวิชาการใหญ่ด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ แต่ที่จำได้แม่น คือ แม้ว่าเราจะเป็นแค่คนทำงานเอ็นจีโอตัวเล็กๆ เสนอความเห็นตามประสบการณ์น้อยนิดแต่อาจารย์ก็ปฏิบัติต่อเราเหมือนเป็นผู้สนทนาที่เท่าเทียมกับท่าน ผมจำได้ว่าผมเสนออะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับผู้การสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่น อาจารย์ให้เกียรติเราโดยโต้แย้งเราแบบเต็มๆ (ในฐานะคู่สนทนาไม่ใช่ระหว่างอาจารย์ผู้ใหญ่กับเด็กหนุ่ม) พอจับใจความตามประสบการณ์ขณะนั้นว่า การเพิ่มพูนความเข้มแข็งของวิสาหกิจของปัจเจกชนไม่ได้สร้างหลักประกันว่าท้องถิ่นจะเข้มแข็งแต่ต้องสร้างกระบวนการที่ชุมชนทั้งหมด กลุ่ม และเครือข่ายในท้องถิ่นต้องเข้มแข็งขึ้นพร้อมกันด้วย
หลังจากการเป็นหัวเรือหลักในการผลักดันงานวิจัยเรื่องป่าชุมชนที่สร้างผลสะเทือนต่อวงวิชาการ การขับเคลื่อนปฏิบัติการและนโยบายของชาวบ้านเรื่องป่าชุมชนแล้ว ผมเริ่มสังเกตเห็นว่าอาจารย์เริ่มให้ความสนใจกับประเด็นทรัพยากรชีวภาพและความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้นๆ ควบคู่ไปกับการพูดถึงประเด็น “สิทธิชุมชน” ในเวทีต่างๆ  ในหลายเวทีอาจารย์จะเริ่มต้นการแสดงความเห็นด้วยการเริ่มต้นประโยคแรกๆว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศฐานทรัพยากรชีวภาพ…” การพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเวทีต่างๆเหล่านี้ส่วนหนึ่งทำให้ประเด็นเรื่องฐานทรัพยากรชีวภาพแพร่หลายไปสู่แวดวงนักสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ความมั่นคง สื่อมวลชน ฯลฯ
เมื่อปี 2542 อาจารย์ได้รับการทาบทามจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยให้เป็นหัวหน้าชุดโครงการคณะวิจัยขนาดใหญ่เรื่อง “สิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล” ผมเองได้รับเชิญจากอาจารย์ให้เป็นผู้รับผิดชอบหัวข้อวิจัยเรื่อง “สิทธิชุมชนและสิทธิเกษตรกรในทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น” มีนักวิชาการและนักปฎิบัติการทางสังคม 89 คนเข้าร่วม ไม่นับคณะทำงานสนับสนุนจำนวนหนึ่ง มีสิ่งที่ผมและเพื่อนๆได้เรียนรู้จากอาจารย์อย่างน้อยใน 3 เรื่องใหญ่ๆ
หนึ่ง วัฒนธรรมและกระบวนการเรียนรู้ระหว่างนักวิชาการและนักปฏิบัติการทางสังคม ท่านอาจารย์เสน่ห์ได้แสดงให้เห็นแบบอย่าง ในการเชื่อมร้อยและสร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเรียนรู้ระหว่างกัน ในฐานะที่เป็นหัวหน้าชุดโครงการวิจัย อาจารย์จะเปิดโอกาสให้นักวิจัยทุกคนแสดงความคิดเห็นโดยอิสระ โดยอาจารย์เพียงแต่หยิบยกทฤษฎีและหลักการทางวิชาการมานำเสนอตามจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม หยิบยกและชี้ให้เห็นประเด็นแง่มุมที่สำคัญระหว่างการแลกเปลี่ยน ไม่ได้มีบรรยากาศเหมือนทำวิจัย แต่เหมือนนั่งสนทนาแลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจังมากกว่า ค่อยๆก่อรูปชุดความคิดของนักวิจัยที่มีพื้นเพเบื้องหลังแตกต่างกันมากๆ กลุ่มคนที่เข้าร่วมกระบวนการวิจัยก็จะได้เรียนรู้ระหว่างกันไปพร้อมๆกัน
สอง การสังเคราะห์เชื่อมร้อยรัฐศาสตร์-สังคมศาสตร์กับประเด็นฐานทรัพยากร ผมมีโอกาสได้อ่านงานเขียนเรื่อง “พุทธศาสนากับสิทธิมนุษยชน” ซึ่งมาจากฐานคติที่ต้องการเห็นหลักการสำคัญของสังคมอย่างเช่นประเด็นสิทธิมนุษยชนนั้นว่า ไม่จำเป็นต้องมาจากตะวันตกเท่านั้นแต่มาจากรากฐานอารยธรรมอื่นได้ด้วย ดังที่ท่านอ้างคำของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ประยุทธ์ ปยุตตโต) เมื่อครั้งดำรงสมศักดิ์พระศรีวิสุทธิโมลี ว่า “อิสรภาพคือหัวใจของพุทธศาสนา” ผมคิดว่าท่านกำลังทำอย่างเดียวกันในเรื่อง “สิทธิชุมชน” และการสังเคราะห์เชื่อมร้อยให้เห็นความสำคัญของรัฐศาสตร์-สังคมศาสตร์กับฐานทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ งานเขียนและการนำเสนอความคิดทางรัฐศาสตร์-สังคมศาสตร์ของอาจารย์ในช่วงหลังของท่านจึงเน้นย้ำครั้งแล้วครั้งเล่าถึงความสำคัญของฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ/ภูมิปัญญาท้องถิ่น สิทธิชุมชน และหลักการสิทธิมนุษยชนที่มีรากฐานจากพุทธศาสนา กับการพัฒนาสังคมไทย ซึ่งลุ่มลึก ไม่ได้ปฏิเสธนักวิชาการตะวันตกแต่ให้ความสำคัญกับฐานคิดพื้นฐานของเราเองอย่างมากซึ่งมักไม่ค่อยได้เห็นนักในหมู่นักวิชาการรุ่นหลัง
สาม จากนักวิชาการสู่การปฏิบัติการทางสังคม แม้จะมีภาพพจน์ในฐานะนักวิชาการอย่างสมบูรณ์แบบเนื่องจากอยู่ในแวดวงวิชาการมา 3 ทศวรรษ แต่ผมคิดว่า 3 ทศวรรษหลังของการทำงานนับตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสู่งานพัฒนาสังคมอย่างเต็มตัวเมื่อปี 2533 ที่สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา จนกระทั่งรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (2544-2552)อาจารย์ได้แสดงให้เห็นว่าการผสานระหว่างการทำงานทางวิชาการและปฏิบัติการทางสังคมนั้นมีคุณค่ามากเพียงใด ดังที่เราได้เห็นบทบาทและงานของท่านที่เกี่ยวข้องกับประเด็นป่าชุมชน สิทธิชุมชน การศึกษา บทบาทองค์กรท้องถิ่น และฐานทรัพยากรชีวภาพ
แม้อายุท่านจะเข้าสู่ปีที่ 90 แต่ดีใจมากที่ทราบว่าท่านจดจำและระลึกถึงงานที่พวกเราได้ร่วมกับท่านทำร่วมกันได้เสมอ
ขอแสดงความเคารพและขอบพระคุณต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านได้มอบไว้ให้กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน
 
7 มิถุนายน 2560
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ