ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก : นักวิชาการผู้เป็นกัลยาณมิตรของสังคมไทย
โดย วีระ สมบูรณ์
ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก เป็นที่รู้จักยกย่องมากมายด้วยคุณูปการหลากหลายมิติ แต่หากจะกล่าวโดยรวมเพื่อนำเสนอในโอกาสนี้ อาจประมวลเป็นสามประการหลักได้ว่า ประการแรก ท่านเป็น “นักวิชาการ” ผู้วางรากฐานให้แก่รัฐศาสตร์ไทยสมัยใหม่, ประการที่สอง ท่านเป็น “ครู” ผู้สร้างความรู้ ความเข้าใจ และแรงบันดาลใจให้แก่ศิษย์, และประการที่สาม ท่านเป็น “ปัญญาชนสาธารณะ” ผู้เป็นเสมือนต้นน้ำลำธารทางภูมิปัญญาของสังคมไทย, หรือกล่าวในภาพรวมทั้งหมด จะเห็นได้ว่า ท่านคือ “นักวิชาการผู้เป็นกัลยาณมิตรของสังคมไทย” อย่างแท้จริง
อาจารย์เสน่ห์เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ศึกษาระดับเตรียมปริญญาและปริญญาที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง สำเร็จธรรมศาสตรบัณฑิตเมื่อปี ๒๔๙๑ ท่านเริ่มชีวิตการทำงานที่ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และต่อมาที่ กรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นจึงไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษระหว่างปี ๒๔๙๖ ถึง ๒๕๐๑
เมื่อกลับจากต่างประเทศ อาจารย์เสน่ห์ทำงานอยู่ที่เดิมหนึ่งปี จากนั้นท่านเลือกเส้นทางชีวิตเป็นนักวิชาการที่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านสอนหนังสือยาวนานกว่า ๒๗ ปี ระหว่างปี ๒๕๐๓-๒๕๓๐ ในสมัยที่อยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ท่านยังทำหน้าที่เป็น หัวหน้าโครงการรัฐศาสตร์ศึกษา, หัวหน้าสาขาวิชาการระหว่างประเทศ, รองอธิการบดี, ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา (๒๕๒๔-๒๕๒๘) ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ท่านยังเป็นประธานมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เป็นนายกสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศ ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (๒๕๑๖-๒๕๑๘) และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (๒๕๒๓-๒๕๒๔)
หลังจากเกษียณราชการ อาจารย์เสน่ห์เริ่มต้นการทำงานอีกแนวหนึ่งอย่างจริงจัง ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่ง ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับประเทศและนานาชาติ งานที่ทำมุ่งที่การพัฒนาชนบท ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น และสิทธิมนุษยชน โดยทำหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญมากมาย ดังจะได้กล่าวต่อไป
ในภาพรวมหลากหลายแง่มุมนี้ เป็นที่แลเห็นได้ชัดว่า เบื้องแรกสุด อาจารย์เสน่ห์ จามริก คือนักวิชาการ ผู้รักในการแสวงหาความรู้ ความจริง และความดีงาม ทั้งในหลักการภาพรวมเชิงนามธรรม และในรายละเอียดเชิงรูปธรรมที่ท่านประสบพบเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่ามกลางกระแสความเป็นไปของสังคมและการเมืองไทย การทำงานด้วยฉันทะทางความรู้และภูมิปัญญาเช่นนี้ คือที่มาด้านหลักของคุณูปการหลากหลายที่ท่านได้มอบให้แก่สังคมไทยตราบจนปัจจุบัน
“นักวิชาการ” ผู้วางรากฐานรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ไทย
อาจารย์เสน่ห์ จามริก เป็นนักวิชาการผู้สนใจหลากสาขาวิชา ทั้งรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเมืองการปกครอง ทฤษฏีภาวะทันสมัย ทฤษฎีการพัฒนา ไปจนถึงปรัชญาการเมือง กระนั้นก็ตาม งานวิชาการของท่านล้วนตั้งอยู่บนความพยายามศึกษาแก่นของปัญหาอย่างลุ่มลึก ไม่ติดอยู่กับเงื่อนไขเฉพาะหน้า พร้อมทั้งเสนอทางออกให้แก่ปัญหา ยิ่งกว่านั้น แนวทางของท่านนั้นมีลักษณะข้ามสาขาวิชาหรือสหวิทยาการมาโดยตลอด
ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเป็นผู้วางรากฐานองค์ความรู้หลายด้าน มีผลงานทางวิชาการมากมาย ทั้งในรูปของหนังสือ บทความ ปาฐกถา การบรรยาย การอภิปราย งานแปล งานวิจัย และการแลกเปลี่ยนในที่ประชุมสัมมนา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมแล้วจำนวนหลายร้อยชิ้น
ในส่วนของงานแปล อาจารย์เสน่ห์ได้แปลงานชิ้นสำคัญเล่มเขื่องจำนวนไม่น้อย เพื่อเป็นเสมือนตำราหลักของวงวิชาการนับแต่ราว ๕๐ ปีก่อน ทั้งนี้ การแปลดังกล่าวต้องอาศัยการคิดค้นบัญญัติศัพท์ใหม่เป็นภาษาไทยสำหรับแนวคิดจำนวนมาก จึงอาจกล่าวได้ว่า งานแปลเหล่านี้คือการประกอบสร้าง “ภาษา” สำหรับการคิดและการสนทนาตามหลักศาสตร์สมัยใหม่ให้แก่วงวิชาการไทยนั่นเอง เช่น งานแปล แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ, ความคิดทางการเมืองจากเปลโต้ถึงปัจจุบัน, จักรวรรดินิยมญี่ปุ่นปัจจุบัน : ระบบวงษ์ไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา เป็นต้น
ในส่วนของการวิจัยสร้างสรรค์ทางวิชาการ ท่านนำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างรอบด้าน และสะท้อนภาพสังคมการเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อมโยงหลักสำคัญแห่งความเป็นมนุษย์ เข้ากับรากฐานของภูมิธรรมและบริบทสังคมไทย ผลงานของท่านซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี เช่น ปัญหาและอนาคตการเมืองไทย (๒๕๑๙), ปัญหาผู้นำการเมืองไทย (๒๕๒๒), ปัญหาการพัฒนาในสภาพการเมืองไทย (๒๕๒๖), การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ (๒๕๒๙), แนวความคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ในทิศทางเศรษฐกิจไทยในทศวรรษหน้า (๒๕๒๙), แนวทางการพัฒนาการศึกษาไทย (๒๕๓๗), สังคมไทยกับการพัฒนาที่ก่อปัญหา (๒๕๓๗,) เงื่อนปมวัฒนธรรมในกระแสการเปลี่ยนแปลง (๒๕๓๗), วิกฤตรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ คือวิบากกรรมแผ่นดิน (๒๕๔๖), สิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล (๒๕๔๙)
นอกจากนี้ อาจารย์เสน่ห์ยังมีบทบาทในการพัฒนาการศึกษาทางสังคมในวงกว้าง เช่น ร่วมผลักดันให้เกิดการก่อตั้ง มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ขึ้นเมื่อปี ๒๕๐๙ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นประธานโครงการ เพื่อให้เป็นแหล่งผลิตผลงานวิชาการด้านนี้ เผยแพร่ในหมู่ผู้สอน ผู้เรียน และผู้สนใจ โดยต่อมาในปี ๒๕๑๘ ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ได้รับเลือกให้เป็นประธาน และทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่กว่าสามทศวรรษ อีกแห่งหนึ่งคือ มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา ซึ่งท่านเป็นประธานนับแต่ ๒๕๓๐ จนถึง ๒๕๕๑ มูลนิธินี้ได้ดำเนินการผลิตและเผยแพร่ผลงานวิชาการชิ้นสำคัญมากมายเช่นกัน
“ครู” ผู้สร้างความรู้ ความเข้าใจ และแรงบันดาลใจให้แก่ศิษย์
ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก มีบทบาทสำคัญยิ่งในการบุกเบิกแนวทางการศึกษารัฐศาสตร์ โดยเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ กล่าวคือ ริเริ่มในการย้ายเป้าหมายจากการเรียนการสอนรัฐศาสตร์ เพื่อเตรียมบุคลากรให้แก่ระบบราชการ ไปสู่รัฐศาสตร์เพื่อความรู้ความเข้าใจในระดับสากลอย่างเชื่อมโยงกับสังคมไทย นอกเหนือจากการสอนโดยทั่วไปแล้ว ท่านยังก่อตั้งและดูแลแผนก “รัฐศาสตร์ศึกษา” ในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงเวลาหนึ่งอีกด้วย
ด้วยแนวทางการสอนและชี้แนะซึ่งมุ่งเปิดโลกทัศน์ทางวิชาการอย่างลุ่มลึกกว้างไกลนี้เอง ศิษย์ของท่านจำนวนไม่น้อยจึงพัฒนาตนขึ้นมาเป็นผู้นำทางด้านความคิดความอ่าน นับแต่ช่วงก่อนหน้าเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เลยทีเดียว อาจารย์เสน่ห์จึงมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างนักวิชาการ นักคิดนักเขียน และปัญญาชน จำนวนมากมาย ซึ่งหากเอ่ยชื่อไล่เรียงมา ย่อมเป็นที่รู้จักมักคุ้นกันทั่วไป ไม่ว่าในแวดวงเฉพาะด้านหรือแวดวงสาธารณะ ทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ
กระนั้นก็ตาม บ่อยครั้งที่อาจารย์เสน่ห์ได้รับการยกย่อง ว่าได้สร้างคนมาเป็นจำนวนมาก อาจารย์มักตอบเสมอทำนองว่า “แต่ละคนมีดี มีความสามารถในตัวอยู่แล้ว ผมไม่ได้ทำอะไร เพียงแต่เปิดเงื่อนโอกาสให้ได้คิดได้แสดงออก และมีเสรีภาพเท่านั้น ความดีเด่นก็ออกมาเป็นตัวเอง” นี่คือปณิธานของครูผู้เป็นกัลยาณมิตรต่อศิษย์อย่างแท้จริง การดำเนินชีวิตและวิธีการทำงานของท่านเป็น “แบบอย่าง” สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ศิษย์จำนวนมากมาย ทั้งในและนอกระบบการศึกษาที่เป็นทางการ
“ปัญญาชนสาธารณะ” ผู้เป็นต้นธารทางภูมิปัญญาของสังคมไทย
ตลอดระยะเวลาเกือบ ๖๐ ปีที่ผ่านมา อาจารย์เสน่ห์ทำหน้าที่อย่างซื่อตรงแข็งขัน ประหนึ่งต้นธารทางภูมิปัญญาของสังคมไทย
นับแต่ทศวรรษ ๒๕๐๐ ซึ่งการเมืองไทยยังอยู่ในลักษณะปิด อาจารย์เสน่ห์ถือได้ว่า เป็น “ปัญญาชนสาธารณะ” และ “ผู้นำทางความคิด” คนสำคัญท่านหนึ่ง ซึ่งกอปรด้วยความกล้าหาญทางภูมิปัญญาและจริยธรรม ออกมาแสดงความเห็น ปาฐกถา บรรยายความรู้ในหลายเรื่อง ผ่านผลงานและเวทีวิชาการอย่างเข้มข้นสม่ำเสมอ และนับจากนั้น ท่านทำหน้าที่เช่นนี้ด้วยแนวทางเชิงวิพากษ์สร้างสรรค์ มีมุมมองเป็นเอกลักษณ์ชัดเจนของท่านเองมาโดยตลอด
แนวพินิจของอาจารย์เสน่ห์มิได้ติดอยู่กับประเด็นปัญหาเฉพาะหน้า หรือความสำคัญเร่งด่วนชนิดที่ตีกรอบความคิดจนคับแคบ ท่านไม่นำเสนอคำตอบสำเร็จรูปหรือทางออกด่วนได้ ท่านเน้นให้เราหันมาเริ่มต้นจากสิ่งที่ท่านเรียกว่า “ฐานคิด” ซึ่งไม่ถูกจำกัดด้วยแนวพินิจใดๆ ล่วงหน้า ท่านเน้นการย้อนกลับไปดูพัฒนาการช่วงเวลายาวนานตามลำดับ เพื่อให้เข้าใจสาเหตุความเป็นมาอย่างแจ่มแจ้งรอบด้าน โดยตระหนักว่าแต่ละสังคมมีรากฐานซึ่งเป็นบ่อเกิดและพัฒนาการของสภาพการณ์แตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจความเป็นไปของชีวิตและสังคมมนุษย์อย่างหลากหลาย และมีพลวัตดังที่กล่าวมา ย่อมขาดมิติอีกด้านหนึ่งมิได้ นั่นคือด้านที่ว่าด้วย ปรัชญา หลักการ เป้าหมายของมนุษย์และการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ และนี่คืออีกด้านหนึ่งของคุณูปการสำคัญของท่าน อันได้แก่ องค์ความรู้และการปฏิบัติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสากลในบริบทของสังคมและการเมืองไทย
อาจารย์เสน่ห์บรรยายและเขียนงานเกี่ยวกับประเด็น เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย มาโดยตลอด ทั้งยังเชื่อมโยงสู่งานศึกษาวิจัยและการทำงานทางสังคมอย่างชัดเจน ดังที่ในปี ๒๕๑๘ ท่านเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง สหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยได้รับเลือกให้เป็นประธาน ซึ่งนับเป็นหนึ่งในบรรดาองค์กรที่ท่านร่วมผลักดันกิจกรรมในทางปฏิบัติมาอย่างยาวนาน มองในแง่นี้ อาจารย์เสน่ห์จึงมิได้จำกัดบทบาทของท่านเฉพาะในสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว ท่านหันมาอุทิศแรงกายแรงใจให้กับงานด้านการพัฒนาชนบทและด้านสิทธิมนุษยชน ผ่านองค์กรพัฒนาด้านต่างๆ ในระดับต่างๆ มากมาย
สำหรับการทำงานด้านนี้ ท่านเน้นการเดินทางเข้าไปพำนักศึกษาจากชุมชนและผู้รู้ในระดับท้องถิ่นหรือ “ปราชญ์ชาวบ้าน” อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน ดังที่ท่านมักกล่าวเสมอในวงอภิปรายสาธารณะหรือวงสนทนาว่า “ผมไม่เคยคิดว่าผมเป็นผู้เดินนำ แต่ระลึกเสมอว่า เป็นเพียงผู้ที่เดินร่วมไปพร้อมกันกับพวกท่าน” ท่านจึงเน้นกระบวนการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง เปิดเวทีให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมและเป็นผู้นำ แสวงหาแนวทางการพัฒนาบนฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาของตน และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้จากกันและกัน ในบางกรณี ท่านยังร่วมมือเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดกฎหมายกฎเกณฑ์ เพื่อการพัฒนา พึ่งพา และดำรงอยู่ร่วมกัน ดังเช่นที่เรียกกันว่า “ธรรมนูญชุมชน” เป็นต้น
ด้วยการผสมผสานภูมิปัญญาทางวิชาการและประสบการณ์ในโลกของชีวิตจริงท้องถิ่นเช่นนี้ อาจารย์เสน่ห์จึงได้รับการยกย่องในฐานะผู้บุกเบิกองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนในบริบทสังคมไทย ดังจะเห็นได้จากการเป็นหัวหน้าชุดโครงการวิจัยเป็นจำนวนมาก เช่น พัฒนาการสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย, สิทธิชุมชนภายใต้โครงการป่าชุมชนในประเทศไทย (๒๔๓๔-๒๕๓๗), เครือข่ายชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน (๒๕๓๙-๒๕๔๒) สิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล (๒๕๔๑-๒๕๕๐) โดยงานวิจัยดังกล่าวยังถือเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาสิทธิมนุษยชนผ่านแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะ “สิทธิชุมชน” ซึ่งท่านเป็นผู้นำคนสำคัญในการสร้างสรรค์องค์ความรู้และหลักการด้านนี้อย่างแข็งขันจริงจัง ไม่เพียงแต่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ทว่ายังเชื่อมโยงสู่บรรดาประเทศที่ประชาชนมีวิถีชีวิตแนบแน่นกับฐานทรัพยากรธรรมชาติท้องถิ่น
นอกจากนี้ อาจารย์เสน่ห์ดำรงตำแหน่งในองค์กรที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนอีกหลายแห่ง เช่น ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์การพัฒนาเอกชน (๒๕๓๒-๒๕๓๔) รองประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (๒๕๓๒-๒๕๕๓) ประธานสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (๒๕๓๔-๒๕๓๗) ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาอีสาน (๒๕๓๘-๒๕๔๔)
ระหว่างปี ๒๕๔๔ – ๒๕๕๒ อาจารย์เสน่ห์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคนแรก ภารกิจในตำแหน่งนี้คือการวางรากฐานเชิงหลักการ แบบแผน และความเป็นสถาบัน ให้แก่หน่วยงานสาธารณะด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งเพิ่งถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทยนี้ และขณะนั้นมีการจัดตั้งขึ้นระดับชาติในไม่กี่ประเทศในเอเชีย งานในตำแหน่งดังกล่าวจึงเต็มไปด้วยความท้าทาย ต้องเกี่ยวข้องกับผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้คน หน่วยงาน องค์ความรู้ กฎระเบียบ กฎหมาย และประเด็นปัญหาสารพัด การเริ่มต้นวางรากฐานของท่านจึงนับเป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้ ประสบการณ์ วุฒิภาวะ และความทุ่มเทอย่างสูง
บทส่งท้าย : “ชีวิตผมมีแต่ความล้มเหลว”
เมื่ออาจารย์เสน่ห์ได้รับคำยกย่องชื่นชมถึงความสำเร็จในชีวิตผ่านแง่มุมต่างๆ ท่านมักตอบกลับอย่างไม่ยินดียินร้ายต่อผลงานที่ถูกอ้างถึง ว่า “ชีวิตผมมีแต่ความล้มเหลว” – ซึ่งท่านหมายความว่า การไม่ลุ่มหลงในความสำเร็จ ทว่าแลเห็น “ความล้มเหลว” นี่แหละ ที่ทำให้อาจารย์ตระหนักถึงชีวิตที่ต้องเรียนรู้และทำงานอยู่ตลอดเวลาจนถึงบัดนี้
ทัศนคติดังกล่าวของอาจารย์เสน่ห์ยังสะท้อนถึงบุคลิกภาพ ซึ่งลูกศิษย์ลูกหาผู้คนใกล้ชิดมักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ท่านเป็นคนสุภาพเรียบร้อย สุขุม อ่อนน้อมถ่อมตน ให้ความเคารพรับฟังความเห็นของผู้อื่น ให้เกียรติกับคนทุกคนเสมอกัน โดยเฉพาะกับชาวบ้าน อาจารย์เสน่ห์มักยิ่งให้เกียรติเสมอ เพราะถือว่า เป็นคนที่ตัวท่านเองเข้าไปเรียนรู้ด้วย ในขณะที่การใช้ชีวิตโดยทั่วไป ท่านดำเนินชีวิตสมถะเรียบง่าย ระเบียบวินัยสูง จัดการเรื่องต่างๆ ในชีวิตได้อย่างเป็นระบบ ยังผลให้ท่านสามารถสร้างงานวิชาการและการปฏิบัติคุณภาพสูงได้อย่างต่อเนื่อง
ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ได้มอบทรัพย์อันประเสริฐมากมายหลายมิติไว้ให้แก่สังคมไทย นับแต่องค์ความรู้หลากแขนง ซึ่งเติบโตจากความรักในความรู้ทางสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์ ตามมาด้วยทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า ซึ่งเป็นผลมาจากความเป็นครูที่แท้ และภูมิปัญญาอันกว้างขวางลุ่มลึก ซึ่งบังเกิดจากความเป็นปัญญาชนสาธารณะ ผู้เปี่ยมด้วยจิตสำนึกในคุณค่าชีวิตและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
ชีวิตของท่านคือแบบอย่างของผู้กอปรด้วยภูมิปัญญาและคุณวุฒิลุ่มลึกกว้างขวาง ผู้ซึ่งอุทิศตนสร้างสรรค์คุณูปการ นำมาซึ่งประโยชน์สุขให้แก่ผู้คนทั้งใกล้และไกลตัว เราอาจตั้งสมญาเรียกขานท่านด้วยคำสูงส่งยิ่งใหญ่มากมาย แต่นั่นคงไม่ได้สะท้อนบุคลิกภาพและความพึงพอใจของท่าน สิ่งที่ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ดำเนินให้เห็นเป็นแบบอย่างนั้น เลิศล้ำด้วยคุณสมบัติที่ดูเผินๆ เหมือนเรียบง่าย นั่นคือ การบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตรที่แท้จริงของสังคมไทย มาอย่างยั่งยืนยาวนาน