พลังวิชาการ สู่สังคมเสรี
โดย อ.ยศ สันตสมบัติ
พระพรหลั่งดุจสายน้ำพรั่งพรูสู่ชีวิตมนุษย์เสมอหากเราเลือกจะน้อมรับ พินิจอดีตหลายสิบปีที่ผ่านมา พระพรประการหนึ่งที่ช่วยให้ชีวิตมีพลัง คุณค่า และความหวัง คือ การได้พบเจอครูแท้มากมายหลายท่าน ผู้ช่วยประคับประคอง สอนสั่ง ให้สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนในโลกวิชาการ ครูที่ผมเคารพรักมากที่สุดท่านหนึ่ง คือ อาจารย์เสน่ห์ จามริก
ผมเริ่มชีวิตนักวิชาการที่ธรรมศาสตร์เมื่อปี 2526 อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กัลยาณมิตรรุ่นพี่ผู้เป็นที่รัก พาผมไปพบอาจารย์เสน่ห์ที่สถาบันไทยคดีศึกษา หลังจากนั้น ผมก็มีโอกาสพบท่านอย่างสม่ำเสมอตามเวทีสัมมนาและการประชุมวิชาการ อาจารย์เสน่ห์นอกจากจะเป็นผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีแล้ว ยังเป็นประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยที่มีอาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ เป็นผู้ดูแล อาจารย์ชัยวัฒน์เรียกอาจารย์สมบัติว่า “ซือแป๋” ตามสรรพนามเรียกขานอาจารย์ในตำรากำลังภายใน และเราเรียกอาจารย์เสน่ห์ลับหลังว่า “ซือโจ้ว” หรืออาจารย์ปู่ ด้วยความเคารพและรู้สึกเป็นกันเอง ธรรมศาสตร์เวลานั้นเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และเสรีภาพทางวิชาการ ผู้คนส่วนใหญ่แม้อยู่ต่างคณะก็รู้จักกันเป็นอย่างดี “นักวิชาการ” เสียงดัง มีคนฟัง และยอมรับ บรรยากาศเปิดกว้างของธรรมศาสตร์เป็นปัจจัยสำคัญส่งผลให้การเรียนการสอน การทำวิจัยและเขียนงานวิชาการดำเนินไปอย่างเป็นสุข
หลังเกษียณอายุราชการ อาจารย์เสน่ห์หันมาจับงานพัฒนาตามแนวทางของอาจารย์ป๋วยอย่างเต็มเวลา โดยก่อตั้งสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (สทพ.) ร่วมกับอาจารย์ประเวศ วะสี สทพ.ได้รับทุนอุดหนุนจากแคนาดา โดยมีพันธกิจในการสนับสนุนการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนให้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ นอกจากนั้น สทพ.ยังทำวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับปัญหาและยุทธศาสตร์การพัฒนา ปี 2533 อาจารย์เสน่ห์ขอยืมตัวผมจากธรรมศาสตร์มาช่วยดูแลงานวิจัยของสถาบัน ช่วงเวลานั้น กระแสโลกาภิวัฒน์ชักนำทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ให้รุกคืบสู่สังคมไทยภายใต้แนวคิดเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าของรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ทรัพยากรธรรมชาติและสังคมชนบทเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดินน้ำป่าและทรัพยากรชีวภาพที่เคยเป็นฐานหล่อเลี้ยงชีวิตของคนรากหญ้าถูกคุกคามจากกระบวนการยึดทรัพย์ (dispossession) และกีดกันสิทธิ (exclusion) โดยทุนขนาดใหญ่ ซึ่งมีพรรคการเมือง และระบบราชการเป็นกลไกเบิกนำทาง
การทำงานที่สทพ.ทำให้ผมต้องเดินทางลงพื้นที่แทบทุกจังหวัดและภูมิภาคของประเทศ เพื่อเยี่ยมเยือนพื้นที่ทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชน ได้รับรู้ สัมผัส และทำความเข้าใจความหลากหลายของบริบทด้านสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของสังคมชนบทในพื้นที่ต่างๆ ได้พบเจอตัวอย่างรูปธรรมของวาทกรรมการพัฒนาและมายาคติแบบต่างๆที่ถูกสร้างขึ้นจากองค์กรโลกบาลและหน่วยงานของรัฐ ในกระบวนการปิดล้อมและครอบงำสังคมชนบท ให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อำนาจตัดสินใจเพื่อกำหนดชีวิตของตนเองถูกลดทอนลงอย่างรวดเร็ว ชุมชนหมู่บ้าน ห้องประชุม โต๊ะกินข้าวที่สถาบัน หรือแม้แต่รถตู้ของลุงบุญมี กลายเป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนั่งฟังเลคเชอร์ของอาจารย์เสน่ห์ อำนาจนำของกรัมชี่ ผลประโยชน์เชิงชนชั้นของมากซ์ วาทกรรมของฟูโกต์ มิติที่ซ่อนเร้นของความสัมพันธ์เชิงอำนาจของบูร์เดียร์ มิได้เป็นเพียงแนวคิดนามธรรม แต่กลายเป็นเครื่องมือในการอธิบายปรากฎการณ์สังคมอย่างเป็นรูปธรรมและมีพลัง
งานวิจัยชิ้นสำคัญของสทพ.ในช่วงนั้น คือ การริเริ่มโครงการป่าชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิฟอร์ด โครงการนี้เป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ นักพัฒนา เจ้าหน้าที่รัฐ และชาวบ้าน ในการร่วมกันศึกษาทำความเข้าใจกับสภาพปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากร รวมทั้งเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของระบบกฎหมายและนโยบายของรัฐ ตลอดจนรูปแบบของการจัดการทรัพยากรแบบรวมศูนย์อำนาจ ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาความเสื่อมทรามของสภาพแวดล้อมและความขัดแย้งจากการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ
รวมถึงการศึกษาศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆในการจัดการทรัพยากรป่า เพื่อประมวลและวิเคราะห์เชิงนโยบายจากความรู้และมุมมองของชาวบ้าน งานวิจัยป่าชุมชนทำให้เราค้นพบว่าชาวบ้านมากมายหลายแห่งมีความรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับระบบนิเวศน์ และการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน แม้ว่าแรงกดดันต่อป่าจะเพิ่มขึ้นตามกระแสทุนที่เข้ามาตักตวงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างรวดเร็ว การตั้งคำถามว่า “คนอยู่กับป่าได้หรือไม่?” จึงเป็นเพียงวาทกรรมของหน่วยงานรัฐ ที่ต้องการกีดกันและขับไล่ชาวบ้านออกจากทรัพยากรที่บรรพชนของพวกเขาดูแลรักษาและใช้ประโยชน์มาแต่ดั้งเดิม ข้อค้นพบจากงานวิจัยป่าชุมชนกลายเป็นพื้นฐานของการร่างกฎหมายป่าชุมชนฉบับประชาชนและความพยายามผลักดันกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่สภา
ความขัดแย้งทางการเมืองและการจัดสรรผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว ทำให้คณะทหารในนามรสช. ทำการยึดอำนาจอีกวาระหนึ่งในปี 2534 หลังรัฐประหารแรงกดดันต่อชาวบ้านในพื้นที่ป่าทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อพรรคเก่าแก่ทำการผลักดันโครงการเปลี่ยนพื้นที่ป่าสงวนให้เป็นป่าเศรษฐกิจ เพื่อให้นายทุนรายใหญ่ปลูกไม้โตเร็ว ภายใต้ชื่อสวยหรูว่า “โครงการจัดที่ดินทำกินให้ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม” (คจก) โครงการคจก.เป็นส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างพื้นที่ป่าให้กลายเป็นสินค้าเพื่อการสะสมทุน โดยความร่วมมือเอื้อเฟื้อของหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่กีดกันสิทธิของชาวบ้าน แต่กลับให้สิทธิแก่นายทุนรายใหญ่ สทพ.ได้รับเชิญไปให้ความเห็นต่อโครงการนี้บ่อยครั้ง ข้อมูลจากป่าชุมชนทั่วประเทศที่ชี้ชัดให้เห็นศักยภาพของชาวบ้านในการจัดการป่า ถูกนำมาใช้คัดง้างความพยายามที่จะปิดล้อมขับไล่ชาวบ้านกว่าล้านครัวเรือนออกจากพื้นที่ป่าสงวน เมื่อนักวิชาการระดับขุนพลจากภาคเหนือและภาคอีสานไม่สะดวกในการเข้าร่วมประชุมที่กรุงเทพฯร่วมกับคณะทหารผู้ดำเนินโครงการ ผมจึงต้องรับหน้าที่หัวหมู่ทะลวงฟันในการวิพากษ์วิจารณ์โครงการคจก.อยู่เป็นประจำ สทพ.ลงพื้นที่ในหลายหมู่บ้านอีสานที่โดนบังคับย้ายถิ่นจากโครงการนี้ แต่เราทำได้เพียงเป็นปากเสียงให้ชาวบ้านในบางประเด็นเท่านั้นและไม่สามารถหยุดยั้งโครงการนี้ได้ด้วยเหตุผล ผมเคยตั้งคำถามกับผู้บัญชาการทหารที่ดูแลโครงการคจก.ว่า “ท่านจะย้ายชาวบ้านเกือบสิบล้านคนในป่าสงวน แล้วจะให้ชาวบ้านไปอยู่ที่ไหน?” ผมจำได้อย่างไม่มีวันลืมเมื่อท่านตอบผมว่า “ทหารทำได้ทุกอย่างอ่ะน้อง”
หลังเหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาคม 2535 คุณอานันท์ ปันยารชุน กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่ง เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการคจก.รวมตัวกันเดินขบวนเข้ากรุงเทพฯเพื่อประท้วงคัดค้านโครงการคจก. นายกฯอานันท์ผู้คุ้นเคยเชี่ยวชาญวัฒนธรรมอุตสาหกรรม แต่ไม่เคยสัมผัสและเข้าใจปัญหาของชาวชนบทมาก่อน ได้รับรายงานจากหน่วยความมั่นคงถึงการเคลื่อนไหวของชาวบ้านในภาคอีสาน จึงเรียกประชุมวาระเร่งด่วนเพื่อรับมือกับการชุมนุมของเกษตรกร โดยเชิญอาจารย์เสน่ห์เข้าร่วมให้ความเห็น อาจารย์ชวนผมร่วมทางไปประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย
นายกฯอานันท์กังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก เพราะมีรายงานว่าชาวบ้านหลายหมื่นคนเดินทางมาถึงลำตะคอง และส่งแกนนำมายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อเปิดเจรจาเบื้องต้น ดูเหมือนคุณอานันท์สงสัยว่ารัฐบาลประกาศระงับโครงการคจก.ไปแล้ว ทำไมชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชนยังจัดชุมนุมเดินขบวนเข้ากรุงเพื่อประท้วงโครงการนี้ คุณอานันท์ถามอาจารย์เสน่ห์หลายครั้งว่า “รัฐบาลควรทำอย่างไร?”
แต่อาจารย์เสน่ห์เลี่ยงคำถามไปพูดเรื่องหลักการเสียเป็นส่วนใหญ่ ผมนึกในใจว่าศิษย์เก่าแมนเชสเตอร์กับเคมบริดจ์คงคุยกันเข้าใจยากมั้ง หรือการเป็นนักการฑูตและนักอุตสาหกรรมที่ไม่เข้าใจชนบท คงมีส่วนทำให้คุณอานันท์ไม่เข้าใจสิ่งที่อาจารย์เสน่ห์พยายามบอก ผมนั่งฟัง “ผู้ใหญ่” คุยกันจนหิวข้าวและเริ่มหมดความอดทน จึงเรียนท่านนายกฯว่า การแก้ปัญหาง่ายนิดเดียว โครงการ คจก. คือ ปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ ต้องยกเลิก และต้องพูดให้ชัดเจน ไม่ใช้ภาษาราชการเช่น “ระงับ” เมื่อได้คำตอบที่ท่านเข้าใจ คุณอานันท์สั่งเลิกประชุมและให้เปิดห้องประชุมใหญ่ที่ทำเนียบเพื่อเชิญตัวแทนชาวบ้านมาพูดคุย ผมกระซิบถามท่านผู้บัญชาการคนเดิมที่มาร่วมประชุมด้วยว่า “ไหนพี่บอกว่าทหารจัดการได้ทุกอย่างไง?” ท่านยิ้มตอบคำถามกวนประสาทของผม
นับเนื่องแต่ปี 2535 ขบวนการป่าชุมชนเริ่มพัฒนา ปรับทิศทางมาพูดถึงแนวคิด “สิทธิชุมชน” โดยในระยะนั้นสิทธิชุมชนยังคงจำกัดนิยามความหมายอยู่ภายในขอบเขตของการจัดการทรัพยากร จุดมุ่งหมายหลักคือการผลักดันพรบ.ป่าชุมชน แม้ว่าทุกวันนี้ พรบ.ป่าชุมชนในรูปแบบที่เราอยากเห็น ยังไม่เคยผ่านสภา แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้นำเอาแนวคิดเรื่องสิทธิชุมชนไปเป็น “หลักการ” ใหม่ของสังคมที่สร้างให้เกิดการยอมรับสิทธิของผู้อ่อนแอที่แสวงหาการมีส่วนร่วมเพื่อจัดการชีวิตของตนเอง เมื่อเกิดความขัดแย้งกับรัฐและพลังอื่นๆที่เข้ามาลิดรอนสิทธิของชุมชน
นับเนื่องแต่การจุดประเด็นโดย สทพ. ภายใต้การนำของอาจารย์เสน่ห์ ขบวนการสิทธิชุมชนไทยก็เริ่มพัฒนาขึ้นเรื่อยมาในฐานะเป็นเครื่องมือและหลักการในการต่อสู้ของผู้อ่อนแอจากการข่มเหงของรัฐและทุน ดังเช่นกรณีความขัดแย้งที่หินกรูด บ่อนอก มาบตาพุด คลิตี้ เป็นต้น ความขัดแย้งระหว่างภาคประชาสังคมกับภาครัฐและเอกชน ได้ก่อให้เกิดการศึกษาวิจัยและอภิปรายถกเถียงทั้งในวงวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานของรัฐอย่างกว้างขวางในสังคมไทย เนื่องจากการบริหารจัดการทรัพยากรที่ผ่านมาของรัฐมีลักษณะของการรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง ก่อให้เกิดปัญหาการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมต่อประชาชนและชุมชนท้องถิ่น ปัญหาความขัดแย้งและการแย่งชิงทรัพยากร และปัญหาความยากจน
ในปัจจุบันสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิชุมชนในหลายกรณีก่อให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงมากขึ้น ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้มีการรวมตัวกันคัดค้าน อย่างเช่นกรณีการทำเหมืองแร่ทองคำที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งมีข้อสงสัยว่าเหมืองเป็นสาเหตุสำคัญของการปนเปื้อนสารเคมีที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยของคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนรอบเหมือง ชาวบ้านได้รวมตัวกันในนามกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดเพื่อยื่นเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แก้ไขปัญหา มีการตั้งด่านปิดถนนทางเข้าออกของเหมืองที่ตัดผ่านหมู่บ้าน เกิดเป็นคดีความฟ้องร้องกันระหว่างชาวบ้านและบริษัท มีการเจรจาต่อรอง มีการข่มขู่ คุกคาม และทำร้ายแกนนำชาวบ้าน ที่จังหวัดอุดรธานีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้รวมตัวกันในนามกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เคลื่อนไหวคัดค้านและพยายามที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับรัฐในการจัดการทรัพยากรมาอย่างต่อเนื่องตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ในขณะที่ทางบริษัทและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็ได้เดินหน้าดำเนินการตามขั้นตอนที่จะออกประทานบัตรเหมืองแร่ ทำให้เกิดความขัดแย้ง ปะทะกันรุนแรงหลายครั้ง
ขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิชุมชนที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดสำนึกในการมีส่วนร่วมของพลเมือง ภาคประชาสังคมและชุมชนต่อประเด็นสาธารณะ และเป็นการแสดงออกถึงการตอบโต้เชิงสัญลักษณ์ที่สะท้อนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เหลื่อมล้ำ ขบวนการนี้จึงนับเป็นก้าวสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดและตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิต และอนาคตของตนเอง ของชุมชน สังคม ประเทศชาติ รวมถึงผลกระทบต่อคนรุ่นต่อไปในอนาคต แนวคิดเรื่องสิทธิชุมชนยังมีศักยภาพในการปรับเปลี่ยนขยายตัวจากประเด็นการจัดการทรัพยากร ไปสู่มิติอื่นๆเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับภาคประชาสังคมอย่างไม่มีขีดจำกัด สิทธิชุมชนทำให้เรามั่นใจว่า แนวคิดและข้อค้นพบจากงานวิชาการ มิได้เป็นเพียงหนังสือตำราที่วางเรียงรายบนหิ้ง แต่สามารถขับเคลื่อนสังคมให้เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์เต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพ
ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ผมยังคงเคารพรักอาจารย์เสน่ห์อย่างมั่นคง เพราะท่านเป็นครูผู้สอนผมด้วยการกระทำให้เชื่อมั่นในพลังของวิชาการ ในการตั้งคำถามต่อความเคลื่อนไหวทางสังคม การไม่หยุดเรียนรู้ และทำความเข้าใจปรากฎการณ์สังคมเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม แม้ท่ามกลางความมืดมิดของระบบเผด็จการที่ยังครอบงำสังคม เรายังคงมุ่งมั่นเพื่อสานฝันว่าวันหนึ่งในอนาคตข้างหน้า เราจะก้าวสู่สังคมเสรี