" 90 ปี อ.เสน่ห์ จามริก "

พวกเราอดีตนักศึกษายุค 14 ตุลา 2516 ในช่วงนั้น ไม่น่ามีใครที่ไม่รู้จัก หรือไม่เคยได้ยินชื่อเสียงของท่านอาจารย์เสน่ห์ จามริก ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น.
ในช่วงชีวิตนักกิจกรรมนักศึกษายุคประชาธิปไตยเบ่งบาน เรามักได้อ่านหนังสือและบทความด้านการเมือง เศรษฐศาสตร์และการศึกษา ที่ท่านอาจารย์เสน่ห์เขียน บรรยายและให้สัมภาษณ์ทางสื่อมวลชนกันอยู่เนื่องๆ.
ผมไม่ได้เรียนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ ไม่ได้เป็นลูกศิษย์ของท่านโดยตรง แต่รับความรู้และสติปัญญาจากท่านผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และเวทีอภิปรายทางวิชาการในยุคนั้น ภาพประทับในความทรงจำของผมคือ ท่านเป็นนักคิดนักวิชาการที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง มีจุดยืนเพื่อประชาชน กล้าคิดกล้าพูดกล้าทำ และเป็นต้นแบบให้พวกเราคนหนุ่มคนสาว.
ปี 2541 ผมได้มาช่วยงานที่มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาในกรุงเทพฯ จึงโชคดีที่มีโอกาสทำงานกับท่านอาจารย์เสน่ห์อย่างใกล้ชิด เพราะท่านเป็นหนึ่งในสี่ผู้อาวุโสที่ร่วมก่อตั้งและบริหารงานสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนามาตั้งแต่ต้น ประกอบด้วย อาจารย์ระพี สาคริก อาจารย์หมออารีย์ วัลยะเสวี อาจารย์เสน่ห์ จามริกและอาจารย์หมอประเวศ วะสี.
ผมทราบจากอาจารย์ประเวศว่า อาจารย์เสน่ห์ท่านเลือกใช้คำ “ชุมชนท้องถิ่น” มาตั้งเป็นชื่อสถาบันที่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Local Development Institute ซึ่งสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของท่านว่า “ไม่มีท้องถิ่นที่ปราศจากชุมชนเป็นฐานและองค์ประกอบ” พวกเราทุกคนที่ LDI จึงมีกรอบความคิดที่ชัดเจนมากในเรื่องนี้.
จำได้มั่นว่า ท่านอาจารย์เสน่ห์จะย้ำให้พวกเราเข้าใจถึงเรื่อง “สิทธิชุมชน” ว่าชุมชนต้องมีสิทธิในการกำหนดใจตนเองในการพัฒนา (self determination) มีสิทธิที่จะเลือกรับหรือเลือกปฏิเสธโครงการพัฒนาที่มาจากภายนอก ในขณะที่ท่านอาจารย์ประเวศจะเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ (people participation and self organization).
เป็นที่น่าสังเกตุว่า จากต้นธารทางความคิดของสองราษฎรอาวุโส ได้ส่งผลผ่านไปเป็นเจตนารมณ์ส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ 2540 โดยเกิดเป็นกลไกในการทำงานใหม่อย่างน้อย 2 องค์กรในยุคนั้น คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและ สภาที่ปรึกษาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.
จากประเด็นสิทธิชุมชนในการกำหนดใจตนเอง ผมได้มีโอกาสเรียนรู้เพิ่มเติมจากรูปธรรมงานที่ท่านทำให้กับLDIอีสาน ในเรื่องการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น เรื่องรูปแบบการเงินชุมชนกรณีเบี้ยกุดชุม และเรื่องจัดการศึกษาเพื่อชุมชน.
ในช่วงที่ท่านอาจารย์เสน่ห์เข้าไปทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคนแรก แม้ว่าท่านจะมีภารกิจมากมายในการวางรากฐานและพัฒนาระบบงานขององค์กรอิสระให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ ท่านยังคงมาประชุมกรรมการมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาและให้คำปรึกษาแนะนำงานของพวกเราอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด.
ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา เมื่อท่านอาจารย์อาวุโสของพวกเราต่างทะยอยผ่าน “หลักแปด”ไปแล้ว จึงถึงเวลาที่พวกเราลูกศิษย์ลูกหาต้องเข้ามารับภาระดูแลงานของมูลนิธิและยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนาต่อไปอย่างเต็มกำลังความสามารถ.
สิ่งที่ท่านอาจารย์เสน่ห์ฝากไว้ในวันประชุมสามัญประจำปีในครั้งนั้น ผมจำได้อย่างแม่นยำและพวกเราได้ยึดถือเป็นทิศทางการทำงานสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน.
ท่านกล่าวว่า “มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาได้บุกเบิกงานวิจัยและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นมาจนมีองค์ความรู้สะสมและฐานทุนทางปัญญาในพื้นที่มากมาย ถึงเวลาควรเคลื่อนไปสู่งานจัดการศึกษาเพื่อชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งให้มากขึ้น “
ในโอกาสอันเป็นมงคลที่ท่านอาจารย์เสน่ห์ครบรอบ 90 ปี ผมและเพื่อนร่วมงานในมูลนิธิและภาคีเครือข่ายทุกคน ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก โปรดดลบันดาลให้ท่านอาจารย์ที่เคารพรักอย่างสูงของพวกเรามีอายุมั่นขวัญยืน เป็นหลักชัยทางความคิดและคุณความดีของสังคมไทยตราบนานเท่านาน.

พลเดช ปิ่นประทีป
ประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
มิถุนายน 2560